- หลังโควิด-19 ในประเด็นการศึกษาคาดการณ์ว่าการเรียนรู้ด้วยตัวเองอาจกลายเป็น New normal ของสังคม ผู้ปกครองจะมีบทบาทมากขึ้นเรื่องการจัดการศึกษา สิ่งที่ตามคือการปรับตัวของผู้ปกครองและครูที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจถึงแก่นแท้และเป้าหมายของการศึกษาแต่ละรูปแบบ แล้วหยิบใช้จุดแข็งของการศึกษาแต่ละรูปแบบอย่างเหมาะสมกับความแตกต่างของเด็กแต่ละคน
- บทความนี้ชวนหาความเป็นไปได้ใหม่ในการจัดการเรียนรู้ผ่านการนำเสนอแนวคิดการจัดการศึกษาสองแบบ คือ การศึกษาพิพัฒนาการ (Progressive Education) และการศึกษาด้วยตัวเอง (Self-Directed Education)
- ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้แบบ Progressive Education หรือ Self-Directed Education สิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้เลย คือ เด็กแต่ละคนมีความสนใจเรียนรู้แตกต่างกันตามธรรมชาติ จึงเป็นไปไม่ได้ที่เด็กทุกคนจะสนใจเรียนเรื่องเดียวกัน ในห้องเรียนเดียวกัน ชั่วโมงเรียนเดียวกัน แม้อยู่ในช่วงวัยเดียวกัน
เด็กแต่ละคนมีคาแรกเตอร์ ความถนัด และความสนใจแตกต่างกัน การศึกษาเองก็มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งการศึกษาตามระบบมาตรฐานในโรงเรียนทั่วไป ที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักมาตลอดว่าปิดกั้นการเรียนรู้ของเด็กเพราะเต็มไปด้วยกรอบและการประเมินตามตัวชี้วัดที่ไม่ได้วัดศักยภาพที่แท้จริงของเด็กแต่ละคน แต่เป็นการวัดแบบเหมาโหลตามหลักเกณฑ์ที่ถูกกำหนด
หลายครอบครัวตัดสินใจส่งลูกเข้าโรงเรียนทางเลือก หรือหันมาโฮมสคูลสอนลูกๆ ด้วยตัวเองตามกำลังทรัพย์ เวลา และศักยภาพ แต่หลายครอบครัวไม่ได้มีโอกาสเช่นนั้น
ที่ผ่านมา The Potential ได้นำเสนอแนวทางการศึกษาที่มีความแตกต่างและหลากหลาย เพื่อฉายภาพและจุดประกายให้เห็นว่าภายใต้ระบบการศึกษาที่ยังชักหน้าไม่ถึงหลัง ผู้ปกครองและครูช่วยสร้างแสงสว่างให้ลูกหลานของท่านได้โดยไม่ต้องรอ และไม่จำเป็นต้องมีกำลังทรัพย์มหาศาล แต่หัวใจสำคัญคือ ผู้ปกครองและครูต้องมีความรู้ความเข้าใจถึงแก่นแท้และเป้าหมายของการศึกษาแต่ละรูปแบบ แล้วหยิบใช้จุดแข็งของการศึกษาแต่ละรูปแบบอย่างเหมาะสมกับความแตกต่างของเด็กแต่ละคน
ครั้งนี้เราจะมาอธิบายความแตกต่างระหว่าง การศึกษาพิพัฒนาการ (Progressive Education) กับ การศึกษาด้วยตนเอง (Self-Directed Education) ที่มีเป้าหมายและความคล้ายคลึงกันอยู่ไม่น้อย
Progressive Education
Progressive Education เป็นคำที่ใช้เรียกการปฏิรูปการศึกษาที่เกิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ราวปี 1890-1940 เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาได้วางระบบการศึกษาภาคบังคับ ใช้ทั่วประเทศ
จอห์น ดิวอี้ (John Dewey) รูดอร์ฟ สไตเนอร์ (Rudolf Steiner) และมาเรีย มอนเตสซอรี (Maria Montessori) คือนักคิดและนักการศึกษาในกลุ่มนี้ ภายหลังแนวคิดของพวกเขาได้เป็นต้นแบบของโรงเรียนวอลดอร์ฟและโรงเรียนมอนเตสซอรีทั่วโลก
progressive Education เน้นการเรียนรู้จากการลงมือทำ เพื่อทำความเข้าใจเรื่องต่างๆ อย่างลึกซึ้งแทนการท่องจำ เรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมรอบตัวและจากประสบการณ์ชีวิต ให้ความสำคัญกับการคิดวิเคราะห์ (critical thinking) การทำงานกลุ่มที่ไม่ใช่การแข่งขัน วัดประเมินโดยไม่ใช้แบบทดสอบ ส่งเสริมให้เด็กมีความรับผิดชอบต่อสังคม (social responsibility) ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น (democratic attitudes) และไม่ละเลยเรื่องความยุติธรรมทางสังคม (social justice)
การเรียนรู้ลักษณะนี้ ครูมีบทบาทสำคัญเพราะจะต้องทำความรู้จักและเข้าใจเด็กแต่ละคน แล้วดึงศักยภาพที่ดีที่สุดของพวกเขาออกมา
Progressive Education จึงเป็นการออกแบบการสอนที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทั้งนักเรียนและครู นักเรียนเป็นต้นคิดนำเสนอไอเดีย มีครูเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้การเรียนรู้ที่ออกแบบขึ้นมานั้นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ และ “การเล่น” เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่เป้าหมายแต่ละเรื่องที่วางไว้
เว็บไซต์ Progressive Education Network องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2009 เพื่อเผยแพร่แนวคิดการศึกษาพิพัฒนาการ กล่าวว่า
“การศึกษาต้องเป็นกระบอกเสียงให้นักเรียน ทำให้นักเรียนมีสติปัญญาสร้างสรรค์โลกที่มีความเท่าเทียมกันและมีความยั่งยืน การศึกษาจะต้องส่งเสริมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมทั้งในห้องเรียน สังคม และโลก ตอบสนองพัฒนาการของผู้เรียน มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีพัฒนาการที่ดีทั้งทางสังคม อารมณ์ สติปัญญา ความรู้และวัฒนธรรม
การศึกษาจะต้องบ่มเพาะคุณลักษณะตามธรรมชาติของนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นความอยากรู้อยากเห็น ความต้องการเรียนรู้ สร้างเสริมแรงจูงใจจากภายใน เพื่อให้ผู้เรียนค้นพบสิ่งที่ตัวเองหลงใหลและเป้าหมายในชีวิต ทำให้ผู้เรียนยอมรับและเข้าใจความต่าง ทั้งความสนใจ ประสบการณ์ เป้าหมาย และความต้องการในชีวิต และการศึกษาจะต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนเคารพซึ่งกันและกัน มีความเห็นอกเห็นใจกัน โดยไม่แบ่งแยก”
Self-Directed Education
การศึกษาที่เน้นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เชื่อในศักยภาพตามธรรมชาติของเด็ก ความสนใจใคร่รู้สิ่งรอบข้าง แล้วหาทางเรียนรู้จากทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่รอบตัว เชื่อว่าความเก่งกาจของผู้เรียนมาจากตัวของผู้เรียนเอง บทบาทของครูในรูปแบบการเรียนรู้ด้วยตัวเองจึงมีน้อยกว่าการศึกษาพิพัฒนาการ
เว็บไซต์ Alliance for Self-Directed Education ที่นำเสนอองค์ความรู้เกี่ยวกับการเรียนรู้ด้วยตัวเอง อธิบายว่า ครูและผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องมีความรู้เฉพาะด้าน ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในทุกเรื่องที่ผู้เรียนสนใจ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสอน และไม่จำเป็นต้องเข้าใจความคิดและจิตใจของเด็กอย่างลึกซึ้ง
เพียงแค่ต้องมั่นใจว่าเด็ก/ผู้เรียน ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้สัญชาตญาณการเรียนรู้ตามธรรมชาติของเด็กเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการให้พื้นที่และเวลาในการเล่นและสำรวจสิ่งรอบตัวได้อย่างไม่จำกัด ช่วยให้เด็กเข้าถึงเครื่องมือที่มีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ ได้ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางชุมชนและผู้คนหลากหลายวัยแล้วเรียนรู้ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นทักษะ ความรู้และไอเดียต่างๆ รวมทั้งควรให้ผู้เรียนอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มีผู้ใหญ่พร้อมพูดคุยแลกเปลี่ยนในสิ่งที่พวกเขาสงสัย
หากผู้ปกครองและครูมีความเข้าใจก็จะสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ได้ทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน โดยเฉพาะสำหรับนักเรียนระดับมัธยมปลายขึ้นไปที่กำลังครุ่นคิดกับตัวเอง ถึงความชอบ ความสนใจ ความถนัดและการวางเป้าหมายชีวิต เพื่อตัดสินใจเรียนต่อในระดับสูง
ซัดบูรี วัลเลย์ สคูล (Sudbury Valley School) (ลิงค์ https://sudburyvalley.org/) เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่อำนวยการสอนให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตัวเอง ก่อตั้งขึ้นมากว่า 50 ปี แต่ละชั้นหรืออาจต้องพูดว่าแต่ละกลุ่มผู้เรียน ประกอบด้วยผู้เรียนที่มีอายุหลากหลายตั้งแต่ 4-19 ปีเรียนรู้ร่วมกัน ผู้เรียนฝึกฝนทักษะ แลกเปลี่ยน ไอเดีย เล่น สำรวจ ค้นคว้า ในสิ่งที่ตนเองสนใจ ในขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้จากคนอื่น
ความต่างอย่างเห็นได้ชัดระหว่าง Progressive Education และ Self-Directed Education คือ “ครู” ในการศึกษาพิพัฒนาการ (Progressive Education) ครูจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากเพราะครูทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์และช่วยเสริมแนวทางการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้นักเรียนแต่ละคน ส่วนการศึกษาด้วยตัวเอง (Self-Directed Education) เน้นให้ “ผู้เรียน” คิด ลงมือทำและเรียนรู้อย่างอิสระบนความเชื่อว่า มนษย์ถูกออกแบบให้มีคุณลักษณะที่ช่วยนำทางการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เป็นพลังขับเคลื่อนตามธรรมชาติที่มีอยู่แล้วในดีเอ็นเอ (DNA) ของทุกคน
ดร. ปีเตอร์ เกรย์ (Peter Gray) ศาสตราจารย์แห่งวิทยาลัยบอสตัน ผู้เขียนหนังสือ Free to Learn และ Psychology และเป็นผู้เขียนบทความเรื่อง Differences Between Self-Directed and Progressive Education (ความแตกต่างระหว่าง การศึกษาด้วยตัวเอง และ การศึกษาพิพัฒนาการ) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่าเขาสนับสนุนการศึกษาด้วยตัวเอง หลังเขาให้นิยาม ข้อดีข้อด้อยของการศึกษาทั้งสองประเภท เขาให้ความเห็นส่วนตัวไว้ในบทความชิ้นนี้อย่างน่าสนใจ ตอนหนึ่งว่า…
ตลอดชีวิตการทำงาน เขาพบเจอกับครูที่สนับสนุนการศึกษาพิพัฒนาการหลายคนมาก ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ใส่ใจผู้เรียนอย่างลึกซึ้งแท้จริง อยากเห็นเด็กคนหนึ่งเติบโตอย่างสมบูรณ์เต็มพร้อม ทั้งรู้ว่าข้อจำกัดในระบบการศึกษาเป็นอย่างไรและรู้ว่าด้วยการศึกษาพิพัฒนาการจะแก้ไขข้อบกพร่องนั้นได้อย่างไรบ้าง ครูที่สนับสนุนการศึกษาพิพัฒนาการส่วนมาก มักเป็นแนวหน้าของการปฏิรูปการเรียนรู้เลยก็ว่าได้ การออกแบบการเรียนรู้ของครูกลุ่มนี้จะให้การบ้านน้อยมากเพื่อผู้เรียนจะมีชีวิตนอกห้องเรียนที่มากขึ้น ลดการประเมินเชิงตัวเลข ออกแบบการทำงานของครูให้ยืดหยุ่นขึ้น และเพื่อให้ครูตอบรับความต้องการของเด็กแต่ละคนได้ดียิ่งขึ้น เกรย์บอกว่านี่เป็นจุดที่ทำให้เขาเคารพการทำงานและจิตใจของครูสายนี้
กระนั้น เกรย์คิดว่านี่คือสนามต่อสู้ทางการศึกษา และจะต้องต่อสู้ (ทางความคิดและการปฏิบัติ) ต่อไปตราบเท่าที่การศึกษายังมี ‘มาตรฐาน’ บางอย่างให้ไปถึง ซึ่งเกรย์เห็นว่า มันยากเกินไป มันมี ‘ชุดมาตรฐาน’ และ ‘ชุดความเชื่อ’ เกี่ยวกับการศึกษามากเกินไป
เกรย์ให้เหตุผลว่า เพื่อไปให้ถึงชุดมาตรฐานที่ว่า มันเป็นงานหนักของครูอย่างมากที่ต้อง ‘ทำให้มั่นใจ’ ว่าผู้เรียนจะเรียนรู้อย่างถูกต้อง ถูกเวลา ไม่ว่าความก้าวหน้าที่ครูคิดว่าเด็กๆ ต้องไปถึงคืออะไร แต่ครูจะก้มหน้าก้มตาทำทุกวิถีทางเพื่อให้ผู้เรียนไปถึงจุดนั้น แต่ด้วยบริบทแบบนี้ เด็กๆ จะไม่ได้พัฒนา ‘โดยธรรมชาติ’ และไม่ได้พัฒนาโดยความสนใจของพวกเขาเอง
เกรย์บอกว่าในความเป็นจริง ครูทุกคนตั้งใจทำงาน รักและหวังดีกับผู้เรียน อยากทำตามชุดมาตรฐานที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม เมื่อครูเผชิญหน้ากับห้องเรียนจริง ที่ซึ่งพวกเขาดูแลเด็ก 30 คน ต้องทำตามแผนที่วางไว้เพื่อให้มั่นใจว่าการเรียนรู้ที่เตรียมไว้กำลังดำเนินอยู่ เมื่อนั้น เกรย์บอกว่า ‘การศึกษาพิพัฒนาการ’ อาจกระโดดออกจากหน้าต่างห้องเรียนไปเมื่อไรไม่รู้แล้วก็ได้
ที่ยกความเห็นของเกรย์ขึ้นมาเพื่ออยากชวนคิดอย่างนี้ว่า …ในเวลาที่ผู้ปกครองอาจต้องขยับเป็นส่วนหนึ่งในคนจัดการเรียนรู้ของผู้เรียน ของบุตรหลานตัวเอง ข้อดีที่เกรย์พยายามจะโน้มน้าวให้เห็น คือ การเรียนรู้ด้วยตัวเอง เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญ และ อยากให้เห็นว่า ภายใต้ระบบการศึกษาที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม เราได้กำหนดชุดมาตรฐาน ที่มันรัดรึงและเครียดขึงกับเด็กเกินไปรึเปล่า
ในเวลานี้ ผู้ปกครองลองดูข้อดีข้อเสียของแต่ละด้าน เลือกเชื่อ และลองมาปรับใช้กับตัวเองได้
สำหรับประเทศไทย แม้ปัจจุบันมีโรงเรียนทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น แต่อย่างที่รู้ๆ กันอยู่ว่าด้วยสภาพสังคมและข้อจำกัดหลายด้าน เด็กส่วนใหญ่ในประเทศยังเข้าถึงแค่การศึกษาขั้นพื้นฐานในโรงเรียนตามระบบ แต่ในโลกปัจจุบันที่การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเปิดกว้าง ความเข้าใจระบบการศึกษาตามกรอบมาตรฐานเดิมไม่สามารถขจัดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อีกต่อไป…
ความรู้และความเข้าใจของ “ผู้ปกครอง” และ “ครู” ที่มีต่อการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบต่างหาก ที่จะช่วยสร้างโอกาสให้กับลูกหลานได้ทันที
ความเชื่อและความเข้าใจว่าการเรียนคือการแข่งขัน เด็กจะเรียนรู้ได้ก็ต่อเมื่อถูกผลักดัน การสอบเป็นการวัดศักยภาพของนักเรียน ครูและโรงเรียน ครูต้องรักษาวินัยในห้องเรียนอย่างเข้มงวด และครอบครัวยังให้ความสำคัญกับการสำเร็จการศึกษาและใบปริญญาจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเท่านั้น เป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการเรียนรู้ของเด็ก
หรือแม้แต่ความเชื่อที่ว่าผู้ปกครองและครูมีบทบาทต่อการช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้บางสิ่งบางอย่างในช่วงเวลาที่เหมาะสมก็ยังมีจุดอ่อน เพราะนั่นอาจนำมาสู่การกำหนดกรอบหรือบังคับให้เด็กๆ เรียนรู้บางสิ่งบางอย่างที่ไม่ใช่ตัวเขาเองอยู่ดี
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้แบบ Progressive Education หรือ Self-Directed Education สิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้เลย คือ เด็กแต่ละคนมีความสนใจเรียนรู้แตกต่างกันตามธรรมชาติ จึงเป็นไปไม่ได้ที่เด็กทุกคนจะสนใจเรียนเรื่องเดียวกัน ในห้องเรียนเดียวกัน ชั่วโมงเรียนเดียวกัน แม้อยู่ในช่วงวัยเดียวกัน ดังนั้น การออกแบบหลักสูตรหรือออกแบบห้องเรียนในระบบให้เด็กๆ เรียนรู้แบบเหมารวมจึงไม่ใช่คำตอบ
ในยุคที่ new normal จะเกิดขึ้นนี้ เป็นไปได้ไหมว่าเราจะใช้โอกาสนี้เปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาในระบบการศึกษาไทย ขบคิดว่าการจัดการศึกษาที่ให้ผู้เรียนนำพาการเรียนรู้ของตัวเองได้ควรเป็นอย่างไร