- ในยุคที่พ่อแม่ทุกคนต้องทำงานเช้าจรดเย็น การเลี้ยงลูกโดยผ่านการมีกิจกรรมร่วมกันสม่ำเสมอ บางครั้งก็ทำไม่ได้
- บทความนี้ช่วยให้เห็นความแตกต่างในการเลี้ยงลูกของ 4 ครอบครัวหลากหลาย พ่อที่เป็นหมอ พ่อที่เป็นนักร้อง แม่นักเขียนสารคดี และพ่อแม่ที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย รวมถึงถอดวิธีการออกแบบ ‘เวลาทอง’ ตามสไตล์แต่ละครอบครัว
- เพราะเวลาทองของลูกเกิดขึ้นได้ทุกที บนโต๊ะกินข้าว ในบ้าน บนรถ ใช้หน่วยวัดเป็นความรู้สึกระหว่างกัน ไม่ใช่ปริมาณมากหรือน้อย
ภาพ: เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล, ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
เลี้ยงลูก 1 คน พ่อแม่ต้องใช้เวลามากเท่าไร?
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เคยบอกไว้ว่าคำแนะนำประเภท ‘พ่อแม่ที่ดี คือพ่อแม่ที่มีเวลาให้ลูกมากๆ เป็นคำแนะนำประเภทน่ารำคาญ’ ยิ่งในยุคที่พ่อแม่ต้องทำงานเช้าจรดเย็น ชีวิตเต็มไปด้วยความหนัก เหนื่อย เจอปัญหาต่างๆ ที่ยุ่งยากเกินกว่าจะควบคุม คำแนะนำนี้จึงใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป
แล้วพ่อแม่จะอยู่อย่างไร จะเลี้ยงลูกอย่างไร ในภาวะปากกัดตีนถีบเช่นนี้
The Potential คุยกับ 4 ครอบครัวหลากหลาย พ่อที่เป็นหมอ พ่อที่เป็นนักร้อง แม่นักเขียนสารคดี และพ่อแม่อาจารย์มหาวิทยาลัย เพื่อค้นหาความแตกต่างในการเลี้ยงลูก และถอดวิธีการออกแบบ ‘เวลาทอง’ ตามสไตล์แต่ละครอบครัว
เพราะคำว่า ‘เวลาทอง’ หมายถึงคุณภาพ ไม่ใช่ปริมาณ
พ่อหมอ
‘เวลาทอง’ ของครอบครัว คุณหมอแป๊ะ หรือ ผศ.นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ไม่ได้วัดด้วยหน่วยเวลาหรือนาที แต่ใช้ความรู้สึก สีหน้า กับความพอใจ
เมื่ออาชีพการงานคือการดูแลคนไข้ รักษาความเจ็บป่วย เวลาของคุณพ่อลูก (สาว) สอง อาจไม่แน่นอน แต่ที่แน่นอนกว่าคือเวลา ‘คุณภาพ’ แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย
“มันไม่ต้องเป็นตัวเลข เอาความรู้สึกพอ เมื่อไรที่ลูกต้องการเรา เราก็…ลูกรอได้ไหมอีกสองชั่วโมง จะเสร็จแล้ว ถ้าหากเขายังแฮปปี้อยู่ก็โอเค เขาโตมากับการที่เราต้องตรวจคนไข้นอกเวลา มีคลินิก ตอนเช้าเราก็ตื่นมาไปเดินเล่นกับเขา ไปส่งที่โรงเรียน แล้วก็ไปทำงาน จากนั้นรับลูกไปส่งที่บ้าน แล้วก็ไปคลินิก คลินิกเปิดสี่โมงครึ่งถึงสองทุ่ม หมอเจ้าของร้านไปถึงคลินิกเกือบหกโมง ก็ต้องบอกกันก่อนว่า ช่วงเวลานี้ผมต้องไปรับไปส่งลูก เป็นต้น ฉะนั้นมันก็ยังมีเวลาของมันอยู่ คือ แบบว่า คลินิกผมมีคนไข้นิดเดียว (หัวเราะ)”
ช่วงลูกๆ ยังเล็ก คุณหมอใช้เวลานั้นสร้างฐานะไปด้วย คุณหมอเรียกสถานการณ์ช่วงนั้นว่าปากกัดตีนถีบ
“ทุกช่วงฐานะมันก็มีความรู้สึกปากกัดตีนถีบทั้งนั้น ผมก็ปากกัดตีนถีบในเลเวลผม ถ้าคิดว่ามันเป็นปัญหา มันเป็นปัญหาทั้งหมดเลยนะ ก็แก้ๆ กันไป คนเป็นหมอถึงจะยุ่งมาก แต่เราก็กลับบ้าน ถูกไหม เราก็กินข้าว มีเวลาอาบน้ำกับลูก เล่นกับลูก อ่านหนังสือกับลูก สอนการบ้าน”
คุณหมอยืนยันว่ายุ่งจริง แต่ไม่ทุกวัน อาจมีบางคนเป็นอย่างนั้น แต่คุณหมอแป๊ะเลือกที่จะไม่เป็นอย่างนั้น ด้วยการส่งต่อเวร
“หมอที่ทำงานทั้งวันทั้งคืน อาจจะดีต่อคนไข้หรืออาจจะไม่ดีก็ได้นะ เพราะหมอที่ไม่ได้พักผ่อน คุณภาพของการดูแลและการคิดอะไรต่างๆ ก็ด้อยกว่าหมอที่พักผ่อนดีๆ”
เดือนๆ หนึ่ง วันที่ยุ่ง 24 ชั่วโมงอาจมี 2-3 วัน แต่ครอบครัวก็รู้ว่านี่คืองาน
“ผมไปทำงาน ลูกก็ต้องรู้แล้ว นี่คือเวลาทำงาน อ้อ เวลานี้พ่อไปคลินิก แล้วเดี๋ยวสองทุ่มพ่อจะกลับมา แล้วพ่อก็อยู่บ้านจนถึงเช้า วันนี้พ่ออยู่เวร หายไปทั้งคืนเลย ตื่นเช้าก็ตื่นไม่รอด ส่งลูกไปโรงเรียนก็หน้าเหมือนศพ ก็ต้องรู้ว่า เมื่อคืนพ่ออยู่เวร เป็นต้น เด็กๆ ก็ต้องเรียนรู้บทบาทอันนี้นะครับ“
“แต่เวลาไม่อยู่เวร โรงพยาบาลก็ต้องรู้ว่า นี่คือเวลาของเรา” คุณหมอย้ำ
ชั่วโมงทำการของคุณพ่อจึงไม่แน่นอน แต่พอจะสรุปได้คร่าวๆ ดังนี้
ช่วงที่ลูกยังเป็นเด็กเล็กๆ – หกโมงเช้า คุณพ่อรับหน้าที่พาลูกสาวไปเดินรอบอ่างเก็บน้ำใกล้บ้านพัก เมื่อโตหน่อยก็พาไปซ้อนท้ายจักรยาน คุยกันสัพเพเหระ ไม่มี topic ใดๆ ทั้งสิ้น ชวนดูนก ดูกิ้งก่า ดูต้นไม้ ดูดอกไม้ เรียกว่าอะไรอยู่รอบตัวก็ดูได้ทั้งนั้น
“เมื่อไรที่เราต้องคิดว่าจะคุยอะไรกับลูกนะ ผมว่ามันเป็นสิ่งที่เฟลมากเลยอะ ยกเว้นเรื่องบางเรื่องที่เราอยากจะให้เขารู้จริงๆ และเป็นทักษะที่จำเป็น เช่น เรื่องเซ็กส์ แต่เราไม่ได้ตั้งเป็น topic ว่าต้องพูดแบบไหน เราก็ต้องรอโอกาสสวยๆ เช่น ปั่นจักรยานอยู่ เห็นหมามันติดเป้งกัน มันขึ้นขี่กัน เราก็บอก ลูกดูเร็ว มันกำลังจะมีลูก เริ่มต้นก่อน แล้วเดี๋ยวมันก็จะต่อยอดไปเอง”
เช่นเดียวกัน เวลาอ่านนิทาน งานนี้ต้องถึงมือคุณพ่อ พ่อผู้ไม่เคยเล่านิทานอย่างปกติเลยสักครั้ง เพราะลูกเล่นของครอบครัวอยู่ที่พ่อหมด
“ไม่เคยอ่านนิทานปกติ อ่านแล้วต้องใส่อารมณ์ของนิทาน อารมณ์ของการเล่าเรื่อง ฉะนั้นช่วงเวลาที่ลูกนอนจะเป็นช่วงเวลาที่มีค่ามาก”
“เรามีหนังสือนิทานในบ้านเยอะมาก บางคืนก่อนนอนอาจจะอ่านกันถึงสามเรื่อง ถ้าเรื่องไหนเป็นสัตว์ พ่ออาจจะเป็นสัตว์ หรือมาเป็นสัตว์ในนิทานกันทั้งพ่อทั้งลูก พูดคุยกันประสาสัตว์ อย่างเช่นเรื่อง ‘กุริกุระ’ พ่อจะเป็นหนู และเมื่อถึงเวลาที่เป็นเหมือนท่อนฮุคในนิทาน กร๊อบแกร๊บกรุ๊บกรั๊บ กุริกุระ ถึงเวลานี้ ลูกจะช่วยเรา หรืออีกเรื่องหนึ่ง ‘ยักษ์อุฮิอะฮะกับแมวสิบเอ็ดตัว’ เอิ่ม…กี่ตัวก็ชักไม่แน่ใจ มันหลายปีมาแล้ว ผมจะเป็นยักษ์ ลูกเป็นแมว อะไรอย่างนี้ คืออยากจะบอกว่า นี่มันคือเวลาทองมาก หลับตานึกภาพออกไหม พ่อนอน ลูกคนโตหนุนแขนขวา ลูกคนเล็กหนุนแขนซ้าย แล้วอ่านหนังสือไปด้วยกัน เวลาเปลี่ยนหน้าหนังสือ ก็จะมีมือยื่นมาเปลี่ยนให้ เพราะพ่อทำไม่ได้”
แต่ระหว่างที่อ่านๆ อยู่ ก็จะมี ‘คิวแทรก’ ที่เรียกว่า “คนไข้มาห้องคลอด” เป็นระยะๆ คุณพ่อก็ต้องกัดฟันไปเพราะตอนนั้นอยู่ในช่วงรับฝากครรภ์พิเศษเพื่อสร้างฐานะ
