- การสอนให้เด็กมีภาวะผู้นำที่มีคุณธรรมและเคารพในความแตกต่างตั้งแต่เล็ก จะช่วยให้พวกเขารับมือกับความกดดันที่เกิดขึ้นในกลุ่มเพื่อน โดยเฉพาะเมื่อโตขึ้นเป็นวัยรุ่นได้
- leadership ไม่ใช่ภาวะการเป็นผู้นำเดี่ยว ที่ใช้อำนาจได้เป็น มีความแข็งแกร่ง ควบคุม สั่งการอย่างมีประสิทธิภาพ แต่หมายถึงภาวะการนำตนเองได้ในความแตกต่างหลากหลายอย่างมีมนุษยธรรม
- เด็กๆ อาจจะบอกว่า “ก็ไม่ได้อยากเป็นผู้นำ จำเป็นต้องมีภาวะผู้นำด้วยเหรอ?” บทความนี้มีคำตอบ
“I have a dream today… I have a dream that my four little children will one day live in a nation where they will not be judged by the color of their skin but by the content of their character…”. Martin Luther King Jr.
“วันนี้ข้าพเจ้ามีความฝัน…ข้าพเจ้าฝันว่าสักวันหนึ่งลูกเล็กๆ ทั้งสี่คนจะเติบโตขึ้นมาในประเทศที่พวกเขาจะไม่ถูกตัดสินคุณค่าด้วยสีผิว แต่ด้วยคุณลักษณะที่พวกเขาเป็น…” มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ศาสนาจารย์ และนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนผิวสีชาวอเมริกัน กล่าวไว้เมื่อ 55 ปีก่อน
ประโยคนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ไม่ว่าจะยุคสมัยใด มนุษย์อาศัยอยู่ท่ามกลางสังคมและสภาพแวดล้อมที่มีความแตกต่าง หลากหลาย และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จาก 55 ปีที่แล้วย้อนกลับมาถึงวันนี้ เรายังคงต้องเผชิญกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากความต่าง ทั้งสีผิว เชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ และปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่จะทำให้ความต่าง กลายเป็นความพิเศษและมีคุณค่า จนสามารถฉายความโดดเด่นในเชิงบวกออกมา และสร้างการยอมรับได้ คือ ‘คุณลักษณะ’ หรือ ‘character’ ที่จะทำให้เรามีตัวตนและช่วยเปิดพื้นที่ให้แสดงออกและแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องสนใจว่าคนอื่นจะตัดสินเราด้วยรูปลักษณ์หรือลักษณะภายนอกของเราอย่างไร
ในความแตกต่างหลากหลายนี้เอง ภาวะผู้นำ หรือ leadership จึงเป็นหนึ่งในคุณลักษณะที่ขาดไม่ได้
leadership ไม่ได้หมายถึงภาวะการเป็นผู้นำเดี่ยว ที่ใช้อำนาจได้เป็น มีความแข็งแกร่ง ควบคุม สั่งการอย่างมีประสิทธิภาพ แต่หมายถึงภาวะการนำตนเองได้ในความแตกต่างหลากหลายอย่างมีมนุษยธรรม
เพราะมนุษย์จำเป็นต้องอาศัยอยู่ร่วมกัน สังคมปัจจุบันจึงต้องการคุณลักษณะของการนำร่วม ในการกำหนดทิศทางชีวิตของทุกคนในสังคมด้วยการพึ่งพาอาศัยกันอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในรูปแบบที่ต้องการได้ ภายใต้ความแตกต่างหลากหลาย และหากผู้คนในสังคมยิ่งมีภาวะการนำร่วม สังคมก็ยิ่งจะก้าวข้ามกับดักของความเป็นปัจเจกและเห็นแก่ตัว นำไปสู่สังคมที่พึ่งพาอาศัยกันได้ในที่สุด
บทความเรื่อง การสร้างคุณลักษณะ: แก่นแท้ภาวะผู้นำ หรือ Building Character: A leadership Essential โดย เจมส์ ซี. ซาร์รอส (James C. Sarros), ไบรอัน คูเปอร์ (Brian Cooper) ผู้เชี่ยวชาญด้านสาขาการจัดการ มหาวิทยาลัยโมนาช ออสเตรเลีย (Monash University) และ โจเซฟ ซี. ซานโทรา (Joseph C. Santora) กรรมการผู้จัดการจาก TST Inc ที่ปรึกษาด้านการจัดการให้กับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และมหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา นำเสนอ ‘คุณลักษณะที่แสดงออกถึงภาวะผู้นำ’ จากการสำรวจผู้บริหารกว่า 200 คนจากภาครัฐ บริษัทเอกชน และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในออสเตรเลีย 17 ข้อ อันสะท้อนถึงคุณลักษณะอันจำเป็นของผู้คนในสังคมปัจจุบัน ได้แก่
ความซื่อสัตย์สุจริต (Integrity) : คุณลักษณะที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรมจริยธรรมและมาตรฐานในการทำงาน และการใช้ชีวิต ผลการสำรวจ พบว่า คนที่มีความซื่อสัตย์จะเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้องเมื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจ
ความร่วมมือ (Cooperativeness) : ความเต็มใจและตั้งใจทำงานร่วมกับผู้อื่น เพื่อให้บรรลุภารกิจและวัตถุประสงค์ในการทำงานร่วมกัน
ความเป็นธรรม (Fairness) : การปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน
การมีวินัยในตนเอง (Self-discipline) : การตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผลและรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมาย
มีความจริงใจ (Honesty) : เปิดเผย ไม่ปิดบังความจริงต่อผู้อื่น
ความเคารพนับถือ (Spiritual Respect) : การให้คุณค่าและเคารพความหลากหลายและความแตกต่างของผู้คน ทั้งในแง่ของภูมิหลัง วัฒนธรรมและความเชื่อ
การให้เกียรติซึ่งกันและกัน (Respectfulness) : แสดงออกถึงความมั่นใจ การตอบแทน และความชื่นชมต่อผู้อื่น
ความจงรักภักดีในฐานะคนทำงาน (Employee Loyalty) : มีความทุ่มเทให้กับงานและเพื่อนร่วมงาน หรือผู้ใต้บังคับบัญชาของตัวเอง
การมีอารมณ์ขัน (Humor) : ความสามารถในการสร้างเสียงหัวเราะและเห็นแง่มุมที่ขบขันในสถานการณ์ที่เลวร้าย
พลังคลั่งไคล้ (Passion) : การมีพลังและความกระตือรือร้นที่จะทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จตามเป้าหมายหรือความตั้งใจ
ความสามารถ (Competency) : การมีความสามารถในการปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ความจงรักภักดีต่อองค์กร (Organisation Loyalty) : การมีความทุ่มเทให้กับองค์กรที่ทำงาน
ความกล้าหาญ (Courage) : การมองเห็นเป้าหมายในระยะยาว แล้วลงมือทำโดยไม่ให้ความกลัวเข้ามาขัดขวาง
ความเมตตา (Compassion) : ความห่วงใยในทุกข์สุขของคนอื่น และช่วยเหลือตามกำลังความสามารถ
ความไม่เห็นแก่ตัว (Selflessness) : ความเสียสละที่จะทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อผู้อื่น
ปัญญา (Wisdom) : ความสามารถในการนำประสบการณ์และความรู้มาประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างเต็มศักยภาพและเกิดประโยชน์
ความอ่อนน้อมถ่อมตน (Humility) : ความรู้จักประมาณตัว ไม่โอ้อวด และไม่ใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลาง
ก็ไม่ได้อยากเป็นผู้นำ จำเป็นต้องมีภาวะผู้นำด้วยเหรอ?
แน่นอนว่าในภาคปฏิบัติของการทำงาน ‘ผู้นำ’ ที่มี ‘ภาวะผู้นำ’ เป็นกลไกสำคัญที่พาองค์กรไปสู่เป้าหมาย ผู้นำที่ดีทำให้การทำงานเป็นทีมดำเนินไปได้อย่างราบรื่น เกิดความร่วมมือไปในทิศทางเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ภาวะผู้นำ ไม่ได้หมายถึง ความเป็นผู้นำในองค์กรหรือสถานที่ทำงานอย่างเดียวเท่านั้น บทความเรื่อง ภาวะผู้นำและเด็ก (Leadership and Children) เผยแพร่ทางเว็บไซต์ PennState Extension โดยมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียสเตท (Pennsylvania State University) กล่าวว่า ภาวะผู้นำ เกี่ยวข้องกับคำสำคัญเหล่านี้ – ความมั่นใจในตัวเอง (self-confidence) การทำเพื่อสังคม (pro-social) การแก้ปัญหา (problem solving) และ การตัดสินใจและเลือกอย่างอิสระ (makes independent decision and choices) เห็นได้ว่าคำสำคัญที่กล่าวมาทั้งหมด มีความเกี่ยวข้องทั้งกับตัวเอง บุคคลอื่น องค์กร และสังคม
หากพ่อแม่ช่วยสร้างภาวะผู้นำให้เกิดขึ้นในตัวเด็ก จะช่วยให้พวกเขาควบคุมตนเองได้ หนุนเสริมความสามารถให้ทำสิ่งต่างๆ ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ และคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ เป็นส่วนผสมที่ค่อยๆ สร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นในตัวบุคคล และสร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้พัฒนาตนเองด้านความรับผิดชอบ ต่อตัวเอง องค์กรและสังคมไปในเวลาเดียวกัน
พ่อแม่จะทำอย่างไรได้บ้างในการสร้างลักษณะนิสัยให้ลูกมีภาวะผู้นำ?
ทราวิส แบรดเบอร์รี (Travis Bradberry) เจ้าของหนังสือติดอันดับขายดี Emotional Intelligence 2.0 และผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ TalentSmart บริการให้คำปรึกษาบริษัทกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ ที่ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ใน 500 ลำดับแรกจากนิตยสารธุรกิจชื่อดัง Fortune ของสหรัฐอเมริกา และเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกที่ให้บริการด้านการทดสอบและฝึกอบรมความฉลาดทางอารมณ์ เขียนถึง 8 วิธีอันทรงพลังที่จะช่วยพ่อแม่ปั้นลูกๆ ให้มีภาวะผู้นำ ไว้อย่างชัดเจน พร้อมย้ำว่า งานปั้นนี้เป็นความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ของพ่อแม่ผู้ปกครองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
1. มีความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence: EQ)
ความฉลาดทางอารมณ์เป็นแรงขับสำคัญของความสำเร็จในผู้นำ แม้เป็นอะไรที่ดูเหมือนสัมผัสและเข้าถึงได้ยาก แต่ส่งผลโดยตรงต่อการแสดงออกทางพฤติกรรมและการตัดสินใจในเชิงบวก เด็กเรียนรู้และซึมซับ EQ จากพฤติกรรมและการแสดงออกของผู้ปกครองในชีวิตประจำวัน รวมทั้งอารมณ์และพฤติกรรมที่สื่อสารโดยตรงกับพวกเขาทุกวันตั้งแต่แรกเกิด
TalentSmart ได้ทำการทดสอบผู้คนกว่าล้านคน พบว่า EQ มีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของหัวหน้างานถึง 58 เปอร์เซ็นต์ โดย 90 เปอร์เซ็นต์ ของผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จในการบริหารงานเป็นคนที่มี EQ อยู่ในระดับสูง
ดังนั้น พ่อแม่จึงเป็นต้นแบบให้ลูกได้ ด้วยการสื่อสารและแสดงอารมณ์ในเชิงบวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องรับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้าที่อาจทำให้ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ ยิ่งพ่อแม่แสดงให้เห็นศักยภาพในการรับมือกับปัญหาและอารมณ์เชิงลบได้ดีเท่าไร ลูกจะยิ่งเรียนรู้วิธีในการควบคุมจัดการกับอารมณ์ตัวเองได้ดีเท่านั้น
2. ไม่ติดกับดักความสำเร็จ (Don’t obsess about achievement)
พ่อแม่ไม่ควรกดดันลูก ด้วยการเข้าไปกำหนดกะเกณฑ์เส้นทางชีวิต โดยเฉพาะการใส่ไอเดียความสำเร็จในชีวิตของลูกบนพื้นฐานความต้องการของพ่อแม่ การเลี้ยงลูกให้อยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมและผู้คนที่สร้างให้เกิดการเรียนรู้ต่างหากที่จะนำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน
3. ชมได้แต่ต้องไม่มากเกินไป (Don’t praise too much)
คำชื่นชมจากผู้ใหญ่แสดงถึงการยอมรับ ทำให้เด็กและเยาวชนมีความนับถือในตัวเอง แต่ต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้พวกเขามีความเชื่อมั่นในตัวเอง สิ่งสำคัญ คือ ผู้ใหญ่ต้องแสดงออกถึงความภาคภูมิใจในความมุ่งมั่นและความพยายามของเด็กไม่เกินเลยจากความเป็นจริง ให้คำแนะนำปรึกษาถึงสิ่งที่สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้น เพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นไปอีก
4. ให้พวกเขาได้เผชิญกับความล้มเหลวและความเสี่ยงบ้าง (Allow them to experience risk and failure)
ความสำเร็จในธุรกิจและในชีวิตขับเคลื่อนโดยสิ่งที่เรียกว่า ‘ความเสี่ยง’ หากผู้ใหญ่เลี้ยงดูเด็กเหมือนไข่ในหิน ไม่ปล่อยให้เผชิญหน้ากับความล้มเหลว เด็กก็จะไม่เข้าใจว่าความเสี่ยงคืออะไร และไม่มีความอดทน เราจะสัมผัสรสชาติอันหอมหวานของความสำเร็จได้อย่างเต็มที่ ก็ต่อเมื่อเคยลิ้มรสชาติความขมจากความล้มเหลวมาก่อน แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ แรงสนับสนุนจากพ่อแม่เมื่อเด็กทำผิดพลาดหรือล้มลง แรงส่งเสริมให้ลุกแล้วเดินหน้าต่อจากผู้ปกครองช่วยสร้างให้เด็กมีความมั่นใจ อย่างน้อยพวกเขาจะรู้สึกว่ายังมีผู้ใหญ่อยู่เคียงข้างพวกเขาเพื่อฝ่าฟันปัญหาต่างๆ เสมอ
5. ไม่ตามใจ (Say No)
เด็กต้องเรียนรู้และฝึกตัวเองให้มีความอดทน และรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง การที่ผู้ปกครองปฏิเสธไม่ทำตามที่พวกเขาต้องการ อาจทำให้พวกเขาผิดหวัง แต่ก็ดีกว่าปล่อยให้ถูกตามใจจนเสียคน และขาดความอดทนต่อแรงรุมเร้าจากปัจจัยภายนอก รวมทั้งความกระวนกระวายใจภายใน
6. ให้พวกเขาแก้ปัญหาด้วยตัวเอง (Let children solve their own problems)
ผู้นำต้องพึ่งพาตนเองได้ การปล่อยให้ลูกแก้ปัญหาด้วยตนเอง เป็นการฝึกให้พวกเขายืนหยัดและมีความแข็งแกร่งเมื่อต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่ไม่ได้อย่างใจ หากผู้ปกครองไม่ปล่อยให้เด็กได้คิดแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เด็กจะนิ่งเฉยและรอคอยให้ผู้ใหญ่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาอยู่เสมอ ในทางกลับกันผู้นำจะคิด แล้วลงมือแก้ปัญหาด้วยตนเอง
7. พูดคุยกัน (Walk your talk)
ผู้นำที่แท้จริงต้องมีความโปร่งใสและมีความพร้อมอยู่เสมอ สิ่งนี้ช่วยสร้างการยอมรับนับถือจากคนรอบตัว ผู้ปกครองต้องแสดงออกให้เห็นเป็นตัวอย่าง เมื่อลูกโตขึ้นในวัยที่เข้าใจเหตุผล การสื่อสารและแสดงออกด้วยความซื่อตรงและตรงไปตรงมาของผู้ปกครองจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเดินรอยตามได้
8. แสดงให้เห็นว่า เราทุกคนก็เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งไม่ต่างกัน (Show you’re human)
ไม่ว่าลูกจะก้าวร้าวและดื้อขนาดไหน พ่อแม่คือฮีโร่และเป็นตัวอย่างของพวกเขาเสมอ ได้ยินแบบนี้อาจทำให้พ่อแม่ขยาดเพราะคิดว่าตัวเองทำผิดพลาดไม่ได้เด็ดขาด แต่ความเป็นจริงนั้นกลับกัน
เมื่อเกิดข้อผิดพลาด การแสดงให้ลูกเห็นวิธีการรับมือกับความผิดพลาดอย่างมีสติและกล้าหาญต่างหากที่เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก เพราะพวกเขาเองจะได้เรียนรู้บทเรียนจากข้อผิดพลาดนั้นด้วยเช่นกัน
หรือแม้แต่การชวนลูกออกไปทำกิจกรรมอาสาสมัครเพื่อชุมชน แสดงให้เห็นถึงความเสียสละ นอกจากนี้การทำประโยชน์ให้ผู้อื่น จะทำให้เรามองเห็นคุณค่าในตัวเอง
ไม่จำเป็นเสมอไปว่า…ทุกคนต้องเติบโตไปเป็นผู้นำ การสอนให้เด็กและเยาวชนมีคุณลักษณะนี้ติดตัวไป เป็นการเตรียมความพร้อมคนรุ่นใหม่ให้เป็นผู้นำและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบ
ความหวังของเรา คือ การปลูกฝังเด็กและเยาวชนให้มีภาวะผู้นำที่ไม่ได้มีแค่ความเก่งอย่างเดียว แต่มีคุณธรรมจริยธรรม และเคารพในความแตกต่าง การสอนให้เด็กมีภาวะผู้นำตั้งแต่เล็กจะช่วยให้พวกเขารับมือกับความกดดันที่เกิดขึ้นในกลุ่มเพื่อน โดยเฉพาะเมื่อโตขึ้นเป็นวัยรุ่นได้
พ่อแม่ ผู้ปกครอง และโรงเรียนจึงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางความเปลี่ยนแปลงของโลก เพราะครอบครัวและสถาบันการศึกษาเป็นฐานที่จะช่วยปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนมีคุณลักษณะเชิงบวก พร้อมที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำตนเองและสังคมได้อย่างมีคุณภาพ ความงามของการสร้างเด็กๆ ให้มีภาวะผู้นำ คือ สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ผู้ปกครองสอนให้พวกเขาเข้าใจ แล้วปฏิบัติจนกลายเป็นคุณลักษณะร่วมที่มีอยู่ในทุกคนได้ในที่สุด