- ทำความรู้จัก ‘เด็กน้อยอันเปราะบาง’ ในตัวเอง เสี้ยวส่วนอาจจะเล็กน้อยแต่ว่าสำคัญ ผู้สร้างบาดแผลและทำให้เราเป็นเราในปัจจุบัน
- เราเกิดมามีเสี้ยวส่วน (หรือบุคลิกภาพ) มากมายในตัวเรา และภายใต้สิ่งแวดล้อมที่หล่อหลอมจนโต เราได้พัฒนาบุคลิกภาพบางอย่างหรือบางเสี้ยวส่วนในตัวให้แข็งแรงขึ้น จนเราคิดว่ามันคือตัวเราจริงๆ ไปเรียบร้อยแล้ว
- แล้วเรากลับไปรู้จักเสี้ยวส่วนนั้นอีกทำไม? เพราะเด็กน้อยอันเปราะบางของเราอาจเกาะเกี่ยวอยู่กับ trauma หรือบาดแผลทางใจ จนทำให้ครั้งหนึ่งเราถามตัวเองว่า “ตอนนี้ฉันเป็นซึมเศร้าอยู่หรือปล่า”
เรื่อง: กร ภักดีมโนจิตต์
แนวคิดของจิตวิทยาเสี้ยวส่วนมีสมมุติฐานว่า เราเกิดมาโดยมีหลากหลายบุคลิกภาพ หรือ มีเสี้ยวส่วนมากมายในตัวเรา และภายใต้สิ่งแวดล้อมที่หล่อหลอมตัวตนจนเราเป็นผู้เป็นคนขึ้นมาจนทุกวันนี้ เราได้พัฒนาบุคลิกภาพบางอย่างหรือบางเสี้ยวส่วนในตัวให้แข็งแรงขึ้น จนเราคิดว่ามันคือตัวเราจริงๆ ไปเรียบร้อยแล้ว
ในการเป็นมนุษย์ อาจมีประสบการณ์บางอย่าง เสี้ยวส่วนบางตัว ที่เราเลือกเก็บใส่กล่อง ล็อคกุญแจแน่นหนาและปิดตายในห้องแห่งความลับ ในทางจิตวิทยาเรียกเสี้ยวส่วนนี้ว่า ‘inner child’ หรือ เด็กน้อยอันเปราะบาง เสี้ยวส่วนตัวนี้เกาะเกี่ยวกับ trauma ซึ่งจะว่าไปแล้วมันก็เป็นกลยุทธ์การเอาตัวรอดและการปรับตัวอันชาญฉลาด แต่ก็มีราคาอันสูงลิ่วที่จะต้องแลกมาด้วยเช่นกัน
บทความนี้เรียบเรียงจาก Healing the Fragmented Selves of Trauma Survivors: Overcoming Internal Self-Alienation โดย จานินา ฟิชเชอร์ (Janina Fisher) นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้าน trauma
พวกเราบางคน อาจมีสักครั้งในชีวิตที่มีคำถามว่า“ตอนนี้ฉันเป็นซึมเศร้าอยู่หรือปล่า” หรือ “เอ! คนนั้นเขาจะเป็นไบโพลาร์ไหมนะ” สมัยนี้สังคมไทยยอมรับการเข้ารับการทำจิตบำบัด (psychotherapy) มากขึ้น ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นผู้ป่วยทางจิตเวชเท่านั้นที่จะเข้ารับการรักษา คนทั่วไปอย่างเราๆ ท่านๆ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ขอรับคำปรึกษากับจิตแพทย์ได้
จริงๆ ในบางประเทศที่ก้าวหน้าเรื่องจิตบำบัดมากๆ เป็นเรื่องธรรมดามากที่คนในประเทศของเขาจะมีนักบำบัด (therapist) ประจำตัว ตั้งแต่ก่อนจะเป็นวัยรุ่นด้วยซ้ำไป นอกเหนือจากการไปพบจิตแพทย์แล้ว ก็ยังมีทางเลือกอื่นๆ เช่น การปฏิบัติธรรม, โค้ชชิ่ง, เวิร์คช็อปต่างๆ มากมายให้เลือก หรือเอาเข้าจริงแล้ว การไปดูหมอก็น่าจะจัดเป็นการเข้ารับการบำบัดอย่างหนึ่งได้เหมือนกัน
ทีนี้ถ้าเราตัดสินใจอยากมีประสบการณ์ทำจิตบำบัดขึ้นมาล่ะ? เราต้องรู้อะไรบ้าง? การเข้าทำจิตบำบัดก็มีความยากลำบากตามแต่ยุคสมัยอยู่ เช่นเดียวกับเวลาที่ต้องค้นหาข้อมูลเพื่อทำรายงานหรือหาข้อมูลบางอย่างในเรื่องที่อยากรู้จริงๆ จังๆ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การหาแหล่งข้อมูล แต่อยู่ที่ความมหาศาลของข้อมูลและการเลือกสิ่งที่เราจะนำไปใช้มากกว่า
จิตบำบัดก็เช่นกัน มีกระบวนการที่หลากหลายและมากมาย ลองเสิร์ชในกูเกิลก็ได้ ถ้าให้นับก็นับได้เป็นร้อยวิธี บางกระบวนการอาจเคยผ่านหูผ่านตาเรามาบ้าง ในจำนวนกระบวนเหล่านั้น หลายคนอาจสงสัยว่าวิธีการพวกนี้จัดเป็นการบำบัดอย่างจริงจังได้ด้วยหรือ? เช่น การเขียน (journey therapy) การแต่งบทกวี (poetry therapy) หรือการดูหนัง (movie therapy) ซึ่งจิตบำบัดทั้งหลายนี้ก็คล้ายกับเรื่องอื่นๆ อย่างความคิดเห็นทางการเมืองหรือทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่มีข้อวิจารณ์หรือจุดอ่อนด้อยในแต่ละแนวคิดอยู่ การที่เราพยายามจะหาอะไรที่เป็นสัจจะสมบูรณ์เพียงหนึ่งเดียว ก็อาจเป็นการทำอะไรเกินตัวไปหรืออาจเป็นไปไม่ได้เลยก็เป็นได้
สำหรับใครที่อยากลองกระบวนการทางจิตบำบัดดู ผมอยากพูดถึงกระบวนการหนึ่งคือ จิตวิทยาเสี้ยวส่วน (Parts Psychology) คำว่า ‘จิตวิทยาเสี้ยวส่วน’ นี้ ผมพยายามหาคำที่สื่อความหมายของการจัดกลุ่มอย่างกว้างๆ ในจิตวิทยาสายนี้ ซึ่งได้แก่กระบวนการบำบัดอย่าง Voice Dialogue (สนทนากับเสียงภายใน), Internal Family Systems (IFS – จิตบำบัดระบบครอบครัวภายใน) และ Process Oriented Psychology (Process Work – จิตวิทยาเชิงกระบวนการ) เป็นต้น
แนวคิดของจิตวิทยาเสี้ยวส่วนมีสมมุติฐานว่า เราเกิดมาโดยมีหลากหลายบุคลิกภาพ หรือ มีเสี้ยวส่วนมากมายในตัวเรา และภายใต้สิ่งแวดล้อมที่หล่อหลอมตัวตนจนเราเป็นผู้เป็นคนขึ้นมาจนทุกวันนี้ เราได้พัฒนาบุคลิกภาพบางอย่างหรือบางเสี้ยวส่วนในตัวให้แข็งแรงขึ้น จนเราคิดว่ามันคือตัวเราจริงๆ ไปเรียบร้อยแล้ว
เปรียบเทียบเหมือนกับ เราเกิดมาพร้อมไพ่หนึ่งสำรับ ไพ่แต่ละใบเปรียบเป็นบุคลิกภาพหรือเสี้ยวส่วน (part) ตัวหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไป ประสบการณ์ต่างๆ ที่เข้ามาตลอดชีวิตของเรา และ เพื่อให้เราอยู่รอดต่อไปในโลกใบนี้ต่อไปได้ เราจะเลือกเก็บไพ่บางใบไว้และทิ้งไพ่อีกหลายๆ ใบออกไป
ทั้งนี้ อาจมีไพ่บางใบที่รบกวนชีวิตเรา การจะเก็บไพ่ใบนั้นไว้มันก็ท่วมท้นเสียเหลือเกิน เพื่อที่จะอยู่รอดต่อไปได้เราจะเอาไพ่ใบนั้้นใส่กล่องไปล่ามโซ่ ล็อคกุญแจอย่างแน่นหนา แล้วเอากล่องนี้ไปเก็บในห้องแห่งความลับชั้นใต้ดิน ปิดประตู และเอาปูนโบกทับไปอีกชั้นหนึ่งก็เป็นได้
ไพ่ใบนี้เอง ในทางจิตวิทยาเรียกอีกว่า ‘Inner Child’ หรือ เด็กน้อยอันเปราะบางของเราเอง ซึ่งเสี้ยวส่วนตัวนี้เองที่เกาะเกี่ยวอยู่กับ trauma หรือบาดแผลทางใจ ซึ่งจะว่าไปแล้วมันก็เป็นกลยุทธ์การเอาตัวรอดและการปรับตัวอันชาญฉลาด แต่ก็มีราคาอันสูงลิ่วที่จะต้องแลกมาด้วยเช่นกัน
ริชาร์ด ชวอร์ตซ์ (Richard Schwartz) ผู้พัฒนา Internal Family Systems (IFS) หรือ จิตบำบัดระบบครอบครัวภายใน ได้กล่าวถึงปรากฏการณ์ที่ผู้รับการบำบัดของเขามีการคุยกับเสี้ยวส่วนต่างๆ ไว้ดังนี้
“จนกระทั่งต้นทศวรรษ 1980 ผมเริ่มสังเกตเห็นผู้รับการบำบัดที่มีความผิดปกติในการกิน (eating disorders) หลายๆ คนเล่าว่า เขามีการสนทนาภายในระหว่างเสี้ยวส่วน (parts) ต่างๆ ในตัวพวกเขา ผู้รับการบำบัดคนหนึ่งชื่อไดแอน เธอถามผมว่า ‘ทำไมเสียงภายในของเธอที่มองโลกในแง่ร้าย (pessimist) ถึงพร่ำบอกเธอว่า เธอเป็นพวกสิ้นหวังอยู่ตลอดเวลา’ เสียงนั้นยังพร่ำบอกเธอว่า เพราะเธอเป็นพวกหมดหวัง ดังนั้นเธอจะไม่ยอมเสี่ยงใดๆ เพื่อจะได้ไม่ปวดร้าว
“จริงๆ แล้วมัน (เสี้ยวส่วนต่างๆ) ต้องการที่จะปกป้องเธอ แต่ถ้าตัวตนที่มองโลกในแง่ร้ายนี้มีเจตนาที่ดีต่อเธอล่ะ ไดแอนก็น่าจะเจรจาต่อรองให้มัน (เสี้ยวส่วนที่มองโลกในแง่ร้าย) ทำหน้าที่อื่นแทนได้สิ แต่ไดแอนกลับไม่สนใจจะเจรจาต่อรองกับมัน เธอกลับโกรธเคืองเสียงนี้และพยายามบอกให้มันปล่อยเธอไว้คนเดียว เมื่อผมถามเธอว่าทำไมถึงต้องโหดกับตัวเองและมองโลกในแง่ร้ายซะขนาดนั้น เธอจึงอธิบายว่า เสียงนี้แหละที่ก่อปัญหาใหญ่ๆ ตลอดชีวิตของเธอ
“เรื่องนี้ทำให้ผมได้ค้นพบว่า ตอนนี้ผมไม่ได้คุยอยู่กับไดแอนแล้ว แต่คุยกับเสี้ยวส่วน (parts) อื่นของเธอที่กำลังต่อสู้กับการมองโลกในแง่ร้ายอยู่ ในช่วงแรกของการสนทนา ไดแอนบอกผมว่า เหมือนว่ากำลังมีสงครามอยู่ภายในตัวเธอ สงครามระหว่างเสียงหนึ่งที่ต้องการผลักดันให้เธอประสบความสำเร็จ กับอีกเสียงหนึ่ง เป็นตัวมองโลกในแง่ร้าย ผู้ซึ่งบอกเธอว่ามันไม่มีหวังหรอก เป็นไปได้ไหมว่า เสี้ยวส่วนที่ชอบผลักดัน (pushing part – ในที่นี้คือเสียงที่ผลักให้เธอประสบความสำเร็จ) กระโดดเข้ามาตอนที่เธอกำลังพูดคุยกับตัวมองโลกในแง่ร้ายอยู่?
“ผมบอกให้ไดแอนสนใจไปที่เสี้ยวส่วนที่ชอบผลักดันของเธอ ที่มันโกรธเคืองต่อตัวมองโลกในแง่ร้ายอยู่ และขอให้มันช่วยหยุดรบกวนตอนที่เธอกำลังเจรจาต่อรองกับตัวตนที่มองโลกในแง่ร้ายนี้อยู่ และผมก็ต้องแปลกใจเพราะเสี้ยวส่วนที่ชอบผลักดันนั้นมันตกลงที่จะ ‘ถอนตัวออกจากสถานการณ์เพื่อพิจารณาเรื่องนี้อย่างเป็นกลาง’ (step back) เมื่อไดแอนสามารถเคลื่อนตัวเองออกมาจากความโกรธได้แล้ว วินาทีนั้น เธอรู้สึกเข้มแข็งขึ้น
“เมื่อผมถามไดแอนว่าตอนนี้เธอรู้สึกอย่างไรบ้างต่อตัว ‘มองโลกในแง่ร้าย’ คำตอบที่ได้เหมือนมาจากคนละคนกันเลย เธอพูดด้วยน้ำเสียงที่สงบและห่วงใยว่า ‘รู้สึกขอบคุณที่มันพยายามปกป้องเธอ และรู้สึกเสียใจที่มันต้องทำหน้าที่นี้อย่างหนัก’ หน้าตาและท่าทางของเธอก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน เห็นได้จากน้ำเสียงของเธอที่มีความอ่อนโยน เห็นอกเห็นใจ จุดนี้เอง การเจรจาต่อรองกับตัวตนภายในที่มองโลกในแง่ร้าย ก็ง่ายขึ้นแล้ว
“ผมใช้กระบวนการ step back นี้กับผู้รับการบำบัดคนอื่นๆ บางครั้งเราต้องขอให้เสียงภายใน (voices) สองถึงสามเสียงไม่ให้มารบกวนเพื่อช่วยให้ผู้รับการบำบัดเคลื่อนย้ายมาสู่สภาวะเดียวกับไดแอน เมื่อผู้รับการบำบัดอยู่ในสภาวะที่สงบ เห็นอกเห็นใจ ผมจะถามว่าเสียงภายใน (voices) หรือเสี้ยวส่วน (parts) ใดอยู่ที่นี่ตรงนี้ คำตอบที่มักได้รับ เช่น ‘เสี้ยวส่วนนี้ไม่เหมือนกับเสียงภายในอื่นๆ’ ‘นั่นคือสิ่งที่ตัวฉันเป็นจริงๆ’ ‘นั่นคือ self ของฉันเอง’ ”
trauma: มรดกที่มีชีวิตจากอดีต
จากลักษณะของ trauma ที่เกาะเกี่ยวอยู่กับเสี้ยวส่วน (parts) ที่ถูกเก็บเอาไว้ในห้องแห่งความลับส่วนตัวของเราเองนี้ ทำให้ผู้รับการบำบัดบอกเล่าเรื่องราวได้เพียงน้อยนิด และมีความยากลำบากในการเชื่อมโยงตัวเองกับเหตุการณ์ในอดีต ไม่ว่าผู้รับการบำบัดจะมีปัญหาด้านความวิตกกังวล ซึมเศร้า ความนับถือตัวเองต่ำ การจัดการความโกรธ การกลัวถูกทอดทิ้ง หรือการอยากฆ่าตัวตายก็ตาม ผู้มีปัญหา trauma เหล่านี้ต่างระบุที่มาที่ไปไม่ได้ การตอบสนอง trauma ของพวกเขาก็ไม่อาจระบุความหมายในความทรงจำได้เลย
ประวัติศาสตร์การรักษา trauma เริ่มตั้งแต่ยุคของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (จิตแพทย์ผู้ให้กำเนิดจิตวิเคราะห์ แนวคิด และมุมมองใหม่ในการศึกษาธรรมชาติมนุษย์) จะใช้วิธีการพูดคุย (talk therapy) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะระบุว่าอารมณ์รุนแรงนี้เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่เป็นสาเหตุของ trauma ได้อย่างไร แต่แทนที่วิธีการเหล่านี้จะแก้ปัญหา trauma ในอดีตได้ ผู้รับการบำบัดกลับยิ่งจมไปกับความทรงจำแฝงเร้น (implicit memory) หรือซ้ำเติมอาการเข้าไปเสียมากกว่า
การกลับไปนึกถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เกิด trauma นี้ทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม อาจเป็นการไปซ้ำเติมเสี้ยวส่วน (trauma) ที่ซ่อนเร้นในห้องแห่งความลับ ที่กำลังส่งเสียงร้องขอความช่วยเหลือโดยไม่ได้รับการเหลียวแลขึ้นอีกครั้งก็เป็นได้ ซึ่งในเรื่องนี้ จานินา ฟิชเชอร์ (Janina Fisher) นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้าน trauma ให้ความเห็นว่า
“การเยียวยา trauma ต้องระบุถึงผลกระทบ (effect) จาก trauma ไม่ใช่เหตุการณ์ (event) ความสามารถในการอดทนต่อประสบการณ์เลวร้ายในอดีต ไม่ใช่เป้าหมายสำคัญเท่ากับความรู้สึกปลอดภัยในปัจจุบัน การเยียวยาความเจ็บปวดในอดีตจะไม่สำเร็จอย่างแท้จริงถ้าไม่ต้อนรับเด็กน้อยที่จากไป (the lost child) หรือเสี้ยวส่วนที่ถูกโยนทิ้งไป (disowned parts) ต้อนรับเขากลับบ้านที่จากไปอย่างยาวนาน รวมทั้งการสร้างพื้นที่ปลอดภัย และทำให้พวกเขารู้สึกเป็นที่ต้องการและมีคุณค่า”
ทฤษฎีเสี้ยวส่วน (Theories of Parts) อธิบายว่า เมื่อเกิด trauma ขึ้นแล้ว มันเกินกำลังของสมองที่จะทนทาน (tolerate) หรือประมวลผล (process) ได้ทั้งหมด (whole) จึงจำเป็นต้องแบ่งแยกความทรงจำของ trauma อันท่วมท้นนั้นออกเป็นเสี้ยวส่วน (parts) ที่แยกขาดออกจากกัน ซึ่งแต่ละเสี้ยวส่วน (part) นั้นจะบันทึกความทรงจำไว้เพียงบางส่วนเท่านั้น ในการเยียวยาเสี้ยวส่วน (parts) เหล่านี้จะถูกกระตุ้นให้เผยความทรงจำออกมา เพื่อเจ้าตัวจะได้แบ่งปันความเจ็บปวด และยอมรับอดีตของเสี้ยวส่วน (parts) นั้นๆ ของตัวเอง จากนั้นเสี้ยวส่วน (parts) ต่างๆ ก็จะเริ่มหลอมรวมเข้าสู่ความเป็นองค์รวมที่เป็นหนึ่งเดียวกันทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสมมุติฐานของทฤษฎีจิตวิทยาเสี้ยวส่วนนี้จะดูสมเหตุสมผลดี แต่ก็ยังคงขาดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้ได้การยอมรับในแวดวงจิตวิทยากระแสหลักอยู่ดี การปฏิวัติในวงการประสาทวิทยา (neuroscience) ก็พอจะให้คำอธิบายที่เป็นวิทยาศาสตร์กับแนวคิดเรื่องเสี้ยวส่วนนี้ได้ดังนี้…
ตั้งแต่แรกเกิด สมองสองซีกจะพัฒนาไม่พร้อมกัน สมองซีกขวาจะพัฒนาเด่นกว่าสมองซีกซ้ายในช่วงวัยเด็ก ส่วนสมองซีกซ้ายจะเริ่มพัฒนาตอนที่เด็กเริ่มพูดได้ แต่กว่าซีกซ้ายจะพัฒนาอย่างโดดเด่นขึ้นมา ก็ต้องรอจนอายุ 18 ปี สำหรับสมองส่วน Corpus callosum ซึ่งเป็นสมองส่วนที่ทำให้สมองซีกซ้ายและขวาสื่อสารกันนั้น จะพัฒนาได้เต็มที่ก็ต้องรอจนอายุ 12 ปี ดังนั้นในช่วงวัยเด็ก ประสบการณ์ของสมองซีกขวาก็จะแยกออกจากประสบการณ์ของสมองซีกซ้ายอย่างสิ้นเชิง
การศึกษาของ มาร์ติน ไทเชอร์ (Martin Teicher) ซึ่งสนับสนุนสมมุติฐานที่ว่า trauma ที่เกิดขึ้นจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาสมองสองซีกที่แยกขาดออกจากกันและการสื่อสารระหว่างกันของสมองทั้งสองซีก ลักษณะของสมองซีกขวาจะมีการจดจำเป็นเหตุการณ์แบบคร่าวๆ (episodically) และแฝงเร้น (implicity) ขณะที่สมองซีกซ้ายจะมีลักษณะจดจำเฉพาะใจความสำคัญของสถานการณ์และจะละทิ้งรายละเอียดปลีกย่อยออกไป การทำงานของสมองซีกซ้ายลักษณะนี้จะมีผลต่อความแม่นยำ (accuracy) ของข้อมูล แต่ก็ง่ายในการประมวลผลข้อมูลใหม่ๆ ต่อไป ขณะที่สมองซีกขวาจะไม่ได้ทำเช่นนั้น ดังนั้นสมองซีกขวาจึงน่าเชื่อถือกว่า และอธิบายข้อมูลดั้งเดิมได้ตรงกว่า
การศึกษายังพบว่า สมองทั้งสองซีกจะสามารถรับอารมณ์ (emotion) ได้ทั้งคู่ แต่มีเฉพาะสมองซีกซ้ายเท่านั้นที่อธิบายเป็นคำพูดได้ ส่วนการรับอารมณ์ของสมองซีกขวานั้นไม่อาจอธิบายออกมาเป็นคำพูดได้ นั่นคือ ถ้า trauma ที่เกิดจากการถูกล่วงละเมิดในวัยเด็ก trauma จะฝังรหัสเข้าไปอยู่ในตัวเรา โดยเราไม่อาจอธิบายออกมาเป็นเหตุการณ์ที่ลำดับชัดเจนได้ แต่เรากลับรู้สึกว่ามันจริงอยู่ในความรู้สึกของเรา
ก้าวข้าม และหลอมรวม
การที่ผู้บำบัดกระตุ้นให้ผู้รับการบำบัดตระหนักว่าอาการจาก trauma เหล่านี้เป็นการเรียกร้องความสนใจจากเสี้ยวส่วน (parts) ของเขา มันจะไปกระตุ้นให้เขาสนใจใคร่รู้แทนการมีปฏิกิริยาตอบโต้ต่อ trauma ซึ่งช่วยให้เขาได้พัฒนาวิธีใหม่ในการรับมือ จากนั้นจึงเข้าไปสำรวจเรื่องราวในอดีตเพื่อทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic nervous system) ทำงานได้ตามปกติแทนที่จะผิดปกติ เขาจะพบกับประสบการณ์ที่เรียกว่า ‘การอยู่กับปัจจุบันขณะ’ เพราะในช่วงเวลาที่ร่างกายรู้สึกสงบ เราจะคิดได้อย่างแจ่มชัดขึ้นพร้อมๆ กับความรู้สึกที่ปลอดภัย
ทัศนะใหม่มองว่า ความทรงจำเป็นธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงได้ นั่นคือ สมองจะเปลี่ยนแปลงและปรับตัวใหม่ไปพร้อมกับการเขียนประสบการณ์ใหม่จากประสบการณ์เก่าตลอดเวลา เป็นการผสมผสานสิ่งที่มีอยู่เข้ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าและที่เกิดตามมา
แทนที่จะให้ความสำคัญกับความทรงจำต่อเหตุการณ์ ผู้เชี่ยวชาญในปัจจุบันแนะนำให้มีการบ่มเพาะประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน (transformation) หรือซ่อมแซมเสี้ยวส่วน (parts) ที่เกี่ยวพันกับ trauma เดิม
นั่นคือ แทนที่จะให้มีการเล่าเรื่องที่ทำให้เกิด trauma ผู้รับการบำบัดควรได้รับการแนะนำให้เขียนเรื่องราวในชีวิตที่พ่ายแพ้นั้นขึ้นมาใหม่ มันจะเป็นการเยียวยาจากการสร้างเรื่องราวใหม่ๆ ที่มีความหมายต่อชีวิตจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะชีวิตต้องเดินต่อไป
การที่เราจะเข้าไปเก็บไพ่ใบเก่าๆ กลับเข้ามาในสำรับ ไม่ได้หมายความว่าเสี้ยวส่วนหลัก (part) ที่เราใช้ดำเนินชีวิตมาได้จนทุกวันนี้มันไม่ดีหรือก่อปัญหาให้ชีวิตเราเสียทีเดียว เจ้าเสี้ยวส่วนหลัก (part) ที่ก่อประกอบให้เราเป็นผู้เป็นคนจนกลายมาเป็นบุคลิกภาพหลักของเรามาจนทุกวันนี้ก็ทำงานได้ดีมาก การบำบัดในแนวทางนี้ ผู้บำบัดจำเป็นที่ต้องเคารพและให้เกียรติในตัวตนหลัก (เสี้ยวส่วนหลัก – part) นี้ ก่อนที่จะเข้าไปเปิดประตูห้องแห่งความลับต่อไป เพราะหน้าที่ของเจ้าตัวตนหลัก (part) นี้เองที่เปรียบเสมือนทหารองครักษ์ที่ปกป้องเสี้ยวส่วนที่เกาะเกี่ยวกับ trauma หรือไพ่แห่งอดีตที่ถูกเก็บไว้ในห้องแห่งความลับนั่นเอง
ทีนี้ ถ้าเราเปิดห้องแห่งความลับได้แล้วอย่างไรต่อ?
คำแนะนำที่ให้คือ การเป็นมิตร (befriend) หรือโอบกอด (embrace) มันไว้ เหมือนกับการต้อนรับลูกที่จากบ้านไปนานให้กลับมาอยู่ในสายตาของความตระหนักรู้ว่า ปฏิกิริยาต่างๆ ของเรามันถูกขับเคลื่อนมาจากเสี้ยวส่วนใด (part) สิ่งที่สำคัญคือ ทุกๆ เสี้ยวส่วน (parts) นั้นไม่ได้ดีหรือเลว แต่มันมีบทบาท (role) ของมันเอง การกำหนดว่าสิ่งไหนดีหรือเลว บางทีมาจากกรอบสังคมที่คลุมอยู่เป็นตัวกำหนด
ในสังคมหนึ่งการกระทำนี้ผิด แต่ในอีกสังคมอาจเป็นเรื่องปกติก็ได้ หรือในยุคสมัยหนึ่งสิ่งนี้ผิดแต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปสิ่งนั้นอาจจะถูกต้องขึ้นมาก็ได้ อย่าเพิ่งไปให้ค่าหรือตีตรามัน แต่ให้ห้อยแขวนมันไว้ก่อน มองมันด้วยความสนใจใคร่รู้ไม่ใช่มีปฏิกิริยาตอบโต้
ชีวิตเปรียบเสมือนโรงละครขนาดใหญ่ ที่เสี้ยวส่วนต่างๆ (parts) คือตัวละครหลักบ้าง ตัวประกอบบ้าง คละเคล้ากันไป แต่ละตัวละครไม่ว่าพระเอกนางเอกหรือตัวร้าย มันก็เป็นองค์ประกอบที่ขาดเสียไม่ได้ของบทละครเรื่องนี้
กร ภักดีมโนจิตต์ พนักงานบริษัท คุณพ่อลูกหนึ่ง ที่อยู่มาวันหนึ่งก็มาสนใจความลึกลับของโลกภายใน เลยคิดว่าน่าจะหาคำตอบจาก ปรัชญา ศาสนา ประวัติศาสตร์ จิตวิทยา เศรษฐกิจ การเมือง ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันยังคงลองผิดลองถูกกับชีวิตอยู่ |
หมายเหตุ:
จิตบำบัดประเภทต่างๆ สามารถดูได้ใน https://www.goodtherapy.org/
Healing the Fragmented Selves of Trauma Survivors: Overcoming Internal Self-Alienation by Janina Fisher. Routledge, 2017