- ‘ถ้าครูไม่ทำโทษ ไม่ให้รางวัล นักเรียนจะไม่เกิดการเรียนรู้’ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นวัฒนธรรมหลักในชั้นเรียนไทย
- นักเรียนจึงถูกจูงใจหรือกระตุ้นด้วยเงื่อนไขอย่างการให้รางวัลและการลงโทษ โดยมีสมมติฐานว่าหากครูให้รางวัลบางอย่างกับการเรียน นักเรียนจะมีแนวโน้มเกิดการเรียนรู้
- ชวนสำรวจถึงเบื้องหลังของรางวัลและการลงโทษที่สัมพันธ์กับแนวคิดแบบพฤติกรรมนิยม พร้อมกับเผยให้เห็นผลกระทบอีกด้านของวิธีการควบคุมที่เราอาจต้องกลับมาทบทวน
“ถ้าเธอไม่ตั้งใจเรียน ครูจะหักคะแนนเธอ”
“ครู ถ้าหนูทำสิ่งนี้ ครูจะให้หนูกี่คะแนน”
“ถ้าครูไม่ตี พวกเธอก็ไม่ฟังครู”
บทสนทนาระหว่างครูกับนักเรียนที่ยังปรากฏชัดในความทรงจำของผู้เขียน ทั้งจากช่วงเวลาของการเป็นนักเรียนและประสบการณ์การเป็นครูที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้กลายเป็นวัฒนธรรมหลักในชั้นเรียนไทยราวกับว่า ‘ถ้าครูไม่ทำโทษ ไม่ให้รางวัล นักเรียนจะไม่เกิดการเรียนรู้’ หรือวิธีการสร้างการเรียนรู้ที่ดีเป็นเรื่องของการสร้างเงื่อนไขให้รางวัลและการลงโทษ
รางวัลมักจะหมายถึงเครื่องมือที่ใช้สร้างแรงจูงใจหรือควบคุมให้นักเรียนแสดงพฤติกรรมที่ครูคาดหวัง ในขณะที่การลงโทษก็เป็นวิธีการเพื่อกำจัดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ให้หายไป
รูปแบบของการให้รางวัลและการลงโทษมีหลากหลายแตกต่างกันไป ตั้งแต่การให้ดาว ให้เกียรติบัตร ให้คะแนน การย้ายที่นั่ง การตัดคะแนน ว่ากล่าวตักเตือน ไปจนถึงการลงโทษทางร่างกาย ฯลฯ รูปแบบของความพยายามควบคุม พฤติกรรมทั้งหมดนี้สะท้อนให้เราเห็นว่า จิตวิทยาการเรียนรู้แบบพฤติกรรมนิยม (behaviorism) เป็นแนวคิดมีอิทธิพลต่อระบบชั้นเรียนของไทยอย่างเห็นได้ชัด ในข้อเขียนครั้งนี้ ผู้เขียนจึงอยากชวนสำรวจถึงเบื้องหลังของรางวัลและการลงโทษที่สัมพันธ์กับแนวคิดแบบพฤติกรรมนิยม พร้อมกับเผยให้เห็นผลกระทบอีกด้านของวิธีการควบคุมที่เราอาจต้องกลับมาทบทวน
พฤติกรรมนิยมกับรางวัลและการลงโทษ
แนวคิดจิตวิทยาแบบพฤติกรรมนิยมเชื่อว่า สิ่งเร้า (stimulus) มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นหรือจูงใจการเรียนรู้ของนักเรียน พฤติกรรมที่นักเรียนแสดงออกเป็นผลมาจากการตอบสนองต่อสิ่งเร้า การออกแบบเงื่อนไขของสิ่งเร้าจึงเป็นกลไกสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ ดังที่ Thorndike นักจิตวิทยาพฤติกรรมนิยม ชี้ว่าพฤติกรรมเป็นสิ่งที่ควบคุมและจัดการได้ผ่านการออกแบบเงื่อนไข จิตวิทยาแบบพฤติกรรมนิยมมีมุมมองต่อสิ่งเร้าในฐานะปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของนักเรียน ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างผลลัพธ์และเงื่อนไข หรือพูดอีกแบบ เงื่อนไขของสิ่งเร้าแต่ละแบบนำมาซึ่งผลลัพธ์การตอบสนองที่ต่างกัน ดังนั้น ตามแนวคิดแบบพฤติกรรมนิยมแล้ว เราต้องพยายามค้นหาและใช้เงื่อนไขที่เชื่อว่าสามารถควบคุมจัดการพฤติกรรมที่แสดงออกมานั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพซ้ำๆ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ต่อเนื่อง สำหรับ Skinner รางวัลและการลงโทษ เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสร้างกระบวนการเสริมแรง (reinforcement) ทั้งบวกและลบ เพื่อใช้ในการจัดการกับพฤติกรรมของนักเรียนให้อยู่ในทิศทางที่คาดหวังหรือหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์
นักเรียนจึงถูกจูงใจหรือกระตุ้นด้วยการเงื่อนไขอย่างการให้รางวัลและการลงโทษ โดยมีสมมติฐานว่าหากครูให้รางวัลบางอย่างกับการเรียน นักเรียนจะมีแนวโน้มเกิดการเรียนรู้ ดังนั้น หากมองจากมุมมองนี้คะแนนถูกรับรู้ในฐานะรางวัลที่เป็นเงื่อนไขกระตุ้นการเรียนรู้ของนักเรียนให้มีส่วนร่วมกับชั้นเรียนหรือจดจ่อกับบทเรียน เช่นเดียวกับการลงโทษที่เป็นเสมือนเงื่อนไขด้านลบที่จะทำให้นักเรียนถอยห่างจากพฤติกรรมที่ครูไม่ต้องการ เช่น การลงโทษด้วยการตี เมื่อนักเรียนเสียงดังในชั้นเรียน นักเรียนจะรับรู้ว่า การลงโทษเป็นเงื่อนไขที่จะเกิดขึ้นเมื่อพวกเขาส่งเสียงดัง
ด้วยเหตุนี้แนวคิดจิตวิทยาแบบพฤติกรรมนิยมจึงกลายเป็นที่นิยมสำหรับการนำไปประยุกต์ใช้ในแง่ที่สามารถคาดการณ์และสังเกตเห็นผลลัพธ์ได้ชัดเจนในทันที
อีกด้านของรางวัลและการลงโทษ
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่ารางวัลและการลงโทษได้สร้างผลข้างเคียงกับนักเรียนด้วยเช่นกัน ในงานศึกษาแนวมานุษยวิทยาการศึกษา Zhang ได้ทำการศึกษาชั้นเรียนในโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่งในจีนเกี่ยวกับตำแหน่งที่นั่งในชั้นเรียน เขาพบว่า ตำแหน่งที่นั่งถูกให้ความหมายเป็นรางวัลสำหรับสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ของนักเรียน โดยมีครูเป็นคนจัดวางว่าใครควรได้ตำแหน่งที่นั่งตรงไหนของชั้นเรียน แถวตรงกลาง โดยเฉพาะด้านหน้าๆ จะถูกให้ความหมายว่าเป็น ‘ที่นั่งที่ดี (good seat)’เป็นรางวัลสำหรับนักเรียนที่ตั้งใจเรียนหรือมีผลการเรียนที่ยอดเยี่ยม ในทางตรงกันข้ามแถวทางด้านขอบซ้ายและขวาสุดคือ ‘ที่นั่งที่แย่ (bad seat)’ ซึ่งจะถูกจัดเตรียมไว้สำหรับการลงโทษนักเรียนที่มีพฤตกรรมที่ไม่พึงประสงค์
Zhang ยังพบอีกว่าการจัดที่นั่งลักษณะนี้ได้กลายเป็นลำดับชั้นทางสังคมเชิงสัญลักษณ์ที่นำไปสู่ผลกระทบทางจิตใจ ประทับตราการแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติลงบนตัวนักเรียน
Zhang เห็นว่านักเรียนคนหนึ่งร้องไห้จากการที่ถูกครูจัดให้นั่งในตำแหน่งที่แย่ และในขณะเดียวกันความสัมพันธ์ของครูที่ปฏิบัติต่อเด็กยังแปรเปลี่ยนตามตำแหน่งที่นั่งอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ครูจะสั่งห้ามไม่ให้นักเรียนในที่นั่งที่ดีไปยุ่งกับนักเรียนที่มีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ สะท้อนถึงการแบ่งแยกในชั้นเรียนอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขการให้รางวัลและการลงโทษ ก็ไม่ได้เป็นไปตามที่ครูต้องการเสมอไป บางครั้งนักเรียนทั้งสองกลุ่มก็มีปฏิสัมพันธ์กันเมื่อพ้นสายตาครู
ในทำนองเดียวกัน กรณีศึกษาของนักเรียนชายคนหนึ่งในประเทศอังกฤษเกี่ยวกับรางวัลและการลงโทษที่ส่งผลต่อมุมมองเรื่องความยุติธรรมและความไว้เนื้อเชื่อใจกันของนักเรียน Wood ศึกษากรณีศึกษานี้นานเกือบ 2 ปีและพบว่า แทนที่วิธีการดังกล่าวจะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและปฏิบัติตามกฏของโรงเรียน ตัวเด็กชายกลับรู้สึกโกรธและต้องการแก้แค้นครูมากกว่า เพราะเมื่อเขาถูกตัดสินจากครูให้รู้สึกอับอาย เขารู้สึกว่าตัวครูมีอคติ ไม่เป็นกลาง และมองเห็นว่าวิธีการของครูในลักษณะที่ทำอยู่นั้นไม่ยุติธรรม นั่นยิ่งทำให้เขามีพฤติกรรมท้าทายกฎระเบียบของโรงเรียน และหันไปยอมรับหลักการบางอย่างที่เพื่อนในกลุ่มของเขาสร้างขึ้นมาแทน ผลการศึกษาของ wood แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของกลยุทธ์แบบพฤติกรรมนิยม
บทสรุป
งานศึกษาทั้งสองชิ้นได้แสดงให้เห็นอีกด้านของวิธีการให้รางวัลและการลงโทษ ว่าแนวคิดนี้อาจไม่ได้นำไปสู่การสร้างเงื่อนไขการเรียนรู้ที่ดีหรือที่คาดหวังตามแนวคิดพฤติกรรมนิยม แต่กลับกลายเป็นการสร้างความรู้สึกด้านลบ การแบ่งแยก การเลือกปฏิบัติ รวมถึงมุมมองต่อความอยุติธรรมของนักเรียนได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราจำเป็นต้องตระหนักและกลับมาทบทวนถึงการประยุกต์ใช้แนวคิดพฤติกรรมนิยมผ่านวิธีการดังกล่าวให้มากขึ้น เพราะนักเรียนไม่ใช่วัตถุที่ปราศจากสำนึกใดๆ แต่พวกเขาเป็นมนุษย์ที่มีชีวิต มีความรู้สึก และมีความคิดเกิดขึ้นเสมอระหว่างการเรียนรู้และการใช้ชีวิตในโรงเรียน
อ้างอิง
Allan C. Ornstein and Francis P. Hunkins. (2018). Curriculum :Foundation, Priciples,and Issues. Pearson Education 2017.
Schunk ,Meece,and Pintrich. (2014). Motivation in Education Theory, Research and Applications. England: Pearson .
Seifert and Sutton. (2009). Educational Psychology. The Saylor Foundation.
Woods, D. R. (2008). When rewards and sanctions fail: a case study of a primary school rule-breaker. International Journal of Qualitative Studies in Education Vol. 21, No. 2,, 181–196.
Zhang, M. (2018). ‘If you take learning seriously, I’ll assign you to a good seat’: moralized seating order and the making of educational success in China’s public schools. Ethnography and Education.