- Learning Loss หรือการเรียนรู้ถดถอย เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามปกติในห้องเรียนคุณภาพต่ำ ซึ่งเป็นห้องเรียนที่ครูไม่ได้คำนึงว่านักเรียนแตกต่างกันและไม่ได้หาทางช่วยนักเรียนที่มี Working Memory ต่ำ
- สาเหตุสำคัญของการเรียนรู้ถดถอย เป็นเพราะวิธีการจัดการเรียนรู้ในปัจจุบันหลงอยู่กับการให้เด็กเรียนรู้แบบผิวเผิน ‘Superficial Learning’ ไปไม่ถึง ‘Transfer Learning’ การเรียนรู้ที่สามารถเอาไปใช้ได้ในทุกๆ สถานการณ์
- วิธีการจัดการเรียนรู้ที่ดีครูจะต้องให้เด็กเรียนรู้จากผิวเผิน Superficial ไปสู่ลึก Deep Learning แล้วก็ไปสู่การเรียนรู้ที่สามารถเอาไปใช้ได้ในทุกๆ สถานการณ์ ที่เรียกว่า Transfer Learning
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตและสังคมในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านการศึกษา เด็กๆ จำนวนมากเข้าสู่ภาวะการเรียนรู้ถดถอยชั่วคราว ซึ่งหากไม่หาทางรับมืออย่างเหมาะสม การเรียนรู้ถดถอยชั่วคราวนี้อาจกลายเป็นการเรียนรู้ถดถอยที่ถาวรได้
“สาเหตุสำคัญเป็นเพราะวิธีการจัดการเรียนรู้ของเราหลงอยู่กับการให้เด็กเรียนรู้แบบผิวเผิน หรือ Superficial Learning ไปไม่ถึง Transfer Learning การเรียนรู้ที่สามารถเอาไปใช้ได้ในทุกๆ สถานการณ์” ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษากรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวในงานประชุมเชิงวิชาการ ‘รับมือเปิดเทอมใหม่ กับภารกิจ Learning Recovery’
“โควิด-19 เพียงมาปลุกให้เรามองเห็นปัญหาเฉพาะหน้า แต่ว่าดีกว่านั้นคือปลุกให้เราร่วมกันเห็นด้วยว่าจริงๆ แล้วมันเป็นปัญหาเชิงระบบ ซึ่งเป็นปัญหาระยะยาวของการศึกษาที่ผ่านมาเป็นเวลามาหลายสิบปี เด็กในความเชื่อของผมคือเกินครึ่งมี Learning Loss (การเรียนรู้ถดถอย) มากบ้างน้อยบ้าง โดยเราไม่ตระหนักหรือเพิกเฉยต่อเรื่องนี้”
บทความนี้ถอดความจากการปาฐกถาหัวข้อ ‘2 ปี ผลกระทบโควิด-19 : จากวิกฤตการเรียนรู้ถดถอยสู่โอกาสปฏิรูปการศึกษาเพื่อเด็กทุกคน’ โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ในเวทีการประชุมวิชาการ ‘นวัตกรรมและแนวทางฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย เพื่อรับมือเปิดเทอมใหม่ กับภารกิจ Learning Recovery’ จัดโดย กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน, กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา, องค์การ ยูนิเซฟ ประเทศไทย และเครือข่ายโรงเรียนเปลี่ยนใหม่ โดยโครงการโรงเรียนพัฒนาคุณภาพตนเอง (TSQP)
การเรียนรู้ถดถอย จะชั่วคราวหรือถาวรขึ้นอยู่กับวิธีการป้องกัน
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เน้นย้ำเรื่องการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) จากโควิด-19 ว่าควรจะต้องหาทางป้องกัน (Unintended Learning Loss)
“จริงๆ ในระบบการศึกษาไทย ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาเด็กที่เข้าสู่การศึกษามีการเรียนรู้ถดถอย เกือบจะเรียกว่าถ้วนหน้ากันเลย โดยเฉพาะเด็กในพื้นที่ที่ด้อยโอกาส ในสภาพที่ด้อยโอกาส ทั้งเรื่องครอบครัว แล้วก็ในเรื่องของชีววิทยาของตัวเอง เพราะฉะนั้นนี่จะเป็นการเคลื่อนจากการป้องกันการเรียนรู้ถดถอยชั่วคราวก็คือเกิดจากโควิด ไปสู่การป้องกันแก้ไขการเรียนรู้ถดถอยเชิงระบบ ซึ่งก็หมายความว่าเกิดขึ้นในเด็กทุกคนหรือเกือบทุกคน”
“สาเหตุสำคัญ เป็นเพราะวิธีการจัดการเรียนรู้ของเราหลงอยู่กับการให้เด็กได้เรียนรู้แบบผิวเผิน หรือ Superficial Learning ‘การเรียนรู้ผิวเผิน’ ไปไม่ถึง ‘Transfer Learning’ ซึ่งวิธีการจัดการเรียนรู้ที่ดีครูจะต้องให้เด็กเรียนรู้จากผิวเผิน Superficial ไปสู่ลึก Deep Learning แล้วก็ไปสู่การเรียนรู้ที่สามารถเอาไปใช้ได้ในทุกๆ สถานการณ์ ที่เรียกว่า Transfer Learning”
โดยหลักการของการเรียนรู้ให้ไปถึงเป้าหมาย Transfer Learning หรือการเรียนรู้ในระดับการเชื่อมโยงอย่างที่ว่านั้น ก็คือการเรียนรู้เชิงรุก หรือ Active Learning ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องมีการฝึกซ้อมสมองส่วนที่เรียกว่า Working Memory หรือความจำใช้งาน ความจำปฏิบัติการ เพื่อจับข้อมูลไปบรรจุใน Long-Term Memory หรือความจำระยะยาว แล้วซ้อมดึงออกมาใช้
“หมายความว่าการมาเรียนต้องไม่หยุดอยู่แค่ Sensory Memory ก็คือเด็กได้เห็น ได้ฟัง ได้อ่าน แล้วนำมาสู่ Working Memory แล้วก็เข้าสู่ Long-Term Memory ถ้าเป็นแบบผิวๆ อย่างนั้นเด็กก็จะเรียนได้แค่ผิว ก็จำได้ สอบผ่านได้ แต่ว่าไม่เกิดประโยชน์ต่อชีวิตเขาอย่างแท้จริง”
การเรียนรู้ที่จะเกิดประโยชน์ต่อชีวิตเราอย่างแท้จริง วงจรระหว่าง Working Memory กับ Long-Term Memory จะต้องเป็นวงจรที่กลับไปกลับมาหลายครั้งซ้ำแล้วซ้ำเล่า หากในการจัดการศึกษาสามารถหนุนเสริมได้ จะทำให้เด็กสามารถจดจำเรื่องราว จดจำวิธีการ หรือที่เรียกว่า VASK ได้ โดย V คือ Value หรือค่านิยม ซึ่งการศึกษาต้องสร้างค่านิยมให้เด็กด้วย เช่น การเป็นคนดี เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม เห็นแก่ผู้อื่น, A คือ Attitude หรือเจตคติในทางที่ดี, S คือ Skills ทักษะในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทักษะทางด้านร่างกาย ทักษะทางด้านการคิด ทักษะทางด้านวิชาชีพ หรือที่เราเรียกว่า ทักษะในศตวรรษที่ 21 และ Knowledge ความรู้ นั่นเอง
“เด็กต้องได้รับการพัฒนาทั้ง VASK ย้ำว่า Active Learning นั้น เป็นเรื่องของการฝึกสมองให้ฝึกเอาความรู้เข้าไปใส่ Long-Term Memory แล้วก็ดึงเอาออกมาใช้ใน Working Memory”
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ยกตัวอย่างจากหนังสือ Uncommon Sense Teaching: Practical Insights in Brain Science to Help Students Learn ของ Barbara Oakley, Beth Rogowsky และ Terrence J. Sejnowski ซึ่งในหนังสือเล่าถึง Working Memory ว่าเป็นตัวจับเอาความรู้ เพื่อจะถ่ายเข้าไปใน Long-Term Memory โดยเติบโตตามอายุ และจะโตเต็มที่เหมือนกับในผู้ใหญ่ตอนอายุประมาณ 14-15 ปี แต่ระหว่างการเติบโตนั้น Working Memory ของเด็ก 4 ขวบ กับ 14 ปี ต่างกันประมาณเท่าตัว
“แต่การที่ Working Memory ต่ำนั้น ไม่ได้แปลว่าไม่ฉลาด แต่แปลว่าเรียนรู้ได้ช้า มีตัวอย่างของสองคนนี้ Santiago Ramon y Cajal ซึ่งเสียชีวิตไปนานแล้ว ตอนเด็กเขาเป็นเด็กที่เรียนหนังสือไม่ได้เรื่อง แต่ว่าในที่สุดก็เป็นหมอแล้วก็ทำวิจัยทางด้านประสาทวิทยา ก็ได้ชื่อว่า ‘Father of the neuron’ หรือ ‘Father of modern neuroscience’ แล้วก็ได้…Nobel Prize อย่างไม่น่าเชื่อ”
“ส่วนอีกคน Barbara Oakley ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ด้วย เช่นเดียวกันตอนเด็กเธอเป็นเด็กที่เรียนหนังสือไม่เก่ง จบปริญญาตรีด้านวิศวะแล้ว ก็ยังต้องไปทำงานในลักษณะเป็นลูกน้องเขาอยู่นาน จนตอนหลังมาเรียนต่อจนเป็นอาจารย์ทางวิศวะ จะเห็นว่าไม่เก่งในตอนต้น หัวช้า แต่ว่าสามารถที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้ นี่คือหัวใจ แต่ที่สำคัญก็คือว่า ต้องไม่ถูกทิ้งอยู่ข้างหลัง สองคนนี้ก็ถือว่าโชคดีที่ไม่ถูกทิ้งอยู่ข้างหลัง นี่เป็นสิ่งที่คนที่เป็นครูน่าจะได้ตระหนักว่า ท่านสามารถที่จะช่วยชุบชีวิตเด็กได้เลย”
เรียนรู้เชิงรุกเพื่อเชื่อมโยงใยประสาทให้แน่นแฟ้น
การเรียนนั้นเป็นการกระตุ้นสมองให้เกิดเครือข่ายใยประสาท เป็นการเชื่อมต่อเครือข่ายระหว่างเซลล์สมองแต่ละตัว
“จากรูปแบบจำลองด้านบนรูปที่ 1 จะเห็นว่า เป็นการต่อเครือข่ายระหว่างเซลล์สมองแต่ละตัว ซึ่งมีหลายแขนมาต่อกัน จริงๆ แล้วแขนมีเป็นหมื่นแขนในความเป็นจริงในสมองเรา นี่เป็นการจำลองให้เห็นว่ามันต่อกันแบบนี้ รูปที่ 2 จำลองว่า ที่ต่อกันระหว่างเซลล์ประสาท กลมๆ แต่ละอันนั้นคือหนึ่งเซลล์ประสาท การเรียนรู้เป็นการต่อใยประสาทระหว่างเซลล์ประสาทในระบบ แล้วจะเห็นว่ามันจะต้องมีเส้นหนาในบางการเชื่อมโยง อย่างนี้ถึงจะเป็นการเรียนรู้ที่แท้จริง ถ้าเป็นเส้นบางหมดก็จะเป็นการเรียนรู้ที่ผิวเผิน เรียนไม่เท่าไรก็จำไม่ได้ ไม่สามารถเอามาใช้ได้”
“ในรูปที่ 3 ข้างล่างให้เห็นว่า สองล็อกซ้ายมือเขาใช้คำว่า Learn it ก็คือหมายความว่าเรียนแล้วก็รู้แบบผิวเผิน จะเห็นว่าเครือข่ายใยประสาทเกิดขึ้นน้อย ที่นี้ถ้า Link it ทำให้มีวงจรระหว่าง Long-Term Memory กับ Working Memory ซ้ำๆ ก็คือการทำ เอ็กเซอร์ไซส์ (Exercise) การทำโจทย์อะไรทั้งหลาย ก็จะเกิดเครือข่ายในสมองอย่างทางขวาสุด นั่นก็จะเรียกว่าเกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง แล้วก็ความรู้นั้นจะดึงออกมาใช้ได้โดยไม่รู้ตัว”
หัวใจสำคัญของการเรียนรู้อย่างแท้จริงนั้นในที่สุดต้องสามารถดึงความรู้นั้นออกมาใช้โดยไม่รู้ตัว โดยไม่ต้องใช้ความพยายาม
ห้องเรียนคุณภาพต่ำ แหล่งบ่มเพาะภาวะการเรียนรู้ถดถอย
ธรรมชาติของเด็กไม่เฉพาะเด็กไทย แต่หมายถึงเด็กทั่วโลก พวกเขามี Working Memory ที่แตกต่างกันออกไป หากครูผู้สอนมองไม่เห็นความแตกต่างของเด็ก จะทำให้เกิดห้องเรียนคุณภาพต่ำ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งของการเรียนรู้ถดถอย
Learning Loss หรือการเรียนรู้ถดถอยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามปกติในห้องเรียนคุณภาพต่ำ ซึ่งลักษณะของห้องเรียนคุณภาพต่ำที่สำคัญ อย่างแรกเป็นห้องเรียนที่ครูไม่ได้คำนึงถึงว่านักเรียนแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ครูมักเหมารวมว่านักเรียนทุกคนเหมือนกันและไม่ได้หาทางช่วยนักเรียนที่มี Working Memory ต่ำ
อย่างที่สอง ห้องเรียนคุณภาพต่ำ ไม่ได้ใช้วิธีจัดการเรียนรู้ 2 โหมด (mode) เสริมกัน เพื่อทำให้การเชื่อมโยงใยประสาทใน long-term memory แน่นแฟ้น และไม่ได้เข้าใจการเรียนรู้ลักษณะนี้ที่จะให้เกิด sensory (ประสาทสัมผัส) ซึ่ง Active Learning ก็คือการจัดการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ 2 โหมดนั่นเอง
การเรียนรู้ 2 แบบ คือ Declarative Mode (แบบรู้ตัว รู้เร็ว ลืมง่าย ใช้งานได้ช้า เพราะต้องคิด) กับ Procedural Mode (แบบไม่รู้ตัว ทำได้ เรียนช้า ลืมยาก ใช้งานได้เร็ว เพราะไม่ต้องคิด)
“ถ้าเราไม่ระวังครูก็จะสอนแบบ Declarative Mode อันนี้ก็แค่เรียนเพื่อรู้ จำไว้แล้วก็ตอบข้อสอบได้ ถ้าจะให้ได้แบบเรียนแล้วทำได้ แล้วก็ไปทำในสถานการณ์อื่นได้อีกที่เรียกว่า Transfer Learning ต้องมี Procedural Mode คือจะต้องมีการฝึกปฏิบัติ”
“สมองของคนฝึกใหม่หรือมือใหม่ ความจำใช้งานที่จับเอาความรู้จากประสาทรับรู้ของเรา เวลาจะส่งข้อมูลเข้าไปยังความจำระยะยาวนั้น มันจะต้องผ่านตัวกลางที่เรียกว่า hippocampus ซึ่งมีสองอันอยู่ในสมองสองข้าง แต่ถ้าเมื่อไรก็ตามฝึกจนกระทั่งดีแล้ว การรับความรู้ที่ความจำใช้งานเอาไปเก็บไว้ในความจำระยะยาวจะส่งตรงได้เลย แล้วเวลาขากลับเมื่อจะเอามาใช้ก็ไม่ต้องผ่านใคร เพราะฉะนั้นการเรียนรู้ Active Learning หรือการเรียนรู้เชิงรุก ต้องทำให้สมองเกิดสภาพอย่างนี้ แล้วในที่สุดก็สามารถดึงความรู้มาใช้ได้อย่างอัตโนมัติ”
หากครูคอยให้นักเรียนได้ทบทวนความจำอยู่เรื่อยเรียกว่า Recall Retrieval Practice เครือข่ายใยสมองมันก็จะค่อยๆ แน่นขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดก็จะเกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง
นอกจากนี้ Long-Term Memory หรือความจำระยะยาว ยังเป็นตัวช่วยที่เสริมความเข้มแข็งของ Working Memory หรือความจำใช้งาน โดยการใช้ความรู้เดิม (Prior knowledge) จับความรู้ใหม่ หมายความว่าหากใครมีต้นทุน Long-Term Memory ในเรื่องนั้นๆ ดี ก็จะทำให้เรียนเรื่องนั้นๆ ต่อได้ง่ายและสนุกขึ้น
และสุดท้ายห้องเรียนคุณภาพต่ำ ไม่ได้เอาใจใส่การเรียนรู้ 3 สเต็ปของเด็ก “ไม่ได้คำนึงว่าจริงๆ แล้ว เด็กต้องเรียน 3 สเต็ป ก็คือ จากผิวเผิน ไปสู่ลึก แล้วก็ไปสู่เชื่อมโยง ซึ่งหมายความว่ากระบวนการเรียนรู้นั้นต้องเป็น Deep Learning ในสมองมนุษย์ ซึ่ง Deep Learning นี่เป็นภาษาคอมพิวเตอร์ แต่ว่าจริงๆ ในสมองมนุษย์ก็ต้องการ Deep Learning ด้วย หรือถ้าจะพูดให้ถูกก็คือ Transfer Learning เรียนจนสามารถดึงความรู้นั้นออกมาใช้ได้ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคยนั่นเอง”
“หวังว่านี่จะนำไปสู่การสร้างห้องเรียนคุณภาพสูง แล้วก็สามารถที่จะทำให้นักเรียนที่มี Working Memory ต่ำ ประสบความสำเร็จในการเรียนและในชีวิต ทำประโยชน์ให้แก่สังคมได้เหมือนกับเด็กที่มี Working Memory สูง” ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ทิ้งท้าย