- มีเด็กจำนวนมากที่ไม่สามารถเชื่อมโยงความรู้ในห้องเรียนเข้ากับชีวิตประจำวัน จึงเกิดคำพูดทำนอง “เรียนไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร” การหาทางเชื่อมโยงเรื่องราวในบทเรียนเข้ากับชีวิตจริง จึงเป็นการสร้างกรอบแนวคิดเชิงบวกที่ดีให้กับการเรียนรู้ และเน้นย้ำว่าการเรียนมีประโยชน์อย่างน้อยในทางใดทางหนึ่ง
- สร้างแรงจูงใจทำให้เขารู้สึกเสมอว่า ‘ตัวเองมีความสามารถและพัฒนาได้’ ให้คำแนะนำตามความเป็นจริง ไม่ชมเชยเกินกว่าจริง เพื่อให้เด็กได้เห็นช่องว่างในการพัฒนาตัวเองให้มากขึ้นไปอีก
- รวมถึงการกระตุ้นให้เด็กแต่ละคนตั้งเป้าหมายด้วยการแข่งขันกับตัวเอง มองเห็นการชนะตัวเอง การทำได้ดีกว่าที่เคยทำได้เมื่อวานหรือเมื่อวันก่อน ถือเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการดึงศักยภาพในตัวของเด็กออกมาใช้ให้ได้อย่างเต็มที่มากที่สุด
หากไปอ่านบทความหรือหนังสือเกี่ยวกับการสร้างแรงจูงใจ ก็มักจะพบว่าส่วนใหญ่มักระบุว่า แรงจูงใจให้คนเราทำอะไรต่อมิอะไรมากมายนั้น แบบหนึ่งเป็นแรงจูงใจจากภายใน เช่น ความสนุก ความชอบ กำลังใจ ความทะเยอทะยาน และความมุ่งมั่น ฯลฯ ขณะที่อีกแบบหนึ่งเป็นแรงจูงใจจากภายนอก เช่น คำชม เงินทอง ข้าวของ ชื่อเสียง และสถานะพิเศษต่างๆ ฯลฯ
แต่แรงจูงใจสองแบบนี้อาจจะแยกจากกันไม่ได้เด็ดขาด บ่อยครั้งที่แรงจูงใจภายในก็เกิดมาจากการเสริมแรงจากแรงจูงใจภายนอก หากสังเกตให้ดีทั้งหมดที่ว่ามาเป็นแรงจูงใจ ‘เชิงบวก’ แต่ยังมีแรงจูงใจ ‘เชิงลบ’ เช่น การคาดโทษและการลงโทษ เช่น หากไม่ส่งการบ้าน จะโดนลงโทษ หากมาสายจะโดนตัดคะแนนหรือตัดเงินเดือน หากจอดรถเกินเวลาหรือจอดในที่ห้ามจอดก็โดนปรับ ฯลฯ
แต่ในวงการจิตวิทยามีการทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่าและได้ผลไม่ต่างกันว่า การใช้แรงจูงใจในทางบวกให้ผลดีและยั่งยืนมากกว่าการใช้แรงจูงใจทางลบ
ภายใต้สภาพแวดล้อมศตวรรษที่ 21 ในปัจจุบัน ปัจจัยรอบตัวส่งผลกระทบเป็นอย่างมาก ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างแนวคิดและตัวอย่างวิธีการสร้างแรงจูงใจสำหรับนักเรียนนักศึกษา ที่ครูอาจารย์หรือผู้ปกครองอาจนำไปประยุกต์ใช้งานได้ด้วย อันที่จริงแม้แต่ตัวผู้เรียนเองก็อาจนำหลายข้อไปใช้งานเองได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน
แนวคิดและวิธีการต่างๆ ที่จะกล่าวต่อไปนี้ เน้นไปที่การสร้างกรอบแนวคิด ความเชื่อ และคุณลักษณะที่ดี ‘ภายในตัวของผู้เรียนเอง’ ประกอบด้วยแนวคิดข้อแรกคือ การทำให้รู้สึกว่าการศึกษาเป็น ‘ทางเลือก’ ไม่ใช่การบังคับ แต่เป็นตัวเลือกที่มีประโยชน์และสามารถเปลี่ยนชีวิตได้
ครูอาจารย์จำนวนมากย่อมจะเจอเด็กนักเรียนหลายคนที่ไม่สนใจสิ่งที่ตนสอนอยู่เสมอ ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะเด็กอาจจะมองไม่เห็นอนาคต ยังไม่รู้จักตัวเองดี ไม่เห็นประโยชน์ของการเรียน การสร้างตัวเลือกที่ดีก็อย่างที่หลายโรงเรียนหรือหลายมหาวิทยาลัยเริ่มทำก็คือ การเปิดให้นักเรียนนักศึกษาได้มีโอกาสเลือกเรียน ‘วิชาเลือก’ ได้ด้วยตัวเองมากขึ้น มีการเลือกวิชาเรียนข้ามสายวิทย์สายศิลป์มากขึ้น
โลกสมัยใหม่นอกจากการต้องการคนที่รู้ลึกในทางใดทางหนึ่งแล้ว ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องการคนที่รู้กว้างสามารถเชื่อมโยงหลายเรื่องเข้าด้วยกันได้ การเปิดโอกาสให้เลือกวิชาเรียนได้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากที่จะทำให้ได้คนมีศักยภาพเช่นนั้น
นอกจากนี้ การสร้างสิ่งแวดล้อมที่โรงเรียนและที่บ้านให้เหมาะสมต่อการเรียนรู้และค้นหาตัวตนก็สำคัญ การจัดหาหนังสืออย่างหลากหลายรูปแบบไว้ในห้องสมุด การจัดกิจกรรมที่มีความหลากหลายสูงในสถานศึกษา การเปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนมาเล่าเรื่องที่ตัวเองทำหรือสนใจในชั่วโมงวิชาแนะแนว หรือการเชิญพี่เก่ามาที่ประสบความสำเร็จในงานแบบใหม่ๆ ที่บุกเบิกเองมาเป็นครั้งคราว ก็เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เห็นและเข้าใจตัวเอง รวมทั้งมองอนาคตอย่างเปิดกว้างมากขึ้นด้วย
ครูอาจารย์เองก็ควรตระหนักในความหลากหลายของนักเรียนด้วยว่า บางคนอาจเรียนไม่เก่ง แต่เล่นกีฬาเก่ง หรือเล่นดนตรีเก่ง หรือมีความสามารถพิเศษบางอย่าง เช่น สามารถเชื่อมโยงข้อมูลจนเล่นเกมโกะหรือไพ่บริดจ์ได้ดี จึงไม่ควรคาดหวังเรื่องผลการเรียนจนเกินไป
แนวคิดอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ มีเด็กจำนวนมากที่ไม่สามารถเชื่อมโยงความรู้ในห้องเรียนเข้ากับชีวิตประจำวัน จึงเกิดคำพูดทำนอง “เรียนไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร”
การหาทางเชื่อมโยงเรื่องราวในบทเรียนเข้ากับชีวิตจริง จึงเป็นการสร้างกรอบแนวคิดเชิงบวกที่ดีให้กับการเรียนรู้ และเน้นย้ำว่าการเรียนมีประโยชน์อย่างน้อยในทางใดทางหนึ่ง เช่น หากเป็นวิชาคณิตศาสตร์สำหรับเด็กประถมที่กำลังเรียนเรื่องการเปลี่ยนหน่วยหรือการเปลี่ยนค่า ก็ลองสมมุติว่านักเรียนต้องตามผู้ปกครองไปเที่ยวต่างประเทศ แล้วให้หัดเปลี่ยนค่าเงินบาทเป็นเงินเยนญี่ปุ่น เงินหยวนจีน หรือเงินดอลลาร์สหรัฐ หัดเปลี่ยนอุณหภูมิจากเซลเซียสเป็นฟาเรนไฮต์ หรือหัดเปลี่ยนหน่วยกิโลเมตรเป็นไมล์ ฯลฯ
ในวิชาเคมีเมื่อเรียนเกี่ยวกับสารเคมีบางชนิดหรือปฏิกิริยาบางชนิดที่เด็กไม่รู้หรือคุ้นเคยมาก่อน ก็อาจยกตัวอย่างชี้ให้เห็นได้ว่า มันเป็นส่วนประกอบหลักในสบู่ แชมพู น้ำมันพืช เครื่องดื่ม หรือปฏิกิริยาในการหมักอาหาร เครื่องปรุงรสต่างๆ พร้อมยกตัวอย่างอาหารนั้นๆ เป็นต้น ที่ สวทช. เคยมีจัดค่าย ‘ต้มยำกุ้ง’ เพื่อสอนวิทยาศาสตร์อาหาร เริ่มจากการสอนส่วนประกอบต่างๆ ในอาหาร หลักการทางวิทยาศาสตร์ของกระบวนการปรุงแบบต่างๆ และการรับรสรับกลิ่น ฯลฯ
สำหรับวิชาอื่นๆ ก็ถือเป็นเรื่องท้าทาย ลองมองหาวิธีการประยุกต์และเชื่อมโยงกันดูนะครับ
แนวคิดที่ 3 คือ การทำให้นักเรียนรู้สึกเสมอว่า ‘ตัวเองมีความสามารถและพัฒนาได้’
บางวิชาอาจยากสำหรับเด็กบางคน แต่วิชาส่วนใหญ่ออกแบบมาให้เด็ก “โดยเฉลี่ย” สามารถสอบผ่านได้ การตอกย้ำด้วยคำพูดให้กำลังใจว่า “เธอทำได้แน่” หรือ “เธอผ่านได้ถ้าพยายาม” ในยามที่นักเรียนลังเล หรือสงสัยในตัวเอง หรือแม้แต่หมดกำลังใจในการเรียน ก็ส่งผลกระทบทางบวกได้เป็นอย่างมาก
ดังนั้นท่ามกลางกิจกรรมต่างๆ ที่ให้ทำในชั้นเรียน ควรออกแบบให้เริ่มจากง่ายไปหายาก และแสดงความชื่นชมเด็กที่แม้จะทำได้แค่ค่าเฉลี่ย เพราะนั่นคือ เด็กส่วนใหญ่ในห้อง คำพูดอย่าง “เธอทำได้ดีนะ” หรือการตบไหล่ให้กำลัง เป็นรางวัลที่แม้จะเล็กน้อย แต่ก็ส่งผลได้และทำได้บ่อยครั้งเท่าที่ต้องการ
อย่างไรก็ตาม ควรให้คำแนะนำตามความเป็นจริง ไม่ชมเชยเกินกว่าจริง เพื่อให้เด็กได้เห็นช่องว่างในการพัฒนาตัวเองให้มากขึ้นไปอีก
แนวคิดต่อไปคือ ควรพยายามเชื่อมโยงความสำเร็จของนักเรียนกับความภาคภูมิใจในตัวเองของเด็กเหล่านั้น เช่น เมื่อเด็กสักคนแสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจ ไม่เหมือนคนอื่น ก็อาจกระตุ้นด้วยการพูดว่า “ครูชอบวิธีคิดและมุมมองของเธอนะ”
ประเด็นสำคัญคือ ไม่จำเป็นต้องพูดแบบนี้เมื่อตอบคำถามได้ถูกต้อง แต่ให้ชมเมื่อนักเรียนได้แสดงให้เห็นถึง ‘ความพยายาม’ หากทำเช่นนี้ได้เรื่อยๆ เด็กๆ จะเรียนรู้ว่า ‘ความพยายามสำคัญไม่แพ้ความสำเร็จ’ หรือแม้แต่อาจจะสำคัญกว่า ซึ่งจะช่วยพวกเขาเป็นอย่างมาก เพราะในชีวิตจริงการลงมือทำอะไร โดยเฉพาะเรื่องใหม่ๆ โอกาสล้มเหลวมีสูงกว่าประสบความสำเร็จมาก จึงต้องการคุณลักษณะความกล้าหาญที่จะคิดและแสดงออกมาก รวมทั้งไม่กลัวที่จะล้มเหลวด้วย
แนวคิดที่ 5 คือ ต้องหาทางช่วยสนับสนุนให้เด็กเกิดแรงจูงใจอย่างต่อเนื่อง โดยการกระตุ้นให้ ‘แข่งขันกับตัวเอง’ เป็นหลัก
ความทุกข์ที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่แต่ละคนสร้างขึ้นเองคือ การเปรียบเทียบสิ่งต่างๆ กับคนรอบข้างอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่ได้ร่ำรวย ฉลาด หรือเก่งเป็นพิเศษอยู่แล้ว การเปรียบเทียบแบบนี้จึงสร้างความทุกข์ใจได้ง่ายมาก
อันที่จริงแล้ว เด็กนักเรียนจำนวนมากก็มักจะเรียนรู้เรื่องการเปรียบเทียบตั้งแต่เด็กแล้ว ครูหรือผู้ปกครองอาจหลุดปากคำพูดจำพวก “ทำไมไม่เก่งเหมือนคนนั้นคนนี้” ซึ่งเป็นคำพูดที่ไม่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาของนักเรียน และควรหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่ง
เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกันเลย และเราจะดึงศักยภาพของเขาหรือเธอออกมาได้ ก็ต่อเมื่อทำให้เด็กคนนั้นมีความมั่นใจ และมีความภาคภูมิใจในตนเองเท่านั้น
วิธีการที่ถูกต้องจริงๆ คือ การกระตุ้นให้เด็กแต่ละคนตั้งเป้าหมายด้วยการแข่งขันกับตัวเอง มองเห็นการชนะตัวเอง การทำได้ดีกว่าที่เคยทำได้เมื่อวานหรือเมื่อวันก่อน ถือเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการดึงศักยภาพในตัวของเด็กออกมาใช้ให้ได้อย่างเต็มที่มากที่สุด
มีการทดลองที่น่าสนใจการทดลองหนึ่ง [1] ที่ศึกษาในเด็กหญิงอายุ 14-16 ปี จำนวน 60 คน โดยให้ดูวิดีโอคนที่ปาลูกดอกเข้าเป้าอย่างสมบูรณ์แบบ 15 ครั้ง เทียบกับอีกคนหนึ่งที่ใช้ความพยายามจนปาเป้าดีขึ้นเรื่อยๆ จากตอนแรกที่ยังไม่ดีนัก ผลคือเด็กๆ ที่ดูนักกีฬาคนที่ 2 ทำการแข่งขันได้ดีกว่า เพราะการได้เห็นการค่อยพัฒนาวิธีการแข่งขันได้ถ่ายทอด ‘แรงใจ’ ให้กับเด็กเหล่านั้น
นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดความฮึกเหิมในการทำคะแนนมากกว่า!
เรื่องสำคัญสุดท้ายก็คือ แนวคิดทุกข้อที่กล่าวมาจะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อนักเรียนคนนั้นสามารถจัดการตัวเองได้อย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพราะเชื่อว่าการลงมือทำสิ่งต่างๆ ของตัวเองจะส่งผลดีเป็นอย่างยิ่งในอนาคต และการเป็นคนมีความรู้ความสามารถเป็น ‘ความเซ็กซี่’ แบบหนึ่งในโลกสมัยใหม่ที่ต้องการคนที่สามารถสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้กับโลกได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเน้นย้ำให้เด็กๆ รู้ว่า…
แม้ว่าเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นอะไรที่ตั้งไว้ก็ตาม ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่แค่ไหนก็ตาม ล้วนมีความไม่แน่นอนอยู่บ้าง แต่ก็ไปถึงได้แน่ ถ้าลงมือทำอย่างต่อเนื่อง…นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป และยิ่งเริ่มได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งได้เปรียบมากขึ้นเท่านั้น
หากทำได้เช่นนี้ แรงจูงใจจากภายนอกก็จะกลายเป็นแรงจูงใจภายในที่ติดตัวไปตลอดชีวิต และจะเป็นคุณค่าสำคัญที่จะช่วยให้เอาตัวรอดได้เป็นอย่างดีในสิ่งแวดล้อมสมัยใหม่ที่ยากคาดเดาได้
เอกสารอ้างอิง
Kitsantas, A., Zimmerman, B. J., & Cleary, T. (2000). The role of observation and emulation in the development of athletic self-regulation. Journal of Educational Psychology, 92(4), 811–817. https://doi.org/10.1037/0022-0663.92.4.811