อ่านนิทานได้อะไร?
ความเดิมตอนที่แล้ว อ่านนิทานได้อะไร ฉบับสมบูรณ์ ตอน 3: ประโยชน์ของการอ่านนิทาน ข้อ 5-8
9. สร้างโลก
สำหรับทารกขวบปีแรกและเด็กเล็ก แม่ยังมิได้มีอยู่จริงอย่างสมบูรณ์ โลกและจักรวาลจึงมิได้มีอยู่จริงด้วย ความเป็นแม่ที่มีอยู่จริงเริ่มที่ประมาณ 6 เดือน เข้มข้นมากขึ้นที่ 18 เดือน และสมบูรณ์ที่ 36 เดือน ในขณะเดียวกันวัตถุที่มีอยู่จริงเริ่มที่ 8 เดือนและเข้มข้นขึ้นทุกขณะจนกระทั่งสมบูรณ์เมื่อ 36 เดือนเช่นกัน คือเวลาที่ตัวตนของเด็กสมบูรณ์ด้วยแล้วพร้อมที่จะแยกตัว (separation) เป็นบุคคลอิสระ (individuation) เพื่อผจญภัยต่อไปในโลกแห่งความเป็นจริง (reality)
แต่มิใช่ให้ไปโรงเรียนเพื่อการเรียน ให้ไปเล่น
ก่อนหน้า 36 เดือนหรือ 3 ขวบนี้ เด็กเล็กอยู่ในโลกแห่งจินตนาการเสียมาก หน้าหนังสือเป็นหนึ่งในโลกแห่งจินตนาการที่ดี เพราะมีขอบเขตที่ชัดเจน หนังสือนิทานส่วนใหญ่เป็นรูปสี่เหลี่ยมแต่ละหน้าที่เขานอนดูคือโลก
หนังสือเด็กหลายเล่มเริ่มหน้าแรกด้วยพื้นที่สีขาวเกือบเต็มหน้า มีตัวละครสำคัญหรือตัวเอก (protagonist) อยู่ด้านล่างหรือที่มุมกระดาษด้านล่างข้างใดข้างหนึ่ง ขนาดของตัวเอกนั้นเล็กนิดเดียวนั่นคือลูกของเรา
เมื่อพลิกหน้ากระดาษไป เราอาจจะได้เห็นตัวละครหรือวัตถุอื่นๆ เคลื่อนตัวเข้ามาจับจองพื้นที่บนหน้ากระดาษคือในโลก ในขณะเดียวกันตัวละครเอกหรือลูกของเราอาจจะเคลื่อนที่ออกจากมุมเข้าสู่พื้นที่ตรงกลางของหน้ากระดาษ ขนาดของเขาอาจจะใหญ่ขึ้น นั่นคือเขาเติบโตและกล้าออกจากมุมเข้าไปในโลกแล้ว
ตัวละครในนิทานออกไปแล้วมักออกไปเลย ไม่ถอยกลับมาที่มุมอีก แล้วขนาดก็ไม่ลดลงด้วย ขนาดในที่นี้หมายถึงขนาดของเขาเมื่อสัมพัทธ์กับพื้นที่ของหน้ากระดาษ ด้วยเหตุที่กระดาษมิใช่โลกสามมิติและเด็กยังมิได้มีระยะชัดลึกแบบสามมิติ ดังนั้นเขามีขนาดสัมบูรณ์ไปตามขนาดสัมบูรณ์ของตัวละครที่เห็นจากขนาดหนึ่งนิ้วเป็นสามนิ้วแปลว่าตัวใหญ่ขึ้นแม้ว่าเราพ่อแม่จะรู้ว่าตัวเอกนั้นมีขนาดเท่าเดิม
เมื่อเด็กออกจากมุม พบพ่อมดแม่มด มังกรร้ายและปีศาจ เขาไม่สามารถถอยกลับได้เพราะนิทานมิได้วาดให้เขาถอยกลับแต่ไม่เป็นไร พ่ออยู่ขวาแม่อยู่ซ้าย ตามหลักหญิงซ้ายชายขวาซึ่งไม่เกี่ยวอะไรบทความนี้ เป็นคำคล้องจองพาหลุดออกนอกเรื่องไปเอง
อย่างมากเด็กก็หลุดออกจากเส้นทางไปตามกระแสความที่พัดพาไปแต่เขาไม่ย้อนกลับ เมื่อเขากลัวเขาจะเงยหน้าดูพ่อดูแม่ ที่แท้พ่อแม่ยังมีอยู่จริง สายสัมพันธ์แนบแน่นเพราะผิวหนังติดกัน ที่เราไม่รู้คือสายสัมพันธ์บางๆ กำลังยืดยาวออก คอยเชื่อมเขาไว้กับเราในขณะที่เขายังคงเดินทางเข้าไปในโลกหนังสือที่ซึ่งพ่อมดแม่มด มังกรร้ายและปีศาจรออยู่
คือทั้งหมดที่เขาเห็น มิใช่นักเขียนหรือนักวาดนิทานสร้าง คิดดีๆ
เป็นเขาสร้าง!
10. วิธีคิด 4 แบบแรก
เด็กเล็ก 2-7 ขวบ คิด 4 แบบ ได้แก่ animism, magic, egocentric และ phenomenalistic causalty
แบบที่หนึ่ง animism อะไรที่เคลื่อนไหวหรือเคลื่อนที่ล้วนมีชีวิต ดังนั้นการเติมลูกตาและรอยยิ้มลงบนก้อนเมฆ ภูเขา ก้อนหิน ต้นไม้ สรรพสิ่งจะมีชีวิต ยิ้มได้และพูดได้แม้จะไม่เคลื่อนไหวหรือเคลื่อนที่
สัตว์ในนิทานพูดได้เสมอและเคลื่อนไหวหรือเคลื่อนที่ผ่านไปทีละหน้ากระดาษ จึงมีชีวิต
แบบที่สอง magic เวทมนตร์มีจริงสำหรับเด็ก สัตว์พูดได้จึงไม่ต้องการคำอธิบาย พ่อมดเสกคนเป็นกบ แม่มดย้ายวัตถุได้ในพริบตา มังกรยังไม่สูญพันธุ์ และปีศาจมีอยู่จริงในโลก เหล่านี้เป็นโลกของเวทมนตร์ ซึ่งจะเป็นรากฐานของวิธีคิดเชิงตรรกะที่จะติดตามมาภายหลัง
เวทมนตร์จึงเปรียบเหมือนกองทรายหรือกองหินที่ทับถมกัน รอเวลาที่เด็กจะสร้างปราสาทสวยงามบนกองทรายหรือกองหิน
การเล่นทรายเล่นหินไร้รูปแบบในวันแรกๆ ของชีวิตจะเป็นรากฐานของการก่อกองทรายเพื่อสร้างปราสาทในวันหลัง
เวทมนตร์ต้องมาก่อนตรรกะ
Magic มาก่อน Logic
เด็กที่เล่นไม่มากพอจึงไร้จินตนาการ และจะไร้วิทยาศาสตร์ในวันหลัง
แบบที่สาม egocentric คือตนเองเป็นศูนย์กลางของเรื่องทั้งหมดที่พ่อแม่อ่าน เหตุการณ์สารพัดตามท้องเรื่องสัมพันธ์กับตัวของเราซึ่งอยู่ที่ศูนย์กลางคืออีโก้ที่อยู่ที่เซ็นเตอร์
พัฒนาการเริ่มที่ศูนย์กลางเสมอ ไม่ว่าจะเป็นร่างกาย จิตใจหรือพฤติกรรม รวมทั้งจินตนาการ โลกสร้างจากศูนย์กลางแล้วขยายตัวออก สร้างดาวดวงอื่น ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ ตามด้วยจักรวาล แม้ว่าจักรวาลนั้นจะใหญ่เพียงแค่ห้องนอนในยามค่ำคืนก็ตาม
ห้องนอนในคฤหาสน์ยี่สิบล้านบาท บ้านห้าล้านบาท ทาวน์เฮาส์สองล้านบาท บ้านอิฐบล็อกห้าแสนบาท คอนโดมิเนียมสิบล้านบาท ห้องแถวเล็กๆ หรือเรือนไม้โกโรโกโสของคุณทวดที่รอวันถูกซื้อแล้วรื้อ เหล่านี้มีค่าเท่ากันสำหรับเด็กๆ เพราะจักรวาลที่เขาสร้างมีขนาดใหญ่ได้ตามจินตนาการ
จึงเขียนเสมอว่าคนจนมีทางสู้ คือสร้างสมองของลูกให้มี EF ที่ดีกว่าตั้งแต่แรกเกิด
แบบที่สี่ phenomenalistic causalty เหตุการณ์สองอย่างที่เกิดพร้อมกันหรือเคียงคู่กันเป็นเหตุผลของกันและกัน ดังนั้นภาพบนหน้ากระดาษสองหน้าที่เรียงกันไปจึงสมเหตุผลอย่างยิ่ง
และถ้านักวาดจะวาดภาพทิ้งช่วงเหตุการณ์มากเกินไปสักนิด เด็กจะเติมช่องว่าง (gap) นั้นเอาเอง ไม่มีอะไรบริหารสมองเด็กเล็กได้ดีและง่ายอย่างนี้อีกแล้ว
เหตุสองเหตุวางคู่กัน หนึ่งจะเป็นเหตุ สองจะเป็นผล เมื่อวางแพะคู่กับแกะ แพะจึงเป็นเหตุ แกะจึงเป็นผล ง่ายมาก เราเรียกว่าจับแพะชนแกะซึ่งน่าเอ็นดูสำหรับเด็กเล็กแต่น่ากังวลมากเมื่อได้ยินจากปากปลัดกระทรวงหรือรัฐมนตรี
เด็กเล็กสร้างระบบเหตุ-ผลด้วยการสร้างบล็อกแม่พิมพ์เท่านั้น เราไม่จำเป็นต้องสนใจเนื้อหาคือแพะแกะมากเกินไป เมื่อเด็กถาม เราตอบ ตอบอะไรก็ได้ด้วยความเต็มใจ เด็กจะขยันสร้างแม่พิมพ์ของระบบเหตุ-ผลมากขึ้นเรื่อยๆ
ความรู้ เอาไว้ทีหลัง ไม่รีบ
นิทานจึงควรเป็นนิทาน ไม่ควรสอนอะไรในตอนจบ