- หลักสูตรฐานสมรรถนะที่กำลังจะนำมาใช้เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนของไทย ให้นิยาม ‘การจัดการตนเอง’ (Self-Management) หมายถึง การรู้จักเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น การตั้งเป้าหมายในชีวิต การกำกับตนเอง การจัดการอารมณ์และความเครียด สามารถฟื้นคืนสู่สภาวะสมดุล (resilience)
- พัฒนาการทางสมองด้านการเรียนรู้การจัดการตนเองทำงานได้แล้วในทารกวัย 5 – 12 เดือนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หากเด็กได้รับการส่งเสริมและพัฒนาด้านการจัดการตนเองตั้งแต่เนิ่นๆ เด็กจะสามารถเรียนรู้การติดตามพฤติกรรมของตนเองและควบคุมการกระทำของตนเองได้
- การฝึกฝนให้เด็กเรียนรู้การตั้งเป้าหมายตั้งแต่เนิ่นๆ เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาการจัดการตนเอง เด็กหลายคน ‘หลงทาง’ รู้สึกเคว้งคว้าง เพราะพวกเขาไม่รู้เป้าหมายในชีวิตของตัวเอง การกำหนดเป้าหมายเริ่มต้นได้จากเรื่องเล็กๆ เช่น การตั้งเป้าอ่านหนังสือวันละ 15 นาที การฝึกปั่นจักรยานวันละ 30 นาที
การจัดการตนเองเป็นส่วนผสมของทักษะและคุณลักษณะหลากหลายด้าน การให้เวลากับการส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้มีความสามารถในการจัดการตนเองมีความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพทั้งด้านความคิดและอารมณ์ของพวกเขา
ในหลักสูตรสมรรถนะที่กำลังจะนำมาใช้เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนของไทย ให้นิยาม ‘การจัดการตนเอง’ (Self-Management) ว่าหมายถึง การรู้จัก รัก เห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น การตั้งเป้าหมายในชีวิต การกำกับตนเอง การจัดการอารมณ์และความเครียด รวมถึงการจัดการปัญหาและภาวะวิกฤต สามารถฟื้นคืนสู่สภาวะสมดุล (resilience) เพื่อไปสู่ความสำเร็จของเป้าหมายในชีวิต มีสุขภาวะที่ดี และมีสัมพันธภาพกับผู้อื่นได้ดี
การจัดการตนเองสัมพันธ์กับการประสบความสำเร็จในชีวิต
งานวิจัยด้านการศึกษาหลายแหล่ง ระบุว่า ความสามารถในการจัดการตนเองมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะการจัดการตนเอง คือ การจัดการวิธีคิด อารมณ์ การแสดงออกทางพฤติกรรม และการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่น เช่น การคิดอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจว่าจะตอบสนองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร การทำงานเป็นทีม และการทำตามกติกา ข้อตกลงของส่วนรวม
จากการศึกษาด้านประสาทวิทยาซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมอง พบว่า พัฒนาการทางสมองด้านการเรียนรู้การจัดการตนเองทำงานได้แล้วในทารกวัย 5 – 12 เดือนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับแนวคิดที่กล่าวถึง การพัฒนาการของสมองส่วนหน้า (Executive Function: EF) หรืออีเอฟ ทั้งนี้ หากเด็กได้รับการส่งเสริมและพัฒนาด้านการจัดการตนเองตั้งแต่เนิ่นๆ เด็กจะสามารถเรียนรู้การติดตามพฤติกรรมของตนเองและควบคุมการกระทำของตนเองได้ ยกตัวอย่างเช่น
- เด็กก่อนวัยเรียน สามารถทำตามคำแนะนำอย่างง่าย เช่น การเอาเสื้อผ้าออกจากห้องน้ำมาใส่ไว้ในตะกร้าให้เป็นระเบียบ
- เด็กวัยประถมต้น รับผิดชอบทำการบ้านหรืองานที่ได้รับมอบหมาย ตรงต่อเวลา มีส่วนร่วมทำงานกลุ่มโดยไม่เอาเปรียบผู้อื่น หรือเมื่อทำงานเสร็จแล้ว เด็กๆ ช่วยกันดูแลทำความสะอาด เก็บกวาดชั้นเรียน
- เด็กวัยประถมปลาย สามารถยับยั้งตัวเองจากการแสดงพฤติกรรมฉุนเฉียว การพูดคำหยาบ การลักขโมยของเล็กๆ น้อยๆ จากความอยากได้ตามเพื่อนหรือตามตัวอย่างที่เห็นจากสังคมโดยรอบ และพฤติกรรมที่สะท้อนผ่านความรับผิดชอบ เช่น ทำงานบ้านที่ได้รับมอบหมายเป็นกิจวัตรได้โดยไม่ต้องเตือน เป็นต้น
พื้นฐานการเลี้ยงดูของครอบครัวและสภาพแวดล้อมที่เด็กเติบโตขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการจัดการตนเองของเด็ก ซึ่งก็คือ ความฉลาดทางปัญญา (การเรียนรู้ทางวิชาการ การคิดอย่างมีเหตุผล) และความฉลาดทางอารมณ์ (การเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง การรู้จักยับยั้งชั่งใจ)
เมื่อเด็กมีปัญหาเรื่องการจัดการตัวเอง อาจทำให้เกิดความอึดอัดคับข้องใจ ความไม่สบายใจ ความขุ่นเคืองใจ ทำให้เกิดอารมณ์หงุดหงิดและความขัดแย้งภายในครอบครัว ซึ่งนำมาสู่ความไม่ไว้วางใจกัน จนเกิดปัญหาลูกโซ่ตามมามากมาย เช่น ลูกรู้สึกไม่มีที่พึ่งไม่มีที่ปรึกษา ลูกรู้สึกโดนทอดทิ้ง เป็นความอ่อนไหวทางอารมณ์ที่หากไม่สามารถจัดการตนเองได้ ช่วงเวลาแบบนี้ทำให้เด็กหลงทางเดินเข้าหาสิ่งที่เป็นอบายมุขได้ง่าย
4 องค์ประกอบ ปลูกฝังให้เด็กเรียนรู้การจัดการตนเอง
การแพร่ระบาดของโควิด – 19 ทำให้ระบบการศึกษาได้รับผลกระทบ การสนับสนุนการเรียนรู้ของลูกตกมาเป็นภาระของผู้ปกครองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แน่นอนว่าส่วนใหญ่ตั้งหลักกันไม่ทันและไม่รู้ว่าควรเริ่มจากตรงไหน ควรจัดการเวลาอย่างไร เด็กหลายคนถูกทิ้งให้เผชิญสถานการณ์ตรงหน้าด้วยตัวเอง เพราะผู้ปกครองหาเช้ากินค่ำ หรือไม่มีความรู้ความสามารถพอที่จะแนะนำลูกได้
“ทำไมลูกถึงไม่ทำตามที่บอก?”
“ทำไมเรื่องแค่นี้ถึงจัดการไม่ได้?”
“ทำไม…?” “ทำไม…?”
อาจเป็นคำถามที่อยู่ในใจของพ่อแม่แต่ไม่กล้าสื่อสารออกไป หรือบางบ้านอดทนไม่ได้หลุดปากพูดไปจนกลายเป็นเรื่องของการทำร้ายจิตใจซึ่งกันและกัน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ยิ่งทำให้เห็นความสำคัญของการจัดการตนเอง แทนที่จะตีโพยตีพายสิ่งหนึ่งที่พ่อแม่ทำได้ คือ การไม่คาดหวังแต่สวมบทบาทเป็นผู้นำทางให้กับลูก ด้วยการให้ความสำคัญกับ
1.เวลา
จุดเริ่มต้นที่ดีของการจัดการตนเอง คือ การบริหารจัดการเวลา พ่อแม่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมให้เด็กๆ รับผิดชอบงานบ้าน หรือให้พวกเขานำเสนอกิจกรรมที่อยากทำ แล้วประเมินด้วยตัวเองว่าต้องใช้เวลาทำงานหรือทำกิจกรรมนั้นนานแค่ไหน ระยะเวลาในการทำกิจกรรมแต่ละอย่างสามารถจัดสรรให้แตกต่างกันตามช่วงวัยของเด็ก เช่น เด็กอายุ 10 ปี สามารถทำกิจกรรมที่ใช้สมาธิต่อเนื่อง อย่างการเขียนบันทึกสั้นๆ การฝึกทักษะกีฬา และงานอดิเรกอื่นๆ ได้ประมาณ 10 – 20 นาที
เมื่อลูกสามารถทำได้อย่างสม่ำเสมอ นั่นหมายความว่า พวกเขาได้สร้างวินัยในตัวเอง ผู้ปกครองสามารถขยายเวลา หรือเพิ่มเติมกิจกรรมย่อยอื่นๆ ที่ลูกสนใจอยากทำเข้าไปอีก จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในกิจวัตรประจำวันของเขา
2.สุขภาพกาย
