Skip to content
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
  • Creative Learning
    Life Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique TeacherCreative learning
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
Creative learningEarly childhood
22 July 2025

‘นิทานปากเปล่า’ เล่าความรักให้ลูกฟัง สร้างจินตนาการ สานสัมพันธ์ในครอบครัว: แม่จาว – วัชราวรรณ เพชรบุล

เรื่อง นฤมล ทับปาน ภาพ ปริสุทธิ์

  • นิทานปากเปล่าจะทำให้เด็กสร้างภาพในใจ เกิดจินตนาการ ซึ่งจินตนาการของเด็กมีความสำคัญอย่างมากต่อพัฒนาการรอบด้าน ช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา พัฒนาทักษะการสื่อสาร และเข้าใจโลกและผู้อื่นได้ดีขึ้น
  • The Potential ชวน แม่จาว – วัชราวรรณ เพชรบุล พูดคุยถึงโลกของ ‘นิทาน’ กับพัฒนาการของเด็ก ข้อคิดในการเล่านิทานอย่างมีคุณภาพ และสิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรใส่ใจ
  • หัวใจสำคัญในการเล่านิทานอย่างมีคุณภาพ นอกจากการเล่าเรื่องที่สัมพันธ์กับช่วงวัยของเด็กแล้ว การเล่าแบบปากเปล่า ได้เห็นแววตาของพ่อแม่ขณะเล่า จะช่วยกระตุ้นจินตนาการของเด็ก และเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับพ่อแม่ที่เป็นคนเล่าด้วย

เด็กทุกคนต่างมีนิทานในดวงใจ นิทานที่เคยพาเราท่องไปในจินตนาการ สัมผัสอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ เรียนรู้คุณธรรมความดี หรือแม้แต่ความสวยงามของความรัก

แต่มากไปกว่าเรื่องเล่าในนิทานอันน่าตื่นตาตื่นใจ สิ่งที่จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการให้เด็กอย่างรอบด้าน คือ ‘การเล่านิทาน’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้เล่าคือ ‘พ่อแม่’ นิทานจะทำหน้าที่สานสัมพันธ์ในครอบครัว พร้อมๆ ไปกับสร้างทักษะการฟัง การพูด พัฒนาไปสู่ทักษะการสื่อสารและทักษะด้านอื่นๆ ได้

ในงาน Wonder Life Playground ครั้งที่ 2 จัดโดย “I” Learning Center เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา The Potential ชวน แม่จาว – วัชราวรรณ เพชรบุล ผู้ก่อตั้งฟ้ากว้างเนอสเซอรี จังหวัดเชียงใหม่ และ ที่ปรึกษาแผนกอนุบาล โรงเรียนไตรพัฒน์ จังหวัดปทุมธานี พูดคุยถึงโลกของ ‘นิทาน’ กับพัฒนาการของเด็ก ข้อคิดในการเล่านิทานอย่างมีคุณภาพ และสิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรใส่ใจ

แม่จาว – วัชราวรรณ เพชรบุล

กาลครั้งหนึ่งถึงปัจจุบัน ผู้คนเรียนรู้และเข้าใจโลกผ่านนิทาน 

ในโลกของ ‘นิทาน’ นั้น เต็มไปด้วยเรื่องราวที่เชื่อมโยง ‘โลกของผู้คน’ การใช้ชีวิตในสังคมๆ หนึ่ง, ‘โลกธรรมชาติ’ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม และ ‘โลกแห่งจิตวิญญาณ’ เรื่องราวเหนือธรรมชาติ ความเชื่อทางศาสนา คุณธรรม จริยธรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อเรียนรู้และเข้าใจโลกเหล่านี้ รวมถึงสอดแทรกคำสอน ความดี ความชั่ว ผ่านการกระทำของตัวละครในนิทานเรื่องนั้นๆ 

“ในสมัยโบราณนิทานเล่าเพื่อที่จะสื่อถึงคุณธรรม จริยธรรม ภาพของชีวิตมนุษย์ให้กับคนในสังคม คนสมัยโบราณจะรับทุกอย่างเป็นภาพ แล้วสมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียน อาจจะไม่มีศาสนาด้วยซ้ำ ฉะนั้นคนที่มีความรู้ หรือปัญญาญาณเขาอยากจะสื่อความหมายของชีวิตมนุษย์ ที่คล้ายๆ เป็นคำสอนลงไปในนิทาน ก็เป็นเรื่องที่เขาเชื่อมโยงชีวิตกับเรื่องของคุณลักษณะ จริยธรรม คุณธรรม ความดี ความชั่ว” แม่จาวเล่าถึงการใช้ ‘นิทาน’ ที่มีมาแต่โบราณกาล โดยแรกเริ่มเน้นฉายภาพชีวิตของมนุษย์ในยุคๆ นั้น เล่าสู่กันฟังมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันนำมาใช้ในเสริมสร้างจินตนาการให้กับเด็ก สร้างการเรียนรู้ ทำความเข้าใจผู้คนและโลก 

เป้าหมายสำคัญของนิทานในโลกยุคปัจจุบันส่วนใหญจะเน้นไปที่การปรับพฤติกรรม การตระหนักรู้เรื่องอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ และสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม ความดีความชั่วให้กับเด็ก

“เป้าหมายของการใช้นิทานก็มี 3 ระดับ อย่างแรกเป็นพวกพฤติกรรมที่เรามองเห็นทั่วๆ ไป อยากจะเอานิทานเข้าไปสอนเขา ให้เขาแปรงฟัน อาบน้ำ ไปโรงเรียน ส่วนนิทานระดับต่อไปก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับใจเขา อารมณ์ ความรู้สึก ความโกรธ และอีกสเต็ปนึงก็คือนิทานที่มีปัญญาญาณอยู่ข้างใน เป็นเรื่องความจริงของมนุษย์ มีคุณธรรมจริยธรรมเข้ามาเกี่ยว มีภาพของชีวิตมนุษย์ โดยเรื่องราวในนิทานที่มีตัวละครหลายๆ ตัว จริงๆ แล้วมันก็คือเรื่องราวของคนๆ เดียว ที่มีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกัน เด็กจะได้เรียนรู้คาแรกเตอร์ของคนผ่านนิทาน” 

แพทเทิร์นเดิมๆ ซ้ำๆ ของนิทาน สามารถครองใจเด็กเล็กได้

ในการนำนิทานมาใช้กับลูก แม่จาวเล่าว่า “เด็กเล็กๆ เกิดมา ยังไม่มีประสบการณ์ชีวิตเลย เจอพ่อแม่ เจออะไรนิดหน่อยเท่านั้น เพราะฉะนั้นนิทานกับเด็กเล็ก แบเบาะเลย ก็เป็นการพูดอะไรซ้ำๆ ให้อะไรซ้ำๆ เป็นภาพซ้ำๆ คำศัพท์ซ้ำๆ เด็กจะชอบ”

ยกตัวอย่างเช่น

วันนี้เจ้ากระต่ายออกจากบ้านไป 

ไปเจอแมว ทักทายแมวว่า “สวัสดี” 

แมวก็ตอบพร้อมถามกลับว่า “สวัสดีจ๊ะ เธอจะไปไหนหรอ”

เจ้ากระต่ายก็ตอบกลับว่า “ฉันจะไปที่สวน” 

จากนั้นก็เดินต่อไปเจอกับวัวก็ทักทายแบบเดิม “สวัสดี” 

วัวก็ตอบ “สวัสดีจ๊ะ จะไปไหนหรอ” 

เจ้ากระต่ายก็ตอบกลับแบบเดิมว่า “ฉันจะไปที่สวน” 

จะเห็นว่า นอกจากมีแพทเทิร์นเดิมๆ ซ้ำๆ การเล่าเรื่องมักไม่ได้สื่อความหมายใดๆ มากนัก แต่จะเน้นประโยคที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน และเน้นส่งความรัก ความอบอุ่นจากพ่อแม่ไปสู่ลูก 

“ในเด็กเล็กจะเน้นพูดคุยกับเขา เพราะเขาชอบฟังเสียงที่พ่อแม่พูดอยู่แล้ว เล่าเรื่องเดิมซ้ำไปหลายๆ วัน เขาไม่มีเบื่อ แล้วก็อาจจะเติมตัวอะไรใส่ไป แล้วสุดท้ายก็จะกลับมาจบที่บ้าน “ไปแล้วนะฉันกลับบ้านแล้ว” กลับถึงบ้านก็มาเจอแม่ แม่ก็กอดก็หอม อะไรอย่างนี้ เป็นการเน้นสายสัมพันธ์” 

จากนั้นช่วงวัยประมาณ 3 ขวบครึ่ง เด็กจะมีประสบการณ์ที่มากขึ้น วิธีการเล่าจึงค่อยๆ ซับซ้อนขึ้น แม่จาวยกตัวอย่างเรื่อง ‘หัวผักกาดยักษ์’ เรื่องราวของคุณตาที่ปลูกต้นหัวผักกาดไว้อย่างตั้งใจ และแฝงไปด้วยชีวิตมนุษย์ 

เรื่องราวการผจญภัยโดนใจเด็กโต และต้องจบแบบ Happy Ending เสมอ 

ในวัยที่โตขึ้นมาสักหน่อยราว 5-6 ขวบ เรื่องราวของนิทานจะเติบโตขึ้นไปด้วย มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น เน้นการออกไปผจญภัยในโลกกว้าง มีปัญหาและอุปสรรคหลากหลายให้ต้องหาทางแก้ไข หรือต่อสู้กับอะไรบางอย่าง จนท้ายที่สุดก็ทำสำเร็จ เพราะความดีย่อมชนะความชั่ว และที่สำคัญคือ ต้องจบแบบ Happy Ending เสมอ 

“นิทานสำหรับเด็กจะต้องจบแบบ Happy Ending เพราะว่าเขาต้องรับรู้ว่าโลกนี้ดี ถ้าโลกนี้ไม่ดีเขาจะไม่ค่อยเรียนรู้เท่าไหร่ เขาก็จะไม่กล้า จะเป็นเด็กขี้กังวล 

เพราะฉะนั้นนิทานสเต็ป 4-5 ขวบ มีจินตนาการรุ่มรวยมาก และจะมีความสลับซับซ้อน มีอุปสรรคนานับประการ และถ้าโต 5-6 ขวบก็จะเป็นเรื่องยาว การเดินทางที่ต้องไปเจอกับอะไรที่ต้องต่อสู้”

แม่จาวย้ำว่า เป้าหมายของการให้จบแบบ Happy Ending เหมือนเป็นการสร้างการรับรู้เชิงบวกในความคิดให้กับเด็ก “โลกนี้ต้องดี เด็กถึงจะยืนอยู่บนโลกนี้อย่างมั่นคง อยู่ที่นี่ได้ ทุกอย่างปลอดภัยนะ”

นิทานจึงมีความหมายมากกว่าแค่ความสนุก แต่สามารถช่วยส่งเสริมจินตนาการให้กับเด็ก ในนิทานจะมีสัญลักษณ์ต่างๆ ที่สื่อถึงความหมายที่เด็กเข้าใจได้ด้วยสภาวะสำนึกเดียวกันกับเรื่องราวในนิทานเรื่องนั้นๆ ส่งผลให้เด็กเข้าใจเรื่องราวในนิทานมากกว่าคำสอนหรือคำอธิบายของพ่อแม่เสียอีก

“เวลาที่เราอยากจะสอนอะไรเขา บางทีพูดคุยกับเขา เขากลับไม่เข้าใจ และอาจต่อต้าน แต่เมื่อเราเล่านิทานให้เด็กฟัง ทำไมนะเขาถึงนั่งฟัง แล้วก็อยากฟังอีกซ้ำๆ ขอให้เล่าอีก เหมือนตกอยู่ในมนต์สะกด พฤติกรรมของเขาก็เปลี่ยนไป นิทานทำงานกับเด็กลึกซึ้งกว่าที่เราคิดมาก”

นอกจากนี้ หลังจากที่เด็กได้ฟังนิทานนั้นซ้ำๆ ทุกวัน เป็นระยะเวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ตลอดระยะเวลาที่ฟังเขาได้นึกภาพตามเรื่องราวในนิทาน และจะเริ่มรู้แล้วว่า เรื่องจะดำเนินต่อไปอย่างไร จะเกิดการหยิบจับสิ่งของรอบๆ ตัวมาเล่นบทบาทสมมติตามเรื่องราวนั้น 

“เด็กเล็กเขาสามารถมีภาพจินตนาการที่สนุกมาก ถ้าเราสังเกตดีๆ มันจะหายไปประมาณป.4 ป.5 แล้วเขาก็จะมาถามความสมเหตุสมผลของสิ่งต่างในนิทาน เช่น ซานตาคลอสมีจริงไหม ทำไมกวางเรนเดียร์ถึงลอยได้ เพราะฉะนั้นเด็กในวัยนี้เขาจะกลับไปที่จินตนาการบ้าง และกลับมาอยู่บนโลกความเป็นจริงบ้าง วัยนี้จะไม่ค่อยมั่นคงเท่าไหร่ 

และวัยนี้จะเริ่มกลัวผี กลัวว่าไม่ใช่ลูกพ่อแม่ เขาจะมาคอยถามว่า เขาใช่ลูกพ่อแม่จริงไหม แล้วผู้ใหญ่ก็จะชอบพูดเล่นว่า ไม่ใช่หรอก เก็บได้มา ซึ่งมีความหมายกับเขามาก เพราะเขาต้องการยืนยันตัวตน”

นิทานปากเปล่า เรื่องเล่าที่ส่งผ่านความปรารถนาดีจากพ่อแม่ถึงลูก

นิทานนั้นมีมากมายให้ได้หยิบจับมาเล่า ไม่ว่าจะเป็นนิทานภาพ นิทานแฟนตาซี นิทานอีสปต่างๆ แต่อีกรูปแบบหนึ่งที่แม่จาวแนะนำก็คือ การเล่า ‘นิทานปากเปล่า’ เป็นการเล่านิทานโดยไม่ใช้หนังสือ อาจเป็นเรื่องที่พ่อแม่แต่งขึ้นเองจากสิ่งรอบตัวโดยมีเรื่องราวที่อยากจะสื่อสารกับลูก หรืออาจจะเป็นนิทานที่มีอยู่แล้ว นำมาเล่าในแบบฉบับของตัวเอง โดยอาจใช้ Finger Puppet ตุ๊กตาหุ่นนิ้วมือประกอบการเล่า เพื่อสร้างบรรยากาศ และเล่าด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวลและเป็นกันเอง

“เช่นเราเห็นว่าลูกของเราไม่กินผัก แทนที่จะไปบอกลูกว่า เราต้องกินผักทุกวันเลยนะ ผักมันมีประโยชน์นะ ผักบล็อคโคลีมีประโยชน์ ถั่วนี่ก็มีประโยชน์ กินแตงกวาแล้วจะได้ช่วยย่อย เชื่อไหมว่าเด็กจะไม่กินผักอีกเลย แต่ถ้าเราแต่งนิทานให้เขาฟัง เล่าเป็นตัวเชื่อม เช่น พี่กระต่ายชอบกินผัก หรือเป็นบทกลอน เช่น กระต่ายน้อยหูยาวน่ารัก ชอบกินผักที่ในทุ่งนา เจ้าเต่าต้วมเตี้ยมเดินมา กระต่ายน้อยคอยท่ายื่นผักให้กิน งั้มๆๆๆ แล้วทำภาพกินผักอร่อยมาก เด็กก็เริ่มอยากลองกิน”

สำหรับเทคคนิคการแต่งนิทานนั้น มี 7 ขั้นตอนด้วยกัน โดยถอดความจากช่วงกิจกรรม Workshop แต่งนิทานเพื่อลูกด้วย โดย ครูจิ้ม – เฉลิมศรี บัตแลนด์ นักศิลปะบำบัดตามแนวทางมนุษยปรัชญา 

ขั้นที่ 1. เริ่มต้นด้วย กาลครั้งหนึ่ง หรือ การเริ่มต้นในห้วงกาลหนึ่ง (หรือมีสิ่งใดสิ่งหนึ่ง) ที่ดีงาม เช่น มีพระราชาที่สง่างามปกครองบ้านเมืองโดยทศพิธราชธรรม…

ขั้นที่ 2. แต่!!! มีอุปสรรคเกิดขึ้น พระราชาป่วยไข้ ต้องการการดูแลรักษา ต้องทำอะไรบางอย่าง (ไม่นิ่งนอนใจ หรือแค่นอนรอความตาย)

ขั้นที่ 3. เล่าถึงการเดินทาง เผชิญโลก เพื่อออกไปหาวิธีแก้ปัญหา

นิทานส่วนใหญ่จะให้เป็นบทบาทของลูกสามคน ซึ่งเป็น Symbolic (เป็นสัญลักษณ์) ส่วนใหญ่จะให้มีคุณลักษณะต่างกันคือ คนที่หนึ่งฉลาดหลักแหลม คนที่สองมีน้ำใจงาม คนที่สามไม่ได้เรื่อง แต่สุดท้ายคนน้องจะประสบความสำเร็จสามารถรักษาพ่อได้

ขั้นที่ 4. เจอ Crisis (วิกฤติ) ที่เกิดจากการหลง เช่น หลงทางในป่า หลงในอารมณ์ตนเอง โลกียะ ติดกับความปรารถนาของตนเอง ทำให้หลงลืมความตั้งใจเดิม (มีแค่น้องสาม ที่ไม่ติดกับ) 

เมื่อเจอวิกฤติ จะมี 2 ทางเลือกคือ

A) จมจ่อมอยู่กับสิ่งนั้น

B) ตื่นขึ้นมา และทำบางอย่าง

และเพื่อให้วิกฤตหายไป ต้องทำอะไรสักอย่าง เช่น เดินไประหว่างทางเจอขนมปังกำลังจะไหม้ ขอให้ช่วย เช่น ลูกแอปเปิ้ลสุกจัดขอให้ช่วยเขย่าลำต้นให้หน่อย… ถ้าเขาเลือกที่จะเข้าไปช่วย คือเขาสนใจผู้อื่นและสิ่งรอบตัว ไม่ได้มองแค่เป้าหมายของตัวเอง และการช่วยคนอื่น ก็เหมือนการลงทุนเพื่อจะรอเก็บเกี่ยวผลต่อไป

ขั้นที่ 5. ความหวัง หรือ เก็บเกี่ยวผลผลิต เก็บเกี่ยวกรรมที่เราทำไว้ ได้รับการตอบสนองจากสิ่งที่ทำ ถ้าเราช่วยขนมปัง / แอปเปิ้ล สิ่งเหล่านั้นก็จะกลับมาช่วยเรา

ขั้นที่ 6. ความสำเร็จ พบเจอ Spirit + Soul ใจเป็นหนึ่งเดียว พบหนทางหลุดพ้นปัญหา เช่น เจ้าหญิงแต่งงานกับเจ้าชาย หลังจากเผชิญความยากลำบาก ผ่านการต่อสู้กับชีวิต สุดท้ายดวงจิตของเราจะได้เจอกับ Spirit

ขั้นที่ 7. Recover  ฟื้นตัวจากการป่วย เกิดเป็นคนใหม่ ไม่เหมือนคนเดิม พัฒนาข้างใน เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่งอกงาม จบแบบ Happy ending 😊

นิทานปากเปล่าจะทำให้เด็กสร้างภาพในใจ เกิดจินตนาการ และถ้าเล่าได้ดีจะทำให้รับรู้ได้ถึงภาพข้างในของคนเล่าไปสู่คนที่ฟัง 

ซึ่งจินตนาการของเด็กมีความสำคัญอย่างมากต่อพัฒนาการรอบด้าน ทั้งด้านสติปัญญา อารมณ์ สังคม และความคิดสร้างสรรค์ ช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา พัฒนาทักษะการสื่อสาร และเข้าใจโลกและผู้อื่นได้ดีขึ้น

“เด็กเขาจะมีภาพของตัวเองมาจากประสบการณ์ นิทานปากเปล่าจะช่วยให้เด็กมีภาพของตัวเองและสร้างภาพเป็นเรื่องราวขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นการที่เขาจะไปเรียนต่อหรือไปอ่านหนังสือ มันจะเป็นการเรียนรู้ที่สนุกมาก เป็นการอ่านหนังสือที่สนุกมาก 

เป้าหมายการสอนหนังสือจากภาพกับการเล่านิทานต่างกัน การสอนหนังสือจากภาพ มีเป้าหมายในการอ่าน ผ่านเสียง ผ่านการเขียน แต่การเล่านิทานปากเปล่าเน้นการสร้างภาพจินตนาการของเด็ก สอดแทรกการมีคุณธรรมจริยธรรม คุณค่าของชีวิตมนุษย์อยู่ในนั้น มีอุปสรรคมีการแก้ไขปัญหา อันนี้มันจะเข้าไปในตัวเขาแล้วเขาก็จะเก็บไปตลอดชีวิต”

เล่านิทานอย่างมีคุณภาพ ต้องสัมพันธ์กับช่วงวัยและเชื่อมสัมพันธ์ในครอบครัว

หัวใจสำคัญในการเล่านิทานอย่างมีคุณภาพ นอกจากการเล่าเรื่องที่สัมพันธ์กับช่วงวัยของเด็กแล้ว การเล่าแบบปากเปล่า ได้เห็นแววตาของพ่อแม่ขณะเล่า จะช่วยกระตุ้นจินตนาการของเด็ก และเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับพ่อแม่ที่เป็นคนเล่าด้วย

“เรื่องที่สัมพันธ์และสำคัญกับวัยของเขาอย่างในวัยเด็กเล็กๆ ก็จะเป็นเรื่องชีวิตประจำวัน การช่วยเหลือตัวเอง ถ้าเราอยากจะนำพาเขาทำอะไรเราก็สามารถนำพาเขาด้วยนิทานได้ ทำด้วยสิ่งที่เรียกว่าภาพสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทน เช่น กระต่ายแปรงฟัน ถ้าโตขึ้นมาภาพที่มีความหมายกับเด็กก็ต้องดูว่าประสบการณ์เขามีอยู่ตรงไหนแล้ว ถ้าเขามีจินตนาการแล้ว ภาพนั้นจะเป็นจินตนาการที่เยอะขึ้นแล้วก็มีเรื่องราวที่ซับซ้อนขึ้น มีอะไรที่ท้าทายมากขึ้น แล้วก็จะมีเรื่องธรรมชาติ เรื่องฤดูกาล เรื่องของผู้คน แล้วก็จะเน้นเรื่องของสังคมการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นที่นอกเหนือไปกับครอบครัว”

นอกจากนี้ การเล่านิทานยังเป็นการฝึก ‘การฟัง’ และสร้างจินตนาการให้กับเด็ก เพราะการฟังนิทานช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ภาษา คำศัพท์ต่างๆ ได้สร้างภาพในใจของตัวเอง ฝึกเรียงลำดับของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หากมีอุปกรณ์ประกอบฉากด้วยเด็กๆ ก็จะได้หยิบจับสิ่งเหล่านั้น และได้ลงมือเล่นไปกับเรื่องราวในนิทานอย่างอิสระ 

อีกทั้ง การใช้ภาษาที่งดงามและเรื่องราวที่ซับซ้อน ยังช่วยพัฒนาทักษะการพูด เพิ่มคลังคำศัพท์และเกิดการนำมาใช้ในที่สุด

หน้าจอรบกวนจินตนาการ ข้อควรระวังสำหรับเด็กเล็ก

สำหรับเด็กเล็ก แม่จาวบอกว่าควรระวังคือ อย่าเพิ่งใช้หน้าจอ โดยเฉพาะใน 2 ปีแรกไม่ใช้เลยยิ่งดี เพราะจะทำให้เด็กนึกภาพไม่ได้ จินตนาการถูกรบกวน 

แต่ในกรณีที่เด็กติดหน้าจอไปแล้ว แม่จาวแนะนำว่า “ต้องหักดิบเลย เพราะถ้าให้สักครึ่งชั่วโมงเด็กก็จะต่อรอง ไม่มีเด็กคนไหนทำตาม จะมากกว่าที่เราคิดเสมอ เขาจะยื้อจะงอแง แล้วพออาละวาดมากๆ พ่อแม่ก็ใจอ่อนเอาออกมาให้ เป็นการสอนให้เขาอาละวาดอีกต่างหาก เพราะฉะนั้นเก็บไม่ให้เล่น ผ่านไปสักกอาทิตย์เดี๋ยวเขาก็ลืม อะไรก็ตามที่หายจากเขาไปไม่เกินสัปดาห์เขาก็จะลืม เพราะว่าเด็กเขาจะอยู่กับปัจจุบันมากกว่า”

การให้เด็กอยู่กับหน้าจอตั้งแต่เล็กๆ นั้น แม่จาวมองว่าเป็นผลเสียมากกว่าผลดี ส่งผลกระทบต่อสมอง นำไปสู่อาการสมาธิสั้น รวมถึงออทิสติกเทียม 

“การที่เราให้จอตั้งแต่เล็ก รู้ไหมว่าใยประสาทสร้างผิดตั้งแต่ตอนนั้น เราไม่รู้หรอกว่าภาพในจอมันเข้าไปลึกขนาดไหน แล้วกลายเป็นระบบประสาทที่ผิดปกติ แล้วถ้าดูเยอะก็ไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กับคน ไม่ได้เคลื่อนไหว ไม่ได้จับ ไม่ได้สัมผัสอะไร ใยประสาทก็สร้างจากอันนั้นซึ่งผิดปกติมาก อาจกลายเป็นเด็กสมาธิสั้น เป็นเด็กออทิสติกเทียมจากการเลี้ยงดู ส่งผลต่ออารมณ์ด้วย”

เด็กควรจะเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเอง การใช้ชีวิตประจำวัน เรียนรู้การปฏิสัมพันธ์กับผู้คน เรียนรู้การควบคุมตัวเองให้ได้ก่อนที่เรียนรู้การใช้หน้าจอ หากยากที่จะเลี่ยง สิ่งสำคัญคือการจัดเวลาที่ชัดเจน และต้องไม่ใจอ่อน

“พ่อแม่เองก็ต้องไม่ใช้ให้เขาเห็นด้วยนะ ในขณะที่อยากจะเล่านิทานให้ลูก พ่อแม่ก็ต้องวางโทรศัพท์ ลงก่อน เพราะเด็กในวัยเล็กๆ พ่อแม่สนใจอะไรเขาก็จะสนใจอันนั้นด้วย เพราะฉะนั้นปิดมันซะ”

“ในหนึ่งวันของวันธรรมดาที่ลูกเข้าสู่รั้วโรงเรียนแล้ว พ่อแม่มีเวลาอยู่กับลูกแค่ 4 ชั่วโมงจาก 24 ชั่วโมง เพราะฉะนั้น Quality Time ของลูก ควรจะให้เขา เพราะเป็นวัยที่เราจะต้องถ่ายทอดสิ่งต่างๆ ให้กับเขา ไม่ว่าจะเป็นวิธีการใช้ชีวิต การทำงานบ้าน งานครัว งานสวน สนุกมากเลยนะเด็กชอบ ลงมือทำกับเขา ถ้าพ่อแม่ปิดมันแล้วก็ลุกขึ้นมา Active ทำอะไรต่างๆ เด็กก็จะมีสัมพันธ์กับเรา แล้วก็มีอีกอันนึงที่ช่วยเด็กได้ในกรณีที่เด็กติดจอไปแล้ว ระบบประสาทมันไม่ค่อยได้พัฒนา อ่อนปวกเปียกก็พาเขาไปสนามเด็กเล่น ไปเจอกับธรรมชาติ ให้เขาได้ปีนป่าย ก็จะช่วยได้” แม่จาวทิ้งท้าย

Tags:

นิทานปากเปล่าแม่จาว - วัชราวรรณ เพชรบุลความสัมพันธ์ความรักเลี้ยงลูกด้วยนิทานพัฒนาการเด็กเทคนิคการเล่าเรื่อง (Storytelling)จินตนาการ

Author:

illustrator

นฤมล ทับปาน

Photographer:

illustrator

ปริสุทธิ์

Related Posts

  • platonic
    Relationship
    เพื่อนสนิทในที่ทำงานมีจริงไหม? ทำความเข้าใจมิตรภาพในที่ทำงานผ่านแนวคิด Platonic Love

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Relationship
    Platonic Love: ความรักที่ไม่จำเป็นต้องตกหลุมรัก ไม่ครอบครองและไม่มีวันเลิกรา

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Relationship
    Parasocial Relationship: รักข้างเดียวของแฟนคลับ ความสัมพันธ์ที่ต้องรู้เท่าทัน

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Movie
    Indian Matchmaking เมื่อการเลือกคู่ไม่ใช่เรื่องของคนสองคน แต่เป็นเรื่องของสองครอบครัว

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

  • How to get along with teenagerAdolescent Brain
    สมองวัยรุ่น เมื่อต้องรับมือกับความผิดหวัง อกหัก!

    เรื่อง The Potential ภาพ KHAE

  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel