Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
อ่านความรู้จากบ้านอื่น
14 November 2017

โลกไม่สีชมพูของคุณแม่ ‘PINK’

เรื่อง ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

ศิลปินในวงการเพลงป๊อปมากมายได้รับรางวัล MTV’s Vanguard Award รางวัลอันทรงเกียรติที่ MTV จะมอบให้กับบุคคลที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมทางดนตรี ตลอดช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา บริทนีย์ สเปียรืส, จัสติน ทิมเบอร์เลค, เคนเย เวสต์, บียอนเซ หรือริฮานนาล้วนเคยได้รับรางวัลนี้กันมาแล้วทั้งนั้น ตามธรรมเนียม นี่คือช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองผลงานที่อยู่ในระดับท็อป, การกระหน่ำเมดเลย์เพลงฮิตและการกล่าวสุนทรพจน์อันงดงามแก่ศิลปินที่ผลิตผลงานมาจนถึงจุดนี้ได้ ซึ่งในเดือนสิงหาคมนี้เป็นคิวของอลีเซีย มัวร์ หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม ‘พิงค์’

ตอนที่เธอขึ้นมากล่าวสุนทรพจน์บนเวที VMAs พิงค์ไม่ได้มาพูดขอบคุณซึ้งๆ ธรรมดาแล้วเดินจากไป แต่เธอใช้เวลาบนเวทีถ่ายทอดเรื่องราวของวิลโลว์ ลูกสาววัย 6 ขวบเกี่ยวกับการยอมรับความบกพร่องของคนอื่นและพลังแห่งการเป็นคนประหลาด

เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่งวิลโลว์กลับมาจากโรงเรียนพร้อมประกาศว่าเธอเป็นเด็กที่ “หน้าตาหน้าเกลียดที่สุดเท่าที่ตัวเองเคยเจอมา” หลังจากที่ได้ฟังลูก มัวร์ก็ลงมือทำ powerpoint โชว์ศิลปินเพลงป๊อปที่มีลักษณะของความเป็นสองเพศ (Androgynous)ให้ลูกดู เช่น เดวิด โบวี, ปรินซ์ หรือแอนนี เลนน็อกส์

“เราจะไม่เปลี่ยน” เธอประกาศแก่เหล่าเซเล็บที่กำลังนั่งฟังด้วยความปีติ

“แต่เราจะช่วยให้คนอื่นเปลี่ยนเพื่อที่พวกเขาจะได้มองเห็นความงามในรูปแบบอื่นบ้าง”

ตลอดระยะเวลาที่เธอประกอบอาชีพศิลปิน อาจจะกล่าวได้ว่าครั้งนี้พิงค์กลั่นกรองสุนทรพจน์ออกมาได้อย่างสะอาดสะอ้าน เธอพูดถึงเรื่องการต่อต้านตัวตนและความจริงใจด้วยอารมณ์ที่ท่วมท้นและพลุ่งพล่าน ซึ่งทำให้สุนทรพจน์ครั้งนี้กลายเป็นไวรัลยิ่งใหญ่ในอินเทอร์เน็ต สัปดาห์ต่อมา มัวร์เผยว่าเธอมีความรู้สึกผสมปนเปหลังจากที่โลกออนไลน์รับรู้ รู้สึกได้ถึงชีวิตหลังไวรัลที่แข็งแรง

“ฉันคิดว่ามันสวยงามนะ เพราะนี่คือประสบการณ์ของฉันกับลูกสาว ถ้ามันทำให้ใครสักคนรู้สึกดีกับตัวเองขึ้นมาได้ ฉันก็พร้อมที่จะยืนหยัด แต่มันก็น่าเศร้าที่เรื่องนี้กระทบใจคนจำนวนมาก ฉันเกลียดการที่รู้ว่าคนเราเกลียดตัวเองมากขนาดไหน การเกลียดตัวเองมันเป็นเรื่องที่ยังสดใหม่มาก แล้วมันยากที่จะมองดูภาวะเช่นนี้”

