Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
Learning Theory
28 November 2023

ทำไมเราควรมองพัฒนาการเรียนรู้ผ่าน ‘ม่านวัฒนธรรม’

เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • เมื่อครั้งเป็นเด็กเราเริ่มสวมบทบาทเป็นพ่อค้าแม่ค้าขายของกันได้อย่างไร? ทำไมเราจึงรู้ว่าต้องเล่นด้วยวิธีแบบนี้ เป็นเพราะการเรียนรู้นั้นเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่า ‘วัฒนธรรม’ ในสังคมที่คนคนหนึ่งเติบโตมา ผ่านผู้คนที่อยู่รอบตัวพวกเขาเสมอ
  • Rogoff นักการศึกษาที่ศึกษาวัฒนธรรม จิตวิทยา และการเรียนรู้ อธิบายว่า ในแต่ละสังคมจะมี ‘กิจกรรมทางวัฒนธรรม (Cultural Activity)’ ช่วยให้เด็กสามารถสื่อสาร คิด และเข้าใจประสบการณ์ในโลกที่เขาเติบโตมา
  • กิจกรรมทางวัฒนธรรมในแต่ละสังคม แต่ละครอบครัวแตกต่างกัน เราจึงต้องทำความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรม (Cross -Culture) ด้วยเพราะตัวเราต่างเติบโตมาในวัฒนธรรมหนึ่งๆ มีกรอบคุณค่าแบบหนึ่งที่เอาใว้ใช้ตัดสินหรืออธิบายสิ่งต่างๆ เราจึงมีอคติอยู่เสมอ

หลายครั้งเรามักคุ้นเคยกับการตีความพัฒนาการในการเรียนรู้ของเด็กผ่านความหมายอย่างแคบโดยมุ่งเน้นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างเด็กและครูในชั้นเรียน ว่าเด็กได้เรียนรู้อะไรไปบ้าง มากน้อยเพียงใด พร้อมกับใช้มาตรฐานบางอย่างเข้ามาวัดประเมินว่าการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปตามมาตรฐานแล้วหรือยัง เมื่อเด็กทำคะแนนได้ดีขึ้นหรือแย่ลงก็มักจบลงด้วยการคิดหาวิธีการส่งเสริมหรือลงโทษตามผลลัพธ์ของการเรียนรู้ที่ปรากฎ 

แต่ในความเป็นจริง พัฒนาการเรียนรู้ของเด็กไม่ได้เกิดขึ้นแค่ระหว่างเขาและครู เราลองนึกถึงง่ายๆ ว่าเราเริ่มใช้มีดปอกผลไม้หรือสับหมูเป็นตั้งแต่เมื่อไหร่ จากที่ไหน อย่างไร และจากใครกัน? เดาได้เลยว่าคำตอบส่วนใหญ่ของหลายคนมาจากคนในครอบครัวขณะทำกับข้าว บางคนอาจเรียนรู้จากการแอบมองแม่ทำตั้งแต่อายุ 5-6 ขวบ หรือบางคนอาจโตขึ้นมาอีกหน่อยจนครอบครัวอนุญาตให้ช่วยงานในครัวได้ เมื่อครั้งเป็นเด็กเราเริ่มสวมบทบาทเป็นพ่อค้าแม่ค้าขายของกันได้อย่างไร? เราเรียนรู้วิธีสร้างบทพูดระหว่างสวมบทบาทมาจากไหน ทำไมเราจึงรู้ว่าต้องเล่นด้วยวิธีแบบนี้ ทั้งหมดนี้ล้วนไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เป็นเพราะการเรียนรู้นั้นเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่า ‘วัฒนธรรม’ ในสังคมที่คนคนหนึ่งเติบโตมา ผ่านผู้คนที่อยู่รอบตัวพวกเขาเสมอ

ในข้อเขียนนี้จึงอยากชวนผู้อ่านค่อยๆ กลับมาทบทวน ทำความเข้าใจพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กที่ไม่อาจแยกขาดจากวัฒนธรรม พร้อมกับชวนตั้งข้อสังเกตว่ามุมมองเช่นนี้จะช่วยให้เราเข้าใจปัญหาด้านพัฒนาการการเรียนรู้ได้อย่างไร 

เด็กและกิจกรรมทางวัฒนธรรม

เด็กไม่ได้เรียนรู้จากโรงเรียนเพียงเท่านั้น แต่ยังเรียนรู้จากคนอื่นๆ ที่อยู่รายล้อมนอกรั้วโรงเรียนด้วย การเรียนรู้ของเด็กจึงแยกไม่ขาดจากสังคมที่เขาเติบโตมา แน่นอนว่าภายในสังคมมีทั้งระบบการศึกษาที่เป็นทางการ ร่วมกับกิจกรรมทางสังคมอื่นๆ ที่เต็มไปด้วยผู้คนที่เด็กปฏิสัมพันธ์ด้วย การเปลี่ยนแปลงภายในตัวเด็กจึงเกิดขึ้นจากตรงนี้ด้วยเช่นกัน

ในหนังสือ The Cultural Nature of Human Development Rogoff นักการศึกษาที่ศึกษาวัฒนธรรม จิตวิทยา และการเรียนรู้ ได้อธิบายไว้ว่า ในแต่ละสังคมจะมีสิ่งที่เรียกว่ากิจกรรมทางวัฒนธรรม (Cultural Activity) เกิดขึ้น (**ขอโน้ตไว้ว่าโรงเรียนก็คือหนึ่งในพื้นที่กิจกรรมทางวัฒนธรรมเช่นกัน) โดยที่ผู้คนในสังคมนั้นจะหยิบยื่นเครื่องมือวัฒนธรรม (Cultural tools) เป็นสะพานช่วยให้เด็กสามารถที่จะสื่อสาร คิด และเข้าใจประสบการณ์ในโลกที่เขาเติบโตมาได้ เครื่องมือวัฒนธรรมนั้นอยู่ในรูปของภาษาและสัญลักษณ์ เช่น หนังสือเรียน หนังสือนิทาน ป้ายบอกทาง เสียงเพลง คำพูด  การทำมือเป็นรูปต่างๆ เป็นต้น  

จากตัวอย่างเรื่องการใช้มีดที่ยกมาในช่วงต้นของบทความ ในมุมมองของ Rogoff เด็กทำสิ่งนี้ได้เพราะกิจกรรมในครัวเป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมแบบหนึ่ง ที่แม่ใช้ภาษาและท่าทางบางอย่างสอนเด็กๆ และนั่นทำให้เด็กเปลี่ยนแปลงจากคนที่ไม่สามารถใช้มีดได้กลายเป็นคนที่ใช้มีดเป็น ช่วงเวลารับประทานอาหารเย็นเป็นอีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงช่วงเวลาที่เด็กถูกสอนมารยาทและบรรทัดฐานทางสังคม เช่น ในบางวัฒนธรรมเด็กๆ มักจะถูกสอนว่าการเคี้ยวอาหารเบาๆ เป็นสิ่งที่สุภาพ โดยมีแม่เป็นคนคอยทำหน้าที่ตำหนิเมื่อเด็กไม่ทำตาม นอกจากนี้บทบาทของเด็กในบางครอบครัวที่ถูกขอให้มาช่วยตระเตรียมจาน ช้อน ซ้อม ล้วนแสดงให้เห็นว่าเด็กเริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในงานบ้าน และเริ่มถูกสอนให้รู้จักหน้าที่ในบ้าน สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กเริ่มเรียนรู้ที่จะดูแลคนอื่นด้วยเช่นกัน 

‘กิจกรรมทางวัฒนธรรม’ จึงเป็นหัวใจสำคัญที่เธอเสนอให้เราทำความเข้าใจเพื่อจะเข้าใจพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก ว่าพวกเขามีการเรียนรู้และเกิดการเปลี่ยนแปลง (transformation) อย่างไร  

อันที่จริงแนวคิดของ Rogoff ได้รับอิทธิพลอย่างมากจาก Vygotsky ที่มองว่าพัฒนาการการเรียนรู้นั้นสัมพันธ์กับสังคมประวัติศาสตร์ เด็กเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้คนก่อนหน้า ที่ได้สร้าง สั่งสม และส่งต่อ เครื่องมือทางวัฒนธรรมเพื่อที่จะรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิต ลองนึกเล่นๆ ภาษาที่เราใช้พูดอยู่กันทุกวันก็มีที่มาอย่างยาวนานในสังคมมนุษย์ พัฒนาการของเด็กจึงมาพร้อมกับการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่า จากนั้นจะค่อยๆ เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงภายในตัวเขาขึ้นมา (internalizing) ช่วงปฏิสัมพันธ์นี้เอง ที่เกิดพื้นที่รอยต่อ (ZPD) ระหว่างระดับพัฒนาการในปัจจุบันและระดับถัดไปที่เป็นไปได้ของเด็ก (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ The Boy Who Harnessed the Wind เมื่อ ‘หนังสือเล่มหนึ่ง’ นำไปสู่ชัยชนะของเด็กชายต่อสายลม และ Vygotsky การจัดการเรียนรู้ที่ดี คือ การทำให้เด็กรู้สึกว่ามีใครสักคนอยู่เคียงข้าง เป็นนั่งร้านที่ช่วยสนับสนุนให้เขาเติบโต)

ด้วยความที่กิจกรรมทางวัฒนธรรมในแต่ละสังคม แต่ละครอบครัวแตกต่างกัน Rogoff จึงเสนอว่าเราต้องทำความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรม (Cross -Culture) เพราะตัวเราต่างเติบโตมาในวัฒนธรรมหนึ่งๆ มีกรอบคุณค่าแบบหนึ่งที่เอาใว้ใช้ตัดสินหรืออธิบายสิ่งต่างๆ เราจึงมีอคติอยู่เสมอ ดังนั้นการมองแบบ Cross-Culture จึงสำคัญ 

ยกตัวอย่างง่ายๆ ในบางสังคม เด็กจะช่วยผู้ใหญ่ทำงานตั้งแต่อายุ 4-5 ปี ขณะที่บางสังคมเด็กจะถูกกันให้ออกห่างจากงานของผู้ใหญ่ หากเราเติบโตมาในสังคมแบบที่สอง เราก็อาจรู้สึกทันทีว่าในสังคมแบบแรกนั้นค่อนข้างใจร้ายกับเด็ก แต่สำหรับ Rogoff เราจำเป็นต้องเข้าใจว่าทำไมทั้งสองสังคมจึงมีวัฒนธรรมต่อเรื่องการทำงานที่แตกต่างกัน พวกเขามีการให้ความหมายเหล่านี้อย่างไร

ความ (ไม่) จงใจ ในวัฒนธรรม การเรียนรู้ และชนชั้น 

ย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา แวดวงการศึกษาเริ่มหันหน้าเข้าสู่การค้นหาวิธีการและพัฒนาแบบทดสอบต่างๆ เพื่อวัดระดับความสามารถ ทักษะ หรือคุณสมบัติบางประการของนักเรียนอย่างจริงจัง ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะสร้างมาตรฐาน และจัดจำแนกนักเรียนเข้าไปสู่ส่วนต่างๆ ของโครงสร้างการทำงานแบบสมัยใหม่ภายใต้ระบบทุนนิยม ในเวลาเดียวกันนี้เอง อิทธิพลดังกล่าว ก็ได้สร้างคำอธิบายของเด็กที่เดินไปสู่ความสำเร็จและเด็กผู้พ่ายแพ้ว่าเป็นเรื่องของการมีและไม่มีความรู้หรือขาดการพัฒนาทักษะบางอย่าง ผู้พ่ายแพ้หรือผู้ล้มเหลวจากการสอบและแบบวัดถูกบอกว่าพวกเขายังมีความรู้ไม่มากพอ พวกเขายังขาดการคิดหรือทักษะที่ดีพอ เมื่อเป็นเช่นนี้ ทั้งเขาและเธอก็ควรได้รับการซ่อมแซมให้มีคุณสมบัติเป็นไปตามมาตรฐานที่วางไว้ 

เด็กที่ไม่ประสบผลสำเร็จในการเรียนเพราะพวกเขาไม่มีความรู้และขาดทักษะจริงหรือ? คำตอบคือไม่จริง นี่เป็นหนึ่งแง่มุมจากนักการศึกษาในกลุ่มที่สนใจเรื่องวัฒนธรรมและการเรียนรู้ที่เห็นว่า อันที่จริงแล้ว แบบวัดหรือแบบทดสอบต่างๆ เหล่านี้ก็วางอยู่บนวัฒนธรรมและประสบการณ์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นหลัก ดังนั้นเมื่อคนที่เติบโตมาในวัฒนธรรมที่ต่างออกไปต้องมาทำแบบทดสอบ เขาจึงต้องเผชิญกับความท้าทายและยากที่จะประสบผลสำเร็จ ลองยกตัวอย่างแบบง่ายๆ เด็กกลุ่มหนึ่งเติบโตมาในสังคมที่อาจไม่รู้จักหอนาฬิกาบิ๊กเบนที่ประเทศอังกฤษ แต่เมื่อเขาต้องเข้ารับการทดสอบหนึ่งที่มีการชูภาพหอนาฬิกานี้มาแล้วถามว่า ภาพดังกล่าวคืออะไร เกิดขึ้นเกิดที่ไหน นี่ก็อาจเป็นเรื่องยากมากที่เด็กจะตอบได้อย่างเฉพาะเจาะจง 

ในทางกลับกัน เด็กอีกกลุ่มที่อยู่ในสังคมที่คุ้นเคยกับประสบการณ์เรื่องนี้ เมื่อทำแบบทดสอบก็สามารถตอบได้อย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น หากเรารีบสรุปทันที เราก็อาจสรุปว่า เด็กกลุ่มแรกไม่มีความรู้ดังกล่าว แต่ในความเป็นจริง เขาไม่ได้มีความรู้ตามที่แบบทดสอบพยายามที่จะวัดต่างหาก 

ในอีกตัวอย่างของ Rogoff คือกรอบเวลาแบบสมัยใหม่ในสังคมทุนนิยมที่ถูกจัดใส่กล่องแบบแบ่งระยะ โดยแบ่งเวลาออกเป็นช่วงๆ เพื่อใช้วัดและประเมินคน ส่งผลให้มีการสร้างมาตรฐานช่วงอายุเพื่อประเมินความสามารถของเด็กว่าเขาช้า เร็ว หรือพอดีตามเกณฑ์ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นตามกรอบจิตวิทยาแบบหนึ่ง โดยเฉพาะอิทธิพลของ Cognitive theory อย่าง Piaget (รวมถึง Moral Development ของ kohlberg theory) ที่พยายามอธิบายว่าพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กนั้นมีระดับขั้นที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ Rogoff ตั้งข้อสังเกตว่าเกณฑ์ของพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กที่ถูกกำหนดขึ้นนั้น ล้วนวางอยู่บนวัฒนธรรมของคนเพียงกลุ่มหนึ่ง 

Shirley Heath เป็นอีกคนที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง และในปี 1982 บทความ “What No Bedtime Story Means: Narrative Skills at Home and School” เธอได้นำเสนอข้อค้นพบจากการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณา ที่เธอได้ลงไปศึกษาเปรียบเทียบเด็กในครอบครัวทั้ง 3 ชุมชน ซึ่งประกอบด้วย ชุมชนของชนชั้นกลางของคนผิวขาว (ถือเป็นคนกลุ่มหลัก) ชุมชนของชนชั้นแรงงานของคนผิวขาว และชุมชนชนของชนชั้นแรงงานของคนผิวดำ โดย Heath เชื่อว่าแต่ในแต่ละชุมชนต่างมีช่วงเวลาที่เด็กจะได้พัฒนาการอ่านออกเขียนได้ หรือ literacy events อยู่ แน่นอนว่า มันมีรูปแบบหรือกฎที่แต่ละสังคมสร้างและกำกับอยู่ และ Bedtime Story หรือช่วงเวลาก่อนเข้านอน เป็นหนึ่งในช่วงเวลานี้ที่เด็กจะได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะการพูดและการเล่า (Narrative Skills) ขึ้นมาจากการปฏิสัมพันธ์ร่วมกับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง เช่น การอ่านหนังสือนิทาน ดูโทรทัศน์ เล่นของเล่น แต่กระนั้นช่วงเวลานี้ก็ดูเหมือนจะเป็นวัฒนธรรมหลักสำหรับชุมชนของชนชั้นกลางของคนผิวขาวมากกว่า 

ในบทความชี้ว่า ความสำเร็จของเด็กชนชั้นกลางผิวขาวในโรงเรียน มาจากวัฒนธรรมการเรียนรู้ในโรงเรียนในเรื่องการอ่าน การเขียน และการสื่อสาร ที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่บ้านของพวกเขา โดยเฉพาะเวลาเข้านอน ผู้ปกครองชนชั้นกลางผิวขาวสามารถสอนและสนับสนุนบุตรหลานในการเรียนรู้ผ่านหนังสือนิทานและกิจกรรมอื่นๆ ที่คล้ายกับโรงเรียน Heath ชี้ให้เห็นว่าเด็กที่เรียนหนังสือได้ไม่ดี ไม่ใช่เพราะขาดความสามารถในการเรียนรู้ ในทางตรงกันข้าม มันเป็นเพราะโรงเรียนมีวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ต่างออกไปจากวัฒนธรรมการเรียนรู้ของเด็กต่างหาก 

ตัวอย่างเช่น ในชุมชนชนชั้นแรงงานของคนผิวขาว ในช่วงเวลาก่อนเข้านอน เด็กจะได้รับการฝึกให้ถามคำถามและให้ข้อมูลเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ แทนที่จะฝึกให้กล้าสื่อสารความคิดและความรู้สึกของตนเองออกมา สวนทางกับวัฒนธรรมที่สอนในโรงเรียนที่ครูมักจะถามว่าเขาคิดอย่างไร หรือจะเกิดอะไรขึ้นหาก…? มันจึงทำให้เด็กไม่มั่นใจและยากที่จะตอบออกไป ส่วนในชุมชนแรงงานของคนผิวดำ แม้ไม่มีช่วงเวลาเข้านอนในฐานะ literacy events แต่กระนั้นเด็กในชุมชนก็จะเรียนรู้ Narrative Skills จากการพูดคุย เด็กๆ จะชอบใช้การพูดเป็นเรื่องราวออกมา เล่าออกมาเรื่อยๆ เพื่อสร้างความสนใจ และเมื่อผู้ใหญ่มีท่าทีต่อเขาในทางบวก เขาจะเรียนรู้ว่านี่เป็นการเล่าที่ดี แต่สุดท้ายโรงเรียนก็ไม่ได้มองเห็นทักษะเด็กจากตรงนี้  

นี่คือจุดยืนของ Heath ที่ไม่ได้โยนความผิดไปที่ตัวเด็ก แต่กลับเผยให้เห็นวัฒนธรรมในเนื้อตัวของมนุษย์คนหนึ่งที่ถูกตีตราจากระบบวัฒนธรรม นี่ไม่ใช่ปัญหาในตัวบุคคล แต่เป็นปัญหาการทำความเข้าใจ และหากเราไม่ได้ตระหนัก มันอาจนำไปสู่การแปะป้ายเด็กได้โดยไม่รู้ตัว 

เธอไม่ได้ต้องการจะบอกว่าวัฒนธรรมของใครควรเป็นหลัก แต่เธอต้องการเขย่าให้เห็นว่า สำนึกต่อคำว่า ‘พัฒนาการเรียนรู้’ ของเราถูกสร้างบนวัฒนธรรมของใคร แบบไหน และนำมาซึ่งการเรียนการสอน การวัดผลการเรียนรู้อย่างไร และส่งผลอย่างไรต่อกลุ่มเด็กที่มีวัฒนธรรมต่างออกไป มากไปกว่านั้น Heath ได้ชวนให้เราไม่มองวัฒนธรรมและการเรียนรู้อยู่ในเลเยอร์เดียว แต่มองเห็นความสัมพันธ์กับกลุ่มทางสังคมและชนชั้นด้วยกันที่แต่ละกลุ่มมีการสร้างวัฒนธรรมและการเรียนรู้แตกต่างกัน มันจึงเป็นโจทย์ที่โรงเรียนควรตระหนัก และสร้างสะพานเชื่อมรอยต่อให้เกิดขึ้น   

มุมมองแบบ Cross-Culture ในการเรียนรู้อาจพาเรามองเห็นห้องเรียนที่ต่างไป เช่น การให้เหตุผลแบบนิรนัยที่เราคุ้นเคยกันดีในวิชาคณิตศาสตร์อย่าง “วัวทุกตัวกินหญ้า แมวเป็นวัว ดังนั้นแมวกินหญ้า” ซึ่งเด็กบางคนก็อาจบอกครูว่าครูผิดแล้ว ที่บ้านเขาวัวทุกตัวก็ไม่ได้กินหญ้า แล้วแมวก็ไม่ใช่วัวด้วย นี่ก็สะท้อนให้เห็นว่าเด็กมีวัฒนธรรมการคิดที่อิงกับบริบท หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง การจัดกลุ่มสิ่งใด ‘เข้าพวก’และ ‘ไม่เข้าพวก’ เช่น  ข้าว ปลา ไก่ เป็ด ครูอาจคิดบนวัฒนธรรมที่จัดจำแนกระหว่าง ‘สัตว์’ และ ‘พืช’ แต่สำหรับเด็ก เขาอาจคิดจากอาหารที่กินอยู่เป็นประจำกับสิ่งที่ไม่ค่อยได้กิน เมื่อเด็กต้องจำแนก แทนที่ ข้าว จะถูกแยกออกไปต่างหากตามความคาดหวังของครู เด็กอาจเลือกที่จะเอา เป็ด แยกออกไป แล้วบอกกับครูว่าเพราะเป็ดเป็นสิ่งที่เขาไม่ได้กินบ่อยๆ 

ดังนั้น เมื่อเด็กต้องทำแบบทดสอบเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ ก็อาจเป็นเรื่องท้าทายสำหรับเขามากกว่าที่ครูคิด หรือเขาอาจถูกตัดสินว่าทำแบบทดสอบผิดไปเลยก็ได้ 

ทั้งหมดนี้คือแง่มุมของการมองพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กที่สัมพันธ์กับ ‘วัฒนธรรม’ และหวังว่าจะเป็นอีกบทสนทนาที่ชวนผู้อ่าน โดยเฉพาะครูกลับมาตั้งคำถามสำคัญว่า อะไรบ้างคือกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในชีวิตของเด็ก เด็กเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงอย่างไร (รวมไปถึงเรื่อง เพศ ชนชั้น) ที่ผ่านมาเรากำลังสอนด้วยวัฒนธรรมแบบไหน มองจากวัฒนธรรมของใคร และหากเราเข้าใจแว่นวัฒนธรรมมากขึ้น จะนำไปสู่บทบาทการเป็นครูของเราต่อไปอย่างไร  

Tags:

ครูการศึกษาการเรียนรู้เด็กวัฒนธรรมกิจกรรมทางวัฒนธรรม (Cultural Activity)มุมมองความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรม (Cross -Culture)

Author:

illustrator

อรรถพล ประภาสโนบล

ครูพล อดีตครูสังคมศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่ง ผู้เขียนหนังสือ “ห้องเรียนล้ำเส้น” และบรรณาธิการร่วมหนังสือ “สังคมศึกษาทะลุกะลา” ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อปริญญาสาขา Education studies ที่ไต้หวัน

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Book
    โสกราตีสสลับขั้ว: มีเพียงการตระหนักว่าตัวเองไม่รู้อะไรเลยเท่านั้นที่จะลดการตัดสินผู้อื่นลงได้

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • ‘โรงเรียน = รุนแรง’ สมการนี้สังคมต้องร่วมแก้ …เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะไม่ถูกรังแก

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • Movie
    OMG2: ‘เพศศึกษา’ เรื่องที่ครูไม่ได้สอน แต่กลับคอยซ้ำเติมความเชื่อผิดๆ

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Education trend
    ความผิดพลาดของการสอนวิทยาศาสตร์ที่อาจพาประเทศชาติหลงทาง

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์

  • Education trend
    AI กับอนาคตการศึกษา: ตัวช่วยที่ทำให้เด็กเก่งขึ้น หรือตัวการขัดขวางการเรียนรู้ ทำลายอาชีพครู

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel