- ตามทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคม (Psychosocial Development) ของ อีริก อีริกสัน นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน กล่าวไว้ว่า ‘บันไดขั้นสุดท้ายของพัฒนาการชีวิตมนุษย์ คือ การรับรู้ว่าตนเองมีความมั่นคงทางจิตใจ (Integrity)’ ผู้สูงวัยจึงอยู่ในวัยที่ย้อนกลับไปมองชีวิตของตัวเองที่ผ่านมาว่า ‘ชีวิตของตนนั้นมีคุณค่าเช่นไร’
- พ่อแม่บางท่านเมื่อเข้าสู่วัยชรา สมองของท่านเข้าสู่การเสื่อมถอยเต็มรูปแบบ ความจำที่เคยแม่นยำ การคิด การตัดสินใจ และความว่องไว ค่อยๆ เสื่อมถอยไป
- ‘รำคาญ’ ‘ภาระ’ ‘โง่’ ‘ไม่ได้เรื่อง’ ‘อยู่เฉยๆ ไม่ได้หรือไง’ ฯลฯ โกรธแค่ไหน ก็ไม่ควรพูดคำเหล่านี้ออกมา เพราะไม่ใช่แค่กับพ่อแม่ คำเหล่านี้ไม่ควรพูดกับใครที่เรารักทั้งนั้น เพราะมีแต่จะสร้างบาดเเผลให้กัน ที่สำคัญหากพูดออกไปแล้ว แม้จะกลับมานึกเสียใจทีหลัง คำพูดก็ไม่อาจย้อนคืนมาได้
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นโดยเลือกมูลเหตุของคนส่วนใหญ่ที่มาจากประสบการณ์การทำงานของผู้เขียนเอง ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องราวของแต่ละคนย่อมแตกต่างหลากหลายและเป็นไปในเงื่อนไขของตัวเอง ซึ่งผู้เขียนยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาลดทอนปัญหาของแต่ละคน เพียงแต่อยากยกประสบการณ์ที่คนส่วนใหญ่ประสบขึ้นมาเพื่อเป็นตัวอย่าง เพื่ออธิบายถึงที่มาที่ไปและแนะนำวิธีคลี่คลายบาดแผลของแต่ละคนต่อไป
“พ่อแม่วัยเกษียณ”
ในปัจจุบันลูกหลานหลายๆ คนอาจจะอาศัยอยู่กับคุณพ่อคุณแม่วัยเกษียณอายุ
ซึ่งวัยนี้ตามพัฒนาการชีวิตมนุษย์เป็น “วัยที่แสวงหาการที่ลูกหลานเห็นคุณค่าในตัวเอง”
ตามทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคม (Psychosocial Development) ของ อีริก อีริกสัน นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน กล่าวไว้ว่า “บันไดขั้นสุดท้ายของพัฒนาการชีวิตมนุษย์ คือ การรับรู้ว่าตนเองมีความมั่นคงทางจิตใจ (Integrity)” ผู้สูงวัยอยู่ในวัยที่ย้อนกลับไปมองชีวิตของตัวเองที่ผ่านมาว่า “ชีวิตของตนนั้นมีคุณค่าเช่นไร” ซึ่งหากผู้สูงวัยได้สร้างคุณค่าและความหมายให้กับชีวิตตนเองในช่วงเวลาที่ผ่านมา เขาจะพบกับความสงบสุขทางจิตใจเมื่อใกล้เวลาที่ต้องปล่อยวาง และจากไป เพราะเขาสามารถรับรู้ได้ถึงคุณค่าภายในตัวเอง และคุณค่าที่มอบไว้ให้กับลูกหลาน จึงเป็นธรรมดาที่เรามักพบว่า ผู้สูงวัยที่รู้สึกดีกับช่วงชีวิตที่ผ่านมาจะเล่าเรื่องที่ตนเองประสบความสำเร็จหรือเรื่องราวในอดีตให้ลูกหลานฟังอยู่เสมอ เพราะเขารู้สึกดีกับตัวเอง
ในทางกลับกันหากผู้สูงวัยท่านนั้นไม่สามารถสร้างคุณค่าให้กับตัวเองหรือใครได้ในช่วงชีวิตที่ผ่านมา เขาอาจจะไม่ได้ทำบางสิ่งที่ตั้งใจ หรือ พลาดโอกาสที่จะทำสิ่งดีๆ ผู้สูงวัยท่านนั้นจะรู้สึกคับข้องใจและสิ้นหวัง (Despair) เพราะรู้สึกผิดหวังในอดีตที่ตนเองไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม ในขั้นสุดท้ายของพัฒนาการชีวิต คือ “ความตาย” ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้น ช่วงเวลาก่อนที่ผู้สูงวัยจะจากไป การได้ทำในสิ่งที่ตนเองปรารถนาหรืองานที่ยังไม่เสร็จสิ้นได้สำเร็จ จะช่วยให้ตนเองสามารถปล่อยวางและจากไปอย่างสงบเมื่อเวลานั้นมาถึง
