- ณภัทร ชัยสุบรรณ์กนก หรือ ครูมัย เป็นนักดนตรีบำบัดในแนวทางมนุษยปรัชญาและเป็นครูสอนดนตรีในโรงเรียนวอลดอร์ฟ
- ดนตรีบำบัดในแนวทางมนุษยปรัชญาทำงานได้สองแบบคือ 1. พัฒนาการ 2. เยียวยา โดยนักดนตรีบำบัดจะต้องเข้าใจที่มาของปัญหาที่เกิดขึ้น จากนั้นนำไปสู่การออกแบบดีไซน์กิจกรรมที่จะไปเยียวยาและพัฒนา โดยใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือ
- ในทางมนุษยปรัชญา (anthroposophy) จะแบ่งความเป็นเด็กเป็น 3 ช่วงย่อยได้อีก คือช่วงอายุ 0-7 ปี, 7-14 ปี, 14-21 ปี ซึ่งดนตรีและเสียงเพลงจะเข้าไปทำงานกับเด็กแต่ละช่วงวัยต่างกัน
คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์บอกว่าดนตรีส่งผลให้สมองสองซีก ทำงานเชื่อมโยงกันได้ดี เพราะเสียงเพลงและจังหวะที่เหมาะสมจะกระตุ้นให้เกิดคลื่นสมองที่ช่วยเรียบเรียงความคิด การใช้เหตุผล ความคิดสร้างสรรค์ และการทบทวนความจำต่างๆ ได้
ยิ่งมองให้ลึกไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างดนตรีกับเด็ก เราจะยิ่งพบความเชื่อมโยงหลายด้าน เพราะดนตรีมีอิทธิพลต่อการพัฒนาด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม หรือสติปัญญา หากเลือกใช้ดนตรีที่เหมาะสมก็จะช่วยพัฒนาระบบต่างๆ ภายในสมองของลูกให้มีประสิทธิภาพได้มากขึ้น
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ศาสตร์แห่งดนตรีบำบัดใช้ยึดพิงหลังและบอกทุกคนว่า ดนตรีไม่ได้ให้แค่ความเพลิดเพลินและบันเทิงอารมณ์เท่านั้น แต่แฝงไปด้วยประโยชน์มหาศาล
The Potential สนทนากับ ณภัทร ชัยสุบรรณ์กนก หรือ ครูมัย นักดนตรีบำบัดตามแนวมนุษยปรัชญา (anthroposophy) เพื่อทำความเข้าใจถึงการใช้ดนตรีและเสียงเพลงเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กให้เหมาะสมตามวัยต่างๆ รวมถึงทำความเข้าใจ ‘ปรัชญาแห่งดนตรีบำบัด’ ว่า มีวิธีการทำงานอย่างไร ต่างจากวิชาดนตรีในห้องเรียนตรงไหน และใครบ้างที่เหมาะกับดนตรีบำบัด
ครูมัยเข้ามาเป็นนักดนตรีบำบัดได้อย่างไร
เราชอบดนตรี และมีแพชชั่นตั้งแต่เด็กมัธยมว่าอยากเป็นนักเปียโน เพราะว่าเราเห็นครูที่โรงเรียนเล่นดนตรีมาตลอด ในขณะเดียวกันเรายังมีโอกาสได้ร้องเพลง ได้สัมผัสกับดนตรีเยอะมาก จนถึงช่วง ม.2 เราจึงตัดสินใจอยากจะเรียนดนตรีจริงจัง จังหวะเดียวกันกับที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเป็นปีแรกพอดี เราจึงอยากจะเข้าไปเรียน ตอนนั้นตัดสินใจเรียน คิดแค่เพราะชอบดนตรีเพียวๆ ไม่ได้คิดอยากจะเป็นครู ไม่ได้อยากเป็นนักบำบัด
พอเรียนจบจากจุฬาฯ มา อาชีพแรกที่เราทำคือการเป็นครูสอนเปียโนตามโรงเรียนหรือสอนส่วนตัวทั่วไปธรรมดาๆ เป็นจังหวะเดียวกันกับในช่วงนั้นทางโรงเรียนอนุบาลบ้านรัก กำลังหาคนมาเล่นเปียโนประกอบในวิชายูริธมี (Eurythmy) ให้เด็กอยู่พอดี ซึ่งวิชานี้ว่าด้วยการเคลื่อนไหวให้เข้ากับภาษาและดนตรีอย่างสวยงาม เราก็ไปเล่นโดยที่ยังไม่รู้จักว่าอะไรคือยูริธมี แต่พอได้ลอง เราเห็นถึงการเคลื่อนไหวที่มันไปกับเสียงจริงๆ มันไม่ใช่การเต้น ไม่ใช่บัลเล่ต์ มันคือการเคลื่อนไหวที่ผูกเนื่องกับจิตวิญญาณ และนั่นเป็นครั้งแรกที่ทำให้รู้จักดนตรีในแนวมนุษยปรัชญา (anthroposophy)
เราเริ่มจากการเป็นนักดนตรี เล่นเปียโนตามงานต่างๆ ขยับมาเป็นครูสอนดนตรี และได้เริ่มมีอาชีพใหม่ โดยเป็นครูเปียโนประกอบวิชายูริธมี เราทำมาเรื่อยๆ จนกระทั่ง ‘โรงเรียนแสนสนุกไตรทักษะ’ ซึ่งเป็นโรงเรียนแนวทางเลือกแนววอลดอร์ฟ กำลังเปิดสอน ‘วิชาดนตรีบำบัด’ โดยครูนักดนตรีบำบัดชาวเยอรมันอยู่ เราถูกชักชวนจากรุ่นพี่จึงตัดสินใจเข้าไปเรียนศาสตร์นี้เพิ่มเติม
ตอนนั้นที่ตัดสินใจไปเรียนเราคิดแค่ว่า ถ้าความรู้ด้านดนตรีที่เรามีติดตัว มันสามารถช่วยคนได้ เราก็อยากจะทำ จึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เข้าไปเรียนรู้ดนตรีบำบัดเพิ่มเติมกับครูสเตฟาน (Stephan kühne) นักดนตรีบำบัดแนวมนุษยปรัชญาชาวเยอรมัน นับจากวันนั้นถึงวันนี้ก็ประมาณ 15-16 ปีแล้ว
‘ดนตรีบำบัด’ ในแนวมนุษยปรัชญาคืออะไร
ขออธิบายให้เข้าใจถึงแนวทางมนุษยปรัชญาก่อน มนุษยปรัชญา คือ ปรัชญาที่มาจากเยอรมนี โดย รูดอร์ฟ สไตเนอร์ มีสาขาสำคัญที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ทั้งสิ้น 3 สาขา
หนึ่ง – การแพทย์
สอง – การศึกษา
สาม – การเกษตรแบบพลวัต
โดย ‘ดนตรีบำบัด’ จะทำงานอยู่ตรงกลางระหว่างการแพทย์และการศึกษา เพราะด้วยตัวบทบาทหน้าที่ของดนตรีเองแล้ว สามารถทำงานได้สองแบบคือ 1.ช่วยเรื่องพัฒนาการ 2. เยียวยา ในฐานะครูดนตรีที่ทำงานอยู่กับเด็กตลอด สิ่งที่สำคัญคือการเข้าใจธรรมชาติแต่ละช่วงวัยของเขา เพื่อคิดต่อไปว่าเราจะออกแบบกิจกรรมโดยใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือเชื่อมไปถึงเขา เพื่อไปพัฒนาและใช้เยียวยาตัวเขาอย่างไร
ดนตรีใช้ช่วยเยียวยาอย่างไร และใครเหมาะกับการใช้ดนตรีในการเยียวยา
ถ้าพูดถึงคำว่าเยียวยา เราต้องดูก่อนว่าเบื้องหลังของเขาเป็นอะไร ดนตรีบำบัดมีเป้าหมายเสมอ คุณต้องการอะไร ต้องการรักษาอาการไหน ดนตรีไม่ได้ให้แค่ความเพลิดเพลินอย่างเดียว เช่น เด็กพิเศษที่มีอาการน้ำลายไหลตลอดเวลา สิ่งที่นักดนตรีบำบัดทำคือการให้เด็กเป่าทรัมเป็ต หรือเครื่องดนตรีอื่นๆ ที่ต้องใช้ mouth piece ที่เขาต้องใช้การบังคับกล้ามเนื้อหรือรูปปาก ประเด็นสำคัญคือเราไม่ได้สอนให้เด็กเป่าทรัมเป็ตให้เป็น ให้ไพเราะ แค่ให้เขาได้เล่น แค่ฝึกเป่าให้มีเสียงออกมา ไม่จำเป็นต้องถูกตัวโน้ตหรือตรงจังหวะ แต่การเป่าจะไปช่วยกระตุ้นให้เขาควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณปากได้ และอาจจะส่งผลให้น้ำลายหยุดไหลได้ในที่สุด
