- ในทางจิตวิทยาบุคลิกภาพหลักของคนเรามีอยู่ 5 แบบ โดยอิทธิพลส่วนหนึ่งถ่ายทอดผ่านมาทางพันธุกรรม กับอีกส่วนหนึ่งผ่านประสบการณ์หล่อหลอมมาตลอดชีวิต
- จุดอ่อนเรื่องหนึ่งของระบบการศึกษาไทยคือ ไม่เน้นการสร้างเสริมบุคลิกภาพให้เหมาะกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป แต่กลับเน้นไปที่การเติมเนื้อหาความรู้ใหม่ๆ มากจนเกินควร ทำให้เด็กต้องใช้เวลากับการเรียนมากขึ้น และที่แย่สุดคือเบื่อหน่ายต่อการหาความรู้
- เราสามารถ ‘ฝึก’ และ ‘ปรับ’ ให้มีบุคลิกภาพที่ดีขึ้นได้ ซึ่งการรู้ว่าบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงได้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะมีคนแค่เพียง 13% เท่านั้นที่พอใจกับบุคลิกภาพของตัวเอง
มนุษย์เรามีบุคลิกภาพไม่ซ้ำกันเลยในแต่ละคน ผู้ที่สนใจเรื่องบุคลิกภาพหรือบุคลิกลักษณะและนิสัยน่าจะพอรู้ว่า มีการแบ่งคนได้สารพัดแบบ เช่น นพลักษณ์ จริต 6 หรือ DISC model ฯลฯ บ้างก็ว่าวิธีแบ่งบางแบบแม่นยำกว่าแบบอื่น แล้วแต่ประสบการณ์และการสังเกตที่แตกต่างกันไป
แต่ในทางจิตวิทยามีการแบ่งที่พื้นฐานมาก มีงานวิจัยรองรับในหลายแง่มุมอย่างน่าสนใจ และที่สำคัญคืออาจจะประยุกต์ใช้ความรู้ในการแบ่งแบบนี้ เพื่อใช้พัฒนาเด็กให้มีบุคลิกภาพที่ดีขึ้นได้ตามต้องการ เหมาะสมกับยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว
อันที่จริงจุดอ่อนสำคัญเรื่องหนึ่งสำหรับระบบการศึกษาของไทย น่าจะได้แก่การไม่เน้นไปที่การสร้างเสริมบุคลิกภาพให้เหมาะกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป แต่กลับไปวุ่นวายอยู่กับการเติมเนื้อหาความรู้ใหม่ๆ เข้าไปในหลักสูตรมากจนเกินควร ทำให้เด็กๆ ต้องใช้เวลากับการเรียนมากขึ้น แต่กลับได้ผลสัมฤทธิ์ลดลง และที่แย่สุดคือเบื่อหน่ายต่อการหาความรู้ และหยุดหาความรู้ทันทีเมื่อมีโอกาส หรือจะหาความรู้แต่ก็เฉพาะเวลาโดนบังคับกะเกณฑ์เท่านั้น
กลับมาที่เรื่องของบุคลิกภาพในมุมมองทางจิตวิทยากัน
ในทางจิตวิทยานั้น บุคลิกภาพของคนแบ่งได้เป็น 5 แบบใหญ่ๆ คือ
(1) เปิดรับประสบการณ์ (Openness to experience)
(2) มีจิตสำนึก (Conscientiousness)
(3) มีความเปิดตัว (Extraversion)
(4) มีความเป็นมิตร (Agreeableness)
(5) มีความไม่มั่นคงทางอารมณ์ (Neuroticism)
ถ้าเอาตัวอักษรแรกของคำเหล่านี้มารวมกัน ก็อาจจำได้ง่ายๆ ว่า OCEAN หรือบางคนอาจจะจำเป็น CANOE ก็ได้เช่นกัน
แนวคิดเรื่องบุคลิกภาพหลัก 5 แบบนี้เริ่มพัฒนาขึ้นในทศวรรษ 1970 (นั่นก็คือกว่าครึ่งศตวรรษมาแล้ว!) โดยทีมวิจัย 2 ทีม ทีมแรกนำโดยพอล คอสตา และรอเบิร์ต อาร์. แมคเคร จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา และอีกทีมนำโดยวอร์เรน นอร์แมน และเลวิส โกลด์เบิร์ก จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่แอนน์อาร์เบอร์ และมหาวิทยาลัยออเรกอน [1]
ก่อนจะลงไปดูที่บุคลิกภาพแต่ละแบบกัน ขอเน้นตรงนี้ก่อนว่า บุคลิกภาพเป็นผลลัพธ์มาจากพันธุกรรมส่วนหนึ่งและการเลี้ยงดูอีกส่วนหนึ่ง เช่น พบว่าปกติแล้วลูกคนโตจะมีลักษณะเป็นคนมีความรับผิดชอบสูง ไปพร้อมๆ กับเป็นคนจอมบงการ เจ้ากี้เจ้าการ เพราะต้องดูแลน้องๆ หากในครอบครัวไม่ได้มีลูกเพียงคนเดียว
โดยสรุปคือแต่ละคนจะมีส่วนผสมของบุคลิกภาพทั้ง 5 แบบนี้ปะปนกันอยู่ บางคนก็มีบางอย่างมาก แต่มีบางอย่างน้อย โดยในตอนที่ทำวิจัยกันในช่วงแรกๆ มักจะเรียกว่าเป็นแบบจำลองห้าปัจจัย (Five-Factor Model) หรือ FFM แต่ชื่อเล่นที่ติดปากมากกว่าคือ บิ๊กไฟว์ (Big Five) [2]
คราวนี้มาดูบุคลิกภาพแต่ละแบบกันให้ละเอียดมากขึ้น
คนที่มี Openness มาก เป็น ‘คนช่างคิดช่างฝัน’ มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์สูง กล้าลองทำกิจกรรมใหม่ๆ ไวต่อความรู้สึก ความงาม รับรู้ความงามทางศิลปะได้ง่าย รับรู้อารมณ์ความรู้สึกตัวเองได้ดี และชอบใช้สติปัญญา
ในทางกลับกัน คนที่มี Openness น้อยก็จะมีความคิดแบบอนุรักษ์นิยม ติดกรอบประเพณีมาก ชอบอะไรที่เรียบๆ ไม่ซับซ้อนหรือลึกซึ้ง ไม่เปิดรับสิ่งใหม่เท่าไหร่ ไม่สนใจทั้งศิลปะและวิทยาศาสตร์ ไม่ค่อยมีการตอบสนองทางอารมณ์มากนัก
มีการทดลองที่น่าสนใจในปี 2011 ที่ชี้ว่า ยาไซโลซีบิน (psilocybin) ซึ่งออกฤทธิ์หลอนประสาทแบบเดียวกับเห็ดขี้ควาย (magic mushroom) ทำให้ผู้ได้รับยาปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพกลายเป็นคนที่มีลักษณะ Openness มากขึ้นอย่างน้อยถึง 1 ปี [3]
นี่หมายความบุคลิกภาพ (อย่างน้อยก็บางลักษณะ) สามารถปรับเปลี่ยนได้เมื่อใช้ยาบางอย่าง
ถัดมา คนที่มี Conscientiousness หรือจิตสำนึกดีมาก ลักษณะเด่นคือเป็น ‘คนชอบวางแผน’ มักเป็นคนมีวินัย รู้จักหน้าที่ ระมัดระวังรอบคอบ มีจุดมุ่งหมายเรื่องความสำเร็จในชีวิต มักชอบเตรียมการล่วงหน้า คนอื่นมักมองคนแบบนี้ว่าฉลาดและเชื่อถือได้
แต่ก็มีข้อเสียคือมักบ้าความสมบูรณ์แบบ ชอบโหมงานหนัก และจริงจังกับทุกเรื่องจนดูเป็นคนเคร่งเครียด น่าเบื่อ หรือไม่มีชีวิตชีวาไปบ้าง พวกที่มีลักษณะตรงกันข้ามก็มักไร้จุดหมายในชีวิต ไม่ทะเยอทะยาน ทำตามแบบแผนไม่ค่อยได้ เพราะอยากทำอะไรตามแต่ใจตัวเองมากกว่า
คนที่เปิดตัวมี Extraversion มาก มักจะเป็น ‘ดาวของงานปาร์ตี้’ เป็นคนชอบพบปะพูดคุยกับคนอื่น เป็นคนเปิดเผย ร่าเริง ดูอบอุ่น มองโลกในแง่ดี กระตือรือร้น ชอบเหตุการณ์ตื่นเต้นเร้าใจ และชอบเรียกร้องสิทธิของตัวเอง
ถ้ามีลักษณะตรงข้ามก็เป็นคนแบบ Introvert คือ ค่อนข้างเงียบ ชอบเก็บตัวและอยู่คนเดียว หรือไม่ก็เลือกอยู่กับคนที่เหมือนกับตัวเองเป็นหลัก ถ้าเป็นมากก็จะดูเป็นคนไม่สนใจหรือแคร์คนอื่น รวมทั้งไม่เป็นมิตรหรือไม่ค่อยมีเพื่อน
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจของ Introvert คือ บางคนอาจสับสนเรื่องนี้กับอาการขี้อาย แต่สองอย่างนี้ไม่เหมือนกันเสียทีเดียวนัก ความขี้อายมีรากฐานมาจากความกลัวที่จะมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับคนอื่น หรือการขาดความสามารถที่จะมีปฏิสัมพันธ์ดังกล่าว ขณะที่คนเป็น Introvert อาจจะดึงดูดสายตาคนอื่นในงานปาร์ตี้ก็ได้
แต่สำหรับตัวพวกเขาเองแล้วกลับชอบอยู่คนเดียวหรืออยู่เป็นกลุ่มเล็กๆ มากกว่า [4]
ถัดมาอีกคือ คนที่มีความเป็นมิตรสูงหรือ Agreeableness มาก เป็นคน ‘ใจดีชอบตามใจคนอื่น’ เป็นพวกจิตใจอ่อนโยน ให้ความร่วมมือ มองเห็นความดีในตัวมนุษย์ ซื่อสัตย์ และไว้วางใจได้ ชอบช่วยเหลือคนอื่น และชอบความปรองดอง
