- เข็มทิศที่สำคัญของวัยรุ่นคือผู้ใหญ่ แต่ต้องไม่จู้จี้ สั่งให้เดินทางไหน บอกแค่ปลายทางและคำแนะนำกว้างๆ เขาจะเดินไปได้ถูกเอง สายตาที่มองมา ต้องมาในฐานะเพื่อนคู่คิด ไม่ใช่ออกคำสั่ง ทำได้อย่างมากแค่ตั้งคำถามให้วัยรุ่นคิด
- สมองวัยรุ่นพัฒนาอย่างไม่สมดุล สมองส่วนกล้าได้กล้าเสียทำงานเต็มที่ ขณะที่สมองส่วนเป็นเหตุเป็นผลพัฒนาสมบูรณ์เป็นลำดับสุดท้าย คีย์เวิร์ดนี้เองที่ผู้ใหญ่ต้องทำความเข้าใจและไม่ทิ้งเขาไว้กลางทาง
- เมื่อสมองของวัยรุ่นสุขภาพดี สมองของผู้ใหญ่ก็ปลอดโปร่งตาม เชื่อเถอะ
ทำไมวัยรุ่นถึงชอบทำอะไรเสี่ยงๆ เช่น แว้นมอเตอร์ไซค์ ทดลองสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ หรือแม้แต่พฤติกรรมทางเพศ ซึ่งมักจะถูกผู้ใหญ่ตีความเอาว่าเป็นเรื่องร้ายๆ เสมอ
ทั้งที่จริง คำว่า ‘เสี่ยง’ มีทั้งด้านดีและด้านร้าย โดยมีความกล้าหาญเป็นตัวนำ ดุนหลังวัยรุ่นให้ลงมือทำ จนหลายครั้งก็ไม่ทันคิดให้รอบคอบ
ถ้ากางตำราวิชาพัฒนาการวัยรุ่นก็ต้องอธิบายว่า พฤติกรรมเหล่านี้เป็นผลมาจากธรรมชาติของการพัฒนาสมองวัยรุ่นที่ยังไม่สมดุล* เพราะ
ขณะที่สมองส่วนกล้าเสี่ยง (ระบบลิมบิก) ทำงานอย่างเต็มที่ สมองส่วนหน้า (prefrontal lobe) ซึ่งเป็นสมองส่วนรอบคอบ ช่วยให้กำกับตัวเอง มีเหตุผล จะเป็นสมองส่วนสุดท้ายที่เติบโตสมบูรณ์ในวัยรุ่น
สมองส่วนรอบคอบ มีเหตุมีผลนี่แหละ ที่ผู้ใหญ่จะเข้ามาช่วยวัยรุ่นให้มีสุขภาพสมองที่ดีได้ระหว่างทาง
แล้วผู้ใหญ่จะมีส่วนช่วยได้อย่างไร?
จากการวิจัยพบว่า พันธุกรรม ความเป็นปัจเจกจากการเลี้ยงดู รวมถึงสภาพแวดล้อม ล้วนมีผลต่อพัฒนาการทางสมอง ผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่ที่อาศัยอยู่กับวัยรุ่นถือเป็นสภาพแวดล้อมที่ใกล้ชิดมากที่สุด บุคคลเหล่านี้จึงมีความสำคัญมากต่อการสร้างพัฒนาการทางสมองที่ดีของวัยรุ่น
ข้อควรจดจำ
- สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย: สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยการสนับสนุนและช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วยความรักและความเอาใจใส่เป็นสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับวัยรุ่น สิ่งนี้เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้สมองมีพัฒนาการที่ดี
- ผู้ใหญ่ที่ไม่ทอดทิ้ง: ผู้ใหญ่ที่พูดคุยและมีความใกล้ชิดกับเด็กในช่วงวัยกำลังเจริญเติบโตมีบทบาทสำคัญต่อการช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางสมองของเด็กขณะก้าวขึ้นมาเป็นวัยรุ่นได้
- สายตา: การคาดการณ์เรื่องอารมณ์เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเมื่อพูดคุยกับวัยรุ่น ด้านแรก สายตาที่วัยรุ่นมองผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ต้องมองให้ออกว่าวัยรุ่นกำลังประเมินว่าผู้ใหญ่อยู่ในภาวะอารมณ์ใดขณะสื่อสารกับตน ด้านที่สอง สายตาของผู้ใหญ่ที่มองวัยรุ่น ผู้ใหญ่ต้องคาดเดาภาวะอารมณ์ของวัยรุ่นในแต่ละช่วงขณะให้ได้ นอกจากนี้ ผู้ใหญ่ควรมีส่วนช่วยแนะนำให้วัยรุ่นพิจารณาสภาพอารมณ์ของตนเองได้อย่างถูกต้อง
- ความเชื่อมั่น: วัยรุ่นต้องการความเชื่อมั่นและกำลังใจจากผู้ใหญ่
- รางวัล: วัยรุ่นตอบสนองต่อการได้รับรางวัลมากกว่าการลงโทษ
- ความชัดเจน: วัยรุ่นต้องการความชัดเจนในการกำหนดขอบเขตว่าสิ่งใดที่ตนทำได้หรือทำไม่ได้ โดยผู้ใหญ่จะต้องเคารพในข้อตกลงที่วางร่วมกัน
- ความเคารพ: วัยรุ่นต้องการให้ผู้ใหญ่เคารพความสามารถและศักยภาพของพวกเขา และอนุญาตให้พวกเขาเติบโตได้อย่างอิสระ
พัฒนาการทางสมองของวัยรุ่นเกิดขึ้นได้อย่างไร?
สมองของมนุษย์พัฒนาและเชื่อมต่อระบบประสาทเพื่อทำงานถึงกันตามหน้าที่ในหลายระดับ ระบบลิมบิก (Limbic System) เป็นส่วนของสมองที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิด สมองส่วนนี้ทำหน้าที่รับรู้อารมณ์และความรู้สึก จากเดิมในวัยเด็กการควบคุมอารมณ์มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการตัดสินใจร่วมกับพ่อแม่ แต่เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นสมองส่วนดังกล่าวจะเปลี่ยนมาสู่โหมดการตัดสินใจด้วยตนเอง เป็นความรู้สึกอยากรับผิดชอบต่อตัวเอง ความเปลี่ยนแปลงทางสมองที่เกิดขึ้นนี้ ต้องสร้างการเชื่อมต่อทางระบบประสาทใหม่ ระหว่างสมองส่วนที่ทำหน้าที่คิดกับสมองส่วนรับรู้อารมณ์ ซึ่งหากมีปัจจัยภายนอกที่ดีเข้ามากระตุ้น เช่น ประสบการณ์ชีวิตที่เป็นบทเรียนให้ได้เรียนรู้ เด็กจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถใช้วิจารณญาณในการคิด ตัดสินใจ และวางแผนได้เป็นอย่างดี
วัยรุ่นใช้สมองส่วนไหนมากที่สุด?
“วัยรุ่นคิดโดยใช้ความรู้สึก”
การสแกนสมองแสดงให้เห็นการทำงานของสมองแต่ละส่วนขณะกำลังทำหน้าที่ในสภาวะที่แตกต่างกัน มีการทดลองครั้งหนึ่งกำหนดให้วัยรุ่นและผู้ใหญ่ดูภาพคนที่กำลังแสดงอารมณ์ทางสีหน้าแตกต่างกัน การทดลองดังกล่าวต้องการวัด ‘อารมณ์’ ของผู้มองหลังจากเห็นภาพ
ผลการทดลองพบว่า ผู้ใหญ่ใช้สมองส่วน prefrontal cortex ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้เหตุผลประกอบการคิด ส่วนวัยรุ่นใช้สมองส่วน amygdala สมองส่วนควบคุมอารมณ์มากกว่า
สรุปได้ว่าวัยรุ่นใช้อารมณ์ของตัวเองในการพยายามทำความเข้าใจการสื่อสารทางอารมณ์ของผู้อื่น
บ่อยครั้งที่วัยรุ่นตีความอารมณ์ของตัวเองผิดพลาด ถึงขนาดเข้าใจว่าความวิตกกังวล เป็นความโกรธ จนทำให้ตัวเองหงุดหงิด
ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเมื่อพูดคุยกับวัยรุ่น จึงมี 2 ด้าน ได้แก่
- ด้านแรก สายตาที่วัยรุ่นมองผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ต้องมองให้ออกว่าวัยรุ่นกำลังประเมินว่าผู้ใหญ่อยู่ในภาวะอารมณ์ใดขณะสื่อสารกับตน
- ด้านที่สอง สายตาของผู้ใหญ่ที่มองวัยรุ่น ผู้ใหญ่ต้องคาดเดาภาวะอารมณ์ของวัยรุ่นในแต่ละช่วงขณะให้ได้ นอกจากนี้ ผู้ใหญ่ควรมีส่วนช่วยแนะนำให้วัยรุ่นพิจารณาสภาพอารมณ์ของตนเองได้อย่างถูกต้อง
อะไรบ้างที่ช่วยให้เกิดพัฒนาการทางสมอง?
ขณะที่สมองของวัยรุ่นกำลังเติบโตและสร้างระบบเชื่อมโยงไปยังส่วนต่างๆ ตามหน้าที่ พวกเขาต้องการพื้นที่และโอกาสในการแสดงออก ทั้งนี้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตและแสดงให้ผู้อื่นเห็นคุณค่าในสิ่งที่ตนเองกระทำ เมื่อเป็นเช่นนี้หากผู้ใหญ่ปิดกั้นไม่ให้วัยรุ่นได้แสดงออกในทางสร้างสรรค์ สมองจะหยุดการพัฒนาลงอย่างช้าๆ
“Fire together they wire together.” หลักการนี้เชื่อว่า หากมีการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ อย่างพร้อมเพรียงกัน สมองจะสร้างเครือข่ายประสาทเชื่อมโยงถึงกัน ซึ่งถือเป็นการสร้างพัฒนาการทางสมองอีกทางหนึ่ง แน่นอนว่าการฝึกฝนสมองด้วยการปลูกฝังความคิดความเชื่อที่ดีตั้งแต่อยู่ในช่วงวัยรุ่นนั้น ง่ายกว่าการพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการฝึกฝนการคิดเชิงบวก (positive thinking) แนวคิดเรื่องการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หรือแม้แต่การออกกำลังกาย
ทั้งนี้ จากการทดลองยังพบว่าระหว่างที่สมองของวัยรุ่นกำลังพัฒนาอยู่นั้น
- เขามักชื่นชอบกิจกรรมที่มีความเสี่ยงและโลดโผน
- เขาแสดงออกทางอารมณ์อย่างชัดเจนและรุนแรง
- เขามักตัดสินใจอย่างหุนหันพลันแล่น
อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองสามารถเข้ามาช่วยกระตุ้นพฤติกรรมและเสริมสร้างพัฒนาการทางสมองเชิงบวกของวัยรุ่นในช่วงเวลานี้ได้ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- ปล่อยให้เล่น: ปล่อยให้เด็กทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงตามความเหมาะสม: ประสบการณ์แปลกใหม่ในชีวิตช่วยให้เด็กพัฒนาตัวเองได้อย่างมีอิสระ เติบโตได้อย่างเข้าใจตนเอง จนสามารถค้นพบสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ในตัวเอง
- เป็นพี่เลี้ยงชวนเด็กค้นหาพื้นที่แสดงความคิดสร้างสรรค์และระบายความรู้สึกของตนเอง: จากการสำรวจพบว่า ดนตรี กีฬา การเขียน และการทำงานศิลปะ เป็นช่องทางระบายความรู้สึกที่ดี
- เป็นเพื่อนคู่คิดในการตัดสินใจ: ชวนพูดคุยถึงความเป็นไปได้ในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยศักยภาพของเด็กเอง ชั่งน้ำหนักระหว่างผลลัพธ์ในเชิงบวกและเชิงลบที่จะเกิดขึ้น ที่สำคัญต้องให้เด็กมีส่วนร่วมคิด แล้วตัดสินใจด้วยตนเอง โดยผู้ใหญ่ทำหน้าที่เป็นเพียงพี่เลี้ยงคอยตั้งคำถามให้เด็กคิด
- สอนทักษะการใช้ชีวิตผ่านกิจวัตรประจำวัน ทั้งในครอบครัวและในโรงเรียน
- ข้อตกลงที่ชัดเจน: หลายคนคิดว่า วัยรุ่นไม่ต้องการให้ใครมากำหนดกรอบในการใช้ชีวิต แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เราอาจเรียกสิ่งนี้ว่าการให้คำแนะนำและการสร้างข้อตกลงที่ชัดเจนระหว่างเด็กและผู้ปกครองว่าสิ่งไหนทำได้ สิ่งไหนทำไม่ได้ เพราะอะไร แล้วเคารพพื้นที่ของกันและกัน
- อย่าลืมให้คำชื่นชมและให้รางวัลตามความเหมาะสมเมื่อเด็กทำสิ่งที่ดี เพื่อกระตุ้นให้สมองรับรู้ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ควรทำ
- เป็นตัวอย่าง: ผู้ใหญ่ต้องเป็นตัวอย่างในการแสดงพฤติกรรมเชิงบวกให้กับเด็ก
- เข้าถึงง่าย: ผู้ใหญ่ต้องทำตัวให้เด็กรู้สึกว่าเข้าถึงง่าย เพื่อรักษาความสัมพันธ์ ทำให้เด็กเปิดใจยอมรับและไม่ปิดบังตัวเองจากผู้ใหญ่
- ให้ความรู้เรื่องพัฒนาการสมอง: พูดคุยให้ความรู้บุตรหลานเกี่ยวกับพัฒนาการทางสมอง เพื่อให้เด็กเห็นความสำคัญในการดูแลตัวเอง และสนใจเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง
อะไรเป็นตัวอันตรายสำหรับการพัฒนาสมอง?
ช่วง 2-3 ปีแรกหลังคลอด และช่วงวัยแรกรุ่น (6-9 ปี) เป็น 2 ระยะที่ผู้ปกครองและผู้ใหญ่ต้องเฝ้าระวัง รวมทั้งให้การดูแลเอาใจใส่เด็กเป็นพิเศษ การตำหนิ การดูถูก หรือการด่าทอ ไม่ว่าจะด้วยคำพูด อารมณ์ ท่าทาง การละเมิดทางเพศ หรือแม้แต่การวางเฉย ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก เพราะการรับรู้พฤติกรรมดังกล่าวตั้งแต่วัยเยาว์ ถือเป็นความรุนแรงที่ยับยั้งการสร้างระบบประสาทเชื่อมต่อและการวางระบบหน้าที่การทำงานในสมอง
นอกจากนี้ ผู้ปกครองพึงเฝ้าระวังไม่ให้บุตรหลานมีพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ก่อนอายุ 18 ปี เนื่องจากยังคงอยู่ในภาวะเสี่ยงที่สมองจะถูกทำลายจากฤทธิ์แอลกอฮอล์ได้
ย้ำอีกครั้ง สมองวัยรุ่น สร้างให้ดีได้
“สมองวัยรุ่นสร้างให้ดีได้” เพราะสมองมีความสามารถในการเรียนรู้และการปรับตัวตามแต่ละช่วงวัย ด้วยเหตุนี้ ความเข้าใจกลไกการทำงานของสมอง โดยเฉพาะพัฒนาการทางสมองของเด็กตั้งแต่วัยแรกเกิดไปจนกระทั่งวัยรุ่น จะช่วยให้ผู้ใหญ่วางแผนการเลี้ยงดูบุตรหลานได้อย่างเหมาะสม
สมองที่เติบโตตามธรรมชาติในสภาพแวดล้อมที่ดีจะสื่อสารวิธีคิด พฤติกรรมและการแสดงความรู้สึกในเชิงบวกมากกว่าเชิงลบ ซึ่งจะช่วยลดการกระทบกระทั่งและทลายกำแพงความไม่ไว้วางใจระหว่างผู้ใหญ่กับวัยรุ่นได้ ท้ายที่สุดการเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้แสดงความสามารถและศักยภาพของตนเองได้อย่างอิสระจะช่วยกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการทางสมองอย่างเต็มประสิทธิภาพ