- นักเรียนไม่ใช่วัตถุที่ไร้ซึ่งเรื่องราวใดๆ แต่พวกเขาต่างก็มีโลกที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ โลกที่อาจเต็มไปด้วยความกลัว ความฝัน ความเจ็บปวด ความสิ้นหวัง ความท้อแท้ ที่ครูของพวกเขาจะสัมผัสและรับรู้มันได้ก็ต่อเมื่อการสนทนาเกิดขึ้น
- การเข้าใจถึงเรื่องราวปัญหาที่เกิดขึ้นของนักเรียนแต่ละคนต้องอาศัยการสร้างพื้นที่ที่นักเรียนจะได้เล่าเรื่องราวของชีวิตตน และครูจะได้ยินถึงอารมณ์ความรู้สึกสิ่งที่นักเรียนกำลังเผชิญอยู่ นี่คือ ‘Narrative pedagogy’
- ยกตัวอย่าง ครูคนหนึ่งอาจเติบโตมาจากประสบการณ์ที่ตนเองยินดีกับการถูกตีและเคี่ยวเข็ญ และเชื่อว่าวิธีนี้จะช่วยพัฒนานักเรียนได้ จึงได้นำมาใช้กับนักเรียนของตน แต่นักเรียนกลับรู้กลัวและเจ็บปวด ไม่มีความสุขในการไปโรงเรียน
หลายครั้งเมื่อเกิดสถานการณ์ที่ครูประเมินและตัดสินอย่างรวดเร็วว่าเป็นปัญหา ไม่ว่าในระดับชั้นเรียนหรือโรงเรียน การแก้ปัญหามักจบลงด้วยการที่ครูเร่งรีบหาเทคนิควิธีการที่หลากหลายทั้งเก่าใหม่เข้าไปแก้ไขทันที ตัวอย่างเช่น เมื่อครูเห็นว่านักเรียนขาดความสนใจในบทเรียน และประเมินอย่างรวดเร็วว่าสาเหตุของปัญหาคือบทเรียนนั้นน่าเบื่อ ครูก็จะเปลี่ยนวิธีการเป็นการเรียนผ่านเกมหรือล่อใจด้วยของรางวัล หรือเมื่อครูด่วนสรุปว่าที่นักเรียนไม่ตั้งใจทำข้อสอบนั้นเป็นเพราะนักเรียนขี้เกียจอ่านหนังสือ ครูก็อาจจะแก้ปัญหาด้วยการออกข้อสอบให้ยากขึ้น
ในข้อเขียนนี้ อยากชวนผู้อ่านทบทวนว่าแท้จริงแล้วมีอะไรซ่อนอยู่ลึกกว่าสิ่งที่เรามองเห็นหรือไม่?
ฉากหลังของนักเรียนมีอะไรซ่อนอยู่
ในทางจิตวิทยาการศึกษา การที่ครูประเมิน ตัดสิน และให้คำอธิบายปัญหาที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนอย่างรวดเร็วนั้น อาจเป็นผลมาจากความเข้าใจ ประสบการณ์ หรือชุดข้อมูลที่ครูมีมาก่อนหน้า ซึ่งกลายเป็นปัจจัยหลักที่ครูใช้ในการให้คำอธิบายและตัดสินปัญหาบางอย่าง เช่น นักเรียนบางคนถูกครูประเมินและตัดสินว่าเป็นวัตถุดิบที่ไม่ดีตั้งแต่ต้น เพราะแม้ว่าครูจะหาวิธีการที่ดีกว่ามาสอนแล้ว (เช่น active learning) ก็ไม่อาจทำให้เด็กกลุ่มนั้นสนใจในบทเรียนได้ ทั้งนี้ การตัดสินนั้นอาจมากจากประสบการณ์เดิมของครูเมื่อครั้งเป็นนักเรียน ที่ตั้งใจเรียนเสมอแม้ว่าครูจะสอนด้วยวิธีการแบบไหนก็ตาม หรือครูบางคนก็เลือกที่จะโทษว่าเป็นเพราะตัวเองยังเป็นครูที่ไม่ดีพอ ทำให้นักเรียนสนใจไม่ได้
นักจิตวิทยาการศึกษาจึงเสนอว่าแทนที่ครูจะมองสถานการณ์เหล่านั้นจากประสบการณ์ที่มามาก่อนของตัวเองเพียงอย่างเดียว ครูจำเป็นต้องเรียนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียนให้มากกว่าที่เห็น ซึ่งอาจทำได้ด้วยการทำแฟ้มข้อมูล portfolio หรือการสอบถามพูดคุย เป็นต้น
ในช่วงที่ผมฝึกสอนอยู่ในโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เด็กชายคนหนึ่งมักจะเข้ามาในห้องเรียนด้วยอาการที่เหม่อลอยแล้วก็ฟุบหลับลงกับโต๊ะ แทนที่ครูประจำชั้นจะต่อว่าที่เขาไม่ตั้งใจเรียนและลงโทษให้หลาบจำ ครูกลับเปิดโอกาสให้เด็กชายอธิบายและบอกเล่าสิ่งที่เขารู้สึกออกมา เขาเล่าว่าช่วงนี้แทบไม่ได้เจอแม่เลย เลิกเรียนกลับบ้านแม่ก็ไปทำงาน เขารู้สึกโดดเดี่ยว ขณะที่เล่าน้ำตาของนักเรียนก็ไหลไปด้วย ครูประจำชั้นได้โทรไปพูดคุยกับแม่ของเขาถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และสถานการณ์ก็ค่อยๆ คลี่คลาย เมื่อแม่ของเด็กชายพยายามจัดสรรเวลาให้เขา
นี่คือชั้นเรียนที่ไม่ได้เริ่มต้นการแก้ปัญหาด้วยข้อสรุปจากครูโดยทันที แต่เริ่มต้นด้วยการตั้งใจฟังอย่างเป็นมิตรถึงสิ่งที่อยู่เบื้องหลังของนักเรียนในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
Kincheloe นักการศึกษาเชิงวิพากษ์ มองว่า เราไม่อาจเข้าใจนักเรียนของเราได้เลยหากครูไม่รู้ว่านักเรียนของเรากำลังเผชิญกับอะไร เขากำลังรู้หรือไม่รู้อะไร เขามีความฝันและความกลัวอะไร สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นที่ครูและนักเรียนต้องร่วมกันมองให้เห็นว่าลึกๆ แล้วสาเหตุของปัญหาคืออะไรกันแน่ ถ้าเด็กคนหนึ่งรู้สึกโดดเดี่ยวเมื่อกลับบ้านเพราะแม่ต้องทำงาน หากเราสรุปอย่างรวดเร็วในเบื้องต้น เราอาจมองว่า แม่กำลังแบ่งเวลาไม่ดีพอจึงส่งผลเช่นนี้ หรือมองว่าเด็กคนนั้นอ่อนไหวเกินไป แต่หากมองให้ลึกซึ้งและรอบด้าน จะเห็นว่าคำถามสำคัญคือ สังคมแบบไหนกันที่ทำให้แม่คนหนึ่งต้องทำงานหนักจนไม่มีเวลาได้อยู่กับลูกอย่างเต็มที่
ในมุมมองของ Kincheloe เราจึงไม่อาจมองนักเรียนเพียงแค่สิ่งที่เห็นตรงหน้าได้ แต่ต้องมองให้ลึกลงไปในความซับซ้อน เพราะว่านักเรียนแต่ละคนต่างมีโลกที่เขาเติบโตและเผชิญอยู่ และพวกเขาต่างก็อยู่ในบริบทสังคมที่สัมพันธ์กับอำนาจทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม ที่ส่งผลต่อตัวตนของพวกเขา
ในบทสัมภาษณ์ ‘มุมมองโดมิโน ปัญหาสุขภาพจิตในโรงเรียน’ ของครูแนน ปาริชาต ที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับนักเรียนอยู่เป็นประจำ เธอพบว่านักเรียนจำนวนหนึ่งมาโรงเรียนพร้อมความรู้สึกเชิงลบ หลายคนโทษตัวเอง บางคนมีความรู้สึกเศร้าจากการเรียนเพราะตัวรู้สึกว่าตัวเองทำได้ไม่ดีพอ บางคนมองไม่เห็นอนาคตของตัวเอง และสิ้นหวังต่อโลกที่กำลังอยู่ ครูแนนจึงมองว่า ปัญหาสุขภาพจิตหรือสภาวะซึมเศร้าที่พบได้มากในวัยรุ่นนั้น ไม่ใช่ปัญหาของนักเรียนคนใดคนหนึ่ง หรือเกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่แท้จริงคือบริบทสังคมที่บีบให้นักเรียนทุกคนต้องแข่งขันและเป็นเลิศอยู่เสมอ ทำให้นักเรียนหลายคนแบกความพ่ายแพ้มาเรียน
สิ่งเหล่านี้ทำให้เธอเชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นของนักเรียนคนหนึ่งในชั้นเรียนนั้นแยกไม่ขาดจากสังคมที่เขาอยู่ มันคือฉากหลังที่ครูต้องมองให้ลึกลงไป ทำให้เธอเสนอว่า “ถ้าเราอยากให้เขา (นักเรียน) มีสุขภาพจิตที่ดี เราจำเป็นต้องพูดถึงโครงสร้างอื่นๆ ที่มนุษย์คนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมาได้อย่างดีด้วย”
เข้าไปสู่โลกที่นักเรียนของเรากำลังเผชิญอยู่
การเข้าใจถึงเรื่องราวปัญหาที่เกิดขึ้นของนักเรียนแต่ละคนจึงต้องอาศัยการสร้างพื้นที่ของการสนทนาพูดคุย (dialogue) ที่นักเรียนจะได้บอกเล่าเรื่องราวของชีวิตตน และครูจะได้ยินได้ฟังถึงอารมณ์ความรู้สึกสิ่งที่นักเรียนกำลังเผชิญอยู่ หรือต่างคนต่างบอกเล่าซึ่งกันและกัน นี่คือ ‘Narrative pedagogy’ ที่จะช่วยให้ครู (หรือผู้ร่วมสนทนา) ได้เรียนรู้และเห็นโลกต่างไปจากแง่มุมของตนเอง หรือจากที่ตนเองคุ้นชิน นี่ก็เพราะว่าตัวเราแต่ละคนก็เติบโตมาบนภูมิหลังทางสังคมแบบหนึ่งที่เต็มไปด้วยประสบการณ์ของคุณค่าและความเชื่อแบบหนึ่ง และเข้ามากำกับวิธีการมองโลกของเราต่อสิ่งที่ต่างๆ จากตำแหน่งของเราเช่นกัน การได้สนทนากับคนอื่น (นักเรียน) ที่มีภูมิหลังทางประสบการณ์ มีประวัติศาสตร์ของชีวิตที่ต่างออกไป จะช่วยพาให้เราเห็นว่าขอบฟ้าความเข้าใจของเรามีข้อจำกัดอย่างไร มีอะไรบ้างที่เราไม่เคยมองเห็นหรือคิดจากมุมอื่น
สิ่งนี้เป็นการเรียนรู้จากการเผชิญหน้ากับเรื่องเล่า ซึ่งนั่นจะทำให้ความเข้าใจของเราขยายออกไปเป็นขอบฟ้าใหม่ที่มีต่อเรื่องเดิมจากตำแหน่งของคนอื่น และแปรเปลี่ยนไปสู่การให้ความหมายใหม่กับสิ่งที่เราเคยเข้าใจ
ในหนังสือ Narrative Pedagogy: Life History and Learning อธิบายว่า การสนทนากับคนอื่น (นักเรียน) ประสบการณ์ที่ถูกเล่าออกมาอย่างจริงแท้นั้นเปรียบเสมือนกับการคุยกับ ‘เอเลี่ยน’ หรือ ‘คนแปลกหน้า’ เพราะเขาเหล่านั้นมาจากโลกที่ต่างไปจากเรา เขามีเรื่องราวที่ต่างไปจากสิ่งที่เราคุ้นเคย ซึ่งการได้ยินได้ฟัง และสนทนากันจะเข้ามารบกวนสามัญสำนึก (common sense) ที่เราเคยมี และอาจนำมาสู่ความเข้าใจที่มีต่อคนอื่นหรือโลกที่เรากำลังเติบโตได้กว้างขึ้นกว่าเดิม
ตัวอย่างเช่น ครูคนหนึ่งอาจเติบโตมาจากประสบการณ์ที่ตนเองยินดีกับการถูกตีและเคี่ยวเข็ญ และเชื่อว่าวิธีการนี้จะช่วยพัฒนานักเรียนได้ จึงได้นำมาใช้กับนักเรียนของตนเองอยู่บ่อยๆ แต่ทว่าในอีกโลกหนึ่ง นักเรียนกลับมองเห็นประสบการณ์แบบเดียวกันนี้ในทางลบ เขามองว่าประสบการณ์เหล่านี้เต็มไปด้วยความกลัวและความเจ็บปวด ทำให้เขาไม่มีความสุขในการไปโรงเรียน
ดังนั้น หากครูได้สนทนาเรียนรู้กับนักเรียนจากเรื่องนี้ถึงความสุขและความกลัวของนักเรียน ก็อาจช่วยให้ครูเห็นว่า การใช้ไม้เรียวในโลกที่ตัวเองยินดี อาจไม่ได้เป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับนักเรียนหลายคน เพราะในโลกของพวกเขาไม้เรียวคือความรุนแรงในโลกของวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่น่ากลัวและอยากจะหลบหนี ห้องเรียนของครูก็อาจแปรเปลี่ยนไปสู่ความสัมพันธ์ที่ปราศจากความกลัว
นักเรียนจึงไม่ใช่วัตถุที่ไร้ซึ่งเรื่องราวใดๆ แต่พวกเขาต่างก็มีโลกที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ โลกที่อาจเต็มไปด้วยความกลัว ความฝัน ความเจ็บปวด ความสิ้นหวัง ความท้อแท้ ที่ครูของพวกเขาจะสัมผัสและรับรู้มันได้ก็ต่อเมื่อการสนทนาเกิดขึ้น
อ้างอิง
หนังสือ Narrative Pedagogy: Life History and Learning เขียนโดย Ivor F. Goodson และ Scherto R. Gill
หนังสือ Teachers as Researchers เขียนโดย Joe L Kincheloe