- การอ่านหนังสือพาไปในโลกจินตนาการและความคิด ส่วนการลงมือทำก่อให้เกิดการเรียนรู้และประสบการณ์จริง
- ลูกไม่ได้เรียนรู้จากสิ่งที่พ่อแม่พูด แต่เรียนรู้จากสิ่งที่พ่อแม่ทำ อยากให้ลูกทำ (เพื่อผู้อื่น) อย่างไร พ่อแม่ต้องร่วมลงมือทำด้วย ผ่านคำถามง่ายๆ “เราจะทำอะไรได้บ้างในสถานการณ์นี้” ฝึกการคิดเพื่อเป็นผู้ให้และผู้ลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลงจากตัวเอง
- การงานของพ่อแม่คือการเรียนรู้ของลูก เปิดโอกาสให้เขาได้มีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาศักยภาพซ่อนเร้น และความภาคภูมิใจในตัวเอง
คำว่าทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 การเป็นพลเมืองของโลก ฯลฯ เป็นถ้อยคำที่ได้รับการเอ่ยถึงมาพักใหญ่ แต่ดูเหมือนว่าสิ่งเหล่านี้ยังเป็นเพียงภาษาที่แยกส่วนออกไป ไม่ได้ถูกนำมาปรับใช้ในชีวิตอย่างแท้จริง หากครอบครัวของวีระชัย-ฮิโรมิ เจือสันติกุลชัย แห่งบริษัทเพอร์เฟกท์ ฮาร์โมนี อินเตอร์เนชันแนล จำกัด ผู้ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์พรีเมียมสัญชาติไทย-ญี่ปุ่นที่ได้รับการยอมรับในเวทีโลก มองว่าโลกทุกวันนี้เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว เด็กแต่ละคนควรเติบโตไปเป็นพลเมืองที่มีสำนึกรู้ว่าโลกคือบ้านที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมกันดูแลรักษาและรับผิดชอบ
ทั้งสองคนเชื่อมั่นว่าทุกสถานการณ์ในโลกใบนี้จะเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่และบทเรียนชั้นดีที่พ่อแม่สามารถใช้ประโยชน์เพื่อริเริ่ม สร้างสรรค์ ต่อยอดความคิด ชักชวนไปสู่การเรียนรู้และการลงมือทำสิ่งสำคัญร่วมกันกับลูกได้อย่างไม่มีวันจบสิ้น สอดคล้องกับแนวคิด Phenomenon based learning ดังที่ประเทศฟินแลนด์ใช้ขับเคลื่อนเด็กๆ ด้วยการนำสถานการณ์ปัจจุบันมาเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้
ครอบครัวนักอ่าน การปลูกฝังวิธีคิดของ ‘นักสร้าง’ ผ่านการทำงานอาสาไม่ว่าจะเรื่องการเข้าไปดับไฟป่าและทำงานเรื่องฝุ่นพิษจิ๋วที่เชียงใหม่ ถึงมุมมองในการจัดการเรียนรู้ที่บ้านช่วงโควิด19 คือสิ่งที่ผู้เขียนอยากชวนครอบครัวเจือสันติกุลชัย มาแชร์กันในบทความนี้
เปิดรับ เรียนรู้ สู่การยกระดับ
ประสบการณ์ของพ่อแม่ในวัยเยาว์มีส่วนก่อร่างความคิด ความเชื่อจนกลายเป็นตัวตนในปัจจุบัน วีระชัยบอกว่าตัวเองโชคดีที่มีบ้านอยู่ใกล้ร้านหนังสือขนาดใหญ่ โลกของหนังสือพาเขาไปไกลแสนไกลเกินกว่าเด็กวัยเดียวกันมากมายนัก บ่มเพาะให้เป็นนักคิด นักตั้งคำถาม และนักใคร่ครวญความจริง
“ข้อดีของการมีร้านหนังสือใกล้บ้านคือเราสามารถเข้าถึงหนังสือได้จำนวนมากทุกหมวดหมู่ ตอนแรกเริ่มอ่านหนังสือเด็กๆ ตอนหลังอ่านไปหมดทั้งร้านเลย ศาสนา ปรัชญาก็อ่าน อ่านจนจบเป็นเล่มๆ เลย (หัวเราะ) หนังสือเรื่อง ‘แด่โลกและชีวิต ปรัชญาความคิดบุคคลสำคัญของโลก’ แปลโดยอาจารย์วิทยากร เชียงกูล ทำให้รู้ว่าโลกนี้กว้างใหญ่นะ เราอ่านหนังสือ Future shock (2513) และ The third wave (2523) ของอัลวิน ทอฟเลอร์ ตั้งแต่ม.ต้นขึ้นม.ปลาย สมัยนั้นเมืองไทยยังไม่มีอินเทอร์เน็ตเลย แต่ในหนังสือก็มีคำว่า ‘หมู่บ้านอิเล็คทรอนิกส์’ มีเรื่องต่างๆ ที่ล้ำสมัยมาก
“การที่เราได้เรียนรู้เรื่องเหล่านี้เร็ว ทำให้ความคิดโตเกินวัย เป็นเหตุผลที่ทำให้เราคิดต่างจากคนอื่นในวัยเดียวกันอยู่พอสมควร พอได้ไปเรียนต่อที่อเมริกา มีโอกาสได้ฟังเรื่องราวที่คุ้นเคยจากมุมมองอื่นๆ ทำให้มองเห็นวิธีคิดที่หลากหลาย เห็นว่าความคิดเป็นไปได้หลายแบบ ไม่จำเป็นต้องยึดถือความเชื่อแบบที่มีอยู่ตลอดเวลา
“ตอนนั้นคิดเลยว่าถ้ามีลูกก็ไม่จำเป็นต้องเลี้ยงลูกให้เป็นคนไทยเท่านั้น แต่น่าจะเลี้ยงดูให้เขาเป็นสมาชิกของโลก เขาจะอยู่ที่ไหนก็ได้ในโลกนี้ ขอให้คิดว่าตัวเองเป็นพลเมืองของโลกก็พอ”
ส่วนฮิโรมิเป็นชาวญี่ปุ่นที่มีโอกาสไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา เป็นประสบการณ์ที่หล่อหลอมให้เห็นความสำคัญของความหลากหลายที่งดงาม “หลังกลับจากอเมริกาสังเกตว่า วิธีคิดของเราแตกต่างจากเพื่อนๆ ที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น แนวคิดของญี่ปุ่นยังค่อนข้างเป็นอนุรักษ์นิยม คนที่นั่นจะไม่กล้าคิดหรือพูดแบบที่เราเป็น บางทีคนอื่นก็ไม่เข้าใจเรา เคยคิดว่าถ้าเขาลองเปิดใจอาจได้เห็นอะไรที่ดีขึ้นก็ได้นะ แต่ขณะเดียวกันทำให้เราได้เห็นว่า เมื่อก่อนเราเคยก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน ความแตกต่างไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี ถ้าเรามีลูก เราอยากให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ คนเราแตกต่างได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจคนอื่นด้วย จะช่วยให้เรียนรู้อะไรได้กว้างขวางมากขึ้น”
