- ในกลุ่มนักเรียนที่มีบาดแผลจากการเลี้ยงดูของครอบครัวเป็นทุนเดิม การลงโทษอาจไปซ้ำรอยแผลเก่าของเขาและกระตุ้นร่างกายให้เกิดการตอบสนองต่อความเครียดโดยอัตโนมัติ
- งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า การตอบสนองของสมองต่อกฎระเบียบโรงเรียน เกี่ยวพันกับความรู้สึกผูกพันใกล้ชิด ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนสำคัญมากกับการประพฤติตัวตามระเบียบวินัย กล่าวคือ การควบคุมดูแลให้เด็กทำตามระเบียบวินัย คนดูแลก็ต้องเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะดี ควบคุมตัวเองได้เสียก่อน
- อารมณ์เป็นดั่งคลื่นพลังที่ถ่ายทอดจากคนหนึ่งสู่อีกคนได้ ครูที่คุมสติและอารมณ์ได้ มีน้ำเสียง สีหน้า และท่าทางสงบนิ่งเป็นปกติเวลาพูดคุยหรือสอน นักเรียนก็จะไม่มีปฏิกิริยาตั้งแง่เป็นปฏิปักษ์ เขาจะเห็นการควบคุมตัวเองของคุณครู ดูเป็นแบบอย่าง และซึมซับไปทีละเล็กละน้อยเอง
การใช้น้ำเย็นเข้าลูบเวลาเด็กๆ ทำความผิด ไม่ได้หมายความว่าให้ครูปล่อยผ่านความผิดของเขาให้หายไป แต่เป็นวิธีที่จะช่วยให้อารมณ์เดือดพล่านของเขาสงบลงจนพร้อมจะเรียนรู้และเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง
ปัจจุบันมีนักเรียนจำนวนมากแบกรับความเครียด กดดัน วิตกกังวลจากปัญหาส่วนตัว หรือแม้แต่มีบาดแผลจากการเลี้ยงดูในครอบครัวที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ (adverse childhood experiences-ACEs) ซึ่งพบว่าเกิดขึ้นกับเด็กในทุกช่วงวัย
ด้วยเหตุนี้ โรงเรียนจึงมีบทบาทสำคัญในการจัดการเรียนรู้ด้านสังคมและภาวะอารมณ์ให้กับเด็กๆ อย่างครอบคลุมและเข้าถึงปัญหาดังกล่าว รวมทั้งต้องพิจารณากฎมาตรการหรือระเบียบปฏิบัติที่จะนำมาใช้กับเด็กๆ ให้เหมาะสมถี่ถ้วน เพราะตามหลักแล้ว กฎระเบียบทั่วไปมักใช้ได้ผลกับเด็กที่อยู่ในร่องในรอยโดยไม่จำเป็นต้องใช้กฎมาควบคุมอยู่แล้ว แต่จะใช้ไม่ได้ผลกับเด็กกลุ่มที่มีปัญหา และจำเป็นต้องมีกฎระเบียบมาควบคุมดูแลมากที่สุด ซึ่งความจริงแล้ว คงไม่มีครูคนไหนอยากนำมาตรการใดๆ มาใช้กับนักเรียนของตน นอกจากทุ่มเทพลังที่มีทั้งหมดไปกับการพัฒนาให้เขาโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ
ในกลุ่มนักเรียนที่มีบาดแผลจากการเลี้ยงดู (ACEs) การลงโทษอาจไปซ้ำรอยแผลเก่าของเขาและกระตุ้นร่างกายให้เกิดการตอบสนองต่อความเครียดโดยอัตโนมัติ
งานวิจัยที่ได้ศึกษาการทำงานของสมองพบว่า การตอบสนองของสมองต่อกฎระเบียบของโรงเรียน มีความเกี่ยวพันกับความรู้สึกผูกพันใกล้ชิด การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน มีส่วนสำคัญมากกับการประพฤติตัวตามระเบียบวินัย กล่าวคือ การจะควบคุมดูแลให้เด็กทำตามระเบียบวินัยอย่างสงบเรียบร้อย คนที่ดูแลพวกเขาเหล่านั้นก็ควรต้องเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะดี ควบคุมตัวเองได้เสียก่อน