ส่วนคนที่จะใช้ดนตรีเยียวยาได้นั้น ไม่ว่าใครก็ใช้ได้ ขึ้นอยู่กับตัวคนไข้ว่าเขาจะมั่นใจในดนตรีแค่ไหน การที่เราจะพาดนตรีกลับไปสู่ตัวคนไข้ มันก็ไม่ยากและมันก็ไม่ได้ง่าย ดนตรีอาจจะเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับใครหลายคน หลายคนปฏิเสธ ‘ไม่เอา ฉันเล่นดนตรีไม่เป็น’ แต่จริงๆ แล้วมันไม่เกี่ยวเลย
แล้วดนตรีทำงานด้านพัฒนาการอย่างไร
ถ้าโฟกัสในวัยเด็ก เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน เด็กๆ หลายคนต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องพัฒนาการ เราเคยสังเกตท่าทางเด็ก 9 ขวบคนหนึ่งซึ่งตามปกติแล้วเด็กอายุเท่านี้ควรจะเดินเต็มเท้าได้แล้ว แต่เด็กคนนี้เดินเงอะๆ งะๆ การเดินของเด็กไม่เฟิร์ม ไม่ฟอร์ม เราต้องกลับไปมองว่าเกิดอะไรขึ้นกับเด็กคนนี้ พอเจอปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว นำไปสู่การออกแบบกิจกรรมที่จะไปเสริมและพัฒนาเขา ซึ่งเราสามารถสังเกตเด็กผ่านการนั่งคุยกับเขา ไปจนถึงการเล่นดนตรีและร้องเพลง ซึ่งบางครั้งเราจะสามารถมองเห็นปัญหาของเขาได้จากกิจกรรมต่างๆ อย่างชัดเจน
ยกตัวอย่าง เด็กคนหนึ่งเขามีปัญหาทางครอบครัว พ่อแม่แยกทางกัน ต่างคนต่างพยายามดึงลูกให้ไปอีกทาง เด็กจึงโตมาด้วยความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย ลักษณะท่าทางของเขา ก็จะไม่มั่นคง ไม่เฟิร์ม ตัวตนด้านในไม่แข็งแรง แตกสลาย เราจึงให้เด็กตีกลอง เพราะกลองมีความหนักแน่น มีจังหวะที่ดี คุณภาพเสียงของกลองจะให้ความรู้สึกหนัก มั่นคง ในการตีกลองกัน จะให้เด็กเริ่มจับจังหวะของกลองให้ได้ และพัฒนาไปจนถึงรูปแบบจังหวะต่างๆ ที่ยากและซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งมันจะส่งผลไปถึงจังหวะชีวิตของเขา ความแน่วแน่มั่นคงของกลองจะทำให้เด็กรู้สึกเฟิร์มขึ้น และสร้างฟอร์มที่ดีขึ้นมาใหม่ได้
เวลาทำงานแต่ละเคส ครูมัยทำงานร่วมกับใครบ้าง
ถ้าเป็นการบำบัดรักษา เราต้องคุยกับแพทย์เสมอ เพื่อพิจารณาร่วมกันว่าแต่ละเคสมีปัญหาอะไรและเราจะแก้อย่างไร เช่น ผู้หญิงคนหนึ่งเป็นนักบัญชี มีความเครียดสะสม จนกล้ามเนื้อเกร็งไปทั้งตัว ส่งผลให้ปวดหัว จนกระดูกบริเวณคอมีอาการคดงอ เขาได้รับการรักษาโดยการฝังเข็มมาตลอด จนถึงจุดที่ลึกเกินกว่าฝังเข็มได้แล้ว คุณหมอเลยส่งมาร้องเพลงกับเรา ปรากฏว่าอาการดีขึ้น กระดูกคอที่เคยคดเริ่มกลับคืนรูปเดิม และอาการเกร็ง ตึง เริ่มดีขึ้น เพียงแค่เขาร้องเพลง
การร้องเพลงจะช่วยบำบัดเยียวยาได้อย่างไร
ก่อนการร้องเพลงมันต้องวอร์มก่อน ซึ่งการวอร์มเสียงเป็นจุดสำคัญ เราไม่ได้วอร์มแค่เสียงเพื่อร้องเพลงเพราะ แต่เมื่อไรที่เราร้องเพลงร่างกายของเราจะกลายเป็นเครื่องดนตรี ดังนั้นการวอร์มก็เหมือนให้เรารู้จักการจัดการร่างกายคอ ไหล่ ท้อง จนไปถึงการเปล่งเสียงต่างๆ
ซึ่งเราจะรู้ได้เลยว่าคนไข้มีปัญหาอะไรจากการฟังเสียงของเขา คุณภาพของเสียงที่ออกมาจะฟ้องได้ทันที บางคนออกเสียงไม่ได้ บางคนออกเสียงตรงเกินไป กระแทก เสียงแข็ง นั่นเป็นเพราะเขาไม่ผ่อนคลาย ชีวิตเขาเกร็งสะสม อันเนื่องมาจากการใช้ชีวิตการงานแบบเป๊ะมากเกิน ไม่รู้จักหย่อน ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ อาจทำให้เขาป่วยได้
สำหรับครูมัย เราใช้ดนตรีทำงานกับอินเนอร์ของเขา ทำงานกับจิตวิญญาณ เสียงจึงเป็นตัวที่บ่งบอกตัวตนของคนไข้ชัดที่สุด ไม่มีใครในโลกที่เสียงเหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ เสียงเกิดข้างในผ่านกระบวนการของร่างกายทำงานร่วมกับสมองและเปล่งออกมาเป็นคำพูด ฉะนั้นคุณอาจจะไม่รู้ แต่เสียงที่เปล่งออกมานั้น มันบอกอะไรได้เยอะ บอกถึงข้างใน บอกได้ถึงใจ ครูมัยเคยมีประสบการณ์ตอนที่น้องสาวเสียชีวิต เราร้องเพลงไม่ได้นานถึง 3-4 เดือน เพราะใจมันไม่เปิด ข้างในมันเศร้า จนเราร้องเพลงไม่ได้ ดังนั้นเสียงแต่ละเสียงที่เปล่งออกมามันมีเรื่องของภาวะทางจิตใจเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งหมด
ครูมัยเคยพูดว่าถ้าจังหวะชีวิตดี เราก็จะเติบโตมาอย่างมั่นคง หมายความว่าอย่างไร
เด็กๆ เขาไม่รู้จังหวะตัวเองหรอก ถ้าเป็นสมัยก่อนเวลาแม่ทำงานบ้าน ลูกอยู่ที่ไหน ลูกอยู่กับอก หรือไม่ก็บนหลังแม่ การที่แม่ถูบ้าน ลูกจะสัมผัสจังหวะถูบ้านพร้อมกับเสียงร้องเพลงของแม่
จังหวะชีวิตของเด็ก ขึ้นอยู่กับคนที่อยู่กับเด็ก เด็กตื่นเป็นเวลาไหม กินข้าวตรงเวลาหรือเปล่า ไปโรงเรียน อาบน้ำ ถ้าทุกอย่างถูกทำให้เป็นจังหวะซ้ำๆ เป็น step เหมือนกันทุกวัน เด็กจะรู้สึกปลอดภัยและมั่นคงมากๆ
มีอีกตัวอย่าง เราเคยเจอเด็กที่ใช้ชีวิตแบบรวดเร็วฉึบฉับ พอเลิกเรียนแล้วไปนู่น ไปนี่ ไปกินข้าว ไปเรียนต่อ ไม่มีวันไหนที่เขาเลิกแล้วได้กลับบ้านได้พัก ได้เล่น เขาก็จะกลายเป็นเด็กที่ตื่นเต้นกับสิ่งรอบๆ ที่เปลี่ยนตลอดเวลา ซึ่งอาจส่งผลให้เป็นสมาธิสั้น พอเรารู้ว่าเขามีพฤติกรรมแบบนี้ เราจะพาเขาร้องเพลง เล่นดนตรี แต่เรารู้สึกว่าปัญหาเหล่านี้มันต้องถูกแก้ร่วมกันกับที่บ้าน เราคุยกับคุณแม่เขาว่ามันเกิดอะไรขึ้น ครอบครัวสามารถสร้างจังหวะชีวิตให้ลูกได้ ให้เขาลองมีตารางเวลาที่ชัดเจน ได้เล่น ได้พักผ่อนตามสมควร คุณแม่ก็ต้องนิ่ง หนักแน่น ปรับจังหวะให้เขา
พอพ่อแม่ร่วมสร้างจังหวะให้เขาแล้ว ดนตรีจะเข้าไปช่วยพัฒนาอย่างไรต่อ
เรากำลังพูดถึงจังหวะชีวิต ในทางมนุษยปรัชญาจะแบ่งความเป็นเด็กเริ่มตั้งแต่อายุ 0-21 ปี โดยสามารถแบ่งเป็น 3 ช่วงย่อยได้อีก คือช่วงอายุ 0-7 ปี, 7-14 ปี, 14-21 ปี ซึ่งถ้าเราดูพัฒนาการตั้งแต่แรกเกิด เด็กปฐมวัย (0-7 ปี) เขาจะสามารถ คลาน นั่ง ยืน เดิน เป็นตามลำดับ ซึ่งพัฒนาการเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่เด็กเล็กต้องคิด เขาสามารถทำได้ด้วยความมุ่งมั่น (willing) ของตัวเอง
ซึ่งเสียงที่ดีที่สุดสำหรับลูกวัยช่วงนี้ไม่ใช่อะไรอื่นไกล เพราะมันคือ ‘เสียงของแม่’/ ‘เสียงของครู’ การที่แม่ร้องเพลงหรือกล่อมลูกด้วยเสียงเพลงที่พ่อแม่ร้องเองด้วยจังหวะแบบนุ่มนวลอ่อนหวาน จะทำให้ลูกเกิดความคุ้นเคยและรู้สึกอบอุ่นมาก เสียงเพลงที่เด็กๆ ได้รับนั้น ก่อให้เกิดการเรียนรู้ในแบบที่เหมาะสมกับวัยของตัวเอง
ช่วงเริ่มเข้าวัยรุ่น (7-14 ปี) เด็กช่วงนี้เขาจะเติบโตไปกับเรื่องของความรู้สึก (feeling) ซึ่งช่วงเวลาที่เด็กตื่นตัวเต็มที่คือช่วงอายุ 9 ขวบ เป็นช่วงที่ร่างกายผลิตโดพามีน (Dopamine) ออกมาตามธรรมชาติ ส่งผลต่ออารมณ์ของบุคคลให้มีความตื่นตัว ทำให้เด็กวัยนี้มีความรู้สึกไวต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวมาก
คุณเคยเจอเด็กๆ ในช่วงวัยนี้ที่ทำบางอย่างผิด จำนนต่อหลักฐาน แต่ใจไม่ยอมรับว่าผิดไหม นั่นเพราะเขารู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ผิด เขาจึงปฏิเสธ นี่เป็นลักษณะเฉพาะของเด็กในวัยนี้ การยกเหตุผลขึ้นมาจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่เราจะพูดคุยกับเด็กวัยนี้ ถ้าเราจะดีลกับเขา แนะนำให้โยงไปเรื่องความรู้สึกให้หมด เช่น ประโยคที่ว่า “หนูทำผิด หนูทำแบบนี้ไม่ได้!” อาจไม่สำคัญเท่า “หนูทำแบบนี้แล้วแม่รู้สึกเสียใจนะ” เด็กวัยนี้เขาจะสัมผัส จะเข้าใจ จะมีเซนส์เรื่องความรู้สึกมากกว่า นี่จึงเป็นเหตุผลที่โรงเรียนวอลดอร์ฟที่เปิดสอนเด็กระหว่าง 7-14 ปี จึงเน้นเรื่องศิลปะเยอะมาก เพราะศิลปะช่วยหล่อเลี้ยงความรู้สึกของเขา ส่งผลให้มีความเข้าใจเรื่องต่างๆ ด้วยหัวใจจริงๆ
ดังนั้นโรงเรียนที่ครูมัยสอนจะดูแลเด็กช่วงนี้ด้วยการให้เขาเริ่มเล่นเครื่องสาย เด็กๆ จะได้เริ่มเล่นไวโอลิน หรือ เชลโล ในช่วงแรกเครื่องสายสามารถทำให้เกิดความสมดุลได้ เด็กจะต้องนิ่งฟังอย่างละเอียด และเล่นให้ได้เสียงที่แม่นยำจากการฟังนั้น
ช่วง 9-12 ปี เป็นการเริ่มเล่นดนตรีจริงจังในกลุ่มเครื่องสาย เช่น ไวโอลิน หรือเชลโล หลังจากนั้น เด็กๆ จะเริ่มเลือกเครื่องดนตรีที่อยากเล่นด้วยตัวเอง
ส่วนช่วงสุดท้าย (14-21 ปี) เป็นช่วงแห่งการคิด (thinking) ถ้าเด็กมีจังหวะชีวิตที่ดี และรู้จักการจัดการความรู้สึกของตัวเอง จะนำไปสู่การ ‘คิด’ ได้ด้วยตัวเอง สังเกตได้ว่าเด็กในช่วงอายุ 14-21 ปี จะเรียนในแบบการให้ฝึกคิดวิเคราะห์และมีเหตุผล
หากต้องการจะใช้ดนตรีในการเลี้ยงลูก ต้องใช้ดนตรีประเภทไหนให้เหมาะกับลูกแต่ละวัย และดนตรีเหล่านั้นไปทำงานกับเซนส์ของลูกอย่างไร
อายุ 0-7 ปี: เด็กเล็ก ก่อน ป.1 สิ่งที่ดีที่สุดคือเสียงพ่อแม่เขา ถ้าพ่อแม่ร้องเพลงกับลูก นั่นคือดีที่สุด เพราะเขาไม่ได้ฟังแค่เสียง เขาไม่ได้สนใจว่าพ่อแม่ร้องเพลงเพี้ยนไหม แต่เสียงเหล่านั้นมันเป็นเสียงที่มีความรัก ความอบอุ่น เด็กจะรับสิ่งนั้นได้
พ่อแม่หลายคนบอกว่าอยากให้ลูกรักดนตรี แต่ไม่เคยร้องเพลงกับลูก อย่าหวังว่าลูกจะรักดนตรี ลูกจะรักดนตรีเมื่อพ่อแม่รักดนตรีและใช้ดนตรีและเสียงร้องเพลงเลี้ยงเขา โดยไม่จำเป็นต้องใช้เพลงเด็ก เพลงอะไรก็ได้ แต่ไม่ใช่จังหวะหนักๆ เพราะจังหวะที่เร้ามากเกินไปจะส่งผลให้เด็กตื่นก่อนวัย คาแรคเตอร์ของเด็กเล็กคือเขาจะอยู่ในห้วงภวังค์ฝัน อ่อนหวาน เบลอๆ ไม่มีความฝันไหนที่มีลักษณะเป็นเสียงกลองหนักๆ ฉะนั้นเพลงที่เหมาะกับเด็กวัยนี้คือเพลงที่มีเสียงและจังหวะที่อ่อนโยน ดีที่สุดเมื่อพ่อแม่ร้องเพลงให้ลูกฟัง
อายุ 7-14 ปี: เด็กช่วงนี้มาพร้อมกับความรู้สึกเต็มเปี่ยม เขาจะชอบเพลงที่ตรงกับความรู้สึกตัวเอง โดยเฉพาะช่วงหลังอายุ 12 เด็กๆ จะเริ่มเลือกฟังเพลงต่างๆ ด้วยตัวเอง พ่อแม่อาจแนะนำเพลงดีๆ ให้ลูกได้ แต่เด็กก็จะชอบเพลงที่เขาเลือกฟังด้วยตัวเองมากกว่า ลูกจะชอบเพลงที่มีทำนองเพราะๆ ใช้ภาษาสวยๆ จังหวะดีๆ ไม่ว่าจะเป็น เพลงเกาหลี เพลงไทย ทุกอย่างจะเป็นไปตาม feeling ของเขา
อายุ 14-21 ปี: เด็กช่วงนี้จะเลือกฟังดนตรีด้วยตัวเอง ในฐานะพ่อแม่เราสามารถเตรียมสิ่งที่คิดว่าดีไว้ให้เขาได้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงช่วงระยะหนึ่งเท่านั้น จากนั้นเขาจะกลายเป็นผู้เลือกเอง พ่อแม่ควรเคารพการเลือกของเขา
ส่วนเด็กทารกที่อยู่ในท้อง ส่วนตัวครูมัยไม่เชื่อวิธีการเอา ear pod จ่อท้องให้ลูกฟัง แต่เราเชื่อว่าเขาจะฟังเพลงไปพร้อมแม่ ด้วยประสบการณ์ส่วนตัว ตอนที่กำลังอุ้มท้อง ได้ไปชมการแสดงของวงดุริยางค์ขนาดใหญ่ ช่วงที่วงบรรเลงจังหวะหนักแน่น ฮึกเหิมปรากฏว่าลูกดิ้นแรงทีเดียว พอเพลงหยุด ลูกก็หยุดไปด้วย พอดนตรีเริ่มอีกครั้ง ลูกก็เริ่มดิ้นอีกครั้ง เด็กที่อยู่ในท้อง เขารับรู้ถึงเสียงได้แต่ไม่ถึงขั้นแยกแยะรายละเอียดออก ดังนั้นเสียงของแม่จึงสำคัญมากๆ เพราะอยู่ใกล้เขาที่สุด ลูกคุ้นเคยที่สุด
สังเกตได้จากเด็กเล็กๆ เวลาเขาตื่นมาแล้วไม่เจอใคร ร้องไห้งอแง แค่แม่ตะโกนกลับมาว่า ‘แม่อยู่นี่ลูก’ โดยที่ลูกไม่ต้องเห็นหน้าพ่อแม่ แค่เสียงก็ทำให้เขาสงบลงได้
แล้วในกรณีเด็กพิเศษต่างๆ ดนตรีเข้าไปช่วยบำบัดอย่างไร
ครูจะตอบแบบใช้ประสบการณ์ตัวเอง เด็กออทิสติกหลายคนพูดไม่ได้แต่ร้องเพลงได้ ทำไมเขาส่งเสียงเป็นทำนองได้ เพราะเดิมทีการเป็นออทิสติกมันคือการบกพร่องเรื่องการสื่อสาร พวกเขาจึงไม่สามารถปั้นคำออกมาให้เป็นคำพูดได้ แต่อย่างที่บอกเขาพัฒนาได้แต่ช้าและต้องใช้เวลา ซึ่งเวลา 10 ปีที่สอนมา เราพบว่า การที่เราพูดนำ-เด็กเห็น-เด็กทำตาม เราพูดนำ-เด็กเห็น-เด็กทำตาม ไปเรื่อยๆ เป็นเวลานาน เช่น เราร้องเพลง เราอ่านนิทาน เราท่องกลอน เมื่อเราทำซ้ำๆ ให้เด็กดูก่อนจากนั้นให้เขาลองทำด้วยตัวเอง ท้ายที่สุดจะทำให้เขาสื่อสารออกมาได้ ซึ่งธงของครูในการบำบัด ไม่ใช่แค่การสื่อสารได้ เรามองไปถึงเรื่องมูฟเมนท์ การเคลื่อนไหว การขยับ ทุกอย่างมันจะ devolope ขึ้นมาได้เรื่อยๆ ด้วยดนตรี
เด็กที่มีภาวะนี้ เขาจะอึดอัดในตัวเองอยู่แล้วที่เขาสื่อสารไม่ได้ แต่พอเขาได้ร้องเพลง ได้เอาพลังออก ปัญหาการกรีดร้องก็ลดลง ความโกรธในตัวเองก็ลดลง เริ่มฟังคนอื่นมากขึ้นเพราะเขาต้องฟังดนตรี ได้ฝึกการรอคอย ทุกอย่างมันจะค่อยๆ พัฒนาตามลำดับ
ไม่ต่างจากคนที่เป็นภาวะซึมเศร้า ดนตรีจะช่วยบำบัดให้เขาได้เอาบางอย่างออกมา เพราะภาวะซึมเศร้าคือการเก็บ การซ่อนอะไรบางอย่างในตัว การร้องเพลงจะช่วยให้เขาปล่อยมันออกมา
อยากให้ครูยกตัวอย่างในคลาส ใช้ดนตรีบำบัดอย่างไร
ครูมัยมีคลาสที่ดูแลออทิสซึมที่อยู่ในวัย 30 ปี ขออธิบายก่อนว่าภาวะนี้เขามีพัฒนาการนะ แต่แค่พัฒนาการช้า มีเคสหนึ่งที่เคยดูแล เขาพูดไม่ได้ เหม่อลอย เราใช้กิจกรรมตีกลอง เพื่อให้เขาเดินตามเสียงที่เราตี หรือบางครั้งเราก็ให้เขาตีแล้วเราเดินตามเสียงที่เขาตี แต่เมื่อเขาเหม่อลอย ไม่เดินตาม เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เลยเอากลองไปไว้ตรงหน้าเขาสักพัก เขายกมือขึ้นตีกลอง เราก็ประหลาดใจ นี่คือสัญญาณอย่างหนึ่งที่บอกว่า เขารู้ว่าเมื่อเจอกลอง เขาต้องตี แสดงว่าทุกครั้งที่เราบำบัดกับเขา เขาเข้าใจนะ ถึงแม้อาจจะรับได้ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยมันทำให้เขาเริ่มรู้ตัว มันช่วยทำให้เขารู้จักมือของตัวเอง ให้รู้ว่าเขามีมือนะ มือทำกิจกรรมอื่นๆ ได้ มือใช้ตีกลองได้นะ ไม่ใช่แค่หยิบอาหารเข้าปาก นี่คือสิ่งสำคัญมาก
เด็กที่คลุกคลีกับดนตรี กับเด็กที่ไม่ได้โตมาพร้อมดนตรี คาแรคเตอร์จะต่างกันอย่างไร
ครูมัยเองก็โตมาในครอบครัวที่พี่น้องเรียนสายวิทยาศาสตร์ ในความเห็นครูมัยคิดว่าเด็กทุกคนรักดนตรี เด็กที่ห่างเหินจากดนตรีเราต้องมองและตั้งคำถามไปว่าเป็นเพราะอะไร เขาเรียนอย่างเดียวหรือเปล่า พ่อแม่ไม่ให้ทำอะไรอย่างอื่นเลยหรือเปล่า จริงๆ เขาอาจจะมีเพลงที่เขาชอบซ่อนอยู่ลึกๆ ก็ได้ แต่ว่าพ่อแม่เห็นหรือเปล่า หรือคนอื่นมองว่ามันสำคัญกับเขาหรือเปล่าเท่านั้นเอง
ปัจจุบันศาสตร์ต่างๆ เพื่อใช้ในการบำบัดเยอะมาก ทั้งการเล่น ศิลปะ ซึ่งแต่ละศาสตร์ก็มีจุดเด่นเป็นของตัวเอง แล้วดนตรีบำบัดเป็นอย่างไร
จุดแข็งคือ มีมนุษย์น้อยคนที่จะเกลียดดนตรี มันเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนเปิดใจได้ง่าย เพราะดนตรีส่งผลถึงความรู้สึกโดยตรง คนจะมีความรู้สึกกับดนตรีที่เกิดขึ้นกับเขาเสมอ ฉะนั้นนี่จึงเป็นเหตุผลที่ดนตรีเปิดความรู้สึกคนได้ง่าย และเมื่อเขาเปิดใจแล้ว ในแง่ของการบำบัดรักษาก็จะง่ายขึ้น
ในทาง anthroposophy บอกว่ามีศิลปะอยู่ 7 แขนงที่ให้ผลต่อการเปลี่ยนแปลงและสามารถเยียวยามนุษย์ได้ โดยที่ไม่ได้เซ็ตว่าเป็นการบำบัด นั่นคือ architecture / molding / painting / music / speech and drama / eurythmy ดนตรีทำให้เราสบายใจ
สำหรับครูการบำบัดไม่ใช่การฟังดนตรีอย่างเดียว เพราะการฟังมันคือการนำเข้า ยิ่งถ้ารับมากไป มันจะไม่มีทางออก ทุกอย่างมันจะเต็มแน่นอยู่ในตัว มันก็ป่วยได้ ฉะนั้นสิ่งที่จะช่วยเขาคือการร้องเพลง จุดประสงค์ไม่ใช่การสำรวจว่าเขาร้องผิดคีย์ไหม เพี้ยนไหม แต่เพื่อให้เขาเอาออกมาบ้าง
ครูขอเล่าตัวอย่าง มีนักเรียนคนหนึ่งเป็นนักเรียนเปียโน เวลาเขาเล่นผิดเขาจะเริ่มใหม่ ผิดเริ่มใหม่ ผิดเริ่มใหม่ ผิดอยู่นั่นแหละ ที่เดิมซ้ำๆ จนเครียดสะสม ครูถามว่างานอดิเรกของเขาคืออะไร เขาชอบอ่านหนังสือ ฟังเพลง มีแต่กิจกรรมรับเข้าทั้งนั้น ไม่มีการเอาออกเลย มันอัดเข้า อัดเข้า จนมันเต็มตัว ครูจึงแนะนำให้เขาไปหากิจกรรมอย่างอื่นทำที่เอาพลังแข็งๆ ออกจากตัวบ้าง เช่น ตีเทนนิส กระโดดเต้น เมื่อสลัดให้หลุดแล้วเขาจะมีสุขภาพกายและใจที่ดีขึ้น
ถ้าเช่นนั้น การร้องคาราโอเกะก็ได้เหมือนกัน?
ก็ได้นะ แต่การร้องคาราโอเกะหมายถึงคุณร้องกับเครื่อง มันไม่มีชีวิต ซึ่งแนวทางดนตรีบำบัดจะไม่ใช้การบำบัดกับเครื่อง เพราะเราเชื่อว่าคนให้พลังมากกว่าอุปกรณ์ต่างๆ เพราะมนุษย์เรามีความสด ความไม่เป๊ะ ผิดก็ได้ มันคือพลังอย่างหนึ่ง เพราะพอยท์ของเราไม่ใช่การร้องเพลงอย่างถูกต้อง พอยท์ของเราคือการช่วยให้เขาได้เปล่งเสียงออกมา และในความเป็นการบำบัด เมื่อเสียงที่ถูกปล่อยออกไปมากพอ กระแสของมันจะม้วนกลับมาหาต้นทาง และพลังที่กลับมานี่เอง ที่มีคุณภาพในการเยียวยา
ที่ครูมัยบอกว่า “ดนตรีทำงานกับคน” มันดูนามธรรมมากๆ เราจะตรวจสอบได้อย่างไรว่ามันทำงานได้จริงหรือเปล่า
ประเด็นนี้มันเป็นที่สงสัยอยู่แล้ว คนที่จะบอกได้ก็คือ คุณหมอที่ตรวจคนไข้ ดูผลเลือด หรือผลตรวจจากเครื่องตรวจต่างๆ แต่เท่าที่เห็นและเราทำงานกับมันมา มันได้ผลดีมาก มีบางคนที่มาบำบัดแล้วเขารู้สึกว่าทางนี้ไม่ตอบโจทย์ แม้เราตั้งใจมากๆ เพราะอยากช่วยเขา แต่ก็เข้าใจได้ แล้วแต่ destiny ระหว่างกัน (หัวเราะ) เพราะก็มีหลายๆ เคสที่ได้ผล เช่น ผู้หญิงที่เคยกระดูกคอคด ที่คุณหมอส่งมาร้องเพลงกับเรา ทำให้อาการเกร็ง ตึง จากความเครียดเริ่มดีขึ้น คุณหมอพอใจมาก
ภาพรวมของดนตรีบำบัดในประเทศไทยเป็นอย่างไร
ภาพรวมของดนตรีบำบัดดีขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดมีภาควิชาเปิดให้เรียนในมหาวิทยาลัยมหิดล เรียนเพื่อเป็นนักดนตรีบำบัดโดยเฉพาะ แต่ไม่แน่ใจเรื่องข้อมูล เพราะครูมัยโตมากับแนวทาง anthroposophy โดยเฉพาะ เรามองมนุษย์และดนตรีในแบบที่เรามอง เราดีไซน์เนื้อหาและครีเอทกิจกรรม วิธีการบำบัดกับคนไข้ให้เหมาะสมที่สุด เลยไม่แน่ใจพวกหลักสูตรกระแสหลักเท่าไร แต่สะท้อนว่าประเทศไทยเริ่มให้ความสำคัญกับศาสตร์นี้แล้ว