Active Citizen คือหัวใจของพลเมือง (โลก)
ถ้ามองในมุมหนึ่งวีระชัยคือนักธุรกิจคนหนึ่ง แต่หากมองอีกมุม เขาคือพลเมืองชาวเชียงใหม่ (ที่มีสำนึกเป็นส่วนหนึ่งของโลก) ที่กระตือรือร้นยิ่ง หลายเรื่องที่เป็นความยากลำบากที่ผู้คนในสังคมเผชิญหน้าร่วมกันอยู่ เขามักเป็นส่วนหนึ่งของการตั้งคำถามแล้วลงมือทำบางอย่างให้เกิดขึ้นเสมอ เช่น ในสถานการณ์หมอกควันไฟป่าปี 2562 เขาร่วมกับกลุ่มเพื่อนๆ ในนาม Clean Air for All ร่วมกันลงมือประดิษฐ์เครื่องฟอกอากาศอย่างง่ายแจกจ่ายไปในพื้นที่ยากลำบากและกลุ่มเปราะบางต่างๆ แจกหน้ากากกันฝุ่นพิษและรณรงค์ให้คนในพื้นที่ห่างไกลสวมหน้ากากเพื่อป้องกันอันตรายจากฝุ่น PM 2.5 และในสถานการณ์ปี 2563 นี้ ไฟป่าเชียงใหม่หนักหนารุนแรงและยาวนานกว่าทุกปี เขาก็ได้ร่วมแรงร่วมใจกับเพื่อนพ้องมอบสิ่งของบริจาคให้เจ้าหน้าที่ดับไฟป่า จัดทำเสื้อดับไฟ เรื่อยไปจนถึงชวนลูกๆ ไปทำแนวกันไฟป่า ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบจากไฟไหม้ป่า เป็นต้น
“เราไม่ได้มีความคิดว่าลูกต้องเป็นผู้นำหรือต้องเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์อะไร แต่ลูกต้องเป็นคน แอคทีฟ แอคทีฟในความหมายที่ว่า ต้องลงมือทำและมีส่วนร่วมรับผิดชอบ คนเราต้องหมั่นถามตัวเองเสมอว่าจะทำและเป็นประโยชน์ต่อสถานการณ์ตรงหน้าได้อย่างไร สังคมนี้กำลังร้องเรียกและต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง นี่คือความหมายของ active player เราต้องอยู่ในสังคมโดยไม่คิดว่าตัวเองเป็นผู้รับเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นผู้ให้ด้วย
“สิ่งนี้สอดคล้องกับธุรกิจและหลักการดำเนินชีวิตของเราทุกอย่าง ปรัชญาที่ครอบครัวเรายึดถือคือ ‘การเป็นผู้สร้าง’ ให้คุณค่ามันออกจากตัวเรา แล้วความมั่งคั่งร่ำรวยจะเกิดจากการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมเอง ถ้าในสังคมใดๆ มีสัดส่วนของคนที่เป็นผู้สร้างเยอะ สังคมนั้นจะกำไร เราเชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์ ทรัพย์สินทางปัญญาสามารถเปลี่ยนเป็นมูลค่าได้ และถ้าคนในสังคมคิดทางบวก คิดแบบให้กำไรออกจากตัวเอง สังคมนั้นจะน่าอยู่