“สิ่งที่ลูกๆ ควรรู้ ในวันที่พ่อแม่อยู่ในวัยเกษียณ”
ข้อที่ 1 ความจำพ่อแม่เราอาจจะไม่เหมือนเดิม
พ่อแม่บางท่านเมื่อเข้าสู่วัยชรา สมองของท่านเข้าสู่การเสื่อมถอยเต็มรูปแบบ ความจำที่เคยแม่นยำ การคิด การตัดสินใจ และความว่องไว ค่อยๆ เสื่อมถอยไป
สิ่งที่ตามมา คือ ความขี้หลงขี้ลืม ซึ่งทำให้พ่อแม่บางท่านอาจจะถามคำถามและพูดเรื่องเดิมซ้ำๆ ให้ลูกหลาน
บางทีก็ลืมของ…ซื้อของแล้วลืมทิ้งไว้ที่รถเข็น
บางทีลืมนัดหมาย…มีนัดพบคุณหมอวันพรุ่งนี้ กลับจำว่าเป็นวันนี้
บางทีลืมปิดเตาแก๊ส ซ่ึงอาจจะทำให้คนในครอบครัวเดือดร้อนโดยไม่ตั้งใจ
อย่างไรก็ตาม หากอาการหลงลืมของท่านกำลังทำให้เราที่เป็นลูกหลานหงุดหงิด ให้เรานึกภาพไปถึงตัวเราเองที่เคยเป็นเด็กเล็กๆ เรามักจะถามคำถามพ่อแม่ของเราเรื่องเดิมซ้ำๆ หรือ ขอให้พ่อแม่เล่านิทานเรื่องเดิมเป็นร้อยๆ ครั้ง ซึ่งพ่อแม่ของเรามักจะตอบคำถามน้ัน หรือตอบรับคำของเรา แม้จะรู้สึกเบื่อหน่าย แต่คงไม่นึกรำคาญหรือหงุดหงิดเรา
“โรคอัลไซเมอร์” โรคที่มักจะมาพร้อมกับความชรา โดยปกติแล้วสมองของผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปจะมีอาการเสื่อมถอยลง ซึ่งมักจะพบว่า ผู้สูงอายุมีอาการหลงๆ ลืมๆ ไปบ้าง และความคิด การตัดสินใจจะช้าลงไปกว่าเดิม แต่ถ้าหากมีคนรอบตัวให้การกระตุ้นถามหรือเตือน จะสามารถจดจำข้อมูลเหล่านั้นได้อยู่ ที่สำคัญยังสามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติ
ในทางกลับกัน ผู้สูงอายุที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ จะไม่สามารถจดจำข้อมูลเหล่านั้นได้เลย แม้จะมีการกระตุ้นเตือน บอกใบ้ และแม้แต่บรรยายถึงเหตุการณ์ บุคคล หรือ สิ่งนั้นให้ฟัง ก็ยังไม่สามารถจดจำได้ ที่สำคัญการใช้ชีิวิตประจำวันจะบกพร่องไปเรื่อยๆ ตามอาการและความรุนแรงของโรค จนสุดท้ายหากปล่อยทิ้งไว้ ไม่ได้รับความช่วยเหลือ อาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิต ผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ที่อยู่ตามลำพัง มักไม่สามารถดูแลสุขลักษณะของตัวเองได้ ที่สำคัญผู้สูงอายุมักมีโรคประจำตัวอย่างอื่นร่วมด้วย เมื่อผนวกกับอาการของอัลไซเมอร์ ทำให้อาจจะลืมกินยา และดูแลตัวเองอย่างที่ควรจะเป็น ส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อน และเสียชีวิตลง
สัญญาณบ่งบอกว่าพ่อแม่ของเราอาจจะเป็นโรคอัลไซเมอร์
- มีอาการหลงลืม เช่น ลืมของ ลืมวัน-เวลา ลืมนัดหมาย ลืมที่อยู่ และอื่นๆ
- สับสนเรื่องวัน เวลา สถานที่ และเหตุการณ์ที่สำคัญในชีวิต เช่น วันเกิดตัวเอง วันแต่งงาน บ้านของตัวเอง
- ไม่สนใจทำกิจวัตรประจำวันหรืองานอดิเรกที่เคยทำ
- มีปัญหาเรื่องการจดจำบุคคลที่เคยรู้จัก เช่น คนในครอบครัว เพื่อน และพ่อแม่ของตัวเอง
- มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร เช่น พูดประโยคเดิมๆ ซ้ำ หรือ พูดไม่เป็นประโยค
- มีปัญหาเรื่องตัวเลข ได้แก่ การนับ การเข้าใจจำนวน และเวลา เช่น เวลาจ่ายเงิน-ทอนเงิน ดูวัน-เวลา
- มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิมจากหน้ามือเป็นหลังมือ เช่น จากที่เป็นคนพูดจาไพเราะนุ่มนวล อาจจะเริ่มใช้เสียงดังและพูดพยาบคาย หรือ จากที่เคยเป็นคนใจเย็นกลายเป็นคนใจร้อนและโมโหง่าย
- ไม่ใส่ใจสุขลักษณะของตัวเอง เช่น ใส่เสื้อผ้าซ้ำเดิม ไม่อาบน้ำแปรงฟัน ไม่ทำความสะอาดหลังขับถ่าย
- มีอาการซึมเศร้า ร้องไห้ไม่มีสาเหตุ
หากเราพบสัญญาณเหล่านี้ควรพาพ่อแม่ของเราไปพบคุณหมอ เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
กิจกรรมที่สามารถช่วยชะลออาการสมองเสื่อมได้
- ทำโจทย์นับเลข บวก ลบ คูณ หาร ซึ่งบางบ้านอาจจะรวมกระบวนการเหล่านี้ไว้ในการเล่นบอร์ดเกม หรือ การ์ดเกม (ไพ่) ก็ไม่ว่ากัน
- ทำงานอดิเรกที่ท่านชอบ เช่น ทำอาหาร ปลูกต้นไม้ ถักนิ้ตติ้ง ไปจนถึงการดูพระ
- การพูดคุยกับท่านในทุกๆ วันเพื่อช่วยท่านในเรื่องการทบทวนความจำผ่านการเล่าเรื่องในแต่ละวันให้เราฟัง
ข้อที่ 2 พ่อแม่เราอาจจะยึดติดกับข้าวของเครื่องใช้มากขึ้น กลัวการเปลี่ยนแปลง (และชอบเล่าเรื่องเดิมๆ ให้เราฟัง)
อันนั้นก็ไม่ให้ทิ้ง อันนี้เก่าแล้วแต่จะเอาไปซ่อม รถคันนี้ยังใช้ได้ บ้านไม่ให้จัด ฯลฯ
ใช่แล้ว ระดับความยึดติดนี่ทวีคูณ ถ้าอธิบายว่า ทำไมพ่อแม่เราถึงเป็นเช่นนั้น
ข้าวของเครื่องใช้เก่าๆ ก็คงเหมือนกับคนๆ หนึ่งที่ผ่านชีวิตมาพร้อมกันกับท่าน
มาวันนี้ที่เพื่อนในชีวิตจริงของพ่อแม่เราได้ล้มหายตายจากไปหลายคน ข้าวของเครื่องใช้ก็คงเป็นเพื่อนที่ท่านไม่ได้อยากให้จากไป
ที่สำคัญบ้านที่มีข้าวของเครื่องใช้จากยุคสมัยที่พ่อแม่เราเคยอยู่ ทำให้ท่านรู้สึกว่ายังมีพื้นที่ที่ยังอบอุ่นใจและปลอดภัย เพราะเมื่อพ่อแม่ก้าวเท้าออกจากบ้านไป โลกได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว
ดังนั้น ค่อยๆ คุยกับท่าน อย่าหักดิบโดยเอาไปทิ้งเลย พ่อแม่อาจใจสลายได้ ให้ท่านได้มาเลือก ถ้าอันไหนเกินเยียวยา ถ่ายรูปแล้วอัดเป็นอัลบั้มให้ท่านไว้ดูคลายความคิดถึง แต่ถ้าอันไหนทิ้งไม่ได้จริงๆ ลูกก็ต้องยอมรับให้ได้
ถ้าลูกคนไหนอยู่บ้านพ่อแม่ เราควรเคารพในการตัดสินใจและแนวทางในการจัดบ้านของพ่อแม่
ถ้าลูกคนไหนพาพ่อแม่มาอยู่ด้วย เราสามารถกำหนดกติการ่วมกัน พ่อแม่สามารถนำของแบบไหนมาเก็บได้บ้าง และห้องของพ่อแม่ ลูกควรให้อิสระพ่อแม่ตัดสินใจ
แต่ในกรณีที่ข้าวของเครื่องใช้ที่พ่อแม่เก็บเริ่มส่งผลอันตรายต่อสุขภาพกายใจ ควรพาพ่อแม่ไปพบจิตแพทย์เพราะพ่อแม่เราอาจจะเสียงต่อการเป็นโรคเก็บสะสมของ (Hoarding Disorder) เช่น เก็บสะสมทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่หนังสือพิมพ์ที่หมดอายุแล้วจรด เสื้อผ้า ใบเสร็จ ถุงพลาสติก ขวดต่างๆ ที่ไม่ใช้แล้ว และตัดใจทิ้งอะไรไม่ลงเลยสักอย่าง จนของกองพะเนินเต็มบ้าน แทบจะทับคนในบ้านตาย
หากพบว่าพ่อแม่ของเรามีอาการของโรคเก็บสะสมของ ควรพาท่านไปปรึกษาจิตแพทย์หรือพูดคุยกับนักจิตวิทยา เพราะสาเหตุของโรคนี้มีที่มาจากปมทางจิตใจ หากทิ้งไว้เนิ่นนานอาจจะเกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคจิตเวชอื่นๆ เพิ่มเติมได้ เช่น โรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ และโรควิตกกังวล เป็นต้น
ข้อที่ 3 อยากชวนพ่อแม่ไปเที่ยว แต่พ่อแม่อยากอยู่บ้าน
พ่อแม่ของบางบ้าน อาจจะมีอาการห่วงบ้าน และไม่อยากไปไหนไกลๆ เราเรียกอาการนี้ว่า “ติดบ้าน”
สาเหตุที่ท่านเป็นเช่นนี้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
บางบ้านที่พ่อแม่เลี้ยงสัตว์เลี้ยง พ่อแม่เราอาจจะบอกว่า “เป็นห่วงหมาแมว”
บางบ้านที่พ่อแม่เป็นห่วงเรื่องค่าใช้จ่ายในการไปเที่ยว ก็จะไม่อยากรบกวนลูก
บางบ้านที่พ่อแม่มีโรคประจำตัว ก็เป็นห่วงว่าตัวเองไปเที่ยวกับลูกอาจจะกลายเป็นภาระของลูก จึงไม่กล้าไป
เป็นต้น
ดังนั้น สิ่งที่ลูกหลานพอทำได้ คือ การชวนท่านไปที่ใกล้ๆ ก่อน แล้วค่อยๆ พาไปที่ไกลมากขึ้นๆ
ในบ้านที่พ่อแม่เป็นกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายหรือโรคประจำตัวของตัวเอง ลูกหลานสามารถป้องกันก่อนเกิดด้วยการ
เตรียมแผนการเที่ยวที่รัดกุม ตอบคำถามท่านในเรื่องการรับมือกับปัญหาต่างๆ ได้ครบ ท่านจะสบายใจมากขึ้น
การรู้ใจพ่อแม่คือสิ่งสำคัญ ถ้ารู้ว่าพ่อแม่เราชอบเที่ยวสไตล์ไหน เช่น พ่อแม่สายกิน พ่อแม่สายช็อป พ่อแม่สายชมวิว พ่อแม่สายธรรมชาติ พ่อแม่สายนวดแผนโบราณ ฯลฯ จะทำให้เราเลือกสถานที่เที่ยวได้ตรงใจพ่อแม่มากขึ้น
ข้อที่ 4 รักสัตว์เลี้ยงมาก
บางบ้านที่พ่อแม่เลี้ยงสัตว์ ยิ่งพอท่านสู่วัยเกษียณ ยิ่งรักสัตว์เหล่านั้นมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งมีเวลาให้ ยิ่งรักและผูกพัน ลูกหลานอย่าได้น้อยใจ ถ้าบางคราได้ยินพ่อแม่พูดกับสัตว์เหล่านั้นได้ไพเราะเพราะพริ้งกว่าตัวเอง
เช่น “กินข้าวยังลูก” (พูดกับน้องหมาแมวที่บ้าน) “กินเสร็จยัง เหลือหมูไว้ไม้นะ จะเอาไปให้กระรอก” (พูดกับลูกแท้ๆ)
ทำความเข้าใจสถานะตนเอง “ลูกก็คือลูก” เพียงแค่หมาแมวกระรอกเหล่านั้นเข้ามาเพิ่มเติมในหัวใจพ่อแม่ของเราด้วย อย่าได้น้อยใจไป ถ้าคิดในแง่ดี สำหรับพ่อแม่วัยเกษียณ การเลี้ยงสัตว์เลี้ยง ท่านจะลุกขึ้นมาทำนู่นทำนี่มากขึ้น เช่น ลุกเดิน ให้อาหาร อาบน้ำ พาเดินเล่น ซึ่งเป็นการป้องกันโรคสมองเสื่อมไปในตัว และช่วยทำให้พ่อแม่เรามีสุขภาพกายใจที่ดีขึ้นอีกด้วย
ข้อที่ 5 “หู” พาลหาเรื่อง
อาการหูตึง เป็นสิ่งที่พ่อแม่วัยเกษียณหลายคนเผชิญ บางครั้งคุยกันดีๆ กลายเป็นเข้าใจลูกหลานผิดก็มีมานักต่อนักแล้ว พูดเสียงดังเข้าไว้ พ่อแม่เราจะได้ไม่หงุดหงิดและไม่เข้าใจเราผิดด้วย ที่สำคัญอย่าหงุดหงิดท่านเลย หากท่านไม่ได้ยินที่เราพูด และขอให้เราพูดอีกสักครั้ง
ข้อที่ 6 เข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น และกังวลกับการเดินทางนานๆ
พ่อแม่บางท่านเมื่อเข้าสู่วัยชรา ปัญหาเรื่องกระเพาะปัสสาวะก็ตามมาทันที ทั้งเรื่องกล้ามเนื้อหูรูดที่ทำงานได้ไม่ดีเหมือนเดิม ส่งผลให้ต้องปัสสาวะบ่อย ลูกหลานโปรดเข้าใจ และคงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พ่อแม่ไม่ชอบไปเที่ยวข้างนอกที่ไม่รู้จัก เพราะท่านกลัวจะไปสร้างภาระให้กับเรา
การเข้าห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่ลูกหลานควรช่วยกันดูแลสอดส่อง เพราะอุบัติเหตุในผู้สูงอายุบ่อยครั้ง มักเกิดเหตุที่ห้องน้ำ ไม่ว่าจะเป็นพื้นลื่นทำให้ท่านล้มหัวฟาดได้ง่ายๆ หรือ หน้ามืดเมื่อลุกขึ้นมาเร็วๆ เป็นต้น
ข้อที่ 7 อยากทำสิ่งต่างๆ ให้ลูกหลาน
พ่อแม่บางท่านอาจจะไม่ชอบการอยู่เฉยๆ เพราะรู้สึกว่า อยากทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับตัวเองและลูกหลาน เช่น อยากทำอาหารอร่อยๆ ให้ลูกหลานกิน, อยากปลูกต้นไม้ให้บ้านร่มเย็น, อยากทำความสะอาดบ้าน เป็นต้น
แม้บางครั้งเราอยากให้พ่อแม่เราสบายด้วยการอยู่เฉยๆ แต่นั่นกลับไม่ใช่สิ่งที่ท่านต้องการ ท่านอยากช่วย อยากมีคุณค่า อยากเป็นประโยชน์กับลูกหลาน ดังนั้นให้ท่านทำเถอะ ถ้าไม่ได้อันตรายหรือเกินกำลังจนเกินไป
ข้อที่ 8 ใจร้อน ขี้น้อยใจ และหงุดหงิดง่าย
เพราะพ่อแม่วัยเกษียณไวต่อความรู้สึกและใจร้อนไม่แพ้วัยรุ่นเลย หากทะเลาะกัน ลูกหลานเป็นฝ่ายง้อท่านก่อนบ้างก็ได้ ถ้าไม่ไหว รอท่านสงบ แล้วค่อยเข้าไปคุยใหม่ เข้าไปพร้อมขนมที่ท่านชอบ เครื่องดื่มที่ท่านถูกใจ เข้าไปบีบๆ นวดๆ เท่านี้ก็หายงอนแล้ว
พ่อแม่เมื่อชราภาพก็หงุดหงิดง่ายขึ้น เพราะร่างกายท่านไม่เหมือนแต่ก่อน สมองที่เสื่อมถอย ฮอร์โมนที่ลดลงอย่างฮวบฮาบ กับร่างกายที่ไม่สามารถควบคุมให้เคลื่อนไหวดังใจสั่งอีกต่อไป ร่างกายที่ไม่เหมือนเป็นร่างกายของตัวเองอีกแล้ว ส่งผลให้ผู้สูงอายุรู้สึกหงุดหงิดและไม่พอใจที่ตัวเองเป็นเช่นนี้
หากเอาใจเขามาใส่ใจเรา ให้เราลองนึกถามตัวเอง แค่ข้อเท้าพลิกวันเดียวยังบ่นระงมทั้งวัน แต่พ่อแม่เราต้องอยู่กับร่างกายที่ทรุดโทรมลงทุกๆ วัน มีแต่จะแย่ลง ท่านคงหงุดหงิดตัวเองเช่นกัน หากท่านหงุดง่ายและขี้บ่นมากขึ้น ให้เราทำความเข้าใจ และปล่อยวาง ไม่ถือเอามาเป็นอารมณ์โกรธท่าน
ข้อที่ 9 คำต้องห้ามที่ไม่ควรพูดกับพ่อแม่เด็ดขาด
“รำคาญ” “ภาระ” “โง่” “ไม่ได้เรื่อง” “อยู่เฉยๆ ไม่ได้หรือไง” ฯลฯ โกรธแค่ไหน ก็ไม่ควรพูดคำเหล่านี้ออกมา เพราะไม่ใช่แค่กับพ่อแม่ คำเหล่านี้ไม่ควรพูดกับใครที่เรารักทั้งนั้น
วันไหนทะเลาะกับพ่อแม่ ตะโกนใส่ฟ้า ใส่น้ำ กรี๊ดใส่หมอน แล้วค่อยมาคุยกันใหม่ดีกว่า อย่าคุยกันตอนไม่พร้อม เพราะมีแต่จะสร้างบาดเเผลให้กัน ที่สำคัญหากพูดออกไปแล้ว แม้จะกลับมานึกเสียใจทีหลัง คำพูดก็ไม่อาจย้อนคืนมาได้
“เราไม่มีทางรู้ว่า คำพูดสุดท้ายที่เราจะพูดกับท่านจะเป็นคำว่าอะไร การไม่พูดคำแย่ๆ เหล่านี้ออกไป คือ สิ่งที่ดีที่สุด”
ข้อที่ 10 อย่ากลัวที่จะแสดงความรักกับพ่อแม่ของเรา
พ่อแม่อายุมากแล้ว อย่าเสียเวลาคิดมาก อยากทำอะไรก็ทำเถอะ จะกอด จะบอกรัก จะหอม จะพาไปสระผม จะพาไปกินข้าว จะจูงมือ ทำเถอะ เพราะถ้าไม่ได้ทำจะเสียดายไปทั้งชีวิต
ขออนุญาตนำข้อความจากภาพยนตร์เรื่อง Tokyo tower mom and me sometimes dad (2007) มาฝากเอาไว้
“ถ้ายังมีโอกาสจงมอบความรักและความเอาใจใส่กับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เราทำให้ท่าน กลับเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ที่ช่วยเติมเต็มหัวใจ อยากพาไปไหน กินอะไร ทำอะไร ให้รีบทำ ก่อนที่เราจะไม่มีโอกาสทำหน้าที่ลูก”
ทุกๆ ปี เมื่อมาถึงวันเกิดของพ่อแม่เรา เราควรจะดีใจที่อย่างน้อยปีนี้ยังมีท่านอยู่ในชีวิต
สิ่งที่พ่อแม่วัยเกษียณควรตระหนักรู้
พ่อแม่เป็นคนธรรมดาที่ทำผิดพลาดได้
แม้ว่าเราจะอายุมากกว่าลูก หรือมีประสบการณ์มากกว่าเขาแค่ไหนก็ตาม ไม่มีพ่อแม่คนไหนเป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบ เราทำผิดพลาดได้เสมอ และบางครั้งลูกเราอาจจะเป็นฝ่ายที่ถูก เราควรรับฟังเขา
หากเราทำผิดพลาดต่อลูกแล้ว สิ่งที่พ่อแม่ทุกคนควรทำคือ ‘การให้อภัยตัวเอง’ ‘ขอโทษลูก’ และ ‘ทำในสิ่งที่ถูกต้อง’
การขอเวลานอก
เวลาที่พ่อแม่ทะเลาะกับลูก หรือเวลาที่ต่างฝ่ายต่างไม่พร้อมรับฟังซึ่งกันและกัน
การขอเวลานอกไปสงบใจเป็นเรื่องที่ควรทำ เพราะขืนพูดคุยกัน ณ เวลานั้น นอกจากจะไม่ได้ประโยชน์อะไร การทะเลาะกันอาจจะบานปลายใหญ่โตกว่าเดิม
โกรธกันแค่ไหนก็อย่าพูดคำว่า ‘ตัดพ่อแม่ ตัดลูกกัน’ เพราะหากลูกยอมให้เป็นเช่นนั้น เขาจะเดินจากเราไปตลอดกาล สุดท้ายพ่อแม่อย่างเราเองที่จะเป็นฝ่ายเสียใจในภายหลัง
อย่าทิ้งเวลานานจนเกินไป
เมื่อทะเลาะกัน อย่าทิ้งเวลาในการปรับความเข้าใจเข้าหากันนานจนเกินไป ดีที่สุด คือ เมื่อขอเวลานอกไปสงบใจกันแล้ว อย่าลืมกลับมาทำความเข้าใจกันด้วย อย่าให้จบวันนั้นไปโดยไม่ได้ปรับความเข้าใจกัน เพราะใจเราจะยิ่งเหินห่างไปเรื่อยๆ
คำพูดที่ไม่ควรถูกจำกัด ‘บอกรัก’ ‘ขอบคุณ’ ‘ขอโทษ’ พ่อแม่ควรบอกรักลูกและพูดขอบคุณเขาโดยไม่ขวยเขิน เมื่อเราทำผิดเราสามารถขอโทษลูกโดยที่ไม่จำเป็นต้องสงวนท่าทีเอาไว้ เพื่อให้ลูกคุ้นเคยกับการแสดงออกเช่นเดียวกับเรา เพื่อที่เขาจะสามารถบอกรัก ขอบคุณ และขอโทษเราเช่นเดียวกัน
อย่าคิดแทนลูก
พ่อแม่มักเป็นห่วงและปรารถนาดีต่อลูก แต่บางครั้งการคิดแทนลูก อาจจะไม่ส่งผลดีต่อลูกอย่างที่คิด เพราะลูกอาจจะอยากตัดสินใจและทำอะไรบางอย่างด้วยตัวเขาเอง ดังนั้น เมื่อเราเลี้ยงดูลูกอย่างดี โปรดมั่นใจในวันที่เขาเติบโตพร้อมจะใช้ชีวิตในแบบของเขา พ่อแม่ต้องปล่อยให้เขาเดินต่อไป โดยมีเราเป็นบ้านที่พักใจในวันที่เขาเหนื่อยล้า
หากเรามีเรื่องสำคัญที่ต้องตัดสินใจและสิ่งนั้นอาจจะกระทบกับชีวิตของลูกด้วย เราควรพูดคุยกับลูกในเรื่องดังกล่าวเสมอ อย่าคิดแทนลูกและจัดการเองเพียงลำพัง เพราะผลที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้ตัวเราและลูกเดือดร้อนได้
การปล่อยวาง
แม้ว่า การใช้ชีวิตอย่างดีที่สุด คือ ความพยายามที่เราพยายามมาทั้งชีวิต ในเมื่อที่ผ่านมาเราทำทุกอย่างอย่างเต็มที่ที่สุดแล้ว ทั้งการทำหน้าที่เป็นพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกให้เติบโต ทำหน้าที่สามี/ภรรยา การทำงาน และการใช้ชีวิตในด้านต่างๆ ดังนั้น เมื่อเวลามาถึง เราต้องเรียนรู้ที่จะปล่อยวาง และเชื่อมั่นในตัวลูกหลานของเรา ให้เขาได้ดูแลสิ่งเหล่านี้ต่อไป
“ห่างวัย ความสัมพันธ์ไม่จำเป็นต้องห่างเลย”
ปรับตัวอยู่เสมอ
แม้ว่า พ่อแม่วัยเกษียณจะเข้าสู่ช่วงวัยสุดท้ายของชีวิตแล้ว แต่เราสามารถปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยได้เสมอ ขอเพียงแค่เราเปิดใจ และกล้าที่จะลองเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากลูกหลานของเรา เช่น การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ไว้สื่อสารกับลูกหลาน การดูภาพยนตร์หรือสื่อต่างๆ ในยุคปัจจุบัน และอื่นๆ
ถึงแม้ว่า เราจะเรียนรู้และปรับตัวกับสิ่งใหม่ๆ ไม่ได้แปลว่า เราต้องละทิ้งอดีตและสิ่งเก่าๆ เราสามารถนำเรื่องราวและสิ่งเหล่านั้นมาแบ่งปันให้กับลูกหลานได้เสมอ ขอเพียงแค่เราเปิดใจเข้าหากันและกัน
การเติมเต็มคุณค่าภายในระหว่างคนสองวัย : เราต่างมีคุณค่า
ศูนย์การเล่นหลากหลายวัย (Intergenerational Play Center) ในประเทศออสเตรเลียก่อตั้งขึ้นเพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสเชื่อมต่อกับสังคมอีกครั้ง โดยศูนย์แห่งนี้ ผู้สูงวัยจะได้มาทำกิจกรรมร่วมกับเด็กปฐมวัย
แม้ความแตกต่างระหว่างวัยจะมีช่องว่างมหาศาล แต่สิ่งที่ทั้งสองวัยนี้ต้องการไม่แตกต่างกัน คือ การได้รับความสนใจและการรับรู้ถึงคุณค่าภายในตนเอง ซึ่งเมื่อทั้งสองวัยมาเจอกัน พวกเขาสามารถเติมเต็มทั้งสองสิ่งนี้ให้กันได้เป็นอย่างดี
“ความใจร้อน” ที่มาพร้อมกับพลังความเร็วและความกระตือรือร้นของเด็กๆ
“ความใจเย็น” ที่มาพร้อมกับความสงบ ความช้า และความมั่นคงของผู้สูงวัย
ต่างเป็นส่วนผสมที่ลงตัว
“เราต่างยอมรับในกันและกัน” การเติมเต็มคุณค่าภายในระหว่างคนสองวัย
ตัวอย่างกิจกรรมที่สร้างการมองเห็นคุณค่าให้กันและกัน
เด็กๆ วัย 4 ขวบ เป็นเพื่อนกับคุณตาคุณยายจากบ้านพักคนชรา วันนี้พวกเขาต้องวาดรูปกันและกัน เด็กหญิงวัย 4 ขวบ ซึ่งจับคู่กับคุณตาวัย 82 ปี เริ่มรู้สึกกระวนกระวายใจ เพราะว่า เธอไม่รู้วิธีวาดรูป “เด็กผู้ชาย”
เด็กหญิง “หนูไม่รู้วิธีวาดรูปคุณ”
คุณตา “ขอโทษนะ หนูพูดว่าอะไรนะ”
เด็กหญิง “หนูพูดว่า หนูไม่รู้วิธีวาดรูปเด็กผู้ชาย”
คุณตา “ฉันเป็นเด็กผู้ชายเหรอ”
เด็กหญิง “ใช่ แต่ฉันไม่รู้ว่าจะวาดเด็กผู้ชายยังไงดี”
เด็กหญิงพูดประโยคเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยความคับข้องใจที่เธอไม่สามารถวาดรูปคุณตาได้ ทำให้เธอเริ่มร้องไห้ออกมา
คุณตาที่ไม่รู้จะปลอบเด็กหญิงอย่างไรดี จึงลูบหลังน้อยๆ ของเธอ และถามว่า “หนูเป็นอะไรหรือเปล่า?”
เด็กหญิง “หนูไม่รู้วิธีวาดรูปเด็กผู้ชาย”
คุณตา “ไม่เป็นไรนะ ฉันไม่อยากทำให้หนูร้องไห้เลย”
คุณตาค่อยใช้มือของเขาเช็ดน้ำตาให้เด็กหญิง และจับไปที่ไหล่ของเธออย่างอ่อนโยน
สำหรับเด็กหญิงแล้ว ในช่วงเวลานี้ที่เธอทำอะไรไม่ถูก คุณตาเป็นเสมือนพื้นที่ปลอดภัยที่ยอมรับในตัวเธออย่างปราศจากเงื่อนไข ไม่ว่าเธอจะร้องไห้ออกมา แต่คุณตาก็ยังยอมรับเธอและรอเธอสงบอย่างใจเย็น
คุณตา “เราต้องการกระดาษทิชชู่สำหรับเช็ดน้ำตาให้หนู”
เด็กหญิง “เราต้องการกระดาษทิชชู่”
หลังจากที่เธอได้ร้องไห้ออกมา เด็กหญิงค่อยๆ กลับมาเป็นตัวเธอที่ “ร่าเริง” และ “สดใส” อีกครั้ง
เด็กหญิง “เป็นเพราะหนูลงสีดำตรงนี้ไป จึงทำให้เรามองไม่เห็นสีของดวงตาคุณ ถ้าเป็นอย่างนั้น มันไม่เป็นไรใช่ไหม”
คุณตา “ไม่เป็นไรเลย”
ที่แท้ ที่เด็กหญิงร้องไห้ อาจจะเป็นเพราะเธอลงสีดวงตาของคุณตาพลาดไป ทำให้เธอรู้สึกแย่ที่เธอทำผิดพลาด แต่ด้วยความที่คุณตายอมรับเธออย่างจริงใจ เด็กหญิงจึงกลับมาวาดรูปเขาได้อีกครั้ง
“บทเรียนที่เด็กหญิงกับคุณตาได้มอบให้”
แม้วัยของทั้งสองจะห่างกันมาก แต่สายสัมพันธ์ระหว่างเด็กหญิงกับคุณตานั้นแน่นแฟ้น เด็กๆ จะวางใจกับบุคคลที่พวกเขามีความสัมพันธ์อันดีด้วย ซึ่งการวางใจนำไปสู่…
“การรับฟัง”
“การทำตาม”
“ความเชื่อมั่นทั้งต่อตนเองและบุคคลนั้น”
สายสัมพันธ์อันดีเกิดขึ้นได้จาก ‘การยอมรับโดยปราศจากเงื่อนไข’ ยอมรับในสิ่งที่อีกฝ่ายเป็น ทั้งตอนที่มีความสุข หรือมีความเศร้า เราไม่ปฏิเสธหรือผลักไสอีกฝ่ายออกไปในวันที่เขาต้องการเราที่สุด แต่เราจะให้การเคียงข้าง จนอีกฝ่ายรู้สึกดีขึ้น
สำหรับผู้สูงวัยการที่มีใครสักคนที่เชื่อมั่นใจตัวเรา ทำให้เรามีความเชื่อมั่นที่จะทำหลายสิ่งหลายอย่าง
เราจะไม่กลัวที่จะลองทำสิ่งใหม่ๆ ในวันที่ร่างกายสวนทางไป เราไม่กลัวทำพลาด และไม่กลัวที่จะเริ่มต้นอีกครั้ง
เพราะความเชื่อมั่นที่ใครสักคนที่รักเรามอบให้ ทำให้เรารับรู้ถึงคุณค่าของตัวเอง และสามารถที่จะสร้างคุณค่าภายในตัวเองต่อไป
สุดท้าย สิ่งที่พ่อแม่วัยเกษียณต้องการ คือ “การรับรู้ถึงคุณค่าภายในตัวเอง” และ “การมีคุณค่าสำหรับใครสักคน” เพราะคุณค่าเหล่านี้ทำให้พวกท่านมีพลังแรงใจที่ใช้ชีวิตอยู่ต่อไปอย่างดีที่สุด