- รู้สึกมีส่วนร่วม มีความสำคัญในครอบครัว จัดลำดับความสำคัญในชีวิต มองเห็นความต้องการของคนอื่น เหล่านี้คือทักษะที่ศาสตร์ ‘งานบ้าน’ มอบให้
- สัมภาษณ์ผู้ปกครองชาวอเมริกันกว่าหนึ่งพันคนถึงความคาดหวังในตัวลูก เกือบทั้งหมดให้ความสำคัญกับวุฒิภาวะทางใจ แต่สิ่งที่สนับสนุนกลับเป็น ‘ทักษะวิชาชีพ’
- กว่าครึ่งเข้าใจว่า ‘งานบ้าน’ สร้างทักษะชีวิตและวินัยหลายอย่าง แต่หลายครั้งที่ขอให้ทำ ลูกๆ ก็ยังนั่งเฉย เพื่อตัดรำคาญ พ่อแม่จึงทำให้แทน
- คำถามคือ เด็กๆ ขี้เกียจ หรือ พ่อแม่มีพฤติกรรมที่ทำให้เด็กสับสน ‘อยากให้ทำงานบ้านแต่ไม่อยากบังคับขู่เข็ญ’ หรือ ‘อยากให้ทำงานบ้าน หรือการบ้านกันแน่?’
เป็นความปรารถนาของผู้ปกครองหลายคน ถ้าเด็กๆ จะหยิบจับทำ ‘งานบ้าน’
ไม่ใช่แค่ความสบายของคุณพ่อและคุณแม่บ้าน แต่หลายคนตระหนักดีว่า เบื้องหลังศาสตร์แห่งการทำงานบ้าน นำมาซึ่ง skill หรือทักษะหลายอย่าง ไม่รวมวินัย และลักษณะนิสัยเฉพาะที่ตามมาจากศาสตร์นี้ เช่น ความใส่ใจและเข้าใจความต้องการของคนอื่น – ทักษะนี้แค่น้ำจิ้ม คุณูปการของการทำงานบ้าน จะขอยกไปคุยยาวๆ ในหัวข้อถัดไป
ประเด็นที่อยากชวนคุยจริงๆ ตามที่ เคเจ เดลล์ แอนโทเนีย (KJ Dell’Antonia) คอลัมนิสต์และนักเขียนประเด็นครอบครัว เขียนไว้ในบทความเรื่อง Happy Children Do Chores (เด็กที่มีความสุขจะทำงานบ้าน) คือประเด็นที่ว่า…
ผู้ปกครองรู้ว่าการทำงานบ้านมีประโยชน์และต่างอยากขอให้ลูกๆ หยิบจับ แต่ติดที่ประโยคเหล่านี้ เช่น ‘งานหลักของพวกเขาคือเรียนหนังสือ’ ‘บอกแล้วแต่พวกเขาไม่ทำ’ ‘ไม่อยากบังคับลูกนี่นา’ และคำอธิบายอื่นๆ ตามบริบทของแต่ละครอบครัว
แต่หลังจากศึกษาด้วยแบบสำรวจและงานวิจัยหลายชิ้น เธอตั้งคำถามว่า ผู้ปกครองแสดงพฤติกรรมที่ทำให้ลูกสับสนเกี่ยวกับการจัดลำดับในชีวิตหรือเปล่า?
ไม่ใช่แค่ ‘งานบ้าน’ แต่คือ ‘ทักษะชีวิต’
มีงานวิจัยเรื่อง Involving Children in Household Task: Is It Worth the Effort? (เด็กๆ ที่ช่วยทำงานบ้าน: สำคัญพอให้เราพยายาม(สร้างทักษะนี้)ไหม?) โดยติดตามเด็กจำนวน 84 คน ผ่านการสัมภาษณ์เด็กและติดตามพฤติกรรมคนในครอบครัวเป็นเวลาร่วมสิบปี โดยจะกลับไปติดตามพวกเขา 3 ช่วงวัยคือ เมื่ออายุ 3 หรือ 4 ปี, 9 หรือ 10 ปี และ 15 หรือ 16 ปี และพูดคุยผ่านโทรศัพท์เมื่อพวกเขาอายุราว 25 ปี
ติดตามอะไรบ้าง? พวกเขาบันทึกข้อมูลตั้งแต่ พฤติกรรมครอบครัว เพศสภาพ โดยเฉพาะวิเคราะห์งานบ้านที่พวกเขาได้ทำแล้วเชื่อมกับทัศนคติและแรงจูงใจในชีวิต
เฉพาะประเด็นงานบ้าน ผลการวิจัยพบว่างานบ้านมีผลต่อทัศนคติเชิงบวกในชีวิตระยะยาวและทักษะชีวิต เช่น ความรับผิดชอบ ความสามารถ ความยืดหยุ่น รู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง ปรับตัวได้ง่ายในวัยผู้ใหญ่ ผลการสำรวจยังพบว่า ยิ่งเด็กๆ ถูกสอนหรือมีส่วนร่วมในการทำงานบ้านเร็วเท่าไหร่ โดยเฉพาะเด็กที่มีส่วนร่วมตั้งแต่ 3-4 ขวบ ก็จะยิ่งสร้างคุณลักษณะดังกล่าวดีขึ้นเท่านั้น
ความเห็นเชิงจิตวิทยาต่อประเด็นดังกล่าวมีอยู่ว่า
เพราะงานบ้านไม่ใช่แค่การทำความสะอาด แต่หมายถึง ความรู้สึกมีส่วนร่วม มีความสำคัญในครอบครัว จัดลำดับความสำคัญในชีวิตได้ และมองเห็นความต้องการของคนอื่นด้วย
งานวิจัยนี้ขีดเส้นใต้ว่า การให้พวกเขามีส่วนร่วมตั้งแต่วัยเด็ก โดยเฉพาะเมื่อ 3-4 ปี ไม่ได้หมายความถึงงานบ้านแบกหาม แต่เพียง ‘มีส่วนร่วม’ ในงานที่เหมาะกับพวกเขา สำคัญคือ ‘ความชัดเจน’ แน่นอน และเป็นเวลา เช่น ในอาทิตย์นี้สมาชิกคนไหนควรทำอะไรบ้าง และย้ำว่าผู้ปกครองไม่ควรสร้างเงื่อนไข เช่น ‘หากทำงานบ้านแล้วจะได้รับอนุญาตให้ …’ (จงเติมคำในช่องว่าง) งานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้บอกว่าทำไมจึงไม่ให้สร้างเงื่อนไข แต่ผู้เขียนเข้าใจเอาเองว่าการสร้างเงื่อนไข เท่ากับบอกว่าการทำงานบ้านคือการแลกเปลี่ยน ไม่ใช่หน้าที่ และ ไม่ต้องทำก็ได้นะ ก็แค่ไม่ได้รางวัลหรือเงื่อนไขที่วางเอาไว้เอง
อยากให้ทำงานบ้าน หรืออยากให้ลูกทำการบ้าน หรือไม่อยากบังคับลูกให้ทำงานบ้าน?
เพื่อตอบข้อสังเกตดังกล่าว แอนโทเนียหยิบงานจากสถาบันวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (U.C.L.A.’s Center) สำรวจระหว่างปี 2001-2005 เป็นบันทึกวิดีโอกว่า 1,540 ชั่วโมง ของครอบครัวชนชั้นกลางจำนวน 32 ครอบครัวซึ่งมีรายได้จากทั้งสามีและภรรยาและมีลูกอย่างน้อย 2 คน ผลสำรวจพบว่า เกือบทุกครอบครัว พ่อแม่เป็นคนทำงานบ้านส่วนใหญ่เอง และถ้าลูกๆ ประสบปัญหาจากการทำงานบ้าน พ่อแม่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ยังพบว่า
- เด็กๆ 22 ครอบครัว เพิกเฉยหรือไม่ทำตาม เมื่อพ่อแม่ขอให้ช่วยทำงานบ้าน
- พ่อแม่ 8 ครอบครัว ไม่เคยขอให้เด็กๆ ช่วยงานบ้าน
- เด็กๆ 2 ครอบครัวช่วยเหลือพ่อแม่ทำงานบ้านอย่างแข็งขัน
ผลสำรวจที่ได้สวนทางกับงานสำรวจอีกชิ้นจากการพูดคุยกับผู้ใหญ่ชาวอเมริกัน 1,001 คน พบว่าผู้ที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เห็นด้วยกับทักษะที่ได้จากการทำงาน
- 75 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วยว่างานบ้านทำให้เด็กๆ มีความรับผิดชอบ
- 63 เปอร์เซ็นต์บอกว่างานบ้านทำให้เด็กๆ มีทักษะชีวิตที่ดี
- 82 เปอร์เซ็นต์บอกว่าพวกเขามีตารางการทำงานบ้านที่แน่นอนตั้งแต่เด็ก
- 56 เปอร์เซ็นต์บอกว่า พวกเขาสอนเด็กๆ ให้ทำงานบ้านด้วย
งานวิจัยสองชิ้นข้างต้นอาจหมายความว่า แม้ผู้ปกครองจะเห็นด้วยกับศาสตร์การทำงานบ้าน แต่ในทางปฏิบัติจริง อาจไม่เป็นอย่างนั้น!
จากนั้นแอนโทเนียสำรวจอีกครั้งแต่สัมภาษณ์เชิงลึกกับพ่อแม่จำนวน 1,050 คน ด้วยคำถามปลายเปิดที่ว่า ‘คุณไม่ชอบอะไรที่สุดในการเป็นผู้ปกครอง’ คำตอบส่วนใหญ่ที่เธอสรุปได้คือ ‘การบังคับ’ ให้ลูกทำตามกฎ โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวกับงานบ้าน
“ผู้ปกครองส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าเด็กๆ ควรทำงานบ้าน แต่เราไม่อยากบังคับพวกเขา” แอนโทเนียสรุปเช่นนั้น
แน่นอนว่างานสำรวจเฉพาะครอบครัวชนชั้นกลางและเลือกเอาจากแค่ 32 ครอบครัว หรือแค่ความเห็นของชาวอเมริกันเพียงพันคน อาจไม่ใช่ความจริงเดียวกับการเลี้ยงลูกของประชากรโลกกว่า 7,000 ล้านคน แต่หากเห็นด้วยกับงานวิจัยที่แอนโทเนียค่อยไล่เรียงหยิบยกมา จะเห็นประเด็นที่เธออยากชี้ว่า…
หลายครั้งผู้ปกครองเองเป็นผู้สร้างพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความสับสน ว่าอยากให้พวกเขาทำงานบ้าน ด้วยเหตุผลของการสร้างทักษะและวินัย แต่ก็ไม่อยากบังคับขู่เข็ญเอากับลูก หรือมีคำอธิบายคลาสสิก เช่น เด็กๆ ต้องทำการบ้าน, บอก (จนปากเปียกปากแฉะ) แล้วแต่เขาไม่ทำ, ไม่อยากบังคับลูกในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ (เก็บพลังไว้ต่อกรเรื่องอื่น)
ยังไม่รวมของสังเกตของริชาร์ด ไวสส์เบิร์ด (Richard Weissbourd) นักจิตวิทยา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ชี้ว่า แม้ผู้ใหญ่จะคาดหวังให้เด็กๆ มีคุณธรรม มีทักษะเอาตัวรอดและมีหัวใจที่เต็มพร้อมในการเป็นมนุษย์ แต่ดูเหมือนว่าเด็กๆ จะได้รับการสื่อสารที่ ‘สับสน’
จากการสำรวจเด็กนักเรียนจำนวน 10,000 คน จากโรงเรียนมัธยมต้นและปลายจำนวน 33 โรงทั่วประเทศ ระบุว่า เด็กๆ กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ให้คุณค่าเรื่องความสุขของตัวเองมากกว่าความสุขของคนอื่น และเห็นว่าพ่อแม่เขาก็จะคิดเช่นเดียววัน
“จากการสัมภาษณ์และสำรวจเด็กๆ ช่วงหลายปีที่ผ่านมาชี้ว่า พลัง อิทธิพล สารที่เด็กๆ ได้รับจากพ่อแม่เรื่องความสำเร็จและความสุข บดบังความต้องการที่ลึกยิ่งกว่า คือเรื่องการคิดถึงผู้อื่น” คุณหมอไวสส์เบิร์ดกล่าว
แอนโทเนียกล่าวสรุปบทความของเธอว่า งานบ้านอาจเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ภายใต้กิจวัตรประจำวันนี้คือทักษะชีวิตที่ฝังลึกและกอปรเป็นทักษะชีวิตที่ส่งผลยาวยิ่งว่า
และหากผู้ปกครองยังมีคำถามคาใจว่า ระหว่างงานบ้านกับหน้าที่ในชีวิตอื่นที่เด็กๆ ต้องทำ จะเลือกอะไรดี? แอนโทเนียกล่าวว่า “งานบ้านจะสร้างสมดุล”
ไม่จำเป็นต้องเลือกให้ยุ่งยากระหว่างงานบ้านหรือกิจกรรมอื่น เพียงทำให้งานบ้านเป็นหนึ่งในหน้าที่ ไม่ต้องบังคับ เพียงแต่ ‘ยืนยัน’ ว่าพวกเขาต้องจัดการให้เสร็จและพ่อแม่ไม่เข้าไปทำให้