“เราอยากให้เด็กๆ มีพื้นฐานความคิดเรื่องการสร้างคุณค่า ซึ่งพ่อแม่ต้องสร้างตั้งแต่เด็ก อะไรที่ทำบ่อยก็จะกลายเป็นความเคยชิน เด็กต้องฝึกเป็นผู้ให้ เป็นผู้สร้าง ถ้าเขาเคยชินกับการให้ ให้แล้วรู้สึกอิ่มใจ อีกหน่อยเราก็ไม่ต้องกังวลแล้วว่าเขาจะทำอาชีพอะไรในอนาคต เพราะเมื่อเขาทำตามความคุ้นเคยแบบนี้ ไปที่ไหนก็จะมีคนรักโดยอัตโนมัติ เป็นการการันตีได้ว่าโตขึ้นลูกจะมีความสุขแน่นอน เราเพียงใช้ปรากฏการณ์ในสังคมมาเป็นพื้นที่โอกาสให้เด็กๆ ได้ฝึกฝนการให้ ด้วยคำถามเดิมๆ นี่ล่ะว่า ‘เราจะทำตัวให้เป็นประโยชน์ในสถานการณ์นี้ได้อย่างไร’ ที่บ้านนี้มันกลายเป็นบรรทัดฐาน กลายเป็นธรรมชาติไปแล้ว เป็นวิถีชีวิตที่ต้องทำ”
ด้านคุณแม่ฮิโรมิช่วยเสริมรายละเอียดว่า “เด็กๆ สนุกกับการทำกิจกรรมเพื่อคนอื่นๆ นะคะ แม้ว่าบางครั้งจะบ่นบ้าง เพราะเด็กก็คือเด็ก (หัวเราะ) แต่เขาก็เต็มใจทำ อะไรที่เป็นสิ่งที่ครอบครัวทำ เขาเต็มใจทำด้วยกัน เราทำเรื่องนี้กันมานาน เหมือนการปลูกต้นไม้ ต้องใช้เวลาถึงจะเห็นว่าได้ผลอย่างไร การที่ลูกเป็นแบบนี้ ทำให้เรามีความสุขมาก ดีใจที่เห็นลูกเป็นอย่างนี้ เป็นคนที่นึกถึงคนอื่น”
การทำเพื่อคนอื่นคือการทำเพื่อตัวเอง
เราพูดคุยกับยามาโต-เด็กชายผู้เปี่ยมพลังและคะสึมิ-น้องสาวผู้อ่อนโยน ถึงกิจกรรมอาสาสมัครต่างๆ ที่ครอบครัวชวนกันไปลงมือทำร่วมกัน โดยเฉพาะปีนี้เหตุการณ์ไฟไหม้ป่าในพื้นที่ดอยสุเทพ (ปุย) จังหวัดเชียงใหม่ลุกลามกินบริเวณกว้างขวางจนทำให้เกิดผลกระทบต่อสัตว์ป่าจำนวนมาก อาทิ หมาไม้ อีเห็น ข้างลาย แมวดาว ลิงเสน ชะนี เหยี่ยวรุ้ง ฯลฯ คราวแรกเด็กๆ เพียงเข้าไปเยี่ยมอาการบาดเจ็บของสัตว์ป่าเท่านั้น แต่เมื่อได้พูดคุยกับหัวหน้าคลินิกสัตว์ป่าแล้วพบว่ามีปัญหาขาดแคลนเรื่องน้ำใช้ ยามาโตจึงอยากมีส่วนร่วมริเริ่มแก้ปัญหาในครั้งนี้
“ตอนที่เกิดเรื่องไฟป่า ผมสงสารสัตว์ป่า อีเห็นชื่อเรนเจอร์ไม่แข็งแรง เหยี่ยวรุ้งก็ขยับไม่ได้ ผมได้คุยกับหัวหน้า เขาบอกว่าน้ำประปามาไม่ถึง เลยอยากระดมทุนช่วยซื้อแทงค์น้ำให้คลินิกมีน้ำใช้เพียงพอ โดยขอรับบริจาคเงินจากคนรู้จัก ใช้เวลาสองสามสัปดาห์ ได้เงินประมาณ 60,000 บาท พอได้มาแล้วก็เอาเงินซื้อแทงค์น้ำหกอันและทำหลังคาเพื่อป้องกันตะไคร่ในแทงค์น้ำ ตอนนี้ยังมีเงินที่เหลืออีกนิดหน่อย เราเอาไปช่วยมูลนิธิช่วยเหลือสัตว์ต่างๆ ได้อีก”
เราแอบเย้าเด็กๆ ด้วยคำถามที่ว่ารู้สึกอย่างไรที่ต้องออกไปทำงานอาสาต่างๆ ทั้งที่อากาศร้อนและเราก็ต้องเหน็ดเหนื่อย
“ตอนที่เราไปทำแนวกันไฟ เรากวาดใบไม้ออกจากทาง เวลามีไฟป่า จะได้ไม่ลาม ป้องกันให้เกิดไฟป่าน้อยลงได้ เวลามีหมอกควัน ผมเบื่อ เพราะไม่อยากใส่หน้ากาก เราต้องหาวิธีช่วยกันที่จะทำให้เกิดไฟป่าน้อยลง เวลาพ่อชวนไปทำกิจกรรมผมก็ดีใจ จะได้ไปช่วยสังคม ทำให้ที่ที่เราอยู่ให้มันสวยขึ้น ถ้าเราทำแนวกันไฟก็จะไม่มีควันด้วย”
ยามาโตเล่าความทรงจำ โดยมีคะสึมิรีบเสริมทันที “ใช่ ไม่อยากใส่หน้ากากเลย เวลาไปทำกิจกรรม เราสนุกด้วยแล้วก็เหนื่อยด้วย เวลาเราไปช่วยสังคม พ่อบอกว่าเป็นการเรียนรู้ จะได้ไม่มีฝุ่นควัน ถ้าไม่มีฝุ่นควัน เราจะเล่นข้างนอกบ้านได้ สัตว์ป่าก็ปลอดภัย เราเป็นเด็กแต่เราก็ช่วยสังคมได้ อย่างเช่น เขียนโปสเตอร์ให้คนอย่าเผาไฟ ถ้าหนูบอกคนเผาไฟได้ หนูอยากบอกให้เขาหยุด หนูจะได้เล่นข้างนอกบ้านได้” ช่างเป็นคำตอบที่น่ารัก ใสซื่อ และสะท้อนหัวใจที่งดงามยิ่งนัก
เพราะทุกสิ่งล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน
สถานการณ์โรคระบาดโควิด19 ทำให้ครอบครัวจำนวนไม่น้อยต้องตั้งรับปรับสมดุลกันครั้งใหญ่ ชีวิตที่เคยถูกแบ่งเป็นส่วนเสี้ยวทั้งการงาน ชีวิต ครอบครัว ดูเหมือนได้รับการทบทวนใหม่และเกิดเป็นโอกาสเชื่อมร้อยความสุขนั้นเข้าด้วยกัน ฮิโรมิสะท้อนความเห็นว่าในวิกฤติครั้งนี้ก่อให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ได้มากมายอย่างที่เธอไม่เคยคิดมาก่อนเลย
“ตอนปิดเมืองแรกๆ ก็เครียดนะคะ เพราะอยู่กับลูกตลอดเวลา แต่สักพักก็รู้สึกว่าดีนะที่ลูกได้อยู่กับพ่อแม่ ได้ช่วยงานบ้าน ได้ช่วยงานของธุรกิจ กลายเป็นแบบฝึกหัดที่ทุกคนได้เรียนรู้ ไม่ต้องรอให้เป็นผู้ใหญ่แต่ก็ทำได้เลย เพียงแค่หนึ่งเดือนเห็นได้เลยว่าเด็กๆ โตขึ้นเยอะมาก มีความรับผิดชอบมากขึ้น ทำงานได้หลายอย่างมากขึ้น ลูกมีโอกาสเรียนรู้จากสังคมรอบตัวมากขึ้น ไม่ได้อยู่แค่ในโรงเรียนเท่านั้น ยิ่งธุรกิจของครอบครัวเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน เขาก็มีส่วนร่วมได้ การหยุดเรียนทำให้เขาได้มีเวลา ได้ลองทำสิ่งที่ตัวเองสนใจ ได้พัฒนาในสิ่งที่เขาชอบได้ด้วย ทำให้เขาพัฒนาได้เร็วขึ้น”
วีระชัยเองก็รู้สึกโชคดีที่มองเห็นโอกาสและการเชื่อมโยงชีวิตเป็นหนึ่งเดียวได้จากวิกฤติครั้งนี้ ด้วยการออกแบบธุรกิจกล่องดนตรีเชื่อมโยงไปสู่การเรียนรู้สำหรับลูก (และอาจรวมถึงเป็นพื้นที่การเรียนรู้สำหรับเด็กคนอื่นในอนาคต)
“เราคิดเรื่องการศึกษาที่ออกแบบเองมาสักปีสองปีแล้ว แต่วิกฤติรอบนี้ทำให้คนเห็นโอกาสว่าเราทำได้เพราะเทคโนโลยีมันอนุญาต ถึงจุดหนึ่งปริญญาจะไม่สำคัญ มันไม่มีหลักสูตรความรู้ที่เหมาะกับทุกคน แต่การสร้างเนื้อหาที่สอดคล้องเหมาะสมกับคนแต่ละคนย่อมได้ประโยชน์ที่ดีกว่า การเคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยและมีส่วนร่วมพัฒนาหลักสูตรในระดับอุดมศึกษามาก่อนช่วยได้มาก หลายกิจกรรมที่ทำกับลูกก็มีจุดประสงค์เบื้องหลัง(หัวเราะ) หลายเรื่องไม่ใช่เรื่องที่ต้องสอนทันที แต่อะไรก็ตามที่ตั้งใจจะสอนอยู่แล้ว แล้วตรงกับความสนใจของเขา เราจะฉวยคว้าโอกาสนั้นทันที เช่น ตอนนี้เด็กๆ สนใจเรื่อง AI เราก็เอามาเชื่อมโยงเข้ากับธุรกิจมิวสิคบ็อกซ์โดยใช้เศษไม้ที่เหลือจากการผลิตมาออกแบบเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่โดยใช้ IOT (Internet Of Things) ซึ่งลูกก็กำลังเริ่มเรียนรู้ในเรื่องนี้ ถ้าอยู่ๆ เราไปจับลูกมานั่งสอน รับรองว่าไม่สนุก แต่พอเขาอยากรู้ปุ๊ป เราแทบไม่ต้องสอนอะไรเลย ความอยากรู้จะพาไปเอง
“ในสถานการณ์วิกฤติโควิดครั้งนี้ เราได้โอกาสออกแบบการเรียนรู้ให้ลูกรวมถึงธุรกิจให้เป็นหนึ่งเดียวกัน รู้สึกเลยว่า เฮ้ย… มันดีมากน่ะ พูดแล้วคนอาจจะหมั่นไส้ แต่เราชอบแบบนี้นะ เราออกแบบทุกอย่างใหม่หมด แล้วทำให้ชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งธุรกิจ การเลี้ยงลูก การใช้ชีวิตต่างๆ เพราะในเงื่อนไขของเรา เราค้นพบว่าเราทำทุกเรื่องให้อยู่ด้วยกันได้ ที่ชอบที่สุดคือไม่ต้องส่งลูกไปโรงเรียน พอมีเวลาเหลือ ตอนเช้าเราก็ชวนกันไปออกกำลัง ไปวิ่งที่อ่างแก้ว เหมือนเราได้เวลาคุณภาพกลับคืนมามหาศาล เป็นเวลาของการทบทวนอะไรบางอย่าง เพื่อให้เราออกแบบ ‘ชีวิตที่มีความสุขร่วมกันเป็นตัวนำ’ เพราะท้ายที่สุดแล้ว เป้าหมายสูงสุดของการทำธุรกิจและปรัชญาของครอบครัวก็คือหนึ่งเดียว คือการได้เป็นส่วนเล็กๆ ที่ทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้น เหมือนกับบริษัทของเราที่ชื่อว่า ‘เพอร์เฟกท์ ฮาร์โมนี’”
หากชีวิตคือวงดนตรีออร์เคสตรา สมาชิกครอบครัวทั้งห้าคนอันประกอบด้วย วีระชัย ฮิโรมิ ยามาโต คะสึมิ และคะสึคิ เจือสันติกุลชัย คงกำลังค้นพบท่วงทำนองใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร ไม่ต้องตามใคร ทว่างดงาม ผ่อนคลาย เป็นอิสระในจังหวะแบบของตัวเอง
ช่างเป็นท่วงทำนองของ ‘ความกลมกลืนที่สมบูรณ์แบบ’ ดังว่านั้นจริงๆ