- เมื่อ ‘Active learning’ หรือการเรียนรู้เชิงรุก เข้ามามีอิทธิพลอย่างมาก ย่อมเกิดข้อถกเถียงที่ว่า อะไรคือความหมายที่แท้จริงหรือที่ควรจะเป็นกันแน่
- ความหมายที่มีร่วมกันของ Active learning ก็คือการกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ การคิด และการปฏิบัติ
- ในแง่หนึ่ง Active learning เป็นการเมืองของการศึกษา ที่ทำให้ความหมายของการศึกษาและการสอนแคบลง ทำให้เรามีวิธีคิดและการมองโลก มองนักเรียนของเราแบบหนึ่งขึ้นมาด้วยเช่นกัน
นับตั้งแต่แนวคิดการศึกษาในศตรวรรษที่ 21 เข้ามาเป็นแนวคิดกระแสหลักในแวดวงการศึกษาไทย การปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนรู้ที่ต่างไปจากเดิมได้ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในประเด็นบทบาทของครูที่ต้องกลายเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ (teacher as facilitator) หรือครูเป็นโค้ช มากกว่าเป็นผู้สอนที่ยืนอยู่หน้าชั้นเรียนเพื่อบรรยายและส่งต่อความรู้ไปยังนักเรียน แนวคิดดังกล่าวทำให้กระแสการเรียนรู้เชิงรุก ‘Active Learning’ หรือ AL กลายเป็นทั้งเป้าหมายและแนวทางที่ทั้งกระทรวงศึกษาธิการและสถาบันผลิตครูต่างนำไปตีความและปรับใช้กันอย่างแข็งขัน เพื่อหวังจะสร้างและพัฒนาครูให้มีทักษะและความสามารถในการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดนี้
จากกระแสดังกล่าว การอบรม โครงการ การประชาสัมพันธ์ คู่มือต่างๆ จำนวนมากที่มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ AL อย่างจริงจังถูกสร้างสรรค์และนำเสนอตลอดช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าไม่ว่าจะหันหน้าไปทางใด คำว่า Active Learning ก็ปรากฏอยู่ให้เห็นอยู่ตลอดเวลา ราวกับว่าผู้คนในวงการการศึกษาต่างพยักหน้ายอมรับไปในตัวว่า AL นี่แหละคือทางออกสำคัญของปัญหาการศึกษาที่เป็นอยู่ จนดูเหมือนว่ามันกลายเป็นยุค ‘อะไรอะไรก็ต้องเป็น Active Learning’ ไปเสียแล้ว
แน่นอนว่า เมื่อ ‘Active Learning’ เข้ามามีอิทธิพลอย่างมาก ย่อมเกิดข้อถกเถียงที่ว่าอะไรคือความหมายที่แท้จริงหรือที่ควรจะเป็นของ Active Learning กันแน่
ในมุมมองหนึ่ง AL ถูกนิยามความหมายผ่านการนิยามสิ่งที่เป็นขั้วตรงข้าม การสอนแบบบรรยายจึงถูกประเมินว่าไม่ active เพราะเด็กฟังอย่างเดียวทำให้เกิดการเรียนรู้แบบ passive ในขณะที่กระบวนการและกิจกรรมในรูปแบบอื่นๆ ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม Active Learning เพราะผู้เรียนไม่ได้ถูกสอนแต่ได้เรียนรู้เอง แต่ในบางแง่มุมก็มีความพยายามโต้แย้งว่าการสอนแบบบรรยายก็เป็น AL โดยไม่จำเป็นต้องมีกิจกรรมการเรียนรู้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการให้นักเรียน active ไปกับส่วนไหน อาทิ ร่างกาย สมอง ความรู้สึก เป็นต้น แต่ท้ายที่สุด ความหมายที่มีร่วมกันของ AL ก็คือการกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ การคิด และการปฏิบัติ
ความเป็นการเมืองของ Active Learning
ข้อเขียนนี้ไม่ได้ต้องการนำเสนอความหมายและหลักการว่า AL ควรเป็นอย่างไร แต่ต้องการเสนอข้อสังเกตบางประการถึง Active Learning ในฐานะ ‘ประดิฐกรรมการเรียนรู้’ (learnification) ที่ตัวมันเองได้ซ่อนนัยยะบางอย่างเอาไว้
ประการแรก การทำให้ AL ดูเสมือนเป็นคำตอบหลักของการศึกษาในช่วงเวลานี้ อาจนำมาสู่ปัญหาใหญ่นั่นคือ การทำให้ความหมายของการสอนหรือการคิดเรื่องการศึกษาแคบลง พูดให้ชัด AL ทำให้เราติดอยู่กับการคิดว่าวิธีสอนแบบไหนเป็น active หรือ passive อยู่ตลอดเวลา เราจะเห็นว่าครูมักจะมีคำถามเกี่ยวกับการสอนของตัวเองเสมอๆ ว่า “นี่เป็น Active Learning หรือยัง?” หรือพยายามค้นหาเทคนิควิธีการว่าจะทำให้ห้องเรียนตัวเองเกิด Active Learning ได้อย่างไร คำถามของครูจึงวนเวียนอยู่เพียงเรื่องจำพวกเทคนิควิธีการ action และ reaction ว่าจะทำอย่างไรให้เกิด active และลดความเป็น passive ให้มากที่สุด ยังปรากฏชัดในแผนการสอนที่นักศึกษาครูมักจะถูกสอนว่า ต้องเขียนแผนการสอนที่นักเรียนต้องขึ้นต้นเป็นประธานของการเรียนรู้ เพื่อที่จะบอกว่าแผนการสอนของตนเป็นไปตาม AL แล้ว เหล่านี้ได้พาให้เราติดอยู่กับคำถามที่ว่า แบบไหน active และ active กว่า active ที่แท้จริง และ active ที่แท้จริงกว่า
จะเห็นได้ว่า AL สามารถกำหนดทิศทางของการพูดคุยเรื่องการสอนและการศึกษาให้อยู่ในกรอบของ ‘ประสิทธิภาพ’ ได้อย่างแข็งขัน สอดรับกับการวิจัยที่มีอยู่อย่างมากมายในสถาบันผลิตครูที่มักจะมุ่งหาวิธีการ…เพื่อเพิ่ม/พัฒนา/ส่งเสริมทักษะ…ของนักเรียน ที่ท้ายสุดเราก็จะตกอยู่ในกรอบของการคุยกันเพียงเพื่อจะทำอย่างไรให้บทเรียนมีประสิทธิภาพได้มากที่สุด ส่วนนิยามการสอนถูกมองเป็นแค่สองความหมาย คือ active และ passive จนดูเหมือนว่าการสอนเป็นเพียงเรื่องของการควบคุมและอำนาจในการบงการการเรียนรู้เท่านั้น
ประการที่สอง AL ทำให้เราติดอยู่กับแค่เรื่องการปรับแต่งเทคนิควิธีการ เหมือนเราเป็นเพียงช่างเทคนิคที่ต้องพยายามปรับแต่งและค้นหาวิธีการ AL ที่ดีกว่า มาใช้กับนักเรียนให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เมื่อนักเรียนไม่ได้มีส่วนร่วมในบทเรียน พวกเขาส่ายหน้าหนีจากการเรียน สมมติฐานที่จะถูกมองเห็นก็คือการปรับแต่ง AL ของครูยังไม่ดีพอ แก้ได้ด้วยการหาวิธีการที่ต้อง active มากขึ้น มากไปกว่านั้น ผลลัพธ์ที่ไม่คาดฝันก็คือครูจำนวนหนึ่งเลือกชี้นิ้วไปยังนักเรียนว่าทำให้ AL ไม่บรรลุผลเพราะเป็นวัตถุดิบที่ยังไม่ดีพอ แม้ตัวครูเองจะพยายามปรับเปลี่ยนวิธีการตระเตรียมวัตถุดิบแล้วก็ตามที
นี่คือความเป็น AL ที่ได้สร้างวิธีคิดซ้ำๆ ให้เรามองชั้นเรียนเป็นเสมือนโรงงาน ที่เมื่อนำเข้าเครื่องจักรการผลิตแบบใหม่เข้ามาแล้ว ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของนักเรียนในฐานะผลผลิตก็ควรจะออกมาดีด้วย แต่หากไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดี เจ้าของโรงงานก็ต้องปรับแต่งวิธีการเสียใหม่ แต่หากไม่ได้ตามที่หวังอีก นั่นก็อาจเป็นเพราะวัตถุดิบต้นทางไม่ดีนั่นเอง
การมองเช่นนี้ ยังทำให้เราจมอยู่กับคำถามซ้ำๆ ที่ว่า ต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถ ‘ควบคุม’ ให้เป็น AL มากที่สุดในชั้นเรียน ไปพร้อมกับควบคุมให้เกิดผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ (ซึ่งก็คือนักเรียน) ให้ได้มากที่สุด เราอาจคุ้นเคยกับประสบการณ์ที่เพื่อนครูแชร์ให้ฟัง เช่นว่า “อยากจัดการเรียนรู้แบบ AL แต่กลัวเด็กจะไม่ให้ความร่วมมือ ควรมีวิธีการอย่างไรดี” หรือ “ทำอย่างไรดี พอจะจัด AL แล้วนักเรียนวิ่งเล่นเสียงดังตลอด” คำถามเหล่านี้สะท้อนถึงความพยายามควบคุมให้นักเรียนอยู่ในร่องรอยของ AL ให้ได้มากที่สุด นักเรียนจะต้องไม่เดินแตกแถวไปจากมัน แล้วก็ต้องได้ผลลัพธ์ที่ดีด้วยเช่นกัน
พูดแบบบ้านๆ ดูเหมือนว่า AL ได้กลายเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดหรือวัตถุประสงค์การเรียนรู้ของแต่ละวิชา ที่ครูต้องหาวิธีการที่จะทำให้ตัวเองและเด็กอยู่ในเส้นทางแนวคิดวิธีการ AL อีกที
มิหนำซ้ำ AL โดยเฉพาะในการศึกษาแบบไทยๆ ที่ดูเหมือนส่งเสริมการเรียนรู้อย่างเต็มที่ ทำให้หลายคนเห็นว่า AL เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะสร้างการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการคิดไม่ให้คนถูกครอบงำ คิดเป็นอิสระ แต่ทว่าตัวมันเองกลับเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำหน้าที่รับใช้อุดมการณ์ทางการเมืองของชนชั้นนำได้อย่างแนบเนียนมากขึ้นกว่าเดิม (อ่านต่อได้ที่ Active Learning กับ การสอนสังคมฯ ที่ (ไม่) ได้รับอนุญาตให้ศึกษา)
ออกจากภาษาและวิธีคิดแบบ ‘Active Learning’
ข้อเสนอของเขียนนี้ก็คือการคิดถึงเรื่องการศึกษาและการสอนนั้นไม่จำเป็นต้องอยู่บนกรอบภาษาของ ‘Active Learning’ ก็ได้ ไม่จำเป็นที่เราต้องวนเวียนอยู่กับการคิดหาและควบคุม ‘เทคนิควิธีการ’ (ที่ active และ active กว่า) ว่าจะทำอย่างไรให้ได้ ‘ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ’ และการจมติดกับภาษาของ AL กำลังทำให้เรามองไม่เห็นความความหมายและแนวคิดทางการศึกษาอื่นๆ และเชื่อว่ามันคือสัจธรรมของการศึกษาไปแล้ว
พูดง่ายๆ คือ การก้าวออกไปจากประโยคที่ว่า “การสอนของเราเป็น แบบ Active Learning แล้วหรือยัง หรือ จะทำอย่างไรให้เป็น Active” ที่อย่างน้อยมันน่าจะช่วยให้เรามีคำถามหรือข้อถกเถียงถึงการสอนในมิติที่กว้างออกไป เช่น ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม การสอนควรมีความหมายอย่างไรต่อเรื่องนี้ อะไรคือบทเรียนที่ครูอย่างเราๆ จะนำมาสู่ชั้นเรียนเพื่อชวนนักเรียนตั้งคำถามถึงสิ่งเหล่านี้ (อ่านความเป็นไปได้แบบอื่น เพิ่มเติมได้ที่ ทำไมครูต้องสร้างบทเรียนเพื่อความยุติธรรม และ Simulation experience pedagogy: รู้สึกถึงโลกใบนี้โดยไม่ต้องมองให้เห็น)
ไปจนถึงการมองเห็นโลกและนักเรียนที่อยู่ตรงหน้าเราผ่านสายตาแบบอื่น เช่น แทนที่จะมองว่า เด็ก reaction มากน้อยเพียงใดจากกรอบ AL แล้วจบลงด้วยการมองหาว่าใครตอบสนองได้มากที่สุด เราอาจตั้งคำถามสำคัญว่านักเรียนที่อยู่ตรงหน้าเราเขาเป็นใคร เขารู้สึกอะไร เราอาจลองมองนักเรียนจากวิธีคิดแบบอื่นโดยไม่ผ่านแว่น AL ได้ เช่น แนวคิดมนุษยนิยม ที่ครูมองเห็นว่าการสอนคือการโอบรับและเปิดกว้างต่อความรู้สึกของผู้เรียน การมองการศึกษาบนความหมายแบบนี้นำมาซึ่งสายตาของครูที่ห่วงใยความรู้สึกของนักเรียน มองเห็นว่าพวกเขามีความกลัว มีความฝัน มีอุปสรรคอะไรในการมาเรียน แทนที่ครูจะด่วนสรุปว่าเด็กคือวัตถุดิบที่ไร้คุณภาพ ครูอาจเริ่มต้นสนทนากับนักเรียนอย่างเปิดกว้าง และนั่นอาจทำให้ครูได้เข้าใจว่า วันนี้ที่เขาไม่อยากเรียน เป็นเพราะเหตุผลบางอย่างที่ไม่เกี่ยวกับการเป็นวัตถุดิบในสายตาแบบ AL เลย (อ่านต่อได้ที่ Narrative pedagogy: มองไปให้ถึงฉากหลังของนักเรียน และ ห้องเรียนที่ ‘เห็น’ นักเรียนตรงหน้ามากกว่าชื่อที่ปักบนอกเสื้อ)
‘Active Learning’ จึงเป็นการเมืองของการศึกษา ที่ทำให้ความหมายของการศึกษาและการสอนแคบลง ไปพร้อมๆ กับการทำให้เรามีวิธีคิดและการมองโลก มองนักเรียนของเราแบบหนึ่งขึ้นมาด้วยเช่นกัน
อ้างอิง
ข้อท้าทายครูรุ่นใหม่ในประเทศที่มีแค่ “ปลา” เป็นเพียงคำตอบเดียว
Biesta, G.J.J. (2013). Beautiful Risk of Education (1st ed.). Routledge. https://doi.org/10.4324/9781315635866
Kincheloe, J. L. (2004). Critical Pedagogy Primer Second Edition. Peter Lang Inc.