- ในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง พลิกโฉมหน้าอย่างรวดเร็ว พ่อแม่ไม่ควรใช้ข้ออ้างของการ ‘มีประสบการณ์มาก่อน’ รวบรัดการคิด เชื่อ ตัดสินใจ หรือการลงมือทำของลูกในนามของ ‘ความรัก’
- ความรักที่แท้จริงต้องมาจากความสัมพันธ์ที่ดี มีความเข้าใจ เปิดโอกาสให้สมาชิกครอบครัวมีส่วนร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ เพราะการสั่งการหรือใช้ ‘อำนาจเหนือ’ มีแต่จะสร้างความรู้สึกเกลียดชัง ต่อต้าน ปิดใจ ส่วนการเปิดพื้นที่ให้มีส่วนร่วมนั้นช่วยทำให้เกิดทางเลือกที่หลากหลายกว่า แก้ไขปัญหาได้ตรงจุดกว่า ยั่งยืนกว่า และก่อเกิดสุขภาวะที่ดีในครอบครัวได้มากกว่า
- การเป็นพ่อแม่ในลักษณะนี้เป็นการหยิบยืมแนวคิดเรื่อง ‘กระบวนกร’ หรือ Facilitator มาปรับใช้ เพื่อเปิดพื้นที่ปลอดภัยและใช้อำนาจเย็นกับลูก
ใครๆ ก็ว่าเด็กสมัยใหม่เลี้ยงยาก ชอบเถียง หรือไม่ยอมรับฟังอะไรง่ายๆ หากมองเรื่องนี้อย่างจริงจัง จะพบว่าคนรุ่นพ่อแม่ส่วนใหญ่มีประสบการณ์ที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบปกครองให้เชื่อฟัง หลายๆ คนทำตามผู้ใหญ่ พ่อแม่ ครูอาจารย์ โดยที่ลึกๆ ต่อต้านอยู่ในใจ ไม่ใช่ทำเพราะเป็นการยอมรับจากความรู้สึกที่แท้จริง
มนุษย์ทุกคนไม่ชอบคำสั่ง ไม่อยากถูกบังคับ หรืออยู่ในภาวะจำยอมแบบที่ไม่อาจโต้แย้งหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ สอดคล้องกับความต้องการพื้นฐานที่มาสโลว์เคยกล่าวว่า มนุษย์ทุกคนต้องการได้รับการยอมรับ การมีคุณค่าในแบบที่ตัวเองเป็น ต้องการเสรีในการเลือกชีวิตของตน ต้องการความสุขในชีวิต ดังนั้น การมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการรับฟังกันและกัน แลกเปลี่ยน หาข้อตกลงร่วม จึงเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องการ
ทำไมการเปิดพื้นที่ปลอดภัยจึงสำคัญ
ในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง พลิกโฉมหน้าอย่างรวดเร็ว พ่อแม่ไม่ควรใช้ข้ออ้างของการ ‘มีประสบการณ์มาก่อน’ รวบรัดการคิด เชื่อ ตัดสินใจ หรือการลงมือทำของลูกในนามของ ‘ความรัก’ ความรักที่แท้จริงต้องมาจากความสัมพันธ์ที่ดี มีความเข้าใจ เปิดโอกาสให้สมาชิกครอบครัวมีส่วนร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ เพราะการสั่งการหรือใช้ ‘อำนาจเหนือ’ มีแต่จะสร้างความรู้สึกเกลียดชัง ต่อต้าน ปิดใจ ส่วนการเปิดพื้นที่ให้มีส่วนร่วมนั้นช่วยทำให้เกิดทางเลือกที่หลากหลายกว่า แก้ไขปัญหาได้ตรงจุดกว่า ยั่งยืนกว่า และก่อเกิดสุขภาวะที่ดีในครอบครัวได้มากกว่า
การเป็นพ่อแม่ในลักษณะนี้จึงเป็นการหยิบยืมแนวคิดเรื่อง ‘กระบวนกร’ หรือ Facilitator มาปรับใช้ในขอบเขตความหมายที่ว่า อำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งการเปิด ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ในการเรียนรู้ร่วมกันในครอบครัวอย่างเป็นสุข สร้างเงื่อนไขให้สมาชิกสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้จากภายในเพื่อให้เกิดการเรียนรู้แบบยั่งยืนในแบบของตน ขณะเดียวกันก็สามารถยอมรับความแตกต่างหลากหลายของกันและกันได้ด้วย ประโยชน์ชัดเจนที่จะเกิดขึ้นภายในบ้านคือ
- เกิดพื้นที่ปลอดภัย (ทั้งทางกายและใจ) คนในบ้านกล้าพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดความเห็น แม้คิดเห็นต่างกัน หรือกล้าสื่อสารระบายความในใจ เพราะรู้ว่ามีพื้นที่รับฟังโดยไม่ด่วนตัดสิน
- ทำอะไรได้ตรงไปตรงมา มีเสรี และอยู่บนพื้นฐานของการเคารพผู้อื่น
- ลดปัญหาความขัดแย้งเรื่องสัมพันธภาพ เกิดความสัมพันธ์เชิงบวก
- เกิดความมั่นคงทางอารมณ์ เข้าใจทั้งตัวเองและผู้อื่น มีวุฒิภาวะในการอยู่ร่วมกับผู้คนในสังคมที่แตกต่างหลากหลายได้อย่างดี เป็นมนุษย์ที่มีความตื่นรู้ในตัวเอง
- เกิดทางเลือกใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาเสมอ โดยไม่ยึดติดความเป็นไปได้ในรูปแบบเดียว หรือคนคนเดียว
สร้างอำนาจร่วมในครอบครัว
พ่อแม่เปรียบดังผู้นำในองค์กร มีส่วนสำคัญในการสร้างบรรยากาศ สร้างผลสัมฤทธิ์ของเป้าหมายให้ลุล่วงอย่างที่ทุกฝ่ายต้องการได้ หากพ่อแม่ดี บรรยากาศในบ้านก็น่าอยู่ คนในบ้านก็เกิดความสุขมีวุฒิภาวะในตน การมีภาวะผู้นำนั้นเกี่ยวข้องกับ ‘อำนาจ’ โดยตรง คือ เป็นพลังบางอย่างที่ทำให้คนอื่นยอมทำตามได้ไม่ว่าจะพอใจหรือไม่พอใจก็ตาม ปรีดา เรืองวิชาธร วิทยากรกระบวนการได้สรุปความรู้เรื่องวงล้อของอำนาจอย่างง่ายไว้ 3 รูปแบบคือ
- อำนาจร้อน หมายถึง การใช้อำนาจเหนือกว่า กดข่ม บีบคั้นให้คนอื่นทำตามผ่านเครื่องมือต่างๆ เช่น อาวุธ ความรุนแรง ทรัพย์สิน บางครอบครัวใช้อำนาจเงินต่อรองกับลูกหลานให้ทำตามในสิ่งที่ตนต้องการ
- อำนาจร้อนและเย็น หมายถึง การใช้ ความรู้ ความสามารถ การมีเทคโนโลยีที่ดีกว่า เป็นข้ออ้างในการบีบบังคับ โน้มน้าว ชักจูงให้คนทำตาม ซึ่งพ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะใช้วิธีการนี้กับลูกเพราะเชื่อว่าตนรู้มากกว่า รู้ดีกว่า เชี่ยวชาญกว่า จึงผูกขาดการคิดและตัดสินใจแทนลูก และอ้างเสมอว่าทำด้วยความรัก
- อำนาจเย็น คือ การใช้จริยธรรม ความดี เชื่อมโยงผู้คนทำให้คนทำตาม โดยมีสติรู้ตัว (awareness) กำกับตนเองอยู่เสมอ
การใช้อำนาจเพื่อสร้างความสุขในครอบครัวได้อย่างยั่งยืน ควรเป็นการใช้อำนาจเย็นอยู่เสมอ ส่วนอำนาจร้อนให้ใช้น้อยที่สุด ครอบครัวจะเป็นสุขได้ควรเริ่มต้นจากการที่พ่อแม่มีความรู้เท่าทันตนเอง มีสติ เป็นการใช้ชีวิตบนฐานของปัญญาที่แท้ ก่อเกิดบรรยากาศของการใช้ “อำนาจร่วมหรืออำนาจแบ่งปัน” ในครอบครัว ทำให้สมาชิกทุกคนทั้งพ่อ แม่ ลูก หรือญาติพี่น้อง มีส่วนร่วมคิด ทำ รับผิดชอบ เกิดความเติบโตร่วมกันทั้งกายและใจ เกิดความสัมพันธ์ที่ดีในระยะยาว เป็นสุขที่จริงแท้
6 คุณลักษณะของพ่อแม่ที่สร้างครอบครัวเป็นสุข
1.เมตตา หมายถึง การเมตตาตัวเอง รักตัวเอง เข้าใจตัวเอง ยอมรับตัวเอง ให้อภัยตัวเองได้ และการเมตตาคนอื่นหรือสมาชิกคนอื่นๆในครอบครัว รักคนอื่นได้ มีความปรารถนาดี โอบอ้อมอารี ไม่ตัดสิน รับฟังได้ ใจกว้าง เข้าใจ ให้อภัยได้ ยอมรับคนอื่นอย่างที่เขาเป็น ความเมตตานี้จะช่วยให้เข้าใจตัวเองและผู้อื่น ช่วยเปิดใจ และลดความขัดแย้งในความสัมพันธ์
2.เท่าทันตน มีสติรู้ตัว กล่าวคือ มีความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ เข้าใจทั้งตัวเองและผู้อื่น ยอมรับสิ่งต่างๆ ได้ตามความเป็นจริง โดยไม่เอาความต้องการของตนเป็นใหญ่ รู้ว่าตนและคนอื่นผิดพลาดได้ เริ่มต้นใหม่ได้ และเผชิญหน้าสถานการณ์ชีวิตได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง แก้ปัญหาด้วยปัญญา ผ่านการเปิดพื้นที่ให้เกิดทางเลือกที่ดีร่วมกัน
3.ความเป็นธรรม ยุติธรรม ความเป็นธรรมในครอบครัวจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการเปิดพื้นที่ให้ทุกคนสื่อสารได้อย่างปลอดภัย(ทั้งกายใจ) มีข้อมูลหลากหลายเพียงพอ เพื่อการตัดสินใจอย่างรอบด้าน เที่ยงธรรม ปราศจากอคติ ความยุติธรรมที่ว่านี้ยังรวมถึงการยึดมั่นในหลักการ แต่ยืดหยุ่นต่อวิธีการปฏิบัติที่สอดคล้องการสถานการณ์ได้อย่างหลากหลายโดยไม่จำกัดความถูกต้องเพียงอย่างเดียว สร้างโอกาสความเป็นไปได้ใหม่ๆ อยู่เสมอ
4.ความรับผิดชอบ คือ การรู้หน้าที่ของตนเอง ทำหน้าที่อย่างดี รับผิด คือยอมรับความผิดพลาดได้เมื่อตนผิด และรับชอบ โดยแบ่งปันความดี ความสุขให้แก่สมาชิกทุกคนในครอบครัว เป็นแบบอย่างที่ดี ได้ใจคน ทำให้คนในครอบครัวรักและศรัทธา ทั้งนี้ รวมถึงการยอมรับในฐานะพ่อแม่ได้ว่า ตัวเองยังไม่ได้ดีที่สุด หากสามารถขัดเกลาให้พัฒนาได้อีก เมื่อผิดก็ขอโทษลูกได้ หรืออาจเรียนรู้จากลูกได้เช่นเดียวกัน
5.ความสามารถในการแก้ไขวิกฤติ นอกเหนือจากการอาศัยความรู้ วิธีคิด มุมมองที่หลากหลาย รอบด้านลุ่มลึกแล้ว พ่อแม่ที่ดีต้องฝึกคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์เสมอ คาดการณ์ได้ ประเมินเป็น และช่วยโอบอุ้ม สนับสนุนให้ครอบครัวผ่านภาวะยากลำบากได้ แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายเสมอ
อันที่จริงคุณลักษณะเหล่านี้ คือพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ที่ดี เมื่อเป็นมนุษย์ที่ดีได้แล้ว เราย่อมทำทุกบทบาทหน้าที่ได้อย่างดีเช่นเดียวกัน สิ่งสำคัญที่พ่อแม่จำเป็นต้องฝึกฝนเพิ่มเติมในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในบ้าน คือ
- การฝึกสติตนเอง ฝึกฟังอย่างลึกซึ้ง ไม่ด่วนตัดสิน
- เรียนรู้การพูดคุยเพื่อเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมคิด รวมทำ
- รับรู้ความขัดแย้งได้เร็ว เชื่อมโยงประสานให้เกิดความเข้าใจกัน
- เน้นการสืบค้นเชิงลึกภายใน คือไม่มองทุกอย่างระดับปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ค้นลึกเพื่อหาเหตุที่แท้จริงของปัญหา เพื่อแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและยั่งยืน
การกล่าวมาทั้งหมดนี้ ผู้เขียนไม่ได้อยากให้พ่อแม่ทดท้อหรือถอดใจไปเสียก่อน เพราะไม่ว่าในบทบาทหน้าที่ใดก็ตาม มนุษย์ทั้งหลายล้วนอยู่บนเส้นทางของการฝึกตนทั้งสิ้น ธรรมชาติของความเป็นพ่อแม่มักอาศัยการมองออกนอกเสมอ (มองดูว่าลูกไม่ดีอย่างไร คู่ครองบกพร่องอย่างไร) ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะได้มองเข้าไปด้านใน สำรวจตน มองเห็น ยอมรับ ปรับปรุง พัฒนา จนตระหนักชัดว่า อย่ามองหาความสมบูรณ์แบบในชีวิตจากใคร (ไม่ว่าลูก ภรรยา สามี) เพราะแม้แต่เราเองก็ยังมีจุดเปราะบางที่ต้องเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน การใคร่ครวญเช่นนี้จะช่วยขยายขนาดของหัวใจของเราให้กว้างขวาง ยอมรับกันและกันได้อย่างที่เป็นจริงๆ รวมทั้งช่วยขัดเกลาตนให้งดงามยิ่งขึ้นได้ในท้ายที่สุด