Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
Deep Listening-nologo
Character building
28 October 2024

‘การฟังเป็น’ ไม่ใช่แค่ได้ยินเสียง แต่ต้องให้ดังไปถึงใจ

เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • ทักษะการฟังเพื่อจับใจความ ฟังเพื่อจับอารมณ์ความรู้สึก เพื่อสื่อสารหรือเพื่อช่วยเหลือคนอื่น เป็นทักษะหายาก เพราะคนให้ความสำคัญกับการพูดมากเสียจนอาจจะมากเกินไป สวนทางกับการรับฟังที่ได้รับความสำคัญน้อย
  • ประโยชน์ของ ‘การฟังเป็น’ ช่วยทำให้สัมพันธภาพกับคนอื่นดีมากขึ้นและยังช่วยให้เรารับรู้และชื่นชมโลกรอบตัวมากขึ้น จนทำให้สุขภาพกายสุขภาพใจของเราดีขึ้นในอีกทางหนึ่งด้วย 
  • ความเข้าใจผิดสำคัญเรื่องหนึ่งของการรับฟังคนอื่นก็คือ คนจำนวนมากคิดหรือเชื่อว่าเราควรตั้งใจฟังเพื่อ ‘ให้คำแนะนำ’ แต่จริงๆ แล้วแค่เราเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ เป็นคนคอยรับฟังก็เป็นดั่งผนังคอยให้พิงหลังในยามเหนื่อยล้าได้แล้ว

เราอยู่ในยุคสมัยที่ทุกคนโดนบังคับให้ต้อง ‘เปิดเผยตัว’ เพื่อสัมผัสกับประสบการณ์ต่างๆ กลายเป็นคนมีตัวตนทั้งทางแบบกายเนื้อในโลกจริงและอวตารบนโลกโซเชียลมีเดีย บางคนรู้สึกว่าโดนบีบให้กลายเป็นคนเปิดตัว (extrovert) ทั้งที่ตัวเองเป็นคนเก็บตัว (introvert) หลายคนชอบฟังมากกว่า แต่ก็โดนบังคับให้ต้องพูดให้มากเข้าไว้กับโลกภายนอก ขายตัวเอง ขายความคิด ขายของต่างๆ อยู่ตลอดเวลาไม่ได้หยุดมีคอร์สสอนการพูดและการนำเสนอตัวเองอย่างมืออาชีพในราคาแพงๆ อยู่มากมาย ไม่สมดุลกับจำนวนคอร์สสอนฟังที่มีอยู่น้อยมาก จนกล่าวได้ว่าน้อยจนเกินไป  

ทักษะการฟังเพื่อจับใจความ ฟังเพื่อจับอารมณ์ความรู้สึก เพื่อสื่อสารหรือเพื่อช่วยเหลือคนอื่นจึงเป็นทักษะที่ถือได้ว่าหายากทีเดียว เพราะคนให้ความสำคัญกับการพูดมากเสียจนอาจจะมากเกินไป สวนทางกับการรับฟังที่ได้รับความสำคัญน้อย จนอาจถือได้ว่าน้อยจนเกินไปอย่างสวนทางกัน  

เราอยากเป็นคนพูด คนสั่ง อยากเป็นหัวหน้าที่เก่ง แต่กลับไม่อยากรับฟัง อยากเป็นผู้นำหรือผู้ตามที่ดีหรือมีความสุข ผ่านการรับฟังกันให้มากเข้าไว้!

‘การฟังเป็น’ มีประโยชน์มากนะครับ เพราะช่วยทำให้สัมพันธภาพกับคนอื่นดีมากขึ้นและยังช่วยให้เรารับรู้และชื่นชมโลกรอบตัวมากขึ้น จนทำให้สุขภาพกายสุขภาพใจของเราดีขึ้นในอีกทางหนึ่งด้วย 

มีการศึกษาของนักวิจัยชาวเยอรมันที่ตีพิมพ์ในปี 2022 ที่ชี้ว่า การฟังเสียงธรรมชาติอย่างเสียงนกร้องแค่เพียง 6 นาทีก็สามารถช่วยลดความกระวนกระวายใจและปรับอารมณ์ของเราได้แล้ว [1] 

ในการทดลองดังกล่าว อาสาสมัคร 295 คนได้ฟังเสียงที่แตกต่างกันนาน 6 นาที มีทั้งเสียงเบาหรือดังของการจราจรหรือเสียงนก โดยที่ต้องทำแบบทดสอบความซึมเศร้า ความกระวนกระวายใจ และความหวาดระแวงก่อนและหลังฟังเสียงเหล่านี้ ผลก็คือเสียงการจราจรมีผลเพิ่มอารมณ์ซึมเศร้า ยิ่งเสียงดังก็ยิ่งส่งผลมาก สวนทางกับการฟังเสียงนกร้องที่ช่วยลดได้ทั้งความกระวนกระวายใจและความหวาดระแวงอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนความซึมเศร้านั้นก็มีส่วนช่วยด้วยเช่นกัน แต่ได้ผลน้อยกว่า 

นักวิจัยเชื่อว่าการปรับเสียงของสิ่งแวดล้อมในสถานที่ต่างๆ เช่น วอร์ดผู้ป่วยโรคจิต น่าจะมีประโยชน์ช่วยผู้ป่วยได้

เรื่องนี้ก็สอดคล้องดีกับอีกการศึกษาหนึ่งที่พบว่า ‘การอาบป่า’ หรือการเข้าไปเดินอยู่ในธรรมชาติท่ามกลางต้นไม้และใบไม้สีเขียว การได้เห็นได้ฟังเสียงธรรมชาติในป่าต่างๆ ที่สุ่มมา 24 แห่งในญี่ปุ่นช่วยลดความดัน อัตราการเต้นของหัวใจ และระดับฮอร์โมนความเครียด (คอร์ติซอล) ได้ [2] 

มีผู้เห็นประโยชน์และเสนอว่าแพทย์น่าจะสามารถสั่งผู้ป่วยบางคนที่มีอาการเครียดให้ไปรับการ ‘อาบป่า’ แทนการรับยาที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์ได้

ประโยชน์ของการฟังผู้อื่นอย่างลึกซึ้งเข้าไปถึงหัวใจยังมีอีกหลายข้อ เช่น การช่วยปรับความคิดจิตใจ ทำให้เราเข้าอกเข้าใจ เห็นอกเห็นใจคนอื่นมากขึ้นได้ ช่วยให้เราตอบสนองกับคนตรงหน้าที่อาจเป็นเพื่อนหรือคนในครอบครัวที่กำลังตกที่นั่งลำบาก ไปจนถึงคนแปลกหน้าที่กำลังต้องการความช่วยเหลือได้ 

แต่ความเข้าใจผิดสำคัญเรื่องหนึ่งของการรับฟังคนอื่นก็คือ คนจำนวนมากคิดหรือเชื่อว่าเราควรตั้งใจฟังเพื่อ ‘ให้คำแนะนำ’ เพราะความจริงก็คือบ่อยครั้งทีเดียวที่คนที่ต้องการให้เรานั่งฟังอยู่ด้วยนั้น ‘ไม่ได้ต้องการคำแนะนำ’ แต่อย่างใดเลย 

อันที่จริงแล้วเขาหรือเธอแค่ต้องการ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ และคนที่มารับฟังการระบายถึงความยากลำบากที่เขาหรือเธอกำลังเผชิญหน้าอยู่ต่างหาก แค่รับฟังก็เป็นดั่งผนังคอยให้พิงหลังในยามเหนื่อยล้าสุดทานทนแล้วครับ

อีกความเชื่อที่ไม่ถูกต้องที่พบได้บ่อยคือ มีบางคนที่เกิดมาเพื่อเป็น ‘นักฟัง’ ที่ดีมากกว่าคนอื่น อันที่จริงการฟังเป็นทักษะที่พอจะฝึกกันได้ และมีข้อดีดังที่ท่านทะไลลามะเคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “ในยามที่คุณพูดคุย คุณแค่พูดสิ่งที่คุณรู้อยู่แล้วออกมาซ้ำๆ แต่เมื่อคุณฟัง คุณก็อาจได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ” 

การฟังเพื่อทำความเข้าใจจึงสามารถทำให้เรา ‘เติบโต’ ทางจิตใจ ทำให้รู้สึกขอบคุณหรือเป็นหนี้ต่อความรู้ ความเข้าใจใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน และไม่ว่าใครก็ล้วนรับรู้ถึงได้ความใจดีและความเสียสละ (เวลาและความพยายามรับฟัง) ที่คุณมอบให้

ปัจจัยที่พบบ่อยว่ามีส่วนทำให้การรับฟังอย่างลึกซึ้งเป็นเรื่องยากสำหรับคนส่วนใหญ่มีอยู่ 5 ข้อ นั่นก็คือ ปัจจัยแรกคุณมักรู้สึกว่าตัวเองยุ่งเกินกว่าจะเสียเวลานั่งฟัง ยุคนี้คนจำนวนมากหมกมุ่นกับเรื่องราวมากมายที่ต้องทำในแต่ละวัน จนคร้านที่จะรับฟังความทุกข์ยากลำบากหรือไม่สบายใจของคนอื่น

คุณอาจต้องเรียนรู้วิธีทำตัวให้ช้าลงและนิ่งมากขึ้น การเรียนเรื่องการทำสมาธิหรือการฝึกทำโยคะช่วยหลายคนในเรื่องนี้ เมื่อคุณกล่อมเกลาร่างกายและจิตใจให้นุ่มนวลเยือกเย็นมากขึ้นแล้ว การตั้งอกตั้งใจฟังเรื่องราวของคนอื่นก็จะไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป   

ความไม่พร้อมทางกายก็อาจเป็นปัจจัยลำดับต่อมา บางคนอาจเกิดความผิดปกติในการรับฟังหรือมีอาการหูตึงจนทำให้ไม่สามารถรับฟังอย่างมีประสิทธิภาพได้ การศึกษาวิจัยในอังกฤษทำให้ทราบว่า มีคนอายุระหว่าง 45-70 ปีกว่า 1 ใน 3 (36%) ที่มีปัญหาการฟังในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดัง [3] 

ถัดมาอีกเป็นปัจจัยเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกได้แก่ การที่ตัวเราเองกำลังตกอยู่ในความกระวนกระวายใจหรือความเศร้าซึมบางอย่างอยู่ มันก็จะครอบงำความคิดจนทำอะไรไม่ถูก ในสภาวะเช่นนี้ยังยากจะเอาตัวเองรอด จึงไม่พร้อมจะช่วยเหลือรับฟังอะไรใครได้ 

หากคุณตกอยู่ในภาวะอารมณ์แบบนี้ก็น่าจะบอกไปตรงๆ ว่า คุณไม่พร้อมจะช่วยเหลือรับฟัง เพราะการจะ ‘ให้กำลังใจ’ คนอื่นได้นั้น ตัวเองก็คงต้องมีกำลังใจเป็นทุนรอนอยู่ในตัวมากพอ หากพบว่าตัวเองเริ่มจมอยู่กับอารมณ์ลบแบบนี้นานเกินไป เช่น สองสัปดาห์หรือมากกว่านั้น ก็ควรไปพบแพทย์

ปฏิกิริยาของผู้ฟังก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การรับฟังนั้นสำเร็จหรือล้มเหลวเช่นกัน การที่ไม่มีใครฟังเราย่อมทำให้เราไม่พอใจ การถูกมองข้ามหรือไม่ยอมฟังความคิดเห็นของเราบ่อยครั้งก็อาจส่งผลให้เราเองไม่อยากรับฟังคนผู้นั้นหรือคนอื่นตามไปด้วย เรียกว่า ‘พลังงานพร่อง’ ก็คงพอได้ 

ปัจจัยสุดท้ายคือการมีอคติหรือมี ‘ภาพจำ’ บางอย่างของบางคนในใจก็มีส่วนขัดขวางการสื่อสารด้วยการฟังเช่นกัน หลายคนคงเคยเจอเพื่อนหรือญาติบางคนที่ช่างพูดมาก เราก็จะรู้สึกไปก่อนแล้วว่า ไอ้หมอนี่หรือนางคนนี้ช่างจ้อไร้สาระเหลือเกิน ความตั้งใจฟังก็จะลดลงแทบจะเป็นอัตโนมัติตั้งแต่ก่อนหน้าจะได้ยินได้ฟังอะไร และเมื่อถึงเวลาที่ต้องฟังก็จะเกิดอาการคล้ายกับแผ่นเสียงตกร่อง คือรู้สึกเหมือนมีจุดติดขัดไม่สามารถรับฟังได้อย่างราบรื่นเท่าที่ควร

ตัวอย่างที่พบบ่อยคือ คุณพ่อหรือคุณแม่ป้ายแดงก็มักจะพูดวนเวียนอยู่กับเรื่องลูกโดยไม่รู้ตัว ซึ่งสำหรับบางคนแล้วที่ไม่อินด้วยก็อาจจะรู้สึกว่ามากไปหน่อยจนเกิดความรำคาญใจได้ บางคนก็มีธรรมชาติการมองโลกในแง่ร้ายอยู่เป็นนิจ เวลาคุยกันก็เหมือนกับทำตัว ‘ท็อกซิก’ กับคนรอบข้าง จนคนรอบตัวระอาเกินกว่าจะอยากคุยด้วย ผมเองเจอกรณีเช่นนี้อยู่ 2-3 รายบนเฟซบุ๊กจนต้องอันเฟรนด์ไป 

นอกจากนี้ก็ยังมีกรณีของคนผ่านเหตุการณ์ร้ายๆ บางคนอาจจะเพิ่งหย่าร้าง ตกงาน หรือเจ็บป่วยจากโรคบางอย่าง คนรอบข้างคนรอบตัวก็อาจจะต้องรับฟังเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ อยู่ทุกครั้ง การมีจิตใจเมตตากรุณาต่อคนเหล่านี้ เอาใจเขามาใส่ใจเรา คิดเสียว่าเป็นธรรมดาที่ยากหลีกเลี่ยงสำหรับคนทั่วไป ก็จะช่วยให้เราตั้งใจรับฟังได้อย่างเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น เป็นการสร้างความดีกับคนใกล้ตัวได้อย่างมาก 

หากหมั่นฝึกฝนและตระหนักอยู่เสมอเกี่ยวกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องทำนองนี้ ก็น่าจะทำให้กลายเป็นคนที่เปิดใจรับฟังคนอื่น ได้ยินเสียงใครต่อใครลึกลงไปถึงหัวใจของเราเองได้ไม่ยาก   

เอกสารอ้างอิง

[1] Stobbe E. et al. (2022) Birdsongs alleviate anxiety and paranoia in healthy participants. Scientific Reports, 12:16414. doi.org/10.1038/s41598-022-20841-0

[2] https://www.bbc.com/news/science-environment-33368691

[3] Debra Waters (2024) Hear This. Psychology Now, Vol. 8, 90-92. 

Tags:

ความเข้าอกเข้าใจ(empathy)พื้นที่ปลอดภัยการรับฟังทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)

Author:

illustrator

นำชัย ชีววิวรรธน์

นักอณูชีววิทยา นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ นักเขียน นักแปล และนักอ่าน ผู้มีความสนใจอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาขับเคลื่อนสังคม

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Unique Teacher
    เปลี่ยนโรงเรียนติดลบเป็นโรงเรียนติดดาว เริ่มที่ ‘ตัวฉัน’: ผอ.นันทิยา บัวตรี

    เรื่อง The Potential

  • Character building
    ‘นิสัยรักการอ่าน’ มรดกจากพ่อแม่ที่ช่วยให้เด็กเติบโตและมีชีวิตที่ดี

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Character building
    โลกโกลาหล (BANI World) Ep2 Anxious: ความวิตกกังวลที่หายขาดได้ด้วยความเข้าอกเข้าใจ

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Everyone can be an Educator
    ‘เด็กทุกคนมีแสงสว่างในตัวเอง’ สร้างพื้นที่ปลอดภัยและให้โอกาสเติบโต : ราฎา กรมเมือง

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • RelationshipHow to enjoy life
    รักดาราแล้วได้อะไร (ตอน 1): ยีนคลั่งคนดัง และต้นแบบในดวงใจ

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel