Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
Learning Theory
5 August 2020

ทบทวนความจำ ลงรายละเอียด เขียนผังมโนทัศน์: 3 กลยุทธ์ฝึกสมองให้คิดอย่างลึกซึ้ง เข้าใจเนื้อหาที่เรียน

เรื่อง ปรียานุช ปรีชามาตย์

  • ทบทวนความจำ, ลงรายละเอียด และเขียนผังมโนทัศน์ 3 กลยุทธ์ฝึกสมองเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาที่เรียนพร้อมทั้งมีทักษะการเชื่อมโยงและการจัดระเบียบข้อมูล ซึ่งคุณครูสามารถนำไปประยุกต์ใช้ทั้งการสอนออนไลน์และการสอนในห้องเรียนปกติให้นักเรียนทุกคนมีส่วนร่วมและสนุกสนานไปด้วยกันได้

ทบทวนความจำ ลงรายละเอียด เขียนผังมโนทัศน์ กระตุ้นให้ผู้เรียนสร้างการเชื่อมโยงที่สมบูรณ์และมีความหมายยิ่งขึ้นในแต่ละบทเรียน โดย ดร.คริปา ศุนทัร (Kripa Sundar) นักวิจัยชาวอินเดียผู้มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการเรียนรู้ให้เด็กๆ มีส่วนร่วมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เธอได้เปิดตัวเว็บไซต์ Learning Incognito ศูนย์ทรัพยากรสำหรับผู้ใหญ่เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กๆ เพื่อให้คุณครูและผู้ปกครองสามารถนำเคล็ดลับที่เป็นผลผลิตจากงานวิจัยของเธอไปสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ

แผนการสอนเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาโรงเรียนแต่ละแห่งย่อมจัดการเรียนการสอนที่แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ ผู้บริหารต้องจัดการปัญหาเชิงสนับสนุนการทำงานของครูและนักเรียนต่างๆ นานา คุณครูต้องพิจารณาแผนการสอนของตัวเองแล้วปรับเปลี่ยนอยู่เสมอเพื่อให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและได้เรียนรู้มากที่สุด เมื่อต้องจัดการให้นักเรียนทุกคนมีส่วนร่วมเท่ากันนั้น แรงกดดันมหาศาลย่อมตกมายังคุณครู

ในบทความฉบับนี้จะเป็นการแบ่งปัน 3 กลยุทธ์ฝึกสมองเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาที่เรียนพร้อมทั้งมีทักษะการเชื่อมโยงและการจัดระเบียบข้อมูล ซึ่งคุณครูสามารถนำไปประยุกต์ใช้ทั้งการสอนออนไลน์และการสอนในห้องเรียนปกติให้นักเรียนทุกคนมีส่วนร่วมและสนุกสนานไปด้วยกันได้ ดังนี้

  1. ทบทวนความจำ
  2. ลงรายละเอียด
  3. เขียนผังมโนทัศน์

กลยุทธ์ที่ 1: ทบทวนความจำ (RETRIEVAL PRACTICE)

“การฝึกทบทวนความจำหรือการฝึกจำ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การเรียนรู้ที่สำคัญ” ข้อมูลดังกล่าวผ่านการวิเคราะห์จากผลการค้นคว้ากว่า 200 ฉบับ ในหัวข้อ Rethinking the Use of Tests (การสอบเป็นผลดีต่อการเรียนรู้หรือไม่) โดย ดร.คริปา ศุนทัร นักวิจัยชาวอินเดียและคณะ การฝึกทบทวนความจำคือการพยายามดึงความทรงจำเกี่ยวกับสิ่งที่เคยเรียนออกมาเขียน เล่า หรือวาดภาพ อันจะช่วยทำความเข้าใจบางหัวข้อที่อาจจำไม่ได้อย่างชัดเจน กระบวนการจดจำจะช่วยเสริมความจำของผู้เรียน นอกจากนี้ยังได้รับประโยชน์เพิ่มเติมในการระบุสิ่งที่พวกเขารู้และไม่รู้ ครูหลายคนเริ่มใช้กลยุทธ์นี้ในห้องเรียนแล้ว ซึ่งวิธีการเริ่มต้นฝึกให้เรียนทบทวนความจำมี 2 วิธีดังนี้

  1. ออกแบบคู่มือการเรียนที่มีแต่คำถาม ให้นักเรียนลองตอบคำถามจากบทเรียนโดยที่ครูยังไม่ต้องช่วยเหลือ เมื่อนักเรียนตอบเสร็จแล้ว ให้พวกเขาแลกเปลี่ยนคำตอบกับเพื่อน เขาสามารถค้นหาคำตอบที่ถูกต้องได้ด้วยตัวเองหรือจากการพูดคุยกับเพื่อน จากนั้นครูค่อยเฉลยคำตอบในตอนสุดท้าย
  2. กิจกรรมถ่ายโอนข้อมูลจากสมองสู่กระดาษ ให้นักเรียนเขียนบรรยายทุกอย่างที่เกี่ยวกับหัวข้อที่คุณครูกำหนดให้มากที่สุดเท่าที่นึกออกลงบนกระดาษ เช่น ในวิชาภาษาไทยคุณครูอาจตั้งโจทย์ว่า “คำซ้อนคืออะไร ยกตัวอย่างคำซ้อนให้ได้มากที่สุด” เมื่อนักเรียนได้รับโจทย์ก็จะโดนกระตุ้นให้เกิดการแข่งกับเพื่อนในห้องเรียนเพื่อคิดคำตอบให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ครูยังสามารถให้นักเรียนแลกเปลี่ยนคำตอบจากกระดาษของเพื่อนเพื่อช่วยเติมเต็มข้อมูลที่พวกเขาหลงลืม หรือเปรียบเทียบความเหมือนและความต่างของคำตอบแต่ละคน

กลยุทธ์ที่ 2 : ลงรายละเอียด (ELABORATION)

การลงรายละเอียด หรือการตอบคำถามอย่างละเอียดนั้น หมายถึงการขยายหัวข้อนั้นๆ ให้มีรายละเอียดมากขึ้น ทำให้สมองของเราสามารถเชื่อมโยงหัวข้อใหญ่หรือใจความหลักไปยังหัวข้อย่อยอื่นๆ  ยิ่งสร้างการเชื่อมโยงมากเท่าไหร่ก็ยิ่งจำข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อบทเรียนนั้นๆ ได้ดีขึ้น

นึกถึงวิธีคิดของกิจกรรมละลายพฤติกรรมด้วยการ “เล่าเรื่องตลกของตัวเองมา 1 ข้อ” ไม่เพียงช่วยให้สามารถจดจำความน่าสนใจของบุคคล แต่ยังช่วยให้นึกถึงคนๆ นั้นในทุกครั้งที่เจอสิ่งที่เกี่ยวของกับเขา เช่น คนนั้นชอบกินขนมบ้าบิ่น เราก็จะนึกถึงเขาทุกครั้งที่เห็นร้านขายขนมบ้าบิ่น

ในบริบทการเรียนรู้การลงรายละเอียดสามารถทำได้จากการตั้งคำถามเชิงลึกเกี่ยวกับเนื้อหาแทนที่จะถามคำถามทั่วไปที่ท่องจำได้ ผู้เรียนก็จะสามารถตอบได้ว่าอะไรคือคำตอบที่ถูกหรือผิด วิธีการนี้ง่ายมากๆ สามารถนำไปใช้ในห้องเรียนได้ ดังนี้

  1. ให้ผู้เรียนเปรียบเทียบความเหมือนหรือความต่างของแต่ละหัวข้อย่อยในบทเรียนนั้นๆ หรือให้ยกตัวอย่างในแต่ละหัวข้อที่เรียน เช่น หากเรียนเรื่องพลังงานหมุนเวียน ลองตั้งโจทย์ว่า “จงบอกความเหมือน 3 ข้อ และความต่าง 3 ข้อ ของพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์” แล้วให้เด็กๆ ยกมือตอบ หรือเขียนคำตอบสั้นๆ ส่งครูเพื่อเพิ่มสีสันและกระตุ้นการคิดให้กับเด็กๆ
  2. กิจกรรมจิ๊กซอว์ ที่มอบหมายข้อมูลให้นักเรียนแต่ละคนไปอธิบายให้เพื่อนในกลุ่มเข้าใจ เช่น ในวิชาสังคมคุณครูสามารถให้นับเลข 1-4  เพื่อให้นักเรียนอธิบายเรื่องอริยสัจ 4 โดยเลข 1 คือทุกข์, เลข 2 สมุทัย, เลข 3 นิโรธ, เลข 4 มรรค เริ่มต้นอาจให้นักเรียนที่ได้นับเลขเดียวกันมาถกเถียงกันเกี่ยวกับหัวข้อที่ตนได้ จากนั้นให้พวกเขากระจายไปรวมกลุ่ม 4 คนกับเพื่อนๆ หมายเลขอื่น โดยแต่ละกลุ่มต้องมีหมายเลขครบ 1-4 แล้วให้พวกเขาอธิบายแต่ละหัวข้อที่ตนเองได้รับให้เพื่อนในกลุ่มฟัง
  3. กิจกรรมบทบาทสมมติ ให้นักเรียนเล่นบทครูเพื่ออธิบายเนื้อหาที่เรียนแก่เพื่อนในห้อง สำหรับการเรียนออนไลน์คุณครูสามารถใช้แอปพลิเคชัน Flipgrid ที่เป็นเครื่องมือสำหรับการสอบพูด โดยคุณครูสามารถสร้างห้องเรียนได้ไม่จำกัด และกำหนดคำถามหรือคำชี้แจงเพื่อให้นักเรียนส่งคลิปวิดีโอคำตอบกลับมาได้

กลยุทธ์ที่ 3 : เขียนผังมโนทัศน์ (CONCEPT MAPPING) รวมกลยุทธ์ทั้งหมดเข้าด้วยกัน

การเขียนผังมโนทัศน์เป็นการรวม 2 กลยุทธ์การทบทวนความจำและการลงรายละเอียดเข้าด้วยกันโดยใช้วิธีวาดแผนผังความสัมพันธ์ของหัวข้อที่เรียน โดยแผนผังส่วนใหญ่มักประกอบด้วยอย่างน้อย 2 หัวข้อ จากนั้นจึงอธิบายความสัมพันธ์ของ 2 หัวข้อนั้นด้วยการนิยามสั้นๆ และการใช้ลูกศรโยงความสัมพันธ์ ภาษาในการเขียนแผนผังนั้นอาจไม่ถูกต้องมากนักเพราะต้องการความกระชับ 

ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนที่เรียนเรื่องแบคทีเรีย ก็สามารถวาดผังมโนทัศน์เกี่ยวกับหัวข้อที่เรียนได้ ดังนี้ “ประเภทของแบคทีเรีย” และ “Helicobacter pylori มีลักษณะอย่างไร” กิจกรรมนี้ช่วยให้ผู้เรียนสามารถอธิบายสิ่งที่พวกเขารู้และเชื่อมโยงแต่ละหัวข้อที่เรียนเข้าด้วยกันได้ ผลการทดลองกว่า 140 ครั้ง บอกว่ากลยุทธ์นี้ช่วยให้ผู้เรียนจำได้ดีกว่าการท่องจำปกติ เพราะมันกระตุ้นให้ผู้เรียนสร้างการเชื่อมโยงที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นและมีความหมายมากขึ้นในแต่ละหัวข้อ

ผังมโนทัศน์ช่วยให้ผู้เรียนเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างหัวข้อต่างๆ  เรื่อง “ประเภทของแบคทีเรีย”

การทำแผนที่มโนทัศน์มี 6 ขั้นตอน เริ่มต้นจากการที่ผู้สอนตั้งคำถามชี้นำที่เฉพาะเจาะจงให้ผู้เรียน

  1. ขั้นตอนการตั้งโจทย์ : ตั้งคำถามที่นำทางให้ผู้เรียนไปหาคำตอบ เช่น น้ำแข็งก่อตัวขึ้นได้อย่างไร?​ 
  2. ขั้นตอนการระดมสมอง (กลยุทธ์ฝึกฝนการทบทวนความจำ) : ให้ผู้เรียนทำกิจกรรมถ่ายโอนข้อมูลจากสมองสู่กระดาษ ตอบคำถามที่ครูถามว่า น้ำแข็งก่อตัวขึ้นได้อย่างไร?​ ลงในกระดาษให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะนึกออก 
  3. ขั้นตอนการจัดระบบ (กลยุทธ์ลงรายละเอียด) : ให้ผู้เรียนทบทวนคำตอบที่ได้มา แล้วหาหัวข้อใหญ่ที่ตอบคำถามคุณครูเพื่อนำไปวาดผังมโนทัศน์ พร้อมตั้งคำถามกับตัวเองว่าข้อมูลแต่ละส่วนเชื่อมโยงกันอย่างไร
  4. ขั้นตอนการเขียนโครงร่าง : ให้ผู้เรียนวาดแผนผังที่ใช้ลูกศรแสดงความสัมพันธ์ของข้อมูลตามความเข้าใจของตัวเอง เขียนหัวกระดาษด้วยหัวข้อใหญ่หรือใจความหลัก เช่น การก่อตัวของน้ำแข็ง แล้วเชื่อมโยงข้อมูลแต่ละหัวข้อเข้าด้วยกัน
  5. ขั้นตอนการเชื่อมโยง : ตอนนี้พวกเขาวาดร่างที่หนึ่งเสร็จแล้วโดยการวาดลูกศรและเขียนคำอธิบาย   เช่น หากพวกเขาเริ่มเขียนลงไปว่า “น้ำแข็ง” และ “ของแข็ง” พวกเขาสามารถเขียนกำกับที่ลูกศรด้วยคำว่า “เป็น” สิ่งนี้ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์น้ำแข็งต่อหลายๆ ประเด็น 
  6. ขั้นตอนการแก้ไขและปรับปรุง : ไม่มีแผงผังใดที่สมบูรณ์แบบในครั้งแรก ให้โอกาสผู้เรียนได้แก้ไขและปรับปรุงแผนผังตามความเข้าใจของพวกเขา

เคล็ดลับสุดท้าย : ไม่จำเป็นต้องใช้ทุกกลยุทธ์ในทุกบทเรียน คุณสามารถเลือกใช้ให้เข้ากับเนื้อหาที่จะสอน เริ่มจากสิ่งเล็กๆ แล้วค่อยๆ สร้างความคุ้นชิน กลยุทธ์เหล่านี้ได้ผลเพราะสามารถดึงดูดความสนใจของผู้เรียนและช่วยให้พวกเขาทำความเข้าใจเนื้อหาได้ลึกซึ้งขึ้น

อ้างอิง
3 Brain-Based Strategies That Encourage Deeper Thinking

Tags:

เทคนิคการสอนAdolescent Brainวิทยาศาสตร์สมองกลยุทธ์ฝึกสมอง

Author:

illustrator

ปรียานุช ปรีชามาตย์

นิสิตภาควารสารที่สมัครฝึกงานกับ The Potential เพราะชอบสีม่วง แต่ดันค้นพบสีสันมากมายระหว่างบรรทัดที่ได้ลองเขียน ชอบหนีออกจากบ้านไปเที่ยวตามตรอกเพื่อคุยกับแมวจร รอ fromis_9 คัมแบคมา 1 ปีแล้ว

Related Posts

  • Adolescent Brain
    ใน “การเรียนรู้” สมองทุกส่วนมีหน้าที่สำคัญทั้งสิ้น

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Family Psychology
    พ่อแม่ห้ามด้วยความเป็นห่วงแต่ลูกตีความว่าถูกตำหนิ และอีกหลายความขัดแย้งในบ้าน อ่านวิธีคลี่คลายที่นี่

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา ภาพ เพชรลัดดา แก้วจีน

  • Learning Theory
    ‘ความรู้สึก’ ส่วนผสมหลักในการเรียนรู้ ประตูสู่การเรียนรู้ไม่รู้จบ

    เรื่อง The Potential ภาพ PHAR

  • Adolescent Brain
    ห้องเรียนเพื่อพัฒนาการสมอง: เมื่อความรู้นอกห้องสนุกกว่า ห้องเรียนสี่เหลี่ยมจะอยู่อย่างไร?

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel