- พอจะเข้าใจแล้วว่า EF คืออะไร แต่ EF จะทำงานได้ ต้องอาศัยอะไรบ้าง?
- รวมเทคนิครับมือกับเด็กเล็กขี้อิจฉา จอมโวยวาย ลงไปดิ้นเพื่อขอของเล่นด้วยวินัยเชิงบวก และ EF ที่ทำได้จริงและน่ารักอย่างไม่น่าเชื่อ!
- คีย์เวิร์ดสั้นง่ายของ ‘EF’ คือการควบคุมอารมณ์และความคิดโดยการใช้ประสบการณ์เดิมที่เกี่ยวข้องกับความผูกพัน ความรัก ความอบอุ่น และโอกาสในฝึกใช้สมองส่วนนี้ คำถามคือเราได้ให้โอกาสเด็กได้ฝึกใช้สมองส่วนนี้บ่อยแค่ไหน?
ภาพ: พิศิษฐ์ บัวศิริ
‘EF’ พูดแล้วพูดอีกก็มีแต่คำนี้ ทำไม?
EF-Executive Functions ดูจะเป็นคำที่นักการศึกษา ครู และพ่อแม่รุ่นใหม่ให้ความสนใจเป็นพิเศษ บ้างว่าคือ ‘ยานแม่’ แห่งการควบคุมอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด กลไกผลิตความสุขุมทั้งมวล บ้างก็ว่า EF นี่แหละ คือคำตอบของการปฏิรูปการศึกษาไทย เพื่อผลิตอนาคตของชาติ ให้หัวใจและสมองพร้อมก้าวสู่การเป็นผู้ใหญ่ในศตวรรษที่21
แต่เอาเข้าจริงแล้ว EF ทำงานอย่างไร อยู่ตรงไหนของสมอง ทำงานร่วมกับอะไรบ้าง และการสร้าง EF ที่แข็งแรงทำยังไง ใครๆ ก็ทำได้จริงหรือ มันเป็นความรู้ที่เหมาะกับคนชนชั้นกลางเท่านั้นใช่ไหม หรือเป็นองค์ความรู้และ Tools ที่จำเป็นและประยุกต์ใช้ได้สำหรับทุกคน?
The Potential นำคำถามทั้งหมดนี้ไปถาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของงานวิจัย “101S เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวก&พัฒนาการสมอง จิตใจ และพฤติกรรม” ซึ่งย้ำกับเราตลอดว่า
“เรามักตัดตอนไปที่ EF ทำงานแล้วจะทำให้เรามีทักษะอะไรบ้าง แต่ลืมว่าสิ่งที่จะทำให้ EF ทำงาน คือการดึงประสบการณ์เดิมออกมาใช้ และต้องเป็นประสบการณ์เดิมที่มีคุณภาพด้วย”
‘ประสบการณ์เดิมที่มีคุณภาพ’ คือความอบอุ่น ความรักความผูกพัน และไม่ใช่ความรักที่ต้องแลกมาจากการเรียน คือสิ่งที่ ‘ครูปนัดดา’ ย้ำว่าคือหัวใจหลักในการทำงานของ EF
EF จะทำงานได้ ต้องอาศัยอะไรบ้าง?
เราพอจะรู้แล้วว่า EF สำคัญและน่าจะเป็นคำตอบของการปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะการพัฒนาเด็กให้พร้อมในสังคมแห่งศตวรรษที่ 21 แต่เอาเข้าจริงแล้ว EF คืออะไร และมันทำงานอย่างไร
EF ย่อมาจาก Executive Functions เป็นการทำงานของสมองชั้นสูง ควบคุมอารมณ์ ความคิด และการกระทำของมนุษย์ ถ้าให้เข้าใจง่ายๆ EQ หรือ IQ เป็นแบบทดสอบสติปัญญาที่ออกมาแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้คนๆ หนึ่งมี EQ หรือ IQ ดีหรือไม่ดี คือ EF
EF คือระบบปฏิบัติการของสมองที่กำหนดความสูงต่ำของ EQ และ IQ ฉะนั้น EF จึงไม่ใช่แค่การคิดวิเคราะห์อย่างเดียว เพราะการคิดวิเคราะห์ของมนุษย์ ต้องมีอารมณ์ สติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
และสำหรับอาจารย์ที่เน้นเรื่องพัฒนาการเด็กปฐมวัย จะเน้นเรื่อง ‘ประสบการณ์เดิมที่มีคุณภาพ’ ของเด็กด้วย เพราะแม้ว่าสมองส่วน EF จะอยู่หลังหน้าผากเรา แต่มันทำงานร่วมกับสมองส่วนอื่น ด้วยการดึงประสบการณ์เดิมมาประมวลผลร่วมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อที่จะคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจ แก้ไขปัญหา และไปให้ถึงพฤติกรรมเป้าหมาย
นั่นแปลว่า EF จะถูกใช้ต่อเมื่อสถานการณ์นั้นเป็นสถานการณ์ใหม่ ไม่ใช่ routine หรือกิจวัตรประจำวันของเรา แต่เป็นสถานการณ์ที่ต้องการแก้ปัญหา ต้องการวางแผนควบคุมอารมณ์
สมองของเราจะมีส่วนอัตโนมัติ กึ่งอัตโนมัติ และส่วนที่ต้องใช้คิด เช่น จำความรู้สึกตอนที่ขับรถครั้งแรกได้มั้ย? เราจะเกร็งๆ รับโทรศัพท์ไม่ได้ เบาะเอนหลังมากกว่านี้ไม่ได้ เปิดเพลงไม่ได้ ใครชวนคุยก็ไม่ได้ นี่แหละ… ช่วงเวลานี้เองที่ EF ทำงาน แต่ถามว่าตอนนี้เราขับรถยังไง เราหันไปถักเปียให้ลูก ไปป้อนข้าวลูกยังได้เลย เพราะมันใช้สมองส่วนกึ่งอัตโนมัติ ไม่ต้องคิดวิเคราะห์ เช่นตอนที่เราอาบน้ำ ไม่ต้องคิดว่าถูสบู่ทำยังไง สมองจำไปแล้วว่าขั้นตอนการอาบน้ำจะเป็นแบบนี้ๆ แต่ตอนที่เราตัดสินใจว่าจะไปอาบหรือไม่อาบ ตอนนี้ต่างหากคือ EF
คีย์เวิร์ดของมันมีอยู่ไม่กี่คำ ต้องเป็นอะไรที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ สมองระดับสูงทำงานร่วมกับสมองส่วนอื่น เมื่อ EF ทำงานแล้ว มันจะทำหน้าที่คิดวิเคราะห์ ตัดสินใจ แก้ไขปัญหา ควบคุมอารมณ์ วางแผน จัดลำดับความสำคัญ ทั้งหมดนี้คือทักษะที่เราอยากได้จากเด็ก แต่อย่าลืมว่าเวลามันทำงาน มันต้องดึงประสบการณ์เดิมออกมาใช้ เพื่อทำการประมวลเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน
คำถามที่อาจารย์เจอตอนเรียนครูปฐมวัยคือ ‘ประสบการณ์เดิมของเด็กเยอะหรือน้อย?’ แต่คำถามนั้นก็ยังไม่สำคัญเท่า ‘ประสบการณ์เดิมของเด็กมีคุณภาพเพียงพอมั้ย’ เราซึ่งเป็นคนที่ใส่ประสบการณ์เดิมกับเด็กไว้ ต้องคิดว่าที่ผ่านมาเราใส่อะไรลงไปบ้าง
เช่น หากว่าเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง(หญิง) เดินออกจากบ้านไปสัก 15 ก้าว แล้วไปเจอรุ่นพี่คนหนึ่งบอกว่า ‘ไปกัน… น้องคือที่สุดของพี่เลย’ การที่เด็กคนนี้จะตัดสินใจไปหรือไม่ไป จะขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง? (ถามกองบรรณาธิการ)
น่าจะคิดว่าผู้ชายคนนี้เป็นใคร จุดประสงค์ของเขาคืออะไร ไปด้วยแล้วจะเกิดอะไรขึ้น
แล้วถ้าเขารื้อประสบการณ์เดิมออกมาแล้วมีแต่ พ่อไม่รัก แม่ตี โดนด่าทุกวัน เพื่อนก็ไม่มี ครูยังไม่รัก แล้วมีคนๆ หนึ่งมาให้ความสำคัญกับเรามากๆ เราจะทำยังไง จะไปดีมั้ย? หรืออย่างเด็กวัยรุ่นผู้ชาย พ่อแม่อาจจะไม่เข้าใจเขามากเท่ากับเพื่อน ถ้าเพื่อนมาชวนว่า ‘เฮ้ย… นายใจมากอะ เราเพื่อนกัน ลองยากันมั้ย’ เขามีโอกาสที่จะทำมั้ย?
นี่แหละคือเรื่องที่เราลืมนึกถึง เราชอบตัดตอนไปที่ EF ทำงานแล้วจะทำให้เรามีทักษะอะไรบ้าง แต่ลืมว่าสิ่งที่จะทำให้ EF ทำงาน มันเกี่ยวข้องกับการดึงประสบการณ์เดิมออกมาใช้
เพราะฉะนั้นตัวอาจารย์เองให้ความสำคัญกับประสบการณ์เดิมมากๆ หากประสบการณ์เดิมมีคุณภาพเพียงพอ EF ถึงจะดี
เช่นนั้นแล้ว คำจำกัดความเบื้องต้นของ EF คือขั้นตอนตัดสินใจโดยใช้คำถาม ‘What-Ifs’ ถ้าเกิดสิ่งนี้ แล้วจะเกิดอะไรตามมา ด้วยการประมวลอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
ใช่ เป็นการประมวล อดีต ปัจจุบัน และคาดการณ์ไปอนาคต เพราะมันเกี่ยวข้องกับการ planning
ประสบการณ์เดิมที่มีคุณภาพของคนๆ หนึ่ง เช่นอะไรและเกิดมาจากอะไรได้บ้าง
หมายถึงประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความผูกพัน ความรัก ความอบอุ่น อีกส่วนหนึ่งคือเป็นประสบการณ์ที่ให้เด็กได้ฝึกใช้สมองส่วนนี้ คำถามคือเราได้ให้โอกาสเด็กได้ฝึกใช้สมองส่วนนี้บ่อยแค่ไหน
หากเราเปิดโอกาสให้เด็กประมวลอดีต ปัจจุบัน และคาดคะเนเหตุการณ์ไปยังอนาคตบ่อยๆ เส้นใยหรือเครือข่ายโยงใยสมองจะแข็งแรง เมื่อแข็งแรงก็จะกลายเป็นทักษะ เป็นบุคลิกภาพ เป็นนิสัยของเรา อะไรที่มันเป็นนิสัย เราจะไม่ต้องคิดเยอะ มาเร็ว เพราะฉะนั้นหากเราให้ประสบการณ์เดิมที่มีคุณภาพ โดยให้เด็กรู้จักคิด ไตร่ตรอง คาดคะเน รับผิดชอบผลที่ตามมาบ่อยๆ เด็กก็จะโตมาเป็นคนแบบนั้น แต่ถ้าเด็กไม่ใช้ EF เขาจะใช้อะไร? ตรงนี้สำคัญ
โครงสร้างสมองของพวกเรามีทั้งหมด 3 ส่วนคือ สัญชาตญาณ อารมณ์ และส่วน EF ทำงานหลังหน้าผาก
ส่วนล่างสุดคือสัญชาตญาณ การเอาตัวรอด ควบคุมอะไรที่มันอัตโนมัติ เราไม่ต้องไปสั่งการอะไร เช่น หายใจ ปรับอุณหภูมิในร่างกาย การหลั่งน้ำย่อย เวลาที่เราตกใจ เราร้องกรี๊ด จับของร้อนก็กระตุก อะไรแบบนี้เราไม่ต้องคิดเยอะ เพราะมันถึงแก่ชีวิต สมองส่วนนี้จะทำงานให้
สมองส่วนที่สองจะอยู่ตรงกลาง เรียกว่าสมองส่วนอารมณ์ ทำหน้าที่เกี่ยวกับความพึงพอใจ ไม่พึงพอใจ ชอบ ไม่ชอบ ที่สำคัญ มันทำหน้าที่ในการเรียนรู้และจดจำ และจะจดจำได้ดีพร้อมอารมณ์ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเวลาที่เรามีความสุขเราจะไม่ค่อยจำเยอะ แต่ถ้าเราถูกทำให้เสียใจ เราจะจำเป็นรายละเอียดเลยว่าวันนั้นเราใส่เสื้อตัวไหน กระโปรงตัวไหน เสียใจด้วยคำพูดอะไร
แล้ว EF อยู่ตรงไหน
ถ้าเป็นเรื่องที่อาจถึงแก่ชีวิต สมองส่วนสัญชาตญาณจะสั่งการพฤติกรรมทันที ไม่ปล่อยให้สมองส่วนอารมณ์และเหตุผลได้คิด เหมือนไฟไหม้แล้วเรายกตุ่มได้ เพราะสมองส่วนสัญชาตญาณจะหลั่งสารที่ทำให้เราทำอะไรก็ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่ถึงแก่ชีวิต แต่เกี่ยวข้องกับความรู้สึก อารมณ์ รัก อบอุ่น ปลอดภัย EF ต้องลงมาช่วยควบคุม แต่ถ้าอารมณ์นั้นมันมาก (ลากเสียง) จนทนไม่ไหว ก็จะแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมทันที มันไม่ยอมให้ EF ลงมาทำงานด้วย
เช่น เราเคยโมโหจนพูดอะไรที่ปกติเราไม่พูดมั้ย? ทำไมเราถึงพูด รู้ว่าพูดแล้วมันไม่ดี แต่อารมณ์มันสูงมากจนต้องแสดงออกเป็นพฤติกรรมทันที ไม่ปล่อยให้ EF ลงมาควบคุม
