- เกือบ 2 ปีที่โลกของเราเผชิญกับการระบาดของโควิด – 19 ผลกระทบเกิดกับคนแทบจะทุกกลุ่ม แต่ในเด็กเล็กที่เพิ่งใช้ชีวิตได้ไม่กี่ปี สถานการณ์ไม่ปกตินี้พรากโอกาสที่มีครั้งเดียวในชีวิตคือ ‘วัยเยาว์’ ของพวกเขาไปอย่างน่าเสียดาย
- บทความชุดนี้ เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาแห่งเพจตามใจนักจิตวิทยา จะมาแชร์วิธีดูแลเยียวยาเด็กเล็กจากเหตุการณ์โควิด – 19 โดยในตอนที่ 1 จะเป็นการกล่าวถึงผลกระทบจากโควิด – 19 ที่อาจเกิดในเด็กปฐมวัย
- ปัญหาที่มีแนวโน้มสามารถเกิดขึ้นกับเด็กปฐมวัย ได้แก่ ปัญหาด้านอารมณ์ เพราะเด็กวัยนี้เป็นวัยช่างสังเกตซักถาม ทำให้เขามีคำถามมากมาย ซึ่งอาจส่งผลให้พ่อแม่หงุดหงิด กลายเป็นส่งผลแง่ลบทั้งสองฝ่าย ปัญหาการใช้หน้าจอที่ไม่เหมาะสม ปัญหาด้านพัฒนาการถดถอย หรือปัญหาโรคขาดธรรมชาติ
วัยเยาว์ที่ถูกพรากไป…
สถานการณ์โรคระบาดโควิด – 19 ที่เกิดขึ้น ไม่ได้เพียงพรากช่วงชีวิตที่ควรจะสดใสของบรรดาวัยรุ่นหนุ่มสาว และช่วงเวลาที่ควรได้ใช้ร่วมกันของผู้ใหญ่หลายๆ คน สถานการณ์ดังกล่าวยังได้พรากสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นได้เพียงครั้งเดียวในชีวิตของคนเรา นั่นก็คือ ‘วัยเยาว์ของเด็กๆ ที่ถูกพรากไป’
ปฐมวัย 0 – 6 ปี คือ วัยแห่งการเรียนรู้โลก ที่นอกเหนือไปจากบ้านที่เขารู้จักเป็นอย่างดี แต่สถานการณ์โควิด – 19 ทำให้สิ่งธรรมดาๆ กลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเอื้อมถึง…
‘รอยยิ้ม’ ที่ถูกปกปิดด้วยหน้ากากอนามัย ทำให้เด็กๆ ขาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้อารมณ์จากสีหน้าของผู้อื่น
‘โรงเรียน’ ที่ถูกปิด และถูกแทนที่ด้วยการเรียนการสอนทางหน้าจอ ทำให้เด็กๆ อาจจะขาดโอกาสเรียนรู้และลงมือทำจากของจริง
แม้เด็กบางคนอาจจะไม่มีปัญหากับการเรียนในลักษณะนี้ แต่ในระยะยาวการไปโรงเรียนอาจไม่ใช่เพียงเพื่อไปเรียนรู้แค่เนื้อหาทางวิชาการ แต่เพื่อให้เด็กๆ ได้ไปเพื่อฝึกใช้ชีวิต และการปรับตัวเข้ากับสังคม เด็กๆ อาจจะขาดโอกาสในการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ ของพวกเขา
ปฐมวัยไม่ได้เป็นวัยที่เหมาะกับการเรียนออนไลน์เป็นระยะเวลานาน เพราะวัยของเขายังไม่มีสมาธิเพียงพอ
เด็กบางคนไม่ได้เหมาะกับการเรียนออนไลน์ เพราะเขาไม่สามารถเข้าใจผ่านการดูและฟังเพียงอย่างเดียว เขาต้องการลงมือทำ และมีคนพาเขาทำ
‘โลก’ ที่ถูกจำกัดไว้เหลือเพียงบ้านของเด็กๆ พวกเขาไม่ได้มีโอกาสออกไปเล่นที่สนามเด็กเล่น ไปว่ายน้ำที่สระขนาดใหญ่ แค่เพียงไปเยี่ยมคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยาย หรือคนอื่นๆ ในครอบครัวที่อาศัยอยู่ต่างบ้านก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้
‘ร่างกาย’ ที่ถูกจำกัดการเรียนรู้
แทนที่เด็กๆ จะหายใจได้อย่างเต็มปอด ก็ต้องถูกจำกัดไว้เพียงแค่หายใจผ่านหน้ากากอนามัย
แทนที่พวกเขาจะได้ใช้มือสัมผัสสิ่งต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ ก็ระแวดระวัง และหมั่นล้างมือ กดเจลแอลกอฮอล์ให้กับมือตลอดเวลา
แทนที่พวกเขาจะได้เป่าเค้กวันเกิดได้อย่างที่ผ่านมา ก็ต้องใช้มือพัดให้เทียนดับลง
และสิ่งต่างๆ อีกมากมายที่เด็กๆ ถูกขโมยไปในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในชีวิต
โลกใบเดิมที่คุ้นเคย กลับไม่ปลอดภัยดังเดิม…
ปัญหาที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นกับเด็กปฐมวัย
ข้อที่ 1 ปัญหาด้านอารมณ์
ย้อนไปตอนที่ยังไม่มีโควิด – 19 สมาชิกทุกคนอาจจะพอมีพื้นที่ส่วนตัวในบ้านกันบ้าง คุณพ่อและคุณแม่อาจจะมีโอกาสพาลูกๆ ออกไปเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง กลายเป็นว่าทุกคนวนเวียนอยู่ในบ้าน บ้านที่มีพื้นที่ขนาดเล็กหรือเป็นคอนโดอาจจะทำให้คุณพ่อคุณแม่เจอกับภาวะเรื่องของอารมณ์และความรู้สึก เพราะธรรมชาติของเด็กปฐมวัยเป็นวัยที่เต็มไปด้วยพลัง เด็กๆ ต้องการวิ่งเล่น ต้องการพื้นที่ปลดปล่อย พอต้องอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมเป็นเวลานาน เด็กๆ ย่อมรู้สึกอึดอัด ส่งผลให้เขารู้สึกหงุดหงิดงุ่นง่าน
ผนวกกับการที่พ่อแม่อยู่กับเขา 24 ชั่วโมงต่อวัน 7 วันต่อสัปดาห์ อาจจะทำให้เราเผลอบ่น ตำหนิ และใช้คำว่า ‘ห้าม’ ‘อย่า’ ‘หยุด’ ‘ไม่’ เยอะขึ้น เช่น “อย่าเอาหน้ากากอนามัยออกนะ” “อย่าจับประตู” “ไม่ทำแบบนี้” “หยุดวิ่ง!” และอื่น ๆ อีกมากมาย
คำสั่งเหล่านี้มันตรงกันข้ามกับพัฒนาการของเด็กที่เขาใช้ร่างกายของเขาตั้งคำถาม ตั้งข้อสงสัย สำรวจ หรือแม้แต่กระทั่งค้นหาอย่างอิสระ จะเห็นได้ว่าการบังคับให้เด็กเล็กๆ ใส่แมสก์ตลอดเวลามันจึงส่งผลกระทบต่อชีวิตเขา และท้ายที่สุดเด็กๆ จะเกิดคำถามมากมาย “ทำไมล่ะ แค่อิสระที่จะหายใจก็ยังไม่ได้เลย ออกไปข้างนอกก็ต้องมีผ้าปิดปากตลอดเวลา” จุดนี้มันส่งผลต่อความหงุดหงิด อารมณ์ และเด็กโอกาสหลายอย่างที่เขาควรจะได้ทำไม่ต่างกันพ่อแม่ เมื่อลูกหงุดหงิด พ่อแม่ก็หงุดหงิด วนไปไม่มีที่สิ้นสุด
ดังนั้น เราทุกคนในบ้านควรมีทางออกให้กับอารมณ์ทางลบ เราควรอนุญาตให้ลูกแสดงออกถึงความรู้สึกของเขาที่มีต่อสถานการณ์ออกมาอย่างเหมาะสม ในพื้นที่ที่เหมาะสม เช่น ในมุมสงบที่ตกลงกันไว้ หรือการพูดคุยระบายให้เราฟัง สำหรับพ่อแม่เอง การพูดคุยกับคนที่เราไว้ใจ ช่วยให้เราได้ผ่อนคลายความเครียดที่สะสมอัดแน่นไว้ได้เช่นกัน
ในทางกลับกันสิ่งที่เราไม่อนุญาตให้ลูกทำ คือ ‘พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม’ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านั้น ได้แก่ พฤติกรรมที่อาจจะทำให้ตัวเขาและผู้อื่นเดือดร้อน เช่น การทำผิดกฎสามข้อ ไม่ทำร้ายตนเอง ไม่ทำร้ายผู้อื่น และไม่ทำลายข้าวของ
ข้อที่ 2 ปัญหาที่เกิดจากการใช้หน้าจออย่างไม่เหมาะสม
ถ้าหากเด็กปฐมวัยมีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเหล่านี้จริงๆ อ้างอิงจาก The American Academy of Pediatrics (AAP) แนะนำว่า…
ข้อที่ 1 เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 เดือนไม่ควรดูหน้าจอใดๆ เลย มากที่สุดที่เด็กวัยนี้สามารถเข้าถึงหน้าจอ คือ อาจจะแค่เป็น video call เพื่อให้คนไกลได้เห็นลูกหลานของตัวเองเท่านั้น ในกรณีอื่นควรหลีกเลี่ยงโดยเด็ดขาด
ข้อที่ 2 เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 18 เดือน ถึง 2 ปี ถ้าหากมีความจำเป็น (จำเป็นมากๆ ไม่ใช่ดูเพื่อเป็นการผ่อนคลายหรือเล่นสำหรับเด็ก) เป็นต้องดูหน้าจอจริงๆ ไฟล์นั้น (วิดีโอนั้น) ต้องมีคุณภาพความละเอียดสูง และมีผู้ใหญ่คอยควบคุมกำกับดูแลตลอดเวลา ระยะเวลาในการดูแต่ละครั้งไม่ควรเกิน 5 นาที ในหนึ่งวันไม่ควรเกิน 1 ครั้ง
ข้อที่ 3 เด็กที่มีอายุ 2 – 5 ปีถ้าหากจำเป็นจริงๆ ที่ต้องดูหน้าจอ ผู้ใหญ่ควรให้การกำกับดูแลตลอดเวลา และระยะเวลาในการดู คือ ไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมงต่อ 1 วัน และรายการหรือ application นั่นควรมีเนื้อหาเหมาะสมกับวัยของเด็ก ด้วยเหตุนี้การเรียนออนไลน์อาจจะไม่เหมาะสมสำหรับเด็กปฐมวัย และเด็กๆ ไม่ควรเรียนออนไลน์เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน
ข้อที่ 4 เด็กที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไปควรได้รับการจำกัดเวลา ตามตารางกิจกรรมต่อวันที่เหมาะสมของเด็ก (เด็กๆ ควรทำกิจวัตรประจำวันที่สำคัญต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเขาก่อนการมาดูหน้าจอ เช่น การกินข้าว อาบน้ำ แปรงฟัน เก็บที่นอน ทำงานบ้าน ทำการบ้าน หน้าจอควรมีไว้สำหรับเวลาว่าง ไม่ใช่เวลาหลักในชีวิตของเขา) และควรอยู่ภายใต้การดูแลของพ่อแม่และผู้ใหญ่
เทคโนโลยีไม่ได้ทำร้ายเด็กโดยตรง แต่ผู้ใหญ่ที่ส่งมอบเทคโนโลยีเหล่านั้นให้กับเด็กก่อนวัยอันควร และไม่สอนให้เขาใช้เทคโนโลยีอย่างถูกวิธีต่างหากที่ทำร้ายเขาโดยตรง ทั้งๆ ที่สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำ คือ การชะลอเวลาในการให้เด็กปฐมวัย (0 – 6 ปี) เข้าถึงเทคโนโลยีให้ช้าที่สุด ด้วยการส่งเสริมให้เขาทำกิจกรรมที่เหมาะสมตามวัย ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกับเขา การอ่านหนังสือนิทานให้เขาฟัง การชวนเขาทำงานบ้าน และการสอนให้เขาช่วยเหลือตัวเองตามวัย
เพราะการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของเด็กวัยนี้ คือ การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง ซึ่งเขาควรจะได้เรียนรู้จากของจริง และการลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง
ที่สำคัญ การดูหน้าจอในเด็กวัยต่ำกว่า 6 ปี มักจะมีข้อเสียมากกว่าข้อดีที่ได้รับมา เช่น พฤติกรรมการติดหน้าจอ สมาธิที่ลดน้อยลง และอารมณ์ที่ไม่มั่นคง สาเหตุมาจาก ‘สมองส่วนหน้า (Prefrontal cortex)’ ของเด็กวัยนี้ยังเติบโตไม่เต็มที่ สมองส่วนนี้ควบคุมเรื่องของการควบคุมตัวเอง (Self-regulation) ซึ่งส่งผลโดยตรงกับการควบคุมตัวเองในเด็กเล็กที่ยังไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้เด็กมีแนวโน้มจะติดหน้าจอได้มากกว่าผู้ใหญ่ เพราะเขาควบคุมตัวเองให้หยุดดูได้ยากกว่าเรานั่นเอง
โรคที่สามารถเกิดขึ้นในเด็กจากการใช้เวลากับหน้าจออย่างไม่เหมาะสม
- โรคออทิสติกเทียม หรืออาการคล้ายออทิสติก (Autistic-like Symptoms)
เด็กไม่ได้เป็นโรคออทิสติก (Autistic Spectrum Disorder; ASD) มาโดยกำเนิด แต่เมื่อดูหน้าจอในปริมาณมากติดต่อกันจนทำให้มีอาการออทิสติกเทียม หรืออาการคล้ายออทิสติก (Autistic-like Symptoms) กล่าวคือ เด็กมีความบกพร่องในการสื่อสารกับคนอื่นและสังคมภายนอก ทำให้เขาไม่สามารถบอกความต้องการหรือปฏิเสธได้อย่งเหมาะสม รวมทั้งบอกไม่ได้ว่าตัวเองรู้สึกอย่างไรหรือผู้อื่นรู้สึกอย่างไร มีปัญหาเด่นชัดเรื่องการปรับตัวเข้ากับสังคม และเด็กที่มีอาการนี้มักมีปัญหาพัฒนาการล่าช้าในหลายด้านและมีปัญหาด้านพฤติกรรมร่วมด้วย เด็กมักจะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้
- สมาธิสั้นเทียม (Pseudo-ADHD : Pseudo-Attention Deficit Hyperactivity Disorder)
เด็กที่มีอาการสมาธิสั้นมักจะมีพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่ง ( Hyperactive) ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับงาน และทำงานให้เสร็จได้ (Inattention) และหุนหันพลันแล่น (Impulsive) ซึ่งเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นเทียมซึ่ง เกิดจากปัจจัยทางสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู มีลักษะเหล่านี้เช่นเดียวกับ เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นที่เกิด จากปัจจัยทางพันธุกรรมและความผิดปกติของสมอง สิ่งที่แตกต่างกัน คือ โรคสมาธิสั้นเทียมสามารถให้การป้องกันและแก้ไขได้ หากผู้ใหญ่ตระหนักถึงความสำคัญในการแบ่งเวลาในการให้เด็กดูหน้าจอและทำกิจกรรมอื่นๆ อย่างเหมาะสม
แนวทางในการบำบัดรักษาเด็กๆ เหล่านี้ คือ การลด หรืองดเวลาหน้าจอโดยทันที การบำบัดด้วยการปรับ พฤติกรรมร่วมกับการกระตุ้นพัฒนาการ ส่งเสริมเวลาว่างด้วยการเล่นและการปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว
ข้อที่ 3 โรคขาดธรรมชาติ (Nature Deficit Disorder)
เด็กที่มีแนวโน้มเป็นโรคนี้ มักจะขาดโอกาสในการสัมผัสกับธรรมชาติ ไม่มีกิจกรรมนอกบ้าน และมักจจะอยู่แต่ในห้องปรับอากาศตลอดวัน ซึ่งเด็กๆ ในปัจจุบันที่ต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้านเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด ก็มีเป็นหนึ่งกลุ่มที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคนี้ได้
ดังนั้น แม้จะอยู่บ้าน ผู้ใหญ่ควรหาพื้นที่ให้กับเด็กๆ ได้สัมผัสกับธรรมชาติบ้าง เช่น
- มุมเล่นทราย ถ้าบ้านมีพื้นที่เราสามารถทำบ่อทรายให้กับลูกลงไปเล่นทั้งตัวได้ แต่ถ้าที่บ้านไม่มีพื้นที่ เราสามารถนำทรายใส่ถาดหรือกล่องพลาสติกให้ลูกได้เล่นได้ ถ้าลูกแพ้ฝุ่นแพ้ทราย เราสามารถใช้ข้าวสาร เมล็ดถั่ว หรือ อื่นๆ ทดแทนได้ เพื่อให้มือของเด็กๆ ได้รับกระตุ้นการสัมผัสจากธรรมชาติ
- มุมเล่นน้ำ จะเล่นในอ่าง ในบ่อ ในกะละมังซักผ้า แต่ละบ้านสามารถจัดสรรได้ตามสะดวก
- มุมสีเขียว ผู้ใหญ่สามารถชวนเด็กๆ ปลูกต้นถั่วง่ายๆ ไปจนถึงไม้ประดับ พืชสวนครัว ต้นไม้ใหญ่ ทั้งนี้สามารถเลือกได้ตามขนาดพื้นที่ที่มีและความเหมาะสมได้ เป็นต้น
กิจกรรม ‘ทำอาหาร’ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สามารถทำที่บ้าน และทำให้เด็กๆ ได้สัมผัสธรรมชาติได้ โดยผู้ใหญ่อาจจะให้เด็กๆ ช่วยล้าง หั่น บด คั้น ผัก – ผลไม้ หรือหุงข้าว และอื่นๆ เพราะวัตถุดิบเหล่านี้ก็มาจากธรรมชาติ
ข้อสำคัญ คือ ผู้ใหญ่ต้องเล็งเห็นความสำคัญของธรรมชาติที่มีผลต่อชีวิตของเด็กๆ รวมทั้งผู้ใหญ่อย่างเราด้วย และเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เล่นกับธรรมชาติอย่างสม่ำเสมอ
ข้อที่ 4 ปัญหาด้านพัฒนาการถดถอย
เด็กบางคนต้องอยู่บ้านเป็นเวลานาน เขาอาจจะมีพฤติกรรมถดถอยเมื่อต้องกลับไปโรงเรียน
ยกตัวอย่างพฤติกรรมที่อาจจะเกิดขึ้นได้… การร้องไห้โวยวายกับทุกสิ่งที่ไม่ได้ดั่งใจ, ไม่ยอมกินข้าวเองจะให้เราป้อน, ไม่ยอมเดินให้เราอุ้ม เป็นต้น
พฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นได้ เมื่อเด็กถูกคาดหวังให้ทำอะไรเมื่อเขายังไม่พร้อม พ่อแม่มีหน้าที่ชดเชยให้กับเขาในส่วนของเวลาคุณภาพ อ่านนิทาน เล่นกับลูก นอนกอดกัน รับฟัง และรับฟัง แต่ไม่ใช่ตามใจ แม้ลูกจะมีพฤติกรรมถดถอย ไม่ได้แปลว่า พ่อแม่ต้องทำสิ่งที่ลูกต้องทำได้ตามวัยของเขาให้เขา พาเขาทำ แต่ไม่ใช่ทำให้ ทำไปด้วยกัน ให้เขาเรียนรู้ว่า พ่อแม่รับฟังเขา แต่จะไม่ตามใจเขา
สุดท้าย แม้เราจะเตรียมความพร้อมมาอย่างดี เมื่อเด็กไม่พร้อม ก็คือไม่พร้อม เราควรรอ ไม่เร่งรัด และบีบบังคับเขาให้พร้อม เด็กแต่ละคนไม่ได้มีจังหวะชีวิตเหมือนกัน อย่าเปรียบเทียบลูกเรากับใคร เขาเกิดมาเพื่อเป็นตัวเขาเอง
ข้อที่ 5 ปัญหาความวิตกกังวลและหวาดกลัวสภาพแวดล้อม
สถานการณ์โรคระบาดสามารถทิ้งรอยแผลเอาไว้ในใจของเด็กๆ และผู้ใหญ่มากมาย ทั้งความหวาดกลัวต่อเชื้อโรคที่คร่าชีวิตคนที่รักไป และเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนทั้งโลกจากหน้ามือเป็นหลังมือ สำหรับเด็กๆ แล้ว การที่พวกเขาต้องใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกไปนอกบ้าน ล้างมือทุกครั้งที่สัมผัสสิ่งต่างๆ ข้างนอก และต้องเว้นระยะห่างจากเพื่อนๆ และคนอื่นๆ ในสังคม เพื่อป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อ
แม้ว่าในอนาคตข้างหน้าสถานการณ์โรคระบาดอาจจะสิ้นสุดแล้ว แต่ร่องรอยที่หลงเหลืออยู่จากช่วงเวลาก่อนหน้า คือ ความทรงจำที่เต็มไปด้วยความวิตกกังวลและหวาดกลัว เมื่อเด็กๆ ต้องกลับไปใช้ชีวิตตามปกติอีกครั้ง เด็กบางคนอาจจะยังไม่สามารถไว้วางใจสภาพแวดล้อมได้เช่นเดิม
ความไม่ไว้วางใจสามารถทำให้เด็กๆ เกิดความวิตกกังวล ความเครียด และความกลัวได้ ซึ่งในเด็กบางคนอาจจะไม่กล้าออกจากบ้าน หรือ ไม่กล้าไปโรงเรียน หรือ ในเด็กบางคนที่ได้สูญเสียบุคคลที่รักไปจากเหตุการณ์โรคระบาด อาจจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคจิตเวชต่าง ๆ ได้ เช่น โรคซึมเศร้า (Depression) โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD: Obsessive Compulsive Disorder) โรคภาวะทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (PTSD: Post-Traumatic Stress Disorder) เป็นต้น
“การขอความช่วยเหลือ คือ สิ่งที่สามารถทำได้และควรทำ”
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกและตัวพ่อแม่เอง หากเกิดขึ้นเป็นระยะประมาณ 1 เดือนขึ้นไป และมีความรุนแรงเกินกว่าที่ทางบ้านจะรับมือไหว การปรึกษาจิตแพทย์ นักจิตวิทยา และผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นและควรทำ เพื่อให้ความช่วยเหลือกับเด็ก ๆ ได้อย่างทันท่วงที
บางครั้งปัญหาที่ดูเหมือนเล็กน้อย แต่ถ้าสะสมเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน อาจจะกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าเดิม
และบางครั้งปัญหาที่เรากังวลใจ หากได้ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญอาจจะทำให้เราเข้าใจปัญหาและแก้ไขได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
อ้างอิง
AAP.org. (n.d.). Retrieved March 21, 2021, from https://www.aap.org/en-us/Pages/Default.aspx
American Psychiatric Association. (2013). Diagnostic and statistical manual of mental disorders
(DSM-5®). American Psychiatric Pub.