- แม้ว่า ‘ผู้ปกครองเป็นคนเลี้ยงดูลูกได้ดีที่สุด’ แต่ด้วยภาระหลายๆ อย่าง ทำให้บางครอบครัวหน้าที่เลี้ยงเด็กอาจตกเป็นของญาติ เช่น ปู่ย่า ตายาย น้า ลุง ป้า เป็นต้น แน่นอนว่าพวกเขาอาจมีแนวทางเลี้ยงเด็กที่ไม่เหมือนผู้ปกครอง ทำให้อาจเกิดความไม่ลงรอยกัน
- ถ้าการกระทำของอีกฝ่ายไม่ถูกใจหรือทำให้เราไม่พอใจ ไม่ควรนิ่งเงียบหรือประชดกับเด็ก เช่น แม่เธอมันขี้บ่น หรือทะเลาะกันต่อหน้าเด็ก แต่ควรแยกไปคุยกันเอง โดยใช้เหตุผล ไม่ใช้อารมณ์ หนทางที่จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ดีที่สุด คือ การทำข้อตกลงแนวทางดูแลเด็กคนนี้ร่วมกัน
- ฝั่งปู่ย่าตายายที่กลัวว่าถ้าไม่ตามใจหลาน หลานจะไม่รัก แม้การตามใจจะทำได้ง่าย และรู้สึกสบายใจที่ไม่ต้องขัดใจหลาน แต่ผลกระทบระยะยาวที่จะเกิดขึ้นกับหลานอาจจะทำร้ายตัวเขาโดยไม่รู้ตัว ทั้ง ‘ความเอาแต่ใจ’ ‘ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้’ ‘อารมณ์ที่ไม่มั่นคง’ และอื่นๆ
ก่อนจะอ่านบทความนี้ อยากย้ำเตือนคุณพ่อคุณแม่อีกครั้งว่า หน้าที่หลักในการเลี้ยงลูกควรเป็นของพ่อแม่ ไม่ใช่ของผู้อื่น แต่ในกรณีที่จำเป็น เช่น ผู้ปกครองต้องออกไปทำงานไม่สะดวกเลี้ยงลูก การฝากลูกให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงดูบ้างก็ไม่ใช่เรื่องผิด ที่สำคัญคือเราควรมีแนวทางในการดูแลเด็กคนหนึ่งร่วมกัน
บทความนี้จึงเป็นเพียงแนวทางและทางเลือกในการกำหนดทิศทางในการเลี้ยงดูเด็กร่วมกันระหว่างพ่อแม่กับปู่ย่าตายาย
สารพันปัญหาเมื่อปู่ย่าตายายเลี้ยงหลานไปคนละแนวทางกับพ่อแม่ของลูก
เด็กไม่ยอมฟังพ่อแม่ แต่ฟังปู่ย่าตายาย
สิ่งหนึ่งที่ผู้ปกครองมักเจอเวลาให้ญาติเลี้ยงลูก คือ เด็กเอาแต่ใจ ไม่ยอมฟังพ่อแม่ แต่ฟังปู่ย่าตายาย เพราะปู่ย่าตายายตามใจหลาน แต่พ่อแม่ไม่เคยตามใจลูก เวลาลูกทำผิด พ่อแม่กำลังสอน ปู่ย่าตายายจะเข้ามาโอ๋ทันที ปัญหานี้ควรทำอย่างไรดี
“การเลี้ยงเด็กหนึ่งคน บ้านควรไปในทิศทางเดียวกัน”
เลี้ยงเด็กหนึ่งคนในบ้าน กติกาของบ้านควรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อไม่ให้เด็กสับสนว่า เขาควรปฏิบัติตัวอย่างไร เด็กจะเคารพและเกียรติทุก ๆ คน เมื่อทุกคนในบ้านให้เกียรติซึ่งกันและกัน
ดังนั้น ผู้ใหญ่ควรคุยกันเสมอ เพื่อทำความเข้าใจกัน ซึ่งไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทุกสิ่ง ขอแค่เจอกันตรงกลางก็พอ
สิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่ควรปฏิบัติต่อกันและกัน…
ข้อที่ 1 ไม่ควรทะเลาะกับอีกฝ่าย หรือทำให้อีกฝ่ายอับอายต่อหน้าเด็ก
ยกตัวอย่างเช่น ในขณะที่อีกฝ่ายกำลังสอนเด็กอยู่ เราไม่ควรขัดขวางการสอนของกันและกันต่อหน้าเด็ก หากเราไม่เห็นด้วยกับอีกฝ่าย ให้ออกมาคุยกันทีหลัง หรือทางที่ดีที่สุด คือ การตกลงกติกาของครอบครัวให้ชัดเจน เพื่อที่ทุกๆ คนจะปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน
ข้อที่ 2 ไม่ควรแอบทำลับหลังอีกฝ่าย
ยกตัวอย่างเช่น “พ่อให้ดูหนังหนึ่งเรื่อง อย่าบอกแม่นะ”
“แม่ให้ขนมหนึ่งชิ้น เราเก็บเป็นความลับนะ”
“ปู่ย่ามารับหลานเร็ว อย่าบอกพ่อแม่ไปเชียว” เป็นต้น
เพราะเราได้ทำลายความน่าเชื่อถือของอีกฝ่าย เด็กจะไม่ฟัง และเขาอาจจะเรียนรู้ว่า ถ้าไม่อยากฟังใคร ให้ไปหาอีกคนที่ช่วยเขาได้
ข้อที่ 3 ไม่ควรให้เด็กมาเป็นพวกของเรา
ครอบครัวไม่ควรแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกัน เพราะ ‘ลูก’ ไม่ใช่ของๆ ใคร เขาเป็นคนๆ หนึ่งในครอบครัวของเรา
ข้อที่ 4 ไม่ควรตำหนิหรือพูดถึงอีกฝ่ายในทางที่ไม่ดีให้เด็กรับรู้
เช่น “พ่อเธอมันแย่”
“แม่เธอคิดมาก”
“ย่าเธอน่ารำคาญ”
“ยายเธอจู้จี”
“ตาเธอขี้บ่น”
“ปู่เธอไม่สนใจใคร” เป็นต้น
เพราะเด็กจะอึดอัดกับเราและอีกฝ่าย บ้านก็ไม่น่าอยู่อีกต่อไป
ข้อที่ 5 หากไม่เข้าใจ หรือไม่พอใจเรื่องใด ไม่ควรคิดและตีความไปเอง
คนภายในครอบครัว ควรพูดคุยและสื่อสารกันให้มาก ถ้าไม่เข้าใจกัน ให้ถามด้วยเหตุผล อย่าใช้อารมณ์ หรือพูดประชดประชัน เพราะเรื่องอาจจะบานปลายใหญ่โต
ข้อที่ 6 ไม่ควรใช้ความเงียบเพื่อหนีปัญหา
หากปราศจากซึ่งการสื่อสาร ครอบครัวจะแตกออกได้เช่นกัน จากสายสัมพันธ์ที่ค่อยๆ เลือนหายไปจากการไม่พูดไม่จากัน รอยร้าวนั้นไม่ต่างอะไรกับการทะเลาะกัน แต่ความเงียบเป็นรอยร้าวที่ลึก และยากที่จะประสานกว่านัก
ข้อที่ 7 ไม่ควรเป็นฝ่ายที่พูดอย่างเดียว จนไม่ฟังใคร
การพูดเยอะ บ่นเยอะ บางครั้งก็ทำให้คนอื่นไม่อยากพูดต่อแล้ว
เราจะเสียโอกาสในการรับฟังในสิ่งที่คนอื่นคิด และการแก้ปัญหาของครอบครัวที่ดีจะไม่เกิดขึ้น หากมาจากความคิดของเราแค่คนเดียว
ครอบครัวที่สมบูรณ์แบบอาจจะไม่มีอยู่จริง แต่ครอบครัวที่มีความสุขเกิดขึ้นได้ หากเรายอมรับจุดบกพร่องของกันและกัน และช่วยกันเติมเต็มในส่วนที่อีกฝ่ายทำไม่ได้ ยอมรับ และยินดีช่วยเหลือในสิ่งที่เราทำได้ และยินดีให้อีกฝ่ายช่วยเหลือในสิ่งที่เราทำไม่ได้
ปู่ย่าตายายปล่อยให้หลานนั่งอยู่หน้าจอ
‘ให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงหลาน แต่ปู่ย่าตายายชอบตามใจหลาน ให้หลานดูหน้าจอ ทำอย่างไรดี?’
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า หน้าที่เลี้ยงลูกควรเป็นของพ่อแม่ หากเรายกหน้าที่นี้ให้ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นปู่ย่าตายาย หรือพี่เลี้ยงก็ตาม เราต้องทำใจเลยว่า เขาไม่มีทางเลี้ยงลูกได้ดั่งใจเรา ดังนั้น หากพ่อแม่อยากให้ลูกเป็นเช่นไร เราควรเป็นผู้เลี้ยงดูหลัก ในขณะที่ผู้ใหญ่ท่านอื่นเข้ามาช่วยดูแลเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น
ถ้าพ่อแม่มีความจำเป็นต้องให้ลูกอยู่กับคนอื่น ระหว่างเราทำงาน เราควรรีบกลับมารับลูก และอยู่กับลูกในมากที่สุด ชดเชยเวลาที่เราไม่ได้เลี้ยงเขา เล่นกับเขา อ่านนิทาน และสัมผัสเขาให้มากที่สุด”
ในส่วนปัญหาการที่ปู่ย่าตายายให้หลานดูหน้าจอ พ่อแม่ควรทำความเข้าใจก่อนว่า ปู่ย่าตายายอาจจะไม่ได้มีร่างกายที่แข็งแรงเท่าสมัยที่เลี้ยงดูเราอีกแล้ว ดังนั้น การจะทำให้เด็กอยู่นิ่งๆ ปู่ย่าตายายอาจจะแก้ปัญหาด้วยการนำหน้าจอมาให้หลานดู
พ่อแม่ควรขอความร่วมมือจากปู่ย่าตายายว่า ขอไม่ให้หลานดูหน้าจอ หรือดูแต่ระยะเวลาเท่าไหร่ จัดตารางเวลาให้ท่านดูว่า เวลาไหนทำอะไรได้บ้าง ที่สำคัญต้องเสนอทางออกให้กับท่านในการรับมือกับหลานด้วย เช่น ให้เล่นน้ำในกะละมัง เล่นทราย เล่นของเล่นที่เราเตรียมไว้ให้ เพื่อช่วยทุ่นแรงท่าน
อย่างไรก็ตามถ้าทำทั้งหมดแล้ว แต่ปู่ย่าตายายอาจจะไม่สามารถทำตามได้ เนื่องจากอายุที่มากและร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวย หรือท่านไม่ได้รับความร่วมมือตามที่เราขอ พ่อแม่ควรเลือกว่า…
ข้อ 1 เลี้ยงดูลูกด้วยตนเอง จนลูกถึงวัยเข้าโรงเรียน (ประมาณ 3 ปี)
ถ้าพ่อแม่เลือกข้อนี้ ลูกจะได้เวลาคุณภาพจากเรา เราได้เลี้ยงลูกเอง แต่หน้าที่การงานเราอาจจะหยุดไปชั่วคราว
ข้อ 2 ให้ลูกเข้าเรียนก่อนวัยอันควร เช่น การเรียนเนอสเซอรี่ (Nursery) ที่เน้นเล่น และสอนเขาดูแลตัวเอง
ถ้าพ่อแม่เลือกข้อนี้ เราจะสามารถทำงานไปด้วย เลี้ยงลูกไปด้วยได้ ถ้าบุคลากรที่ดูแลลูกดี เด็กอาจจะพัฒนาได้ดี แต่ถ้าไม่ดี อาจจะทำให้เด็กเกิดการถดถอยทางกายใจได้
ข้อ 3 ให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงเช่นเดิม และกลับมาชดเชยให้ลูกมากที่สุดในตอนเย็น
ข้อนี้เราทำงาน ปู่ย่าตายายเลี้ยงเหมือนเดิม ปัญหาอาจจะวนกลับมาเช่นเดิม เราต้องยอมรับปัญหาที่จะตามมาได้
พ่อแม่บางบ้านอาจจะเลือกที่จะผสมข้อ 1 – 2 – 3 อย่างละนิดละหน่อย เช่น ฝากปู่ย่าตายาย แค่ 1 – 2 วันต่อสัปดาห์ 5 วันที่เหลือ พ่อหรือแม่ทำงานพาร์ทไทม์แล้วมาอยู่กับลูกครึ่งบ่าย เช้าพาลูกไปเรียนเนิร์สเซอร์รี่
ทั้งนี้ แต่ละบ้านสามารถตกลงและวางแผนกันตามเหมาะสม แต่แนะนำให้เลือกตัวเลือกที่เราได้ใช้เวลากับลูกมากที่สุด
สรุปคำตอบ ทุกการเลือกย่อมได้บางสิ่งบางอย่างมา แต่ก็ต้องสูญเสียบางอย่างไป พ่อแม่ต้องยอมรับว่า การเลี้ยงเด็กคนหนึ่ง คือ การลงทุน หากเราไม่ลงทุนเรื่องเวลาและการสอนเขาด้วยตัวเราเองตอนนี้ให้เขา เราอาจจะต้องเผื่อใจในการซ่อมเขาในตอนโต
การเป็นพ่อแม่ที่ทำงานด้วย เลี้ยงลูกเองด้วยนั้น ต้องใช้คำว่า “เหนื่อยแสนสาหัส” แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเป็นไปไม่ได้ การลงทุนเรื่องเวลากับลูก ให้เวลาวันละนิด แต่ทุกวันสม่ำเสมอ ดอกผลนั้นงดงามแน่นอน
“พ่อแม่ควรเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเราและลูกมากที่สุด เพราะสุดท้ายเมื่อปัญหาเกิดขึ้น ปู่ย่าตายายไม่ใช่คนที่จะมาแก้ปัญหาหรืออยู่กับลูกเราในอนาคต แต่เราต่างหากที่จะต้องมารับผิดชอบแก้ปัญหานั้น และอยู่กับลูกต่อไป”
สำหรับคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายที่มีโอกาสช่วยลูกเลี้ยงดูหลานตัวน้อย เราสามารถทำอย่างไรให้หลานเติบโตทั้งกายใจ
ข้อที่ 1 ให้หลานช่วยเหลือตัวเองตามวัย
เมื่อหลานถึงวัยที่เริ่มหยิบจับอาหารเข้าปากได้ สอนหลานให้กินข้าวเอง
เมื่อหลานเริ่มเดินได้ อย่าอุ้มเขาตลอดเวลา ให้เขาฝึกเดินมาหาเรา จูงมือเขาเดินไปที่ต่างๆ หลานล้มบ้าง ไม่เป็นไร อย่าตกใจ และวิตกเกินเหตุ เพราะหลานจะตกใจตามเรา
เมื่อหลานอยากลองทำสิ่งใหม่ๆ อย่าห้ามเขา แต่ให้สอนเขาทำสิ่งนั้น หลานทำไม่ได้เรียบร้อย ไม่เป็นไร ค่อยๆ สอน ค่อยๆ ฝึก เมื่อถึงเวลาเขาจะทำได้ดีขึ้น
ข้อสำคัญเวลาหลานทำไม่ได้ อย่าเพิ่งทำให้ ลองทำให้เขาดู จากนั้นสอนเขาทำ อาจจะจับมือเขาทำ เมื่อเริ่มทำได้บ้าง ให้ทำไปด้วยกัน และสุดท้ายลองปล่อยให้เขาทำเอง โดยมีเราดูอยู่ห่างๆ
“หลานยิ่งทำ ยิ่งฝึกฝน ยิ่งเติบโต”
ข้อที่ 2 ‘เล่นกับหลาน’ และ ‘หลีกเลี่ยงการเปิดหน้าจอ (โทรทัศน์ โทรศัพท์ แท็บเล็ต ไอแพด…) ให้หลานดู’
หากเด็กเล็กดูหน้าจอ สมองของเขาจะถูกขัดขวางและแทรกแซง ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของการพูดที่ล่าช้า หรือ สมาธิที่สั้นลง นอกจากนี้ เด็กเล็กควรพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก-ใหญ่ ได้แก่ แขน ขา นิ้วมือของเขาให้พร้อมสำหรับการเรียนรู้ในวัยต่อไป ซึ่งหมายรวมถึง การช่วยเหลือตัวเอง การคิด การเขียน การอ่าน ถ้าหากเราให้เขาดูหน้าจอ ร่างกายของเด็กๆ ก็ไม่ได้เคลื่อนไหว ผลคือ กล้ามเนื้อของเขาก็ไม่คงทนแข็งแรง แทนการดูหน้าจอ เราควรชวนเขาเล่น
“การเล่นที่ส่งเสริมให้สมองและร่างกายของเด็กพัฒนา”
สำหรับผู้สูงวัยอย่างเรา การเล่นที่สามารถทำได้ อาจจะไม่ใช่เป็นการเล่นวิ่งไล่จับกับหลาน แต่อาจจะเป็นการเล่นที่เราใช้แรงน้อย แต่หลานออกแรงมากก็ได้ เช่น
การเล่นน้ำ เล่นทราย ปั้นแป้ง ปั้นดินน้ำมัน ระบายสี เด็กๆ มักจะเล่นได้ด้วยตัวเอง โดยมีเราควรดูแลความปลอดภัย
หรืออาจจะเป็นการเล่นบทบาทสมมติ เช่น เล่นทำกับข้าว หลานเป็นคนทำอาหาร เราเป็นลูกค้า หรือเล่นคุณครูนักเรียน หลานเป็นคุณครู เราเป็นนักเรียน เป็นต้น
“เรายิ่งเล่น หลานยิ่งผูกพัน”
ข้อที่ 3 ‘อ่านหนังสือนิทานหรือเล่าเรื่องราวให้หลานฟัง’
หากเราเล่านิทานให้หลานฟังตั้งแต่เด็กๆ สมองของพวกเขาจะพัฒนาได้อย่างยอดเยี่ยม และเรื่องราวในนิทานหลายๆ เรื่องจะกล่อมเกลาให้เขาเป็นเด็กที่อ่อนโยน เข้าใจตนเองและเข้าใจผู้อื่น
ถ้าหากหลานเบื่อหนังสือนิทานหรือไม่มีหนังสือนิทานให้อ่านแล้ว เราสามารถเล่าเรื่องตอนสมัยเราเป็นเด็กๆ ให้หลานฟังก็ได้ เด็กหลายคนชอบฟังเรื่องราวเหล่านั้นมากๆ
“เรายิ่งอ่าน ยิ่งเล่า หลานยิ่งพัฒนา”
ข้อที่ 4 ‘พูดคุย รับฟัง และชื่นชมหลาน’
เริ่มจากไม่รู้ใจหลานมากเกินไป ให้หลานสื่อสารกับเราก่อนจะทำให้เขา
ตอนหลานยังเป็นเด็กเล็กๆ ให้เราชวนเขาพูดคุยเยอะๆ เพราะเขาจะได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ และการสื่อสารจากเรา
แต่เวลาหลานพูดกลับมา ให้เรามองตาเขา และรับฟังเขาให้จบ อย่าเพิ่งพูดขัดเขา เพราะหลานจะได้เรียนรู้การเป็นผู้ฟังที่ดีจากเราด้วย
ชื่นชมหลานในสิ่งที่เขาทำ เน้นว่า “สิ่งที่เขาทำได้” อย่างจริงใจ เช่น
เวลาหลานทำอะไรได้เอง ให้ชมเขาว่า “ทำ….ได้เองด้วย เยี่ยมไปเลย”
แต่หากเขายังทำไม่ได้ อย่าเพิ่งตำหนิเขา หรือ บ่นเขา ให้ชมเขาว่า “วันนี้ทำได้เท่านี้ก็เยี่ยมมากแล้ว ครั้งหน้าเอาใหม่”
“ไม่แซว” หรือ “ตำหนิ” เวลาหลานทำไม่ได้ เพราะว่าเด็กจะเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง ให้เปลี่ยนเป็นให้กำลังใจหลานดีกว่า
ข้อที่ 5 ‘ถ่ายทอดวิชาให้หลาน’
ถ้าหลานโตมากพอระดับหนึ่งแล้ว ถ้ามีโอกาส เราลองสอนทักษะต่างๆ ที่เรารู้ให้กับหลานได้ อาจจะเป็นเรื่องง่ายๆ อย่าง งานบ้าน งานครับ งานช่าง งานหัตถกรรม และอื่นๆ เพราะนอกจากหลานจะได้พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก-มัดใหญ่แล้ว สมองของเขาก็พัฒนาอีกด้วย
“ยิ่งหลานเรียนรู้ เขายิ่งมีทักษะหลากหลาย”
ข้อที่ 6 ‘ไม่ตามใจหลานในทางที่ไม่เหมาะสม’
เวลาหลานอยากได้อะไร เขาไม่จำเป็นต้องได้ทุกอย่าง แม้ว่าเราจะสามารถสรรหาหรือซื้อมาให้เขาได้ เพราะถ้าเราทำเช่นนั้น หลานจะไม่ได้เรียนรู้คุณค่าของสิ่งของ และความพยายามเพื่อที่จะได้สิ่งนั้นมา
ในเด็กเล็ก เราสามารถตั้งกติกาได้ว่า “วันนี้จะให้เขาซื้อของได้กี่อย่าง” หรือ บอกเขาชัดเจนได้เลยว่า “วันนี้ไม่ซื้อของเล่นนะ” ถ้าเขาร้องไห้งอแง แปลว่า หลานไม่พร้อม เราจะกลับบ้านกัน
ในเด็กโต ถ้าเขาอยากได้อะไร เราควรสอนให้เขาเก็บออมเงิน
และทำงานแลกเงินมาซื้อ เราอาจจะช่วยสมทบให้เขาครึ่งหนึ่งก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าตกลงกับเขาไว้อย่างไร
ข้อที่ 7 ‘ไม่ปล่อยให้หลานทำผิดกฎ 3 ข้อ’
กติกาที่หลานและผู้ใหญ่ทุกคนในบ้านควรทำตาม คือ “กฎ 3 ข้อ” ได้แก่
ข้อที่ 1 ไม่ทำให้ตัวเองบาดเจ็บ (ไม่ทำร้ายตัวเอง)
ข้อที่ 2 ไม่ทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ หรือ เดือดร้อน
ข้อที่ 3 ไม่ทำให้ข้าวของเสียหาย
ดังนั้น หากหลานกำลังทำผิดกติกา 3 ข้อนี้ เราควรเข้าไปจับมือเขา หรือ พาเขาออกมา ไม่ควรตามใจเขาด้วยการปล่อยให้เขาทำพฤติกรรมนั้นต่อไป
หรือถ้าเรารับมือหลานไม่ไหว ควรให้พ่อแม่ของหลานได้เข้ามาช่วยรับผิดชอบหลักในการสอนลูกด้วยตัวเอง
ข้อที่ 8 ‘ไม่ปกป้องหลานเวลาที่เขาทำผิด แต่สอนเขาให้รับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำ’
เวลาหลานทำผิด อย่าเข้าข้างหลาน และโทษคนอื่นหรือสิ่งของ แทนการตำหนิหลาน เช่น หลานเดินชนโต๊ะ เราไม่ควรโทษโต๊ะ และตีโต๊ะ แต่ควรสอนหลานว่า “ไม่เป็นไรนะลูก ค่อยๆ เดินระวังๆ” หรือ ไปหลานร้องไห้ ก็โทษคนรอบตัวหลานว่า “ใครทำหลานร้องไห้ เดี๋ยวตีให้เลย” เป็นต้น
สิ่งที่ควรทำ คือ…
ข้อที่ 1 บอกหลานทันทีว่า “สิ่งนั้นไม่ควรทำ” และ “สิ่งที่ควรทำคืออะไร”
ข้อที่ 2 หากหลานไม่พร้อม พาเขาออกมาจากที่เกิดเหตุก่อน ถ้าต้านแรงหลานไม่ไหว ก็รอเขาสงบตรงนั้น ไม่ต้องรีบสอน หรือ พูดอะไร
ข้อที่ 3 เมื่อหลานพร้อม พาเขาไปขอโทษอีกฝ่าย และสอนเขาให้รับผิดชอบต่อสิ่งที่เขาทำ เช่น ช่วยกันเก็บกวาด หรือ ช่วยเหลืออีกฝ่าย
ข้อที่ 4 กอดเขา และชื่นชมเมื่อเขากล้ารับผิดชอบในสิ่งที่ทำผิด
ข้อที่ 5 เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับหลาน
สุดท้าย หากรับมือไม่ไหว ควรเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องสอนลูกเป็นหลักในการสอนเขา
ข้อที่ 9 ‘เคารพซึ่งกันและกัน’
เวลาที่พ่อแม่สอนลูก อย่าเพิ่งเข้าไปแทรกแซงหรือปกป้องหลาน เพราะการทำเช่นนั้นจะเป็นการทำให้หลานไม่ฟังพ่อแม่ และเรียนรู้ว่า “มีคนปกป้องเขา” แม้ว่าเขาจะทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมก็ตาม ปู่ย่าตายายควรให้สิทธิ์พ่อแม่สอนลูกของตัวเองเสมอ
ถ้าทิศทางในการสอนของเราไม่ตรงกับพ่อแม่ของหลาน ให้เปิดใจคุยกันในแนวทางสายกลางที่จะเลี้ยงเด็กคนหนึ่งไปในแนวทางเดียวกัน
อย่างไรก็ตามพ่อแม่ควรตระหนักเสมอว่า “หน้าที่หลักในการเลี้ยงลูก ควรเป็นของพ่อแม่” พ่อแม่ควรรับผิดชอบในหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด
ข้อที่ 10 ‘สัมผัสหลานด้วยความรัก’
การมองตาหลาน การอยู่ใกล้ๆ การกอด การหอม การลูบหัว เกาหลัง กล่อมนอน ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นสัมผัสด้วยรักที่เราสามารถเติมเต็มใจให้หลานได้
คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ที่เป็นกังวลว่าหลานจะไม่รักหากไม่ตามใจเขา อาจจะต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ว่า “การตามใจ” ไม่เท่ากับ “ความรักที่แท้จริง”
แม้การตามใจจะทำได้ง่ายกว่า และเรารู้สึกสบายใจที่ไม่ต้องขัดใจหลาน แต่ผลกระทบระยะยาวที่จะเกิดขึ้นกับหลานอาจจะทำร้ายตัวเขาโดยไม่รู้ตัว ทั้ง “ความเอาแต่ใจ” “ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้” “อารมณ์ที่ไม่มั่นคง” และอื่นๆ
“ความรักที่แท้จริง” ควรเป็นความปรารถนาดีให้หลานเติบโตแข็งแรงทั้งกายใจ ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นได้ หากเราช่วยสอนเขาให้ทำสิ่งต่างๆ ได้ตามวัย และให้เวลาคุณภาพกับหลาน เล่นกับเขา อ่านหนังสือ และสัมผัสเขาด้วยรัก
ในท้ายที่สุด มีคำกล่าวว่า “It takes a village to raise a child.”
“การจะเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้เติบโตต้องอาศัยคนทั้งหมู่บ้าน”
ดังนั้น พ่อแม่และผู้ใหญ่ทุกคนภายในบ้าน ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตทั้งร่างกายและจิตใจ