- เน็ตป๊าม้า ‘Net PAMA’ หลักสูตรออนไลน์ สำหรับพ่อแม่ที่อยากเรียนรู้เทคนิคเชิงบวกในการเลี้ยงลูก
- มี 6 บทเรียนสำคัญที่จะช่วยพัฒนาทักษะพ่อแม่ให้มีจิตวิทยาการเลี้ยงลูกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปัจจัยพื้นฐานในการปรับพฤติกรรมเด็ก ทักษะการสื่อสาร เทคนิคการชม เทคนิคการให้รางวัล เทคนิคการลงโทษ และเทคนิคการทำตารางคะแนน
- “เคล็ดวิชาที่พ่อแม่เรียนจบแล้วต้องจำได้แน่ๆ คือ สูตร 3Rs อันประกอบด้วย Relationship, Rules และ Resilient child เราจะเน้นกับพ่อแม่ว่าเขาจำเป็นต้องมี R สองตัวแรกในระดับที่สมดุลกัน แล้วถึงจะได้เป็น R ตัวที่สาม คือเด็กที่ปรับตัวง่าย ล้มแล้วลุกได้ มีความเข้มแข็งทางใจ มี Self-esteem ที่ดี”
กว่าจะโตมาเป็นเราได้อย่างทุกวันนี้ไม่ง่ายเลยนะ และการที่จะเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นมาในสังคมได้อย่างไร้บาดแผลหรือมีบาดแผลให้น้อยที่สุดก็ไม่ง่ายเช่นกัน เพราะทุกคนก็ต่างเริ่มบทบาทพ่อแม่ในชีวิตจริงกันเป็นครั้งแรกด้วยกันทั้งนั้น ย่อมเป็นธรรมดาที่จะมีข้อผิดพลาดบ้าง ย่อมเป็นธรรมดาที่จะยึดเอาวิธีการเลี้ยงที่เสมือนมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น
บางคนอาจจะมองว่า ฉันก็โตมาได้นี่นา ในขณะที่บางคนอาจได้รับบาดแผลจากวัยเด็กมาบ้าง แต่ในวันหนึ่งที่ได้เป็นพ่อแม่ขึ้นมา มันก็คงจะดีกว่า… ถ้าเราสามารถเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งด้วยความเข้าใจจริงๆ เพื่อลดการสร้างบาดแผลในใจให้กับเขา
The Potential ชวนคุณพ่อคุณแม่มาเรียนหลักสูตรออนไลน์ วิชาเลี้ยงลูก 101 กับ โปรแกรม Net PAMA (https://www.netpama.com) คัมภีร์การเลี้ยงลูกที่แตกต่าง เครื่องมือที่จะช่วยพ่อแม่ให้มีเทคนิคเชิงบวกในการปรับพฤติกรรมเด็ก ซึ่งกำลังจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคมนี้
ทำความรู้จักเน็ตป๊าม้า (Net PAMA)
ก่อนที่จะไปเรียนรู้เทคนิคเชิงบวกในการปรับพฤติกรรมเด็ก เรามาทำความรู้จักกับหัวหน้าโครงการเน็ตป๊าม้า (Net PAMA) นี้กันสักหน่อยดีกว่า
เน็ตป๊าม้า เป็นหลักสูตรออนไลน์ที่ดีไซน์มาสำหรับผู้ปกครองที่มีลูกวัย 6-12 ปี โดยได้รับทุนจากทาง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมี รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เจ้าของเพจสมาธิสั้นแล้วไง เป็นหัวหน้าโครงการ ร่วมกับทีมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น จากกรมสุขภาพจิตและสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงนักจิตวิทยาเด็กอีกหลายท่าน
คุณหมอชาญวิทย์เล่าว่ากว่าที่เน็ตป๊าม้าจะเป็นรูปเป็นร่างได้นั้น จริงๆ แล้วจุดเริ่มต้นมีมานานกว่า 20 ปี ตั้งต้นจากที่โรงพยาบาลศิริราชซึ่งเป็นสถาบันแรกที่สร้างหลักสูตรวิธีการปรับพฤติกรรมเด็กเชิงบวก Parent Management Training หรือเรียกย่อๆ ว่า PMT ให้กับพ่อแม่
“ปีนึงเราจัดได้ประมาณ 6 รุ่น รุ่นนึงเรารับเทรนได้เต็มที่ก็ประมาณ 40 คน เพราะฉะนั้นปีนึงเราเทรนผู้ปกครองอย่างมากก็แค่ 200 กว่าคน ซึ่งทำมา 20 ปีผมยังรู้สึกว่าพ่อแม่ที่ได้รับโอกาสดีๆ แบบนี้ยังมีค่อนข้างน้อย ในขณะที่เด็กๆ ในปัจจุบันมีปัญหาพฤติกรรมกันเยอะมาก ความต้องการของพ่อแม่ในเรื่องจิตวิทยาการเลี้ยงลูกมีมากมายมหาศาล พ่อแม่หลายคนยังขาดทักษะที่ดีในการเลี้ยงลูก ไม่รู้เทคนิคที่ถูกต้อง เช่น ปล่อยลูกให้อยู่กับหน้าจอต่างๆ ให้มือถือหรือแท็บเล็ตเป็นตัวเลี้ยงลูกแทน ผมก็เลยคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีหลักสูตรออนไลน์ขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสให้พ่อแม่หลายล้านคนได้เข้าถึงความรู้ที่ถูกต้องในการเลี้ยงลูก”
ในเว็บไซต์ของเน็ตป๊าม้านั้นมีคำอธิบายที่น่าสนใจว่า เป็น “คัมภีร์เลี้ยงลูกที่แตกต่าง” แล้วจะแตกต่างอย่างไร คุณหมอผู้เป็นหัวหน้าโครงการอธิบายต่อทันทีว่า ถ้าเปรียบเทียบกับคอร์สออนไลน์ สอนเลี้ยงลูกต่างๆ ที่มีในท้องตลาดแล้ว ส่วนใหญ่จะเน้นให้คุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญมาบรรยายให้ฟัง ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบทางเดียว (one-way learning)
แต่สำหรับเน็ตป๊าม้า คุณหมอชาญวิทย์อธิบายว่า จะเน้นในเรื่องของการแสดงความคิดเห็น การฝึกฝน จะไม่ใช่แค่ดูคลิปวีดีโอบรรยาย แต่จะเป็นการฟังเนื้อหา สลับกับดูครอบครัวตัวอย่าง สลับกับการตอบคำถาม เพื่อแชร์ความคิดเห็นกันในกลุ่มผู้ปกครองที่กำลังเรียนด้วยกัน อีกทั้งมีการบ้านในแต่ละบทเรียน มีเกมให้เล่นเพื่อเก็บสะสมคะแนน เพื่อได้สิทธิพิเศษในการเข้าห้องปรึกษากับนักจิตวิทยาเด็กหรือจิตแพทย์เด็ก
“เกมก็จะมีหลากหลาย แทบจะไม่ซ้ำกันในแต่ละบท ถ้าทำถูกก็จะได้คะแนน แล้วก็สามารถผ่านไปยังด่านต่อไปได้ เนื้อหาในเกมก็จะเกี่ยวกับจิตวิทยาการเลี้ยงลูกที่สัมพันธ์กับเนื้อหาในบทเรียนนั้นๆ ส่วนกระบวนการกลุ่มเราก็เน้นให้พ่อแม่ที่มาเรียนแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นกัน”
3Rs ทักษะจำเป็นในการเลี้ยงลูกยุคนี้ที่ถูกบรรจุไว้ในเน็ตป๊าม้า
“เคล็ดวิชาที่พ่อแม่เรียนจบแล้วต้องจำได้แน่ๆ คือ สูตร 3Rs อันประกอบด้วย Relationship, Rules และ Resilient child เราจะเน้นกับพ่อแม่ว่าเขาจำเป็นต้องมี R สองตัวแรกในระดับที่สมดุลกัน แล้วถึงจะได้เป็น R ตัวที่สาม คือเด็กที่ปรับตัวง่าย ล้มแล้วลุกได้ มีความเข้มแข็งทางใจ มี Self-esteem ที่ดี””
โดย R ตัวแรก คือ Relationship สัมพันธภาพ พ่อแม่จะต้องรู้จักวิธีสร้างสัมพันธภาพกับลูกที่ดี ต้องได้ใจลูกก่อน ต้องให้ลูกมั่นใจว่าพ่อแม่เป็นพ่อแม่ที่รักเขาจริง และจะอยู่ข้างเขาเสมอ
ตัวต่อมาคือ Rules กฎระเบียบ กฎกติกา วินัย พ่อแม่จะต้องเรียนรู้วิธีสร้างกฎกติการ่วมกันกับลูก เมื่อเขาโตขึ้นการผสมผสานกันของสอง R ในระดับที่สมดุลจะนำไปสู่ R ตัวที่สาม คือ Resilient child หรือว่าเด็กที่เข้มแข็งทางใจ เด็กที่ปรับตัวง่าย ล้มแล้วลุกได้
นี่คือสิ่งที่พ่อแม่จะได้รับและนำไปปรับใช้ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องมีทักษะการสื่อสารที่ดีระหว่างกันในครอบครัว ลูกสามารถโต้แย้งได้อย่างมีเหตุผล ขณะเดียวกันพ่อแม่ก็พร้อมจะรับฟังอย่างจริงใจ เราอยากได้พ่อแม่แบบนั้น และเชื่อว่าพ่อแม่หลายๆ คนก็อยากเป็นแบบนั้นเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีความรู้อื่นๆ อีกมากมาย เช่น เทคนิคการสื่อสาร เทคนิคการชม เทคนิคการให้รางวัล เพื่อสร้าง Relationship ให้ดี ส่วน R ตัวที่สองก็จะเป็นในเรื่องของเทคนิคการลงโทษ การวางกฎระเบียบ การทำตารางคะแนนเพื่อปรับพฤติกรรม ฯลฯ
6 บทเรียนที่ชวนพ่อแม่ทำความเข้าใจ
ในส่วนของเนื้อหาแบ่งออกเป็นคอร์สเร่งรัดกับคอร์สจัดเต็ม สำหรับพ่อแม่ที่ต้องการความรวดเร็ว ใช้เวลาเรียนสั้นๆ และตรงกับปัญหาที่กำลังเผชิญ สามารถใช้บริการคอร์สเร่งรัดได้ แค่เช็คลิสต์พฤติกรรมลูกจากตัวเลือกที่มีให้ ระบบจะคำนวณให้ว่าสิ่งที่อยากรู้เข้าข่ายกับเนื้อหาในวิดีโอคลิปใดบ้าง เช่น คลิกที่ปัญหาลูกติดเกม ติดมือถือ ติดโซเชียล จะปรากฏคลิปการแก้ปัญหาลูกติดเกม ติดมือถือขึ้นมาเป็นอันดับแรก เป็นการเรียนแบบ one-way ที่เรียนรู้จากเคสตัวอย่าง พร้อมคำแนะนำจากจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ส่วนคอร์สจัดเต็ม จะมีทั้งหมด 6 บทเรียน ครอบคลุมเนื้อหาที่กล่าวถึงไปแล้ว โดยแต่ละบทใช้เวลาเรียนประมาณหนึ่งชั่วโมงถึงชั่วโมงครึ่ง
“ยกตัวอย่างบทเรียนเรื่องการชม พ่อแม่หลายคนอาจจะไม่กล้าชม โดยเฉพาะคนไทยจะมีความเชื่อผิดๆ ว่า ชมลูก อย่าชมมากเดี๋ยวเหลิง หรือถ้าชมก็ชมอยู่ 3 คำ คือ เก่ง ดี น่ารัก ซึ่งการชมแบบนี้เด็กมีโอกาสเข้าใจผิด และมีโอกาสที่จะเหลิงได้ ทำให้เขาคิดว่าเขาเก่งกว่าคนอื่น เขาดีกว่าคนอื่น เขาน่ารักกว่าคนอื่น”
คุณหมอชาญวิทย์แนะนำวิธีการชมที่ได้ผลดีว่า ในด้านจิตวิทยาการเลี้ยงลูก คำชมที่ดีต้องมี 3 องค์ประกอบ คือ บอกรายละเอียดของพฤติกรรมที่ดีของเด็กที่เราเห็น ณ ขณะนั้น บอกความรู้สึกของเราเมื่อเห็นพฤติกรรมนั้น และสุดท้ายบอกคุณลักษณะของเด็ก
“เวลาชมต้องชมที่พฤติกรรมอย่าชมที่ตัวตน ที่ว่าดี เก่ง น่ารัก มันคือการชมที่ตัวตน ซึ่งทำให้เด็กเข้าใจผิดได้ แต่ถ้าเราชมพฤติกรรมว่า เนี่ย..แม่กลับมาถึงบ้านแล้ว หนูมาช่วยแม่ถือของเข้าบ้าน แม่ชอบมากเลยที่หนูเป็นเด็กที่มีน้ำใจ แม่ภูมิใจในตัวหนูมาก เด็กรู้เลยว่าแม่ภูมิใจ แม่ชอบ แม่พอใจเพราะพฤติกรรมที่เขาช่วยแม่ถือของ เขาเป็นเด็กมีน้ำใจ อันนี้ปิดประตูว่าเด็กจะเหลิง แล้วเด็กก็จะเรียนรู้ด้วยว่าทุกการกระทำที่เขาตัดสินใจทำมันมี ผลที่ตามมา ถ้าเขาเลือกทำดีต่อคนอื่น มันก็จะมีอิมแพคที่ดีต่อคนอื่นแล้วก็ต่อตัวเขา แต่คนไทยเรามักไม่ได้สอนกันเรื่องพวกนี้”
การลงโทษก็เช่นกัน เวลาเด็กทำผิด พ่อแม่ไทยมักชอบตำหนิที่ตัวตนของเด็ก ทำให้เด็กอับอายขายหน้า เช่น ทำไมถึงดื้อแบบนี้ ทำไมขี้เกียจแบบนี้ ใช้คำที่เป็นการโจมตีไปที่ self ของเด็ก
“การตำหนิเด็กที่ถูกต้อง พ่อแม่ต้องระบุเลยว่า ที่ดุเพราะหนูทำอะไร หนูตีน้อง หนูพูดเสียงดัง หนูพูดคำหยาบ บ้านเรามีกฎอยู่บ้านเราไม่พูดคำหยาบ เด็กก็จะรู้เลยว่าที่แม่ดุเพราะเขาพูดคำหยาบ ไม่ใช่เพราะเขาเป็นคนไม่ดี เป็นเด็กดื้อ ไม่เชื่อฟัง เด็กก็ยังแยกได้ว่าเขายังสามารถเป็นเด็กดีอยู่ได้นะ เพียงแต่เผลอพูดคำหยาบไปบ้าง เผลอแกล้งน้องบ้าง คือไม่เอาให้เด็กรู้สึกแย่กับตัวเอง ไม่เอาให้เด็กขายหน้าจน self-esteem ไม่เหลือ หรือไม่ทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอะไรดีเลยเหรอ”
ปรับเปลี่ยนวิธีการเพื่อผลลัพธ์ที่ดี
ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา คุณหมอเองก็พบว่า ปัญหาการเลี้ยงลูกของพ่อแม่มีความแตกต่างกันไป เมื่อก่อนปัญหามักจะเป็นเรื่องของการที่พ่อแม่ใช้วิธีการเลี้ยงลูกแบบโบราณ ก็คือ การขู่ให้เด็กกลัว การลงโทษด้วยการตี ซึ่งก็สร้างปัญหาและปมในใจให้กับเด็กอย่างหนึ่ง
จากเด็กวันนั้นก็เติบโตมาเป็นพ่อแม่ในวันนี้ กลับกลายเป็นว่าปัญหาตอนนี้คือ พ่อแม่หลายบ้านเลี้ยงลูกแบบกลัวอารมณ์ลูก กลัวลูกโกรธ กลัวลูกเสียใจ กลัวลูกไม่รัก เลยเลี้ยงลูกให้เป็น ‘ฮ่องเต้’ โดยไม่ตั้งใจ
“หลายครอบครัวอยู่เป็นครอบครัวเดี่ยว พ่อแม่ทำงานหนักทั้งคู่ จนไม่มีเวลา เหนื่อย หมดแรงไปกับการทำงานนอกบ้าน เลยไม่เหลือพลังที่จะมาจัดการกับพฤติกรรมลูก นำไปสู่การใจอ่อน ไม่เอาจริง ไม่อยากทะเลาะกับลูก ยอมปล่อยให้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วยในการเลี้ยงลูกแทน ก็เลยทำให้พบเด็กที่ขาดระเบียบวินัย ขาดความอดทน ไม่ชอบลำบาก ติดสบาย เอาแต่ใจตัวเอง ก้าวร้าวขึ้น หัวร้อนง่าย เรียกว่าแรงขึ้นเยอะ”
ดังนั้นเราจึงต้องหาจุดสมดุล เพื่อไม่ให้เลี้ยงลูกแบบเข้มงวดจนเกินไป จนเด็กอึดอัด ไร้อิสระ คิดอะไรเองไม่เป็นหรือตามใจเกินไปจนกลายเป็นเด็กไร้วินัย
“ลูกต้องเรียนรู้ที่จะต้องอยู่กับสังคมที่มีคนอื่นนอกเหนือจากพ่อแม่ อีกหน่อยสังคมเขามันต้องกว้างขึ้น เขาต้องเรียนรู้ว่าคนอื่นไม่เหมือนพ่อแม่ที่จะยอมตามอารมณ์เขา ต้องให้เรียนรู้ตั้งแต่เล็กๆ ว่า เขาไม่สามารถมีอารมณ์เป็นอาวุธที่ใช้ในการจัดการพ่อแม่หรือจัดการคนอื่น ลดการเลี้ยงลูกให้เป็นฮ่องเต้ลงสักหน่อยก็ดี”
“หมออยากให้พ่อแม่ทุกคนตระหนักว่าเวลาที่เราจะได้อยู่ใกล้ชิดกับลูก แล้วลูกต้องการเรามันสั้นกว่าที่คิด พ่อแม่หลายคนจะมีความเข้าใจผิดว่าลูกเป็นของฉัน ลูกจะอยู่กับฉันไปตลอด แต่ลองไปสำรวจดูดีๆ วัยที่ลูกติดเรา เกาะแข้งเกาะขาขอตามไปด้วย วัยที่ลูกมองเราด้วยสายตาแบบว่าเราคือฮีโร่ของเขา บอกอะไรลูกแล้วลูกก็เชื่อเรา มีอะไรก็มาถามพ่อแม่ วัยแบบนี้มันมีแค่กี่ปีเอง เต็มที่ก็ไม่เกินสิบปี หลังจากนั้นลูกจะเริ่มเชื่อคนอื่นมากกว่าพ่อแม่แล้ว”
ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าพ่อแม่ทุกคนที่เข้ามาเรียนจากเน็ตป๊าม้าแล้วจะกลายเป็นพ่อแม่คนใหม่โดยอัตโนมัติ การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต้องอาศัยความทุ่มเทและมุ่งมั่นของพ่อแม่ว่าตัวเองจะต้องเปลี่ยนให้ได้ เน็ตป๊าม้าเป็นเครื่องมือหนึ่งที่เข้ามาช่วยปิดช่องโหว่ที่พ่อแม่ยุคใหม่ขาด ช่วยส่งเสริมทักษะการเลี้ยงลูกเชิงบวก สร้างความเข้าใจ และแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เพื่อให้สิบปีแรกของลูกเป็นความทรงจำดีๆ ที่จะตราตรึงในใจเด็กตลอดไป