เราเคยมีคำว่า ‘อ่าน เขียน เรียนเลข’ เป็นความรู้พื้นฐานด้านการศึกษา เป็นสามเรื่องแรกของระบบโรงเรียนที่เด็กทุกคนต้องทำได้ สมัยก่อนทำได้เมื่อประถม 1 คือ 7 ขวบ ว่ากันว่าปัจจุบันเด็กๆ ถูกคาดหวังให้ทำได้ตั้งแต่ปฐมวัยคือ 4-6 ขวบ
อ่าน เขียน เรียนเลข สำคัญ แต่ที่สำคัญมากกว่าคือ อ่าน เล่น ทำงาน
อ่าน เล่น ทำงาน มีประโยชน์คือสร้างสิ่งที่เรียกว่า Executive Function (EF) ปัจจุบันมีนิยามของ EF มากกว่า 30 แบบปรากฏตามตำราต่างๆ แต่ที่สั้น ง่าย ชัด เป็นของ รศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร จากที่ประชุมจัดการความรู้เรื่อง EF ของรักลูกกรุ๊ป ดังนี้
EF คือความสามารถระดับสูงของสมองที่ใช้ในการควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย
อธิบายว่าเด็กสมัยใหม่ควรมีความสามารถกำหนดเป้าหมายและไปให้ถึง มิใช่เรียนหนังสือโดยไร้เป้าหมาย หรือต่อให้มีเป้าหมายแต่ทำได้เพียงแค่ฝันหวานแล้วไปไม่ถึง
อ่าน เล่น ทำงาน คือ 3 วิธีพื้นฐานสร้าง EF
อ่าน เล่น ทำงาน จะช่วยเตรียมความพร้อมของโครงสร้างสมองให้พร้อมสำหรับมี EF ในวันหน้า
งานวิจัย EF สมัยใหม่ทั้งหมดวัด EF ได้เมื่ออายุประมาณ 4 ขวบ ไม่สามารถวัดได้ที่อายุน้อยกว่านี้ นั่นแปลว่าอาจจะไม่มี EF ก่อนหน้านั้น ถึงมีก็น้อยเสียจนวัดไม่ได้ ตำราบางเล่มเรียกว่า proto-EF
เนื่องจาก EF เริ่มต้นด้วยการควบคุมตัวเอง (self control) บางตำราใช้คำว่ากำกับตัวเอง (self regulation) ดังนั้นจึงต้องมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ตัวเอง’ ก่อน
ตัวเอง หรือ ตัวตน มาจากคำศัพท์ว่า self เป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างทฤษฎีที่ว่าด้วยเรื่องของจิตใจ (Theory of Mind) กับความรู้เรื่อง EF ไม่มีตัวตนก็จะไม่มีฐานราก ไม่มีชานชาลา ไม่มีแผ่นหินให้ EF ตั้งอยู่
เด็กๆ จะสร้างตัวตนได้อย่างไร? คำตอบคือสร้างแม่ก่อน
อ่านนิทานก่อนนอนเป็นวิธีสร้างแม่ที่ได้ผลและง่าย ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่ายุคสมัยใหม่ในประเทศที่ไม่มีรัฐสวัสดิการ พ่อแม่จำนวนมากมายต้องทำงาน หาเงิน ไปจนถึงปากกัดตีนถีบ กลับบ้านค่ำ และหลายครัวเรือนที่ไม่กลับบ้านเลย จำเป็นต้องฝากเด็กเล็กไว้กับปู่ย่าตายาย ญาติ หรือแม้กระทั่งจ้างเพื่อนบ้านเลี้ยง
เงินโอทีที่ทำได้เป็นค่าจ้างเลี้ยงลูกและค่านมผสม
อย่างไรก็ตาม มนุษย์พัฒนาด้วยการสร้าง ‘แม่ที่มีอยู่จริง’ ขึ้นมาก่อน ทำได้เมื่อพบว่าแม่ไว้ใจได้ (trust) ให้ความรัก ความอบอุ่น ให้ความช่วยเหลือเมื่อไม่สบายตัว เช่น ร้อน หนาว เจ็บ และป้องกันภยันตรายโดยไม่มีเงื่อนไข เช่น กำจัดยุง แมลง รักษาโรค โอบกอดเมื่อรู้สึกกลัว สำคัญที่สุดคืออยู่เป็นเพื่อนเมื่อเหงา
แม่ที่ปฏิบัติภารกิจเหล่านี้จะปรากฏตัวชัดต่อตาทารก และชัดเจนในจิตใจของลูก
ปริมาณเวลา (amount of time) เป็นเรื่องสำคัญ แต่หลายคนไม่มีเวลา ที่สำคัญเท่าๆ กับปริมาณคือความสม่ำเสมอ (consistency) ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าเด็กๆ เรียนรู้ได้จากความสม่ำเสมอ
อ่านนิทานก่อนนอนเป็นเครื่องมือประกัน (assurance) ว่าคุณพ่อคุณแม่จะปรากฏตัวตรงเวลา ที่ห้องนอน ด้วยจิตใจผ่อนคลาย ไม่เร่งรีบ ไม่ใช้สมาร์ทโฟน และเริ่มต้นอ่านหนังสือให้ลูกฟัง
ทำทุกคืน ปีละอย่างน้อย 330 คืน อย่างต่อเนื่อง 3 ปี รวมได้ประมาณ 1,000 วัน นี่คือเครื่องมือสร้างแม่ที่มีอยู่จริงได้ดีที่สุด
การอ่านนิทานเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ที่อ่านหนังสือออกทำได้ง่าย มีคำแนะนำง่ายๆ สั้นๆ ดังนี้
1. อ่านนิทานเรื่องอะไรก็ได้ที่มี ไม่จำเป็นต้องซื้อหานิทานราคาแพง ไม่จำเป็นต้องมีภาพประกอบสวยงาม ไม่จำเป็นต้องพะวงเรื่องอายุของลูก ไม่จำเป็นต้องเลือกว่าเล่มไหนเหมาะกับอายุเท่าไร หลักการสำคัญคือคนอ่านสนุกก่อน คุณพ่อคุณแม่นั่นแหละที่สนุกกับการอ่านก่อน ไม่รู้สึกเบื่อหน่ายหรือถูกบังคับให้อ่าน ความสนุกที่แผ่เป็นออร่าจากร่างกาย สีหน้าและจิตใจของคุณพ่อคุณแม่เองจะเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าเรื่องอื่น
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่เคยอ่านนิทานประกอบภาพสำหรับเด็กมาก่อนเลย ลองอ่านดูเถอะ หลายท่านเพิ่งจะค้นพบว่ามันสนุกมากกว่าที่ตัวเองเคยรู้
2. อ่านไปธรรมดาๆ ไม่มีความจำเป็นต้องดัดเสียงดัดแปลง ออกท่าออกทาง หรือทำเรื่องให้ตื่นเต้นโดยเจตนา ขอแค่อ่านไปเรื่อยๆ จากหน้าแรกไปจนถึงหน้าสุดท้าย จะเห็นว่าขอเพียงอ่านหนังสือออกคืออ่านนิทานก่อนนอนได้ ไม่ต้องฝึก ไม่ต้องเรียนคอร์สเล่านิทาน ตอนนี้เราขอน้อยมากคือแค่อ่านออกแล้วอ่านไป ให้ลูกฟัง
อ่านภาษาที่ตัวเองถนัด หากคุณพ่อคุณแม่ถนัดภาษาไทยอ่านภาษาไทย หากถนัดภาษาอังกฤษอ่านภาษาอังกฤษ หากคุณพ่อคุณแม่ถนัดคนละภาษา อ่านภาษาแม่ของตัวคนละภาษา แต่มีข้อแนะนำทั่วไปว่าการอ่านนิทานก่อนนอนสำหรับเด็กควรอ่านภาษาเดียว ไม่อ่านสองภาษา
3. อ่านตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงวันที่เขาเติบใหญ่และไม่ต้องการฟังแม่อ่านนิทานอีกแล้ว ซึ่งมักจะเป็นช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งระหว่างอายุ 7-9 ขวบ เริ่มอ่านตรงเวลาแต่ไม่ควรเกิน 21.00 น. เพราะเด็กๆ ไม่ควรนอนดึก ความตรงเวลาจะช่วยให้เด็กๆ ตั้งตารอ รอคือมี คุณพ่อคุณแม่หลายบ้านอยู่ในสภาวะยากลำบากต้องทำงานจนค่ำ ลูกจะรอเวลานั้นทั้งวัน รอทั้งวันคือมีทั้งวัน มีอะไร? มีพ่อแม่ที่มีอยู่จริง
เรื่องทุกเรื่อง กิจกรรมทุกประเภท เราสามารถกำหนดเวลาได้ รวมทั้งการอ่านนิทาน การกำหนดกติกาอ่านคืนละครึ่งชั่วโมงหรืออ่านนิทานจำนวน 3-5 เล่ม หรือ 3-5 เรื่อง แล้วแต่ว่าจำนวนไหนจะถึงก่อนกันเป็นเรื่องที่เราสามารถพูดคุยกับลูกและตกลงกติกาล่วงหน้าได้
และนี่จะเป็นต้นแบบของการกำหนดกติกาเรื่องอื่นๆ ที่ยากกว่าในอนาคต เช่น กติกาดูการ์ตูนโทรทัศน์ กติกาเล่นเกม กติกาใช้สมาร์ทโฟน เป็นต้น
คุณพ่อคุณแม่จำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณพ่อคุณแม่ชนชั้นกลาง ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นกลางระดับล่าง ระดับกลางหรือระดับสูง เกือบทุกครัวเรือนเหน็ดเหนื่อยจากงานประจำวัน บางคนหอบงานกลับมาทำบ้าน บางคนมีภารกิจงานบ้านต้องสะสาง ดังนั้นการกำหนดกติกาเวลา 30 นาทีเป็นเรื่องมีประโยชน์มาก สอนให้ลูกเข้านอนตรงเวลา แล้วเราถอยออกมาทำงานได้ ทุกคนได้
อ่านอะไรก็ได้ อ่านไปธรรมดาๆ และอ่านสามสิบนาที เป็นสามประการที่ควรจะทำได้
อ่านนิทานก่อนนอนเป็นการลงทุน ทุนที่ลงไปวันนี้และใน 1,000 วันนับจากลูกเกิดไปจนถึงอายุ 3 ขวบคือเครื่องมือสร้างแม่ที่มีอยู่จริง อันเป็นฐานรากของความเป็นมนุษย์ ผลกำไรจะออกดอกออกผลในวันถัดๆ ไป และเก็บเกี่ยวกำไรไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด ไม่สามารถตีค่าเป็นเงินบาทได้
แต่ถ้าจะตีค่าเป็นเงินบาทกันจริงๆ แล้ว เราพบว่าบ้านที่อ่านนิทานก่อนนอนเป็นประจำสามารถประกันความเสียหายระยะยาวของเด็กๆ และวัยรุ่นได้มากกว่า นั่นหมายความว่าอนาคตเราจะสูญเสียเงินน้อยกว่าค่านิทานและค่าสูญเสียเวลา 30 นาทีต่อคืน
โลกสมัยใหม่มีนิทานออนไลน์ให้โหลดฟรีมากมาย ถ้าไม่มีเงินซื้อ ให้โหลดฟรีออกมาอ่าน ถ้าไม่มีเงินซื้อกระดาษเอสี่รีมใหม่ คอยสะสมกระดาษใช้แล้วหน้าเดียวมาพรินท์ ถ้าไม่มีเครื่องพรินท์สี พรินท์ขาวดำก็เอา ถ้าไม่สามารถทำอะไรได้ แต่งเอาเองแล้วเขียนเอาเองอย่างไรก็ได้ ครั้งหนึ่งนานมาแล้วไก่ตัวหนึ่งเดินไปพบเป็ดตัวหนึ่งแล้วพูดว่าสวัสดีครับก็ได้ ขอเพียงเห็นความสำคัญของการอ่านนิทานก่อนนอน เราจะทำมันจนได้
ลูกมิได้ต้องการนิทานจริงหรอก ลูกต้องการคุณ