- แม้การทำโทษด้วยการตีจะทำให้เด็กๆ เปลี่ยนแปลงการกระทำของตัวเองอย่างรวดเร็วเดี๋ยวนั้น แต่ในทางกลับกันการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กไม่ได้เกิดจากจิตสำนึกที่พวกเขารู้ว่า สิ่งที่ตัวเองทำมันผิด แต่คือการใช้ความรุนแรง ‘บังคับ’ ให้พวกเขาเปลี่ยนพฤติกรรม โดยที่เด็กๆ เองก็ไม่ทราบถึงเหตุผลเลยว่า ทำไมถึงไม่ควรทำสิ่งนั้น
- การตีไม่เพียงแต่สร้างบาดแผลไว้ที่ร่างกาย แต่ทิ้งความบอบช้ำให้กับจิตใจเด็กๆ
- ‘อย่าเพิ่งตี โปรดฟังเหตุผลของเราก่อน’ เสียงจากเด็กๆ ที่อยากให้ผู้ใหญ่ได้ยิน
‘รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี’ หรือ ‘ไม้เรียวสร้างคน’ คงเป็นสำนวนที่ผู้อ่านหลายท่านได้ยินมานาน ผู้ปกครองและครูส่วนใหญ่ก็เชื่อมั่นว่า ‘การตี’ จะขัดเกลา ดูแลลูกๆ เราได้ยินบ่อยๆ ว่าการตีของผู้ใหญ่เป็นไปด้วยความรัก เป็นการลงโทษเพื่อการพัฒนาตัวตนของเด็กไปในทางที่ดีขึ้น
แต่เมื่อพูดในมุมมองของเด็ก แน่นอนว่าเด็กๆ เอง ย่อมไม่อยากถูกพ่อแม่ตี เพราะการตีไม่เพียงสร้างบาดแผลในร่างกาย จิตใจของพวกเราก็บอบช้ำเช่นกัน
ครั้งหนึ่ง ผู้เขียนมีโอกาสไปเป็นวิทยากรที่โรงเรียนแห่งหนึ่งย่านชุมชนคลองเตย ก่อนได้มาบรรยายที่นี่ เคยได้ยินเพื่อนๆ พี่ๆ คุยกันถึงความดื้อของเด็กโรงเรียนนี้ บ้างก็ว่าไม่ฟัง บ้างก็ว่าเสียงดัง ขโมยของบ้าง
เมื่อย่างก้าวถึงโรงเรียน ได้ยินเสียงเด็กมากมายกำลังเล่นหยอกล้อกัน ขณะเดียวกันเห็นคุณครูกำลังว่ากล่าวและทำโทษเด็กๆ ทีละคน เพื่อควบคุมไม่ให้เสียงดังและให้ทำตามที่ครูสั่ง หลายคนมักมองว่า ขนาดครูดุอย่างนี้ ทำโทษเกือบทุกวัน เด็กกลุ่มนี้ก็ยังไม่หายดื้อ คงจะแก้นิสัยไม่ได้อีกแล้ว พูดให้แรงกว่านั้น บางคนอาจบอกว่าความดื้ออาจลงลึกในระดับ ‘สันดาน’
แม้เราจะได้ยินคนรอบข้างพูดเช่นนี้ แต่ในใจเรายังรู้สึกว่าหากเราทำความเข้าใจกับน้องๆ เขาก็สามารถทำตามกติกาได้ และอาจไม่จำเป็นต้องลงโทษด้วยการทำร้ายร่างกายกัน และเมื่อถึงเวลาบรรยายทำกิจกรรมหมุนเวียนกันในกลุ่มเล็กๆ ผู้เขียนในฐานะวิทยากรเลือกที่จะไม่ใช้การดุ การตี หรือคำพูดทำนองสั่งการควบคุมให้น้องๆ สงบลง แต่ใช้วิธีพูดด้วยความใจเย็น ค่อยๆ อธิบายถึงเหตุผล ไม่ตี ไม่ดุ ไม่ว่า แต่พูดคุยให้เห็นถึงความสำคัญของการตั้งใจฟัง วิธีนี้คนอื่นๆ อาจคิดว่าใช้ควบคุมความเจี๊ยวจ๊าวเอ็ดอึงของเด็กไม่ได้ แต่วิธีนี้กลับทำให้พวกเขาตั้งใจฟังอย่างง่ายดาย และเริ่มสนุกกับสิ่งที่เราบรรยาย
พอได้เริ่มคุยเรื่องสุขภาพจิตและการตีกับเด็กๆ ส่วนใหญ่เล่าว่าทุกครั้งที่เขาดื้อหรือทำผิด ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ หรือครูก็ล้วนใช้วิธีการตี ดุด่าด้วยถ้อยคำรุนแรงและใช้เสียงดัง แม้วิธีการนี้อาจทำให้เด็กๆ เปลี่ยนแปลงการกระทำของตัวเองอย่างรวดเร็วเดี๋ยวนั้น
แต่ในทางกลับกันการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กไม่ได้เกิดจากจิตสำนึกที่พวกเขารู้ว่า สิ่งที่ตัวเองทำมันผิด แต่คือการใช้ความรุนแรง ‘บังคับ’ ให้พวกเขาเปลี่ยนพฤติกรรม โดยที่เด็กๆ เองก็ไม่ทราบถึงเหตุผลเลยว่า ทำไมถึงไม่ควรทำสิ่งนั้น
การตีสร้างบาดแผลลึกในใจ
นอกจากการพูดคุยกับเด็กๆ ในโรงเรียนที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่า การตีเป็นวิธีสุดท้ายที่พ่อแม่ควรนึกถึงเมื่อเด็กๆทำผิด แต่ผู้เขียนเองยังได้ให้คำปรึกษากับวัยรุ่นหลายคน สิ่งที่พวกเขาพูดเหมือนกันคือ การตีสร้างบาดแผลภายในใจที่ลึกยิ่งกว่าเดิม และยังทำให้เด็กๆ ต้องพบเจอกับปัญหาสุขภาพจิตอีกด้วย
มีนักเรียนมัธยมปลายคนหนึ่งมาขอคำปรึกษากับผู้เขียน เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดและความเครียดจากอาการของโรคซึมเศร้าที่เป็นอยู่ เขาเล่าต้นตอของปัญหาให้ฟัง เรื่องเกิดจากความต้องการของพ่อแม่ที่อยากให้เขาเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดังอันดับหนึ่งของประเทศ และเป็นอันดับหนึ่งในการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิก
เขาเล่าว่า เวลาวันหนึ่งของเขาแทบทั้งหมดใช้ไปกับการเรียน ตื่นเช้าไปโรงเรียน พอเลิกเรียนก็ไปเรียนพิเศษกับอาจารย์ต่อจนถึงช่วง 21.30 หลังจากนั้นพ่อของเขาก็มารับกลับบ้าน วนลูปแบบนี้ไปตลอด แม้แต่ช่วงเวลาเสาร์-อาทิตย์และช่วงปิดเทอม ก็เป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนพิเศษตลอดทั้งวันเช่นกัน เขายังเล่าอีกว่า ทุกครั้งที่มีกิจกรรมค่ายต่างๆ ตัวเขาเองก็ไม่มีโอกาสได้ไป เพราะพ่อบังคับให้เอาเวลานั้นไปใช้กับการเรียนพิเศษจนหมด
ไม่เพียงการกดดันเรื่องเรียนที่ต้องสอบให้ได้ที่หนึ่งทุกเทอม และได้ที่หนึ่งของทุกการแข่งขัน แต่ถ้าเขาไม่สามารถทำอะไรได้อย่างที่พ่อคาดหวัง สิ่งที่ตามมาคือ การลงโทษและการตี เขาเล่าว่า บางครั้งพ่อเลือกใช้ก้านมะยม ไม้แขวนเสื้อ ไม้กวาด หรือแม้แต่สายไฟ จากที่เขาได้เล่ามาแม้จะเกิดเหตุการณ์มากมาย แต่เขากลับจำได้ทุกรายละเอียดและความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในทุกครั้งที่ถูกตี
ตอนนี้การตีเหล่านั้นไม่ใช่เเรงผลักดันที่ทำให้เขา (หรือเด็กคนอื่นๆ) เก่งขึ้น หรือทำให้ไปสู่จุดที่สูงขึ้นอีกต่อไปแล้ว แต่มันกลับเป็นการกดพวกเราให้ต่ำลงเรื่อยๆ และทำให้เด็กๆ ต้องใช้ชีวิตอยู่กับความเจ็บปวดที่ไม่อาจลืม
ธรรมชาติของพวกเราที่เป็นเด็กนั้น มีความดื้อ ความซน บางครั้งเราอาจไม่ตั้งใจเรียน ไม่ได้เป็นแบบที่พ่อแม่หวัง แต่สิ่งที่พวกเราอยากขอ คือ ขอโอกาสในการปรับปรุงตัวและได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข โดยไร้ซึ่งเหตุการณ์และปมในใจ และมีโอกาสในการก้าวเดินต่อไปในเส้นทางที่เลือกเองอย่างมั่นคง
ไม่ลงโทษด้วยการตีก่อน แต่อธิบายด้วยเหตุผล
มาจนถึงตอนนี้ ผู้อ่านที่เป็นผู้ปกครองคงจะตั้งคำถามขึ้นมาว่า ‘สาเหตุที่ตี เพราะอยากให้เด็กๆ ปรับปรุงตัว และสร้างพฤติกรรมที่ดีขึ้น ดังนั้นถ้าไม่ตี ควรใช้วิธีอะไรในการทำให้เด็กๆ ปรับปรุงตัว’ ผู้เขียนได้สรุปวิธีการ ซึ่งได้มาจากการพูดคุยกับเด็กๆ พวกเราเองพร้อมที่จะเปิดใจฟัง และปฏิบัติตาม หากผู้ปกครองใช้วิธีการเหล่านี้
1. อธิบายด้วยเหตุผล
เมื่อเด็กๆ ทำความผิด สิ่งแรกที่อยากให้ผู้ปกครองนึกถึง คือ การเปิดใจพูดคุย ถามว่าทำไมถึงทำสิ่งเหล่านั้น อาจลองเล่าถึงประสบการณ์จริงในวัยเด็กว่า พ่อแม่เองก็เข้าใจสาเหตุที่ลูกกระทำผิด หลังจากนั้นก็เริ่มอธิบายให้เข้าใจถึงเหตุผล โดยใช้คำพูดจาก วิจารณญาณ ประสบการณ์ของผู้ปกครองด้วยความสุภาพ และไม่มีคำพูดแกมบังคับที่ทำให้เด็กจำยอม เพื่อให้ เด็กๆ ได้รับรู้ (ความผิด) ด้วยจิตสำนึกของตนเอง และเหลือพื้นที่ให้เด็กๆ คิดด้วยตัวเองอย่างมีเหตุผลด้วยว่า เขาอาจจะทำหรือไม่ทำตามคำขอของผู้ปกครองก็ได้และด้วยเหตุผลอะไร ให้เหลือพื้นที่ว่าคำของพ่อแม่ไม่ใช่คำขาด แต่เป็นความต้องการขอร้องที่อยากให้ลูกมองถึงความต้องการและความหวังดี
และสิ่งที่สำคัญคือ ‘อย่าคุยกับเด็กๆ ในขณะมีอารมณ์โกรธ หรือโมโหอย่างรุนแรง’ เพราะหลายครั้งอารมณ์เหล่านี้ทำให้ผู้ปกครองไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ นำไปสู่การใช้คำพูดรุนแรงและกระทบกระเทือนจิตใจเด็ก รวมไปถึงการลงโทษที่ทำให้เด็กๆ เจ็บปวด
หลังจากที่อธิบายแล้ว ผู้ปกครองลองเช็คผลของการพูดครั้งนั้น ด้วยการสำรวจการกระทำว่าลูกมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงหรือไม่ และชวนคุยเรื่องผลเสียการกระทำนี้ไปเรื่อยๆ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยืนยาว
2. การใช้ข้อแลกเปลี่ยนอย่างสมเหตุสมผล
วิธีการนี้ผู้ปกครองจะต้องเข้าใจเด็กๆ ก่อนว่า พวกเราต้องการอะไร และเมื่อไรที่เด็กๆ ทำความผิด ผู้ปกครองสามารถต่อรองกับลูกด้วยการแลกเปลี่ยน เปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองเพื่อปรับปรุงพฤติกรรมของลูกได้ เช่น ‘ถ้าหนูตั้งใจติวเทอมนี้ พ่อจะเริ่มสูบบุหรี่น้อยลง และพยายามเลิกสูบบุหรี่ให้ได้’ เด็กๆ จะรู้สึกว่าแม้การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเองเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่สำหรับข้อแลกเปลี่ยนของผู้ปกครองเองก็ท้าทายต่อตัวท่านไม่น้อย ทำให้เด็กๆ เริ่มรู้สึกอยากปรับพฤติกรรมไปพร้อมกับผู้ปกครอง และให้กำลังใจซึ่งกันและกันเพื่อทำให้ข้อแลกเปลี่ยนนี้สำเร็จ
3. ทำโทษ
แต่ถ้าการพูดและใช้ข้อแลกเปลี่ยนยังไม่ได้ผล ก็ขอให้ผู้ปกครองลองไปสู่ขั้นตอนต่อไป คือ ‘การทำโทษ’ แต่ไม่ใช่การลงโทษด้วยการตี แต่เป็นการลงโทษที่ทำให้เด็กเริ่มรู้สึกถึงผลกระทบของการกระทำ เช่น หากเด็กๆทำลายข้าวของเสียหาย ดังนั้นต้องเก็บและซ่อมสิ่งของนั้นเอง ในช่วงเวลาที่เด็กๆ ต้องซ่อมของชิ้นนั้น มักจะมีความรู้สึกว่า ต้องมานั่งซ่อมแบบนี้ ไม่ทำพังแต่แรกดีกว่า, คราวหน้าจะใช้ให้ถนอมมากขึ้น ของสิ่งนี้จะได้อยู่กับเรานานๆ และนำไปสู่การปรับพฤติกรรมที่ดีขึ้นได้
ช่วงเวลาการอยู่บ้านในช่วงนี้นั้น ทำให้คุณพ่อคุณแม่และลูกๆ ได้ใช้เวลารวมกันมากขึ้น จึงอยากให้ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานบนพื้นฐานของความรักและเหตุผลให้ได้มากที่สุด และดูแลสุขภาพจิตของเด็กๆ และครอบครัวให้มั่นคงและแข็งแรง