หุ่นยนต์ดูดฝุ่นเป็นเครื่องทุ่นแรงระดับบ้านที่ช่วยงานคนเราได้มาก เพียงกดสวิตช์ให้มันทำงานแทน เราก็ไปทำงานอื่นได้เลย
มีวันหนึ่ง หุ่นยนต์ซึ่งมีลักษณะเป็นจานแบนความหนาประมาณ 2-3 นิ้วแล้วแต่ยี่ห้อ เคลื่อนที่ข้ามสันกั้นห้องที่สูงเล็กน้อยเข้าไปดูดฝุ่นในห้องเก็บของ ขาเข้าดูเหมือนจะข้ามไปได้ง่ายๆ เพราะมุมให้ แต่ขาออกมันมักจะออกไม่ได้
วันแรกที่มันออกไม่ได้ มันหมุนตัวถอยหลังไปตั้งหลักที่ระยะหนึ่งเมตร แล้วเดินหน้ามาใหม่ แต่ข้ามไม่ได้
มันหมุนตัวถอยกลับไปที่ระยะสองเมตร แล้วเคลื่อนที่มาใหม่ด้วยเสียงดังกว่าเดิม กระแทกสันกั้นห้องด้วยกำลังแรงกระเด็นข้ามมาเลย
จะเห็นว่าดูเหมือนเขาจะเรียนรู้ได้ เขียนไปเขียนมาจากมันกลายเป็นเขาไปเสียแล้ว อันนี้เขียนสนุกๆ ปรากฏการณ์ที่เห็นยังห่างไกลจากคำว่าเรียนรู้
การทำงานบ้านมีเรื่องให้เด็กๆ เรียนรู้ได้เรื่อยๆ อย่างเป็นธรรมชาติ มีปัญหาที่เขาต้องแก้ไข ส่วนใหญ่มิใช่ปัญหาใหญ่โตอะไร แก้ได้ก็ดีใจ แก้ไม่ได้มิใช่เรื่องใหญ่ไม่มีอะไรเสียหายหรือเป็นอันตราย การสอนและปล่อยเด็กทำงานจึงเป็นบทเรียนแก้ปัญหาที่ดีมาก
ประเด็นมิได้อยู่ที่ปัญหาจริงๆ แต่อยู่ที่งานบ้านสอนให้เด็กรู้ว่าปัญหาเป็นของแก้ได้ นี่คือกระบวนทัศน์สำคัญของชีวิต งานบ้านช่วยให้เด็กรู้ว่าชีวิตทำงานคือชีวิตที่มีปัญหาเสมอ และการแก้ปัญหาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
หุ่นยนต์ดูดฝุ่นสามารถทำความสะอาดผิวหน้าได้ดีกว่าแม่บ้านทำหรือเราทำเอง แต่มันไม่สามารถทำตามซอกมุมหรือพื้นบ้านที่ตัวมันเองหนาเกินกว่าจะลอดเข้าไปได้ รวมทั้งขั้นบันได สุดท้ายแล้วยังคงมีบางพื้นที่และบางมุมที่เราต้องกวาดถูเอง
ดังนั้น แม้ว่าบางบ้านจะมีแม่บ้าน ลูกจ้างหรือคนใช้ เราสามารถแบ่งงานบางส่วนมาให้ลูกๆ ทำได้เสมอ และหากบางบ้านมีฐานะมากพอจะซื้อหุ่นยนต์แล้วก็ตาม ลำพังงานกวาดบ้านถูบ้านก็ยังคงเหลืองานให้ลูกๆ หัดทำได้อยู่ดี เรื่องเด็กทำงานบ้านจึงไม่มีข้ออ้าง
งานบ้านเป็นแบบฝึกหัดหนึ่งที่ใช้ในการสร้าง executive function (EF) บางตำราแบ่ง EF เป็น 2 ชนิดคือ cool EF และ hot EF
cool EF หมายถึง EF ที่เกิดขึ้นจากการทำงานของวงจรประสาทพื้นฐานที่ก่อรูปไว้แล้ว เป็นเรื่องของเส้นประสาทล้วนๆ เป็นความสามารถในการไตร่ตรองและรับมือในสถานการณ์ปกติ บางตำราอาจจะใช้คำว่า cool EF นี้กับ EF ที่วัดได้ในห้องปฏิบัติการ กล่าวคืองานทดลอง EF ในห้องปฏิบัติการมักเป็นโจทย์ที่ถูกออกแบบมาก่อนแล้วว่าปัญหาคืออะไร และคำตอบควรเป็นอย่างไร แล้วหนูทดลองหรือเด็กทดลองจะแก้ได้อย่างไรด้วยวงจร EF พื้นฐาน
งานทดลอง EF พื้นฐานเกือบทั้งหมดเป็น cool EF ได้แก่การควบคุมตัวเองและการคิดยืดหยุ่น ซึ่งแสดงให้เห็นได้ใน Backward Digit Span, Contingency Naming Test, Stroop Color and Word Test เป็นต้น
งานบ้านมักจะเป็น cool EF ด้วยสภาพแวดล้อมที่ทำนายได้ ไม่มีตัวแปรมากมาย ไม่มีทางเลือกมากนัก กระบวนการทำงานค่อนข้างชัดเจน กระบวนการแก้ปัญหาค่อนข้างตายตัว ขอให้ควบคุมตัวเองได้ คิดยืดหยุ่นเป็น คือทำได้ และเก่งยิ่งๆ ขึ้นไป
หุ่นยนต์กระโดดข้ามสิ่งกีดขวางได้ก็เป็น cool EF ด้วย ไม่ยาก ถ้ามันมีสมองอะนะ
เด็กๆ ไล่ตามเก็บงานของหุ่นยนต์ที่ทำไม่สมบูรณ์ก็เป็น cool EF เช่นกัน
hot EF หมายถึง EF ที่ทำงานภายใต้สถานการณ์ที่มีอารมณ์ร่วมค่อนข้างมาก มีสภาวะทางอารมณ์ที่กดดันสูง บางตำราเขียนว่าเป็นความสามารถในการกำหนดเป้าหมายท่ามกลางตัวแปรที่หลากหลาย และบางตำรากินความรวมไปถึงความสามารถที่จะคิดวิเคราะห์ในยามคับขันเพื่ออยู่รอด
ทั้งสองแบบ เด็กต้องมีความสามารถในการกำหนดเป้าหมายอย่างเหมาะสม และอาจจะต้องกำหนดให้ได้โดยเร็วด้วย
แบบแรกคือ ความสามารถที่จะล่วงรู้ว่าตนเองชอบอะไร หลงใหลอะไร ใฝ่ฝันอะไร นั่นคือโตขึ้นอยากจะทำงานอะไร เป็นอะไร เรื่องนี้ยากเพราะยุคไอทีมีตัวเลือกมากมายผุดบังเกิดบนฝ่ามือ โลกมิได้มีแค่แพทย์ ทันตแพทย์ วิศวะ หรือนิติศาสตร์ตามตัวเลือกยอดนิยมอีกแล้ว มหาสมุทรของอนาคตใหญ่ไพศาลเกินกว่าที่เด็กที่เอาแต่เรียนจะงมเป้าหมายที่เหมาะสมกับตนเองพบ
แบบที่สอง ได้แก่ โลกร้อน พายุ ไฟป่า โคลนถล่ม เขื่อนแตก อุทกภัย แผ่นดินไหว สึนามิ อุบัติภัยและหายนะภัยจากตึกรามบ้านช่อง โรงงาน รถยนต์ รถไฟ เรือ อากาศยาน เรื่องเหล่านี้มีมากกว่าสมัยก่อนตามความซับซ้อนของสังคมสมัยใหม่ ในเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานที่ทุกคนแย่งกันเอาชีวิตรอดนั้น เด็กจะรอดได้เมื่อกำหนดเป้าหมายได้เร็วและถูกต้อง จะเอาของหรือเอาชีวิต จะเอาแขนหรือเอาชีวิต
งานทดลอง hot EF มักทำบนท้องถนน เช่น ขี่จักรยานไป รถพุ่งเข้าใส่ เด็กที่ EF ดีกว่าจะตัดสินใจอย่างไร จะเห็นว่าไม่มีคำตอบที่ตายตัว ผลลัพธ์มิได้ถูกออกแบบเอาไว้แล้ว
หุ่นยนต์ดูดฝุ่นจะเริ่มกลับสถานีชาร์จไฟเมื่อแบตเตอรีลดลงเหลือร้อยละ 10 หากสถานีชาร์จไฟอยู่ในที่โล่ง มันสามารถตีโค้งทีเดียวเข้าอู่ได้อย่างสง่างาม แต่ถ้าสถานีชาร์จไฟอยู่ในที่แคบ มันจะชนแล้วชนเล่าเฝ้าแต่ชนเพื่อหาทางกลับบ้านก่อนที่ไฟจะหมด แล้วมันต้องตายอยู่กลางพื้นห้องนั้นเอง
หุ่นยนต์คงมิได้มีความกระวนกระวายหรือประหวั่นพรั่นพรึง เว้นแต่เราซึ่งเป็นผู้สังเกตการณ์คิดไปเองว่ามันกำลังลุกลี้ลุกลนเพราะแบตเตอรีใกล้หมด
แต่เด็กที่ทำงานบ้านไม่เสร็จโดยที่ยังมีการบ้านส่งพรุ่งนี้เป็นกองพะเนินรออยู่ อีกทั้งใจก็อยากไปเล่นอีกด้วย สภาวะทางอารมณ์และการบีบคั้นทำให้งานบ้านสามารถกลายร่างจาก cool EF เป็น hot EF ได้เลย
จะเห็นว่าคำแนะนำง่ายๆ ที่เราจะช่วยให้เด็กพัฒนา EF ได้ดีคือการจัดงานให้เด็กทำหลายอย่างในเวลาที่จำกัด แล้ววางงานที่ยากเอาไว้ก่อนงานที่ง่าย ด้วยวิธีนี้เด็กจะเสียพลังงานไปมากกับงานยาก จนกระทั่งเวลาเหลือจำกัดแต่ยังคงมีงานคั่งค้าง เขาจะเปลี่ยน cool EF เป็น hot EF ได้ภายใต้แรงกดดันแล้วทำงานจนสำเร็จลุล่วง
เก่งกว่าหุ่นยนต์มาก