อันนี้เแหละที่เราจะต้องสอนเด็ก ว่าจะทำยังไงให้ EF ของเด็กถูกกระตุ้นให้ทำงาน ทั้งในเรื่องการควบคุมอารมณ์ ควบคุมความคิด ควบคุมพฤติกรรม
เทคนิค: ฝึก EF ให้ลูกอย่างผู้ที่มี EF
ถ้าคีย์เวิร์ดของ EF การสร้างหรือปลูกฝัง EF ให้กับเด็กตั้งแต่เล็ก คือ 1. ประสบการณ์เบื้องหลัง 2. ความผูกพัน 3. การควบคุมอารมณ์ แต่ขณะเดียวกัน ด้วยระบบการศึกษาที่เน้นวิชาการ เรียนแยกรายวิชา จำนวนเด็กต่อห้องเรียนเยอะมาก เราจะเริ่มแก้ไขอย่างไรดี
ประเด็นที่หนึ่ง-เด็กเยอะ อย่างไรเรื่องนี้ต้องแก้ ถ้าแก้ไม่ได้เราก็ต้องพบกับความเสี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ประเด็นที่สอง-ทักษะวิชาชีพของครูประถม ต้องมีทักษะ มีเทคนิค ทำอย่างไรให้เค้าให้ความสนใจกับเด็กได้หลายๆ คน ครูคนหนึ่งดูแลเด็กน้อยคนย่อมดีกว่าอยู่แล้ว แต่ถ้าเด็กน้อยแล้วครูไม่มีทักษะ มันก็เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นทั้ง 2 อย่างต้องควบคู่กันไป
ยกตัวอย่างเช่น ตัวอาจารย์เองเคยเป็นครูปฐมวัยในอเมริกามา 10 ปี แรกๆ ที่เห็นเด็กร้องไห้เราก็เข้าไปอุ้ม เป็นไปตามสัญชาตญาณ ไม่ต้องคิดเยอะเลย อาจารย์จะโดนเตือนว่าอย่าอุ้ม ไม่ให้อุ้ม ในใจเราคิดเลยนะ… ใจร้ายอะ ทำไมไม่ให้อุ้ม แค่อุ้มเด็กแค่นี้ทำไมต้องเดินมาว่าเรา แต่จริงๆ เค้าอธิบายให้ฟังว่า
พอเราอุ้มเด็กปุ๊ป (ทำท่าอุ้มเด็ก) แปลว่าอะไร? แปลว่าตัวเราปิด เด็กคนที่ถูกอุ้มอาจจะโอเค แต่เด็กคนอื่นละ? พอเราอุ้มคนหนึ่ง คนที่เหลือก็อยากให้อุ้ม แต่พออุ้มไม่ได้แล้วใจร้ายมั้ย?
เค้าก็เลยบอกว่า มีวิธีอื่นนะ ถ้าเรานั่งลงแล้วค่อยๆ ปลอบเค้า ตัวเราก็ยังเปิดอยู่ ทุกคนก็ยังสามารถเข้ามาได้ ถ้าเด็กอยากให้กอดเราก็ต้องมีวิธี คือกอดทีละคน แต่ได้กอดทุกคน ระหว่างนั้นเขาจะได้หัดรอ ระหว่างรอ EF ก็เกิด
แต่ถ้าเราอุ้มปุ๊ป นั่นแปลว่าตัวเราปิดทันที อันนี้จะเป็นเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่เรียกว่า ‘การสร้างวินัยเชิงบวก’
เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้ EF เด็กทำงานได้ง่าย เพราะหากสมองส่วนอารมณ์ของเค้าสงบ ได้รับความรัก ความอบอุ่น มันก็จะยอมทำงานร่วมกับ EF ได้ง่ายขึ้น
ฉะนั้นประสบการณ์เดิมที่เกี่ยวข้องกับความรัก ความอบอุ่น ความผูกพัน มันจะเป็นตัวเอื้อให้ EF ทำงานได้ง่าย แต่หากเขาไม่ได้ถูกฝึก สมองส่วนอารมณ์จะเข้าควบคุมทั้งหมด แสดงออกมาเพื่อขอ เราก็จะเจอพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจ อารมณ์ร้าย เก็บกด
เค้าจะใช้สมองส่วนอารมณ์แสดงพฤติกรรมออกมาเพื่อให้ได้อะไรสักอย่าง เหมือนเรางอน ถ้างอนแล้วไม่ได้เราจะทำยังไง เราก็จะงอนมากขึ้นๆ
เหมือนความรู้สึกเรียกร้องความสนใจ ความอิจฉาริษยา จะถูกบ่มเพาะให้มากขึ้น เกิดการแข่งขันเพื่อแย่งความรักในห้องเรียน?
คนเราเกิดมา มีสมองติดตัวเพื่อเอาชีวิตรอดก่อนในด่านที่หนึ่ง ฉะนั้นอารมณ์อิจฉา โกรธ ขยะแขยง ไม่ชอบ มันเป็นสิ่งที่ติดตัวเรามาอยู่แล้ว การทำแบบนั้นจะยิ่งไปกระตุ้นสมองสัญชาตญาณของพวกเราให้มันกลายเป็นนิสัย เราจึงควรฝึกสมองส่วน EF ให้มันทำงานแรงกว่าสมองพวกสัญชาตญาณ
ผู้ใหญ่มักมองว่า เวลาที่เด็กเรียกร้องความสนใจ งอน ขี้อิจฉา จะเป็นเด็กไม่ดี ต้องดัดนิสัยด้วยการไม่สนใจ ต้องไม่ตามใจ ไม่อย่างนั้นเด็กจะเสียนิสัย?
เมื่อก่อนอาจารย์เองไม่รู้ รู้สึกไม่โอเคกับความรู้สึกอิจฉาริษยา อิจฉาเพื่อน แย่งเพื่อน เห็นแก่ตัว แต่พอรู้ว่าจริงๆ มันเป็นสิ่งที่ติดตัวเรามาตั้งแต่กำเนิดเพื่อเอาตัวรอด เราต้องมีความรู้สึกแบบนี้ ไม่อย่างนั้นเราจะไม่มีทักษะทางสังคม
ต้องรู้ก่อนว่าพฤติกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการเอาตัวรอด เช่น โกหกเมื่ออยากได้ โทษคนอื่นเมื่อถูกจับได้ ทำเป็นเสียงดังข่ม อิจฉา เป็นเรื่องธรรมชาติ เหมือนเด็กเกิดมาพูดไม่ได้ เดินไม่ได้ เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่มันเป็นหน้าที่พวกเราพ่อแม่ครูผู้ปกครอง คนใกล้ชิด ที่จะต้องสอนว่าเมื่อรู้สึกอย่างนั้นแล้วต้องทำอย่างไร แค่นั้นเอง
เราเคยถูกสอนไหม เมื่ออิจฉา เมื่อโกรธทำอย่างไร? เราไม่เคยถูกสอน นี่แหละคือประสบการณ์เดิม เรามีแต่… เมื่อเด็กร้องไห้ ต้อง ‘เงียบ ฮึ้บ’ ‘เดี๋ยวตำรวจมาจับนะ’ เรียกว่าเป็นวินัยเชิงลบทั้งหมด เวลาเราบอกให้เด็ก ‘เงียบฮึ้บ’ เขาจะทำไง? ก็มีตั้งแต่ไม่เงียบ หรือบางคนฮึ้บ แล้วก็สะอื้นร้องต่อ เพราะอะไร? เพราะสมองส่วนอารมณ์สั่งให้เงียบจากความกลัว แต่ระดับอารมณ์ยังเยอะอยู่ มันก็ยังต้องการแสดงพฤติกรรมออกมา เหมือนปวดฉี่ ก็ต้องระบายออก
คำถามก็คือประสบการณ์เดิมที่มีคุณภาพคืออะไร? โดยเฉพาะเรื่องของอารมณ์ เราไม่เคยถูกสอนให้จัดการกับอารมณ์ของตัวเอง เพราะฉะนั้นการจัดการอารมณ์ที่ไม่ดีของตัวเองมันต้องใช้ EFแต่ก็ต้องอาศัยประสบการณ์เดิมให้ EF ได้ดึงออกมา
ไม่ใช่พอเรารู้สึกอิจฉาปุ๊บ ก็มีโทษตัวเอง ไม่ดีเลยเป็นคนขี้อิจฉา เราก็จะรู้สึกผิดกับตัวเองอีก อารมณ์มีแต่ลบๆ ขึ้นมา และมันก็จะถูกฝังอยู่ลึกๆ เพราะอารมณ์ยังไม่ได้รับการจัดการ เหมือนอาหารไม่ย่อย แล้วเราก็เรียกสิ่งนี้ว่าปม
มีวิธีดูแลความรู้สึกอิจฉาของเด็กหลายๆ คนในห้องเรียนอย่างไรบ้าง
อย่างลูกศิษย์ของอาจารย์ตัวเล็กๆ
เราบอกเขาเลยว่าถ้าอิจฉา ให้บอกครูเลยว่าหนูไม่พอใจที่ครูไปเล่นกับเพื่อนคนอื่น บอกเขาว่า ‘หนูอิจฉาใช่ไหม คราวหน้าถ้ารู้สึกอย่างนี้อีกให้เดินเข้ามาถามครูว่ารักหนูมั้ย’ ถ้าคราวหน้าเขาเกิดความรู้สึกแบบนี้อีก ก็จะมีคำศัพท์ของความรู้สึกที่จะจัดการกับอารมณ์ตัวเอง
ได้ว่า ‘อ๋อ… ครูปนัดดาบอกว่าอะไร ความรู้สึกที่ฉันไม่พอใจเพราะครูปนัดดาไปเล่นกับเพื่อน แต่ครูปนัดดาบอกแล้วว่าถ้ารู้สึกแบบนี้อีก ให้ทำยังไงต่อ’ อันนี้เป็นเรื่องของวินัยเชิงบวก ที่จะทำให้สมองส่วนอารมณ์มันโอเค ทำให้ EF ทำงานได้ง่ายขึ้น
ไม่ใช่การบอกว่าให้ ‘เงียบ ฮึ้บ’ แต่ให้อธิบายออกมาว่ารู้สึกแบบนี้นะ และคุยกันได้
ใช่ อย่างแรกเลยคือ ยอมรับอารมณ์ อารมณ์เป็นธรรมชาติ มันตั้งอยู่แล้วดับไป เมื่อมันตั้งอยู่ เราต้องช่วยเค้าดับ
เพราะสมองส่วน EF จะเจริญเติบโตเต็มที่เมื่ออายุ 25 ปีไปแล้ว ฉะนั้น EF ในเด็กอายุ 2 ขวบมันกำลังค่อยๆ พัฒนา ถ้าไม่ช่วยเค้าดับอารมณ์ที่มากเกินไปนี้ EF ไม่มีทางเกิดเลย แล้วก็แสดงออกมาเป็นพฤติกรรม ไม่มีทางให้ EF ลงมาทำงานร่วมด้วย เส้นประสาท EF ไม่ถูกถักทอ ไม่ได้ถูกฝังชิปเอาไว้ เบาบางมากๆ
แต่ท่ามกลางความจริงที่ว่า หน้าที่ของครูไทยไม่ได้ทำงานสอนอย่างเดียว จำนวนเด็กต่อห้องเรียนมีมาก อาจเป็นไปไม่ได้ที่ครูหนึ่งคน จะคลี่คลายอารมณ์ของเด็กได้ทุกคน
แต่งานหลักของครูปฐมวัยคือการดูแลอารมณ์เด็ก ครูไม่ได้เป็นคนควบคุมเด็ก 30 คน แต่เด็ก 30 คนควบคุมตัวเองได้
เมื่อนั้นคุณจึงจะสอนวิชาการได้ เมื่อนั้นความเหนื่อยน้อยลง แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณไม่เคยสอนสิ่งเหล่านี้ คุณก็จะต้องตะโกนใส่เด็กทุกวัน
ต้องขอยืมคำจากนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ คำว่า developmental task หรืองานพัฒนาการ คุณหมอประเสริฐพูดว่างานของพวกเราคือ ตื่นเช้ามาก็ต้องไปทำงาน งานของวัยรุ่นตื่นเช้ามาต้องหาคู่ มีเพศสัมพันธ์ หาเพื่อน หากลุ่ม เพราะมันเป็นพัฒนาการด้านจิตใจ เป็นอินเนอร์ของเค้า
เด็กเล็กๆ ตื่นขึ้นมาเพื่อหา trust หาความไว้เนื้อเชื่อใจจากโลกใบนี้ พฤติกรรมเค้าจะเป็นยังไง เค้าก็ต้องเรียกร้อง ในการเรียกร้องของเค้าก็ไม่มีใครสอนว่าเรียกร้องยังไงให้น่ารัก แต่เราสอนเค้าโดยไม่รู้ตัวว่า เมื่อไหร่ที่เรียกร้องแบบไม่น่ารัก เราจะให้ความสนใจ
เช่นร้องโวยวาย ตีคนอื่น แกล้งเพื่อน แต่แกล้งเพื่อนทีไรครูให้ความสนใจทุกที แม้ความสนใจนั้นจะไม่ดี แต่เขาได้ เรากำลังสอนเค้าว่าทำแบบนี้ได้รับความสนใจ เด็กที่เรียบร้อยกับเด็กเกเร ครูให้ความสนใจใครมากกว่ากัน?
ส่วนใหญ่เป็นเด็กไม่เรียบร้อย?
นั่นแหละ เรากำลังสอนเขาว่า ทำอย่างนี้ได้นะ สมองส่วนอารมณ์จะหิวในเรื่องของความรัก ความอบอุ่น ความปลอดภัย อาจารย์ใช้คำว่าหิว เหมือนเราหิวข้าว การเรียกร้องความสนใจก็เหมือนกัน เวลาหิวข้าว ถ้าข้าวไม่ดีแต่หิวกินมั้ย? อันนี้ก็เหมือนกัน นั่งเรียบร้อยไม่ได้รับความสนใจ ทำตัวไม่เรียบร้อยดีกว่า แม้ว่าความสนใจนั้นจะไม่ดี แต่มันก็ดีกว่าไม่ได้
แต่ผู้ใหญ่มักคิดว่า ห้ามสปอยด์เด็กนะ ตามใจเด็กทุกอย่างไม่ดี
อาจารย์มองว่ามันเป็นความคิดแบบสุดโต่ง ต้องกลับมามองเรื่อง EF ของผู้ใหญ่ เราเคยบอกเค้ามั้ยว่า เขาจะได้อะไรบ้างและเมื่อไหร่ ยกตัวอย่างเช่น การซื้อของเล่นของบ้านอาจารย์ เราจะบอกหลานแต่ละคนเลยว่า ต่อปี เขาจะได้ซื้อของเล่น 9 ครั้ง ถือว่าเยอะแล้วนะ คือแทบจะเดือนละครั้งเลย วันที่จะซื้อของขวัญก็พวกวันเกิดเค้า วันเกิดปู่ย่าตายาย วันปีใหม่ วันคริสมาส วันสงกรานต์ วันรวมญาติ หรือวันสุดท้ายของการเรียน
เวลาที่เด็กเดินไปเจอของเล่นแล้วบอกว่าอยากได้ เราก็บอกว่า ‘ได้’ เดี๋ยวไปจดไว้เลยนะ วันสำคัญที่จะได้ของขวัญวันไหนมาถึงก่อนจะซื้อให้เลย’ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การ ‘ดีเลย์ความรู้สึกอยากได้’ คือเวลาที่เขาอยากปุ๊ป เราบอกว่า ‘ให้’ แต่ให้ไปจดเอาไว้ก่อนนะ แต่ว่าได้มั้ย ได้ สมองส่วนอารมณ์มันจะ เฮ้ย… มันได้นะ คือแค่ไปจดก็ฟินแล้ว เพราะมันเหมือนมันจะได้ เหมือนเราซื้อตั๋วไปต่างประเทศ มีตั๋วแล้วแค่รอวันที่จะมาถึง แค่นี้ก็มีกำลังใจทำงาน
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมากกว่านั้น คือวันที่จะได้ของขวัญมาถึง เค้าจะเริ่ม priority หรือจัดลำดับความสำคัญของขวัญละ อันนี้ไม่เอา เอานี้ก่อนดีกว่า ก็เป็นเรื่อง EF อีก เพราะฉะนั้นที่จารย์บอกว่าสุดโต่งก็คือ อะไรละที่คุณบอกว่าไม่ให้ หรืออย่าสปอย
บางครั้งเราอาจจะเพิ่งซื้ออะไรให้เขาไป พอจะให้อีกทีก็บอกว่า เฮ้ย… ไม่ให้ดีกว่า เดี๋ยวสปอยด์เด็ก แต่เราไม่มีแพทเทิร์นที่แน่นอน เราทำให้เด็กเรียนรู้คำว่า ‘เผื่อฟลุ๊ค’ คำว่า ‘ตัดความรำคาญ’
อย่างเรื่องวินัยเชิงบวก ถ้าคนไม่เข้าใจก็จะมองว่าโลกสวย แต่จริงๆ วินัยเชิงบวกคล้ายกับใจดีแต่ไม่ใจอ่อน ถ้าเด็กลงไปดิ้น สิ่งที่เราจะบอกคือ ‘รู้ว่าเสียใจ รู้ว่าไม่พอใจที่ไม่ซื้อของเล่นให้ลูก’ ถ้าเขากรี๊ดขึ้นมาอีกก็บอกเหมือนเดิม ‘เรารู้ลูกว่าไม่พอใจนะ’ พูดวนไป แต่เด็กจะเรียนรู้ ถ้าร้องแล้วไม่ได้ เขาก็ไม่ร้อง สำคัญคืออยู่ตรงนั้นกับเค้าและเข้าใจเค้า ไม่ใช่แบบ ‘ร้องไปเลยนะ’
พ่อแม่อาจกลัวสายตาของคนอื่นเวลาที่ลูกร้องไห้งอแง หรือเวลาที่เราควบคุมลูกไม่ได้ หรืออาจจะมีคนเอาเรื่องของเราไปลงเพจ ‘ลูกคุณไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน’ หรืออะไรแบบนี้ (หัวเราะ)
เรารู้ว่าเราทำอะไรอยู่ ถ้านอกเหนือจากวิธีพวกนี้ คิดว่ามันไม่น่าจะใช่การจัดการแบบถาวร เพราะว่าขู่วันนี้อาจจะกลัววันนี้ แต่พรุ่งนี้ก็อาจไม่กลัวแล้ว ประเด็นสำคัญอยู่ที่เราซัพพอร์ทความรู้สึกของเด็กยังไง ไม่เคยถูกสอนให้จัดการอารมณ์ ไม่เคยถูกสอนให้ใช้เวลาจัดการ เงียบก็คือต้องเงียบ หรืออย่างลูกโกรธ เราไม่เคยบอกว่า โอเค… หนูกำลังโกรธนะ แล้วให้เวลาจัดการ แต่เราจะพูดๆๆ พูดจนเขาระเบิด
สมองส่วนอารมณ์มันถูกกระตุ้นแล้ว ฉะนั้นการสื่อสารจากข้างนอก นอกจากจะไม่ช่วยให้เขาจัดการอารมณ์ได้ ยังจะมีแต่ซ้ำเติมและทับถม หรือเราไปสอนเขาตอนที่เราเองก็มีอารมณ์ พอสอนไม่ได้ ลูกไม่ฟัง อารมณ์ก็ขึ้นอีก ด่าอีก ไปกันใหญ่เลย เราไม่เคยให้เวลาเด็กได้จัดการกับอารมณ์ตัวเองจริงจัง และการที่เด็กได้จัดการกับอารมณ์ตัวเองนั่นคือการปลูกฝัง EF
แต่ดูเหมือนวัฒรธรรมการเลี้ยงลูกแบบไทยๆ ค่อนข้างจะมีอุปสรรคต่อการสอน EF เยอะพอสมควร เช่น เป็นลูกต้องเชื่อฟังพ่อแม่ ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน หรือว่ารักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี
และไม่ใช่แค่ครอบครัว สถาบันสังคม ในโรงเรียน แต่ระบบข้าราชการ ระบบการทำงานที่เป็นอำนาจจจากบนลงล่าง อย่าตั้งคำถามนะ อย่างเถียงนะ
คิดว่ามันเป็นพฤติกรรมของแต่ละเหตุการณ์มากกว่า อย่างสำนวน ‘รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี’ คนรุ่นอาจารย์เองก็ถูกตีมา แต่คนที่ทายาให้หรือโอ๋เราก็คือคนที่ตี ถ้าตีแล้วแยกย้าย พ่อแม่ ไปทำงาน ลูกไปเรียน กลับมาเจอกัน นอน ตื่นมาก็ตีใหม่? (สีหน้าตั้งคำถาม) แต่คนที่ถูกตีก็ไม่ใช่ว่าจะได้ดีเสมอไป ตีแล้วยังไงต่อ?
ตอนที่อาจารย์ไปสอนเด็กแรกๆ ก็ตีนะ เพราะมันอยู่ในหัวเรา แล้วดันไปอยู่โรงเรียนสาธิตที่เค้าใช้วินัยเชิงบวกเพื่อพัฒนา EF ตอนเราตีทีนี่ ทุกคนมองว่าเราป่าเถื่อน ผอ. เรียกพบเรา ระหว่างที่เดินไปหาผอ. เราคิดเลยว่าโดนแน่ ไม่น่าเลย จะพูดยังไงดี คิดแก้ตัวเป็นพัลวัล แต่พอนั่งหน้าผอ. ปุ๊บ เขาชงชามาให้ บอกว่า ‘จิบชาก่อนนะ ใจเย็นๆ โมโหมากแน่ๆ เลยใช่มั้ย’ น้ำตาเรานี่ร่วงเลย บอกเลยว่าจะไม่ทำอีกแล้ว จะควบคุมอารมณ์ให้ดีกว่านี้ (หัวเราะ)
คนเราจะสำนึกอะไรได้ ก็ต่อเมื่อจิตเราดี มีคนคอยซัพพอร์ต ถ้าไม่มีเราจะสร้างกลไกป้องกันตัวเอง เป็น defense systems organisms ในสมอง เพราะฉะนั้นเมื่อมีใครมาซัพพอร์ตอารมณ์เรา สมองส่วน EF ก็ยอมให้ทำงาน
มันก็กลับมาที่เดิมเลยว่า ประสบการณ์เดิมที่ทำให้เด็กสามารถจัดการกับอารมณ์ หรือทำให้สงบได้ ต้องเป็นประสบการณ์เดิมที่มีคุณภาพ เอื้อให้ EF ได้ทำงาน เวลาที่บอกว่าวัฒนธรรมบ้านเราที่ดูจะยากต่อการสร้าง EF อาจารย์มองว่ามันมีวัฒนธรรมอื่น เช่น ในครอบครัวใหญ่ ทุกคนต้องมีหน้าที่ของตัวเอง ไม่ต้องพูดถึงว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เด็กมีงานบ้าน ได้จัดการกับงานบ้าน จัดการกับเรื่องเรียน นี่คือ EF หรือการลำดับความสำคัญ
วัฒนธรรมที่ทำให้เด็กมุ่งเรียนอย่างเดียวแล้วไม่ต้องทำงานบ้านต่างหากที่ทำร้ายเด็ก เพราะเด็กมองว่าเรื่องของฉันคือเรื่องเรียน จิตอาสาไม่ต้องพูดถึง เพราะจิตอาสาในบ้านยังไม่เกิดเลย แต่ไม่ใช่เด็กทุกคนที่รอดในการเรียน เรียนดีแปลว่าต้องดีกว่าเพื่อน การที่จะทำให้ตัวเองดูดีกว่าคนอื่น ง่ายที่สุดก็คือการที่ทำให้คนอื่นดูไม่ดี เราปลูกฝังแบบนี้ตั้งแต่เด็กโดยที่เราไม่รู้ตัว
อีกอันหนึ่งที่น่ากลัวคือ การแข่งขันสอบเข้าป.1 ตั้งแต่เด็กทำให้เด็กอนุบาลต้องมาแข่งขัน ถ้าไม่ติดเสียใจมั้ย? เราเอนท์ไม่ติดยังเสียใจ จะเป็นไปได้ยังไงถ้าเด็กป.1 สอบไม่ติดจะไม่เสียใจ ชีวิตหลังอายุ 5 ขวบจะมองว่าตัวเองเป็นคนล้มเหลวหรือประสบความสำเร็จ? พ่อแม่ก็กดดัน เพื่อนพ่อแม่ก็ถามว่าสอบได้มั้ย ทำไมสอบไม่ได้ ไปติวที่ไหนกันมา แต่ลูกฉันได้นะ เราจะรู้สึกไงถ้าต้องนั่งฟังอย่างงี้ตั้งแต่ 5 ขวบ
ไม่นับว่าก่อนขึ้นป. 1 ต้องติวเพื่อสอบเข้า ซึ่งเป็นเวลาที่ควรพัฒนาทักษะสมองส่วนอื่นๆ
อย่างที่คุณหมอประเสริฐบอก เด็กๆ ตื่นมาเพื่อหา trust เพื่อหา identity concept ของตัวเอง ซึ่งเราจะบอกว่าตัวเองเป็นอย่างไรก็ต้องฟังจากคนอื่น ถ้าพ่อแม่บอกทุกวันว่าเราดื้อ เราจะคอนเซปท์ตัวเองยังไง?
แต่ถ้าพ่อแม่บอกว่าเราเด็กดี ขยัน มีความรับผิดชอบ แต่พอมีการแข่งขัน เจอหน้ากันก็ถามแล้ว ‘อยู่โรงเรียนอะไร’ แล้วแบบนี้เด็กจะคอนเซปท์ตัวเองยังไง
มันไม่ใช่เรื่องของวัฒนธรรมอย่างเดียว แต่เป็นค่านิยมที่เราไปให้คุณค่ากับอะไรที่ไม่ได้เกี่ยวกับการพัฒนามนุษย์ แล้วเราก็ไม่เปลี่ยนสักที
ไม่แน่ใจว่าสมมุติฐานนี้เป็นจริงแค่ไหน แต่ถ้าการศึกษาปฐมวัยที่ควรจะสร้างความเข้มแข็งทางอารมณ์ สร้างทักษะความพร้อมด้านกล้ามเนื้อต่างๆ แต่แนวทางการศึกษาปัจจุบันมีการแข่งขันโดยวิชาการสูงมากและเริ่มตั้งแต่เด็ก
เป็นไปได้ไหมว่า เพราะเด็กๆ ไม่ถูกผลักดันให้เต็มพร้อมทางด้านอารมณ์ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่อยู่ในภาวะซึมเศร้ากันมากขึ้น เพราะ EF ไม่ได้ถูกพัฒนาอย่างที่ควร
หากเราเข้าใจพัฒนาการเด็ก ต้องรู้ว่าเขาเกิดมาเพื่อรู้จักตัวเองก่อน หากการศึกษาเร่งเค้าให้ทำเรื่องอื่น เรากำลังเสียโอกาสที่เด็กคนหนึ่งจะรู้จักตัวเอง การมีตัวตน การได้ฟังเสียงตัวเองว่ามีความรู้สึก มีความต้องการ เป็นคนสำคัญของใคร
แต่เราเอาเรื่องความรัก ความสำคัญของเขาไปผูกกับเรื่องเรียน ใช้เรื่องเรียนแลกเปลี่ยนในสิ่งที่เค้าต้องการ การที่เด็กจะได้มาซึ่งความรักจากการต้องไปท่องก.ไก่ ข.ไข่ งอแงไม่ได้นะเพราะไม่ถูกยอมรับ แต่ท่องก.ไก่ปุ๊ป ถูกยอมรับ
การเรียนรู้และจดจำเพื่อเอาไปสอบ เป็นการทำงานของสมองแค่ส่วนกลางและส่วนอารมณ์เท่านั้น เราต้องจำตั้งแต่อนุบาลถึงปริญญาตรี เป็น 19 ปีแห่งการ ‘เรียน จำ สอบ ลืม’ ก็ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมอารมณ์เด็กสมัยนี้ถึงร้อน เพราะสมองส่วนอารมณ์มีเครือข่ายโยงใยแน่นหนามากจนทำงานได้เกือบกึ่งอัตโนมัติ
เมื่อเด็กที่เคยท่องจำเพื่อสอบ ต้องคิดวิเคราะห์ขึ้นมา เขาจะคิดแค่แปปนึงแล้วก็เลิกคิด ทนแรงกดดันหรือความเครียดจากการคิดวิเคราะห์ไม่ไหว เพราะไม่เคยถูกฝึก EF เนื่องจากเวลาที่เราใช้ความคิด ก็ต้องควบคุมอารมณ์ควบคู่กันไปด้วย
สร้าง EF ในพ่อแม่และครู
การปลูกฝัง EF ในพ่อแม่และครู เป็นข้อมูลชุดเดียวกันกับการปลูกฝังในเด็กไหม ยากกว่าการปลูกฝัง EF ในเด็กหรือไม่
ครูกับพ่อแม่ ข้อมูลพื้นฐานชุดเดียวกัน ให้เข้าใจว่าการทำงานของสมองคือธรรมชาติ ให้รู้ว่าบางครั้งสิ่งที่เราสอนเป็นการฝืนธรรมชาติการเป็นเด็ก คำว่าพัฒนาการแปลว่าการมีลำดับขั้นตอน ขั้นแรกเป็นพื้นฐานของขั้นต่อไปเสมอ หากขั้นแรกไม่แข็งแรง ขั้นต่อไปก็ไม่แข็งแรง
คือให้รู้ก่อนว่าสมองทำงานยังไง สร้าง EF ยังไง แต่ tools อาจจะต่างกัน เพราะพ่อแม่อยู่กับเด็กหนึ่งต่อหนึ่ง ขณะที่ครู หนึ่งต่อหลายคน
เช่น สำหรับพ่อแม่ง่ายๆ เลย สมมุติว่าเรากำลังจะกลับบ้านจากไปห้างสรรพสินค้า และต้องการให้ลูกเข้าห้องน้ำ แทนการบอกลูกว่าต้องห้องน้ำก่อนกลับบ้านนะ เปลี่ยนเป็นให้ข้อมูลกับลูกว่า ‘อีก 40 นาทีกว่าจะถึงบ้าน หนูว่าหนูจะเข้าห้องน้ำก่อนไหม’ เขาก็ได้คิดตัดสินใจถูกมั้ย หากลูกบอกว่าไม่เข้า คุณแม่ทำไง? ให้บอกว่า โอเค… ไม่เข้านะลูก 40 นาทีเลยนะ มากสุดก็ให้ตัดสินใจอีกทีหนึ่ง
ถ้าลูกฉี่ราดทำไง? ก็ให้เช็ดทำความสะอาดแล้วหันมาบอกลูกว่า ไม่เป็นไรลูก… คราวหน้าตัดสินใจใหม่นะ หรือเค้าไม่ฉี่ก็ชม โอ้โห… ลูกอั้นได้เก่งมากเลย
ไม่ใช่เรื่องใหญ่?
ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะคงไม่ได้ไปห้างแค่วันเดียว นี่แหละคือประสบการณ์เดิมที่มีคุณภาพ คราวหน้าถามใหม่ ‘อีก 40 นาทีจะถึงบ้าน จะฉี่ก่อนไหมลูก’ เขาก็จะดึงความจำออกมาเลยว่า เฮ้ย… เดี๋ยวฉี่ราดอีกนะ แล้วเค้าจะจำได้ดีด้วย เพราะว่าสมองส่วนนี้จะจดจำได้ดีพร้อมอารมณ์ หากอารมณ์นั้นมันถูกซัพพอร์ต EF จะทำงานได้ง่าย การที่เราให้เค้าคิดและตัดสินใจก็เป็นการให้ตัวตน
ดูเหมือนว่าการสอน EF ให้ลูกง่ายกว่าการสอน EF ให้กับพ่อแม่หรือครู แล้วเราจะสอน EF ให้พ่อแม่และครูอย่างไร เพื่อให้เขาพร้อมทำงานกับเด็ก
จากประสบการณ์นะ พ่อแม่ที่ตัดสินใจเปลี่ยนตัวเองแล้วก็ลองทำเลย ทำได้นะ แต่อีกกรณีหนึ่งคือต้องมีโค้ช มีคนที่คอยชี้และให้กำลังใจเค้า เพราะมันจะมีบางคนที่รู้ทฤษฎีแต่พอปฏิบัติ ทำไม่ได้ เหมือนรู้ว่าข้าวผัดใส่อะไรบ้างแต่ทำไม่อร่อยหรือไม่คิดจะทำ แต่ถ้ามีคนมาช่วยมาชิม มาคอมเมนท์ มันจะค่อยๆ ดีขึ้น
ในทางสมองก็เหมือนกัน แน่นอนว่าปลูกฝังแต่เด็กย่อมดีกว่า เพราะเครือข่ายโยงใยประสาทเป็นธรรมชาติวิ่งอยู่ในหัวของเค้า การทำงานของสมองร่วมกันสวยงาม เร็ว แข็งแรง และเป็นนิสัย แต่ถ้าไม่ค่อยฝึก EF เส้นใยประสาทที่เป็นเครือข่ายมันก็จะเบาบาง ยิ่งลงเอามาเชื่อมกับสมองส่วนอื่นมันก็ยิ่งยากกว่า ทำให้สมองส่วนอารมณ์ถูกกระตุ้นได้ง่าย เร็วและนานกว่า จะทำให้คนคนนี้เปลี่ยนจากข้างในได้ยาก
แต่วันที่ตัดสินใจเปลี่ยน สมองของคนเราเปลี่ยนได้ แก่แล้วก็ทำได้ แต่ต้องฝึก ทุกครั้งที่ฝึกก็จะสร้างเครือข่ายใหม่ เซลล์มันไม่สร้างแล้วแต่จะมีการเชื่อมของเซลล์ มีการแบ่งหน้าที่แห่งการเชื่อมต่อ วันหนึ่งมันก็จะได้ แต่ต้องฝึก
พ่อแม่หลายๆ คนไม่มีโอกาสคุยกับอาจารย์ ไม่มีโค้ช ถ้าเขาต้องเจอกับสถานการณ์เฉพาะหน้า เขาจะทำอะไรได้บ้าง
ใช้อินเตอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์ พวกเว็บไซต์มีวิธีต่างๆ มากมาย เลือกดูว่าอะไรที่เข้ากับจริตกับตัวเอง เมื่อได้หลักการก็เอาไปปรับตามสถานการณ์จนได้ ถ้าถามว่าใครจะเป็นโค้ชที่ใกล้ชิดที่สุดของพ่อแม่ คำตอบคือตัวเอง
EF คือการกำกับความ แต่มันก็มี inner voice คือสิ่งที่เราคิดขึ้นมาเพื่อยับยั้งตัวเอง เช่น โมโหอีกแล้ว เราเคยบอกตัวเองไว้ว่าถ้าโมโหเราจะเดินหนีลูกนะ จะไม่พูดอะไรบ้าง ก็ต้องโปรเจคเอาไว้ในหัวเลยว่าคราวหน้าถ้าลูกทะเลาะกัน ฉันจะพูดอะไรบ้าง การบอกว่า ‘ฉันจะพูดอะไรบ้าง’ นี่ก็คือการฝึกนะ
คือถ้าครั้งแรกทำได้แล้ว เครือข่ายมันก็จะเชื่อมโยงครั้งที่สอง สาม สี่ ก็จะง่ายขึ้น?
ใช่ เหมือนขับรถเลย สองครั้งแรกยาก ครั้งที่สามเริ่มโอเค มันเป็นความรู้สึกด้วยนะ การที่คนเราจะเปลี่ยนวิธีเลี้ยงลูก ตอนแรกๆ ไม่ค่อยถูกจริตหรอก แต่พอมันไปเรื่อยๆ แล้วฟีลลิ่งมันได้ มันจึงเป็นนิสัยไง ตอนหลังแทบจะไม่รู้สึกตัวเลยว่า นี่ดิฉันเปลี่ยนไปตั้งแต่เมื่อไหร่ ไม่เห็นรู้สึกตัวเลย
ครูก็เช่นเดียวกันใช่มั้ย
เช่นเดียวกัน อาจารย์มองว่าเทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวก ยังไงก็ต้องมีอยู่ในหลักสูตรครู เพราะครูต้องใช้มากกว่าพ่อแม่อีก ต้องแพรวพราวกว่าเพราะครูคนหนึ่งต้องใช้กับเด็กหลายคน EF ครูต้องดีด้วย คือถ้าเป็นลูกตัวเองเรามีความรักให้เยอะมาก แต่เมื่อไม่ใช่ลูกก็น่ากลัว ฉะนั้น EF คุณต้องดี การดูแลเรื่องความต้องการพื้นฐานของครูก็สำคัญ
แต่ถ้าไม่มองเรื่อง EF ของครู ซึ่งเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลมาก เราเข้าไปจัดการดูแลไม่ได้ทั้งหมด แต่การจัดการห้องเรียนในศตวรรษที่21 ที่มาจากนโยบายหรือวิธีการสอนบางอย่างมันควบคุมได้มากกว่า การเรียนในศตวรรษที่ 21 จะต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ท่ามกลางของข้อจำกัดการศึกษาไทย
ระบบสอบเข้าป.1 นี่อยากให้เลิกมาก ต้องขอผู้ใหญ่เลย ทำไมเราไม่ทำให้ทุกโรงเรียนดีเท่ากันหมด จะเข้าที่ไหนก็ได้ ให้ทุกโรงเรียนมีมาตรฐาน และถ้ามาตฐานดังกล่าวเป็นเรื่องวิชาการ เราก็จะไม่มีทางได้เด็กๆ ในศตวรรษที่ 21 เพราะมาตรฐานทางวิชาการยังไม่ได้ถูกฝึกให้ทำงานเป็นทีม เรื่องการสื่อสาร หรือทำให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์อย่างไร
ในห้องเรียนของเด็กเล็ก ควรจะเป็นเรื่องของ active learning ไม่มีสถานการณ์อะไรที่จะได้ฝึก แต่ถ้าได้เดิน ต่อบล็อก ได้ทำอะไรที่ได้คุยกับเพื่อน แก้ไขปัญหา วางแผน เล่นอะไรแล้วเพื่อนมาทำพังก็จะได้คิดแผนใหม่ เล่นแล้วแพ้เพื่อนก็จะได้ทำใจ นี่คือเรื่องที่ EF จะถูกกระตุ้นอย่างเป็นปกติ เพราะฉะนั้นห้องเรียนเด็กเล็กควรจะเป็น play base การเล่นเป็นพื้นฐาน เป็นอะไรที่ไม่ใช่การนั่งอยู่เฉยๆ
ใบงานต้องไม่มี หรืองานอะไรที่แค่ทำเสร็จแล้วก็ได้รางวัล รวมทั้งวิธีการสอนต้องเคารพในความรู้สึกและความคิด เช่น เคยไหมเวลาที่ครูบอกให้ยกมือถามหรือตอบคำถามในห้อง แล้วเราไม่กล้ายกเพราะประสบการณ์เดิมของเราบอกว่า เราเคยตอบแล้วผิด ผิดแล้วโดนด่า หรือแค่ถามก็บอกว่า ‘ทำไมถามอะไรแบบนี้ ถามได้ยังไงคำถามนี้ ฉันเพิ่งพูดไปอยู่แหม่บๆ’ (ทำเสียงโหด) แล้วก็จะทำตัวไร้ตัวตนทันทีไม่สบตา สมองมันก็ไม่รู้หรอกนะ แต่แค่สั่งว่าต้องไม่มีตัวตน แล้วถ้าสมองสั่งว่าเราไม่อยากมีตัวตน แต่ครูดุว่าทำให้เรามีตัวตนอีก อารมณ์ขึ้นมาอีกแล้ว รู้สึกเสียหน้า อะไรแบบนี้ก็ควรเลิก
รวมทั้งการเรียนแบบผิดถูกไปได้แล้ว คือเขาค้นได้เองว่า fact ที่ว่ามันผิดหรือถูก เช่น วิชาเลข ถ้าเปลี่ยนวิธี ให้แบ่งกลุ่มแล้วทำด้วยกัน ให้แต่ละกลุ่มทำให้ดี โดยที่ครูอย่าเพิ่งบอกว่าผิดหรือถูก แค่เอาวิธีมาทำให้กันเห็น แล้วก็ถกเถียงกัน ครูอยู่เฉยๆ เลยนะ แค่สอนด้วยการบอกว่า แบบนี้มาได้ยังไง แล้วอย่างนี้มายังไง คือค่อยๆ ไล่ลำดับไป เด็กๆ ก็จะเห็นแล้วว่า ‘เฮ้ยครู… อันนี้ผิดๆ หนูขอแก้แปปนึงนะ’ ไอ้อะไรแบบนี้ เขาจะรู้ด้วยตัวเองว่าอะไรผิด ไม่ผิด พอรู้แบบนั้นเขาก็จะไม่อาย ไม่กลัว ไม่เสียหน้า เพราะมาจากความเข้าใจและยอมรับ
คือการสอนยังไงให้ EF มันเปิด การถูกผิดมันไม่ควรเกิดขึ้น แต่เป็นการให้พื้นที่เด็กได้คิด และถกเถียงกัน