“รู้สึกหงุดหงิดใจเหมือนกัน เริ่มรู้สึกแล้วว่าการไปทำคลอด ฝากพิเศษ มันน่าจะไม่ใช่ชีวิตที่เราชอบเท่าไร แต่มันต้องทำ เพราะมันคือรายได้ที่จะมาซัพพอร์ตครอบครัว จนวันหนึ่งมันถึงจุดแตกหักของการรับฝากพิเศษ ผมต้องไปทำคลอด ตอนนั้นลูกคนโตสามขวบกว่าบอกว่า พ่อไปอีกแล้วเหรอ มันเจ็บมากเลย เลยบอกว่าจากนี้ไป พ่อจะไม่รับฝากพิเศษอีกแล้ว เลิกเลย”
ถามคุณหมออีกรอบ ‘เวลาทอง’ ของครอบครัวคือตอนไหน
“มันทองตลอดเลย (ตอบทันที) หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นในรถ คุยกัน คุยได้ทั้งวัน แต่พอมันโตขึ้น มันก็พยายามที่จะไม่คุยกับเรา ฉะนั้นคุยกันให้เรียบร้อย คุยกันให้เยอะๆ ไปก่อน จะได้ไม่ขาดอะไร เขาจะรู้ว่าเรามีเวลาให้เขาเมื่อไร เท่าไร”
ไม่ใช่แต่ในบ้าน เวลามีงานนอกสถานที่ ครอบครัวชูบุญจะไปกันเป็นแพ็คเกจตลอดเวลา
“เวลาผมมีประชุมที่ไหน จะต้องมีลูกและเมียปรากฏตัวเสมอ เมียผมไม่ไปประชุมที่ไหนเลยนะตอนลูกผมเล็กๆ หรือเมื่อไรที่เขามีประชุมเราก็จะไป ไม่มีอะไรสำคัญกว่าการได้ไปด้วยกัน ร้อนหนาวแค่ไหนไปตลอด เวลาหนาว เราเอาลูกมาอยู่ในเสื้อแล้วก็รูดปิด คอมันโผล่มาเหมือนลูกจิงโจ้เลย (ยิ้ม) ฉะนั้นทั้งชีวิต พ่อให้ลูกหมดเลย หมายความว่าช่วงเวลานอกการทำงานนะ”
ทำไมถึงเชื่อพลังของการให้และพลังของการใช้เวลาร่วมกัน?
“ก็เราให้เขาเกิดมาแล้วไหมล่ะ เราก็ต้องรับผิดชอบชีวิตของเขา เท่านั้นเองครับ”
แม่นักเขียนสารคดี
ก้อย-จันทร์เคียว รัตนโยธา นักเขียนสารคดี เป็นคุณแม่ของน้องยินดีวัย 11 ปีที่เลี้ยงลูกเองตั้งแต่วันแรกที่ออกจากโรงพยาบาล และเป็นแม่บ้านที่ลาออกจากงานมาเลี้ยงลูกเองเต็มเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน ไม่มีพี่เลี้ยงผลัดเปลี่ยน ลูกกินนมแม่ตั้งแต่เกิดจนถึง 3 ขวบ ปราศจากขวดนมใดๆ
“ดังนั้นในช่วง 3 ปีแรกแม่และลูกจะตัวติดกันเกือบตลอดเวลา เรารู้ว่าเขาต้องการอะไร คิดอย่างไร จนถึงวันที่เขาเริ่มไปโรงเรียน หลังจากกลับจากโรงเรียนลูกมักจะเล่าเรื่องที่โรงเรียนหรือเรื่องที่เขารู้หรือสงสัยให้ฟังเสมอ”
ทุกๆ เช้า น้องยินดี-ลูกชาย จะตื่นนอนเข้าห้องน้ำอาบน้ำแต่งตัวเองโดยแม่เตรียมชุดให้ และเตรียมอาหารเช้า ก่อนจะส่งไม้ต่อให้คุณพ่อเป็นสารถีไปส่งที่โรงเรียน
มื้อเช้าคุณแม่เตรียมจะเป็นอาหารง่ายๆ อาจเป็นกับข้าวที่แบ่งมาจากมื้อเย็นเมื่อวาน ข้าวปั้น หรือซีเรียลใส่นม
กลางวันแม่อยู่บ้านทำงาน ราวบ่ายสามโมงก็จะเตรียมตัวออกไปรับลูกที่โรงเรียน แล้วกลับมาทำอาหารค่ำ
“หน้าที่ประจำวันของลูกที่ต้องรับผิดชอบคือเติมน้ำจากเครื่องกรองน้ำลงขวดน้ำดื่ม บางครั้งอาจช่วยล้างจาน หรือมีส่วนร่วมในการทำเมนูที่เขาคิดสูตรเอง อย่างไข่ม้วนแฮมชีส”
วันธรรมดาที่ต้องไปโรงเรียนยินดีจะมีเวลาเล่นเกมคอมพิวเตอร์ 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะเป็นการอ่านหนังสือส่วนใหญ่เป็นหนังสือสารคดีเกี่ยวกับรถชนิดต่างๆ หรือเล่นของเล่นเลโก้รถหรือเลโก้แบบกลไกฟันเฟือง บางครั้งก็ต่อช่วยกันจิ๊กซอว์ ระหว่างนั้นพ่อแม่ดูข่าวทีวี บางทีลูกก็ชอบดูคลิปต่างๆ บนแทบเล็ตภายใต้สายตาและการควบคุมเวลาอยู่ห่างๆ ของแม่
“เวลามีประเด็นทางสังคมเรามักจะคุยกันดูทิศทางความคิดและทัศนคติที่เขาแสดงความคิดเห็นกับเรื่องต่างๆ เพราะคิดว่าการที่เด็กจะเติบโตไปเป็นมนุษย์คนหนึ่งนั้น ทัศนคติสำคัญที่สุด สำคัญกว่าความเก่งทางวิชาการหรือความสามารถพิเศษอื่นๆ”
นอกจากเวลาแล้ว เนื้อหาที่พ่อแม่ลูกคุยกันก็สำคัญ
“ก่อนนอนจะชวนคุยเรื่องทั่วไป วันนี้เรียนเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อนที่โรงเรียนเป็นอย่างไร อาหารกลางวันกินอะไร อร่อยไหม ให้เขารู้สึกว่าสนใจเรื่องราวรอบตัวเขา หลายครั้งลูกเล่าถึงการบูลลี่การแกล้งกันในโรงเรียนรวมถึงการแก้ปัญหาของเขา และเล่าประเด็นอื่นๆ ที่เราเองก็นึกไม่ถึง”
ท่าทีในการคุยทุกเรื่อง บ้านนี้ปฏิบัติกับลูกอย่างเพื่อน ไม่ซักไซ้จ้ำจี้จ้ำไชหรืออยากรู้อยากเห็นไปทุกเรื่อง คุยด้วยน้ำเสียงบรรยากาศสบายๆ ให้ลูกวางใจและอยากเล่าเอง
“ให้เขารู้ว่าไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นเขาสามารถเล่าให้พ่อแม่ฟังได้ทุกเรื่อง”
ทั้งหมดนี้คือ เวลาทองของบ้านยินดี ที่ไม่ได้หมายความแค่ชั่วโมงแห่งความสุข
“เวลาทองอาจจะไม่ได้หน้าตายิ้มแย้มตลอดเวลา เวลาทองคือช่วงเวลาที่ลูกรู้สึกปลอดภัย ได้พูดคุยกันถึงเรื่องต่างๆ บางครั้งอาจไม่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของเราเลยก็ได้ แต่เราจะรู้ถึงทัศนคติของเขาที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่แบบไหน”
ส่วนเวลาทองแบบจับต้องได้คือครอบครัวมักหาโอกาสไปเที่ยวต่างประเทศ หรือเที่ยวธรรมชาติ เที่ยวทะเล เดินภูเขากางเต็นท์นอนปีหนึ่งราว 3-4 ทริป ได้เหนื่อยด้วยกันหัวเราะด้วยกัน ช่วยกันกางเต็นท์ทำอาหาร นั่นคือเวลาทอง
แต่พ่อแม่บ้านนี้ก็มีช่วงที่ไม่มีเวลาเหมือนกัน
“อย่างน้อยที่สุดได้กอดลูก ถามไถ่ถึงเรื่องที่เขาพบเจอระหว่างวัน เรื่องราวดีหรือไม่ดี รู้สึกอย่างไร ต้องการให้แม่ช่วยจุดไหน ได้บอกราตรีสวัสดิ์ส่งลูกเข้านอน เขาจะรู้สึกปลอดภัย นอนหลับอย่างมีความสุข”
ให้เวลาทองกับลูกแล้ว คุณแม่บ้านนี้ก็ไม่ลืมที่จะมีนาทีทองของตัวเอง
“ช่วงเวลาที่ผ่อนคลายมากที่สุดคือช่วงเตรียมอาหารค่ำให้สมาชิกในบ้าน เรารู้ว่าแต่ละคนชอบกินอะไร เวลาลูกได้กินอาหารฝีมือแม่รสชาติอร่อย เขาจะพูดขอบคุณทุกครั้งและให้คะแนน 5 ดาว จานชามที่ลูกกินจนเกลี้ยงก็ทำให้ชุ่มชื่นหัวใจ”
ด้วยความเป็นนักเขียนสารคดี บางครั้งคุณแม่ก็ลากิจชั่วคราวไปเที่ยวต่างประเทศบ้าง เพราะแม่ย่อมมีชีวิตเป็นของตัวเองด้วย โดยเฉพาะช่วงปิดเทอม ยินดีจะเดินทางไปหาปู่ย่า และจะกลับมาพร้อมความเปลี่ยนแปลงแทบทุกครั้ง
“หนึ่ง ปู่ย่าไม่เหงา สอง เด็กได้ช่วยปู่ย่าทำงานอื่นๆ สาม พ่อแม่มีเวลาเป็นของตัวเอง สี่ ทุกครั้งที่ลูกกลับมาบ้านหลังจากช่วงปิดเทอมแค่สั้นๆ เราจะพบว่าเขาโตขึ้นกว่าเดิมเสมอ”
พ่อนักร้อง
โป้-ปิยะ ศาสตรวาหา หรือ โป้ Yokee Playboy เบื้องหน้าเขาคือนักร้องหนุ่มที่ใช้ผลงานเพลงครองใจใครหลายคน เมื่อเวลาหมุนไปได้พาให้เขาเติบโตจากนักร้องหนุ่มกลายเป็นมนุษย์พ่อของลูกสาววัย 7 ขวบอย่างเต็มตัว แต่การสวมบทบาทที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกเหนื่อยหรือท้อเลยสักครั้ง
เขายืนยันเสมอว่าลูกคือสิ่งที่ทำให้มีความสุข และเขาคือคุณพ่อที่ให้ความสำคัญกับเวลา เพราะเวลาทำให้เขารู้จักลูก เวลาคือสิ่งที่ช่วยให้พ่อสามารถสร้างประสบการณ์ให้กับลูกได้
“ตลอดชีวิตของผมทำงานมาตลอด วันหนึ่งเราเริ่มรู้สึกว่าทำไมเราไม่เติมเต็มสักที หาเงินมาได้ก็ไม่รู้สึกสุขเหมือนที่เราอยากเป็น เราเริ่มตั้งคำถาม จากนั้นก็หาคำตอบ แต่ไหวตัวช้าไปนิดนึง มาเจอคำตอบใกล้ๆ อายุขึ้นหลักสี่แล้วพบว่า เราต้องการมีครอบครัว
“ในความทรงจำ ไม่รู้ทำไมผมไม่เคยจินตนาการเลยว่าตัวเองจะมีลูกชาย ผมอยากมีลูกสาวมาตลอด ตอนที่เล่นโชว์เพลงในช่วงนั้น อยู่ดีๆ บางครั้งก็บ้าบอถึงขั้นตะโกนบนเวทีว่า “ผมอยากมีลูกสาวววว” ในเมื่ออยากมีลูกเราก็ต้องหาแม่พันธุ์ ตอนที่ผมเจอภรรยา ผมคุยกับเขาเลยว่าตอนนี้ผมกำลังหาแม่พันธุ์อยู่นะ คงเป็นความโชคดีที่ภรรยาเขาคงงงๆ ว่านี่เรากำลังจีบเขาอยู่หรืออะไร จนในที่สุดเราได้คบกันสร้างครอบครัวและมีลูกด้วยกัน”
กิจกรรมแต่ละวันของพ่อโป้และน้องชินา-ลูกสาว ดูคล้ายกับครอบครัวอื่นๆ เริ่มจากการตื่นนอน ไปโรงเรียน กลับจากโรงเรียน วิ่งเล่น กินข้าว แล้วเข้านอน แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้แต่ละวันไม่ซ้ำกันคือลีลาและน้ำเสียงในการเล่านิทานของ ‘คุณพ่อ’
“ผมขอไล่จากช่วงเวลาเข้านอนก่อน ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ผมจะมีหน้าที่อุ้มน้องจากรถขึ้นไปที่ห้องนอนชั้นสองแล้วพาลูกนอน ถ้าเขาไม่หลับระหว่างทางกลับบ้าน เราก็จะเป็นคนอาบน้ำให้เขาด้วย ช่วงเวลาก่อนนอนทุกคืน ผมจะเป็นคนเล่านิทานให้เขาฟังก่อนหนึ่งเรื่อง ซึ่งนิทานเหล่านั้นจะเป็นนิทานที่ผมแต่งเองทั้งหมด โดยแต่งจากความสนใจของลูก เช่น ตอนนั้นเขากำลังสนใจเกี่ยวกับการ์ตูนฮีโร่ เช่น แบทแมนแแอนด์โรบิ้น เราก็หยิบจับเอาตรงนั้นมาเล่าเป็นเรื่องราวที่เข้าใกล้ตัวเขาได้ง่าย เช่น ลูกรู้ไหม จริงๆ แล้วพ่อเป็นเพื่อนกับแบทแมนนะ แต่พ่อไม่เคยบอกใคร เราสร้างเรื่องราวไปเรื่อย พอเขาฟังเขารู้สึกสนุก มันกระตุ้นจินตนาการ
“ผมเริ่มเล่านิทานให้เขาฟังตั้งแต่เล็กๆ ในช่วงแรกคุณแม่จะเป็นคนพาเล่า แต่หลังๆ ไม่รู้ทำไม น้องอาจจะชอบความตื่นเต้นเลยมาให้คุณพ่อเล่าให้ฟังแทน ซึ่งพ่อก็จะเล่าในสไตล์ exotic พ่อเป็นเพื่อนกับแบทแมน แบทแมนมาเยี่ยมพ่อตอนนี้ที่ลูกยังแบเบาะอยู่ จริงๆ แบทแมนไม่ถูกกับซูเปอร์แมน เพราะซูเปอร์แมนงาบไอศกรีมของแบทแมนไป ซึ่งพอเราเล่าแบบนี้ ลูกดูจะชอบมากๆ (หัวเราะ)
“พอเราส่งลูกเข้านอนแล้ว ตื่นเช้ามาจะเป็นหน้าที่ของแม่ คุณแม่จะพาไปส่งโรงเรียน เพราะพ่อตื่นสาย (ต้องขอขอบคุณภรรยาด้วยครับ-หัวเราะ) แต่ก็มีบ้างที่พ่อไปด้วย พอถึงช่วงเวลาบ่ายๆ เป็นเวลาเลิกเรียน พ่อแม่จะไปรับเขาจากโรงเรียนมาที่นี่ (ร้านอาหารที่เป็นกิจการของครอบครัว) จากนั้นเป็นช่วงเวลาที่ลูกจะได้เล่นหรือทำการบ้าน โดยพ่อจะใช้เวลานี้ทำงานเพลงไปด้วย จากนั้นในช่วงเย็นก็จะเข้าสู่ลูปเดิม”
หากถามถึงระดับความสนิทของสองพ่อลูก โป้ตอบอย่างหนักแน่นไว้ว่า เราทั้งคู่เรียกได้ว่าคุยภาษาเดียวกันเลย
“ด้วยความที่เราหน้าตาแบบนี้ ภรรยาบอกว่าผมเป็นผู้ช้าย ผู้ชาย คนป่ามากๆ เรามีความกังวลที่จะเล่นกับลูก ไม่รู้ว่าจะสื่อสารกับเด็กผู้หญิงอย่างไร ไอ้เราก็เริ่มน้อยใจลูก เราจึงต้องหาทางเข้าหาเขา เริ่มจากสังเกตสิ่งที่เขาทำก่อน ตอนนั้นเขาสนใจตุ๊กตา ผมเลยเอาตุ๊กตาของเขามาเล่นสวมตัวเองเข้าไป ทำให้ตุ๊กตามีชีวิตแล้วบีบเสียงให้เล็กๆ คุยกับเขา ‘สวัสดีค่ะ ทำอะไรคะเนี่ย’ (หัวเราะ)”
โป้พาย้อนไปตอนที่น้องชินาอายุ 2 ขวบ “จำได้ว่าน้องชอบทำหน้าตาตามผม เวลาเรามองหน้ากันผมคิดว่าเขาเป็นเด็กที่รู้เรื่องแล้ว แต่ไม่มีใครเชื่อผมสักคนแม้กระทั่งแม่เขา แววตาของลูกทำให้ผมรู้สึกประหลาด อาจจะเป็นเรื่องที่ฟุ้งซ่านก็ได้ แต่รู้สึกแบบนั้นจริงๆ”
การเป็นมนุษย์พ่อช่วยเติมเต็มให้โป้อ่อนโยนมากขึ้น
“ตั้งแต่มีลูกผมรู้สึกมีฮอร์โมนผู้หญิงเพิ่มขึ้นนะ (หัวเราะ) ผมมีความสุขทุกวันตั้งแต่เขาเกิดมาเป็นลูก (ยิ้ม)” นี่จึงเป็นเหตุผลให้เขากลายเป็นคุณพ่อที่ค่อนข้างไหวตัวกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกมากๆ
“เวลาผมมองลูกเหมือนผมได้นั่งมองตัวเองในร่างเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ย้อนไปในตอนนั้น คุณเคยอยากรู้อย่างไร อยากจะเจออะไร ไม่ชอบอะไร คุณจะพยายามพาเด็กคนนี้ (ซึ่งก็คือตัวคุณเอง) ไปทิศทางไหน ในแบบฉบับไหน
“ผมตั้งใจตั้งแต่จะมีลูก ผมจะเลี้ยงลูกให้โตขึ้นเป็นคนอารมณ์ดี 7 ปีที่ผ่านมา น้องโตขึ้นเป็นเด็กอารมณ์ดีจริงๆ ข้อนี้ถูกใจพ่อมาก เขาทะเล้นเหมือนพ่อ เขาเป็นเด็กอ่อนโยน จิตใจดี”
“เราสองพ่อลูกจะจอยเวลาด้วยกันมักเป็นตอนเช้าในวันหยุด อาจเป็นเพราะเขาเห็นพ่อทำงานก๊องแก๊งๆ อยู่ใน(ห้องซ้อม)บ้านตลอด เขาเลยสนใจอยากรู้ว่าพ่อทำอะไร พ่อทำอาชีพอะไร เขาจะมาเล่นนู้นนี้เล่นนี้อยู่บ่อยๆ ซึ่งบ้านเราโตมากับเสียงเพลงอยู่แล้ว เพราะพ่อเป็นนักร้อง ตอนเล็กๆ เราก็จะร้องเพลงเสริมทักษะภาษาให้เขา ส่วนนี้มันจึงบ่มเป็นนิสัยของการฟังเพลง ทำให้ชินากลายเป็นเด็กที่มีเซนส์ในดนตรี”
การที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมาแล้วเขาเป็นอย่างไร นอกจากอัตลักษณ์ที่ติดตัวมาแล้ว สิ่งหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้ชัดเจนขึ้น นั่นก็น่าจะเป็นเวลาของพ่อแม่ที่อยู่กับเขา ความสุขของครอบครัวที่สุดคือการได้ใช้เวลาด้วยกัน – พ่อโป้เชื่อแบบนั้น
“การสร้างประสบการณ์ให้ลูกเป็นสิ่งดี ฉะนั้นคุณอย่าไปปิดกั้นมันเลย ปล่อยไปตามธรรมชาติ บางครั้งก็ปล่อยให้เจอปัญหาคุณจะได้สอนเขา มหาอาณาจักรสังคมทั้งหลาย ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ คือ บ้าน ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้าน สุดท้ายจะส่งผ่านออกไปมีผลกระทบต่อตัวเขาทุกอย่าง
“สำหรับบ้านผม ผมไม่มีข้ออ้างสำหรับการเลี้ยงลูก ต่อให้ชีวิตหนัก เหนื่อย แค่ไหนก็ตาม บางครั้งผมบ้างานมากๆ ทำงานติดกันนานๆ มันจะมีช่วงเวลาที่สะดุ้งแล้วรู้สึกว่าเราใช้เวลานานเกินไปแล้ว ไปอยู่กับลูกบ้างดีกว่า”
ฉะนั้นเมื่อถามถึงหน้าตาของเวลาทอง – พ่อโป้ตอบเต็มคำเลยว่า เวลาทองคือทุกเวลาที่เขาได้ใกล้ชิดกับลูก
“เวลาที่เราได้อาบน้ำให้เขา ล้างก้นให้เขา มันสั้นมากๆ ผมอยากให้คุณพ่อทุกคนไหวตัวทันเหมือนผม อยากให้รีบกันหน่อย เพราะช่วงเวลานี้มันผ่านไปแล้วคือผ่านไปเลย เงินทองที่คุณหามาได้มากเท่าไร มันซื้อช่วงเวลาตรงนี้ไม่ได้ ผ่านไปแล้วผ่านไปเลย หมดแล้วหมดเลย ตอนนี้ผมพยายามแง้มประตูบานนี้กับลูกสาวอยู่ ไม่อยากให้มันปิดเร็ว”
พ่อแม่อาจารย์มหาวิทยาลัย
“ครอบครัวเราให้ความสำคัญกับลูกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต หลังจากมีลูกแล้วมันไม่ใช่ชีวิตคู่ มันคือชีวิตคี่ (หัวเราะ) คือเราไม่เคยฝากลูกไว้กับใครแล้วไปเดทกัน 2 คน ไม่ได้ว่าครอบครัวอื่นนะคะ แต่เรามีความสุขมากกว่าที่จะได้อยู่พร้อมหน้ากัน 3 คน”
แม่มะเหมี่ยว-วราลี ยอดสุรางค์ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ่อแทน-ปฏิพล ยอดสุรางค์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ทั้งคู่เป็นพ่อแม่ของน้องทามะ ลูกสาววัย 5 ขวบ ที่ร่าเริง สดใส และคุยเก่ง
ภาพจำเดิมของวิชาชีพอาจารย์ ดูเหมือนจะมีชีวิตที่ยุ่งยาก ไม่มีเวลา เพราะต้องง่วนอยู่กับตำราและเตรียมการสอน แต่ชีวิตของพ่อแทนและแม่มะเหมี่ยวไม่ได้เป็นเช่นนั้น
“ทุกอาชีพก็มีความหนัก เหนื่อยต่างกันไป จริงๆ แล้วการเป็นอาจารย์ ถ้าวางแผนดีๆ เราจัดสรรเวลาได้แน่นอน เพราะเราทำงานราชการมีเวลาชัดเจนอยู่แล้ว เพื่อนๆ หลายคนบอกว่า เราโชคดีที่บ้านกับที่ทำงานใกล้กัน และโรงเรียนลูกอยู่ใกล้กัน อย่างน้อยก็ไม่ต้องเครียดกับรถติด” พ่อแทนบอก
พ่อแทนเล่าย้อนไปตอนน้องเด็กๆ ทามะเป็นเด็กที่เติบโตที่ประเทศญี่ปุ่น เพราะช่วงเวลานั้นทั้งพ่อและแม่มีภารกิจเรียนต่อที่นั่น น้องมีโอกาสได้อยู่ในเนิร์สเซอรีในญี่ปุ่น ซึ่งการอยู่ที่นั่นทำให้พ่อแทนและแม่มะเหมี่ยวเห็นความแตกต่างด้านเวลาอย่างชัดเจน
“จริงๆ เราสามารถทำงานต่อที่นั่นได้เลยแต่มันต้องเหนื่อยแน่ๆ ด้วยวัฒนธรรม ธรรมเนียม ญี่ปุ่นจะเข้มงวดเรื่องวินัย แต่ก็อาจจะตามด้วยความเครียด ทุกอย่าง strict ไปหมด เขาไม่ได้ยืดหยุ่นมากพอ ถึงแม้ญี่ปุ่นจะมีสวนสาธารณะมากมายแต่พ่อแม่ต้องทำงานหนัก ลูกก็ไม่มีโอกาสได้ไปเล่นอยู่ดี” จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ย้ายกลับมาที่ประเทศไทย และเข้าเรียนอนุบาลในโรงเรียนไทย
โดยกิจวัตรประจำวันแต่ละวันตั้งแต่ตื่นจนเข้านอนของสามชีวิต เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงเช้า พ่อแทนจะตื่นก่อนเพื่อลุกขึ้นมาเตรียมอาหาร ทำกับข้าวให้ลูก และเตรียมตัวออกจากบ้านไปโรงเรียนและไปทำงานกันพร้อมหน้าพร้อมตา โดย ‘จักรยาน’
“ด้วยความที่โรงเรียนห่างจากหน้าบ้านไม่ไกล เราก็จะขี่จักรยาน หรือจะขี่สกู๊ตเตอร์ หรือจะติดรถแม่ไปก็ได้ แล้วแต่ลูกจะเลือก”
ระหว่างทางไปรับไปส่ง พ่อแทนใช้ช่วงเวลานี้พูดคุยและรับฟังเรื่องเล่าจากน้องทามะทุกเรื่อง
“อย่างที่บอกเขาอยู่ในวัยชอบพูด เขาเป็นเด็กพูดเก่ง มันไม่มีแพทเทิร์นขนาดว่าวันนี้พ่อแม่จะต้องถามอะไร คุยอะไร หรือต้องเล่าเรื่องอะไรกัน แต่พื้นฐานน้องเป็นเด็กช่างคุย เขาจะมีเรื่องมาเล่า เรื่องโม้ของเขา เช่น เรื่องกลุ่มเพื่อนในห้องของเขา หรือวันนี้คุณครูดุ วันนี้เจอตุ๊กแกของครู ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเรื่องไหนจริงไม่จริง แต่ก็ฟังไป ปล่อยให้เขาเล่าตามจินตนาการของตัวเอง”
พอในช่วงเย็น หลังเลิกเรียนคุณพ่อจะไปรับน้องและปล่อยให้เขาวิ่งเล่นที่สวนในโรงเรียนก่อน จากนั้นก็พากันกลับเข้าบ้าน เตรียมตัวทำกับข้าว รอคุณแม่กลับบ้าน ระหว่างที่พ่อทำกับข้าว ลูกก็จะใช้เวลาเล่นอะไรของเขาไปเรื่อยเปื่อย จากนั้นก็กินข้าวด้วยกัน พูดคุยกัน และก็ถึงช่วงเข้านอน
“ตามปกติไม่รู้ว่าบ้านอื่นใช้เวลากินข้าวนานแค่ไหน แต่บ้านเรากินข้าวนานประมาณ 1 ชั่วโมง เพราะช่วงเวลานี้คือที่เวลาที่เราอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน”
ดังนั้นเมื่อถามว่าเวลาทองของครอบครัวนี้คือช่วงเวลาไหน พ่อแทนตอบว่า
“สำหรับผมมันไม่ได้ซีเรียส ครอบครัวของเราไม่ได้กำหนดเวลาเป๊ะๆ ว่าคือเวลานี้ ต้องทำอะไร แค่เราคุยกัน อยู่พร้อมหน้า เราใช้เวลาอยู่บนโต๊ะอาหารด้วยกันนาน เรากินข้าวเป็นชั่วโมง เพราะเป็นช่วงเวลาที่กินไปคุยไป”
เช่นเดียวกับแม่มะเหมี่ยวที่บอกว่า “เวลาทองคือเวลาที่เราทำกิจกรรมร่วมกับลูก ไม่จำเป็นต้องเป็นการเล่นอย่างเดียว”
เพราะบ้านไม่มีลูกจ้าง เวลาทำงานบ้าน ลูกก็จะมาช่วยทำด้วย นี่คือหลักการที่ช่วยให้ลูกสนุกไปพร้อมพ่อแม่ หรือเวลาที่คุณพ่อคุณแม่นัดเจอกับเพื่อนตัวเอง แม่มะเหมี่ยวก็จะให้ลูกตามไปด้วย เพราะนั่นคือวิธีที่ทำให้ลูกรู้สึกว่า ‘เขาสนิทกับเรานะ’ พอเขาไปเล่นตามสนามเด็กเล่นกับเพื่อนเขา เขาก็อยากให้เราไปเล่นด้วย อยากให้เราเป็นส่วนหนึ่งของเขา ให้เราวิ่งไล่พวกเขาเป็นผีบ้าง ยักษ์บ้าง แค่เรามีเวลาที่ได้อยู่ร่วมกับลูก มีช่วงเวลาที่สนุกด้วยกัน ลูกมีเวลาเล่นอย่างเต็มที่ในวัยเขา
นี่แหละคือเวลาทอง
อ่านบทความ เวลาทอง โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ได้ ที่นี่