- บทความนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากประโยคที่ว่า “Kindness สกุลเงินที่ควรเริ่มสะสมตั้งแต่วันนี้” ของ แกรี่ เวย์เนอร์ชัค (Gary Vaynerchuk) เจ้าของฉายา นักการตลาดออนไลน์ตัวพ่อแห่งยุค
- แกรี่กล่าวว่า ผู้นำที่ดีต้องมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (empathy) ตระหนักรู้ในตนเอง (self-awareness) มีเมตตา ปรารถนาดีต่อผู้อื่น (kindness) ในขณะเดียวกันต้องเห็นคุณค่าในตัวเอง (self-esteem)
- “Kindness” สร้างได้จากการลงมือทำบางอย่างที่หล่อหลอมให้เกิดความรู้สึกหวังดีและปรารถนาดีต่อผู้อื่น เช่น การแบ่งปันขนมให้เพื่อน ความรู้สึกดีที่ได้รับจากการให้ผู้อื่นก่อน ทำให้สมองของเด็กเรียนรู้วิธีการผลิตซ้ำความรู้สึกดีนั้น แล้วส่งต่อความรู้สึกที่ดีไปยังผู้อื่น มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มากมายรองรับว่า kindness เป็นโรคติดต่อที่ส่งถึงกันได้ ด้วยเหตุนี้การสร้างคาร์แรกเตอร์ให้เด็กและเยาวชนมี kindness จึงควรถูกสอนทั้งจากที่บ้านและที่โรงเรียน
“Kindness สกุลเงินที่ควรเริ่มสะสมตั้งแต่วันนี้”
“Kindness is the currency … start making deposits ….”
บทความนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากประโยคด้านบนของ แกรี่ เวย์เนอร์ชัค (Gary Vaynerchuk) หรือ แกรี่ วี (Gary Vee) ชายวัย 46 ผู้ได้รับฉายานามว่าเป็นนักการตลาดออนไลน์ตัวพ่อแห่งยุค ลุคของแกรี่ไม่ได้ดูอบอุ่นเมื่อแรกเห็น หน้าโหดๆ มาดกวนๆ พูดจาตรงไปตรงมา ซ้ำยังสบถคำหยาบอยู่บ่อยครั้ง แต่แทบทุกประโยคที่สื่อสารออกมาเรียกว่า “เฉียบ!!” “บาดใจ!!” โดยเฉพาะสำหรับคนที่ทำธุรกิจ แกรี่ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คดันยอดขายธุรกิจของเขาถึงพันล้านได้ภายใน 5 ปี โดยใช้ ‘คอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง’ แบบเพียว ๆ ในทุกช่องทางที่มี ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาร์แกรม ยูทูบ ทวิตเตอร์ ติ๊กต๊อก ลิงค์อิน สแนพแชต พ็อดคาสท์ และออกหนังสือมาแล้วถึง 5 เล่ม
เมื่อนักการตลาดอย่างแกรี่บอกว่า “kindness” เป็นเงินสกุลหนึ่งที่ต้องเริ่มสะสมตั้งแต่วันนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าสงสัย จนทำให้อยากค้นต่อว่าคำนามธรรมกว้างๆ คำนี้ ทำไมถึงมีอิทธิพลในยุคที่ผู้คนต่างแข่งขัน หาทางเป็นที่หนึ่ง สนใจเรื่องของตัวเองและคนรอบข้างน้อยลง แต่สนใจเรื่องคนอื่นและเรื่องไกลตัวมากขึ้น
Kindness คืออะไร?
“kindness” คิดอยู่นานว่าจะแปลความหมายของคำนี้ว่าอย่างไรดี
คำว่า kind ในมักมิลลัน ดิกชันนารี ให้ความหมายว่า
“behaving in a way that shows you care about other people and want to help them”
“พฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่าคุณห่วงใยผู้อื่น และอยากช่วยเหลือพวกเขา”
ส่วนอ๊อกฟอร์ด ดิกชันนารี ให้ความหมายว่า
“caring about others; gentle, friendly and generous”
“ห่วงใยผู้อื่น อ่อนโยน เป็นมิตรและมีน้ำใจ”
ซึ่งแปลความได้ถึง “ความเมตตา” “ความกรุณา” และ “ความปราณี” เป็นความรู้สึกหวังดีและปรารถนาดีต่อผู้อื่น
ในบทความนี้จึงขอแทน “kindness” ด้วยคำว่า “kindness” อย่างตรงไปตรงมา ส่วนความหมายในภาษาไทยก็จะใช้แตกต่างกันไปตามสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง
สร้างความแข็งแกร่งด้วย ‘kindness’
แกรี่ กล่าวว่า ผู้นำที่ดีต้องมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (empathy) ตระหนักรู้ในตนเอง (self-awareness) มีเมตตา ปรารถนาดีต่อผู้อื่น (kindness) ในขณะเดียวกันต้องเห็นคุณค่าในตัวเอง (self-esteem)
‘kindness’ จึงไม่ใช่เรื่องของคนอ่อนแอ
การศึกษาทางวิทยาศาตร์แสดงให้เห็นว่า kindness มีประโยชน์ต่อเด็กทั้งทางร่างกายและอารมณ์ แพตตี้ โอ กราดี้ (Patty O’Grady) ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาศาสตร์ การเรียนรู้ทางอารมณ์ และจิตวิทยาเชิงบวก ที่มีความสนใจเป็นพิเศษด้านการศึกษา กล่าวว่า วัยเด็กและวัยรุ่นไม่ได้เรียนรู้เรื่อง kindness จากเพียงคำพูด หรือ ความคิด แต่เรียนรู้ได้ดีที่สุดจาก “ความรู้สึก”
“ความปรารถนาดีต่อผู้อื่นเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานในสมอง ด้วยประสบการณ์ที่ได้จากการมีความปรารถนาดีต่อผู้อื่น”
นั่นหมายความว่า kindness สร้างได้จากการลงมือทำบางอย่างที่หล่อหลอมให้เกิดความรู้สึกหวังดีและปรารถนาดีต่อผู้อื่น ยกตัวอย่างเช่น การแบ่งปันขนมให้เพื่อน ความรู้สึกดีที่ได้รับจากการให้ผู้อื่นก่อน ทำให้สมองของเด็กเรียนรู้วิธีการผลิตซ้ำความรู้สึกดีนั้น แล้วส่งต่อความรู้สึกที่ดีไปยังผู้อื่น เรื่องที่กำลังพูดถึงอยู่นี้ไม่ใช่สิ่งที่พูดขึ้นลอยๆ แต่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มากมายรองรับว่า “kindness” เป็นโรคติดต่อที่ส่งถึงกันได้
ด้วยเหตุนี้การสร้างคาร์แรกเตอร์ให้เด็กและเยาวชนมี kindness จึงควรถูกสอนทั้งจากที่บ้านและที่โรงเรียน
8 เหตุผล ทำไมต้องสอนเด็กให้มี kindness
- ทำให้เด็กมีความสุข
วิทยาศาสตร์อธิบายว่าความรู้สึกดีๆ ที่เราได้รับเมื่อเราได้ทำอะไรให้กับผู้อื่น เกิดขึ้นจากสารเอนดอร์ฟิน (endorphin) ที่เข้าไปกระตุ้นส่วนของสมองที่ทำงานเกี่ยวข้องกับความรู้สึกพึงพอใจ การเชื่อมต่อทางสังคมและความไว้วางใจ ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อเราทำอะไรบางอย่างให้ใครสักคนรู้สึกดี คนๆ นั้นจะมีความรู้สึกอยากทำให้คนอื่นรู้สึกดีๆ ด้วย เป็นการส่งต่อการให้ แล้วรับต่อไปเรื่อยๆ เหมือนคำกล่าวที่ว่า “ยิ่งให้ ยิ่งได้รับ”
- เพิ่มการยอมรับจากเพื่อน
Kindness ช่วยเพิ่มความสามารถของมนุษย์ในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าเด็กที่มีความสุข มีจิตใจดีมีเมตตา ได้รับการยอมรับจากเพื่อนมากกว่าเพราะพวกเขามีสุขภาพจิตที่ดี มีพลังบวกทำให้เพื่อนๆ อยากเข้าหา
- ทำให้สุขภาพดีขึ้นและมีความเครียดน้อยลง
มีการข้อมูลเผยแพร่อย่างแพร่หลายว่าความรู้สึกหวังดีและปรารถนาดีต่อผู้อื่น กระตุ้นการปล่อยฮอร์โมนออกซิโทซิน ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจหลายด้าน ยกตัวอย่างเช่น การเพิ่มระดับความสุขและลดความเครียด อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญเชื่อมโยงกับระบบหัวใจและหลอดเลือด ช่วยปกป้องหัวใจไม่ให้มีความดันโลหิตสูงเกินพอดี ช่วยลดสารอนุมูลอิสระ และสารก่อการอักเสบในเนื้อเยื่อ นั่นหมายถึงช่วยชะลอความแก่ชราของเซลล์ลงได้
- ช่วยให้เห็นคุณค่าในตัวเอง
การศึกษาแสดงให้เห็นว่าการช่วยเหลือผู้อื่น กระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟินออกมา ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง รู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวหรือสังคมที่ได้หยิบยื่นความช่วยเหลือไปให้ จากรายงานพบว่าแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็เพิ่มความรู้ดีให้เกิดขึ้นได้ เป็นการเพิ่มพลังงานชีวิต การมองโลกในแง่ดีและการเห็นคุณค่าในตัวเอง
- เพิ่มความรู้สึกขอบคุณและซาบซึ้งใจ (Gratitude)
เมื่อเด็กๆ ได้มีโอกาสทำกิจกรรมจิตอาสา หรือโครงการช่วยเหลือผู้อื่นที่ด้อยโอกาสกว่าตัวเอง พวกเขาจะได้เรียนรู้ความจริงในอีกแง่มุมหนึ่งของชีวิต ที่ทำให้เห็นคุณค่าของสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในชีวิตของตัวเอง
- คุณภาพชีวิตโดยรวมทั้งกายและใจที่ดีขึ้น
การมีมุมมองเชิงบวกช่วยให้เด็กสนใจสิ่งต่างๆ รอบตัวมากขึ้น กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งส่งผลดีต่อการเรียนรู้ ความรู้สึกหวังดีและปรารถนาดีต่อผู้อื่นกระตุ้นการหลั่งสารสื่อประสาทที่ชื่อว่า ‘เซโรโทนิน’ ที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ ทำให้รู้สึกเบิกบานและช่วยลดอาการหวาดวิตกกังวล ทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น ความจำดีขึ้น และส่งผลดีต่อระบบการย่อยอาหารในร่างกาย
- ทำให้เกิดการบูลลี่น้อยลง
ชานีเทีย คลาร์ก (Shanetia Clark) และ บาร์บารา มารินาค์ (Barbara Marinak) นักวิจัยจากสถาบันเพน เสตท แฮร์ริสเบิร์ก รัฐเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า วัยรุ่นในปัจจุบันทำให้เพื่อนๆ ตกเป็นเหยื่อทางสังคมในอัตราที่น่าตกใจ แตกต่างจากเมื่อก่อน
ทั้งนี้การกลั่นแกล้งกันในหมู่วัยรุ่นและความรุนแรงในกลุ่มเยาวชนสามารถจัดการได้ด้วยการปลูกฝัง kindness จากการวิจัยพบว่า โรงเรียนที่ใส่ใจกับเรื่องดังกล่าวสามารถสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นและปลอดภัยในโรงเรียน ลดอัตราการบูลลี่ระหว่างกันของนักเรียนลงไปได้ โดยครูไม่จำเป็นต้องทำโทษพฤติกรรมเชิงลบ แต่ส่งเสริมความรู้สึกนึกคิดให้แสดงพฤติกรรมเชิงบวกอย่างเป็นธรรมชาติ
มีการศึกษาในเด็กอายุ 9-11 ปี พบว่า เด็กที่มีพฤติกรรมเชิงบวก มีความปรารถนาดีต่อผู้อื่น มีพัฒนาการด้านการเรียนทางวิชาการที่ดี ขณะเดียวกันยังเป็นที่ยอมรับในกลุ่มเพื่อน เมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่นเด็กกลุ่มนี้จะไม่มีพฤติกรรมก้าวร้าวหรือกลั่นแกล้งผู้อื่น
- ลดอาการซึมเศร้า
จากการวิจัยพบว่าเมื่อมีสื่อสารความรู้สึกหวังดีและปรารถนาดีต่อผู้อื่น การให้และการรับเกิดขึ้น ระดับสารเซโรโทนินจะเพิ่มขึ้นทั้งในตัวผู้ให้และผู้รับ kindness จึงเป็นยากล่อมประสาทตามธรรมชาติที่ยอดเยี่ยม
ชวนกันมากระตุ้นความรู้สึก สร้างคาแรกเตอร์ให้เด็กมีความปรารถนาดีต่อผู้อื่น
การศึกษาสมัยใหม่ต้องครอบคลุมมากกว่าแค่วิชาการ เพื่อพัฒนาเด็กให้มีความสุข มั่นใจในตัวเอง และรอบรู้ ด้วยเหตุนี้ การให้ความสำคัญกับ ‘ใจ’ ไปพร้อมๆ กับการพัฒนา ‘สมอง’ จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กันไปในการอบรมเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ
- ผู้ปกครอง และครู สามารถกระตุ้น kindness ด้วยคำถามจากสถานการณ์สมมุติต่างๆ
เพื่อให้เด็กๆ ได้คิดทบทวนกับตัวเอง
- “เราต้องการปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างไร แล้วเราต้องการให้ผู้อื่นปฏิบัติกับเราอย่างไร?”
หรือ “สิ่งไหนที่เราไม่อยากให้ผู้อื่นปฏิบัติกับเรา?”
- “มีใครบ้างรอบตัวที่ทำสิ่งดีๆ ให้เรา ทำให้เราประทับใจ เพราะอะไร?
- “เวลาที่บ้านพาไปซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ต เด็กๆ จะช่วยพ่อแม่อย่างไรได้บ้าง?”
- “ถ้ามีเพื่อนใหม่เข้ามาเรียนในชั้นเรียน เราจะต้อนรับเพื่อนใหม่อย่างไร?”
- ในชั้นเรียนหรือเมื่ออยู่บ้าน ช่วยเด็กพูดคุยถึงคาแรกเตอร์ตัวละครในการ์ตูน หรือ
ภาพยนตร์ที่เขาชอบ ยกตัวอย่างเหตุการณ์ในเรื่องที่เชื่อมโยงกับ kindness ชวนตั้งถามว่าคาแรกเตอร์ที่ชอบนั้นกำลังรู้สึกอย่างไร แล้วตัวเขาเองมีความรู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์นั้น
- กิจกรรมเขียนข้อความดีๆ ส่งถึงกัน
ขั้นตอน
- เขียนข้อความสื่อสาร ให้กำลังใจ แสดงความรักความปรารถนาดีต่อกันลงในกระดาษ
- ส่งกระดาษข้อความนั้นให้กับเพื่อน
- ถ่ายภาพกระดาษข้อความ แล้วโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ติดแฮ็ทแทค #kindkids #kindness เพื่อเป็นแรงบันดาลส่งต่อให้ผู้อื่น
*หากเด็กๆ ชอบวาดรูป ชวนเด็กๆ วาดรูปบนการ์ด เขียนข้อความให้กำลังใจ เพื่อนำไปมอบให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ หมอ พยาบาล ที่กำลังเป็นด่านหน้ารับมือกับโควิด-19
- ชักชวนเด็กออกไปทำกิจกรรมจิตอาสา เช่น การตกแต่งบอร์ดงานกิจกรรมในโรงเรียน การปลูกต้นไม้ในโรงเรียน เป็นต้น
- เรื่องเล่า/ นิทานที่มีคติสอนใจ ช่วยกล่อมเกลาความคิดของเด็กได้เช่นกัน
‘Kindness’ เงินตราสกุลใหม่ ที่ควรเริ่มฝากตั้งแต่วันนี้
ในเชิงธุรกิจก็ไม่ต่างกัน การเป็นผู้ให้ที่มีความปรารถนาดีต่อผู้อื่นทำให้ธุรกิจเติบโตได้โดยไม่จำเป็นต้องเอาเปรียบใคร นี่เป็นสิ่งที่แกรี่เน้นย้ำเสมอ
หลับจบการศึกษาแกรี่เข้ามาช่วยดูแลธุรกิจไวน์ของที่บ้าน สิ่งที่เขาทำได้สร้างปรากฎการณ์ใหม่ในวงการไวน์ ในปี 1997แกรี่เปิดตัวเว็บไซต์ winelibrary.com บันทึกวีดีโอรีวิวไวน์ทุกตัวในร้านอย่างตรงไปตรงมา เผยแพร่ลงเว็บไซต์และยูทูบ (YouTube) อย่างต่อเนื่อง เขาได้รับเชิญไปออกรายการโทรทัศน์ชื่อดัง จนทำให้ธุรกิจของครอบครัวเป็นที่รู้จัก เกิดยอดขายสะสมก้าวกระโดดจาก 3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปสู่ 60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในระยะเวลาเพียง 5 ปี แม้แกรี่เป็นที่รู้จักและถูกหมั่นไส้ในวงการไวน์ แต่เขาไม่หยุดนำเสนอความรู้ แนวคิด วิธีคิดการทำธุรกิจ และมาร์เกตติ้งออนไลน์ฟรี ทุกช่องทางบนโซเชียลมีเดีย
ความนิยมของแกรี่ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงช่วงข้ามคืน แต่ความเป็นที่รู้จักนี้ถูกสั่งสมมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลาราว 24 ปี จาก “การให้ความรู้” ในสิ่งที่เขาเรียนรู้และลงมือทำมาก่อนด้วยตัวเอง ปัจจุบัน รายการ ‘ไวน์ ไลบรารี่ ทีวี’ (Wine Library TV) ที่ผลิตรายการไปกว่า 1,000 ตอน ยังอยู่ในช่องยูทูบ ‘GaryVee’ ช่องทางเดียวกับที่เขานำเสนอเรื่องราวอื่นๆ
นอกจากกิจการไวน์ของครอบครัว ทุกวันนี้ แกรี่เป็นประธานบริษัทเวย์เนอร์เอ๊กซ์ (VaynerX) ที่ทำงานด้านสื่อและการสื่อสารยุคใหม่ และเป็นซีอีโอของเวย์เนอร์มีเดีย (VaynerMedia) เอเจนซีโฆษณาที่มีลูกค้ากว่าร้อยราย
ด้วยมีฐานแฟนที่หนาแน่น สำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ ฮาร์เปอร์ คอลลินส์ (Harper Collins) ให้แกรี่เซ็นต์สัญญาเขียนหนังสือจำนวน 10 เล่ม ด้วยค่าตัวมูลค่าราว 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ราว 30 ล้านบาท ปัจจุบันเขาออกหนังสือมาทั้งหมด 5 เล่ม ที่ขายดีจนเกลี้ยงแผง
เมื่อรองเท้ากีฬาแบรนด์เค-สวิส (K-Swiss) ติดต่อขอร่วมงานในโปรเจคพิเศษ รองเท้าผ้าใบเค-สวิส ที่มีแกรี่ วี ร่วมงานด้วยทุกรุ่นได้รับความนิยมอย่างมาก พูดได้ว่า สินค้า ผลิตภัณฑ์ ข้อมูลต่างๆ ที่ถูกนำเสนอโดยผู้ชายคนนี้ เป็นที่สนใจและดึงความสนใจจากกลุ่มผู้ติดตามอยู่เสมอ
ซึ่งความสำเร็จต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้มี ‘Kindness’ เป็นส่วนผสมสำคัญ!!
Make Kindness Your Currency – YouTube