Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
Dear Parents
16 June 2020

“จะยังรักเหมือนเดิมไหมหากฉันไม่ใช่ลูกสาวอย่างที่ท่านคิด” ขอพื้นที่ส่วนตัวค้นหา(เพศ)ตัวเอง

เรื่อง ปรียานุช ปรีชามาตย์

  • “ฉันมองเห็นแล้วก็นึกอิจฉา เพราะตัวฉันไม่เคยมีโอกาสได้ลองเป็นเพศอะไรเลย ใช้ชีวิตครึ่งๆ กลางๆ กล้าๆ กลัวๆ ว่าพ่อแม่จะไม่ยอมรับ แล้วเก็บความสับสนไว้ในใจกว่า 20 ปี ไม่มีวันไหนเลยที่มองเห็นตัวเองอย่างแท้จริง ไม่มีวันไหนเลยที่ชื่นชมยอมรับ หรือเข้าใจในเพศของตัวเอง”
  • พื้นที่ส่วนตัวในการค้นหาตัวเอง ในการพัฒนาอัตลักษณ์ตัวตน และไม่ว่าจะเติบโตเธอจะเติบโตและมีอิสระมากขึ้นแล้วในวันนี้ แต่ลึกๆ ยังมีคำถามที่สงสัยตลอดมา “จะยังรักกันเหมือนเดิมไหมหากฉันไม่ใช่ ‘ลูกสาว’ อย่างที่ท่านคิด”
  • “ต่อให้อยู่ห่างกันเป็นร้อยกิโลเมตร ต่อให้เจอกันแค่ปีละครั้ง ฉันก็ยังอยากให้สายใยแห่งครอบครัวนั้นเหนี่ยวแน่นเหมือนตอนที่ฉันเป็นเด็ก ยังอยากจะรู้สึกสนิทใจกับพ่อเหมือนตอนที่แกล้งหลับในรถแล้วให้พ่ออุ้มเข้าบ้าน ยังอยากจะหอมแก้มแม่อย่างไม่เขินอายแม้ผิวของแม่จะเหี่ยวย่นไปทั้งร่าง ฉันไม่เคยคิดจะหนีไปไหน ยังอยากจะกลับไปอยู่เสมอ หากพวกท่านยังรักและต้อนรับแม้ฉันจะไม่ได้เป็นลูกสาวในแบบที่ท่านคาดหวัง”
Illustrator: Varich

หากสามารถทวนเข็มนาฬิกาไปในวัยที่ฉันหยอกล้อและหอมแก้มพ่อแม่วันละหลายสิบครั้งได้ ย้อนไปช่วงนั้นที่เราพูดคุยกันอย่างเปิดใจ ตอนที่ฉันกล้าเถียงตามประสาเด็กน้อยที่ไม่คิดมาก หากย้อนกลับไปได้ ฉันจะไม่เพียงรับฟังถ้อยคำดูถูกเหยียดหยามอย่างนิ่งเฉยแล้ววิ่งออกไปร้องไห้ที่บ้านคนอื่น แต่ฉันจะร้องไห้ตัวคดตัวงอต่อหน้าบุพการีผู้เป็นสาเหตุของหัวใจที่บอบช้ำ เพื่อเรียกร้องพื้นที่ส่วนตัวเล็กๆ ที่อนุญาตให้ฉันเท่านั้นได้เข้ามานั่งร้องไห้เงียบๆ คนเดียว

ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปมาก มากเกินกว่าจะหันหลังกลับได้ ฉันออกจากบ้านหลังนั้นมา 7 ปีแล้ว บ้านที่ฉันไม่เคยมีพื้นที่สำหรับการร้องไห้คนเดียว ไม่เคยร้องเพลง ‘อยากร้องดังดัง’ ของปาล์มมี่ได้สุดเสียง ไม่เคยแกะท่าเต้นเพลง Genie ของ Girls’ Generation ได้จบเพลง หรือต้องแอบปาดเจลเซ็ตผมของพ่อเข้าห้องน้ำไป 1 กำมือเพื่อคอสเพลย์เป็นโงกุนใน Dragon Ball เพราะทุกครั้งที่พ่อแม่เห็นฉันทำกิจกรรมเหล่านี้ เขามักจะล้อเลียนเหมือนฉันเป็นตัวตลก

มันทำให้ฉันไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่กล้าริเริ่มทำอะไรตามใจตัวเอง สิ่งที่เด็กหญิงคนนั้นต้องการคือ “คำชม” ไม่ใช่ “การล้อเลียน” 

ตั้งแต่นั้นมาฉันก็ไม่เคยคิดที่จะทำอะไรนอกเหนือจากสิ่งที่พ่อแม่เคยชื่นชมเลย เพราะท้ายที่สุดแล้วท่านก็จะสะเดาะกลอนประตู หาหนทางทะลุกำแพงห้องเข้ามายืนหัวเราะกับการเป็นตัวของตัวเองในพื้นที่ส่วนตัวของฉัน ใช่แล้ว เพราะนี่คือบ้านที่เป็นของพวกท่าน ไม่ใช่บ้านของฉัน ตัวฉันที่ต้องการการยอมรับจากเจ้าของบ้าน จึงไม่เคยออกนอกลู่ทางที่พ่อแม่วางไว้ ไม่เคยคิดจะเป็นในสิ่งที่พวกท่านห้าม 

แต่ตอนนี้ฉันบังคับตัวเองไม่ไหวอีกต่อไป ฉันเพิ่งยอมรับกับตัวเองได้ว่าฉันเป็นเลสเบี้ยน ฉันพยายามหนีความรู้สึกของตัวเองมาตลอด ฉันหลอกตัวเองจนถึงป.3 ว่าฉันชอบผู้ชาย แต่ที่แย่กว่านั้นคือฉันหลอกพ่อแม่มาจนถึงตอนนี้ เพราะญาติๆ มักบอกกับเด็กหญิงจอมแก่นแสนห้าวคนนั้นเสมอว่า “อย่าเป็นทอมนะ” เป็นคำพูดที่วนเวียนอยู่ในหัวของฉันตลอด 

‘ฉันจะไม่เป็นทอม! จะไม่เป็นทอมเด็ดขาด! พ่อแม่ต้องรับไม่ได้แน่ๆ’ อคติเหล่านั้นที่ผู้ใหญ่เผยออกมา มันทำให้ฉันในตอนเด็กพลอยมีอคติต่อการเป็นทอมไปด้วย

คำถามต่อมาสำหรับเด็กหญิงคนหนึ่งที่รู้ว่าตัวเองชอบผู้หญิงแทนที่จะชอบผู้ชาย “เราคือเพศอะไรกันแน่” มีหลายครั้งที่ฉันมองตัวเองเป็นเอเลี่ยนที่ไม่มีใครยอมรับ ไม่มีแม้แต่ชื่อเรียกให้เพศของฉัน เพราะฉันไม่ใช่ทอม ไม่ใช่ดี้ ไม่ใช่หญิง ไม่ใช่ชาย สังคมไทยในช่วงที่ฉันเป็นเด็กแทบไม่มีจุดยืนให้เลสเบี้ยนเลย หรือมี แต่ฉันก็ไม่เคยจินตนาการถึง ไม่เคยเห็นตัวอย่าง สิ่งที่ใกล้เคียงกับฉันที่สุดคือคำว่า ไบเซ็กชวล ที่ทุกคนสมัยนั้นเรียกกันว่า “เสือไบ” 

เอาล่ะ ฉันไม่อยากเป็นอะไรเลยในโลกใบนี้ นอกจากครอบครัวไม่ยอมรับแล้ว สังคมก็ยังไม่มีที่ยืนให้ฉันอีกหรือ

ฉันอยากมองเห็นอนาคตล่วงหน้าสัก 10 ปี เพื่อที่ฉันในวัย 10 ขวบจะได้อธิบายให้พ่อแม่และญาติๆ ฟังได้ว่าเพศนั้นมีความลื่นไหลมากกว่าที่พวกท่านคิด เพื่อนที่เคยเป็นทอมก็กลายเป็นผู้หญิง เพื่อนที่เคยเตะบอลกับฉันตอนเด็กๆ เพิ่งเปิดเผยว่าตัวเองเป็นเกย์ และทุกเพศเป็นเพื่อนที่น่ารัก กะเทยไม่ได้เป็นตัวตลกแบบที่สื่อไทยปลูกฝังความคิด พวกเรามีมิติอื่นๆ ที่น่าสนใจมากกว่าเรื่องบนเตียง พวกเรามีงานอดิเรก มีความถนัดทางวิชาการและความถนัดด้านอื่นไม่ต่างกับเพศชายและเพศหญิง หรือต่อให้พวกเราโง่หรือห่วยขั้นเทพ ทำอะไรไม่เป็นสักอย่าง มันก็ไม่ได้ต่างอะไรกับชายหญิงที่ก็ห่วยเหมือนกัน แล้วทำไมผู้ใหญ่ถึงไม่ยอมรับพวกเราแค่เพราะพวกเราไม่ใช่ straight?

ตอนนี้ฉันมองเห็นเพื่อนหลายคนที่เคยเป็นทอมหันมาไว้ผมยาวเป็นคนสวยไร้ที่ติ บ้างก็หันไปคบกับผู้ชาย บ้างก็คบกับผู้หญิงที่สวยไม่น้อยหน้ากัน บ้างผันตัวไปมีแฟนเป็นทอม 

ฉันมองเห็นแล้วก็นึกอิจฉา เพราะตัวฉันไม่เคยมีโอกาสได้ลองเป็นเพศอะไรเลย ใช้ชีวิตครึ่งๆ กลางๆ กล้าๆ กลัวๆ ว่าพ่อแม่จะไม่ยอมรับ แล้วเก็บความสับสนไว้ในใจกว่า 20 ปี ไม่มีวันไหนเลยที่มองเห็นตัวเองอย่างแท้จริง ไม่มีวันไหนเลยที่ชื่นชมยอมรับ หรือเข้าใจในเพศของตัวเอง

ต้องขอบคุณตัวเองตอนอายุ 15 ปีที่คุกเข่าร้องไห้กับพ่อเพื่อขอสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ทำให้ฉันได้ลองออกมาอยู่คนเดียว ได้ร้องเพลง Let It Go ประกอบภาพยนตร์ Frozen ได้อย่างสุดเสียง ได้พบกับเพื่อนที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้ลองแต่งตัวในแบบต่างๆ เพื่อให้รู้ว่าตัวเองชอบแบบไหน แล้วฉันก็ได้เห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็น รู้สึกในสิ่งที่ไม่เคยรู้สึก ฉันไม่เคยส่องกระจกแล้วเห็นเงาตัวเองชัดขนาดนี้ ฉันไม่เคยพึงพอใจกับเสื้อผ้าที่พ่อแม่เตรียมให้ ไม่เคยมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองสวมใส่เลย แต่ฉันไม่เคยเรียกร้องขอเสื้อผ้าแบบอื่น เพราะฉันไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ฉันไม่เคยลองผิดลองถูก ไม่เคยลองเป็นอย่างอื่นนอกจากสิ่งที่พ่อแม่อยากให้เป็น

มันคงจะดีกว่านี้ถ้าฉันไม่ต้องสังเวยชีวิต 20 ปีให้กับความสับสนที่ไร้คำตอบ มันคงจะดีถ้าฉันกล้าที่จะร้องขอพื้นที่แห่งความลับขนาดเล็กเพียงแค่ 1 ตารางเมตรที่ฉันเป็นผู้ครอบครองรหัสผ่านเพียงผู้เดียว หากฉันมีพื้นที่ส่วนตัวในการทำวิจัยเกี่ยวกับตนเองตั้งแต่เด็ก ฉันคงจะมีผลการทดลองที่ตัวเองมั่นใจเพื่อไปยื่นเรื่องขอการอนุมัติจากพ่อแม่ได้ 

แต่เพราะฉันไม่มีอะไรเลย ฉันจึงไม่เคยรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร หรือมีความฝันอย่างไร ฉันไม่อาจชอบกินก๋วยเตี๋ยวหากฉันไม่เคยชิมมัน ไม่อาจเป็นทาสแมวหากไม่เคยรู้ว่าแมวหน้าตาเป็นอย่างไร ฉันไม่สามารถเป็นตัวฉันได้เพราะฉันไม่เคยรู้สึกปลอดภัยที่จะเป็นตัวเอง

พ่อแม่หลายคนมีเวลาและมีความสามารถในการลงทุนทางการศึกษาให้ลูก พวกเขาสามารถส่งลูกเรียนกวดวิชาได้ตั้งแต่ระดับประถม ส่งเสียลูกได้อย่างดีจนจบมหาวิทยาลัย แต่บางครั้งพ่อแม่ก็หลงลืมที่จะลงทุนสร้างพื้นที่ที่สอนให้ลูกเรียนรู้การใช้ชีวิตด้วยตัวเองตามทางเลือกของลูก

พื้นที่ส่วนตัวเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเด็ก เป็นหลุมหลบภัยในยามที่คนรอบตัวใจร้ายกับเขา เป็นสวนสนุกสำหรับการสร้างสรรค์ปราสาททรายในจินตนาการ และเป็นพื้นที่สำหรับการค้นหาตัวตนที่โดดเด่นออกไปจากเด็กคนอื่น การที่เด็กมีพื้นที่ส่วนตัวนอกจากจะพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และเรียนรู้การคิดนอกกรอบแล้ว ยังทำให้เด็กสามารถพัฒนาอัตลักษณ์ด้านต่างๆ ของเขาได้อีกด้วย

แม้ว่าฉันจะไม่ใช่เด็กที่ได้รับโอกาสนั้น แต่ฉันก็เชื่อว่าพ่อแม่ได้พยายามเลี้ยงดูและรักฉันอย่างดีที่สุดที่คนๆ หนึ่งจะทำได้แล้ว ต่อให้อยู่ห่างกันเป็นร้อยกิโลเมตร ต่อให้เจอกันแค่ปีละครั้ง ฉันก็ยังอยากให้สายใยแห่งครอบครัวนั้นเหนี่ยวแน่นเหมือนตอนที่ฉันเป็นเด็ก ยังอยากจะรู้สึกสนิทใจกับพ่อเหมือนตอนที่แกล้งหลับในรถแล้วให้พ่ออุ้มเข้าบ้าน ยังอยากจะหอมแก้มแม่อย่างไม่เขินอายแม้ผิวของแม่จะเหี่ยวย่นไปทั้งร่าง ฉันไม่เคยคิดจะหนีไปไหน ยังอยากจะกลับไปอยู่เสมอ หากพวกท่านยังรักและต้อนรับแม้ฉันจะไม่ได้เป็นลูกสาวในแบบที่ท่านคาดหวัง

ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งเดียวที่ฉันต้องการก็คือการยอมรับจากครอบครัวที่ฉันรักที่สุด ต่อให้คนทั้งโลกรักฉัน แต่ฉันก็ไม่อาจตายตาหลับหากไม่สามารถตอบข้อกังขาในใจตลอด 20 ปี ว่าท่านยังรักฉันเหมือนเดิมไหมหากฉันไม่ได้เป็น ‘ลูกสาว’ อย่างที่ท่านคิด และไม่สามารถแต่งงานกับผู้ชายได้แม้เขาจะสมบูรณ์แบบแค่ไหน ฉันแค่อยากได้ยินคำว่ารักจากปากพวกท่านอีกครั้ง หลังจากที่ท่านรับรู้และเข้าใจในตัวตนที่แท้จริงของฉัน

Tags:

การเติบโตเพศdear parentsLGBTQ+

Author:

illustrator

ปรียานุช ปรีชามาตย์

นิสิตภาควารสารที่สมัครฝึกงานกับ The Potential เพราะชอบสีม่วง แต่ดันค้นพบสีสันมากมายระหว่างบรรทัดที่ได้ลองเขียน ชอบหนีออกจากบ้านไปเที่ยวตามตรอกเพื่อคุยกับแมวจร รอ fromis_9 คัมแบคมา 1 ปีแล้ว

Related Posts

  • Life classroom
    LGBTQ+ ความปกติ ธรรมชาติ ศีลธรรม และความเข้าใจ

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Movie
    Love, Simon: สักกี่บ้านที่ลูกรู้สึกไม่โดดเดี่ยว สักกี่ครอบครัวที่ไม่คาดหวังให้ลูกเป็นอะไรเลย

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • อ่านความรู้จากบ้านอื่น
    โอบกอดลูกในวันที่เขาขอเลือก ‘เพศ’ เอง : คุยกับคุณแม่เจ้าของเพจ LGBTQ+’s Mother ‘อังสุมาลิน อากาศน่วม’

    เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • Voice of New Gen
    Gay Ok Bangkok ถึงนิทานพันดาว ส่วนผสมในการสร้างซีรีส์วายของ ‘ออฟ – นพณัช ชัยวิมล’

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา ภาพ ศรุตยา ทองขะโชค

  • Dear Parents
    เสียงของเด็กชายที่ไม่มีใครได้ยิน เสียงของเด็กหญิงที่ดังไม่มากพอ

    เรื่อง ณัชชาพร มีสัจ ภาพ ภาพพิมพ์ พิมมะรัตน์

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel