- stay-at-home dad พ่อที่อยู่บ้านเต็มเวลาแบบ 24 ชั่วโมง/ 7 วันต่อสัปดาห์ เป็นพ่อบ้านเต็มตัวและไม่ได้ทำอาชีพอื่นใดเป็นหลัก บ้างเป็นฟรีแลนซ์หรืองานที่ไม่ได้เรียกร้องให้เข้าออฟฟิศ มีความยืดหยุ่นเรื่องการทำงานมากกว่า
- เรื่องเหมือนจะง่ายเพราะขึ้นกับข้อตกลงแต่ละครอบครัว แต่ stay-at-home dad หลายคนเป็นซึมเศร้าเนื่องจากเสียงกดดันทางสังคม เช่น อยู่บ้านเลี้ยงลูกนี่เป็น loser รึเปล่า? เกาะเมียกินรึเปล่านะ?
- สาเหตุแห่งความโดดเดี่ยวที่ว่า ส่วนหนึ่งก็มาจากกลุ่มเครือข่ายคุณแม่เองที่ตั้งแง่กับการเป็นคุณพ่อเต็มเวลา เพราะไม่สบายใจว่า การเป็นพ่อคนจะเลี้ยงลูกอย่างครบเครื่องได้อย่างไร
หากพูดถึงบทบาทพ่อแม่ ดูเหมือนสังคมจะตั้งค่า (standardize) บทบาทชายหญิงเอาไว้แยกชัด หน้าที่การเลี้ยงการดูแลลูกจะผูกไว้กับคนเป็นแม่ บอกว่าผู้หญิงอ่อนโยนกว่า ใกล้ชิดกับลูกมากกว่าในแง่การอุ้มท้อง และการให้นมบุตร จึงเป็นเหตุผลให้หน้าที่การดูแล (pamper) ลูกอยู่บ้านนั้น ตกเป็นของฝ่ายหญิง เมื่ออยู่บ้านแล้วก็ต้องทำงานบ้านให้เรียบร้อย ส่งยิ้มให้สามีก่อนและหลังออกจากบ้าน ในภาพนั้นอาจมีลูกเล็กหลับตาพริ้มในอ้อมกอดด้วยก็ได้ ส่วนหน้าที่ผู้ชายให้เป็นผู้ออกไปทำมาหากินนอกบ้าน เป็นคนหาเงินเข้าบ้าน เป็นฝ่ายบู๊บุ๋นออกไปเผชิญกับโลกเคร่งเครียดนอกบ้านแทน
ทั้งหมดนี้คือภาพจำที่เราส่วนใหญ่มักเห็นกันมาโดยตลอด แต่ความจริงของทุกบ้าน โดยเฉพาะในสมัยที่ทุกเพศต่างก็มีความรู้ความสามารถออกไปทำงานหาเงินเข้าบ้านได้หมด เมื่อมีคุณแม่ที่อยู่บ้านเลี้ยงลูก ก็ต้องมีคุณพ่อที่อยู่บ้านเลี้ยงลูกเช่นเดียวกัน และนี่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย หลักฐานคือเรามีตัวอย่างให้เห็นการเป็นคุณพ่อเต็มเวลาอย่าง ภาพยนตร์อย่าง Dad Day Care หรือซีรีส์สัญชาติอเมริกันอย่าง Guys with Kids มาแล้วด้วยซ้ำ
เมื่อได้ยินคำว่า Stay at home dad เราอาจยักไหล่และบอกว่ามันก็เป็นไปได้ไม่ใช่เหรอ ข้อตกลงของแต่ละบ้านย่อมไม่เหมือนกัน แล้วปัญหาคืออะไรล่ะ?
แต่เรื่องไม่ง่ายอย่างนั้น มีสถิติหลายชิ้นชี้ว่า stay-at-home dad หลายคนเป็นซึมเศร้าอันเนื่องจากเสียงกดดันทางสังคม เช่น อยู่บ้านเลี้ยงลูกนี่เป็น loser รึเปล่า? เกาะเมียกินรึเปล่านะ? หรือ ความโดดเดี่ยว ถูกลดทอนคุณค่า เนื่องจากมันไม่ตรงกับความคาดหวังสังคม
เพื่อทำความเข้าใจให้ทุกคนใช้ชีวิตง่ายขึ้น ชวนทำความเข้าใจศัพท์และเสียงของ stay-at-home dad จริงๆ โดยประมวลจากบทความหลายๆ ชิ้นที่พูดถึงเรื่องนี้กันค่ะ
stay-at-home dad vs. dad ต่างกันยังไง?
เป็นเสาหลักของบ้าน เป็นผู้นำของครอบครัว ทำหน้าที่หาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัว ช่วยเหลือภรรยาและแม่ของลูกบ้างในเนื้องานเล็กๆ เช่น รับ-ส่งลูกไปโรงเรียน ทั้งหมดที่กล่าวไป คือหน้าที่ของพ่อและสามีแบบที่ไม่ใช่ stay-at-home dad
stay-at-home dad คือ พ่อที่อยู่บ้านเต็มเวลาแบบ 24 ชั่วโมง/ 7 วันต่อสัปดาห์ คือเป็นพ่อบ้านเต็มตัวและไม่ได้ทำอาชีพอื่นใดเป็นหลัก แต่ผู้เขียนได้คุยกับเพื่อนๆ ที่เป็น stay-at-home dad บางคนก็เป็นฟรีแลนซ์ หรืองานที่ไม่ได้เรียกร้องให้เข้าออฟฟิศ หรือมีความยืดหยุ่นเรื่องการทำงานมากกว่า
อะไรที่เป็นงานในบ้าน stay-at-home dad จะทำทั้งหมด ตั้งแต่ซักผ้า ซื้อของเข้าบ้าน ทำกับข้าว เปลี่ยนผ้าอ้อม เล่นกับลูกแต่ต้องรักษาความปลอดภัยของพวกเขาไปพร้อมกัน รวมถึงการพาลูกไปเล่นกับกลุ่มเด็กๆ ในหมู่บ้านหรือที่โรงเรียน โดยระหว่างรอลูกๆ ก็ต้องพูดคุยกับแกงค์พ่อแม่คนอื่นๆ ด้วย
“มันเป็นงานยาก ไม่มีเวลาพัก ทำงานเป็นพ่อตลอด 24/7 ไม่มีพักร้อน และห้ามป่วย” คือคำอธิบายเกี่ยวกับการเป็นพ่อฟูลไทม์จาก เบน แซนเดอร์ (Ben Sanders) คุณพ่อของลูกชายสามขวบครึ่งหนึ่งคนและหกขวบครึ่งอีกหนึ่งคน
การกรากฎตัวของ stay-at-home dad VS การต่อสู้กับกรอบคิดเรื่องความเป็นแม่/ภรรยา และ พ่อ/สามี
สก็อต เมลเซอร์ (Scott Melzer) นักสังคมวิทยาจากวิทยาลัยอัลเบียน (Albion College) และผู้เขียนหนังสือเรื่อง Manhood Impossible (สำรวจนิยามความเป็นชายชาวอเมริกัน ไอเดียหลักว่าด้วยเรื่องผู้ชายจะรู้สึกล้มเหลวเมื่อทำบทบาทอะไรไม่สำเร็จ หนึ่งในนั้นคือการเป็นคนหาเลี้ยงครอบครัวหรือที่เรียกว่า breadwinner) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Atlantics ว่า…
การเป็น stay-at-home dad เกี่ยวข้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นหลัก เพราะการปรากฏตัวของคุณพ่อเต็มเวลาเริ่มมีให้เห็นมากขึ้นครั้งวิกฤติเศรษฐกิจปี 2007-2009 ที่ทำให้หลายคนต้องตกงาน คนที่อยู่ในบทบาทพ่อหลายคน กึ่งๆ ถูกบังคับให้ต้องเป็นคนรับหน้าที่อยู่บ้านเต็มเวลาเพื่อดูแลลูกและบ้านแทน
ขณะที่งานวิจัย Pew Research Center ในปี 2014 พบว่าชาวอเมริกันเป็นคุณพ่อเต็มเวลามากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงสิบปีทีผ่านมา หากย้อนดูตัวเลขตั้งแต่ปี 1984 จนถึงตอนนี้ อาจมีคุณพ่อเต็มเวลามากถึงหนึ่งล้านคน
แม้การเป็นคุณพ่อฟูลไทม์จะเริ่มเป็นที่เข้าใจมากขึ้นแต่ยังไม่ได้เป็นที่รับรู้หรือเข้าใจโดยทั่วกันมากนัก
“มันก็ยังพบเห็นได้น้อยนะ ถ้าดูที่ตัวเลข ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณดูจากผลการสำรวจอะไร บ้างประเมินว่ามีคนที่เป็นคุณพ่อเต็มเวลาประมาณ 1 ใน 20 ครอบครัว บ้างก็ประเมินว่า 1 ใน 15” คือความเห็นของแบรด แฮร์ริงตัน (Brad Harrington) ผู้อำนวยการวิทยาลัยบอสตัน ศูนย์การทำงานและครอบครัว (Boston College Center for Work and Family)
แต่กับแนวคิดคนปัจจุบัน งานวิจัยของแฮร์ริงตันชี้ว่าชาวมิลเลเนียมเข้าใจและพิจารณาการเป็นคุณพ่อเต็มเวลามากขึ้น โดยชาวมิลเลเนียมกว่าครึ่งบอกว่าจะพิจารณาว่าใครคนใดคนหนึ่งจะเป็นผู้ปกครองเต็มเวลาก็ด้วยเงื่อนไขที่ว่า ใครมีหน้าที่การงานมั่นคงกว่า มีรายได้มั่นคงกว่ากัน ก็อาจเป็นคนหลักในการหาเงินเข้าบ้านโดยไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นเพศไหน
แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ความไม่เท่าเทียมทางรายได้เพราะเรื่องเพศ ที่ส่วนใหญ่ผู้ชายมักได้ค่าตอบแทนมากกว่าผู้หญิง ทำให้ข้อตกลงส่วนใหญ่กลับไปที่ผู้หญิงเป็นคุณแม่เต็มเวลาจะคุ้มค่ากว่า ยังไม่รวมเงื่อนไขด้านสวัสดิการที่ไม่เอื้อให้ผู้ชายลามาเลี้ยงลูก ผลสำรวจความเห็นพบว่าความกังวลหนึ่งคือหากผู้ชายลามาเลี้ยงลูกหรือตั้งใจลาออกสักช่วงเวลาหนึ่งเพื่อเป็น stay-at-home dad นั้น มักกลัวมากว่าจะกลับเข้าไปในตำแหน่งนั้นไม่ได้อีก (ซึ่งแม้ข้อกังวลเดียวกันนี้จะเกิดขึ้นกับผู้หญิงด้วย แต่เนื่องจากค่าแรงส่วนใหญ่ผู้ชายมักได้มากกว่าผู้หญิง นั่นทำให้ตัวเลือก(หวย)มักตกที่ผู้หญิงที่ต้องอยู่บ้านง่ายกว่าอีกชั้นหนึ่ง)
กล่าวโดยสรุป ที่การเป็นคุณพ่อเต็มเวลาไม่ค่อยเป็นสิ่ง ‘common’ เท่าไรนัก ก็เพราะเงื่อนไขหลายอย่างในชีวิตคู่ที่มาจากเงื่อนไขทางเพศ เอื้อให้ผู้หญิงอยู่บ้านมากกว่า …นั่นเอง
กลับมาดูที่บทบาทผู้หญิง แม่และเมียกันบ้าง เราอาจพูดได้ว่าเราอยู่ในยุคแห่งการเบ่งบานเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งหน้าที่และบทบาทของผู้หญิงเท่าเทียมกับเพศชายมากขึ้นทั้งในภาคเอกชนหรือภาครัฐ และถึงแม้จะยังมีแง่มุมเรื่องความไม่เท่าเทียมทางรายได้และมายาคติบางอย่างของชายหญิงและทุกเพศหลงเหลือในระดับลึก แต่ก็ถือว่าเรามาไกลกว่าที่เคยมากนัก
สิ่งที่ตามมาจึงทำให้ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเล่นบทแม่และเมียแบบเดิมๆ อีกต่อไป ผู้หญิงในฐานะมนุษย์คนนึงก็มีความฝันในหน้าที่การงาน อยากเติบโตในสายอาชีพ และมีความทะเยอะทะยานไม่ต่างกับเพศไหน กระแส stay-at-home dad จึงเป็นอีกหนึ่งแรงสั่นสะเทือนไปยังอุดมคติเรื่องเพศเหล่านั้น มันเป็นทางเลือก เป็นจินตนาการในชีวิต เป็นทิศทางให้ผู้หญิงหลายคนเดินตามฝันในหน้าที่การงานได้อย่างอิสระ คล่องแคล่วคล่องตัวมากขึ้น
ความโดดเดี่ยวเศร้าซึมของคุณพ่อเต็มเวลา ที่ถูกทำให้โดดเดี่ยวจากแก๊งคุณแม่เสียเอง
แม้ข้อมูลข้างต้นจะบอกว่า การเป็นพ่อบ้านเลี้ยงลูกเต็มตัวเป็นเรื่องปกติ แต่หากหันไปมองรอบตัวดีๆ ก็เห็นคุณพ่อเต็มเวลาได้น้อยยิ่งนัก หนึ่งในเงื่อนไขนั้นคือ มันสั่นสะเทือนคุณค่าในความเป็นผู้ชาย
ในบทความที่เกี่ยวกับการเป็นคุณพ่อเต็มเวลาส่วนใหญ่มักพูดถึงความโดดเดี่ยว ความเศร้าซึมที่พ่วงมากับการเป็นคุณพ่อ อย่างในบทความเรื่อง Why So Many Stay-at-Home Dads Are Depressed (ทำไมคุณพ่อเต็มเวลาส่วนใหญ่ถึงซึมเศร้า) เผยแพร่ผ่าน Vice อธิบายว่า กลุ่มผู้ปกครองส่วนใหญ่ที่โอภาปราศรัยเป็นเครือข่ายกันมักเป็นคุณแม่ เวลาคุณพ่อพาเด็กๆ ไปทำกิจกรรมกับกลุ่มคุณแม่เหล่านี้ทีไร มักถูกตั้งคำถาม เดินหนี แสดงความไม่สบายใจกับภาพคุณพ่อพาลูกมาเล่นในสวน หรือไม่อยากปฏิสัมพันธ์ยุ่งเกี่ยวด้วย
เจมส์ คลิน (James Kline) สมาชิกกลุ่ม National At-Home dad Network เล่าผ่าน VICE ว่า มันเป็นเรื่องจริง และมันเป็นหัวข้อที่คุยกันในกลุ่มบ่อยๆ ว่าคุณพ่อเต็มเวลามักรู้สึกโดดเดี่ยวและถูกตัดสินจากคนอื่นเสมอ คลินย้ำเรื่องความซึมเศร้าของบรรดาคุณพ่อว่า มันจริงและมีบทความในเว็บไซต์นี้ที่แชร์ประสบการณ์การจัดการกับเสียงของผู้คนและจัดการกับอารมณ์ของตัวเองจำนวนหนึ่ง
แต่เขาย้ำว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเฉพาะคุณพ่อเต็มเวลา แต่กับคุณพ่อที่ไม่ได้เป็น full-time dad ก็ซึมเศร้าหลังมีลูกได้ไม่ต่างจากผู้หญิง เช่น รายงานจากอังกฤษในปี 2016 บอกว่า ผู้ชาย 3.6 เปอร์เซ็นต์มีภาวะเศร้าในช่วงปีแรกของการเป็นพ่อ ขณะที่ผลสำรวจอีกชิ้นในปี 2015 บอกว่า พ่อทุก 1 ใน 3 คนมีความกังวลเรื่องสุขภาพจิตของตัวเอง หมายความว่า ผู้ชายก็ซึมเศร้าหลังคลอดได้ เพียงแต่มักไม่ขอความช่วยเหลือเวลาตกอยู่ในห้วงอารมณ์เหล่านี้ ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้ก็กลับไปเรื่องกรอบคิดสังคมส่วนใหญ่เรื่องบทบาทความเป็นชาย
แต่ถ้าจะบอกว่าความซึมเศร้าของ stay at home dad เป็นอย่างไรนั้น คลินอธิบายว่า ผู้ชายส่วนใหญ่มักถูกมองว่าไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องงานบ้านงานเรือน และมักต้องใช้ ‘รายได้ต่อเดือน’ เป็นมาตรฐานว่าคุณเป็นผู้ชายที่ใช้ได้มั้ย ซึ่งเอาเข้าจริงมันเจ็บปวดไม่น้อยที่ต้องรับใช้คุณค่านี้อยู่ตลอดเวลา
ในประเด็นนี้ อาจจะเป็นรายงานที่เก่าไปสักหน่อยแต่ก็ทำให้เห็นภาพได้ คือผลสำรวจจากประเทศสวีเดนในปี 2013 บอกว่า ผู้ชายที่ไม่ได้หาเงินเข้าบ้านเป็นหลักหรือคนที่มีรายได้ไม่มั่นคง มักเข้ามาพบจิตแพทย์ด้วยปัญหาเรื่องความกังวล นอนไม่หลับ ปัญหาหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
“มีเพื่อนที่ชอบแหย่ผมเรื่องความไม่มั่นคงทางการเงิน เช่น ชอบถามว่า ‘คุณได้เงินเดือนเท่าไรหรอ’ ผมก็มักจะตอบกลับไปว่า ‘คุณคิดว่าการเลี้ยงเด็กมันราคาเท่าไรล่ะ เพราะนั่นเป็นราคาที่ผมควรจะได้รับ’ ” คือเสียงของมาร์ก ซูกวิตัน (Mark Suguitan) คุณพ่อลูกสองเต็มเวลาเมือง LA ซึ่งภรรยาเป็นทันตแพทย์ทหารเรือ ให้ภาพความกดดันเรื่องรายได้ที่คนเป็นคุณพ่อเต็มเวลามักได้รับ
กลับมาที่เครือข่ายการรวมตัวของคุณพ่อเต็มเวลาเพื่อแชร์ประสบการณ์ของตัวเอง เราจะเห็นเครือข่ายคุณพ่อเต็มเวลาหลายกลุ่ม National At-Home Dad Network เป็นหนึ่งในนั้น และยังมีการรวมตัวกันแบบ offline ด้วย เช่น ที่เมืองอาลิงตัน (Arlington) รัฐเวอร์จิเนีย เราจะเห็นคุณพ่อเต็มเวลาร่วม 20 ชีวิต จะพาลูกๆ ออกมาทำกิจกรรมนอกบ้าน ขณะที่ลูกๆ เล่นกัน พวกเขาก็จับกลุ่มพูดคุยเปิดใจกันถึงปัญหาการเลี้ยงลูกในแต่ละวัน แชร์ความหนักอกหนักใจจากความแก่นแก้วของลูกๆ ตัวเอง
มาร์ค บลิดเนอร์ (Mark Bildner) คุณพ่อลูกสี่ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มดังกล่าวเล่าให้สำนักข่าว NPR ฟังว่า ผู้ชายส่วนมากมีปัญหากับการแยกความคิดเรื่องงานกับการเลี้ยงลูกออกจากกัน เค้าเปรียบเทียบว่ากับการทำงาน ทุกอย่างมีกระบวนการเป็นเส้นตรง มีจุดเริ่มและมีจุดจบ แต่การเลี้ยงลูกไม่ใช่แบบนั้น
“งานมาแล้วก็จะไป แต่กับเรื่องบ้าน วันหนึ่งมันสะอาดแต่อีกวันจะเละเทะ วันหนึ่งลูกจะสดใสแต่อีกวันเค้าอาจเศร้า นาทีนี้เค้าอาจซุกซนจนเหนื่อยแต่อีกเดี๋ยวเค้าอาจจะสงบนิ่ง
“คุณจำเป็นต้องยอมรับว่ามันจะมีสิ่งที่ ‘เสร็จ’ กับ ‘ไม่เสร็จ’ ตลอดเวลา หน้าที่ของคุณคือแค่ปล่อยให้มันเป็นไปอย่างนั้น” บลิดเนอร์เล่าให้ฟัง
เอรอน โรเซนบาม (Aaron Rosenbaum) อีกหนึ่งคุณพ่อเต็มเวลา บอกว่าในการเป็นคุณพ่อเต็มเวลามักถูกตั้งคำถามหรือมองด้วยสายตาแปลกๆ เสมอ แต่กับกลุ่มนี้จะบรรเทาความรู้สึกโดดเดี่ยวและความไม่เข้าใจจากคนอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะการเป็นคุณพ่อเต็มเวลาที่ต้องไปทำกิจกรรมกับแกงค์คุณแม่
“จริงๆ คุณแม่ส่วนใหญ่จะโอเคเวลาผมอยู่ด้วยนะ แต่ก็มีบ้างที่คุณแม่บางคนจะรู้สึกไม่สะดวกใจจะพูดคุยกับผมในฐานะผู้ปกครอง บางคนก็หนีเลย ถ้าให้พูดตรงๆ ผมก็เหงาๆ เหมือนกัน
“แต่กับกลุ่มนี้ (กลุ่มคุณพ่อเต็มเวลา) มันเป็นมิตรภาพจากคนที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกันเท่านั้นที่เข้าใจ ไม่มีใครที่รู้สึกแปลกๆ กับคุณ คุณไม่สงสัยว่าพวกเขาจะตั้งคำถามต่อคุณว่าทำไมจึงอยู่บ้านเลี้ยงลูก” โรเซนบามกล่าว
อย่างไรก็ แม้ในตอนนี้กระแส stay-at-home dad จะฟังดูเหมือนเปลี่ยวเหงาและยังต้องการความเข้าใจจากสังคมอยู่อีกมาก ถึงอย่างนั้น นักสังคมวิทยาจากวิทยาลัยอัลเบียนอย่างเมลเซอร์ก็เชื่อว่า กระแสดังกล่าวจะอยู่ยาวแน่นอน เพราะความคิดความเชื่อเรื่องบทบาทเพศนั้นเปลี่ยนไปแล้ว รวมถึงการแต่งงานของคนหลากหลายทางเพศที่เพิ่มขึ้นจะยิ่งเพิ่มสัดส่วนของคุณพ่อกลุ่มนี้ให้มีมากขึ้นด้วย