- หลายๆ คนไม่ชอบเด็กที่เรียกร้องความสนใจ แต่ถ้ามองอย่างทำความเข้าใจ เราอาจเห็นสัญญาณขอความช่วยเหลือจากพวกเขา
- เหตุผลที่ทำให้เด็กหลายล้านคนลาออกจากการเป็นนักเรียน ส่วนหนึ่งเพราะรู้สึกเป็นคนนอก ไม่อยากรู้จักครูในห้อง เพื่อนร่วมชั้น ไม่อยากไปโรงเรียน ผลระยะยาวจากความบอบช้ำทางใจ ทำให้พวกเขามีพฤติกรรมก้าวร้าวต่อต้านโลก หลายๆ กรณีพัฒนาไปสู่ภาวะความผิดปกติด้านอารมณ์
คำถามถึงคุณครู ‘คุณคิดว่าคุณรู้จักเด็กๆ ของคุณดีแค่ไหน?’ นี่ไม่ใช่คำถามท้าทายถึงคุณครูทั่วโลก แต่เป็นคำถามที่ถูกถามขึ้นเกือบทุกเย็นในห้องสมุดเล็กๆ โรงเรียนโคลด์ สปริงส์ (Cold Springs) โรงเรียนประถมปลาย (Middle School) โรงเรียนชนบทเล็กๆ นอกเมืองเนโร (Nero) รัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกา ที่ซึ่งบางวันยังเห็นฝูงม้าเดินตัดถนน และคลินิกทันตกรรมแห่งแรกของเมืองเพิ่งสร้างขึ้นปีที่แล้ว
จุดมุ่งหมายคือ ‘Every Child, by Name and Face, to Graduation’ หรือแปลเป็นไทยว่า เด็กทุกคนที่จบการศึกษา ชื่อของพวกเขาจะลงประวัติในทำเนียบรุ่น และหน้าตาของเด็กๆ จะต้องถูกบันทึกในความทรงจำของครู
ทำไมต้องเป็นเช่นนั้น และแนวคิดนี้มีชื่อเรียกว่าอะไร?
งานวิชาการประเด็นเด็กและเยาวชน และการศึกษาชี้ตรงกันว่า เหตุผลที่ทำให้เด็กหลายล้านคนลาออกจากการเป็นนักเรียน ไม่ยอมเรียนต่อ เป็นเพราะพวกเขารู้สึกเป็นคนนอก ไม่ต้องพูดถึงการรู้สึกอยากรู้หนังสือ แต่ไม่อยากรู้จักครูในห้อง เพื่อนร่วมชั้น หรือไม่อยากไปโรงเรียนด้วยซ้ำไป
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่การทำให้เด็กหลุดออกจากการศึกษาก่อนเกณฑ์ แต่ผลระยะยาวนำไปสู่ความบอบช้ำทางใจ พฤติกรรมก้าวร้าวต่อต้านโลก หลายๆ กรณีพัฒนาไปสู่ภาวะความผิดปกติด้านอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า และนำไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด
โรงเรียนชนบทโคลด์ สปริงส์ ซึ่งบันทึกด้านเศรษฐกิจบ่งชี้ว่าที่นี่เป็นพื้นที่ยากจนพื้นที่หนึ่งของประเทศ จึงบรรจุทักษะการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม หรือที่เรียกว่า Social and Emotional Learning (SEL) ไม่ใช่ไว้ในหนังสือของนักเรียนแต่บรรจุลงในคู่มือครู
“เด็กทุกคน อย่างน้อยที่สุดต้องรู้สึกเชื่อมโยงกับครูสักคนหนึ่งในโรงเรียน”
คือคำของโรเบอร์ตา ดูวอลล์ (Roberta Duvall) ครูใหญ่โรงเรียนโคลด์ สปริงส์ กล่าวเช่นนั้น ซึ่งในบทความสารคดีเรื่อง ‘The Power of Being Seen’ (พลังแห่งการถูกมองเห็น) โดย ฮอลลี คอร์บีย์ (Holly Korbey) คอลัมนิสต์ผู้สนใจประเด็นการศึกษา เขียนไว้ใน Edutopia ว่า ครูใหญ่ดูวอลล์คือแกนนำสำคัญผู้ต้องการเปลี่ยนแปลงการเรียนในโรงเรียน และว่าดูวอลล์เห็นว่าความรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของครู ซึ่งก็คือคนในสังคมเล็กๆ ที่เด็กๆ อาศัยอยู่เกือบ 8 ชั่วโมงต่อวันนั้น สำคัญต่อการสร้างตัวตน สร้างรากฐานของเด็กๆ เพียงไร
“สองสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เด็กๆ หลุดออกจากห้องเรียน ไม่เรียนต่อตามที่กฎหมายบังคับไว้ ก็คือการไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับห้องเรียน แทบไม่มีใครรู้จักเขาหรือสะกดชื่อของเขาได้ถูก SEL ไม่ใช่แค่ทำให้พวกเขารู้สึกดี แต่มันคือสายใยที่ทำให้เด็กคนหนึ่งยังอยู่ในห้องเรียน และสนุกที่จะเล่าเรียนต่อได้” (Trish Shaffer) เจ้าหน้าที่การศึกษา SEL กล่าว
จุดมุ่งหมายของโรงเรียนวาโช เคาน์ตี (Washoe County)
โรงเรียนของรัฐในเครือวาโช เคาน์ตี (Washoe County) เมืองเนโร รัฐเนวาดา เป็นกลุ่มโรงเรียนที่ให้ครูเริ่มภารกิจ SEL ตั้งแต่ปี 2012 ตั้งเป้าว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของเด็กๆ ในโรงเรียนจะต้องจบการศึกษาในปี 2020 (เป็นปีที่เด็กๆ ซึ่งเข้าเรียนปีการศึกษา 2012 จะเรียนจบเกรด 9) ซึ่งโรงเรียนในเครือวาโชทำงานร่วมกับองค์การไม่แสวงกำไรเกี่ยวกับการศึกษาและการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Collaborative for Academic, Social, and Emotional Learning: CASEL)
ผลลัพธ์จากการทำงานในบันทึกของรัฐ (An Annual Student Climate Survey) ระบุว่า เด็กๆ ในโรงเรียนเครือวาโชมีอัตราการเข้าเรียนที่เพิ่มสูงขึ้น คะแนนด้านวิชาการ และผลประเมินด้านอารมณ์ก็มีคะแนนที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับผลการศึกษาปีที่ผ่านๆ มา
เดินเข้าไปสำรวจในห้องเรียน
สเตฟานี ฮอร์น (Stephanie Horne) คุณครูประจำเกรด 5 ที่โรงเรียนโคลด์ สปริงส์ กล่าวว่า แม้แต่เด็กบางคนที่เราไม่คิดว่าเขามีปัญหา ไม่เคยร้องขอความช่วยเหลือ ก็ใช่ว่าจะตรงตามที่เราคิด
วิธีของฮอร์นหลังการระดมความคิดของครูที่ห้องสมุดอย่างต่อเนื่อง เธอใช้วิธีการชวนเด็กๆ คุยเรื่องสติกเกอร์ที่พวกเขาเอามาที่ห้องเรียน นำเกมมาเล่นในห้อง พัฒนาไปสู่การเปิดพื้นที่ทุกเช้าวันศุกร์ให้กับการอ่านจดหมายเด็กๆ ที่เขียนมาเล่าเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะการให้เขียนจดหมายเรื่องความประทับใจต่อเพื่อนๆ ซึ่งเป็นอีกวิธีที่จะทำให้เด็กๆ รู้จักเพื่อนร่วมห้องไปด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้เธอค่อยๆ กระชับเข้าใกล้พื้นที่ส่วนตัวของเด็กๆ และต่างก็กลายเป็นคนคุ้นเคยและ ‘รู้จัก’ ตามความหมายนั้นจริงๆ
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นที่โรงเรียนโคลด์ สปริงส์ คือสถิติการเข้าห้องเรียนที่มากขึ้นและมีผลการเรียนเป็นไปตามเกณฑ์ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ก่อนหน้านี้แสดงการต่อต้านและแบกความทุกข์จากปัญหาครอบครัวมา
ไม่ใช่เท่านั้น แต่พบว่าทั้งเจ้าหน้าที่และเด็กๆ ก็ดูจะเข้ากันได้ดีมากขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้โรงเรียนเริ่มจะมีบรรยากาศที่คลี่คลายไปสู่สถานที่ปลอดภัยสำหรับเด็กๆ อย่างแท้จริง
- Social and Emotional Learning (SEL) ทักษะการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม
- Self-awareness การตระหนักรู้ในตัวเอง: เข้าใจและระบุได้ว่า ความรู้สึกและอารมณ์ที่เกิดขึ้นคืออะไร รวมทั้งรู้ข้อจำกัดในการควบคุมอารมณ์ของตัวเองและเชื่อมโยงกับผู้อื่นได้ด้วย
- Self-management การรู้จักบริหารจัดการอารมณ์: ทั้งเรื่องความเครียด ความต้องการเป็นที่ยอมรับหรือพึงใจ แรงบันดาลใจในการทำตามเป้าหมาย
- Social awareness ความเข้าใจหรือตระหนักรู้ด้านสังคม: เข้าอกเข้าใจผู้อื่น เข้าใจและตระหนักถึงความหลากหลายของสังคม และไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหาหากจะเข้าไปช่วยเหลือใคร
- Relationship skills มีทักษะด้านความสัมพันธ์: มีทักษะด้านการสื่อสาร รับฟัง เชื่อมประสาน เป็นมิตร ประนีประนอม รู้ว่าเมื่อไรและอย่างไรจึงจะเป็นส่วนหนึ่งของทีมหรือกลุ่ม และเป็นผู้นำได้
- Responsible decision making รับผิดชอบในสิ่งที่ตัดสินใจได้: ตัดสินใจว่าจะแก้ปัญหาด้วยวิธีการใดได้ และรู้ด้วยว่าวิธีนั้นเป็นการแก้ปัญหาด้วยอารมณ์และเหตุผลในสัดส่วนเท่าไร ประเมินสิ่งที่จะเกิดตามมาจากแผนการที่วางไว้ รวมถึงคาดการณ์อุปสรรคที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินแผนการนั้นๆ