- เด็กๆ อนุบาลไปจนถึงอายุ 14 ปี ในเมืองเดลี ประเทศอินเดีย ได้เรียนวิชาใหม่ชื่อว่า ความสุข
- ธงของวิชานี้คือ เข้าไปเปลี่ยนความสนใจเด็กๆ ให้ออกห่างจากคะแนนสอบได้
- ขณะที่มหาวิทยาลัยชื่อดังในอินเดียการแข่งขันอย่างรุนแรง การโกงข้อสอบกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ ภาครัฐจึงหวังให้วิชานี้เข้ามาช่วยคลี่คลายสถานการณ์ให้ดีขึ้น
รัฐบาลเมืองเดลีในประเทศอินเดีย บรรจุวิชาใหม่ลงในหลักสูตรโรงเรียน โดยหวังว่าจะช่วยเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ทางการเรียนจากคะแนนหรือเกรดให้เป็น ‘ความสุข’ แทน
เด็กๆ อนุบาลจนถึง 14 ปี ในโรงเรียนรัฐบาลเมืองเดลี จะได้เรียน ‘วิชาความสุข (Happiness)’ ซึ่งประกอบด้วย โยคะ ทำสมาธิ และการเรียนการสอนที่ทำให้พวกเขารู้สึกภูมิใจในผลงานของตัวเอง
คาบแห่งความสุขนี้กินเวลา 45 นาที เริ่มต้นขึ้นด้วยการตั้งสมาธิ แต่ไม่ได้หมายความว่าให้เด็กๆ นั่งสมาธิ หากให้พุ่งความสนใจไปยังกิจกรรมและเรื่องเล่าต่างๆ โดยไม่มี ‘การสอบ’ เข้ามาเกี่ยวข้อง
แล้วจะวัดผลอย่างไร?
คำตอบคือ คุณครูจะประเมินผลวิชานี้ โดยใช้ ‘ดัชนีความสุข’ ของเด็กๆ เป็นตัววัด
ด้วยหวังว่า การเรียนการสอนแบบรอบด้านเช่นนี้ จะทำให้เห็นว่าความรู้และคุณค่าจากวิชาดังกล่าว เข้าไปเปลี่ยนความสนใจเด็กๆ ให้ออกห่างจากคะแนนสอบได้
มานิช ซิโซเดีย (Manish Sisodia) รองหัวหน้าคณะเทศมนตรีของเมืองเดลี และผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา วางแผนหลักสูตรวิชาความสุขเอาไว้ว่า
“ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาเราได้แต่ผลิตแรงงานจำนวนมากเพื่อป้อนแรงงานสู่ระบบอุตสาหกรรม แต่เราไม่ได้พัฒนาทักษะความเป็นมนุษย์ที่ดีเลย” มานิช เสริมอีกว่า
“การศึกษาต้องผลิตและส่งเสริมให้เกิดคุณธรรมและความคาดหวังของสังคม จริงอยู่เราไม่อาจดูดายความต้องการของสังคมได้ เพราะเราเองก็ต้องการความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ แต่เราเองต้องผลักดันให้เกิด ‘ความเท่าเทียมทางความสุข’ ด้วย”
ปฏิรูปด้วยความสุข
วิชาความสุข เริ่มคาบแรกไปแล้วเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่าน โดย องค์ทะไลลามะ (Dalai Lama) มาเป็นประธาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปฏิรูปโดยพรรค Aam Aadmi แห่งเมืองเดลี เพื่อพาทั้งเมืองให้หลุดออกจากระบบที่ยึดติดกับการอ่านหนังสืออย่างหนักและมุ่งแต่การสอบ
ระบบการศึกษาของเมืองเดลี ประกอบด้วยโรงเรียนของรัฐบาลและโรงเรียนเอกชน ที่เน้นการเรียนแบบท่องจำและผลการสอบมาตลอด ก่อนจะพบว่าคุณภาพการสอนกลับแย่ลงเรื่อยๆ
รายงานสถานะการศึกษาประจำปี (Annual Status of Education Report: ASER) ล่าสุด เผยว่าเด็กอินเดียอายุ 14 ถึง 18 ปี จำนวน 25 เปอร์เซ็นต์ เผชิญปัญหาในการอ่านภาษาตัวเองไม่ออก แม้จะเรียนมาแล้วถึง 8 ปี
ขณะที่มหาวิทยาลัยชื่อดังในอินเดียก็ต้องการคะแนนสอบเข้าสูงลิ่ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การแข่งขันอย่างรุนแรง การโกงข้อสอบกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ ในปี 2015 ผู้ปกครองและเพื่อนๆ จำนวนมากถูกแอบถ่ายรูปขณะกำลังปีนกำแพงห้องสอบในแคว้นไบฮาร์ (Bihar – รัฐในภาคตะวันออกของอินเดีย) เพื่อส่งคำตอบให้กับเด็กๆ ที่กำลังสอบ และข้อสอบก็รั่วไหลเป็นเรื่องปกติ
วิชา ‘ชีวิตที่ดี’ การเรียนอย่างมีความสุขจึงสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ มหาวิทยาลัยเยล (Yale University) หนึ่งในมหาวิทยาลัยระดับไอวีลีกของสหรัฐอเมริกา เปิดตัวคอร์สจิตวิทยาและวิชา ‘ชีวิตที่ดี’ ได้รับกระแสตอบรับอย่างล้นหลาม นักศึกษาให้ความสนใจกว่า 1,200 คน เข้าคลาสทุกสัปดาห์ ถือเป็นคลาสที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยเยลนับตั้งแต่ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1701 เป็นต้นมา การบ้านของคลาสนี้ คือ การแสดงออกถึงความซาบซึ้งใจ การมีเมตตา และการเพิ่มความสัมพันธ์ทางสังคม |