ในประเด็นนี้ กลุ่มนักเรียนที่มีบาดแผลจากการเลี้ยงดูมักขาดโอกาสเช่นนี้ โรงเรียนจึงควรเป็นเหมือนที่หลบภัยให้พวกเขารู้สึกอุ่นใจและปลอดภัยยามเมื่อทำผิดและต้องการที่พึ่งพิง
อย่างไรก็ตาม การละเว้นบทลงโทษหรือปล่อยผ่านความผิดของเด็กที่มีบาดแผลจากการเลี้ยงดู ก็เป็นเรื่องไม่สมควร พวกเขายังต้องได้เรียนรู้จากพฤติกรรมหรือเหตุการณ์นั้นๆ อยู่ แต่เหนืออื่นใด คุณครูต้องเข้าถึงสิ่งที่เขากำลังรู้สึกและเก็บไว้ภายในใจให้ได้เสียก่อนจึงจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเขาได้อย่างแท้จริง
เพราะอารมณ์เป็นดั่งคลื่นพลังที่ถ่ายทอดจากคนหนึ่งสู่อีกคนได้ คุณครูที่คุมสติและอารมณ์ได้ มีน้ำเสียง สีหน้า และท่าทางสงบนิ่งเป็นปกติเวลาพูดคุยหรือสอน นักเรียนก็จะไม่มีปฏิกิริยาตั้งแง่เป็นปฏิปักษ์
เวลารับฟังว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กทำพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ พยายามจับอารมณ์ความรู้สึกของเด็กให้ได้ว่าเขากำลังเผชิญกับอะไรอยู่และรู้สึกอย่างไร นี่คือจุดสำคัญที่นักเรียนจะสัมผัสได้ว่าครูเห็นเขามีค่าและเข้าอกเข้าใจเขา
เช่นเดียวกัน เมื่อเกิดอารมณ์คุกรุ่นขึ้นระหว่างพูดคุยกันแล้วครูเป็นฝ่ายสะกดกลั้นอารมณ์ สูดหายใจยาวๆ จิบน้ำหรือทิ้งจังหวะพูดคุยแล้วปล่อยให้นักเรียนขบคิดกับตัวเองตามลำพังสักพัก เขาจะมองเห็นการควบคุมตนเองเหล่านั้นจากคุณครูเป็นแบบอย่าง และซึมซับไปทีละเล็กละน้อยเอง
การควบคุมตัวเองของคุณครู ช่วยให้เด็กเรียนรู้เรื่องการควบคุมอารมณ์ไปพร้อมกัน
กระบวนการควบคุมสติอารมณ์ร่วมกัน (ศัพท์ภาษาอังกฤษเรียกว่า Co-regulation) คือการที่ครูเข้าไปช่วยกำกับดูแลนักเรียนที่ทำผิดให้สงบสติอารมณ์ จำเป็นต้องเริ่มจากตัวคุณครูเองที่ต้องมีสติ ควบคุมอารมณ์ของตนระหว่างตักเตือนเด็กๆ หรือพูดอีกอย่างคือ ครูต้องพร้อมและเต็มใจที่จะทำตามกฎระเบียบเหล่านั้นด้วย
ถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องอาศัยความใจเย็นกับเด็กๆ มีเคล็ดลับง่ายๆ 3 ข้อที่จะช่วยสงบสติอารมณ์ได้ในเวลาสั้นๆ
- สูดหายใจลึกๆ สามครั้ง
- ส่งข้อความหาเพื่อนหรือหาอย่างอื่นเบี่ยงเบนความสนใจจากการทุ่มเถียงที่จะเกิดขึ้น
- ยืดเส้นยืดสายและขยับร่างกายสักครู่สั้นๆ
ถ้าอารมณ์ขึ้นหรือรู้สึกโกรธ ให้นับหนึ่งถึงร้อย รอจนอารมณ์เย็นลงก่อนค่อยเรียกนักเรียนมาตักเตือน ทำตัวเป็นแบบอย่างให้เขาเห็นว่าครูสามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ ระมัดระวังการแสดงออก ท่าทาง สีหน้า และน้ำเสียง เพราะเด็กๆ สามารถอ่านสัญญาณเหล่านั้นออกและเป็นการบอกเขาทางอ้อมว่าถ้าครูทำได้ เขาก็ทำได้เช่นกัน
วิธีเข้าถึงต้นตอปัญหาให้รู้ที่มาของรูปแบบพฤติกรรมที่เด็กมักกระทำเวลาโมโหหรือโกรธ คือการพยายามสังเกตความรู้สึกของเขาที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมเหล่านั้น
ถ้ามีเวลาสักครู่ ก่อนพูดคุยถึงปัญหากันเป็นเรื่องเป็นราว ลองให้เวลานักเรียนปรับอารมณ์โดยการให้ไปพักดื่มน้ำดื่มท่าให้สดชื่น หรือให้สูดลมหายใจลึกๆ สักสองสามครั้งก่อนแล้วค่อยพาไปเดินสูดอากาศพูดคุยกัน
หรือถ้าที่โรงเรียนมี “ระบบบัดดี้” (a friend-in-need system) ไว้ช่วยเหลือดูแลกันอยู่แล้วยิ่งดี a friend-in-need system คือการที่เด็กๆ สามารถเลือกบัดดี้คนพิเศษ จะเป็นเพื่อนในชั้นเรียนหนึ่งหรือสองคน ครูหรือผู้ใหญ่คนใดคนหนึ่งในโรงเรียนที่เขาไว้ใจได้เป็นบัดดี้ที่เขาสามารถปรับทุกข์ พูดคุยระบายความอัดอั้นเวลารู้สึกย่ำแย่ วิธีนี้เป็นมาตรการป้องกันหนึ่งที่เป็นตัวช่วยให้นักเรียนรู้จักควบคุมความรู้สึกลบของตัวเอง ทั้งนี้ คุณครูยังต้องสอนวิธีสงบจิตใจควบคู่กับการให้แนวทางเรื่องการจัดการอารมณ์ความรู้สึกของตนเองและข้อปฏิบัติในชั้นเรียนไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วย
การได้รับความสนใจจากครู (validation) ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยสงบสติอารมณ์นักเรียนที่กำลังโกรธหรือขุ่นมัวให้รู้สึกดีขึ้น เมื่อครูมองเห็นและสนใจความรู้สึกของเขา อารมณ์ที่คุกรุ่นก็จะเย็นลง
คำพูดแสดงความห่วงใยที่คุณครูควรใช้เพื่อบอกให้รู้ว่าเป็นห่วงและสนใจความรู้สึกของเขา เช่น
- “เรื่องนี้ทำให้เธอต้องรู้สึกแย่แน่ๆ”
- “หนูคงกำลังโกรธมากเลยใช่ไหม”
- “เธอดูสับสนวุ่นวายใจมากเลย”
- “ครูว่ามันเป็นเรื่องที่ลำบากมากสำหรับเธอจริงๆ”
การแสดงความห่วงใยสนใจนักเรียนอย่างเข้าอกเข้าใจจะช่วยเปิดใจให้เขากล้าหารือหรือขอคำแนะนำในการตัดสินใจไปสู่ผลลัพธ์ครั้งสำคัญได้ และยังช่วยให้เขามองเห็นแผนในอนาคตว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อเกิดปัญหา
จะว่าไปแล้ว เวลาที่จำเป็นต้องตักเตือนนักเรียนเมื่อทำผิด ครูนั้นต้องทำตัวเป็นเครื่องควบคุมความร้อนที่คอยปรับอุณหภูมิของนักเรียนให้เย็นลง ที่เปรียบอย่างนี้ก็เพราะคุณครูต้องเป็นผู้ควบคุมบรรยากาศระหว่างการพูดคุยหรือรับฟังปัญหากับนักเรียนให้ราบรื่นคงที่ตลอดรอดฝั่ง นอกจากชี้แนะให้พวกเขาเข้าใจว่าตัวเองมีทางเลือกใดบ้างและผลลัพธ์ที่ตามมาจากการตัดสินใจของเขานั้นจะเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญอีกประการที่ครูต้องทำให้เขาเห็นเป็นแบบอย่างชัดเจนคือ เมื่อต้องรักษากฎระเบียบวินัย ครูเองต้องสามารถรักษาตนเองให้อยู่ในระเบียบแบบแผน เคารพและปฏิบัติตามกฎเหมือนกันกับเขาด้วยเช่นกัน