- บางคนเคยชินกับการเลี้ยงดูเด็กที่ใช้ ‘การขู่’ เพื่อทำให้เขากลัว ‘แหย่’ เพื่อแสดงความเอ็นดู และ ‘ล้อเลียน’ เพื่อสร้างเสียงหัวเราะ แต่พฤติกรรมเหล่านี้แม้คนทำจะมีเจตนาดี แต่การกระทำเช่นนี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงทางลบกับเด็กได้
- เม – เมริษา ยอดมณฑป เจ้าของเพจตามใจนักจิตวิทยา ชวนพวกเราทำความเข้าใจใหม่กับการ ‘ขู่ หลอก แหย่ ล้อเล่น’ ว่าพฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลกระทบอะไรกับเด็กบ้าง พร้อมกับคำแนะนำวิธีสร้างสัมพันธ์กับเด็กๆ ที่จะไม่ทิ้งรอยแผลในใจเขา
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นโดยเลือกมูลเหตุของคนส่วนใหญ่ที่มาจากประสบการณ์การทำงานของผู้เขียนเอง ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องราวของแต่ละคนย่อมแตกต่างหลากหลายและเป็นไปในเงื่อนไขของตัวเอง ซึ่งผู้เขียนยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาลดทอนปัญหาของแต่ละคน เพียงแต่อยากยกประสบการณ์ที่คนส่วนใหญ่ประสบขึ้นมาเพื่อเป็นตัวอย่าง เพื่ออธิบายถึงที่มาที่ไปและแนะนำวิธีคลี่คลายบาดแผลของแต่ละคนต่อไป
การขู่เพื่อทำให้เด็กกลัวและหยุดทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
‘ซนแบบนี้ เดี๋ยวให้คุณหมอจับฉีดยาเลย’
‘ออกไปไหนคนเดียว เดี๋ยวผีปอบจับตัวไปกินตับนะ’
‘หยิบของโดยไม่ขอก่อน เดี๋ยวพาไปให้ตำรวจจับขังคุกดีกว่า’
‘ทำแบบนี้ เดี๋ยวแม่ไม่รักแล้ว’
ผู้ใหญ่บางคนมักใช้การขู่เหล่านี้เพื่อให้เด็กทำตามหรือทำในสิ่งที่เหมาะสม ทั้งนี้ แม้เจตนาของผู้ใหญ่เหล่านั้นจะเต็มไปด้วยความปรารถนาดี แต่ผลลัพธ์กลับให้ผลตรงกันข้าม เพราะเด็กๆ ที่ถูกสอนด้วยการใช้คำขู่ มักเรียนรู้ที่จะใช้สมองในส่วนของสัญชาตญาณมากกว่าส่วนของเหตุผล เนื่องจากการขู่มักนำไปสู่ความกลัว ซึ่งความกลัวมักจะทำให้คนเราเลือกที่จะตอบสนองอย่างเฉียบพลัน เพื่อทำให้ตัวเองรอดพ้นจากสถานการณ์ดังกล่าว แต่ไม่ได้นำพาเราไปสู่การเรียนรู้ว่า ‘เราไม่ควรทำ หรือ ควรทำสิ่งใด’
เด็กบางคนอาจจะเติบโตมากลายเป็นผู้ใหญที่กลัวการไปหาหมอ กลัวที่แคบ กลัวความมืด กลัวสารพัดจะกลัว เพียงเพราะคำพูดขู่จากผู้ใหญ่บางคนที่ไม่ได้มีเจตนาร้าย อาจจะทำให้เขากลายเป็นคนที่มีความกลัวฝังใจไปเลย
ซึ่งความกลัวที่ฝังใจที่ส่งผลต่อจิตใจเด็กที่สุด คือ “ความกลัวว่าพ่อแม่ไม่รักตัวเขา” เพราะการขู่ที่ใช้ความรักมาเป็นเงื่อนไขให้เขาทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่อยากให้เขาทำ ซึ่งเมื่อใช้บ่อยๆ เข้าเด็กอาจจะเรียนรู้ว่า “ความรักที่แม่มีแต่เขานั้นมีเงื่อนไข” ถ้าเขาต้องการเป็นที่รัก ก็ต้องทำในสิ่งที่แม่ต้องการให้ได้ ถ้าทำไม่ได้ แม่อาจจะไม่รักเขา
ดังนั้น ผู้ใหญ่ทุกคนควร “หยุดขู่เด็ก!” เพื่อให้เขาทำตาม แต่ใช้วิธีทำความเข้าใจแทน เช่น ถ้าลูกต้องไปอยู่ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย เจอคนใหม่ๆ พ่อแม่ควรบอกเขาล่วงหน้า อธิบายเขาให้เข้าใจ หรือเตรียมนิทาน หรือภาพถ่ายของสถานที่ หรือบุคคลมาให้เขาดู เพื่อที่เด็กจะได้เตรียมตัวเตรียมใจว่าเขาจะไปเจออะไร
หรือเล่าถึงสิ่งที่เด็กจะเจอให้เป็นกลาง เช่น ถ้าลูกต้องไปฉีดยาแล้วเขาต้องเจ็บตัว พ่อแม่ลองบอกลูกว่า ‘คุณหมอจะฉีดยาให้ร่างกายของลูก เพื่อร่างกายเราจะได้แข็งแรง แล้วต่อสู้กับเชื้อโรคได้ ลูกจะได้ไม่ป่วย หรือ ถ้าเขาจะต้องไปพบนักบำบัดเพื่อถูกประเมิน เราสามารถบอกเขาได้ว่า ‘ให้ลูกทำสิ่งที่ลูกทำได้ เพื่อที่พี่เขาจะได้รู้ว่า ลูกทำอะไรได้บ้าง แล้วถ้าอะไรที่เราทำไม่ได้ ไม่ต้องกลัว เพราะพี่เขาจะได้ช่วยสอนลูกได้’ เป็นต้น
หากต้องการสอนเด็กให้เขาหยุดทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและทำพฤติกรรมที่เหมาะสม เราไม่ควรทำให้เด็กกลัว เพราะการขู่ให้กลัวและความรุนแรงมักไม่เคยสอนอะไรนอกจากความรุนแรงและความกลัว
ธรรมชาติของสมองเรา เมื่อมีคนมาทำให้เรากลัว สมองจะตอบสนองโดยใช้สมองส่วนสัญชาตญาณ ซึ่งจะตอบสนองว่า “ให้สู้ (Fight)” “ให้หนี (Flight)” หรือ “ให้นิ่ง (Freeze)” ซึ่งการตอบสนองแต่ละแบบไม่ได้ทำให้เด็กเรียนรู้ด้วยเหตุผล แต่เรียนรู้ด้วยความกลัวและต้องรีบเอาตัวรอด ซึ่งวิธีการเอาตัวรอดของเด็กมักจะปรากฎอยู่ในรูปแบบของ “การพูดโกหก” หรือ “การโยนความผิดให้คนอื่น” เพื่อเอาตัวรอดได้
(อ่านบทความ ไม่หนี ไม่สู้ สมองถูกแช่แข็ง จากความเครียดท่วมท้นในสมองเด็ก)
ดังนั้น เมื่อผู้ใหญ่ขู่เด็กและใช้ความรุนแรงในการลงโทษเด็ก เด็กอาจจะหยุดทำพฤติกรรมทันที แต่เป็นการหยุดที่เกิดขึ้นแค่ชั่วคราว เพราะเด็กอาจจะตกใจหรือกลัวจึงไม่ทำพฤติกรรมนั้นต่อ แต่ถ้าไม่มีผู้ใหญ่คนนั้น หรือในวันที่เขาโตพอจะไม่กลัวคำขู่นั้นอีกต่อไป เขาอาจจะทำพฤติกรรมนั้นอีก และอาจจะทำพฤติกรรมที่รุนแรงขึ้นไปอีก ถ้าเราไปห้ามเขาด้วยการขู่ นอกจากนี้เด็กจะมีแนวโน้มเลียนแบบการขู่ และการใช้ความรุนแรงกับผู้อื่นที่เขาสามารถควบคุมได้ ไม่ว่าจะเป็น คนที่อายุน้อยกว่า คนที่มีอำนาจน้อยกว่า หรือคนที่อ่อนแอกว่าตัวเอง เพราะเขาเคยชินกับวิธีการเหล่านี้ จึงทำให้เขาอาจจะไม่เลือกใช้วิธีการอื่น
ถ้าอยากให้เด็กเรียนรู้ไม่ทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอย่างยั่งยืน เราไม่ควรสอนเขาด้วยการทำให้เขากลัว แต่ควรสอนให้เขาฟังด้วยเหตุผล เพราะเราคงไม่อยากให้เด็กๆ เติบโตมาพร้อมกับการใช้งานของสมองส่วนสัญชาตญาณเป็นหลัก
แนวทางในการสอนเด็กๆ เมื่อเขาทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม
ขั้นที่ 1 รอให้เด็กสงบ อย่าเพิ่งสอนสั่งอะไรเด็กเวลาที่เขาอาละวาด นั่งลงข้างๆ เขา
ขั้นที่ 2 สงบแล้วจึงหันไปมองหน้าเขา บอกเขาชัดเจนว่า ไม่ควรทำอะไร และเขาควรทำอะไร เพราะอะไร
ขั้นที่ 3 ถ้าเขาทำไม่เหมาะสม สอนเขาขอโทษ เขาไม่ทำ เราทำไปพร้อมกับเขาได้ ทำเช่นนี้ทุกครั้งที่เกิดพฤติกรรมไม่เหมาะสม เด็กจะเรียนรู้จากการทำสม่ำเสมอ ไม่ใช่จากเหตุการณ์ครั้งเดียว
เพราะสมองเหตุผลจะถูกพัฒนาได้ เมื่อเด็กสงบเพียงพอที่เราจะพูดให้เขาฟัง และเขาได้ยินเสียงเรา ผู้ใหญ่ไม่มีความจะเป็นต้องไปตะเบ็งเสียงแข่งกับเด็กเลย รอเขาสงบ แล้วพูดเมื่อเขาหยุดอาละวาด เขาจะได้ยินเสียงเราชัดเจน เมื่อได้ยินเสียง สมองจะประมวลเสียง และคิดตาม เมื่อนั้นสมองส่วนเหตุผลจึงจะได้รับการกระตุ้น และใช้งาน
เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมรุนแรง ผู้ใหญ่ไม่มีความจำเป็นต้องสู้กับเขา เราควรสงบดั่งหินผา ไม่ตอบโต้ แต่ไม่คลอนแคลน ไม่หวั่นไหว ยืนหยัดในสิ่งที่ต้องการจะสอนเขา แต่ไม่ทำร้ายเด็กเพื่อให้เขากลัว
การหลอกหรือการแหย่เพื่อทำให้เด็กแสดงท่าทีโกรธหรือกลัว เพราะต้องการเข้าหาเด็กด้วยการเย้าแหย่หยอกเล่น
‘กินเยอะแบบนี้ เดี๋ยวอ้วนเป็นหมูหรอก’
‘ขี้งอนมากๆ เดี๋ยวไม่มีใครรักหรอก’
‘เขาทิ้งให้เราอยู่คนเดียวแล้ว คนอื่นเขาไปเที่ยวกันหมดแล้ว’
ผู้ใหญ่บางคนมักใช้การหลอกเหล่านี้เพื่อหวังจะเห็นเด็กแสดงท่าทีโกรธหรือกลัว เพราะมองว่าเวลาเด็กแสดงท่าทีแบบนั้น เป็นเรื่องตลกและน่าเอ็นดู นอกจากนี้ผู้ใหญ่บางคนไม่รู้ว่าจะเข้าหาเด็กได้อย่างไร จึงเลือกที่จะเข้าหาเด็กด้วยวิธีนี้ แต่ตัวเด็กที่ถูกผู้ใหญ่หลอกให้โกรธหรือกลัวมักจะไม่ได้รู้สึกดี และยิ่งรู้สึกหงุดหงิดมากขึ้นไปอีกเมื่อผู้ใหญ่ทำแบบนี้ เมื่อจับได้ว่าเรื่องที่ผู้ใหญ่พูดเป็นเรื่องไม่จริง เด็กอาจจะรู้สึกไม่อยากเชื่อใจผู้ใหญ่คนนี้ เวลาผู้ใหญ่พูดอะไร เขาอาจจะไม่อยากฟังหรือทำตามอีก
เด็กที่เติบโตมาท่ามกลางการหลอกหรือการแหย่ของผู้ใหญ่รอบตัว เขาอาจจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ชอบทำแบบนั้นเสียเองกับเด็กรุ่นต่อไปในอนาคต หรือเขาอาจกลายเป็นผู้ใหญ่ที่คอยระแวดระวังคำพูดของใครต่อใครตลอดเวลา ทำให้เขากลายเป็นคนขี้กังวลโดยที่เขาไม่รู้ตัว
การหลอกหรือการแหย่เด็กมักเกี่ยวโยงกับความรู้สึกทางลบมากกว่าทางบวก
แม้ว่าจะเป็นเด็ก แต่พวกเขาก็มีความรู้สึกไม่ต่างอะไรกับผู้ใหญ่ เพราะถ้ามองในมุมกลับกันผู้ใหญ่หลายคนก็ไม่ชอบให้ใครเข้าหาตัวเองด้วยการหลอกเล่น เด็กก็เช่นเดียวกัน เขาอาจจะไม่อยากเป็นตัวตลกในสายตาใคร เพราะสิ่งที่เด็กและผู้ใหญ่ต้องการ คือ “ความจริงใจ” และ “ความสนใจ” ที่สามารถแสดงออกผ่านการมีเวลาคุณภาพให้กัน
แนวทางในการเข้าหาและสร้างสายสัมพันธ์กับเด็ก (และผู้อื่น)
ขั้นที่ 1 มีเวลาคุณภาพให้ กล่าวคือ มีสายตาที่มองเห็นเขาและเขาที่มองเห็นเรา ร่างกายที่พร้อมจะตอบสนองเขา เช่น รับฟัง พูดคุย กอด อุ้ม หอม บอกรัก และการทำกิจกรรมต่างๆ กับเขา
ขั้นที่ 2 พูดคำไหนคำนั้น เมื่อสัญญาอะไรไว้แล้ว เราก็ควรทำตามสัญญา เด็กจะเรียนรู้ว่า เราเป็นผู้ใหญ่ที่เชื่อใจได้ แล้วเขาสามารถวางใจของเขาไว้กับเราได้
ขั้นที่ 3 เล่นกับเด็ก แทนการแหย่หรือหลอกเขาเล่น ถ้าเราไม่รู้ว่า เราควรเล่นอะไร บางครั้ง แค่เพียงใช้เวลาอยู่กับเขาให้มากพอ เราจะรู้ว่า เด็กชอบอะไร และเขาต้องการอะไรจากเรา
หากมีผู้ใหญ่ที่มาหลอกหรือแหย่ลูกหรือเด็กที่เราดูแล หากเด็กไม่ชอบ เราสามารถสอนเขาให้พูดบอกผู้ใหญ่ได้ว่า ‘ไม่ชอบที่มาแหย่หรือมาหลอก’ เมื่อเขาพูดแล้ว (หรือยังไม่สามารถพูดปกป้องตัวเองได้) และผู้ใหญ่ยังไม่หยุดแหย่หรือหลอกเขา ให้เราทำหน้าที่พาเด็กออกมา หรือพูดบอกผู้ใหญ่คนดังกล่าวให้หยุดทำแบบนั้นด้วยคำพูดที่สุภาพ แต่ตรงไปตรงมา
การล้อเลียนหรือการแซวเล่น ที่คนล้ออาจจะสนุกแต่คนถูกล้ออาจจะไม่ได้สนุกด้วยเลย
‘ตอนนี้อยู่บนบก ถอดห่วงยางออกได้แล้ว’ เมื่อผู้ใหญ่เห็นเด็กรูปร่างอ้วนท้วม
‘โอ้โหไปทะเล 2 วัน กลับมาดำจน ฟันลอยได้แล้ว’ เมื่อผู้ใหญ่เจอเด็กที่ผิวไหม้เกรียมจากการถูกแดดเผา
แม้กระทั่งคำพูดและเสียงหัวเราเยาะเย้ยเมื่อเด็กทำอะไรไม่ได้ หรือ ทำอะไรแล้วไม่ได้ออกมาได้ไม่ดี ‘เล่นแบบนี้ กลับบ้านไปนอนดีกว่าไหม’
ผู้ใหญ่บางคนอาจจะมองว่าการล้อเลียนเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา และเห็นว่าเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่เด็กควรเจอบ้าง แต่ทว่าเจตนาดีเหล่านี้อาจจะส่งผลให้เด็กบางคนเกิดปมและความรู้สึกทางลบกับตัวเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกว่า ‘ตัวเองไม่ดีพอหรือไม่ดีเหมือนใครๆ’ ‘ตัวเองห่วย’ ‘ตัวเองทำไม่ได้’ ฯลฯ
ตัวอย่างเหตุการณ์
เด็กหญิงคนหนึ่งกำลังฝึกนับเลขอยู่ แต่เมื่อเธอนับเลขได้ไม่คล่องนักทำให้นับข้ามหรือพูดตัวเลขไม่ชัด
‘หนึ่ง สอง สาม ฉี่’ ทำให้ผู้ใหญ่หัวเราะเธอด้วยความเอ็นดูปนขำ
เด็กหญิงเริ่มหงุดหงิด และไม่ชอบใจ แต่ยังคงพยายามฝึกนับเลขต่อไป เมื่อเธอนับอีกครั้งหนึ่ง
‘หนึ่ง สอง สาม ห้า’ ผู้ใหญ่คนเดิมหัวเราะเยาะเธอด้วยเสียงที่ดังขึ้นกว่าเก่า
เด็กหญิงบอกทันทีว่า ‘หยุดนะ อย่าหัวเราะ หนูไม่ชอบ’
แต่ผู้ใหญ่ยังคงหัวเราะต่อไปอย่างสนุกสนาน จนทำให้เด็กหญิงที่สู้ไม่ได้ ร้องไห้ออกมาในที่สุด
ผู้ใหญ่รีบเข้าไปปลอบใจ แต่เด็กหญิงก็ยังรู้สึกแย่กับสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่
เหตุการณ์ดังกล่าวบางคนอาจจะมองว่า ‘ก็แค่เสียงหัวเราะเองจะคิดมากทำไม’
เราแต่ละคนมีข้อจำกัดทางอารมณ์และความรู้สึกแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะ และความแตกต่างของแต่ละบุคคล ถ้าหากเราเอาบรรทัดฐานของเราไปวัดความรู้สึกของคนอื่น นั่นเท่ากับว่า เรากำลังยึดเอาตัวเราเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งอยู่ ทั้งๆ ที่ในสังคมเราไม่มีใครเลยที่จะเหมือนกัน เราจะเอาตัวเราเป็นไม้บรรทัดวัดทุกคนบนโลกไม่ได้
บางคนไวต่อความรู้สึก (Sensitive) กับเรื่องบางเรื่อง ดังนั้นคนเราจึงไม่ได้เข้มแข็งกับทุกเรื่อง ลองมองกลับมาที่ตัวเราเองว่า เราก็มีมุมที่อ่อนแอหรือรู้สึกมากกับอะไรบางอย่างเช่นกันแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ใครรู้สึกมากกับกับเรื่องไหน คำตอบ คือ เราไม่มีทางรู้จนกว่าเราจะเข้าใจที่มาที่ไปของคนๆ นั้น
กลับมาที่เด็กหญิง แม้ว่าเธอจะนับเลขได้หรือทำไม่ได้ก็ตาม ผู้ใหญ่ก็ไม่ควรหัวเราะเยาะเธออยู่ดี เพราะเธอบอกชัดเจนแล้วว่า ‘เธอไม่ชอบ’ และ ‘อยากให้หยุดหัวเราะเธอ’ แต่เมื่อผู้ใหญ่หัวเราะต่อไป นั่นคือการแสดงออกถึงการกลั่นแกล้งรูปแบบหนึ่ง แม้ว่า “หัวเราะ” ไม่ได้มีคำพูดที่ทำร้ายแฝงอยู่ แต่การหัวเราะในสถานการณ์นี้ทำให้ผู้ที่ถูกหัวเราะใส่รู้สึกแย่กับตัวเองอย่างมาก
สามสิ่งที่ผู้ใหญ่ควรตระหนักอยู่เสมอ
ข้อที่ 1 คนล้ออาจจะสนุก แต่คนถูกล้อไม่ได้สนุกด้วย เราอาจจะคิดว่า ‘นี่เป็นแค่การล้อเล่นเฉยๆ’ แต่การล้อเล่น หรือ เล่นสนุก อีกฝ่ายที่ถูกกระทำต้องรู้สึกสนุกด้วย ถ้าเด็กไม่ได้รู้สึกเช่นนั้น นั่นคือ ‘การล้อเลียน’ ซึ่งเป็นการกลั่นแกล้งเด็ก
ข้อที่ 2 เวลาเด็กทำอะไรไม่ได้ เราควรเข้าไปช่วยเหลือ หรือ ให้กำลังใจ เพราะการหัวเราะเขาไม่ได้ช่วยให้เด็กทำได้หรือทำได้ดีขึ้น
ข้อที่ 3 รับฟัง และเคารพเด็ก
เมื่อเด็กบอกว่า เขาไม่ชอบในสิ่งที่เราทำ หรือ สิ่งที่เราทำนั้นทำให้เด็กรู้สึกไม่ดี เราก็ควรจะหยุดทำโดยทันที
บทเรียนสำหรับผู้ใหญ่
บทเรียนที่ 1 อย่าปล่อยเรื่องการหัวเราะเยาะ การล้อเลียนปมด้อย รูปลักษณ์ภายนอกของผู้อื่นเลยผ่านไป
เพราะผู้ใหญ่หรือเด็กๆ ที่กระทำเช่นนั้นจะมองว่า ‘เป็นเรื่องปกติ’ เขาจะมีแนวโน้มทำเช่นนั้นเป็นเรื่องปกติในอนาคตเช่นกัน ส่วนเด็กๆ ที่ถูกกระทำก็รู้สึกเสียความมั่นใจ และหมดคุณค่าไปเรื่อยๆ
เด็กปฐมวัยให้เรียนรู้ความแตกต่างเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก หรือ เรื่องความสามารถของเพื่อนๆ ของเขาแล้ว สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรสอน คือ ‘เด็กๆ รู้ไหม รูปร่างของเรา สีผิวของเรา ผมของเรา บางอย่างเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่พ่อแม่ของเด็กๆ มอบให้เราด้วยความรัก ดังนั้นเราไม่ควรไปว่า ใครที่ร่างกายของเขา เด็กๆ สามารถชมเพื่อนๆ ได้ ในสิ่งที่เขาทำได้ เช่น เพื่อนคนนี้พูดเพราะ เพื่อนคนนี้ช่วยครูเก็บของ เพื่อนคนนี้เล่นด้วยแล้วสนุก’
บทเรียนที่ 2 ผู้ใหญ่รอบตัวเด็กๆ ควรตระหนักอยู่เสมอว่า การหัวเราเยาะเด็ก การแหย่เด็ก แม้จะทำด้วยความรัก ความเอ็นดู แต่เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง
หากเด็กรู้สึกไม่ชอบ เพราะถ้าเราทำต่อไป เด็กจะเรียนรู้ว่า เป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็ทำกัน เขาจะทำเช่นนั้นกับเพื่อนหรือคนอื่นๆ ดังนั้น ถ้ารักและเอ็นดูเขา ให้พูดเอ่ยปากชม หรือ แสดงด้วยการเข้าไปกอด ดีกว่าการเข้าไปหยิกแก้มเด็กด้วยความหมั่นเขี้ยว
บทเรียนที่ 3 ผู้ใหญ่ควรเป็นแบบอย่างให้กับเด็ก
เด็กทำไม่ได้ เราไม่ล้อเลียนเขา หรือ ขู่ให้เขากลัว แต่เราใช้การสอน และทำให้ดู
เราไม่ซ้ำเติมใคร เวลาที่คนๆ นั้นทำผิดพลาด แต่เราจะสอนเขาให้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง
เวลาเราเจอคนที่ด้อยกว่าเรา เราไม่ดูถูกเขา เช่น ถ้าไม่เรียนหนังสือจะต้องไปเป็นคนขี่สามล้อนะ หรือ อย่าแต่งตัวแบบนี้ไม่งั้นจะเหมือนขอทาน เพื่อสอนให้เด็กเรียนรู้ที่จะให้เกียรติผู้อื่น และไม่ดูถูกใคร
ทุกคนแตกต่างกัน ไม่มีใครเหมือนกัน ทุกคนไม่ต้องเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างนั้น หรือ การเป็นตัวเราเองนั้น ต้องไม่ทำให้ตัวเองหรือผู้อื่นเดือดร้อน
บทเรียนที่ 4 การหัวเราะเยาะ การเย้าแหย่ การล้อเลียน ไม่ใช่วิธีการเข้าหาเด็กที่ดี
ในผู้ใหญ่ที่เล่นกับเด็ก หรือ เข้าหาเด็กไม่เป็น มักจะใช้วิธีเหล่านี้ หากต้องการเข้าหาเด็กเราไม่จำเป็นต้องเรียกร้องความสนใจจากเด็กด้วยวิธีเหล่านี้เลย เพราะนอกจากจะทำให้เด็กหงุดหงิด รำคาญ โมโห
เด็กบางคนอาจจะเรียนรู้ว่า ถ้าอยากเข้าหาคนอื่น เขาควรจะเข้าไปแกล้ง แหย่คนอื่น เขาจะได้สนใจเราได้
เด็กบางคนอาจจะเสียความมั่นใจในตนเองไป เพราะโดนล้อบ่อยๆ เรื่องเดิมๆ ที่เขาทำผิดพลาด
เด็กบางคนอาจจะไม่อยากเข้าหาบุคคลที่ทำเช่นนั้นกับตนอีกเลย พาลให้ความสัมพันธ์ไม่เกิดแล้วยังติดลบอีกต่างหาก
อยากเล่นกับเด็ก เราเข้าไปนั่งดูเขาเล่น บางทีเขาจะชวนเราเล่นเอง ไม่ต้องกังวล เป็นตัวเราเอง และเข้าไปหาเด็กอย่างจริงใจ นั่นคือสิ่งที่ควรจะทำ
การสร้างความสัมพันธ์กับเด็ก หรือกับใครก็ตาม ถ้าอีกฝ่ายไม่ได้รู้สึกดี หรือสนุกด้วย เราควรหยุดทำทันที
สิ่งที่ควรทำ คือ การเป็นตัวของตัวเอง และทำในสิ่งดีๆ ให้กับอีกฝ่ายก่อน ถ้าไม่แน่ใจว่าอะไรคือสิ่งดีๆ สำหรับอีกฝ่าย ลองถามดูก็ได้ว่า เขาอยากให้เราช่วยทำอะไรหรือเปล่า หรือ ถ้าอยากเข้าไปเล่นด้วย ก็เพียงแค่บอกเขาไปเลยว่า “เเม่อยากเล่นกับลูกจัง แม่ขอเล่นด้วยได้ไหม” เป็นต้น
หากเราต้องการสร้างภูมิคุ้มกันทางใจให้กับเด็กๆ เราไม่มีความจำเป็นต้องกระทำกับเขาด้วยสิ่งที่แม้แต่ตัวเราเองก็ไม่ชอบ เพราะวิธีการที่ดีกว่า คือ
การมีสายสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับเด็ก ทำให้เขารับรู้ว่า ความสัมพันธที่มีอยู่จริง ทำให้เขามองเห็นตัวเขาเองและตัวผู้ใหญ่ที่อยู่ตรงนั้น ผู้ใหญ่ไม่มีความจำเป็นต้องเรียกร้องความสนใจจากเด็กด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสมอีก
การมีความรักที่ปราศจากเงื่อนไข เพราะความรักที่เรามีให้เขาทำให้เขารักตัวเขาเอง และคนที่รักเขา ซึ่งทำให้เขาอยากทำสิ่งที่ดีงามมากกว่าสิ่งที่ไม่เหมาะสม
การสอนด้วยความมั่นคงอย่างสม่ำเสมอ ผ่านการพูดคำไหนคำนั้น และพูดจริง ทำจริงให้เขาดู เด็กจะเรียนรู้ที่จะทำเช่นเดียวสิ่งที่เราทำ
สุดท้าย ภูมิคุ้มกันทางใจที่ก่อเกิดในตัวเด็กคนหนึ่งสามารถทำให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่อ่อนโยน แต่ไม่อ่อนแอแข็งแกร่ง แต่ไม่ได้ก้าวร้าว และยืนหยัดเพื่อตัวเอง แต่ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น