- ประเทศอิสราเอล ประเทศเล็กๆ ที่มีประชากรประมาณ 8.7 ล้านคน พวกเขาผ่านสงคราม เหตุการณ์ความรุนแรง จนสามารถกลับมาฟื้นตัวและใช้เวลาสร้างประเทศ 70 กว่าปี ก็สามารถขึ้นมาอยู่แถวหน้าของโลกได้ เคล็บลับความสำเร็จของพวกเขาอยู่ที่การพัฒนาคน กำลังในการสร้างประเทศ
- วงเสวนา ไขความลับ “การศึกษา” อิสราเอล จะพาทุกท่านไปฟังเคล็ดลับวิธีการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ชาวยิวให้กลายเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศ โดยพวกเขามีความเชื่อว่ามนุษย์ไม่ได้เกิดมาแล้วทำเป็นทุกอย่าง แต่ต้องอาศัยการเรียนรู้
- การเลี้ยงดูของพ่อแม่ยิวเน้นความต้องการของลูกเป็นหลัก พร้อมกับเป็นลมใต้ปีกสนับสนุนให้ลูกทำในสิ่งที่พวกเขารัก
ประเทศอิสราเอลได้รับเอกราชเมื่อปี 1948 พวกเขาใช้เวลากว่า 70 ปีในการสร้างประเทศ ซึ่งตลอดระยะเวลาดังกล่าวพวกเขาต้องเจอกับเหตุการณ์ความขัดแย้งมากมายไม่ว่าจะเป็นสงครามภายในประเทศ สงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันอิสราเอลกลายเป็นประเทศที่ยืนอยู่แถวหน้าของโลก* มีบทบาทเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี การศึกษา ฯลฯ ซึ่งเคล็บลับความสำเร็จในการสร้างประเทศมาจากคนยิว ประชากรหลักของประเทศ
The Potential จะพาผู้อ่านมาไขความลับการเลี้ยงลูกฉบับพ่อแม่ยิวผ่านวงเสวนา ไขความลับ “การศึกษา” ของอิสราเอล: Secret of Israel Education จัดโดย Hackerhouse ณ สามย่านมิตรทาวน์ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา วงเสวนานี้จะพาทุกท่านไปรู้วิธีการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ยิวที่มีความเชื่อว่า คนทุกคนเกิดมาพร้อมกับความชอบในบางสิ่ง เขาต้องใช้เวลาในการค้นหามัน พ่อแม่เป็นหน่วยสนับสนุนที่สำคัญ ผ่านวิธีง่ายๆ คือสังเกตและสนับสนุน
ผู้ที่จะมาช่วยไขความลับในวงเสวนาครั้งนี้ ได้แก่
- ผศ.ดร.วรวรรณ เหมชะญาติ รองประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- คุณอิสรียาห์ ประดับเวทย์ นักการศึกษาปฐมวัย สาขาหลักสูตรและการสอน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- คุณกฤษณ์ แสงวิเชียร เจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพ ผู้มีประสบการณ์ทำงานกับคนอิสราเอล องค์กรในประเทศอิสราเอลมากว่า 7 ปี
ไม่สร้างมนุษย์ให้เป็นแบบที่ต้องการ แต่สร้างสิ่งแวดล้อมให้เขาเติบโต
คุณอิสรียาห์เริ่มด้วยการเล่าถึงเหตุผลที่เธอสนใจคนยิว เพราะเธอเคยสอนที่โรงเรียนในอเมริกา แล้วเห็นว่านักเรียนที่เป็นคนยิวส่วนใหญ่เก่งและมีลักษณะเฉพาะตัว จึงอยากศึกษารากเหง้าของพวกเขา ซึ่งจากการเข้าไปศึกษาประวัติคนยิว คลุกคลีกับพวกเขา ทำให้คุณอิสรียาห์เข้าใจคนยิวมากขึ้น เธอเล่าว่า คนยิวมีหลักคิดที่ไม่ทำอะไรซับซ้อน ใช้วิธีการง่ายๆ เพราะเขาเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ว่าเราไม่สามารถทำสิ่งที่ไม่ได้ติดตัวมาตั้งแต่เกิด เราต่างต้องใช้เวลาในการเรียนรู้และพัฒนา เธอยกตัวอย่างการเรียนภาษาของคนอิสราเอลในช่วงที่กลับมาสร้างประเทศว่า พวกเขาต่างกระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ ภาษาที่ใช้ก็แตกต่างกัน ไม่มีใครพูดภาษาฮิบรูได้เลย สิ่งที่พวกเขาทำ คือ ใช้วิธีการสอนแบบ Whole Language หรือ ภาษาธรรมชาติ พวกเขาจะไม่ฝึกเด็กด้วยการบังคับหรือท่องจำ แต่พยายามให้เด็กเข้าใจภาษาในรูปแบบภาพรวมก่อนไปสู่ส่วนย่อย ทำให้เด็กๆ พูดภาษาฮิบรูได้
ขณะที่ดร.วรวรรณอธิบายต่อว่า เป้าหมายของการเรียนภาษาธรรมชาติเพื่อให้เด็กรู้สึกสนุกกับการเรียน ใช้ภาษาอย่างมีความหมายไม่ใช่ทำแต่แบบฝึกหัด สิ่งที่มีความหมายต่อเด็ก คือ สิ่งที่เขาได้ไปเจอ เป็นประสบการณ์ เช่น ลูกไปเที่ยวกลับมาเล่าให้พ่อแม่ฟัง ลูกได้ใช้ทักษะการสื่อสารก็คือการพัฒนาภาษา การเรียนภาษาแบบธรรมชาติจะไม่ได้แยกการเรียนเป็นส่วนๆ อย่างที่บ้านเราทำ เช่น เรียน Grammar เรียน Reading แต่จะเรียนไปพร้อมๆ กัน
“ส่วนหนึ่งเราต้องยอมรับนะว่าแนวคิดมันขัดกับสังคมไทยเรา ดังนั้น ภาษาธรรมชาติไปอยู่แต่ละประเทศไม่ได้แปลว่าเวิร์ค ในไทยเราไม่ได้ถูกฝึกให้ ‘เขียนอะไรสักอย่างออกมา แล้วคนชื่นชม’ บ้านเราดูว่าเขียนสวยไม่สวย ซึ่งมันไม่เกี่ยว ควรดูวิธีคิดว่าเป็นยังไง” ดร.วรวรรณกล่าว
พ่อแม่ชาวยิวใช้การอ่านเป็นตัวช่วยในการฝึกภาษาลูก ดร.วรวรรณบอกว่าการฝึกให้ลูกอ่านหนังสือจะช่วยให้เด็กมีจินตนาการ มีคลังคำศัพท์ แต่ที่เด็กบางคนไม่ชอบอ่านหนังสืออาจอยู่ที่เวลาเลือกหนังสือ พ่อแม่จะเลือกเรื่องที่ตัวเองชอบ การสอนลูกต้องให้ลูกเป็นคนตัดสินใจ ให้เขาพึงพอใจ อาจจะเป็นการพบกันครึ่งทาง พ่อแม่เลือกเล่มหนึ่ง ลูกเลือกเล่มหนึ่ง
พ่อแม่อาจเริ่มด้วยการอ่านนิทาน เพราะมันมีทั้งภาพ สัญลักษณ์ การรู้หนังสือของเด็กเกิดจากการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมประจำวัน ทำกิจกรรมที่พูดฟังอ่านเขียนเข้าไว้ เช่น การซื้อของ บอกว่ามีอะไรบ้าง อ่านทุกอย่างให้ลูกฟัง สร้างความหมายว่าตัวหนังสือแบบนี้คืออะไร ทำให้เป็นปกติ ไม่ใช่แค่บางวัน เด็กจะชินและทำเป็นอัตโนมัติ
คุณอิสรียาห์เสริมว่า คนยิวจะมีหนังสือวางไว้เต็มบ้านเลย โดยเฉพาะเล่มที่พวกเขาอยากให้ลูกอ่านจะวางให้ลูกเห็น แต่ถ้าลูกมาขออ่านพวกเขาจะตอบไปว่า ‘ลูกยังไม่พร้อมสำหรับสิ่งนี้’ เพื่อเป็นการท้าทายลูก ทำให้เขาอยากอ่าน
เป็นลมใต้ปีก สนับสนุนให้ลูกเจอสิ่งที่ชอบ
“คนยิวจะมีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งคือ ทุกๆ คนเกิดมาด้วยความชอบ หรือความรักในอะไรบางอย่าง จนกระทั่งให้เวลาและความสำคัญกับมันสุดๆ แต่จะทำไม่ได้เลยถ้าขาดลมใต้ปีกจากพ่อแม่”
คุณอิสรียาห์เล่านิสัยของคนยิวที่เป็นฐานสำคัญในการเลี้ยงลูก พร้อมกับยกตัวอย่างเรื่องของสตีเวน สปีลเบิร์ก เป็นชาวอเมริกัน-ยิว ตอนเด็กๆ สปีลเบิร์กบอกแม่ว่าอยากถ่ายหนัง เธอถามว่าถ้าลูกเดินมาบอกพ่อแม่แบบนี้จะตอบลูกว่าอะไรกัน ใช่หรือไม่ว่าเราอาจตอบว่า ‘กลับไปอ่านหนังสือก่อน’ หรือ ‘การบ้านเสร็จหรือยัง’ แต่แม่ของสปีลเบิร์กถามลูกว่าอยากถ่ายเรื่องอะไร สปีลเบิร์กตอบว่า ‘เรื่องที่มีเลือดสาดเยอะๆ’ แม่เขาตอบว่า ‘ได้เลยลูก เอาบทมาให้แม่ดู’ แล้วพ่อของเขาขับรถตระเวนหาโลเคชัน ส่วนแม่ทำเลือดไว้ให้ แล้วช่วยกันถ่ายทำพ่อแม่ลูก โดยมีสปีลเบิร์กกำกับ พ่อแม่เป็นผู้ช่วย เขาบอกว่าถ้าไม่มีพ่อแม่ทำสิ่งนี้ เขาจะไม่มีวันทำหนัง
คุณอิสรียาห์กล่าวเสริมว่า พ่อแม่ชาวยิวจะคอยเป็นลมใต้ปีกให้ลูก สนับสนุนให้ลูกค้นพบสิ่งที่พวกเขาชอบ ผ่านการตั้งคำถาม สังเกต ไม่ปิดกั้นความต้องการของลูก พาลูกออกไปหาประสบการณ์
เลี้ยงลูกให้เป็น Geek คือ สิ่งที่คุณกฤษณ์ขยายเพิ่มต่อจากคุณอิสรียาห์ Geek คือ คนที่หมกมุ่นกับบางสิ่งบางอย่าง เช่น ดอกไม้ ของเล่น คุณกฤษณ์ขยายเพิ่มว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีสิ่งที่ตัวเองสนใจอยู่แล้ว เพียงแต่จะสามารถลงลึกไปกับความสนใจนั้นและต่อยอดมันไปได้แค่ไหน
คุณกฤษณ์อธิบายว่า ถ้าเข้าใจว่าธรรมชาติของคนนั้นไม่สามารถสร้างหรือกำหนดให้เขาเป็นแบบนั้นแบบนี้ได้ แต่สร้างสภาพแวดล้อมให้คนเติบโตและชอบได้ คนไม่ใช่คอมพิวเตอร์ ถ้าเสียก็ซ่อมไม่ได้ สิ่งที่พ่อแม่หรือครูทำได้ คือ สร้างสิ่งแวดล้อมให้ลูกอยู่ ทำให้เขาครีเอทหรือพัฒนาตัวเองได้ ช่วยลูกค้นหาความชอบของเขา พัฒนาไปเป็น Geek
คุณกฤษณ์บอกว่า เนื่องจากพ่อแม่ต่างก็ติดอยู่กับกรอบประสบการณ์เดิม คือ กลัวความผิดพลาด กลัวว่าทำไปแล้วจะผิด ต้องลองทำความเข้าใจใหม่ว่าถูกผิดในโลกนี้ไม่มีอยู่จริง มันมาจากการตัดสินล้วนๆ ถูกผิดของแต่ละที่ก็ไม่เหมือนกัน สิ่งที่ควรโฟกัส คือ ทำออกมาแล้วมันดีไหม มันเวิร์คหรือไม่
“ชีวิตมันง่ายกว่านั้นเยอะ มัน simple ทุกเรื่องในชีวิตเราคือการเรียนรู้ทั้งหมด” คุณกฤษณ์กล่าว
คุณอิสรียาห์ยกคำๆ หนึ่งมาเสริม คือคำว่า Bitachon เป็นภาษาฮิบรูที่คนยิวใช้ มีความหมายว่า Sense of security คือ ความรู้สึกที่เด็กจะได้รับเมื่อเขารู้สึกว่า ‘ฉันได้รับการยอมรับจากพ่อแม่’ พ่อแม่ที่ให้กำเนิด มีความสำคัญเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของพวกเขา หากพ่อแม่ยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น ถึงแม้ว่าสังคมจะตั้งคำถามอย่างไร แต่พ่อแม่เชื่อใจพวกเขาๆ จะไม่รู้สึกขาดหรือต้องไปเติมเต็มอะไร
“แม่ของไอน์สไตน์ได้รับจดหมายจากครูที่โรงเรียน บอกว่าลูกของเธอเป็นคนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา โรงเรียนไม่อยากให้เขาอยู่ ช่วยเอาเขาไปสั่งสอนเอง แต่แม่บอกกับไอน์สไตน์ว่าครูเขียนว่าลูกฉลาดเกินไป โรงเรียนไม่สามารถสอนได้ พร้อมกับบอกไอน์สไตน์อีกว่าลูกจะต้องโตไปเป็นคนที่ยิ่งใหญ่แน่ๆ แล้วเธอก็สอนลูกเอง ถามว่าถ้าวันนั้นแม่ของไอน์สไตน์เชื่ออย่างที่ครูบอก คงไม่มีไอน์สไตน์ที่คิดค้นสิ่งต่างๆ มากมาย” คุณอิสรียาห์กล่าว
เลี้ยงให้ลูกเป็นนักสร้างสรรค์และคิดวิเคราะห์ให้เป็น ในยุคศตวรรษที่ 21
หนึ่งในเรื่องที่กำลังถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก คือ การเตรียมลูกให้พร้อมรับมือกับศตวรรษที่ 21 หลังจากที่ฟังวงเสวนาจะเห็นได้ว่าพ่อแม่ยิวเลี้ยงลูกให้คิดวิเคราะห์เป็นและมีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งตรงกับทักษะที่กำลังเป็นที่ต้องการในอนาคตอย่าง Critical Thinking และ Creativity คำถามต่อมาคือพ่อแม่จะช่วยให้ลูกมีทักษะเหล่านี้ได้อย่างไร
คุณอิสรียาห์ยกเอาวิธีที่พ่อแม่ยิวใช้ ถ้าอยากให้ลูกคิดวิเคราะห์เป็น ก็ต้องตั้งคำถามลูกบ่อยๆ ซึ่งเป็นลักษณะนิสัยของคนยิวที่ชอบตั้งคำถามกับทุกสิ่ง อาจจะเริ่มถามจากสิ่งที่ลูกทำ เช่น ถามว่าลูกรู้สึกอย่างไรกับหนังสือที่อ่าน ชอบส่วนไหนของเรื่อง เป็นต้น ซึ่งการที่พ่อแม่ตั้งคำถามบ่อยๆ จะทำให้เด็กคุ้นชิน
ส่วนทักษะการคิดสร้างสรรค์ อาจจะเป็นทักษะที่ยากสักหน่อยถ้าพ่อแม่เองก็ไม่มีสิ่งนี้ แต่คุณกฤษณ์บอกว่าแม้พ่อแม่จะไม่มีแต่สามารถทำให้ลูกมีได้ ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อม หรือให้ลูกไปอยู่ในที่ๆ พวกเขาได้ลองทำบางสิ่งบางอย่าง ฝึกความคิดสร้างสรรค์ เช่น ชมรมในโรงเรียน
คุณอิสรียาห์กล่าวเสริมว่า คนยิวมองว่าการศึกษา คือ การสอนได้ทุกรูปแบบ ไม่จำเป็นว่าจะต้องจำกัดอยู่แต่ภายในโรงเรียน มาจากการเป็นโรลโมเดลของพ่อแม่ก็ได้ โรลโมเดลจากสังคม การศึกษาก็คือการจัดสภาพแวดล้อมให้กับผู้เรียน
ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ยิว หรือพ่อแม่ไทย คอนเซปต์ที่ยังคงสำคัญในการเลี้ยงลูก คือ การยอมรับในตัวตนของลูก พ่อแม่ไม่ต้องไปหาวิธีหรือเทคนิคอะไรที่มากมาย แค่เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ เพราะพวกเราทุกคนไม่ว่าจะเป็นลูก หรือเป็นพ่อแม่ เราทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ด้วยกันทั้งนั้นที่ทำผิดพลาดได้ และสามารถแก้ไขความผิดพลาดนั้น เอามาเป็นบทเรียนเพื่อพัฒนาชีวิตต่อไป
*ประเทศอิสราเอลติดอันดับที่ 25 ประเทศที่จัดการศึกษาดีที่สุดในโลกประจำปี 2020 (2020 Best Countries for Education) จัดทำโดย ฺBAV Group และ The Wharton School of University of Pennsylvania โดยเกณฑ์การพิจารณามาจากโรงเรียนหรือสถานที่ของรัฐมีคุณภาพหรือไม่, ผู้คนเลือกที่จะศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยมากน้อยเพียงไร และประเทศนั้นจัดการศึกษาที่มีคุณภาพหรือไม่ และติดอันดับประเทศที่ดีที่สุดในโลกในมุมภาพรวม อยู่อันดับที่ 28 |