- การเล่าเรื่องใช้ได้ดีกับผู้เรียนหลากหลายกลุ่ม สามารถใช้กระตุ้นอารมณ์ร่วมและสร้างความมุ่งมั่น อีกทั้งยังใช้ส่งเสริมภาพพจน์ของผู้บริหารได้อีกด้วย
- เรื่องเล่าดีๆ ไม่เพียงแต่สร้างอารมณ์เชื่อมโยง และทำให้คนฟัง ‘อิน’ กับเนื้อเรื่อง แต่มันยังสร้างความคุ้นเคย และความเชื่อถือ จึงเปิดใจต่อการเรียนรู้และผู้สอนมากขึ้น และยังทำให้คนทั่วไปเข้าใจเรื่องราวที่ซับซ้อนได้ง่ายขึ้น
- สำหรับข้อควรระวังในการใช้การเล่าเรื่องประกอบการสอนก็คือ ประสบการณ์ของแต่ละคนที่นำมาเล่า ไม่อาจใช้เป็น ‘ตัวแทนที่ดี’ สำหรับคนอื่นทั้งหมดได้
เทคนิคการเล่าเรื่องหรือ ‘สตอรีเทลลิ่ง (Storytelling)’ กลายมาเป็นหัวข้อและวิธีการสำคัญในอุตสาหกรรมบันเทิง การบริหารงาน และการฝึกอบรมต่างๆ จำนวนมาก มีหนังสือเบสต์เซลเลอร์มากมายที่บอกเล่าถึงความสำเร็จของการเล่าเรื่องที่ดี
แต่อันที่จริงแล้วเทคนิคนี้มีมานานนับพันๆ ปีแล้ว และเป็นสาเหตุที่เราจำเรื่องราวในนิทานอย่างนิทานอีสป หรือเรื่องราวในชาดกพุทธศาสนา พระคัมภีร์ไบเบิล หรือพระคัมภีร์สำคัญอื่นๆ รวมไปถึงวรรณกรรมคลาสสิกอย่างมหากาพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโอดิสซีย์และอีเลียดของกรีก มหาภารตะกับรามายณะของอินเดีย และไซอิ๋วกับสามก๊กของจีน
อันที่จริงแล้ว เทคนิคการเล่าเรื่องอย่างเหมาะสม ยังนำมาใช้ในแวดวงการศึกษาได้อีกด้วย
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
พอล สมิธ เจ้าของหนังสือสตอรี่เทลลิ่งธุรกิจเล่มดัง ‘สิบเรื่องที่ผู้นำเก่งๆ เล่า (The 10 Stories Great Leaders Tell)’ [1] สรุปไว้ว่า การเล่าเรื่องใช้ได้ผลดีกับคนที่มีธรรมชาติการเรียนรู้ที่แตกต่างกันทุกรูปแบบ
ตามธรรมชาติแล้ว คนส่วนใหญ่เรียนรู้ได้ดีผ่านการดู (รูป แผนภาพ วิดีโอ ฯลฯ) หรือไม่ก็การพูดคุยและการฟัง (พอดแคสต์) โดยมีคนที่ผูกพันกับวิธีการเรียนรู้ทั้งสองวิธีนี้คิดเป็นอย่างละ 40% จึงรวมแล้วมากถึง 80% ดังนั้น วิธีการสอนโดยการปาฐกถา โดยการพูดหรือบอกเล่าไปเรื่อย รวมไปถึงการอภิปรายถามตอบ จึงเป็นวิธีการพื้นฐานที่ใช้การได้ดีในห้องเรียน
แต่ยังมีอีก 20% ของผู้เรียนที่จะจดจำได้ดีก็ต่อเมื่อมีการเคลื่อนไหว จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการเรียนด้วยการลงมือทำ และการสร้างประสบการณ์ร่วมด้วยการทำแล็บหรือทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน หรือแม้แต่ออกแบบการสอนด้วยการให้ผู้เรียนใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ คือ ได้ชิม ได้ดม หรือได้สัมผัสตัวอย่างต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งในการเรียน
ข้อสรุปที่น่าสนใจคือ เรื่องเล่าใช้การได้ดีกับผู้เรียนทั้ง 3 แบบ
ผู้เรียนที่ถนัดการมองภาพจะสามารถสร้างภาพขึ้นในหัวขณะฟังเรื่องเล่านั้นได้ ส่วนผู้เรียนที่ถนัดการฟังจะจดจ่อกับคำและจังหวะ รวมไปถึงเนื้อเรื่องที่ผู้เล่าเล่าให้ฟัง ขณะที่ผู้เรียนที่ถนัดการลงมือทำจะจดจำได้ถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงและอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในเนื้อเรื่องได้ดี
เรื่องเล่าจึงเหมาะสมกับผู้เรียนที่มีความถนัดแตกต่างกันทุกกลุ่ม
อันที่จริงมีงานวิจัยที่ชี้ว่า ขณะฟังนิทานที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว สมองและเส้นประสาทเกี่ยวกับการขยับแขนขาของเด็กๆ จะทำงานด้วย ราวกับได้เคลื่อนไหวจริงๆ!
อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ เรื่องเล่าดีๆ นี่ ไม่เพียงแต่สร้างอารมณ์เชื่อมโยง และทำให้คนฟัง ‘อิน’ กับเนื้อเรื่อง แต่มันยังสร้างความคุ้นเคย และความเชื่อถือ จึงเปิดใจต่อการเรียนรู้และผู้สอนมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ยังทำให้คนทั่วไปเข้าใจเรื่องราวที่ซับซ้อนได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
การเล่าเรื่องจึงทำให้คนฟังซึมซับ ‘ข้อมูลแห้งๆ’ หรือแนวคิด ‘นามธรรม’ ได้ดียิ่งขึ้นไปด้วย เช่น ผู้บริหารบริษัท ก ที่พยายามเล่าในที่ประชุมเรื่องผลประกอบการแบบแห้งๆ เน้นไปที่ตัวเลขรายรับ–รายจ่าย เมื่อจบการประชุมพวกพนักงานก็จะจำได้แค่ว่า มีตัวเลขมากมายไปหมดในปาฐกถา แต่ก็อาจจะจำอะไรไม่ได้มากมายนัก เพราะปกติคนเรามักจำตัวเลขกันได้ไม่เก่งอยู่แล้ว
ในทางตรงกันข้าม ผู้บริหารบริษัท ข ที่ประชุมเรื่องผลประกอบการเช่นกัน แต่เลือกใช้เรื่องเล่าที่เข้มข้นเพื่อกระตุ้นให้พนักงานเกิดความฮึกเหิม โดยอาจจะพ่วงด้วยกลยุทธ์หรือตัวอย่างการขาย การตลาด หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อช่วยให้พนักงานมีความมุ่งมั่นในการทำเป้าหมายของบริษัทให้สำเร็จ
เมื่อสิ้นสุดการประชุม บรรดาพนักงานก็จะได้ทั้งความรู้ ความคิดเห็น และพลังแห่งความกระตือรือร้นที่จะลงมือทำ
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่ทำให้พบว่า ผู้นำที่เล่าเรื่องการเรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเอง ทำให้พนักงานรู้สึกว่าเป็นคนที่ ‘เข้าถึงได้’ และมีส่วนสร้างแรงบันดาลใจ อีกทั้งยังทำให้คนฟังอยากรู้เรื่องเหล่านั้นมากขึ้นไปอีก
เรื่องเล่าจึงเป็นเครื่องมือสำคัญของผู้นำแบบหนึ่ง
เรื่องเล่าจึงทำให้ผู้รับสารรับเอาข้อมูลและทัศนคติเข้าไปพร้อมๆ กันเป็นแพ็กเกจ ซึ่งเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า การเรียนรู้ที่กระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกร่วมไปด้วยจะทำให้จดจำได้ดียิ่งขึ้นกว่ามีแค่ข้อมูลข่าวสารและตัวเลข
นี่คือเหตุผลเดียวกับที่เราดูซีรีส์เกาหลีข้ามคืนได้ง่ายๆ ไม่ต้องใช้ความพยายามมากเท่ากับดูรายการพวกสารคดีหรือ documentary ต่างๆ
นอกจากนี้ งานวิจัยของนักจิตวิทยาองค์กรชื่อ เพ็ก นิวฮอเซอร์ (Peg Neuhauser) ยังพบอีกด้วยว่า
เรื่องเล่าชั้นดีช่วยให้จดจำเรื่องราวได้แม่นยำขึ้น และจดจำได้ยาวนาน หากเทียบกับการสอนการเรียนแบบทื่อๆ โดยแสดงให้เห็นแต่ข้อเท็จจริง ตัวเลข และรูปภาพเท่านั้น
ผลลัพธ์ดังกล่าวสอดคล้องกับผลงานวิจัยของเจโรมี บรูเนอร์ (Jerome Bruner) ที่ระบุว่า เรื่องเล่าทำให้จดจำข้อเท็จจริงได้ดีขึ้นถึง 20 เท่า!
สำหรับคุณครูและอาจารย์ ก่อนจะสอนสมการ หลักการ หรือวิธีการคำนวณ การเล่าประวัติศาสตร์ที่มาของสมการหรือหลักการและผู้ค้นพบสักเล็กน้อย ก็จะช่วยดึงดูดให้นักเรียนนักศึกษาตื่นตัวตั้งใจเรียนส่วนที่ตามมาที่ยากกว่า และยังจะจำได้มากขึ้นไปอีกด้วย
อีกเรื่องหนึ่งของเรื่องเล่าที่น่าจะรู้ไว้ก็คือ จังหวะที่เหมาะจะเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจแล้วได้ผลลัพธ์ดีที่สุดคือ ควรจะเล่าหลังจากเกิดความประหลาดใจหรือไม่ก็เกิดอาการผิดความคาดหมายขึ้น [2]
การที่คนเราแต่ละคนพบว่าแบบจำลองเรื่องราวทางโลกในหัวตัวเองผิดไปบางอย่างหรือไม่สมบูรณ์แบบ จิตใจของคนเหล่านั้นก็พร้อมจะรับฟังเรื่องราวที่ใช้อธิบายได้ว่า ความจริงเป็นอย่างไรกันแน่
นอกจากนี้ เรื่องที่เล่านั้นยิ่งมีความเกี่ยวข้องกับนักเรียนเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เขาตั้งใจฟังมากขึ้นเท่านั้น เช่น เรื่องราวที่จะทำให้เพื่อนร่วมชั้นรักพวกเขามากกว่าเดิม หรือสำหรับคนที่กำลังจะเรียนจบ การเล่าเรื่องความสำเร็จในการสมัครงาน หรือความสุขความสำเร็จจากการทำงาน ก็ช่วยสร้างเสริมกำลังใจเป็นอย่างดี
อีกข้อสังเกตหนึ่งที่มีประโยชน์คือ เรื่องที่นำมาเล่านั้น แต่ละคนอาจเลือกเล่าเรื่องเดียวกัน แต่เล่าด้วยวิธีการหรือมุมมองที่แตกต่างกันได้
อันที่จริงแล้วหากคลาสไม่ใหญ่เกินไป การเปิดโอกาสให้นักศึกษาเล่าเรื่องจากมุมมองของตัวเองก็ยิ่งดี เพราะคนในวัยเดียวกันย่อมสนใจฟังคนร่วมรุ่นเล่าเรื่องตัวเองมากกว่า จากนั้นอาจารย์ค่อยเข้ามาช่วยในตอนท้าย โดยเชื่อมโยงเรื่องราวที่นักศึกษาเพิ่งเล่าไปว่า เกี่ยวข้องกับสิ่งที่สอนในแง่มุมใดได้บ้าง
สำหรับข้อควรระวังในการใช้การเล่าเรื่องประกอบการสอนก็คือ ประสบการณ์ของแต่ละคนที่นำมาเล่า ไม่อาจใช้เป็น ‘ตัวแทนที่ดี’ สำหรับคนอื่นทั้งหมดได้
ข้อสรุปที่จะได้จากเรื่องเล่าจำเป็นต้องผ่านการทดสอบทางวิทยาศาสตร์และตีความผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างรัดกุม จึงจะสามารถประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางได้ ไม่ว่าเรื่องราวที่เล่าจะโดดเด่นหรือชวนให้หลงใหลและน่าเชื่อถือมากเพียงใด แต่หากปราศจาการพิสูจน์อย่างชัดแจ้ง ก็ยังยากจะนำมาสรุปเป็นบทเรียนแบบ ‘ทั่วไป’ สำหรับทุกคนได้ ยังถือเป็น ‘เรื่องเล่าส่วนตัว’
โดยสรุปจึงเห็นได้ไม่ยากว่า การเล่าเรื่องใช้ได้ดีกับผู้เรียนหลากหลายกลุ่ม สามารถใช้กระตุ้นอารมณ์ร่วมและสร้างความมุ่งมั่น อีกทั้งยังใช้ส่งเสริมภาพพจน์ของผู้บริหารได้อีกด้วย เท่านั้นยังไม่พอ คนเรายังกระหายอยากฟังเรื่องเล่า และจดจำเรื่องพวกนี้ได้ดีกว่าและนานกว่าการจดจำข้อมูล ตัวเลข ตาราง แบบแห้งๆ
เรื่องเล่าจึงใช้ในการผูกโยงผู้คนเข้าด้วยกัน อีกทั้งผูกโยงผู้คนเข้ากับความคิด ความรู้ ความรู้สึก ความเชื่อ และนามธรรมบางอย่างเพื่อวัตถุประสงค์สำคัญอยู่ตลอดมา โดยเฉพาะการส่งผ่านปัญญาญาณในลัทธิและศาสนาต่างๆ
เอกสารอ้างอิง
[1] Smith, P. (2019) The 10 Stories Great Leaders Tell. Simple Truths.
[2] Schank, R.C. (1990). Tell me a story. New York: Charles Scribner’s Sons.