คนที่มีความเป็นมิตรต่ำก็จะเป็นคนเอาตั้งเองเป็นที่ตั้ง ไม่ค่อยสนใจสุขทุกข์ของคนอื่น ไม่ชอบช่วยเหลือใคร มีความหวาดระแวงสูง ไม่ค่อยเป็นมิตร และไม่ชอบทำงานร่วมกับคนอื่น
เรื่องที่น่าสนใจกรณีบุคลิกภาพนี้ก็คือ ผู้ชายที่มีลักษณะแบบนี้สูง ผู้หญิงมักจะเห็นแล้วเชื่อว่าคนพวกนี้ต้องเต้นรำเก่งแน่ๆ แสดงนัยยะว่าคนพวกนี้มีการเคลื่อนไหวร่างกายที่บ่งบอกความเป็นมิตรสูงบางอย่างอยู่ให้พอจับสังเกตได้ [4]
อีกข้อสรุปที่น่าสนใจคือ ผู้ชายที่มีความเป็นมิตรต่ำกลับมักมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าผู้ชายทั่วไป คนจำพวกที่แสดงออกว่าโหด ดุ หรือก้าวร้าว กลับได้ประโยชน์จากบุคลิกภาพแบบนี้ที่ช่วยให้รอดชีวิตได้ในสมัยโบราณและยังตกทอดมาถึงยุคนี้อย่างไม่น่าเชื่อ ขณะที่บุคลิกแบบเดียวกันนี้กลับไม่แสดงความสัมพันธ์ใดๆ กับรายได้ของฝ่ายผู้หญิงเลย! [4]
สุดท้าย คนที่มีความไม่มั่นคงทางอารมณ์หรือ Neuroticism เป็นคน ‘ขี้กลัวขี้เหวี่ยง’ มีความบกพร่องในการปรับตัวและปรับอารมณ์ ขี้วิตก ประหม่า โกรธ ซึมเศร้า เครียดและสับสนง่าย มักคิดแบบไม่เป็นเหตุเป็นผล
แต่ถ้าเป็นคนที่มีลักษณะตรงกันข้าม ก็จะมีอารมณ์มั่นคง มีสมาธิดี ไม่ค่อยมีอารมณ์แบบลบ หรือถ้ามีก็หายไปเร็วมาก
พวกขี้กังวลมีแนวโน้มจะมีนิสัยไม่ดีหลายอย่าง เช่น สูบบุหรี่จัดและดื่มแอลกอฮอล์หนัก และเสียชีวิตขณะอายุน้อย
การศึกษาชิ้นหนึ่งในปี 2006 พบความสัมพันธ์ระหว่างการติดปรสิต Toxoplasma gondii จากแมวกับอาการแบบ Neuroticism ที่เพิ่มมากขึ้น [5] แปลเป็นไทยเข้าใจง่ายๆ ว่า อาการป่วยที่เกิดจากปรสิตที่ถ่ายทอดกันได้ สามารถเปลี่ยนบุคลิกภาพให้เป็นคนขี้กลัวขี้เหวี่ยงมากขึ้นได้!
อย่างไรก็ตาม เราสามารถ ‘ฝึก’ และ ‘ปรับ’ ให้มีบุคลิกภาพที่ดีขึ้นได้เช่นกัน อันที่จริงเมื่อเราอายุมากขึ้น เราก็มักจะมีความเป็นมิตรมากขึ้นไปพร้อมๆ กับมีจิตสำนึกที่ดีมากขึ้นไปด้วยเช่นกัน เนื่องจากการมีวุฒิภาวะทางอารมณ์เพิ่มมากขึ้น [6]
การรู้ว่าบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงได้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะมีคนแค่เพียง 13% เท่านั้นที่พอใจกับบุคลิกภาพของตัวเอง [7]
สรุปว่าบุคลิกภาพหลักของคนเรามีอยู่ 5 แบบ โดยอิทธิพลส่วนหนึ่งถ่ายทอดผ่านมาทางพันธุกรรมจากพ่อและแม่ ผสมรวมกับอีกส่วนหนึ่งที่ผ่านประสบการณ์หล่อหลอมมาตลอดชีวิต และอาจเปลี่ยนแปลงได้ด้วยหลายสาเหตุปัจจัย ทั้งสารเคมีหรือยา ปรสิต และการฝึกฝน
เอกสารอ้างอิง
[1] Psychology Now (2023) Vol. 4, p.38-39
[2] https://thomasthailand.co/perspective/แบบทดสอบบุคลิกภาพ/
[3] J Psychopharmacol. 2011 Nov; 25(11): 1453–1461. doi: 10.1177/0269881111420188
[4] Psychology Now, 2023, Vol. 4, 38-39
[5] Proc Biol Sci. 2006 Nov 7; 273(1602): 2749–2755.doi: 10.1098/rspb.2006.3641
[6] https://www.psychologytoday.com/us/blog/media-spotlight/201509/can-you-change-your-personality
[7] https://www.truity.com/blog/studies-show-many-us-wish-we-had-totally-different-personalities