- หัวใจสำคัญในการสื่อสารกับลูกอย่างสันติ (Nonviolent Communication: NVC) คือ พ่อแม่ต้องคำนึงว่าลูกเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีอำนาจเหนือกัน และลูกมีอิสระในการตัดสินใจด้วยตนเอง
- หากต้องการให้ลูกทำตาม พ่อแม่จำเป็นต้องงัดกลยุทธ์ขอความช่วยเหลือให้ลูกตัดสินใจเอง โดยใช้ประโยคเชิงบวกและเฉพาะเจาะจง เช่น แทนที่จะสื่อสารว่า “ช่วยงานที่บ้านหน่อย” พ่อแม่อาจพูดว่า “ลูกช่วยพ่อกับแม่ล้างจานตอนนี้หน่อยได้ไหม”
- การสื่อสารแบบ NVC เป็นพื้นฐานการพูดคุยกับลูกโดยรับฟังความต้องการของเขาด้วยความเคารพ ในขณะเดียวกันลูกก็ได้รับฟังความต้องการของพ่อแม่โดยปราศจากการรู้สึกผิดหรืออับอาย ทำให้ลูกรักตัวเองมากขึ้นและครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างสันติมากขึ้น
หลายครั้งพ่อแม่พยายามอบรมลูก หวังให้ลูกเติบโตขึ้นเป็นมนุษย์ที่มีคุณภาพ แต่มักมองข้ามไปว่า การสื่อสารที่พ่อแม่ใช้กับลูกอาจเป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่งที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจและทักษะในการใช้ชีวิตของลูกในอนาคต เคยสังเกตไหมว่าเวลาพ่อแม่ออกคำสั่งให้ลูกทำตามในสิ่งที่ต้องการ ลูกๆ อาจโต้กลับด้วยการงอแง หรือเมินเฉยต่อคำสั่ง ทำให้พ่อแม่กลับเป็นฝ่ายยิ่งฉุนเฉียวและโต้กลับลูกรุนแรงมากขึ้น ท้ายที่สุดความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกก็จะยิ่งห่างเหินลงไปเรื่อยๆ
“ความรุนแรงย่อมถูกตอบกลับด้วยความรุนแรง”
ลองคิดดูว่าหากลูกได้เรียนรู้ ซึมซับการสื่อสารเช่นนี้ตั้งแต่ยังเด็ก ลูกจะมีทักษะในการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นอย่างสันติได้อย่างไร?
มาแชล บี โรเซนเบิร์ก (Marshall B. Rosenberg) นักจิตวิทยาที่พัฒนาแนวคิดการสื่อสารอย่างสันติ (Nonviolent Communication: NVC) พูดได้อย่างน่าสนใจว่า หัวใจสำคัญในการสื่อสารกับลูกด้วยวิธี NVC คือ พ่อแม่ต้องคำนึงว่าลูกเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีอำนาจเหนือกัน และลูกมีอิสระในการตัดสินใจด้วยตนเอง (Autonomy)
แต่โดยธรรมชาติแล้วพ่อแม่มักคิดว่าตนเองมีบทบาท ‘สั่งสอน’ ลูก ในขณะที่ลูกมีบทบาทเป็น ‘ผู้ตาม’ เท่านั้น สิ่งที่ตามมา คือ เมื่อพ่อแม่ใช้อำนาจ ‘ออกคำสั่ง’ อำนาจและอิสรภาพในการตัดสินใจของลูกถูกลดทอนลง
ลูกมีทางเลือกสองทาง คือ…
หนึ่ง ยอมทำตามคำสั่ง ซึ่งอาจเกิดจากความรู้สึกผิดและความอับอายที่ทำให้พ่อแม่ผิดหวัง หรือเกิดจากความกลัวเพราะอาจถูกลงโทษ
สอง ต่อต้านคำสั่ง ซึ่งอาจเกิดจากการถูกตำหนิจึงทำให้ลูกเกิดปฏิกิริยาป้องกันตัวเอง (defensive) หรือต้องการพิสูจน์ว่าพ่อแม่ผิด เช่น กลับบ้านเลยเวลาเคอร์ฟิวเพื่อพิสูจน์ว่าพ่อแม่กังวลมากเกินไป ในขณะเดียวกันพ่อแม่อาจรู้สึกล้มเหลวที่ไม่สามารถสั่งสอนลูกได้
โรเซนเบิร์กให้ความเห็นว่า การสื่อสารผ่านความรู้สึกแย่เหล่านี้ ล้วนเป็นการสื่อสารที่แฝงไปด้วยความรุนแรง และอาจเป็นต้นเหตุให้ลูกขาดความมั่นใจในตัวเอง และไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์บนพื้นฐานของความเข้าใจซึ่งกันและกันได้
แล้วจะสื่อสารอย่างสันติกับลูกอย่างไร?
พ่อแม่ต้องคำนึงว่าเป้าหมายของการสื่อสารอย่างสันติ คือ การรับฟังความต้องการของคนอื่นและของตนเองอย่างลึกซึ้ง บนพื้นฐานของความเห็นอกเห็นใจกัน (Empathy) ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ปกครองกับลูก เกิดจากความต้องการของแต่ละฝ่ายไม่ถูกรับฟังและไม่ถูกตอบสนองจนทำให้เกิดความคับแค้นใจ โรเซนเบิร์ก แนะนำว่าพ่อแม่ควรตั้งคำถามกับตนเองสองข้อก่อนอบรมลูก ดังนี้
คำถามที่ 1: พ่อแม่ต้องการให้ลูกทำอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม? หากพ่อแม่ถามคำถามนี้เพียงข้อเดียว อาจทำเลือกวิธีทำโทษลูก ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตของลูกได้ ดังนั้นจึงต้องถามคำถามข้อที่สองควบคู่ด้วย
คำถามที่ 2: พ่อแม่มีเหตุผลอะไร ถึงอยากให้ลูกทำในสิ่งที่ต้องการ? คำถามนี้จะช่วยให้เด็กเข้าใจเหตุผลการอบรมของพ่อแม่ มากกว่าการทำโทษซึ่งอาจทำให้เด็กกลัว
ขั้นตอนต่อไป คือ การสื่อสารเหตุผลระหว่างผู้ปกครองกับลูกควรใช้ภาษาบนพื้นฐานของ ‘การสังเกต (observation)’ และปราศจาก ‘การประเมิน (evaluation)’ โดยการสังเกตคือภาษาที่เกิดจากการวิเคราะห์ความจริง (facts) ที่เกิดขึ้น โดยไม่มีอคติในใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นถูกหรือผิด (right or wrong) และไม่โยนความผิดว่าการกระทำของคนอื่นเป็นต้นเหตุของความรู้สึกที่เกิดขึ้น
แทนที่จะสื่อสารว่า “ทำไมลูกเถียงกลับพ่อแม่แบบนี้ ลูกทำให้พ่อแม่เสียใจนะรู้ไหม” คำพูดนี้ อาจทำให้ลูกรู้สึกผิด (guilty) ขณะเดียวกัน พ่อแม่ไม่ได้สื่อสารความต้องการของตนเองให้ลูกได้รับฟัง ประโยคที่นักจิตวิทยาแนะนำให้ใช้ คือ “พ่อแม่เสียใจมากนะ เพราะพ่อกับแม่อยากให้เราเคารพซึ่งกันและกัน” ประโยคหลังแสดงให้เห็นว่าไม่มีใครถูกหรือผิด อีกทั้งพ่อแม่ได้แสดงความรับผิดชอบกับความรู้สึกตนเอง และยังสามารถแสดงความต้องการของตนเองออกมาได้ด้วย หรืออีกตัวอย่างคือ แทนที่จะพูดว่า “พี่น้องตีกันมันผิดนะลูก” พ่อแม่อาจพูดว่า “พ่อแม่รู้สึกกลัวที่ลูก ๆ ตีกัน เพราะพ่อแม่อยากให้ทุกคนในครอบครัวอยู่ด้วยกันอย่างปลอดภัย”
ตัวอย่างดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการสื่อสารอย่างสันตินั้น จำเป็นต้องใช้ความเห็นอกเห็นใจกันอย่างลึกซึ้ง เพราะต้องกำจัดอคติในใจออกไปให้ได้ โดยเฉพาะการจ้องตัดสินผู้อื่นว่าสิ่งที่เขากระทำนั้นถูกหรือผิด นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงอีกว่าการกระทำของผู้อื่นไม่ได้กำหนดความรู้สึกของเรา แต่ตัวเราต่างหากเราที่เป็นผู้กำหนดหรือเลือกว่าแสดงปฏิริยาโต้ตอบอย่างไร
ท้ายที่สุดแล้ว การสื่อสารอย่างสันติ ช่วยคลายความขัดแข้งระหว่างผู้คน เพราะหากสังคมเพราะผู้ฟังไม่ได้สัมผัสถึงเจตนากล่าวหาหรือการถูกตำหนิจากผู้พูด เป็นการสื่อสารที่เกิดขึ้นจากหัวใจของการเคารพซึ่งกันและกัน และมุ่งหวังตอบสนองความต้องการของทุกฝ่าย
ประโยค “คำสั่ง” มักไม่ได้ผล
พ่อแม่จะทำให้ลูกทำตามในสิ่งที่ต้องการได้อย่างไร?
มนุษย์ทุกคนมีอำนาจและอิสรภาพในการตัดสินใจด้วยตนเอง บ่อยครั้งคำสั่งมักถูกตอบกลับด้วยแรงต่อต้าน อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ลูกมักเข้าใจว่าประโยคที่พ่อแม่ใช้เป็นคำสั่ง ถ้าไม่ทำตามอาจถูกลงโทษหรือรู้สึกผิดและอับอาย ดังนั้นหากต้องการให้ลูกทำตาม พ่อแม่จำเป็นต้องงัดกลยุทธ์ ขอความช่วยเหลือ (request) ให้ลูกตัดสินใจเอง โดยใช้ประโยคเชิงบวกและเฉพาะเจาะจง
เช่น แทนที่จะสื่อสารว่า “ช่วยงานที่บ้านหน่อย” หรือ “อย่าทำแบบนั้นอีกนะ” พ่อแม่อาจพูดว่า “ลูกช่วยพ่อกับแม่ล้างจานตอนนี้หน่อยได้ไหม”
โรเซนเบิร์ก กล่าวว่า หลักการสำคัญของการขอคือ “ฉันต้องการให้เธอทำแบบนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของฉัน แต่หากความต้องการของเธอขัดแย้งกับความต้องการของฉัน ฉันก็อยากรับฟัง และเรามาร่วมกันหาทางตอบสนองความต้องการของทุกฝ่ายกันเถอะ” หลายครั้งการสื่อสารแบบ NVC ช่วยให้เราหาทางประนีประนอมได้ เนื่องจากต่างฝ่ายต่างรับฟังซึ่งกันและกันโดยปราศจากอคติ
เบื้องหลังของบทสนทนาที่เต็มไปด้วยอารมณ์คุกรุ่นและการพูดโต้กลับอย่างรุนแรงทั้งในครอบครัวและสังคม คือ ความต้องการที่ไม่ได้ถูกตอบสนอง และอคติที่เกิดขึ้นจากการใช้การสื่อสารที่แสดงออกถึงคำสั่ง หรือกล่าวหากันและกันว่าผิด การสื่อสารแบบ NVC เป็นพื้นฐานการพูดคุยกับลูกโดยรับฟังความต้องการของเขาด้วยความเคารพ ในขณะเดียวกันลูกก็ได้รับฟังความต้องการของพ่อแม่โดยปราศจากการรู้สึกผิดหรืออับอาย ทำให้ลูกรักตัวเองมากขึ้นและครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างสันติมากขึ้น
ลูกสามารถเรียนรู้ทักษะการรับฟังนี้ได้ตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อเติบโตและต้องปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เขาจะเข้าใจความต้องการของคนอื่นได้ แม้อยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เป็นความขัดแย้งขั้นวิกฤติ การสื่อสารอย่างสันติจะช่วยให้เด็กและเยาวชนสามารถแก้ไขปัญหาของตัวเองในอนาคตและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ ด้วยความเข้าใจและเคารพผู้อื่น
อ่านบทความเกี่ยวกับ Nonviolent Communication เพิ่มเติม
การสื่อสารอย่างสันติไม่ใช่การต่อสู้ตอบโต้เพื่อเอาชนะ แต่กลับมาเข้าใจความต้องการของตัวเอง
หยุดทำร้ายใจด้วยคำพูด เริ่มต้นกันใหม่ด้วยการสื่อสารอย่างสันติ
อ้างอิง
Rosenberg, Marshall B. Nonviolent Communication: A Language of Life. California: PuddleDancer Press, 2005.
Rosenberg, Marshall B. Raising Children Compassionately: Parenting the Nonviolent Communication Way. California: PuddleDancer Press, 2005.
Rose, Marion Bedenoch. “The Heart of Parenting: Nonviolent Communication in Action.” https://www.nonviolentcommunication.com/pdf_files/parenting_communication_mrose.pdf.
Lasater, Judith Hanson and Ike K. Lasater. What We Say Matters: Practicing Nonviolent Communication. Boulder: Shambhala, 2009.