หลายคนนึกไม่ถึงว่าเรื่องการดูแลสุขภาพเป็นการจัดการตัวเองโดยตรง เช่น การล้างมือก่อนทานอาหาร การอาบน้ำ แปรงฟัน หรือแม้แต่การเลือกทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เป็นจุดเริ่มต้นของการรักตัวเอง ซึ่งจะพัฒนาไปสู่ความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจผู้อื่น (empathy)
นอกจากนี้ การได้ใช้พลังงานไปกับการออกกำลังกายยังช่วยปรับสมดุลทางอารมณ์ของเด็กโดยเฉพาะความหุนหันพลันแล่นของเด็กวัยรุ่น
3.สภาพแวดล้อม
สภาพแวดล้อมในที่นี่ไม่ได้หมายถึง สถานที่เท่านั้นแต่รวมถึงบรรยากาศ การสร้างความชัดเจนในการสื่อสารระหว่างกัน และเรื่องการจัดการความเครียด
ส่วนหนึ่งของการจัดการตัวเอง คือ การเรียนรู้พฤติกรรมที่ได้รับการยอมรับ การสื่อสารอย่างชัดเจนมีความสำคัญต่อการสร้างการเรียนรู้ในจุดนี้ เช่น
แทนที่จะบอกกับลูกว่า “เล่นของเล่นเสร็จแล้ว เก็บของให้เป็นระเบียบด้วยนะลูก”
ผู้ปกครองสามารถสื่อสารให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า “ถ้าเล่นรถของเล่นเสร็จแล้ว ให้เก็บรถใส่กลับในตะกร้าสีแดง แล้วเก็บหนังสือกลับบ้านชั้นวางด้วยนะลูก” แล้วให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า “…ลูกจะได้รู้ว่าเก็บของเล่นรถกับหนังสือไว้ที่ไหน ครั้งต่อไปจะได้หาเจอ ทำให้ห้องจะได้ดูดีและสะอาด” พร้อมบอกว่า “ขอบใจมากลูก”
การอธิบายให้เห็นภาพว่าลูกควรทำอย่างไร เป็นการสื่อสารที่แสดงให้เห็นตัวอย่างเป็นรูปธรรม เพราะ “การเก็บของเล่นให้เป็นระเบียบ” ในความหมายของพ่อแม่อาจเป็นคนละเรื่องกับสิ่งที่ลูกกำลังคิด หรือ ถ้าลูกยังอยู่ในวัยเด็กมากๆ เขาอาจไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าความเป็นระเบียบคืออะไร
ความเครียดเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แม้แต่ผู้ใหญ่เองบางครั้งเราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตัวเองกำลังเครียดอยู่ ในวัยเด็กก็เช่นเดียวกัน ความเครียดบางครั้งมาจากปัญหาการ เช่น เรียนไม่รู้เรื่อง กังวลเรื่องการสอบ หรือ การไม่ถูกยอมรับจากเพื่อน เป็นต้น
ความเครียดไม่สามารถหายไปได้เองแต่ต้องอาศัยการจัดการ ความเครียดที่ไม่ถูกจัดการอย่างเหมาะสมสามารถพัฒนาไปสู่การแสดงออกทางอารมณ์ที่ก้าวร้าวและฉุนเฉียว จนควบคุมตัวเองไม่ได้
การฝึกสติ (Mindfulness) เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยได้ ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่การนั่งสมาธิ แต่รวมถึงการทำกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้สมาธิจดจ่อ เช่น การเขียนบันทึก การเล่น และการฝึกกำหนดลมหายใจในระยะเวลาสั้นๆ บางสถานการณ์ในชีวิตจริงผู้ปกครองสามารถเป็นตัวอย่างให้กับลูกได้ เพื่อให้ลูกเห็นว่าทุกคนมีอารมณ์ ความรู้สึกที่สามารถแสดงออกได้แตกต่างกันขึ้นอยู่กับว่าเราจะจัดการตัวเองด้วยวิธีไหน เช่น
ระหว่างทางเจอรถติด ผู้ปกครองเองเริ่มรู้สึกหัวเสีย เราสามารถจัดการอารมณ์ของตัวเอง ไปพร้อมๆ กับการปลูกฝังการฝึกควบคุมอารมณ์ให้กับลูกได้ ด้วยการสนทนากับลูกว่า
“พ่อหงุดหงิดกับการจราจรตอนนี้มากเลย กลัวว่าเราจะไปไม่ทัน พ่อจะสูดลมหายใจเข้าลึกๆ แล้วนับหนึ่งถึงสิบ แทนที่จะบีบแตรหรือพูดคำหยาบคาย”
ทั้งนี้ จากการศึกษา พบว่า การมีสติจดจ่อกับปัจจุบันขณะ (presence) และการรับรู้อย่างมีสติ (mindful awareness) ช่วยกระตุ้นและเสริมสร้างความแข็งแรงให้ระบบสมอง กระบวนการที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนฝึกฝนและพัฒนาได้ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ Mindsight: บริหารสมองด้วยการทำสมาธิ ที่ช่วยพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์และสังคม)
4.เป้าหมาย
การฝึกฝนให้เด็กเรียนรู้การตั้งเป้าหมายตั้งแต่เนิ่นๆ เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาการจัดการตนเอง เด็กหลายคน ‘หลงทาง’ รู้สึกเคว้งคว้าง เพราะพวกเขาไม่รู้เป้าหมายในชีวิตของตัวเอง
การกำหนดเป้าหมายเริ่มต้นได้จากเรื่องเล็กๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่โต เช่น การตั้งเป้าอ่านหนังสือวันละ 15 นาที การฝึกปั่นจักรยานวันละ 30 นาที หรือแม้แต่การเอาเสื้อผ้าออกจากห้องน้ำมาใส่ไว้ในตะกร้าให้เป็นระเบียบ ก็เป็นเป้าหมายได้
ผู้ปกครองเริ่มต้นได้จากการตั้งคำถามง่ายๆ เช่น
“ลูกอยากทำอะไร?” “ทำไมถึงอยากทำ?” “แล้ววางแผนว่าจะทำมันอย่างไร?” เป็นต้น
เมื่อลูกยังต้องเรียนออนไลน์ ผู้ปกครองสามารถเข้ามาร่วมกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้รายวันร่วมกับลูก ปรับเปลี่ยนการเรียนรู้ให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน มีเวลาพักและเวลาเล่น โดยไม่กดดันเรื่องผลการเรียนมากจนเกินไป จากการศึกษา พบว่า การวางแผนตารางกิจวัตรประจำวัน แล้วสามารถทำตามแผนได้อย่างสม่ำเสมอ ช่วยส่งเสริมศักยภาพด้านการจัดการตนเอง เห็นได้อย่างชัดเจน คือ ความรับผิดชอบ และความมีวินัย ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญที่ช่วยส่งเสริมความสำเร็จในวิชาชีพต่อไปในอนาคต
ตัวอย่างการออกแบบตารางกิจวัตรประจำวัน สำหรับช่วงวัยประถมศึกษา
เวลา | ประเภทกิจกรรม | ลักษณะกิจกรรม |
ตื่นนอน | ทานอาหารเช้าที่ดีต่อสุขภาพ | |
กิจวัตรตอนเช้า | จัดที่นอน อาบน้ำ แปรงฟัน แต่งตัว | |
ชั่วโมงเรียนรู้ | เรียนรู้ตามตารางเรียนของโรงเรียน | |
ชั่วโมงสร้างสรรค์ | ไม่ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ใช้กิจกรรมสร้างสรรค์ เช่น การวาดภาพระบายสี การต่อเลโก้ การเล่น ประดิษฐ์อุปกรณ์ต่างๆ | |
พักเที่ยง | ทานอาหารเที่ยงที่มีประโยชน์ | |
งานบ้าน | ซักเสื้อผ้า ทำความสะอาดบ้าน ล้างจาน ฯลฯ | |
ชั่วโมงเรียนรู้ | เรียนรู้ตามตารางเรียนของโรงเรียน / ทำการบ้าน | |
ผ่อนคลาย | กิจกรรมกลางแจ้ง เช่น ปั่นจักรยาน หรือ การเล่นเกม | |
สร้างความสัมพันธ์ | เขียนจดหมาย หรือข้อความส่งกำลังให้ผู้อื่น การพาสุนัขออกไปเดินเล่น หรือ การโทรหา พูดคุยกับคนในครอบครัวที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน | |
ผ่อนคลาย | กิจกรรมตามอัธยาศัย | |
เข้านอน | อาบน้ำ แปรงฟัน เข้านอน |
การออกแบบตารางกิจวัตรประจำวันมีประโยชน์ต่อการจัดการตัวเด็กเอง และช่วยให้พ่อแม่จัดการตัวเองได้ง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะรู้ว่าในแต่ละช่วงเวลาลูกต้องทำอะไร แล้วพ่อแม่ควรเข้ามาใช้เวลากับลูกในช่วงใดบ้าง
สำหรับช่วงวัยมัธยมศึกษา ผู้ปกครองสามารถประยุกต์ให้ลูกเขียน “สิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน” (To do list หรือ Daily check list) ล่วงหน้า ครอบคลุมสิ่งที่ลูกอยากทำและตารางเรียนที่ต้องรับผิดชอบ
บทความที่เกี่ยวข้องกับการจัดการตนเอง (Self-Management) การกำกับตัวเอง ความยืดหยุ่นทางจิตใจ |