แต่มีอยู่หนึ่งคนที่ไม่ได้รู้สึกประทับใจไปกับสุนทรพจน์และบรรยากาศจับใจ วิลโลว์หัวเราะคิกคัก เห็นได้ชัดเลยว่าเธอไม่ได้รู้สึกประทับใจอะไรกับคำพูดของแม่

“เธอคิดว่าฉันโชว์เด๋อ”

ความผัวเดียวเมียเดียว คือการทำงาน

ในโลกของเพลงป๊อป พิงค์มักจะถูกมองว่าผิดปกติอยู่เสมอ เพราะพิงค์ไม่เคยพริ้งมากพอที่จะเป็นนักร้องหน้าใหม่ที่ฉายแสงได้ ถึงแม้ว่าจะใส่พลังเต็มที่ในอัลบั้มแรก ‘Can’t Take Me Home’ แนวคลาสสิกที่ไม่ค่อยน่ายกย่องของยุคอาร์แอนด์บี ป๊อปปลาย 90 แต่ในอัลบั้มสองในปี 2544 ‘Missundaztood’ ต่างหากที่เธอเริ่มจะออกนามบัตรแจกทุกคนเพื่อบอกความเป็นพิงค์ได้แล้ว เนื้อร้องที่มีเนื้อหาเหมือนวรรคขึ้นต้นแสนจริงใจในไดอารีผสานกับแนวดนตรีป๊อปร็อคเฟรนด์ลี่แต่เหลี่ยมจัด เธอเติบโตจากลุคเด็กสาววัยรุ่นขี้ยาจากดอยเลสทาวน์ที่วันๆ เอาแต่ก่อเรื่องไม่เข้าท่า ไปสู่การเป็นคุณแม่ลูกสองอายุ 38 ปีที่มีชีวิตแต่งงานที่มั่นคง ใสสะอาดตั้งแต่อายุ 15 และกลายเป็นคนที่บอกว่าจะไม่จัดปาร์ตี้ระหว่างทัวร์คอนเสิร์ตอีกแล้ว แต่จะพาทีมงานและลูกไปเที่ยวสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์ในพื้นที่แทน

“ตอนที่ยังเด็ก พ่อแม่ของคนอื่นมักจะไม่อนุญาตให้ฉันไปเล่นที่บ้าน” เธอทวนความทรงจำ

“ฉันเป็นเด็กเวร ไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้ลูกมาอยู่ใกล้ๆ ฉันเป็นเด็กป่วน ฉันเป็นเด็กแห่งความฉิบหาย ฉันเป็นเด็กที่มีปากมีเสียง ฉันมักจะมากับปัญหาเสมอ แต่ตอนนี้ พวกแม่ๆ กลับบอกว่า “พวกเรารู้สึกดีที่ลูกสาวของเราชอบเธอนะ” มัวร์นอนพิงโซฟา “โลกมันก็กลับตาลปัตรแบบนี้แหละ”

พิงค์, คาร์ลีย์ ฮาร์ท และ วิลโลว์ ฮาร์ท ในงาน MTV Video Music Awards 2017

มัวร์และสามีแต่งงานกันในปี 2545 ใช้ชีวิตแต่งงานด้วยกันมา 11 ปี และเพิ่งจะมีเจมส์สัน ลูกชายคนที่สองเมื่อปีที่แล้ว เธอยินดีที่จะเปิดเผยชีวิตแต่งงาน ดูสบายๆ และไม่มีอะไรปิดบัง จริงๆ ก็ดูจะหลุดๆ นิดหน่อยด้วยเหมือนกัน

“บางครั้งฉันมองฮาร์ทแล้วก็คิดว่าเขาเป็นผู้ชายที่ชอบใช้ความคิด, มีเหตุมีผลและคงเส้นคงวา…และเหมือนหินผา เขาเป็นผู้ชายที่ดี พ่อที่ดี เป็นพ่อในแบบที่ฉันคิดว่าเขาจะเป็นได้ แต่ฉันก็จะมองเขาแล้วคิดว่า ฉันรักเธอไม่ลงหรอกเพราะฉันไม่ได้ชอบอะไรในตัวเธอเลย เราไม่มีอะไรที่เหมือนกันสักอย่างแล้วฉันก็ไม่ได้ชอบสิ่งที่เธอชอบด้วย ฉันไม่อยากจะเจอเธออีกครั้งด้วยซ้ำ แต่สองสัปดาห์ต่อมาฉันกลับคิดว่าความสัมพันธ์กำลังเป็นไปอย่างดี ดีมากๆ เลย แล้วคุณก็จะผ่านช่วงเวลาที่ไม่ได้มีเซ็กส์ไปปีหนึ่ง เหมือนเตียงตายไปแล้ว? มันมาได้สุดแค่นี้ใช่ไหม? ฉันต้องการเขาจริงๆ หรือเปล่า? แล้วเขาล่ะต้องการฉันไหม?” เธอสูดลมหายใจ

“ความผัวเดียวเมียเดียว (monogamy) มันคือการทำงาน! แต่คุณต้องตั้งใจทำงาน มันถึงจะออกมาดี”

มัวร์เล่าว่าเธอเป็นคนเปิดเช่นนี้มาโดยตลอดทั้งในเนื้อร้องและทำนองของชีวิต อย่างเดียวที่เธอตัดสินใจว่าจะไม่พูดถึงมันเลยคือเรื่อง “ความรุนแรงของผู้หญิงต่อผู้หญิง” (girl-on-girl violence) เพราะเมื่อนักข่าวถามเธอเกี่ยวกับเรื่องอื้อฉาวล่าสุดในวงการป๊อป (เรื่องเทย์เลอร์ สวิฟต์ กับเคธี แพร์รี ทะเลาะกัน) เธอก็คิดได้ว่าการไม่ให้ความเห็นอะไรสบายใจกว่าเยอะ

“ฉันเกลียดเรื่องพวกนี้ เกลียดที่มันมีแพร่หลายไปทั่ว” เธอกล่าว “ฉันแค่ชอบใช้ความคิดมากกว่าที่จะเสียเวลาไปคิดถึงมัน”

แต่พอเป็นประเด็นอื่น เธอกลับอดที่จะปลดปล่อยออกมาไม่ได้ การเขียนเนื้อเพลงในเชิงสารภาพความคิดไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก่อนที่โซเชียลมีเดียจะทำให้ขอบเขตเรื่องส่วนตัวของผู้คนป่นรวมกัน มัวร์ก็ถ่ายทอดเรื่องเหล่านั้นออกมาก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งการเสพยา, ความสับสนอลหม่านของการหย่าร้างในครอบครัว หรือแม้กระทั่งการแยกกันอยู่ชั่วคราวกับฮาร์ท ที่กลายมาเป็นท่อนแสบๆ ในซิงเกิล So What ที่ร้องว่า “รู้สึกว่าฉันจะทำสามีหาย ไม่รู้ว่าเขาไปไหน” เธอแซะตัวเองขำๆ ว่ามันคือ “การอาเจียนความจริง”

“ฉันผลิตมันออกมาอย่างชัดเจน และคิดว่าไม่ได้รับรู้ถึงความสำคัญของมันจนกระทั่งได้ออกเพลง Family Portrait” ซิงเกิลออกมาในปี 2544 มัวร์จำได้ว่ามีแฟนเพลงคนหนึ่งยื่นจดหมายที่ร่ายยาวเรื่องชีวิตเลวร้ายที่เต็มไปด้วยการโดนข่มเหง และเขียนบอกว่าถ้าตอนนั้นไม่ได้ฟังเพลงของพิงค์ เธอคงคิดที่จะฆ่าตัวตายไปแล้ว

“ฉันนั่งร้องไห้เป็นอีบ้าอีบออยู่ตรงนั้นและส่งคนออกไปตามเธอกลับมา ฉันไม่อยากให้เธอกลับบ้าน แต่เธอหายตัวไปแล้ว และฉันก็ไม่มีโอกาสได้เจอเธออีกเลย” มัวร์ตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้อีกเรื่อยๆ เธอมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนทางอารมณ์กับแฟนเพลงและได้รับจดหมายมากขึ้น

“ฉันเริ่มที่จะเข้าใจว่าเวลาที่ฉันอึดอัดสุดขีด อ่อนแอสุดขีด ป่าวร้องในสิ่งที่ซื่อสัตย์สุดขีด น่าอายสุดขีด นั่นคือสิ่งที่คนฟังจะรับรู้ได้มากที่สุด และฉันก็ได้บำบัดตัวเองไปด้วยในขณะที่คนอื่นๆ ก็จะได้ผลพลอยได้จากมันไป นั่นคือสิ่งเดียวที่มีความหมายสำหรับฉัน ฉันไม่แคร์ว่าจะต้องชนะรางวัลหรือโพสท่าอยู่บนปกนิตยสารอะไร หรือจะมีใครมาชอบฉัน”

เธอเอ่ย “มันไม่เคยเปลี่ยนจุดยืนฉันได้เลย”

ในปี 2555 มัวร์ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารเกย์ the Advocate เกี่ยวกับเรื่องที่เธอโดนข่าวลือและการคาดเดาเพศที่แท้จริงของเธอเป็นปีๆ สื่อบรรยายว่าเธอเป็นประเภท “หลากหลายได้หมด” เมื่อถกถึงประเด็นว่าเธอกำลังชอบใครอยู่ ในช่วงที่พิงค์เป็นนักร้องป๊อปใสๆ ในยุคแรกของช่วงทศวรรษ 2000 มีข่าวออกในหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์บ่อยๆ ว่าเธอกำลังปิดบังอะไรบางอย่างอยู่ 15 ปีต่อมา ประเด็นเรื่องความกำกวมของรสนิยมทางเพศ (sexual orientation) ผูกติดอยู่กับป๊อปสตาร์สมัยใหม่ เทรนด์ของโลกจึงเปลี่ยนไปอีกครั้งหนึ่ง

“แต่ฉันคิดว่าคนชอบไมลีย์ ไซรัสนะ….ฉันรู้สึกว่าคนเริ่มไม่ค่อยจะอยากโดนแปะป้ายกันแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ฉันชอบมาก” เธอยักไหล่

“มันคือสิ่งที่ฉันเป็นมาโดยตลอด ปล่อยๆ มันไปเถอะ ฉันแค่อยากใช้ชีวิตของฉัน ฉันไม่ต้องการให้คุณมาจับฉันยัดใส่กล่องเพื่อที่จะมาวิเคราะห์ว่าฉันคิดอะไร หรือเป็นอะไร เพราะตัวฉันเองก็ยังสรุปไม่ได้เลย”

เธอหัวเราะเสียงแหลมเพราะรู้สึกตลก “ยังลองไม่หมดเลยอ่ะ…”

มัวร์คือส่วนผสมที่น่ารักระหว่างความขบถและความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น เธอยอมรับว่าเธอมี “ความเซนซิทีฟสูงมาก” ซึ่งบางครั้งมันขับให้เธอลงมือทำอะไรห้าวๆ ที่รังแต่จะสร้างปัญหาให้ตัวเอง “IRHBA” เธอหัวเราะ ความหัวร้อนแบบฉับพลันน่ะ (Instant Red Hot Burning Anger) มันคล้าย IBS (โรคลำไส้แปรปรวน) แหละ แต่ไม่เหมือน”

จงซื่อสัตย์กับตัวเอง

มัวร์เผยว่าพ่อของเธอเป็นทหารที่ต่อสู้ในสงครามเวียดนาม เขาสอนให้เธอยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิ่งที่ถูกต้อง “ชื่อเล่นของเขาคือนายเจ้าปัญหา เขาเลี้ยงฉันมาจากประโยคของเช็คสเปียร์ที่ว่า “จงซื่อสัตย์กับตัวเอง” (to thine own self be true) บางครั้งคุณต้องยืนอย่างโดดเดี่ยวเพื่อสิ่งที่คุณเชื่อมั่นและช่วยเหลือคนตัวเล็กๆ คือฉันค่อนข้างมาในสไตล์ราชากำปั้น (Rocky Balboa) ฉันมาจากฟิลาเดลเฟีย ฉันมีวิญญาณนักสู้ในตัว”

ในปี 2549 เธอเลยใส่วิญญาณนักสู้ลงใน Dear Mr.President เพลงบัลลาดบาดหัวใจเกี่ยวกับการต่อต้านสงครามเพื่อส่งสารให้ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช โดยตรง ช่วงนั้นการวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดียังไม่แพร่หลายเหมือนอย่างทุกวันนี้ ปฏิกิริยาโต้กลับจึงดีดค่อนข้างฉับพลัน

“ฉันโดนโห่ไล่ตอนขึ้นแสดงบนเวที โดนปามะเขือเทศใส่ไม่ยั้ง ฉันเลยหยุดแสดงแล้วพูดว่า “พวกคุณได้ยินเสียงนั้นไหม” แล้วพวกเขาทุกคนก็ตอบว่า “ได้ยิน” ” เธอเว้นจังหวะเพื่อสื่อให้รู้ว่าผลกระทบมันร้ายแรง “ฉันเลยบอกว่า “นั่นแม่งเป็นเสียงของความไร้พลัง ไอ้เ_ี้ยเอ๊ย!” เธอตะโกนพร้อมชูนิ้วกลาง ซึ่งตอนนี้เธอก็ยังภูมิใจอยู่เลยขอพูดสักหน่อย “มันคือการแบ่งขั้วอย่างเห็นได้ชัดนั่นแหละ แต่ฉันคิดชัดแล้วว่าไม่ว่าคนจะเห็นด้วยกับฉันหรือไม่ พวกเขาก็จะไม่บอกว่าฉันเป็นคนปลอมๆ ฉันโอเคกับมันเพราะจุดนี้สำคัญมากกว่า ไม่จำเป็นต้องมาเห็นด้วยกับฉันหรอกเพราะฉันต้องการเรียนรู้”

ตอนนี้พ่อแม่ทั้งหลายคงไม่ต้องกังวลแล้วว่าอลีเซีย มัวร์จะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับลูกของพวกเขา แต่จริงๆ พิงค์ก็ยังแฮปปี้ที่จะมีส่วนสร้างความป่วนเล็กๆ น้อยๆ เป็นบางครั้งบางคราว “ฟังนะ” เธอเริ่ม “ฉันน่ะมีส่วนผสมของ “คนเ_ี้ย อยู่ เรื่องมันก็มีอยู่แค่นั้นแหละ”

Tags:

เพศพ่อแม่ศิลปินดนตรี

Author:

illustrator

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

ศิลปศาสตร์บัณฑิต และมนุษย์ฟรีแลนซ์ที่ทำงานเขียน ถ่ายรูป สัมภาษณ์ แปลงาน ล่าม ไปจนถึงครูสอนพิเศษเด็กชั้นประถม ของสะสมที่ชอบมากๆ คือถุงเท้าและผ้าลายดอก เขียนเรื่องเหนือจริงด้วยความรู้สึกจริงๆ ออกเป็นหนังสือ 'Sad at first sight' ซึ่งขายหมดแล้ว ผลงานล่าสุดคือ I Eat You Up Inside My Head รับประทานสารตกค้างในกลีบดอกปอกเปิก

Related Posts

  • Movie
    Queer as Folk: คำถามที่ลูกอยากรู้ ถ้าเราเปลี่ยนไปไม่ใช่เพศเดิม พ่อแม่จะยังรักหรือปล่อยมือ

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

  • Education trend
    10 อันดับประเทศที่เหมาะต่อการเลี้ยงลูกมากที่สุดแห่งปี 2020

    เรื่อง ชลิตา สุนันทาภรณ์

  • Early childhoodBook
    เลี้ยงลูกด้วยเสียงดนตรี: เพลงสร้างจินตนาการและพัฒนาสมองได้จริง

    เรื่อง รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

  • Life classroom
    แชนนอน เพอร์เซอร์: ไบเซ็กชวลพลัสไซส์ ภาวะซึมเศร้า และโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD)

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

  • Life classroom
    ทรอย ซีวาน: เพราะผมรักในเสียงเพลง ดนตรี และการเป็นเกย์

    เรื่อง ชลิตา สุนันทาภรณ์

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel