Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
positive-parenting-nologo
Adolescent Brain
25 November 2024

Positive Parenting: เลี้ยงลูกด้วย ‘จิตวิทยาเชิงบวก’ เสริมสร้างสมองที่แข็งแกร่ง

เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • หนึ่งในแนวทางการเลี้ยงลูกโดยใช้หลักจิตวิทยาเชิงบวก คือ ‘Positive Parenting’ การเลี้ยงดูโดยปราศจากความรุนแรงทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือคำพูด
  • การเลี้ยงลูกแบบ Positive Parenting นอกจากจะส่งผลดีต่อสุขภาพจิตแล้ว ยังส่งผลดีต่อพัฒนาการทางสมองด้วย ช่วยให้เด็กมีอารมณ์ที่มั่งคง ตัดสินใจได้ดี และปรับตัวในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ‘การจับถูก’ จะเป็นการเสริมแรงทางบวกเพื่อทำให้เด็กรู้สึกดีและอยากทำพฤติกรรมนั้นด้วยตัวเอง ซึ่งได้ผลที่ดีกว่า ‘การจับผิด’ ที่แม้จะทำให้เด็กประพฤติตัวดีขึ้นได้ก็จริง แต่เด็กอาจไม่ได้รู้สึกชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ หรืออาจทำเพียงเพราะกลัวถูกดุ

สังเกตไหมว่าบ่อยครั้งเรามักพึ่งพาเรื่องเชิงลบเพื่อผลักดันให้เกิดพฤติกรรมเช่น ลูกทำงานบ้านเพราะกลัวแม่ดุ นักเรียนทำการบ้านเพราะกลัวครูลงโทษ ลูกน้องรีบทำงานเพราะกลัวหัวหน้าตำหนิ สิ่งนี้ในทางจิตวิทยาเรียกว่า ‘การเสริมแรงทางลบ’ (Negative Reinforcement) เราทำพฤติกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงการเจอกับผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์

การเสริมแรงทางลบช่วยกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดี แต่บางครั้งเราอาจไม่ได้รู้สึกชอบทำพฤติกรรมนั้นจริงๆ เพียงแต่จำใจยอมทำเพื่อจะได้ไม่โดนตำหนิ เมื่อไม่มีการตำหนิ เราก็อาจหยุดพฤติกรรมนั้น เพราะไม่มีเหตุจำเป็นให้ต้องทำอีก เช่น ลูกอาจไม่ทำงานบ้านถ้าพ่อแม่ไม่คอยดุ 

แล้วมันจะดีกว่าไหมถ้าเราใช้เรื่องเชิงบวกในการสร้างพฤติกรรม?

‘การเสริมแรงทางบวก’ สามารถปรับพฤติกรรมเด็กให้ดีขึ้นได้

รศ.ดร.สิทธิโชค วรานุสันติกูล (2549) กล่าวว่า เมื่อเราทำพฤติกรรมที่นำไปสู่ความพึงพอใจ เราจะเกิดความรู้สึกชอบและอยากทำพฤติกรรมนั้นอีก เรียกว่า ‘การเสริมแรงทางบวก’ (Positive Reinforcement) เราทำเพราะจะทำให้เรามีความสุข ไม่ใช่ทำเพราะเพื่อหลีกหนีผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์

ผู้ใหญ่บางคนมักมองข้ามความสำเร็จของเด็ก โดยสนใจเฉพาะเมื่อเด็กทำผิดแล้วจึงเข้าไปสั่งสอน พูดง่ายๆ ก็คือเน้น ‘การจับผิด’ การจับผิดทำให้เด็กประพฤติตัวดีขึ้นได้ก็จริง แต่เด็กอาจไม่ได้รู้สึกชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ หรืออาจทำเพียงเพราะกลัวถูกดุ

สิ่งที่จะทำให้เด็กรู้สึกดี คือเน้น ‘การจับถูก’ กล่าวชื่นชมให้กำลังใจเมื่อเด็กทำสิ่งใดแล้วสำเร็จ โดยเน้นการกล่าวชื่นชมที่ความพยายามมากกว่าผลลัพธ์ เขาจะเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง และรับรู้ว่าตัวเองมีความสามารถ ต่อไปเขาก็อยากที่จะทำพฤติกรรมนั้นเองโดยไม่ต้องมีการบอกกล่าว

พูดง่ายๆ ก็คือ เราใช้ ‘การจับถูก’ เป็นการเสริมแรงทางบวกเพื่อทำให้เด็กรู้สึกดีและอยากทำพฤติกรรมนั้นด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจกลัวว่าการจับถูกจะทำให้เด็กเหลิงและหลงตัวเอง แต่ รศ.ดร.สิทธิโชค ชี้ว่า การทำเช่นนี้เป็นเทคนิคทางจิตวิทยาที่เรียกว่า ‘การเสนอพฤติกรรมคู่แข่ง’ (Incompatible Response) คือการสร้างหรือสนับสนุนให้เกิดพฤติกรรมหนึ่งที่ไม่สามารถเกิดขึ้นพร้อมกับอีกพฤติกรรมที่ขัดแย้งกันได้ 

เช่น เราไม่อยากให้เด็กพูดจาหยาบคาย เราก็กล่าวชมเมื่อเด็กพูดจาไพเราะ (เสริมแรงทางบวกให้กับการพูดจาไพเราะ) เนื่องจากการพูดจาไพเราะขัดแย้งกับการพูดจาหยาบคาย เมื่อเด็กเห็นว่าการพูดจาไพเราะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า คือ การได้รับคำชม ทำให้เด็กมีแนวโน้มที่จะเลือกการพูดจาไพเราะมากขึ้นและลดโอกาสพูดจาหยาบคาย

ลักษณะของ ‘การจับถูก’ เช่นนี้สอดคล้องกับหลักการของ ‘จิตวิทยาเชิงบวก’ (Positive Psychology) นั่นคือ การมองมนุษย์ในแง่บวก หาวิธีการเสริมสร้างความแข็งแกร่งที่นำไปสู่ความรู้สึกพึงพอใจ ไม่ใช่การตอกย้ำเรื่องแย่ๆ แล้วหวังให้เขาแข็งแกร่งขึ้น

Martin Seligman บิดาแห่งจิตวิทยาเชิงบวกกล่าวว่า ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง จิตวิทยามุ่งศึกษาแต่ความผิดปกติทางจิตและวิธีการรักษา แต่ได้ละเลยการสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันปัญหาสุขภาพจิต

เลี้ยงลูกด้วย ‘จิตวิทยาเชิงบวก’ ส่งผลดีต่อสมองในระยะยาว

หนึ่งในแนวทางการเลี้ยงลูกโดยใช้หลักจิตวิทยาเชิงบวก คือ ‘Positive Parenting’ การเลี้ยงดูโดยปราศจากความรุนแรงทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือคำพูด โดย ผศ.ดร.สมบุญ จารุเกษมทวี ได้สรุป Positive Parenting ไว้ว่ามีลักษณะดังนี้

  1. พ่อแม่เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก – ลูกมักสังเกตการกระทำของพ่อแม่ ดังนั้นถ้าพ่อแม่ต้องการให้ลูกประพฤติตัวอย่างไรก็ควรทำให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่าง
  2. ใช้การสื่อสารเชิงบวก – เมื่อลูกทำพฤติกรรมดีๆ ก็ให้เอ่ยคำชมด้วยความจริงใจเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับลูก และเมื่อลูกทำผิดก็หลีกเลี่ยงการดุด่าด้วยถ้อยคำรุนแรง ควรใช้คำพูดที่อธิบายว่าลูกทำอะไรผิด สิ่งนั้นไม่ดีอย่างไร และจะแก้ไขความผิดได้อย่างไร
  3. ใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพ – ใช้เวลาทำกิจกรรมที่ทำให้ครอบครัวมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน เพื่อกระชับความสัมพันธ์และเข้าใจความคิดของกันและกันมากขึ้น
  4. ให้ลูกได้แสดงความคิดของตัวเอง – เปิดโอกาสให้ลูกได้อธิบายว่าทำไมถึงคิดแบบนั้น ให้ลูกลองแสดงวิธีแก้ปัญหาต่างๆ และพ่อแม่ก็ช่วยกันวิเคราะห์ถึงผลดีผลเสีย
  5. สอนให้ลูกเข้าใจคนอื่น – แต่ละคนมีภูมิหลังที่ต่างกัน พ่อแม่ควรสอนให้ลูกเข้าใจถึงความแตกต่างด้วยการเอาใจเขามาใส่ใจเรา สอนให้มองในมุมของเขาเพื่อทำความเข้าใจเขา
  6. ยอมขอโทษเมื่อทำผิด – พ่อแม่ก็ทำผิดได้ พ่อแม่ต้องกล้าที่จะขอโทษอย่างไม่เขินอายเมื่อทำผิด เป็นการสอนเป็นนัยให้ลูกกล้ายอมรับผิดเมื่อทำผิดพลาดและเรียนรู้ที่จะแก้ไข

จากงานวิจัยระยะยาวในวารสาร Developmental Cognitive Neuroscience ปี 2014 พบว่า การเลี้ยงลูกแบบ Positive Parenting ทำให้สมองของเด็กมีการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก กล่าวคือ ทำให้ ‘อะมิกดาลา’ (Amygdala) มีการเจริญเติบโตในปริมาตรที่ลดลง และ ‘ส่วนนอกของสมองใหญ่’ (Cerebral Cortex) บางส่วนมีการบางลงที่เร็วขึ้น

‘อะมิกดาลา’ มีหน้าที่ตอบสนองอารมณ์ โดยเฉพาะอารมณ์ลบ (เช่น ความกลัว) เพื่อช่วยตรวจจับภัยคุกคาม การเจริญเติบโตที่ช้าลงในบริเวณนี้ อาจบ่งชี้ถึงการมีอารมณ์ที่มั่นคงมากขึ้น กล่าวคือ มีแนวโน้มที่จะประสบกับความเครียดน้อยลงและสามารถฟื้นตัวจากสถานการณ์ที่ยากลำบากได้เร็วขึ้น

ส่วนการบางลงของ ‘ส่วนนอกของสมองใหญ่’ เป็นพัฒนาการทางสมองตามปกติเมื่อเราโตขึ้น การบางลงนี้จะช่วยให้สมองส่วนต่างๆ เชื่อมต่อกันได้ดีขึ้น และทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในงานวิจัยนี้พบว่าการเลี้ยงลูกเช่นนี้เร่งการบางลงในบริเวณ Orbitofrontal Cortex (OFC) และ Anterior Cingulate Cortex (ACC) ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ การควบคุมอารมณ์ และพฤติกรรมทางสังคม อาจบ่งชี้ได้ว่าเด็กสามารถตัดสินใจได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ดีขึ้น และสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ทางสังคมด้วยความเข้าใจและความยืดหยุ่น

สรุปแล้ว การเลี้ยงลูกแบบ Positive Parenting นอกจากจะส่งผลดีต่อสุขภาพจิตแล้ว ยังส่งผลดีต่อพัฒนาการทางสมองด้วย ช่วยให้เด็กมีอารมณ์ที่มั่งคง ตัดสินใจได้ดี และปรับตัวในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อ้างอิง

สมบุญ จารุเกษมทวี. (ม.ป.ป.). เทคนิคการเลี้ยงลูกเชิงบวก Positive Parenting.

สิทธิโชค วรานุสันติกุล. (2549). จิตวิทยาพฤติกรรมนิยม จิตวิทยานิมาน และอุเบกขาธรรมในชีวิตกับการทำงาน. วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 6(1), 301-325.

Cleveland Clinic. (2023). Amygdala: What It Is and What It Controls.

Courtney E. Ackerman, & Jo Nash. (2018). What Is Positive Psychology & Why Is It Important?

Ellen Barry. (2024). Teen Girls’ Brains Aged Rapidly During Pandemic, Study Finds.

Fatahi, Z., Ghorbani, A., Zibaii, M.I., & Haghparast, A. (2020). Neural synchronization between the anterior cingulate and orbitofrontal cortices during effort-based decision making. Neurobiology of Learning and Memory, 175, 107320.

Flint Rehab, & Elizabeth Denslow. (2022). Orbitofrontal Cortex Damage: Understanding Emotional & Behavioral Changes After TBI.

Flint Rehab, & Mariah Kellogg. (2022). Anterior Cingulate Cortex Damage: Understanding the Secondary Effects & Recovery Process.

UNICEF. (n.d.). Positive Parenting.

Whittle, S., Simmons, J.G., Dennison, M., Vijayakumar, N., Schwartz, O., Yap, M.B.H., Sheebere, L., & Allen, N.B. (2014). Positive parenting predicts the development of adolescent brain structure: A longitudinal study. Developmental Cognitive Neuroscience, 8, 7-17.

Tags:

สมองครอบครัวพลังบวก (Positive Parenting)อารมณ์การเลี้ยงดูการปรับตัวการเสริมแรงทางบวก (Positive Reinforcement)จิตวิทยาการปรับพฤติกรรมเด็กเชิงบวก

Author:

illustrator

ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Curse Child Star-nologo
    Healing the trauma
    จิตวิทยาของ ‘เด็กดัง’: ทำไมดาวดวงน้อยถึงดิ่งลงเหวเมื่อพวกเขาเติบโต?

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Self-doubt
    How to enjoy life
    โยนคำวิจารณ์ที่บดขยี้ความมั่นใจของเราทิ้งไป แล้วกลับมาฟังเสียงหัวใจตัวเอง

    เรื่อง อัฒภาค ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Life classroom
    ลูกจะนิสัยเหมือนฉันไหม: บุคลิกภาพและการส่งต่อทางสายเลือด

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Family Psychology
    ค้นพบตัวตนของลูกผ่านการปั้นดิน: ไม่คาดหวัง เปิดตา เปิดใจ ยอมรับให้ดินได้ขึ้นรูปทรงด้วยตัวเอง

    เรื่องและภาพ เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

  • How to get along with teenager
    UNIQUE IS BETTER THAN PERFECT : เป็นตัวเองดีที่สุด

    เรื่อง The Potential ภาพ SHHHH

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel