- ‘Digital Diet’ แนวคิดที่จะสร้างสมดุลในการใช้สื่อดิจิทัล โดยเปรียบเทียบ ‘สื่อดิจิทัล’ เป็นเหมือน ‘อาหาร’ อย่างหนึ่งที่ต้องบริโภคอย่างมีสติและเหมาะสมเพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อร่างกาย เช่น การควบคุมเนื้อหาที่เราเสพ หรือการจำกัดเวลาการใช้อุปกรณ์ดิจิทัล
- การสร้าง Digital Diet ที่สมดุลควรเริ่มตั้งแต่ยังเด็ก เพราะจะช่วยให้เด็กมีสมองที่พัฒนาพร้อมสำหรับโลกดิจิทัล ฝึกฝนให้เด็กมีระเบียบวินัยและรูปแบบการใช้ชีวิตที่ดี ซึ่งจะติดตัวเขาไปเมื่อเติบโตขึ้น
- เด็กสามารถใช้สื่อดิจิทัลได้ แต่ต้องไม่ละเลยกิจกรรมอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และยิ่งพ่อแม่ใช้สื่อดิจิทัลมาก ลูกก็ยิ่งใช้สื่อดิจิทัลมากเช่นกัน ดังนั้นพ่อแม่ก็ควรประพฤติตัวเป็นต้นแบบที่ดีในการใช้สื่อดิจิทัลอย่างสมดุลด้วย
ในยุคปัจจุบัน สื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในเด็กที่เติบโตมาท่ามกลางเทคโนโลยี การเข้าถึงสื่อดิจิทัลจึงกลายเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่สมองของเด็กกำลังพัฒนา การใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้โดยขาดความระมัดระวังอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองและสุขภาพจิตได้
เมื่อการเข้าถึงสื่อดิจิทัลเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงมีการพัฒนาแนวคิดที่จะสร้างสมดุลในการใช้สื่อดิจิทัลที่เรียกว่า ‘Digital Diet’ โดยเปรียบเทียบ ‘สื่อดิจิทัล’ เป็นเหมือน ‘อาหาร’ อย่างหนึ่งที่ต้องบริโภคอย่างเหมาะสมเพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อร่างกาย
เมื่อ ‘สื่อดิจิทัล’ คือ ‘อาหาร’ ชนิดหนึ่ง
อย่างที่เราทราบกันดีว่า การเลิกกินอาหารชนิดหนึ่งโดยสิ้นเชิงอาจไม่เป็นผลดี เพราะจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็น แต่การกินอาหารชนิดหนึ่งมากเกินไปก็อาจส่งผลเสียได้เช่นกัน ดังนั้น การกินอาหารในปริมาณที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญ เช่นเดียวกับการใช้สื่อดิจิทัล
การใช้สื่อดิจิทัลในปริมาณที่เหมาะสมก็เป็นสิ่งสำคัญต่อการมีสุขภาพที่ดี แนวคิด ‘Digital Diet’ จึงหมายถึง การจัดการการใช้สื่อดิจิทัลอย่างมีสติและเหมาะสม เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดี เช่น การควบคุมเนื้อหาที่เราเสพ หรือการจำกัดเวลาการใช้อุปกรณ์ดิจิทัล
แล้ว ‘เทคโนโลยีดิจิทัล’ ส่งผลต่อสมองเราอย่างไร?
จากบทความวิจัยในวารสาร Dialogues in Clinical Neuroscience ปี 2020 เผยว่า การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลส่งผลต่อสมองในเชิงบวกและเชิงลบ
ผลในเชิงลบ: การใช้เวลาบนหน้าจอมากเกินไปมีความเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพจิตและสมองหลายประการ เช่น โรคสมาธิ (ADHD), ความบกพร่องทางอารมณ์และสังคม, การเสพติดหน้าจอ, การแยกตัวออกจากสังคม, พัฒนาการทางสมองและการรู้คิดที่แย่ลง และการรบกวนการนอน
ผลในเชิงบวก: การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเหมาะสมสามารถช่วยพัฒนาสมองและสุขภาพจิตได้ เช่น การออกกำลังกายสมองผ่านการวิเคราะห์ข้อมูล, การฝึกฝนทักษะการรู้คิดผ่านการจดจำข้อมูล, การเพิ่มความไวในการตอบสนองผ่านการเล่นเกม และการใช้แอปพลิเคชันเพื่อปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต
สรุปคือ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมีทั้งข้อดีและข้อเสีย การใช้งานที่มากเกินไปจะส่งผลเสียต่อร่างกาย ส่วนการใช้งานในปริมาณที่เหมาะสมและเลือกเนื้อหาที่มีคุณภาพ จะส่งผลดีต่อร่างกาย
การสร้าง Digital Diet ที่สมดุลให้กับเด็ก
การปลูกฝังการบริโภคสื่อดิจิทัลอย่างสมดุลควรเริ่มตั้งแต่ยังเด็ก เพราะนอกจากจะช่วยให้เด็กมีสมองที่พัฒนาพร้อมสำหรับโลกดิจิทัลแล้ว ยังช่วยฝึกฝนให้เด็กมีระเบียบวินัยและรูปแบบการใช้ชีวิตที่ดี ซึ่งจะติดตัวเขาไปเมื่อเติบโตขึ้น
จากบทความวิจัยในวารสาร Infant and Child Development ปี 2022 ได้เสนอแนวคิด Digital Diet ที่เหมาะสมสำหรับเด็กไว้ให้พิจารณาใน 4 แง่มุมต่อไปนี้
- ประเภท (Type)
เมื่อเด็กใช้สื่อดิจิทัล ควรเน้นให้เด็กใช้สื่อแบบ ‘แอ็กทีฟ’ มากกว่า ‘แพสซีฟ’ ซึ่งการใช้สื่อแบบ ‘แอ็กทีฟ’ จะกระตุ้นและส่งเสริมทักษะการรู้คิด (Cognitive Skills) ให้กับเด็ก เช่น การตัดสินใจ การแก้ปัญหา การให้เหตุผล การใช้ภาษา เป็นต้น ตัวอย่างเช่น เกมเพื่อการศึกษา เกมแก้ปริศนา วิดีโอคอลกับญาติผู้ใหญ่
ส่วนการใช้สื่อแบบ ‘แพสซีฟ’ จะเน้นการดูเพียงอย่างเดียว ไม่ได้มีการคิดวิเคราะห์หรือมีปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหาเหล่านั้นมากมาย ตัวอย่างเช่น การดูวิดีโอ การเลื่อนดูฟีดในโซเชียลมีเดีย
แม้ว่าการดูวิดีโอเฉยๆ จะเป็นการใช้สื่อแบบแพสซีฟ แต่เราสามารถเปลี่ยน ‘สื่อแพสซีฟ’ เป็น ‘สื่อแอ็กทีฟ’ ได้ด้วยการให้ผู้ใหญ่ร่วมดูสื่อและพูดคุยกับเด็ก เมื่อมีผู้ใหญ่ร่วมดูด้วย เด็กจะได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและได้รับคำแนะนำต่างๆ ซึ่งดีกว่าการให้เด็กนั่งดูคนเดียวตามลำพัง
- ปริมาณ (Amount)
การควบคุมปริมาณหมายถึงการพิจารณาจำกัดเวลาใช้สื่อดิจิทัล เทคนิคที่นิยมสำหรับการจำกัดเวลา คือ การจำกัดเวลาหน้าจอ (Screen Time) โดย Australian Institute of Family Studies (AIFS) แนะนำเวลาหน้าจอสำหรับเด็กแต่ละช่วงอายุไว้ดังนี้
- อายุน้อยกว่า 2 ปี – ไม่ควรใช้หน้าจอเลย
- อายุ 2-5 ปี – ไม่ควรใช้หน้าจอเกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน
- อายุ 5-17 ปี – ไม่ควรใช้หน้าจอเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน (ไม่รวมเวลาทำการบ้าน)
อย่างไรก็ตาม เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ให้เราดูงานศึกษาเหล่านี้ไว้เป็นเพียงแนวทางเท่านั้น โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (2564) แนะนำว่า “การพูดคุยมีความสำคัญมากกว่าการตั้งกติกา” พ่อแม่ควรใช้การพูดคุยร่วมกันกับลูกเพื่อตั้งเป็นกติกา ไม่ใช่พ่อแม่เป็นฝ่ายตั้งกติกาแล้วให้ลูกทำตาม เมื่อพ่อแม่รับฟังลูก ลูกจะรับข้อเสนอของพ่อแม่ได้ไม่ยาก
นพ.ประเสริฐยังแนะนำอีกว่า “หลัง 7 ขวบเราควรเลิกกำหนดกติกาเวลาได้แล้ว” เพราะตามจิตวิทยาพัฒนาการ เด็กโตและวัยรุ่นตอนต้นเริ่มมีการสร้างอัตลักษณ์ของตัวเองแล้ว ซึ่งอัตลักษณ์บางส่วนหรือหลายส่วนเองอยู่บนโลกออนไลน์ การจำกัดเวลาในช่วงวัยนี้อาจไม่ค่อยเหมาะสมเท่าไรนัก
นอกจากนี้ การปล่อยให้เด็กใช้หน้าจออย่างไม่จำกัดเวลาอาจทำให้เด็กเกิดอาการหงุดหงิดเหมือนคนลงแดงเมื่อต้องเลิกใช้หน้าจอ การสังเกตว่าเด็กใช้หน้าจอมากเกินไปหรือไม่ให้ดูจากอาการ ‘ตาปรือ’ อย่าปล่อยให้เด็กใช้หน้าจอจนตาปรือ
การป้องกันอาการเหมือนคนลงแดงหลังเลิกใช้หน้าจอสามารถทำได้ด้วยเทคนิคเผื่อเวลาเลิก 5 นาที เช่น กำหนดให้เล่นเกมได้ 1 ชั่วโมง เมื่อถึง 55 นาทีแล้วให้ลูกเตรียมตัวเลิกเล่นเลย เวลา 5 นาทีที่เหลือเอาไว้สำหรับการเลิกเล่นและเก็บของ
- สมดุล (Balance)
เด็กควรมีสมดุลระหว่าง ‘การใช้สื่อดิจิทัล’ และ ‘กิจกรรมอื่นๆ’ กล่าวคือ เด็กสามารถใช้สื่อดิจิทัลได้ แต่ต้องไม่ละเลยกิจกรรมอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปฏิสัมพันธ์ทางสังคม, กิจกรรมทางกายภาพ และเวลานอกบ้าน สื่อดิจิทัลอาจนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในกิจกรรมเหล่านี้ได้ แต่ไม่สามารถแทนที่กิจกรรมเหล่านี้ได้
มีงานวิจัยพบว่า ‘ระยะเวลาที่พ่อแม่ใช้สื่อดิจิทัล’ มีความสัมพันธ์กับ ‘ระยะเวลาที่ลูกใช้สื่อดิจิทัล’ กล่าวง่ายๆ คือ ยิ่งพ่อแม่ใช้สื่อดิจิทัลมาก ลูกก็ยิ่งใช้สื่อดิจิทัลมากเช่นกัน จากงานวิจัยนี้สามารถอนุมานได้ว่า ลูกมีพฤติกรรมเลียนแบบพ่อแม่ หากเราต้องการให้ลูกใช้สื่อดิจิทัลอย่างสมดุล พ่อแม่ก็ควรประพฤติตัวเป็นต้นแบบที่ดีในการใช้สื่อดิจิทัลอย่างสมดุล
- จังหวะเวลา (Timing)
การใช้สื่อดิจิทัลต้องไม่ส่งผลกระทบต่อกิจวัตรอื่นๆ ของเด็ก กล่าวคือ สอนให้เด็กรู้ว่าเวลาไหนควรหรือไม่ควรใช้สื่อดิจิทัล เช่น เวลากินข้าวไม่ควรใช้หน้าจอ เพราะจะทำให้เด็กไม่สนใจการกินข้าวและเป็นการสร้างนิสัยแบบผิดๆ ทำให้ขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง
อีกทั้งการใช้สื่อดิจิทัลในจังหวะเวลาที่ไม่เหมาะสมอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของเด็กได้ เช่น ‘เวลาก่อนนอน’ ในเวลานั้นไม่ควรให้เด็กใช้หน้าจอ เพราะแสงสีเสียงจากหน้าจอจะกระตุ้นเร้าทำให้นอนไม่หลับหรือหลับไม่สบาย หรืออาจทำให้นอนดึกขึ้น เพราะมัวแต่ดูหน้าจอจนลืมเวลา
สรุปแล้ว การสร้างสมดุลในการใช้สื่อดิจิทัลไม่ใช่เรื่องสำหรับเด็กเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ เหมือนกับการเลือกรับประทานอาหาร เราต้องเลือกเสพสื่อที่มีคุณภาพในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้เรามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและพร้อมรับมือกับการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลต่อไป
อ้างอิง
ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์. (2564). อ่าน ‘หน้าจอ-โลกจริง’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (1), (2), (3).
Bidgood, A., Taylor, G., Kolak, J., Bent, E.M., & Hickman, N. (2022). A balanced digital diet for under 5s: A commentary on Orben (2021). Infant and Child Development, 31(3), e2292.
Joshi, A., & Hinkley, T. (2021). Too much time on screens? Screen time effects and guidelines for children and young people. Australian Institute of Family Studies.
Orben, A. (2022). Digital diet: A 21st century approach to understanding digital technologies and development. Infant and Child Development, 31(1), e2228.
Poulain T., Ludwig J., Hiemisch A., Hilbert A., & Kiess W. (2019) Media Use of Mothers, Media Use of Children, and Parent–Child Interaction Are Related to Behavioral Difficulties and Strengths of Children. International Journal of Environmental Research and Public Health, 16(23), 4651.
Small, G.W., Lee, J., Kaufman, A., Jalil, J., Siddarth, P., Gaddipati, H., Moody, T.D., & Bookheimer, S.Y. (2020). Brain health consequences of digital technology use. Dialogues in Clinical Neuroscience, 22(2), 179–187.Safes. (2024). What Is a Digital Diet and Why Is It Important for Our Children?