- การเเสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเเละรุนเเรงของนักเรียน ไม่ได้แปลว่าพวกเขาคือเด็กก้าวร้าว เเต่อาจมาจากประสบการณ์ในชีวิตที่ได้รับมาจนเกิดเป็นบาดเเผลที่ยังรักษาไม่หาย ครูจะต้องทำความเข้าใจความรู้สึกของพวกเขาเเละไม่ตัดสินจากการกระทำนั้น
- ประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กส่งผลต่อความสามารถในการเรียนรู้ นักเรียนที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเอง รวมถึงการเเสดงพฤติกรรมต่อต้านเเละใช้ความรุนเเรงโดยไม่มีสาเหตุมักถูกลงโทษเเละไล่ออกจากโรงเรียน โรงเรียนแห่งหนึ่งในเมืองบาร์เทิลสวิลล์ (Bartlesville) รัฐโอคลาโฮมา จึงอยากแก้ปัญหาแเละพยายามหาทางช่วยเหลือนักเรียน
- เพราะอยากแก้ที่ต้นเหตุโดยเฉพาะบาดแผลทางใจที่มาจากทางบ้าน หลักสูตร ATLAS (Alternative Therapeutic Learning Academic Setting) จึงเกิดขึ้น โดยเน้นการสร้างเเละออกเเบบสภาพเเวดล้อมที่มาจากความต้องการของนักเรียน มากกว่าการทำแบบฝึกหัด โปรเจค หรืองานกลุ่ม
ในช่วงเวลาที่คุณครูจะต้องรับมือกับนักเรียนที่เเสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมเเละรุนเเรง เพราะไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ระหว่างการเรียน เช่น การปาข้าวของ หรือก่อกวนระหว่างเรียน ทำให้คุณครูต้องเเยกพวกเขาออกมาจากห้องเรียน คงเป็นเรื่องยากที่คุณครูจะรับมือ เพราะไม่รู้ว่าควรจะทำสิ่งไหนก่อน สอนก็ต้องสอน นักเรียนก็ต้องดูเเล เเล้วนักเรียนคนอื่นในห้องจะปลอดภัยไหม
เเต่การเเสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเหล่านั้นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาคือเด็กก้าวร้าว เเต่อาจจะมาจากประสบการณ์ในชีวิตที่เขาได้รับมาจนเกิดเป็นบาดเเผลที่ยังรักษาไม่หายในใจของนักเรียน ทั้งเรื่องราวในครอบครัว สังคม เเละการดำเนินชีวิต ดังนั้น คุณครูจะต้องทำความเข้าใจความรู้สึกของพวกเขาเเละไม่ตัดสินจากการกระทำนั้น
ห้องเรียนในโรงเรียน Bartlesville’s Ranch Heights Elementary School รัฐโอคลาโฮมา สหรัฐอเมริกา สร้างหลักสูตร ATLAS ที่จะทำให้นักเรียนเข้าใจเเละจัดการอารมณ์ด้วยตัวพวกเขาเอง เมื่อ 2 ปีก่อน คุณครูเเฮเตอร์ บอยล์ (Heather Boyle) คุณครูประถมที่ผ่านการสอนมานานกว่า 23 ปีก็เผชิญกับเหตุการณ์เเบบนี้เช่นกัน ระหว่างที่เธอสอนวิชาคณิตศาสตร์ นักเรียนชั้น ป.1 เเล้วเบ็น (Ben – ชื่อสมมติ) คลานไปใต้โต๊ะที่นักเรียนคนอื่นกำลังนั่งเรียนอยู่ จนทำให้พวกเขาไม่พอใจ เมื่อบอยล์เรียกให้เขาขึ้นมาเรียน เบ็น ก็ตะโกนขึ้นมาด้วยความโกรธว่า “ผมไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับวิชาคณิตศาสร์หน้าโง่นี้ดี”
เเม้ว่าเบ็นจะโกรธมาก เเต่บอยล์กลับพูดด้วยความใจเย็นว่าเธอจะอยู่ข้างๆ เเละช่วยเหลือเขา เเทนที่เบ็นจะใจเย็นลง เเต่กลายเป็นว่าเขาโกรธมากกว่าเดิมเเล้วเริ่มปาข้าวของ ทำให้บอยล์จัดการห้องเรียนด้วยการโทรศัพท์เรียกหัวหน้าคุณครู เเละรอจนกว่านักเรียนของเธอจะอารมณ์เย็นลง
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเเสดงให้เห็นว่าเบ็นจัดการอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ทำให้มีพฤติกรรมก่อกวนในห้องเรียน เเต่ความจริงเเล้วเบ็นเป็นเด็กฉลาด อารมณ์ดี ช่วยสร้างรอยยิ้มจากเรื่องราวที่เขาเล่าเเละเข้าใจคนอื่นเสมอ ชอบวิชาวิทยาศาสตร์เเละโปเกมอน
สิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียนของบอยล์ไม่ใช่ครั้งเเรก เพราะในปี 2018 โรงเรียนประถมในเมือง Bartlesville รัฐโอคลาโฮมา สหรัฐอเมริกา สถานการณ์เเบบนี้เกิดเป็นเรื่องปกติในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จนโรงเรียนเริ่มสังเกตเห็นถึงปัญหานี้เเละพยายามหาทางช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มนี้ เเละสร้างสภาพเเวดล้อมที่ปลอดภัยให้พวกเขา เพราะนักเรียนที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเอง รวมถึงการเเสดงพฤติกรรมต่อต้านเเละรุนเเรงโดยไม่มีสาเหตุ หรือเรียกว่า room clearers มักถูกลงโทษเเละไล่ออกจากโรงเรียน
หลักสูตร ATLAS กับวิชาเรียนรู้ตนเอง ให้นักเรียนบรรเทาบาดเเผลในใจด้วยตัวเอง
หลังจากโรงเรียนมองเห็นเหตุการณ์เรื่องการเเสดงพฤติกรรมของนักเรียนมากขึ้น ก็พบว่า มาจากเรื่องราวที่สร้างบาดเเผลในใจของเด็กในอดีต จึงเป็นที่มาของ ATLAS (Alternative Therapeutic Learning Academic Setting) Program ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เน้นการสร้างเเละออกเเบบสภาพเเวดล้อมที่มาจากความต้องการของนักเรียน มากกว่าการทำแบบฝึกหัด โปรเจค หรืองานกลุ่ม โดยงานวิจัยของโรงเรียนที่ร่วมมือกับศูนย์สุขภาพของชุมชนสนับสนุนหลักสูตรนี้ว่า การสอนเเบบ ATLAS จะช่วยสร้างประสบการณ์ในการจัดการบาดเเผลในใจเเละกระบวนการเรียนรู้ให้กับนักเรียนจนเรียนในห้องเรียนปกติได้
นอกจากนั้น ประสบการณ์เเละความทรงจำไม่ดีในวัยเด็กซึ่งมักจะมาจากเหตุการณ์ทั่วไปที่เกิดขึ้นในชีวิต เช่น การหย่าร้างหรือการสูญเสียคนรัก เเละอาจจะเป็นประสบการณ์ที่ส่งผลต่อจิตใจ เช่น การละเมิดทางร่างกาย การละเมิดทางเพศ พ่อเเม่ติดยาเสพติด หรือออกจากบ้านเพราะการลี้ภัย จะส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กในระยะยาว ซึ่งสามารถวัดระดับประสบการณ์เหล่านั้นได้ว่ามีผลต่อจิตใจเรามากเเค่ไหนในช่วง 17 ปีเเรกของชีวิตจากคะเเนน ACE (Adverse Childhood Experience)
ทำแบบประเมิน ACE ที่ถูกพัฒนาให้เป็นปัจจุบันได้ที่นี่
งานวิจัยของ Education Law Center ชี้ให้เห็นว่านักเรียนที่มีคะเเนน ACE สูงจะเจอปัญหาการเรียน เพราะความบอบช้ำเเละบาดเเผลในจิตใจของนักเรียนที่ทำให้เกิดความเครียดเเละความกังวล ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาสมองเเละการรับมือกับอารมณ์ จึงแสดงพฤติกรรมที่รุนแรงออกมาโดยไม่รู้สาเหตุ ทำให้พวกเขาต้องใช้เวลาในการปรับตัวหากต้องเรียนร่วมกับเพื่อนๆ ในห้องเรียน เเละเด็กๆ ที่มีคะเเนน ACE สูงที่สุดก็คือเด็กในเมืองโอคลาโฮมานั่นเอง ทั้งอัตราการกักขังชาย หญิง เเละผู้ต้องขังที่สร้างความไม่สบายใจเเละความทุกข์ให้กับนักเรียน
ดังนั้น ห้องเรียน ATLAS ครูบอยล์ ครูผู้ช่วย นักบำบัด เเละนักกิจกรรม จึงร่วมกันออกเเบบห้องเรียนที่เรียกว่า ‘วิชาเรียนรู้ตนเอง’ (self-contained classroom) เป็นเวลาครึ่งวันที่จะทำให้นักเรียนได้เรียนทั้งวิชาการ ทักษะการเข้าสังคม เเละเรียนรู้อารมณ์ของตนเองได้ที่โรงเรียน โดยนักเรียนป.2 จะเรียนในครึ่งวันเช้า เเละนักเรียนป.3 – ป.5 เรียนในช่วงบ่าย ส่วนอีกครึ่งวันที่เหลือจะเปิดโอกาสให้นักเรียนทำกิจกรรมของชมรมในชุมชน เเละทีมคุณครูก็หวังว่านักเรียนจะใช้เวลากับการเรียนรู้ตัวเองทั้งวัน
อีกทั้งหลักสูตรนี้ยังเป็นการหลอมรวมการวิจัยด้านการศึกษาเเละจิตวิทยาที่เเสดงให้เห็นว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการสอนนักเรียนที่มีบาดเเผลหรือผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายมา คือการส่งเสริมให้นักเรียนเข้าใจความรู้สึกของตนเอง เมื่อคุณครูเข้าใจความกังวลของพวกเขาเเล้ว เช่น การใช้เสียง การสัมผัส เเละมองเห็นความไม่สบายใจของนักเรียนได้เร็วก็จะช่วยลดการเกิดสถานการณ์ที่เขาเเสดงพฤติกรรมรุนเเรงออกมาได้ทันเวลา
กิจกรรมสร้างจังหวะเเละการลงมือทำ ทำให้นักเรียนเข้าใจอารมณ์ของตัวเอง
นอกจากนี้ เนื่องจากเมื่อสมองสั่งการเเละทำซ้ำ (repetition and order) จะทำให้สมองของเด็กพัฒนาเเละเติบโต ดังนั้น การสอนให้พวกเขาเข้าใจตนเองสามารถออกเเบบกิจกรรมสร้างจังหวะประกอบการสอนในรายวิชาทั่วไปได้ เพราะบอยล์เองก็ใช้กิจกรรมเหล่านี้สร้างความสนุกให้กับเด็กๆ ก่อนเริ่มเรียนโดยใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือสร้างจังหวะ เช่น จังหวะกลอง การหายใจ หรือ การสร้างภาพประกอบเสียง
กิจกรรมของคุณครูบอยล์ ไม่ใช่เเค่สร้างความสนุกเท่านั้น เเต่ยังช่วยขยายคำศัพท์ให้เด็กๆ ทำให้พวกเขาเเสดงอารมณ์ของตัวเองมาได้เต็มที่ ด้วยการเล่นบทบาทสมมติจำลองการกินอาหารกลางวันกับครอบครัว ซึ่งถือเป็นการเรียนรู้ทักษะสังคม (Social Skills) เเละความกล้าที่จะลงมือทำ (do-overs)
ยกตัวอย่างเช่น ถ้ากระเป๋าถูกโยนด้วยความโกรธ เเล้วเด็กเดินไปหยิบมันขึ้นมา หมายความว่าเราเปิดโอกาสให้เขาลองเผชิญเเละควบคุมสถานการณ์นั้นด้วยตัวเขาเอง เพราะพวกเขาจะมีวิธีจัดการหรือเเก้ปัญหาต่างกัน ถึงเเม้ว่าเด็กๆ จะใช้เวลานานเเค่ไหน เเต่ตัวเขาก็จะชื่นชมเเละฉลองให้กับสิ่งที่พวกเขาลงมือทำ
“บางครั้งเราเห็นเด็กลงมือทำด้วยตัวเขาเองหรือถามว่าเขาจะทำอะไรได้บ้าง ทำให้เห็นว่าพลังของการลงมือทำมันสุดยอดจริงๆ”
ตัดภาพมาที่เคสของเบ็นที่เเสดงความโกรธในวิชาคณิตศาสตร์เพราะไม่รู้ว่าจะเเก้ปัญหาโจทย์คณิตศาสตร์อย่างไร เมื่อคุณครูสั่งงาน เขาจะเเสดงความกังวลเเละไม่สบายใจ ดังนั้น บอยล์ คุณครูของเขาจึงเเบ่งงานชิ้นใหญ่ให้เล็กลง เเล้วพบว่าการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่เเตกต่างให้กับเบ็น ช่วยทำให้เขาสบายใจมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น คุณครูยังสร้างความตระหนักเเละเข้าใจจังหวะการเต้นของหัวใจที่จะช่วยให้เบ็นเข้าใจเอารมณ์โกรธของตนเองเเละจัดการอารมณ์ของตนเองได้
ห้องเรียน ATLAS นอกจากสร้างประสบการณ์เเละการเรียนรู้ให้นักเรียนเเล้ว ยังสอนทักษะการสอนให้กับครูด้วย เพราะการสอนวันเเรกของบอยล์ เธออยากพานักเรียนทั้งหมด 12 คนไปที่สนามเด็กเล่น เเต่เรื่องที่เธอควบคุมไม่ได้ เพราะระหว่างทางเดิน เด็กๆ กระโดด เเกล้งกัน หรือเดินเเตกเเถวไปตรงบอร์ดของโรงเรียน วันต่อมาเธอดึงความสนใจของนักเรียนด้วยการตบมือเเละจับจังหวะการเดิน ทำให้บรรยากาศการเดินเเถวเปลี่ยนไปจากวันก่อนอย่างสิ้นเชิง
“เด็กๆ ไม่ได้ต้องการให้ครูเข้ามาเเทรกเเซงการเรียนของเขา เเต่ต้องการครูที่เข้าใจว่าพวกเขาอยากเรียนเเบบไหนเเละต้องการอะไร”
ลดกำเเพงระหว่างครูนักเรียน – ทำให้พ่อเเม่เข้าใจ สร้างความรู้สึกร่วมในการสร้างห้องเรียน
อีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือการสร้างความไว้ใจเเละความรู้สึกร่วมกับนักเรียน บอยล์ใช้วิธีติดต่อกับนักเรียนผ่านการพูดคุยทางโทรศัพท์ อีเมล จดหมาย หรือการไปหาพวกเขาที่บ้านตั้งเเต่ปิดเทอมช่วงซัมเมอร์ เเละพอเปิดเทอม ก็เป็นเวลาที่คุณครูเเละนักเรียนจะร่วมสร้างห้องเรียน ATLAS ที่จะทำให้นักเรียนรู้จักการรวมกลุ่มเเละรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ห้องเรียนซึ่งเป็นสถานที่การเรียนรู้ของพวกเขา บอยล์ให้เด็กๆ ทักทายกันในรูปเเบบที่เขาอยากทำ เช่น การเเปะมือหรือการเกี่ยวก้อย ในเเต่ละวันของการมาโรงเรียน เเละเเชร์บางส่วนของชีวิตเธอให้กับเด็กๆ
ความตั้งใจที่อยากให้ไม่มีกำเเพงระหว่างครูเเละนักเรียน เป็นเพราะประสบการณ์ในวัยเด็กของเธอที่เติบโตมาในครอบครัวที่พ่อพยายามเลิกยาในช่วงสงครามเวียดนาม ทำให้เเม่ต้องเลี้ยงดูครอบครัวเพียงลำพัง สถานที่เดียวที่เหมือนสถานที่ปลอดภัยของเธอในช่วงนั้นคือโรงเรียน เพราะคุณครูให้เธอทำการบ้านที่โรงเรียนขณะที่บ้านเธอไฟดับ เเละให้ครอบครัวมางานโรงเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพื่อให้กำลังใจพี่ชายที่เป็นนักกีฬา หรือวันที่เธอไม่กินข้าวกลางวันเพราะอายว่าเพื่อนจะเห็นบัตรอาหารกลางวันฟรี เเล้วครูเห็น เขาไปบอกโรงเรียนให้ออกบัตรที่เเตกต่างจากเดิมให้เธอกล้าจะมากินข้าวกลางวัน “ฉันพูดเสมอว่าครูช่วยฉัน เพราะฉันคิดว่าเขาดูเเลฉันตลอด” บอยล์เล่า
เรื่องราวที่ผ่านมาในชีวิตของบอยล์ ไม่เพียงช่วยให้เธอเขาถึงความรู้สึกของนักเรียนเท่านั้น เเต่รวมถึงพ่อเเม่หลายคนที่มีบาดเเผลในใจเช่นกัน
“สิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องยากคือการสร้างความเข้าใจกับพ่อเเม่ ว่าฉันไม่ได้อยู่ตรงนี้เพื่อตัดสินพวกเขา เเต่อยู่เพื่อช่วยลูกๆ ของพวกเขา เเละบอกว่าฉันก็ผ่านเรื่องราวไม่ต่างจากพวกเขา มันโอเคที่เราจะอยู่ตรงนี้เพื่อช่วยดูเเลเด็กๆ ร่วมกัน” เธอเล่า
หลักสูตร ATLAS ยังคงใหม่เเละยังไม่ได้รับความนิยม เเต่ประสบความสำเร็จ เพราะก่อนที่โรงเรียนจะปิดลงเพราะการเเพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บอยล์ คุณครูที่ออกเเบบหลักสูตรพบว่า นักเรียนเข้าเรียนมากขึ้นเเละการพักการเรียนลดลง เช่น นักเรียนคนหนึ่งของเธอที่มีปัญหาเรื่องการเเสดงพฤติกรรมมักถูกส่งกลับบ้านบ่อยๆ จนเเม่ของเขาไม่สามารถหางานได้เเละกลายเป็นคนว่างงาน เเต่หลังจากที่นักเรียนคนนั้นเข้าร่วมหลักสูตรนี้ เธอก็มีโอกาสกลับมาเรียนต่อ เเม่ของเธอสามารถหางานทำได้เเละกำลังย้ายครอบครัวออกจากศูนย์พักพิงคนไร้บ้าน
รวมถึงเบ็น นักเรียนที่เข้าร่วมหลักสูตร ATLAS เพราะเขาได้รับการดูเเลจากบอยล์เเละทีมงานของเธอ ทำให้เขาจะได้กลับไปเรียนในห้องเรียนปกติในฤดูใบไม้ผลินี้
โรงเรียนของบอยล์ในสหรัฐอเมริกาก็ต้องเผชิญกับการปิดโรงเรียนด้วย เปลี่ยนไปเป็นการเรียนออนไลน์ ซึ่งจำกัดรูปเเบบการเรียนรู้ไม่ต่างจากโรงเรียนในประเทศไทย ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ นักเรียนส่วนใหญ่ของเธออยู่ในครอบครัวที่มีรายได้น้อย ไม่มีอุปกรณ์สำหรับการเรียน หรืออาจจะมีอุปสรรคจากสัญญาณอินเทอร์เน็ต บางคนเรียนระหว่างที่เขาออกจากบ้าน เพราะถูกพ่อทำโทษ รวมถึงอยู่ในบ้านที่ไม่ได้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพวกเขา ทำให้เด็กๆ พลาดเวลาเรียนไป บอยล์จึงตัดสินใจเตรียมอุปกรณ์การเรียน อาหาร หนังสือเรียน เเละเกมส์ที่เขาต้องการสอนในห้องเรียน เรียกว่า Porch bags ให้กับเด็กๆ ทุกวันศุกร์
เเม้ว่าการเรียนออนไลน์จะส่งผลกระทบต่อบาดเเผลในจิตใจของเด็ก เพราะการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นลดลง เเต่บอยล์วางใจ เนื่องจากเธอรู้ว่าเธอจะช่วยเหลือนักเรียนอย่างไรเมื่อเปิดเรียน เช่น การตีกลอง การฝึกมารยาทบนโต๊ะอาหาร การเรียนรู้อารมณ์ความรู้สึก ที่จะช่วยพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์เเละการอ่าน
ประสบการณ์ที่สร้างบาดเเผลในใจของมนุษย์ทุกคนต้องใช้เวลาในการเยียวยา เเต่สำหรับเด็กๆ ที่พวกเขาต้องอยู่ในสภาพเเวดล้อมที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถรักษาเเผลเหล่านั้นได้ โรงเรียนเป็นสถานที่สำคัญที่จะช่วยให้พวกเขาเข้าใจความรู้สึกเเละจัดการอารมณ์ของตัวเอง รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของห้องเรียนได้โดยไม่ถูกมองว่าเขาคือเด็กก้าวร้าวเเละรุนเเเรง
เมือง Bartlesville ที่ตั้งของโรงเรียนที่ออกเเบบหลักสูตร ATLAS เป็นเมืองเล็กๆ สำหรับครอบครัว มีประชากรประมาณ 36,000 ครัวเรือน ในวันเสาร์อาทิตย์ ผู้ปกครองจะพาเด็กไปเที่ยวสวนสนุกราคาถูกที่ Kiddie Park Amusement Center หรือไปซื้อขนมปังอบเชยที่ Pioneer Woman Mercantile อีกทั้งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทพลังงานข้ามชาติ โคโนโคฟิลลิปส์ (ConocoPhillips) เนื่องจากเป็นเมืองน้ำมันเเละเเก๊ส ซึ่งพ่อเเม่ของนักเรียนที่บอยล์ดูแล ทำงานอยู่ ทั้งงานด้านบัญชีหรืองานประจำเเท่งขุดเจาะน้ำมัน รวมถึงส่วนใหญ่ประชากรในเมืองเป็นชนพื้นเมืองผิวขาวเเละมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่ารายได้ครัวเรือนของสหรัฐอเมริกาอยู่ 10% ทำให้นักเรียนของบอยล์ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ยากจน |