- ปัจจุบันเส้นแบ่งระหว่างธรรมชาติกับเทคโนโลยีกำลังค่อยๆ เลือนลางลง เพราะเทคโนโลยีเข้ามาบทบาทกับชีวิตมากขึ้น อีกทั้งสภาพสังคมก็ทำให้คนเราห่างไกลจากธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ลึกๆ แล้วจิตใต้สำนึกของมนุษย์ยังคงโหยหาพลังจากธรรมชาติ
- ‘สมรรถนะการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน’ เป็นหนึ่งในสมรรถนะหลัก 6 ด้าน ในหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่มุ่งหวังให้เด็กรู้เท่าทันวิทยาการเทคโนโลยี เห็นคุณค่า สามารถแก้ปัญหา หรือสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่ออยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน
- นับจากนี้โลกยังต้องการนักคิดและนวัตกร ที่มีวิทยาการและเทคโนโลยีในการปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริมธรรมชาติให้อยู่คู่กันได้อย่างยั่งยืน
ธรรมชาติ วิทยาการและเทคโนโลยีกำลังหลอมรวมกัน
แล้วเราจะสร้างความยั่งยืนจากความเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร?
ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เจน (Generation) ไหน การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับทุกคน โดยเฉพาะเมื่อต้องตั้งรับกับสิ่งที่ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยเห็น และไม่เคยมีอยู่มาก่อน นวัตกรรมถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาทุกยุคทุกสมัย ด้วยวัตถุประสงค์และเป้าหมายแตกต่างกันไป ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยี เครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงการพัฒนาในระดับเซลล์ ดีเอ็นเอ ไมโครไบโอม และสมอง ที่เกี่ยวข้องกับร่างกายของมนุษย์ รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
ด้านหนึ่งกล่าวได้ว่าวิทยาการที่ก้าวหน้าทำให้มนุษย์เข้าใจสรรพชีวิตมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ทำให้รู้ว่ามนุษย์ไม่ใช่แค่สัตว์สังคม ที่ต้องการปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิตเท่านั้น แต่การมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ต้องพึ่งพาจุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตหลายล้านชนิดในอาหาร อากาศ น้ำและสิ่งแวดล้อมรอบตัว มนุษย์สามารถคิดค้น ประดิษฐ์ สิ่งอำนวยความสะดวก วิธีการควบคุม ป้องกัน และจัดการดูแลชีวิตได้ ล้ำหน้าไปถึงการเดินทางนอกโลกที่ไปไกลเกินกว่าแค่ดวงจันทร์
ขณะเดียวกันเทคโนโลยีได้ถูกพัฒนาและพัฒนาตัวเองถึงขนาดที่สามารถเรียนรู้เพื่อเข้าใจความรู้สึกของมนุษย์และคาดการณ์พฤติกรรมของมนุษย์ได้ ไม่ใช่แค่สมาร์ทโฟน แต่มนุษย์จะอาศัยภายในบ้านที่เป็นสมาร์ทโฮม – แค่ติดตั้งอุปกรณ์ เซ็ตระบบนิดหน่อย แล้วเอ่ยปากบอกให้อเล็กซา (Alexa) สั่งการอุปกรณ์ภายในบ้าน เช่น เปิดไฟ ตั้งเวลาเตาอบ โดยไม่ต้องใช้มือสัมผัส คำกล่าวที่ว่า “คลิกเดียวแค่ปลายนิ้วสัมผัส” จะเปลี่ยนไปตลอดการ อีกไม่กี่ปีข้างหน้าเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงด้านนี้ชัดเจนขึ้น จากรถที่ใช้น้ำมันกลายเป็นรถสมาร์ทคาร์ที่ติดตั้งโปรแกรทขับเคลื่อนเองได้ มนุษย์จะอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ชาญฉลาดและตอบสนองความต้องการของเราได้มากขึ้นนั่นหมายความว่า เส้นแบ่งระหว่างสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ วิทยาการและเทคโนโลยีกำลังค่อยๆ เลือนราง นำมนุษย์เข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม…ครั้งใหม่!!
Biophilia ความผูกพันโดยกำเนิดที่มนุษย์มีต่อธรรมชาติ และการอยู่ร่วมกับวิทยาการอย่างยั่งยืน
ไบโอฟิลเลีย (Biophilia)เป็นแนวคิดที่ถูกเอ่ยถึงโดย เอ็ดเวิร์ด โอ. วิลสัน (Edward O. Wilson) ช่วงราวปี 1984 คำว่า ‘biophilia’ มาจากรากศัพท์ภาษาอังกฤษ 2 คำ ได้แก่ ‘Bios’ แปลว่า ชีวิต และ ‘Phila’ แปลว่า ความรักในเชิงมิตรภาพและความเท่าเทียมกัน แนวคิดนี้อธิบายว่าการหลงรักหรือรู้สึกดีเมื่ออยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติของมนุษย์ไม่ได้เป็นแค่ความรู้สึกหรืออารมณ์ แต่เพราะมนุษย์ถูกเข้ารหัสทางพันธุกรรมเชื่อมโยงและเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ เห็นได้จากเด็กๆ ที่มีความสนใจอยากรู้อยากเห็นสิ่งมีชีวิตรอบตัว อยากเล่นกับดินกับทรายถึงแม้จะเลอะเทอะและสกปรก
พ่อแม่เองต่างหากที่ปิดกั้นไม่ให้ลูกได้เปิดประสาทสัมผัสกับธรรมชาติเหล่านี้ เพราะความกลัว ความกังวลว่า ‘อันตราย’ ‘ไม่ปลอดภัย’ ‘ไม่ดีต่อสุขภาพ’ วันเวลาผ่านไปเด็กๆ เติบโตขึ้นและยิ่งถูกจำกัดอยู่ในห้อง – ห้องที่บ้าน ห้องเรียน การเรียนในชั้นเรียนที่โฟกัสความรู้ในตำรามากกว่าวิถีชีวิตรอบตัว เมื่อเข้าสู่วัยทำงานสภาพสังคม การประกอบอาชีพอาจทำให้ความสัมพันธ์และความผูกพันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติเลือนหายไป แต่ลึกๆ แล้วจิตใต้สำนึกของมนุษย์ยังคงโหยหาพลังจากธรรมชาติ
จากการสำรวจพบว่า กว่าร้อยละ 76 ของมนุษย์ทั่วโลกเผชิญหน้ากับปัญหาการจัดการคุณภาพชีวิตทั้งกายและใจ
ไม่น่าแปลกใจที่อาชีพไลฟ์โค้ช นักบำบัด เทรนเนอร์ นักโภชนาการ และที่ปรึกษาด้านต่างๆ ได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลกในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งนี้เพราะมนุษย์กำลังต้องการความช่วยเหลือ โดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตามธรรมชาติเป็นหัวใจสำคัญในการอยู่รอดของมนุษย์ ขณะที่วิทยาการก้าวล้ำไปข้างหน้า มนุษย์มีความพยายามนำธรรมชาติเข้ามาเป็นองค์ประกอบหนึ่งในชีวิตด้วยเสมออิทธิพลของไบโอฟิลเลียเห็นได้ชัดในงานออกแบบที่เรียกว่า ‘Biophilic Design’ การออกแบบและจัดวางพื้นที่ทำงาน ที่พักอาศัย พื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ภายในอาคาร ให้เชื่อมโยงวิถีชีวิตของมนุษย์เข้ากับองค์ประกอบทางธรรมชาติ ด้วยวิถีการทำงานที่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งที่ทำงานและที่บ้าน วิถีคนเมืองที่อยู่ในป่าคอนกรีต ก่อให้เกิดความเครียด อึดอัด เป็นต้นเหตุของโรคเรื้อรัง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น
บทความเรื่องออกแบบธรรมชาติอย่างไรให้ ธรรมชาติบำบัด (Biophilic Design)’ โดย ศุภาศัย วงศ์กุลพิศาล เผยแพร่โดยศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ หรือ ทีซีดีซี (TCDC: Thailand Creative and Design Center) นำเสนอการศึกษาเกี่ยวกับการคลุกคลีกับธรรมชาติและผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้พักอาศัย พบว่า ผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ใกล้ชิดกับพื้นที่สีเขียว แวดล้อมด้วยธรรมชาติ มีความสามารถในการจัดการชีวิตของตัวเองได้ดีกว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยคอนกรีต
การศึกษาครั้งนี้จัดทำขึ้นในบริเวณย่านเสื่อมโทรมของชิคาโก (Chicago) สหรัฐอเมริกา ทางเมืองได้สร้างอพาร์ทเมนต์ให้เป็นที่อยู่อาศัยทางเลือกของผู้ที่มีรายได้จำกัด ผู้พักอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน 2 แบบ แบบแรกเป็นอาคารที่รายล้อมไปด้วยพื้นเทคอนกรีต ยางมะตอย และแบบที่สองเป็นอาคารที่รายล้อมไปด้วยพื้นที่สีเขียวและต้นไม้ใหญ่
ผลจากการวิจัยแสดงให้เห็นว่า ผู้พักอาศัยในอาคารที่มีลักษณะเป็นคอนกรีตโดยรอบ เมื่อเจอกับปัญหาใหญ่ๆ ในชีวิต พวกเขามักหนีและผลักปัญหาออกไป มีลักษณะนิสัยผลัดวันประกันพรุ่ง ประเมินว่าปัญหาของตัวเองเป็นปัญหาที่ยากและไม่สามารถแก้ไขได้ อีกทั้งยังใช้เวลาในการแก้ปัญหานานกว่ากลุ่มผู้ที่อยู่อาศัยในอาคารที่รายล้อมไปด้วยพื้นที่สีเขียว ขณะที่ผู้พักอาศัยท่ามกลางธรรมชาติสามารถยอมรับและรับมือกับปัญหาได้ดีกว่า นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอื่นๆ ที่พบว่า
การอยู่อาศัยใกล้กับพื้นที่สีเขียวทำให้เด็กมีพัฒนาการด้านความจำดีขึ้น มีสุขภาพกายใจดีขึ้น
ข้อค้นพบเหล่านี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการจัดสภาพแวดล้อมที่บ้าน โรงเรียน ในบ้านและในชั้นเรียนได้ รวมถึงการสร้างการเรียนรู้ให้เด็กเยาวชนได้สัมผัสใกล้ชิดกับธรรมชาติ เช่น การปลูกพืชผักสวนครัว การปลูกต้นไม้ การดูแลรักษาความสะอาดภายในบ้านและในโรงเรียน เป็นต้น
ร่องรอยของวิทยาการที่มีทั้งด้านบวกและด้านลบ
แม้ธรรมชาติคือความอยู่รอดของมนุษย์และมนุษย์ผูกพันกับธรรมชาติ สิ่งที่น่าเศร้าคือ ตลอดเวลาที่ผ่านมามนุษย์เองก็เป็นผู้ทำลายธรรมชาติ การปฏิวัติอุตสาหกรรมช่วงปี 1760 – 1850 ที่หลายคนมองว่าเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ แต่อีกหลายคนมองว่าเป็นความล้มเหลวที่ประเมินค่าไม่ได้ ผลลัพธ์จากการปฎิวัติอุตสาหกรรมทำให้โลกเต็มไปด้วยตึกระฟ้า ยานพาหนะ อาหารจานด่วน (ทำลายสุขภาพ) และโรงงานที่ผลิตทุกอย่างเพื่อการอุปโภคบริโภค ระบบทุนนิยมที่กระตุ้นความต้องการบริโภคมากเกินความจำเป็น ความเปลี่ยนแปลงที่สร้างความสะดวกสบายให้มนุษย์แต่ทำลายระบบนิเวศน์อย่างมหาศาล ด้วยกระบวนการผลิตที่ใช้สอยทรัพยากรธรรมชาติ และกระบวนการบริโภคที่ผลิตของเสียปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม มนุษย์ได้รับบทเรียนและผลกระทบมากมาย เห็นได้จากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งทั่วทุกมุมโลก จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
ความหวังและการอยู่รอดของมนุษ์จึงต้องการธรรมชาติ วิทยาการและเทคโนโลยีที่หลอมรวมและเกื้อกูลกัน
หลักสูตรสมรรถนะให้ความสำคัญกับธรรมชาติและวิทยาการเช่นเดียวกัน โดยนิยาม ‘สมรรถนะการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน’ หมายถึง การมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับปรากฎการณ์ของโลก เอกภพและความสัมพันธ์ของคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และธรรมชาติในชีวิตประจำวัน ใช้และรู้เท่าทันวิทยาการเทคโนโลยี มีความอยากรู้อยากเห็น ช่างสังเกต เห็นคุณค่า สามารถแก้ปัญหาหรือสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ เพื่อการดำรงชีวิตและอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน
สมรรถนะด้านนี้อาศัยการเรียนรู้ ฝึกฝนทักษะ และสร้างความเข้าใจผ่านประสบการณ์ชีวิต ทั้งความฉลาดทางปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์
‘ธรรมชาติ’ เป็นตัวอย่างที่แสดงให้มนุษย์เห็นถึงความมหัศจรรย์ของการปรับตัวและสร้างสมดุลอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน ด้าน ‘วิทยาการ เทคโนโลยีและนวัตกรรม’ ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตมนุษย์ ยังเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องเรียนรู้และหาสมดุลระหว่างกันให้ได้
นับจากนี้โลกต้องการนักคิดและนวัตกรจากทุกสาขาอาชีพที่เปิดรับเทคโนโลยีแต่ไม่ละทิ้งธรรมชาติ สร้างสรรค์เทคโนโลยีที่สามารถปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริมธรรมชาติให้อยู่คู่กันได้อย่างยั่งยืน
แทนที่จะนำวิทยาการและเทคโนโลยีมาแทนที่ธรรมชาติ เราจะใช้เทคโนโลยีเป็น ‘เครื่องมือ’ ช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาธรรมชาติให้ดีขึ้นได้อย่างไร? การพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน เช่น การทำให้โซลาเซลล์เข้าถึงทุกครัวเรือน โรงงานที่มีระบบกำจัดน้ำเสียแล้วหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ใหม่ การทำการเกษตรปลอดสารเคมีที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาและเพิ่มผลผลิต แน่นอนว่าหลายๆ เรื่องต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ในฐานะพลเมืองที่เข้มแข็ง เราสามารถลงมือทำสิ่งที่ทำได้ในทันที เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ในชุมชนของเรา เตรียมความพร้อมสำหรับความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต |
อ้างอิง
https://medium.com/thebeammagazine/a-connected-future-between-nature-and-technology-a13aa222c18d
https://grist.org/science/nature-and-technology-are-merging-what-does-that-mean-for-sustainability/