- ความเหลื่อมล้ำแห่งการเล่น มาจากสองประการคือ จากเรื่องเพศ และ ความพร้อมทางสังคม เด็กผู้ชายมีโอกาสเล่นของเล่นพวกบล็อกหรือเลโก้มากกว่าเด็กผู้หญิง ขณะที่เด็กในครอบครัวยากจน (ทั้งชายและหญิง) มีโอกาสน้อยยิ่งกว่าที่จะเข้าถึงของเล่นในแบบเดียวกัน
- ‘ยุ่งเกินกว่าจะเล่น’ และ ‘สถานที่’ หรือสนามเด็กเล่นของเด็กๆ ลดลง (เช่น สวนสาธารณะ, พิพิธภัณฑ์, ห้องสมุด, ป่าเมือง และอื่นๆ) อีกสาเหตุที่ทำให้อัตราการเล่นของเด็กๆ ถดถอย
- เปิดประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำแห่งการเล่นจากงานประชุม The World Economic Forum Annual Meeting ชี้ความกังวลเรื่องการเล่นที่คนในภาคธุรกิจไม่อาจละเลย
หมายเหตุ: เนื้อหาในบทความนี้ ถอดความจากงานประชุม The World Economic Forum Annual Meeting กำหนดวาระการประชุมระดับโลก ระดับภูมิภาค และภาคอุตสาหกรรมในช่วงต้นปี ณ วันที่ 22-25 มกราคม 2019 แคว้นดาวอส-คลอสเตอร์ส (Davos-Klosters) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในประเด็น ความเหลื่อมล้ำของการเล่น จะมีผลต่อเด็กในอนาคตอย่างไร? (What the global ‘play gap’ means for our children’s futures)
เราต่างรู้ว่าอัตลักษณ์ นิสัย ศักยภาพที่เรามีและหยิบใช้ทุกวันนี้ มาจากการสร้างคุณลักษณะในวัยเด็ก ‘การเล่น’ คือหนึ่งในวิธีการเหล่านั้น
รายงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันเป็นเสียงเดียวกัน เวลาของเด็กในการ ‘เล่น’ ซึ่งหมายความถึงการออกไปใช้ร่างกาย สัมผัส รับกลิ่น ได้คิด ค้นหา ออกไปอยู่กับระบบนิเวศที่ท้าทายระบบรับสัมผัสร่างกายทั้งห้านั้น ลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ สิ่งที่เข้ามาแทนคือ การเล่นกับเทคโนโลยี (สมาร์ทโฟน, สื่อออนไลน์) และ เวลาที่ต้องใช้อยู่ในห้องเรียน
ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เกิดความกังวล เพราะการ ‘ไม่เล่น’ ขัดกับความรู้วิทยาศาสตร์ด้านการพัฒนากล้ามเนื้อและสมอง
ไม่นับข้อถกเถียงของคนในแวดวงการศึกษาที่พูดคล้ายกันว่า การเรียนรู้ของเด็ก ‘ปัจจุบัน’ (เพื่อโตเป็นผู้ใหญ่ที่จะอยู่กับอาชีพในอนาคต ด้วยเทคโนโลยีที่ทุกวันนี้ก็ยังทำนายไม่ได้) อาจต้องกลับไปสู่การพัฒนาทักษะทางสังคม หรือ soft skill
ล่าสุดในงานประชุม The World Economic Forum Annual Meeting วันที่ 22-25 มกราคม 2019 ณ แคว้นดาวอส-คลอสเตอร์ส (Davos-Klosters) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แวดวงการประชุมคนในภาคธุรกิจ ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่พูดถึงประเด็น ‘การเล่น’ ที่หายไปนี้ แต่ชูคีย์เวิร์ดที่สำคัญคือ ‘Play Gap’ หรือ ความเหลื่อมล้ำในการเล่น
ประเด็นสำคัญที่ที่ประชุมนี้ชี้ก็คือ ความเหลื่อมล้ำในการเล่น เกิดขึ้นชัดเจนระหว่างเด็กผู้หญิงและชาย และ เด็กที่มาจากครอบครัวยากจน
ทั้งหมดเพื่อจุดประเด็นว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ไม่ใช่แค่เรื่องของโลกธุรกิจ การเข้าสู่ยุค Disruptive Technology หรือการแก้ปัญหาทางสังคมอย่างความยากจนหรือการเปลี่ยนแปลงรุนแรงของสภาพอากาศ อีกต่อไป แต่ยังรวมถึง การพัฒนาคน โดยเฉพาะ ‘การเล่น’
อ่านเพิ่มเติม: อ่าน เล่น ทำงาน: เล่นแล้วได้อะไร ไม่เล่นแล้วเด็กจะเป็นอย่างไร โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
เชื้อเพลิงแห่งพัฒนาการวัยเด็ก
เพราะเราต่างรู้ว่าการเล่น คือโอกาสชั้นดีในการพัฒนาทักษะของร่างกาย ชีวิต และทักษะทางสังคมแค่ไหน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่พันธมิตรองค์กรชั้นแนวหน้าร่วมมือกันตั้งโครงการ Real Play Coalition โดย IKEA, the LEGO Foundation, National Geographic และ Unilever ขึ้นในปี 2018 เพื่อผลักประเด็น ‘โอกาสแห่งการเล่นขั้นพื้นฐาน’ (play-based opportunities) การเล่นเพื่อพัฒนาการที่เหมาะสม
ปัจจุบัน เราเห็นความเหลื่อมล้ำในการเล่น หรือ play gap เกิดขึ้นทั่วโลก ด้วยเหตุผลใหญ่ 2 เรื่อง คือ เวลา และ สถานที่
ทั้งสองอย่างก็เป็นผลจากความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเพศในอีกทอดหนึ่ง ดังเห็นได้จากภาพประกอบข้างต้นเรื่องจากรายงานของ โครงการศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของนักเรียนไทยเทียบกับนานาชาติ (Trends for International Mathematics and Science: TIMSS) ชี้ถึงความแตกต่าง/ความเหลื่อมล้ำในการเล่นของเด็กระหว่างเพศ และความพร้อมทางสังคม
ภาพบนขวา – ชี้ถึงความแตกต่าง/ความเหลื่อมล้ำ ที่จะได้เล่นของเล่นที่เป็นตัวต่อ หรือ เลโก้ ระหว่างเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย ซึ่งพบว่าเด็กผู้ชายมีโอกาสเล่นมากกว่าผู้หญิง
ขณะที่ภาพล่างซ้าย – ชี้ถึง ความแตกต่าง/ความเหลื่อมล้ำ ที่จะได้เล่นของเล่นที่เป็นตัวต่อ หรือ เลโก้ ระหว่างเด็กที่มีความพร้อมทางสังคม กับเด็กที่ไม่มีความพร้อมทางสังคม ที่พบว่าเด็กที่มีความพร้อมทางสังคมมีโอกาสเล่นมากกว่า
ขณะที่รายงานวิจัยจาก Real Play Coalition ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2018 พบว่า วิกฤติการเล่นในปัจจุบัน มี 2 ประเด็นใหญ่ ซึ่งให้คำอธิบายตัวแปร ‘เวลา’ และ ‘สถานที่’ ที่ทำให้เด็กๆ เล่นน้อยลงว่า
หนึ่ง เวลาเล่นของเด็กน้อยลง (หรือไม่มีเวลาเล่น) อันเนื่องจากตารางเรียนของเด็กส่วนใหญ่นั้นแน่นและยุ่งเกินกว่าจะเจียดเวลาออกมาเล่นได้ สำคัญก็คือ เด็กๆ เลิกเล่น หรือ เล่นน้อยลง ในวัยที่น้อยลงไปเรื่อยๆ รายงานดังกล่าวเผยด้วยว่า เด็กๆ 1 ใน 5 ระบุว่าพวกเขา ‘too busy to play’ หรือ ยุ่งเกินกว่าจะเล่น
สอง สถานที่ที่จะเล่น เช่น สวนสาธารณะ, พิพิธภัณฑ์, ห้องสมุด, ป่าเมือง และอื่นๆ นั้นลดจำนวนลง นอกจากนี้ยังเป็นความกังวลเรื่องความปลอดภัยในตัวเด็กของผู้ปกครอง จึงไม่ต้องการให้ลูกออกมาเล่นนอกบ้านอีกด้วย
ดังปรากฏเป็นตัวเลขทางสถิติว่า เด็กอังกฤษเจเนอเรชั่นนี้ออกมาเล่นนอกบ้านน้อยลงราว 50 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1 ใน 10 ของเด็กๆ ไม่เคยออกมาเล่นนอกบ้านเลย
อย่างไรก็ตาม คณะทำงาน Real Play Coalition กล่าวว่า พวกเขาตั้งใจจะรวบรวมข้อมูลการเล่นของเด็กต่อไป และในปีนี้พวกเขาได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London) ทำวิจัยเรื่อง Play Gap Report ซึ่งจะตีพิมพ์ภายในปีนี้ เพื่อรวบรวมสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในการเล่นที่มาจากเรื่องเพศและเศรษฐกิจจาก 70 ประเทศทั่วโลก
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะผลักประเด็น ‘พลังแห่งการเล่น’ ที่ถือเป็นขุมทรัพย์แห่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้เท่ากับที่หลายหน่วยงานให้น้ำหนักการแก้ปัญหาเรื่องความยั่งยืนด้านอื่นๆ เช่นกัน