- เปิดโลกของนักบิดรุ่นเยาว์ ที่ถูกปิดโดยสังคมและคนที่อาบน้ำร้อนมาก่อน ที่เที่ยวสอนว่า เป็นเด็กไม่เคยถูกสั่งสอน
- สำหรับวัยรุ่น การแว้นเป็นการ ‘เปล่งชื่อตัวเอง’ ผ่านเสียงท่อไอเสียมอเตอร์ไซค์และการบิดคันเร่งให้โลกรู้
- เมื่อโลกไม่อยากจะรู้ว่ามีพวกเขาอยู่ สิ่งที่ทำได้คือการไม่ยอมจำนนและแสดงพลังอันเหลือเฟือออกมา
- ซีรีส์ ‘รักที่จะ…’ เราออกไปพูดคุยกับวัยรุ่น อดีตวัยรุ่น และคนทำงานกับวัยรุ่นในประเด็นที่หลากหลายเพียงเพื่ออยากจะรู้ว่าในวัยรุ่น เขาจะเปลี่ยนพลังที่พลุ่งพล่าน ไปสนใจ หลงรักอะไร และด้วยเหตุผลอะไรบ้าง และนี่คือ ‘รักที่จะแว้น: เด็กหลังห้องที่ถูกผู้ใหญ่ปิดประตู
เรี่อง: วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง
อย่างน้อยก็ในสายตาของผู้หญิงคนหนึ่ง…
มอเตอร์ไซค์ไม่ใช่พาหนะนำพาวัตถุจากจุด A ไปยังจุด B / ความเร็วก็ไม่ใช่การกระชับเวลาระหว่างเริ่มต้นกับปลายทาง / ท้องถนนก็ไม่ใช่พื้นที่สัญจร
แต่ทั้งหมดคือเครื่องมือแย่งชิงพื้นที่ทางสังคมของกลุ่มเด็กและเยาวชนที่รักที่จะซิ่ง ซ่า แว้น หรือคำอะไรก็แล้วแต่ที่นิยามตัวตนของเด็กกลุ่มนี้
เมื่อเป็นเครื่องมือในการแย่งชิงพื้นที่ทางสังคม มอเตอร์ไซค์ของพวกเขาจึงต้องตกแต่งดัดแปลง ทั้งแรงและเร็ว ลีลาการขับขี่ของพวกเขาจึงไม่ใช่การขี่มอเตอร์ไซค์ให้ถึงปลายทางโดยสวัสดิภาพ แต่ต้องเป็นท่วงท่าที่ได้รับการยอมรับในกลุ่มในแก๊ง
ราวๆ ปี 2547 ผู้หญิงคนหนึ่งพาตัวเองเข้าไปในโลกของเด็กกลุ่มนี้ ตอนนั้นเธอขี่มอเตอร์ไซค์ไม่เป็น เธอกลัวและเกร็งหากต้องจินตนาการถึงการพาตัวเองไปซ้อนท้ายรถของเด็กวัยรุ่นบนถนนกลางคืน เธอเข้าไปในโลกใบที่ทั้งเสี่ยงและล่อแหลมต่อการกระทำผิดกฎหมาย และอุบัติเหตุที่อาจถึงความตาย เพื่อศึกษาชีวิตและวัฒนธรรมของเด็กกลุ่มหนึ่ง
เธออยู่ในโลกใบนั้นกว่า 3 ปี และเขียนหนังสือเล่มหนึ่งในปี 2552
The Potential พูดคุยกับเธอหลังจากหนังสือเล่มนี้เผยแพร่มา 9 ปี แต่เด็กวัยรุ่นยังคงนอนบนเบาะรถมอเตอร์ไซค์ เคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยความเร็วและแรงบนถนนในปี 2561
เข้าไปในโลกชายขอบของนักบิดวัยเยาว์
‘เร่ง รัก รุนแรง: โลกชายขอบของนักบิด’ คือปลายทางของการศึกษาทางชาติพันธุ์วรรณาของ ปนัดดา ชำนาญสุข นักวิชาการประจำมูลนิธิป้องกันอุบัติเหตุทางถนนและอาชญากรรม (มปอ.)
เธอใช้เวลา 3 ปี ใช้ชีวิตคลุกคลีกับกลุ่มเด็กวัยรุ่นในพื้นที่ ‘ตลาดบ้านสร้าง’ ในจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออก
เธอเช่าบ้านอยู่ในชุมชน นั่งอยู่ในวงเหล้าของกลุ่มวัยรุ่น ซิ่งรถแต่งไปกับพวกเขายามค่ำคืน เคลียร์ปัญหาความขัดแย้งระหว่างแก๊ง แม้กระทั่งรับรู้ถึงพฤติกรรมการใช้ยาเสพติดของพวกเขา ทุกกิจกรรมในชีวิตของเด็กวัยรุ่นกลุ่มนี้ อาจารย์ปู-ปนัดดา อยู่ร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ นักมานุษยวิทยา และแน่นอน เธอคือพี่สาวของกลุ่มเด็กแว้นคนหนึ่ง
“ดิฉันโปรแกรมตัวเองมาตลอด จะต้องอ่อนน้อมถ่อมตนกับผู้ให้ข้อมูลหลัก” อาจารย์ปู-ปนัดดา บอกถึงการสร้างความไว้วางใจจนกระทั่งเด็กๆ กลุ่มนี้เปิดประตูให้เธอเข้าไป
“ใช้ความจริงใจ หมายความว่า เราไม่ได้จะไปหลอกลวงผู้ให้ข้อมูลใดๆ ทั้งสิ้น นั่นคือสิ่งที่ตั้งเป้าไว้ก่อนลงมือศึกษาวิจัยตามหลักมานุษยวิทยา”
ผลตอบแทนที่อาจารย์ปู-ปนัดดา ได้รับจากวัยรุ่นกลุ่มนี้คือ ประตูที่แง้มออกมา เปิดโอกาสให้คนนอกอย่างเธอเข้าไปเรียนรู้ชีวิตและวัฒนธรรมของพวกเขา
บางกิจกรรมทำให้อาจารย์ปู-ปนัดดา อึดอัด และรู้สึกขัดแย้งกับความคิด เช่น ในกิจวัตรประจำที่กลุ่มวัยรุ่นขี่รถไปนั่งรวมตัวดื่มเหล้าที่ริมถนน เมื่อเหล้าหมด พวกเขาพากันขว้างขวดใส่ถนน หรือลีลาการขับขี่ที่เธอต้องเห็นมีดเล่มยาวครูดไปกับพื้นถนนจนเกิดประกายไฟ หรือแม้แต่การขโมยถังดับเพลิงในปั๊มน้ำมันมาฉีดใส่กันเล่นๆ
“เป็นครูประสาอะไร เห็นเด็กซิ่งรถแทนที่จะห้าม กลับไปนั่งซ้อนพวกมัน” คือสายตาของคนในชุมชนที่มองอาจารย์ปู-ปนัดดา ในช่วงเวลาขวบปีแรกๆ ของการลงพื้นที่เข้าไปศึกษา
แต่หากไม่มานั่งในจุดที่อาจารย์ปู-ปนัดดา นั่งอยู่ เราจะไม่สามารถมองเห็นแง่มุมอื่นๆ ของเด็กกลุ่มนี้ได้เลย
“เคยมีข่าวลือว่าดิฉันเป็นเมียเด็กพวกนี้ ตอนนั้นดิฉันซัฟเฟอร์มาก แต่รู้มั้ยเด็กพวกนี้ปลอบดิฉันว่า ‘พี่ปูทำงานแบบนี้พี่ปูต้องอดทน สักวันหนึ่งเขาต้องเข้าใจพี่ปูเอง’ เห็นมั้ยคะเขาไม่ได้ใช้กำลังไปต่อต้าน” อาจารย์ปู-ปนัดดา เล่าและพยายามทำให้เราเห็นว่า ภาพลักษณ์แบบเหมารวมที่ใช้ในการนิยามตัวตนของเด็กกลุ่มนี้อาจมีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง
แน่ละว่าวิถีชีวิตของพวกเขาสุ่มเสี่ยงและอาจสร้างผลกระทบต่อทั้งตัวเองและผู้อื่น สร้างความเดือดร้อนรำคาญต่อชุมชน และอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุถึงชีวิตต่อทั้งตนเองและผู้อื่น
แต่เรื่องนี้ย่อมมีคำอธิบาย แน่นอน ไม่ได้มีคำอธิบายเพียงชุดเดียว
เพราะถูกเบียดขับ จึงต้องเร่งให้แรง
อาจารย์ปู-ปนัดดา เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพ ซึ่งศักยภาพนั้นก็อาจจะแตกต่างกันกับคนอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน แต่สังคมกำหนดบรรทัดฐานความดีไว้เพียง หนึ่ง สอง สาม สี่ สิ่งที่ผู้ใหญ่หรือสังคมคิดว่าเยาวชนที่ดีควรจะต้องเป็นคือ หนึ่ง สอง สาม สี่ เมื่ออะไรก็ตามที่ไม่เข้านิยาม พื้นที่ตรงนั้นจึงถูกปิด
“สังคมเบียดขับพวกเขา ปิดพื้นที่ที่จะให้พวกเขาแสดงความสามารถ ความเก่ง ศักยภาพ และความคิดสร้างสรรค์ สังคมบอกว่าสิ่งที่คุณมีมันไม่ดีนะ ไม่ถูกต้องนะ เพราะมันผิดนิยามที่สังคมหรือผู้ใหญ่ให้นิยามความหมายถึงความดีและความเก่ง แต่เขาไม่ยอมจำนนต่อการนิยามหรือการปิดพื้นที่นั้นของผู้ใหญ่หรือของสังคม เขาอยากแสดงสิ่งที่เขามีออกมาให้เห็น”
และนี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เด็กที่ถูกเบียดขับมารวมกลุ่มกันเป็นภาคีเป็นเครือข่าย หรือ แก๊ง พวกเขามีหัวใจดวงเดียวกัน รักพวกรักพ้อง เพื่อนถูกตีต้องเอาคืน จับกลุ่มกันแข่งรถ ฯลฯ
“เมื่อเขาไม่มีพื้นที่ เขาถูกอำนาจเบียดขับมา มันจึงทำให้ความเห็นอกเห็นใจต่อกันลึกซึ้ง สิ่งที่เขามีสิ่งที่เขาเป็นมันชอบธรรม ฉะนั้นการสร้างวัฒนธรรมที่ช่วยเหลือกัน รักกันจึงเหนียวแน่น จะไม่ใช่ปัจเจกเหมือนเด็กเรียนเก่งในมหาวิทยาลัย การรวมกลุ่มกันนั้นเพื่อสร้างอำนาจต่อรองไงคะ แต่มันเป็นการรวมกลุ่มที่จริงใจ โดยไม่ตั้งคำถามด้วยซ้ำว่าผิด พอเพื่อนโดนตีมาก็ตีกลับโดยไม่ถามหาเหตุผล เพราะมันมีอารมณ์ที่ผูกพัน”
อาจารย์ปู-ปนัดดา อธิบายไว้ในหนังสือ ‘เร่ง รัก รุนแรง: โลกชายขอบของนักบิด’ ว่า เมื่อพวกเขาไม่สามารถสร้างอัตลักษณ์ในแบบฉบับเด็กดี เด็กเรียนได้ ประกอบกับกระบวนการขัดเกลาทางสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับคนรอบข้าง ได้หลอมรวมแทรกซ่าน ซึมซับเข้ามาในเนื้อตัวของพวกเขา ทำให้พวกเขาดำเนินการชีวิตที่มีลักษณะสอดคล้องกับชนชั้นและตำแหน่งแห่งที่ของพวกเขา และแตกต่างจากคนในชนชั้นอื่น
การใช้ชีวิตยามค่ำคืนที่ขัดขืนการควบคุมของตำรวจ พวกเขาแสวงหาอำนาจผ่านการรวมแก๊งที่พึ่งพิงกับอำนาจของคนที่โตกว่าในลักษณะอุปถัมภ์ ช่วยเสริมสร้างพลังอำนาจของพวกเขาในการแย่งชิงพื้นที่ทางสังคมในฐานะคนมีอำนาจเช่นกัน
หลายเทอมแล้ว โรงเรียนไม่เคยเปิด
“เมื่อเวลาเปลี่ยนไปทุกคนก็มีเส้นทางชีวิตที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นสัจธรรมของมนุษย์” อาจารย์ปู-ปนัดดา อธิบายถึงภาวะชั่วคราวของชีวิตเด็กกลุ่มนี้ เพราะในที่สุดพวกเขาก็ต้องเติบโตไปตามเส้นทางชีวิตของตน ถ้าไม่ถลำลึกลงไปในความมืดดำเสียก่อน
“เมื่อเขาเริ่มโตขึ้น จากเด็กที่เคยชื่นชอบยานยนต์ ก็จะเปลี่ยนไปใช้กระบะ รถเก๋ง รวมถึงลีลาการขี่ก็จะเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงไลฟ์สไตล์ที่จะแข่งรถประลองความเร็วหรือพนันก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย มันจะเคลื่อนไปตามจังหวะชีวิตของพวกเขา
“แต่ถ้าเราเปิดพื้นที่อื่นให้เขาด้วย ไม่ใช่ผลักไส เช่น โรงเรียนช่วยเหลือสนับสนุน กศน. ช่วยเหลือสนับสนุน หรือกระทรวงแรงงานมาช่วย เขาจะมีพื้นที่อื่นให้ยืนและตั้งหลักได้ เขาก็จะไม่จมดิ่งไปในทางสายมืด หรือสายที่เป็นภัยต่อสังคม หรือเป็นภัยต่อการเติบโตของชีวิตเขา”
อาจารย์ปู-ปนัดดา กล่าวถึงหลักการของการศึกษานอกโรงเรียน ว่าควรจะเป็นระบบที่สนับสนุนเด็กที่มีศักยภาพน้อย มีความอดทนต่อการเรียนวิชายากๆ ต่ำ ซึ่งต้อง “มีระบบครูพี่เลี้ยงที่ซัพพอร์ตมากๆ ดิฉันเคยไปนั่งเรียนแล้วพาเด็กของดิฉันไปเรียนด้วย ก็พบว่ามันไม่ได้ง่ายเลย และไม่ต่างจากการศึกษาในระบบเท่าไรนัก เพราะฉะนั้นระบบไม่ซัพพอร์ตตรงนี้ ก็ทำให้เขาไม่สามารถใช้พื้นที่ตรงนี้ดำเนินการในชีวิตต่อได้”
เราต้องกลับไปที่ต้นเหตุ – อาจารย์ปู-ปนัดดา ย้ำว่าต้นเหตุคือพื้นที่ของเด็กที่ถูกปิด
“ชุมชนก็อย่าคิดว่าการที่เด็กมารวมกลุ่มกันเป็นเด็กเหลือขอไม่ใส่ใจอนาคต หรือห้ามลูกไม่ให้ไปคบกับเด็กเรียนไม่เก่ง แต่สิ่งที่มีบทบาทมากๆ ในการค้นหาและยอมรับศักยภาพของเด็กคือโรงเรียน”
“แต่เด็กที่อาจารย์ศึกษาเมื่อ 10 ปีก่อน พวกเขาเกลียดโรงเรียนกันทั้งนั้น?”
“ใช่ค่ะ เพราะโรงเรียนปิดพื้นที่ไงค่ะ ปัจจุบันก็ยังเป็นอยู่ ครูถูกโปรแกรมมาด้วยตัวชี้วัดของกระทรวงฯ โรงเรียนก็เช่นกัน เขาก็ทำตามแค่ตัวชี้วัด มีเด็กเข้ามหาวิทยาลัยได้กี่คน เด็กสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียนมีกี่คน ฉะนั้นพอเขาทำยอดตรงนั้นเขาก็หลงลืมที่จะค้นหาศักยภาพหรือแง่งามของเด็กคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เรียนเก่งหรือสร้างชื่อให้โรงเรียน ทั้งๆ ที่เด็กทุกคนมี
“ดิฉันยืนยันว่าเด็กหลังห้องที่คลุกคลีด้วยเขามีพลังเหลือเฟือ ดิฉันเชื่อว่าเด็กทุกคนมีความสามารถ แต่ครูต้องค้นหาเขาให้เจอ แล้วเชียร์เขาไปในทางที่ถูก อย่าใจแคบเพียงว่า ความดีและความสามารถมีเพียงไม่กี่แบบ หรือความดีงามมีแค่เส้นทางเดียว”
“ทุกวันนี้ เด็กกลุ่มที่อาจารย์ศึกษา ชีวิตพวกเขาเป็นอย่างไรบ้าง”
“เด็กรุ่นใหญ่สุดตอนนี้พวกเขาน่าจะอายุ 30 กว่า เมื่ออาทิตย์ก่อนดิฉันเพิ่งไปในพื้นที่ เด็กบางคนเปิดร้านอาหารขายส่งอาหารทะเล รับอาหารทะเลมาแล้วไปส่งตามร้านค้าต่างๆ มีลูกมีครอบครัว ส่วนใหญ่เด็กจะขายของตามตลาดนัด ทำงานห้างสรรพสินค้า รับจ้างทั่วไป”
จากที่เคยถูกคนในชุมชนตำหนิว่า เป็นครูประสาอะไร ไม่ห้ามเด็กซิ่งรถ หรือ ข้อกล่าวหาว่าเป็น ‘เมียเด็กแว้น’ 10 ปีผ่านไป ผู้ปกครองที่มีลูกชายอยู่ในกลุ่มเสี่ยง มักจะมาขอคำปรึกษาจากเธอ
วัยแห่ง Indentity: เข้าแก๊ง เข้ากลุ่ม หาความจงรักภักดี (loyalty)
“เราต้องยอมรับก่อนนะคะว่า เราสามารถอธิบายเรื่องนี้ด้วยทฤษฎีพัฒนาการของเด็ก เด็กผู้ชายชอบความเร็วและชอบเครื่องยนต์กลไก สังเกตว่าเด็กผู้ชายพอเริ่มเดินได้ก็ปีนป่าย นี่คือพัฒนาการตามวัย และเราต้องยอมรับด้วยว่า บริบทสังคมมันเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี ตอนนี้ไม่ใช่รถแบบ 110 ซีซี ฮอนด้าเวฟแล้ว มันเป็นบิ๊กไบค์ เมื่อเทคโนโลยีเข้ามา การตลาดเข้ามา เด็กเข้าถึงได้ง่าย ผสมกับความชื่นชอบของเขา เราอย่าเพิ่งมองปัจเจก เราต้องมองว่าสิ่งแวดล้อมมันเอื้อมาก
“ฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่รัฐหรือผู้ใหญ่ทุกคนต้องร่วมมือกัน แทนที่จะรอให้ถึงปลายทาง ต้องถามว่าคุณได้ใส่อะไรให้เขาบ้าง เพื่อให้เขาได้เรียนรู้และตระหนักในการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ในการสนองพัฒนาการตามวัยของเขาที่เหมาะสม มีสำนึก ไม่ทำร้ายคนอื่น ไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม”
“เวลาพ่อแม่มาขอคำปรึกษา อาจารย์บอกพวกเขาอย่างไร”
“ดิฉันบอกพ่อแม่ทุกคนว่า เชื่อว่าไม่มีใครรักลูกมากเท่าพ่อแม่ เพียงแต่ว่าการสื่อสารระหว่างพ่อแม่กับพวกเขา มันอาจเป็นการสื่อสารที่ผิดช่องทาง ผิดท่าทาง ผิดวิธี มันถูกถ่ายทอดออกมาเป็นน้ำเสียงกิริยาแบบคุกคาม เพราะฉะนั้นลองปรับท่าทีการแสดงความรู้สึกรัก ด้วยความกังวลว่าการกระทำของลูกแบบนี้จะเสียหายแล้วไปคุกคาม แต่ถ้าพ่อแม่เปลี่ยนท่าที ดิฉันคิดว่าลูกก็รับรู้ตรงนั้น แล้วจะกลายเป็นความรู้สึกดีต่อกัน เป็นความเกรงใจ เห็นอกเห็นใจ มากกว่าความกลัวหรือหลีกหนีอำนาจที่ถูกคุกคาม แล้วเขามองไม่เห็นความรักความห่วงใย”
นี่คือโลกของวัยรุ่นที่ใช้ชีวิตบนเส้นด้าย ตอนนี้พวกเขาเติบโตและเดินบนเส้นทางของชีวิตเหมือนเช่นปกติชน แต่เด็กแว้นหน้าใหม่เกิดขึ้นเป็นปกติเช่นกัน การเบียดขับเด็กกลุ่มนี้ยังปรากฏในปัจจุบัน การแย่งชิงพื้นที่เป็นสิ่งที่ดำเนินไป
รัฐ ระบบการศึกษา ครอบครัว ต้องเปลี่ยนแปลงความคิด นี่คือคำชี้แนะ อย่างน้อยก็ในสายตาของผู้หญิงคนหนึ่งที่เข้าไปศึกษาโลกใบนั้นกว่า 3 ปี