- เด็กๆ ทำผิดแล้วงุบงิบเก็บเป็นความลับไว้คนเดียว เพราะความผิดพลาดหรือความล้มเหลวคือ ‘สิ่งต้องห้าม’ ของพ่อแม่
- คำว่า “ไม่เป็นไรลูก เอาใหม่ๆ” กลับออกจากปากพ่อแม่น้อยลงเมื่อลูกโตขึ้น
- ก่อตัวเป็นปมในใจว่าตัวเองไม่ดีพอ ทั้งๆ ที่ความผิดได้ พลาดเป็น คือ โอกาสการเรียนรู้ที่ดีที่สุดเพราะพวกเขาได้ลงมือทำ
- ข้อสังเกต การกลัวความผิดพลาด ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในกลุ่มผู้ใหญ่ แต่ถ่ายทอดสู่กลุ่มวัยรุ่นยุคใหม่ซึ่งทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองประสบความสำเร็จ ยิ่งอายุน้อยยิ่งดี
หากเราต้องเจอกับความผิดพลาดหรือความล้มเหลวในชีวิต เราจะรู้สึกอย่างไร?
คงไม่มีใครชอบ แล้วคงไม่มีใครอยากให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นกับชีวิต
แล้วทำไมเราถึงกลัว?
ทำไมเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เรายิ่งกลัวความล้มเหลวในชีวิต?
หลายคนกลัวจนต้องหาวิธีปกปิดความผิดพลาดนั้นไม่ให้ใครรู้ หรือปฏิเสธที่จะยอมรับความจริง
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกระแสความเคลื่อนไหวของโลกยุคปัจจุบัน ให้ค่าความสำเร็จและเงิน การรับรู้ข้อมูลข่าวสารรอบตัวโปรแกรมให้เราขวนขวายหาความสำเร็จ ทำให้เงินเป็นเครื่องหมายของสิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต ความผิดพลาดหรือความล้มเหลวจึงคล้าย สิ่งต้องห้าม เพราะนั่นหมายถึง “การไม่ประสบความสำเร็จ”
ปัจจุบันผู้คนจึงรู้สึกอายเกินกว่าจะยอมรับหรือบอกให้ใครรับรู้ถึงความผิดพลาดและความล้มเหลวที่เกิดขึ้น ความคิดนี้ไม่ได้มีขอบเขตเพียงแค่ในกลุ่มผู้ใหญ่ แต่กำลังถ่ายทอดมายังกลุ่มวัยรุ่นยุคใหม่ซึ่งกำลังพยายามผลักดันตัวเองทุกวิถีทาง ให้ประสบความสำเร็จหรือหารายได้ให้ได้เยอะที่สุด ขณะที่ยิ่งอายุน้อยเท่าไรยิ่งดี
ที่น่าสนใจ คือ ความกลัวความผิดพลาดหรือความไม่อยากล้มเหลว ส่วนหนึ่งเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง หรือแม้แต่จากการอบรมของครูในวัยที่เด็กกำลังเรียนรู้
แปลกแต่จริง…งานวิจัยพบว่า ยิ่งเด็กโตขึ้น ผู้ปกครองยิ่งมีความคาดหวังและยอมรับในสิ่งที่บุตรหลานทำผิดพลาดได้น้อยลง ผู้ปกครองหรือแม้แต่ครู มักแสดงออกต่อสิ่งที่เด็กทำผิดด้วยการลงโทษ ไม่ว่าจะตำหนิ ว่ากล่าว ดุด่า แม้กระทั่งการตี ทำให้เด็กหลายๆ คนไม่กล้าเปิดเผยสิ่งที่ตัวเองทำผิดพลาดต่อพ่อแม่และครูทั้งที่เป็นบุคคลซึ่งใกล้ชิดกับพวกเขามากที่สุด
แต่หากผู้ปกครองลองมองย้อนกลับไปในวันที่ลูกยังเป็นเด็กทารก ในวันที่เขาลุกขึ้นยืนแล้วเริ่มก้าวเดินครั้งแรก ทุกย่างก้าวที่เดินแล้วล้มลง กลับเป็นความงดงามที่ทำให้พ่อแม่หลายคนน้ำตาไหล ไม่มีใครที่เดินได้โดยไม่เคยล้ม
“ดีมากลูก เอาใหม่ๆ” เป็นคำพูดที่ออกจากปากพ่อแม่
และ ณ วันนั้นคงไม่มีพ่อแม่คนไหนโมโห จนกระทั่งดุด่าหรือกดดันลูกในวัยหัดเดินว่า
“ลูกต้องเดินให้ได้เดี๋ยวนี้”
เมื่อลูกยังเด็ก พ่อแม่ให้กำลังใจเมื่อเขาทำผิดพลาด แต่ทำไมเมื่อพวกเขาโตขึ้น พ่อแม่กลับซ้ำเติมความผิดพลาดนั้นด้วยคำพูดหรือการกระทำที่รุนแรง
หลายครั้งความฉุนเฉียวโดยไม่ได้ตั้งใจเกิดขึ้นจากความคาดหวังของพ่อแม่เอง ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังในการเรียน เช่น อยากให้ลูกสอบได้ที่หนึ่ง อยากให้ลูกสอบเข้าโรงเรียนนั้นโรงเรียนนี้ได้ หรือความคาดหวังในการทำงาน เช่น อยากให้ลูกเรียนคณะนี้เพื่อจบมาจะได้ประกอบอาชีพตามที่พ่อแม่อยากให้เป็น
สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผู้ปกครองต้องระวัง เพราะความคาดหวังเหล่านั้นไม่ได้เป็นความต้องการที่แท้จริงของเด็ก แต่เป็นการสื่อสารเชิงลบเพื่อตอบสนองความต้องการของพ่อแม่เอง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกระบวนการคิดและกระบวนการตัดสินใจของเขาในระยะยาว
หลายครั้งที่ความคาดหวังสร้างแรงกดดันให้เด็ก โดยเฉพาะวัยรุ่น ทำให้พวกเขารู้สึกแย่ รู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอจนมองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง การสร้างปมในใจนี้เป็นเรื่องอันตรายเพราะอาจนำไปสู่เหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงอย่างการฆ่าตัวตายได้
ปัญหาจากการขาดการสื่อสาร
“วัยรุ่นกับพ่อแม่ พูดกันคนละภาษา คุยกันไปก็ไม่รู้เรื่อง”
เราได้ยินคำพูดทำนองนี้ ซ้ำแล้วซ้ำอีกทุกยุคทุกสมัย
อะไรทำให้ทั้งสองวัยคุยกันไม่รู้เรื่อง?
คำตอบคือ เพราะพวกเขาไม่ได้คุยกันต่างหาก การบ่นหรือการตำหนิ เป็นคนละอย่างกับการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ นี่เป็นปัญหาใหญ่ระหว่างผู้ปกครองกับวัยรุ่น หรือแม้แต่ครูในโรงเรียน
การสื่อสารด้วยการพูดคุย ถามหาเหตุผลแทนการตำหนิจะช่วยกระชับความสัมพันธ์และลดช่องว่างระหว่างผู้ปกครอง/ครูกับวัยรุ่น ทำให้พวกเขาเปิดใจและเปิดเผยความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง นำมาซึ่งการสร้างความเข้าใจที่แท้จริงระหว่างสองวัย
ข้อผิดพลาดเป็นโอกาสงดงามในการเรียนรู้
ผู้ปกครองและครูควรเปลี่ยนทัศนคติ ด้วยการหันมามองความผิดพลาดเป็นโอกาสในการเรียนรู้ แล้วตอบสนองต่อข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในเชิงบวก ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- ตอบสนองต่อข้อผิดพลาดด้วยความเห็นอกเห็นใจและความเมตตา แทนการลงโทษ ตำหนิ ว่ากล่าวหรือการดุด่า การทำโทษด้วยการตี…ลืมไปได้เลย
- ตั้งคำถามเพื่อช่วยให้เด็กคิดไตร่ตรองและทบทวนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากข้อผิดพลาดนั้น
- สมาชิกในครอบครัวสามารถใช้ช่วงเวลารับประทานอาหารร่วมกัน เป็นเวลาแลกเปลี่ยนถึงข้อผิดพลาดของแต่ละคน แล้วสะท้อนถึงสิ่งที่ตนเองได้เรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้น
- หากมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น ผู้ปกครองและครูสามารถให้คำแนะนำ แล้วช่วยกระตุ้นให้เด็กมองหาวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสมที่สุด ในโรงเรียนครูอาจเป็นพี่เลี้ยงให้นักเรียนรวมกลุ่มกันคิดหาวิธีแก้ปัญหา
- ใช้โอกาสเมื่อผู้ปกครองหรือครูทำอะไรผิดพลาด เป็นตัวอย่างในการแสดงให้เด็กเห็นว่า ความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดา เอ่ยปากยอมรับในความผิดพลาดนั้น แล้วกล่าวถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้เด็กได้ยิน
ในความเป็นจริง ความผิดพลาดและความล้มเหลวเกิดขึ้นกับเราได้เสมอในทุกๆ วัน สิ่งนี้จึงเป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีอะไรน่ากลัว สำคัญที่สุดเราต้องรู้จักเรียนรู้จากข้อผิดพลาด สร้างบทเรียนให้กับตัวเองไม่ให้ทำพลาดอีก หากทำได้เมื่อนั้นความผิดพลาดจะไม่ใช่เรื่องที่ต้องปกปิดอีกต่อไป แต่จะเป็นส่วนที่ทำให้ชีวิตงอกงาม กลายเป็นความงดงามของชีวิต…