- Multicultural Education เสมือนเลนส์และวิธีการที่ช่วยพาเราเข้าไปสำรวจและท้าทายกับความไม่ยุติธรรม การเลือกปฏิบัติ และอคติที่เกิดขึ้นกับนักเรียนในระบบการศึกษา ทั้งในหลักสูตร ตำราเรียน บทบาทครู สภาพแวดล้อม ไปจนถึงนโยบาย
- แท้จริงแล้วระบบการศึกษาเป็นพื้นที่ของการส่งผ่านวัฒนธรรมไปสู่นักเรียน ผ่านความรู้ พิธีกรรม วิธีการสอนของครู และกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน
- บทบาทของครู อาจเริ่มต้นด้วยการกลับมาทบทวนตัวตนของครู ที่สะท้อนผ่านวิธีการสอน การเลือกใช้สื่อ เนื้อหา การจัดกลุ่ม การปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นกับนักเรียน ว่าตัวครูกำลังเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกปฏิบัติ สร้างความไม่เท่าเทียม หรือมีอคติอยู่
เรามองเห็นนักเรียนแต่ละคนจากแง่มุมไหน? พวกเขากำลังเผชิญประสบการณ์แบบไหนในโรงเรียนบ้าง? แท้จริงแล้วโรงเรียนกำลังสร้างสังคมที่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับนักเรียนทุกคนหรือไม่? ครูและนักการศึกษาเข้ามามีบทบาทสำคัญในเรื่องเหล่านี้อย่างไร? คำถามเหล่านี้เป็นคำถามสำคัญของ Multicultural Education หรือ พหุวัฒนธรรมศึกษา ที่ชวนให้เรามองเห็นความแตกต่างของเด็กแต่ละคนในระบบการศึกษาและสังคมที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรม อำนาจ และสิทธิพิเศษ (privilege)
Multicultural Education (ME) คืออะไร?
Multicultural Education (ME) มีพัฒนาการมาจากรากฐานสำคัญของขบวนการต่อสู้เคลื่อนไหวทางสังคมในแต่ละช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ เพื่อเรียกร้องและสนับสนุนให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นกับทุกคน ควบคู่ไปกับการท้าทายและรื้อถอนวัฒนธรรมอำนาจที่เอื้อให้คนบางกลุ่ม (เช่น การเรียกร้องสิทธิในเลือกตั้งของผู้หญิง เป็นต้น) สำหรับ James Banks นักการศึกษาสายพหุวัฒนธรรมศึกษา เห็นว่า ME ไม่ใช่แค่การเคลื่อนไหวทางสังคม แต่คือแนวคิดที่มองว่า เด็กทุกคนไม่ว่าจะมีความแตกต่างในเรื่องเพศ ความเชื่อ เชื้อชาติ ชนชั้น ร่างกาย และอื่นๆ พวกเขาจะต้องมีสิทธิในการดำรงชีวิตอย่างเท่าเทียม เสมอภาค ปราศจากอคติและการเลือกปฏิบัติ ME จึงเป็นเสมือนเลนส์และวิธีการที่ช่วยพาเราเข้าไปสำรวจและท้าทายกับความไม่ยุติธรรม การเลือกปฏิบัติ และอคติที่เกิดขึ้นกับนักเรียนในระบบการศึกษา ทั้งในหลักสูตร ตำราเรียน บทบาทครู สภาพแวดล้อม ไปจนถึงนโยบายทางการศึกษา
วัฒนธรรม อำนาจ และสิทธิพิเศษ
ในบทความ Culture, Teaching, and Learning ที่เขียนโดย Convertino และทีม ชี้ว่า เมื่อพูดถึงพหุวัฒนธรรมศึกษา หรือ ME ความเข้าใจผิดอย่างหนึ่ง คือการมองว่า เป็นแนวคิดที่ส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรู้วัฒนธรรมในเชิงท่องเที่ยวที่แตกต่างไปจากตน หรือที่เรียกว่า tourist-based ที่มักจะเน้นไปที่การสอนเกี่ยวกับประเพณี เทศกาลสำคัญ วันหยุด สิ่งของประจำชาติหรืออาหารท้องถิ่น ซึ่งเป็นการมองวัฒนธรรมเพียงผิวเผิน มุมมองเช่นนี้ไม่ได้ช่วยให้เราเข้าใจความสัมพันธ์ของวัฒนธรรม อำนาจ และสิทธิพิเศษที่ส่งผลต่อตัวเด็กได้เลย
แท้จริงแล้วระบบการศึกษาเป็นพื้นที่ของการส่งผ่านวัฒนธรรมไปสู่นักเรียน ผ่านความรู้ พิธีกรรม วิธีการสอนของครู และกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน
แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เต็มไปด้วย ความหมาย สัญญะ คุณค่า และความเชื่อ ว่าอะไรคือสิ่งนักเรียนแต่ละคนควรทำ ควรให้คุณค่า ควรเรียนรู้และรู้สึก หรือควรแสดงออกเกี่ยวกับตนเองและคนอื่นๆ อย่างไร คำถามสำคัญที่จำเป็นต้องถูกยกขึ้นมาพิจารณา คือวัฒนธรรมเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นโดยใครและใครได้ประโยชน์จากมันอย่างไร บทความดังกล่าวยัง อธิบายไว้เพิ่มเติมว่า วัฒนธรรมที่ถูกส่งผ่านนั้น แยกไม่ขาดจากอำนาจลำดับชั้น โรงเรียนทำหน้าที่ของมันเพียงเพื่อสร้างและรักษาสถานะของบางชนชั้นหรือชนชั้นผู้มีอำนาจเหนือกว่า
ในงานศึกษาแนวชาติพันธุ์วรรณา ( ethnography) ของ Ray Rist ช่วงปี 1970 ที่เข้าไปศึกษาชั้นเรียนระดับชั้นอนุบาลแห่งหนึ่ง จากการสังเกตและรวบรวมข้อมูลเป็นระยะเวลาสามปี เขาพบว่า การจัดโต๊ะในชั้นเรียนเกี่ยวกับการอ่าน ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการจัดแยกประเภทเด็กจากพฤติกรรม ลักษณะ และภาษาที่ใช้ ซึ่งนัยหนึ่งก็สะท้อนถึงภูมิหลังทางชนชั้นของนักเรียน กล่าวคือโต๊ะเรียนได้ถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม (หรืออย่างที่เราคุ้นเคยกันดี “เก่ง กลาง อ่อน” ) กลุ่มแรก กลุ่มที่มีความสามารถสูงสุด เด็กที่อยู่ในกลุ่มนี้มีลักษณะการแต่งกายและพฤติกรรมที่ดูดี เรียบร้อย และมีการใช้ภาษาอังกฤษแบบอเมริกันตามมาตรฐาน พวกเขาเป็นเด็กจากชนชั้นกลางนั่นเอง ส่วนสองกลุ่มหลังคือกลุ่มกลางและอ่อน เด็กกลุ่มนี้มีลักษณะตรงข้ามกับกลุ่มแรก Rist พบว่า ครูใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับเด็กกลุ่มเก่ง และเมื่อเวลาผ่านไปตลอด 3 ปีของการศึกษา
การจัดโต๊ะดังกล่าวส่งผลต่อการรับรู้ที่เด็กมีต่อตัวเองและเพื่อนคนอื่นๆ เช่น ใครเป็น “คนฉลาด” หรือ “คนโง่” ห้องเรียนจึงกลายเป็นพื้นที่ตอกย้ำสถานะทางชนชั้น และเอื้อให้เด็กบางกลุ่มประสบความสำเร็จได้มากกว่าไปโดยปริยาย
เมื่อนึกย้อนมองกลับมาที่สังคมไทย ไม่ใช่เพียงแค่วิธีการการจัดโต๊ะในลักษณะเดียวกันกับชั้นเรียนข้างต้นเท่านั้นที่ยังมีให้เห็นอยู่ แต่การแบ่งห้อง เช่น “ห้อง King ห้อง Gifted ห้องบ๊วย” ก็กลายเป็นหลักฐานสำคัญที่ชวนให้เรากลับมาตั้งคำถามเดียวกันว่า สิ่งเหล่านี้กำลังส่งต่อและตอกย้ำความไม่เท่าเทียมในสังคมหรือไม่? ไม่เพียงเท่านั้น ในโรงเรียนไทยยังกลับพบว่า นักเรียนพม่าไทใหญ่ต่างต้องเผชิญกับความรู้สึกเชิงลบทางเชื้อชาติจากครูและหลักสูตร (ดูเพิ่มเติมได้ที่: ห้องเรียนที่ ‘เห็น’ นักเรียนตรงหน้ามากกว่าชื่อที่ปักบนอก https://thepotential.org/knowledge/classroom-ethnic-discrimination/) ขณะเดียวกันในงานสังเกตชั้นเรียน เกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ของครูกับนักเรียนในชั้นเรียน ครูคนหนึ่งเชื่อว่า การปฏิบัติของตัวเองต่อความแตกต่างทางเพศนั้นเท่าเทียม แต่ในชั้นเรียนกลับปรากฏว่า เมื่อเด็กผู้หญิงต้องการจะตอบคำถามจะต้องยกมือขออนุญาต ในขณะที่เด็กผู้ชายไม่จำเป็นต้องทำ งานวิจัยบางชิ้นมีข้อสังเกตว่า เด็กผู้ชายได้รับความสนใจจากครูไม่ว่าจะทางบวกหรือลบมากกว่าเด็กผู้หญิง และบ่อยครั้งเด็กผู้ชายมักเป็นผู้ควบคุมการสนทนาในห้องเรียน
ในมิติด้านความรู้ งานวิจัยหลักสูตรแฝงในแบบเรียนของไทยและเวียดนามผ่านมิติเรื่องเพศพบว่า แบบเรียนแฝงไปด้วยนัยยะของการปลูกฝังความไม่เท่าเทียมทางเพศ สัดส่วนการยกตัวอย่าง การใช้คำแทน มักมีน้ำหนักไปที่ผู้ชายมากกว่าเพศอื่นอย่างมีนัยยะสำคัญ อาชีพเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ วิศวกรรรม ถูกเล่าผ่านตัวละครผู้ชาย ขณะที่ผู้หญิงถูกวาดภาพให้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับห้องครัวและงานบ้าน สิ่งเหล่านี้กำลังผลิตซ้ำ (stereotype) ความเข้าใจบทบาททางเพศผ่านแบบเรียน ไม่เพียงเท่านั้น หากย้อนดูแบบเรียนของไทยจะพบการตีตรากลุ่ม LGBTQ+ ว่าเป็นผู้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ รวมถึงประสบการณ์ในโรงเรียนที่เด็กกลุ่มนี้มักจะถูกล้อเลียน กลั่นแกล้ง หรือถูกคุกคามผ่านคำพูดอีกด้วย ในประเด็นด้านความเชื่อ ที่ถึงแม้ว่าสังคมไทยจะมีความหลากหลายทางความเชื่ออยู่ แต่ดูเหมือนว่าโรงเรียนของไทยกลับมุ่งเน้นนำเสนอความเชื่อแบบพุทธศาสนาเป็นเนื้อหาสำคัญในการเรียนวิชาสังคมศึกษา รวมถึงกิจกรรมสำคัญภายในโรงเรียน ซึ่งตรงข้ามกับประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ที่ความเชื่อและศาสนาถูกแยกขาดจากโรงเรียน ด้วยมองว่าความเชื่อเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่รัฐไม่ควรเข้าไปกำหนดว่าใครควรเชื่ออะไร
แนวคิด ME ยังเสนอว่า ในแต่ละคนไม่ควรถูกมองเพียงแค่มิติเดียวเท่านั้น แต่ควรมองทับซ้อนกับมิติอื่นๆ (intersectionality) ตัวอย่างเช่น เพศและความพิการ จะเห็นว่าโอกาสเข้าถึงการศึกษาและโอกาสในชีวิตด้านอื่นๆ เช่น การมีลูกของผู้หญิงทั่วไป กับผู้หญิงที่มีความพิการนั้นแตกต่างกัน หรือตัวอย่างมิติที่ทับซ้อนกันของเพศกับเชื้อชาติ ในพื้นที่สื่อ ภาพของผู้หญิงผิวขาวมักจะถูกนำเสนอในเชิงบวกมากกว่าผู้หญิงผิวดำ เด็กนักเรียนผิวดำมีสัดส่วนการออกจากโรงเรียนกลางคันมากกว่าเมื่อเทียบกับนักเรียนกลุ่มอื่นๆ
จะเห็นได้ว่าบนความแตกต่างที่ทับซ้อนกันนี้เอง นำมาซึ่งการเผชิญการกดทับ การถูกมอง(ไม่)เห็น การเลือกปฏิบัติ และอคติในหลายระดับที่ไม่เท่ากันอีกด้วย
บทบาทครูควรเป็นอย่างไร ?
สิ่งที่ง่ายที่สุดอาจเริ่มต้นได้ด้วยการกลับมาทบทวนตัวตนของครูเอง ที่สะท้อนผ่านวิธีการสอน การเลือกใช้สื่อ เนื้อหา การจัดกลุ่ม การปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นกับนักเรียน และอื่นๆ ในชั้นเรียน ว่าตัวครูกำลังเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกปฏิบัติ สร้างความไม่เท่าเทียม หรือมีอคติอยู่ ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องมองออกไปนอกห้องเรียน ไปสู่การทำความเข้าใจวัฒนธรรมและอำนาจที่รายล้อมอยู่ในระบบการศึกษาและสังคม ว่ากำลังส่งผลอย่างไรต่อนักเรียนของเรา และลุกขึ้นมาเผชิญหน้าท้าทายกับความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ห้องเรียนไปสู่การต่อสู้เชิงนโยบาย
การสร้างสรรค์บทเรียนหรือกิจกรรมจึงอาจเป็นหนทางหนึ่งที่ครูสามารถทำได้ทันทีเพื่อชวนนักเรียนตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ผ่านการหยิบยกสื่อโฆษณา นิทาน เรื่องสั้น รวมถึงตำราเรียนที่ฉายให้เห็นอคติ การเหมารวม มาเป็นวัตถุดิบสำคัญในการวิเคราะห์ หรือเปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้เล่าหรือสะท้อนประสบการณ์ที่ตัวเองถูกกระทำบนความแตกต่าง เพื่อสร้างความตระหนักในอำนาจและศักยภาพที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ (ดูตัวอย่างได้ที่ : ทำไมครูต้องสร้างบทเรียนเพื่อความยุติธรรม https://thepotential.org/knowledge/teaching-for-social-justice/ )
อ้างอิง
บทความ Still in the shadow of Confucianism? Gender bias in contemporary English textbooks in Vietnam เขียนโดย Mai Trang Vu และ Thi Thanh Thuy Pham
บทความ มิติหญิงชายในแบบเรียนของไทย : การวิเคราะห์เนื้อหา เขียนโดย ตรีวิทย์ อัศวศิริศิลป์
บทความ Intersectionality and Student Outcomes: Sharpening the Struggle against Racism, Sexism, Classism, Ableism, Heterosexism, Nationalism, and Linguistic, Religious, and Geographical Discrimination in Teaching and Learning เขียน โดย Carl A. Grant และ Elisabethg Zwier.
หนังสือ Multicultural Education: Issues and Perspectives