ภาพประกอบ : วาทิตยา บุพศิริ
บ้านเรานิยมส่งเด็กไปโรงเรียนตั้งแต่อายุ 3 ขวบเพื่อเข้าเตรียมอนุบาล ในขณะที่ต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ยุโรปส่งเด็กไปเรียนหนังสือจริงๆ เมื่ออายุ 7 ขวบ
สมัยก่อนเวลาเด็กไม่ยอมไปโรงเรียน ดังที่เรียกว่าโรคกลัวโรงเรียน (school phobia หรือ school refusal) แพทย์จะวินิจฉัยเมื่ออายุ 7 ขวบ ต่อมาเราพบว่าเด็กมิได้กลัวโรงเรียนจริงๆ เหตุที่เด็กร้องไห้ไม่ยอมไปโรงเรียนและพรากจากคุณแม่ได้ยากที่หน้าบริเวณโรงเรียนนั้นเป็นเพราะพัฒนาการเรื่องแม่และสายสัมพันธ์ไม่เรียบร้อย จึงเปลี่ยนชื่อโรคกลัวโรงเรียนเป็นความผิดปกติของการพลัดพราก (separation anxiety disorder)
วันนี้แทบทุกบ้านส่งลูกไปโรงเรียนตั้งแต่อายุ 3 ขวบ โดยที่กระบวนการสมัครเรียน สอบเข้า และสอบสัมภาษณ์เริ่มต้นตั้งแต่ก่อน 3 ขวบ อันเป็นวันเวลาที่กระบวนการสร้างแม่-สายสัมพันธ์-ตัวตน (mother-attachment-self) ยังไม่เรียบร้อยเลย ดังนั้นเด็กทุกคนควรจะกลัวโรงเรียน เราจึงพบอุบัติการณ์ของเด็กกลัวโรงเรียนมากมายเต็มไปหมดทั้งประเทศ
เมื่อเด็กอายุ 3 ขวบร้องไห้ไม่ไปโรงเรียน เริ่มตั้งแต่ร้องไห้ตอนเช้า ตามด้วยร้องไห้ในรถ ร้องไห้ที่หน้าโรงเรียน เมื่อกลับบ้านมีพฤติกรรมถดถอย (regression) อะไรที่เคยทำได้ถอยกลับไปทำไม่ได้ เช่น เคยบอกเข้าห้องน้ำได้กลับปัสสาวะราดอุจจาระราด เคยเชื่อฟังกลับกลายเป็นไม่เชื่อฟัง หรืองอแง กรีดร้อง ดื้อรั้นมากกว่าเดิม
หลายบ้านไม่มีทางเลือกด้วยสาเหตุที่พบบ่อยคือ หนึ่ง ไม่มีคนเลี้ยงลูก สอง กลัวว่าลูกเรียนไม่ทันคนอื่น สาม ปู่ย่าตายายและญาติพี่น้องกดดันให้ไป สี่ กลัวลูกไม่มีสังคม (ซึ่งเป็นเหตุผลที่ไม่มีเหตุผล) พ่อแม่หลายบ้านจึงเลยตามเลย ในที่สุดเด็กก็ไปโรงเรียนสำเร็จจนได้ด้วยอาการสงบ แต่ที่ทุกคนไม่ทราบคือเราได้จ่ายอะไรไปบ้างแล้ว ความเสียหายต่อพัฒนาการทางจิตใจและสมองมีมากมายเพียงไร
เด็กหลายคนไม่แสดงอาการว่ากลัวโรงเรียน สามารถไปโรงเรียนโดยปกติสุขตั้งแต่แรก เด็กหลายคนอาจจะร้องไห้ตอนเช้าครั้นพลัดพรากจากแม่ที่หน้าโรงเรียนสำเร็จก็สามารถอยู่ในห้องได้ เล่นกับเพื่อนได้ หัวเราะได้ ก่อนที่จะเริ่มต้นงอแงใหม่เมื่อถึงบ้าน เด็กเหล่านี้มิได้เป็นปกติสุขโดยไม่มีราคาต้องจ่ายเช่นเดียวกัน แม้ว่าความเสียหายต่อจิตใจนั้นอาจจะไม่เห็นเด่นชัดเท่ากลุ่มแรกแต่ความเสียหายต่อสมองนั้นมีแน่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสียโอกาสที่จะพัฒนาสมองและระบบประสาทส่วนกลางไปในทางที่ถูกที่ควรและเป็นประโยชน์ต่ออนาคตมากกว่า
คำว่าการไปโรงเรียนในที่นี้หมายถึงไปเรียนหนังสือ ได้แก่ อ่าน เขียน เรียนเลข กล่าวคืออ่านหนังสือออก เขียนหนังสือได้ และบวกลบเลขได้หลายหลักรวมทั้งคูณหารเลขได้ด้วย เด็กที่ทำได้เช่นนี้ก่อน 7 ขวบดูเหมือนเป็นเรื่องน่ายินดี มีความสามารถ และได้รับการชมเชยว่าเรียนเก่ง อย่างไรก็ตามวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่รู้แล้วว่าความสามารถ 3 ประการนี้เป็นเพียงความสามารถฉาบฉวย ความเก่งที่มีเป็นเพียงเรื่องผิวเผิน
งานวิจัยระยะยาวจากหลากหลายประเทศชี้ให้เห็นว่าเด็กจำนวนมากที่เข้าเรียนเร็วเกินไปมีผลการเรียนที่ลดลงเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นและมีอนาคตหลังจบการศึกษาไม่ดีนักเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่เข้าเรียนช้ากว่า (จะกล่าวถึงงานวิจัยเหล่านี้ในตอนต่อๆ ไป)
อันที่จริงในยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น รวมทั้งฟินแลนด์และอีกหลายประเทศในยุโรป พ่อแม่ก็ส่งลูกไปโรงเรียนอนุบาลหรือศูนย์เด็กเล็กตั้งแต่ 3-4 ขวบ ที่เร็วกว่านี้ก็มีด้วยเหตุผลที่ว่าไม่มีคนเลี้ยง อย่างไรก็ตามรัฐส่งเสริมให้พ่อแม่เลี้ยงลูกด้วยตนเองมากกว่าที่จะส่งไปโรงเรียน และโรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็กสำหรับเด็กอายุ 3-6 ปีนี้ก็ไม่มีการเรียนการสอน ครูหรือพี่เลี้ยงเด็กมักมีจำนวนพอเพียง อัตราส่วนของครูหรือพี่เลี้ยงต่อเด็กไม่สูง และมีความรู้ทางจิตวิทยาพัฒนาการพอสมควร รู้อย่างแท้จริงว่าเด็กแต่ละคนมีพัฒนาการที่เร็วช้าต่างกันจึงไม่เปรียบเทียบเด็กให้ได้ยินว่าใครไปเร็วกว่าใครและไม่ตีตราเด็กที่ช้ากว่า ครูให้โอกาสเด็กได้เล่นและพัฒนาตนเอง (self) ตามจังหวะก้าวของตนเอง
นอกเหนือจากเด็กไปโรงเรียนจะไม่มีการเรียนหนังสือแล้ว เด็กยังได้โอกาสที่จะเล่นมากมายตามความชอบและความถนัดซึ่งมีความสำคัญยิ่งยวดต่อพัฒนาการทั้งทางด้านจิตใจและสมอง
บ้านเรามักอ้างว่าเด็กไม่ไปโรงเรียนจะไม่มีสังคม แต่ที่จริงแล้วเด็กทุกคนยังอยู่ในขั้นตอนเห็นตนเองเป็นศูนย์กลาง (self-centered หรือ egocentricism)
กล่าวคือตนเองเป็นหนึ่งเดียวและเป็นศูนย์กลางของจักรวาล เด็กจึงยังไม่แบ่งปันพอๆ กับไม่ขออนุญาตเวลาจะทำอะไร อยากได้ของเล่นของเพื่อนก็แย่ง ยามเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้เด็กมักถูกตีตราว่าก้าวร้าวหรือเห็นแก่ตัว ทั้งที่หากครูพอมีความรู้อยู่บ้างจะให้โอกาสเด็กได้เล่นบนพื้นที่ของตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องตีตราว่าเด็กคนไหนเป็นอะไรแล้วรอเวลาที่เด็กจะพัฒนาตนเองโดยค่อยๆ ลดความเป็นศูนย์กลางของตนเองลง พัฒนาการทางสังคมจึงจะติดตามมาด้วยความละมุนละม่อม มิได้ต้องเคี่ยวเข็ญบังคับแต่อย่างใด ทั้งนี้ยังไม่นับว่าความสามารถที่จะทำตามกติกานั้นเริ่มต้นที่บ้าน มิใช่เริ่มต้นที่โรงเรียนหรือสังคม
เด็กที่ไปเรียนหนังสือเร็ว อ่าน เขียน เรียนเลขได้เร็ว เป็นเด็กเสียโอกาส คือเสียโอกาสที่จะเล่นและพัฒนาจิตใจและสมองตามที่ควรจะเป็น
โอกาสที่ 1 คือเด็กมิได้รับพัฒนาการเพื่อเตรียมความพร้อมระหว่างอายุ 3-7 ขวบตามทฤษฎีพัฒนาการของเพียเจต์อย่างพอเพียง แต่ถูกกดดันให้ข้ามไปอ่าน เขียน เรียนเลขในทันทีโดยที่ฐานของความพร้อมตามธรรมชาติยังไม่แน่น
โอกาสที่ 2 คือเด็กมิได้รับการพัฒนาการใช้นิ้วมือทั้งสิบตามหลักการพัฒนา Executive Function (EF) อย่างพอเพียง แต่ถูกกดดันให้ใช้นิ้วมือที่ถนัดเพียง 3 นิ้วในการเขียนหนังสือและเวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการท่องจำหรือถูกบังคับให้ทำข้อสอบที่ใช้การท่องจำมากกว่าการคิดวิเคราะห์
หรือคิดวิเคราะห์ให้ได้คำตอบตามที่ข้อสอบเฉลยเท่านั้น มิให้คิดเป็นอื่น
ยังมีต่อ