ทุกวันนี้ปัญหาโรคอ้วนไม่ได้อยู่แต่กับผู้ใหญ่เพราะที่น่ากังวลกว่าคือโรคอ้วนในเด็ก โดยปัจจุบันอัตราเด็กที่เป็นโรคอ้วนทั่วโลกพุ่งสูงถึง 124 ล้านคน อีกทั้งยังเป็นสาเหตุสำคัญในการเสียชีวิตของเด็กส่วนใหญ่
จากข้อมูลของสถาบัน Imperial College London เผยแพร่ผ่านวารสารแพทย์ Lancet รายงานว่า จากสถิติการเก็บข้อมูลเด็กและเยาวชนทั่วโลกอายุตั้งแต่ 5-19 ปี เมื่อปี 1975 มีเด็กผู้หญิงที่เป็นโรคอ้วนเพียง 5 ล้านคน และเด็กผู้ชายที่เป็นโรคอ้วนเพียง 6 ล้านคน แต่ตัวเลขล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมา กลับมีเด็กผู้หญิงที่เป็นโรคอ้วนสูงถึง 50 ล้านคน และเด็กผู้ชายอีก 74 ล้านคน ในระยะเวลาเพียง 4 ทศวรรษเท่านั้น
โดยรายงานดังกล่าวยังเปิดเผยอีกว่า โรคอ้วนในเด็กมักพบในกลุ่มประเทศร่ำรวยเสียส่วนใหญ่ เช่น อังกฤษ (เด็กสิบคนจะมีหนึ่งคนที่เป็นโรคอ้วน) สหรัฐอเมริกา ไอร์แลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ รวมถึงในทวีปตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ
ฟีโอนา บูล (Fiona Bull) จากองค์การอนามัยโลกหรือ WHO กล่าวว่าถึงเวลาแล้วที่ผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกควรหันมาให้ความสนใจกับโรคอ้วน และมองอย่างจริงจังถึงสาเหตุที่นำมาสู่โรคอ้วน
โดยเธอเสนอว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้โรคอ้วนในเด็กพุ่งสูงขึ้นก็คือ การตลาดและการโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มอาหารประเภทโซเดียม น้ำตาล และแคลอรีสูง รวมถึงแฟรนไชส์อาหารจังค์ฟู้ดที่มีอยู่แทบทุกตารางนิ้วเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะเด็กๆ
“ทุกวันนี้ ค่าใช้จ่ายของเราเป็นตัวกำหนดราคาและการเลือกซื้ออาหารแต่ละชนิดซึ่งมีอิทธิพลต่อทางเลือกของเรา” เธอกล่าว
ด้านองค์กร Obesity Health Alliance จากประเทศอังกฤษยังออกมาโจมตี 18 บริษัทอาหารจังค์ฟู้ดว่า พวกเขาเองนั่นแหละที่เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้โรคอ้วนพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากบริษัทเหล่านั้นลงทุนกับค่าโฆษณาและการตลาดต่างๆ เพื่ออาหารกรุบกรอบหรือเครื่องดื่มผสมน้ำตาลมากกว่า 143 ล้านยูโรเมื่อปีที่ผ่านมา ในขณะที่รัฐบาลอังกฤษใช้งบเพียง 5.2 ล้านยูโรสำหรับโครงการ Change4Life Campaign เพื่อต่อต้านโรคอ้วน
มัลคอล์ม คลาร์ก (Malcolm Clark) ผู้ประสานงานของแคมเปญรณรงค์อาหารเพื่อเด็ก (Children’s Food Campaign) มองว่า ความพยายามในการโปรโมตอาหารเพื่อสุขภาพจะไม่ประสบความสำเร็จเลยหากไม่ได้ถูกผลักดันด้วยการตลาดเหมือนกัน
“เราไม่อาจดูแคลนการโฆษณาของอาหารขยะ โดยเฉพาะเมื่อมันมาอยู่ในมือเด็กๆ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมช็อกโกแลตและขนมกรุบกรอบจึงมีค่าโฆษณาหรือค่าการตลาดเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี รัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะหาหนทางเพื่อปกป้องเด็กๆ จากอาหารไม่มีประโยชน์พวกนั้น เพื่อสุขภาพที่ดีในอนาคตของพวกเขา รวมถึงจะได้ไม่ต้องเสียงบประมาณไปกับการจัดการกับผลกระทบที่จะตามมาอย่างมหาศาล”